ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 19 / 1อ่านอรรถกถา 19 / 355อรรถกถา เล่มที่ 19 ข้อ 357อ่านอรรถกถา 19 / 373อ่านอรรถกถา 19 / 1786
อรรถกถา สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค โพชฌงคสังยุตต์ ปัพพตวรรคที่ ๑
๒. กายสูตร

               อรรถกถากายสูตรที่ ๒               
               พึงทราบวินิจฉัยในกายสูตรที่ ๒
               บทว่า อาหารฏฺฐิติโก คือ กายนี้ดำรงอยู่ได้เพราะปัจจัย.
               บทว่า อาหารํ ปฏิจฺจ ได้แก่ อาศัยปัจจัย.
               บทว่า สุภนิมิตฺตํ ได้แก่ แม้สิ่งที่งามก็เป็นศุภนิมิต แม้อารมณ์ของสิ่งที่งามก็เป็นศุภนิมิต.
               บทว่า อโยนิโสมนสิกาโร ได้แก่ ไม่กระทำไว้ในใจโดยอุบาย คือกระทำไว้ในใจนอกทาง ได้แก่กระทำในใจในความไม่เที่ยงว่าเที่ยง หรือในความทุกข์ว่าสุข ในสิ่งที่มิใช่ตนว่าตน หรือในสิ่งที่ไม่งามว่างาม. กามฉันทะย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้ยังมนสิการนั้นให้เป็นไปอยู่ในสุภารมณ์นั้นโดยมาก. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำว่า อตฺถิ ภิกฺขเว สุภนิมิตฺตํ ดังนี้เป็นต้น.
               พึงทราบวาจาประกอบในนิวรณ์ในที่ทั้งปวงด้วยประการฉะนี้.
               ส่วนในบทว่า ปฏิฆนิมิตฺตํ เป็นต้น ปฏิฆะก็ดี อารมณ์ของปฏิฆะก็ดี จัดเป็นปฏิฆนิมิต.
               บทว่า อรติ แปลว่า ความกระสัน.
               พระองค์ตรัสข้อว่า ในบทเหล่านั้น ความไม่ยินดีเป็นไฉน คือความไม่ยินดี ความไม่ยินดียิ่ง ความไม่อภิรมย์ ความกระสัน ความสะดุ้งในเสนาสนะทั้งหลายอันสงัด หรือในธรรมทั้งหลาย อันเป็นอธิกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง นี้เรียกว่าความไม่ยินดี.
               บทว่า ตนฺทิ ได้แก่ ความคร้านกายที่จรมาเกิดขึ้น เพราะมีหนาวนักเป็นต้นเป็นปัจจัย เมื่อมันเกิดขึ้น เขาจะกล่าวว่า หนาวนัก ร้อนนัก เราหิวนัก กระหายนัก เราเดินทางไกลนัก.
               พระองค์ตรัสข้อว่า ในบทเหล่านั้น ความเกียจคร้านเป็นไฉน คือกิริยาที่เกียจคร้าน ความมีใจเกียจคร้าน ความคร้าน กิริยาที่คร้าน ความเป็นคนมีความคร้านอันใด นี้เรียกว่าความเกียจคร้าน.
               บทว่า วิชมฺภิตา ได้แก่ ความบิดกายด้วยอำนาจกิเลส. พระองค์ตรัสข้อว่า ในบทเหล่านั้น ความบิดขี้เกียจเป็นไฉน คือความบิดกาย ความบิด ความเอียงมา ความเอียงไป ความสยบลง ความซบเซา ความป่วยไข้ของกายอันใด นี้เรียกว่าความบิดขี้เกียจ.
               บทว่า ภตฺตสมฺมโท ได้แก่ ความเร่าร้อนในอาหาร.
               พระองค์ตรัสข้อว่า ในบทเหล่านั้น ความเมาในอาหารเป็นไฉน ความสยบในอาหาร ลำบากในอาหาร ความเร่าร้อนในอาหาร ความอ้วนของกายของคนผู้บริโภคอันใด อันนี้เรียกว่าความเมาในอาหาร.
               บทว่า เจตโส ลีนตฺตํ ได้แก่ อาการหดหู่ของจิต.
               พระองค์ตรัสข้อว่า ในบทเหล่านั้น ความหดหู่ของจิตใจเป็นไฉน คือความไม่งาม ความไม่ควรแก่การงาน ความหดหู่ลง กิริยาหดหู่ ความหดหู่ของจิต ท้อแท้ กิริยาที่ท้อแท้ ความท้อแท้ของจิตอันใด อันนี้เรียกว่าความหดหู่ของจิต.
               บทว่า เจตโส อวูปสโม ความว่า อาการไม่สงบของจิต เหมือนคนนั่งก่อไฟ มีแต่ถ่านปราศจากเปลวไฟ และเหมือนคนนั่งไม่ก่อไฟในที่สุมบาตร ฉะนั้น. แต่โดยเนื้อความข้อนั้น เป็นความฟุ้งซ่านรำคาญแท้.
               บทว่า วิจิกิจฺฉาฏฐานิยา ธมฺมา ได้แก่ ธรรมเป็นอารมณ์ของวิจิกิจฉา.
               อโยนิโสมนสิการมีนัยอันกล่าวไว้ในบททั้งปวงแล.
               ในข้อนี้ ธรรม ๒ เหล่านี้ คือ กามฉันทะ วิจิกิจฉา ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ โดยอารมณ์. พยาบาท กล่าวไว้โดยอารมณ์และอุปนิสัยปัจจัย. ธรรมที่เหลือกล่าวไว้โดยสหชาตปัจจัยและอุปนิสสัยปัจจัย ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า สติสมฺโพชฺฌงฺคฏฺฐานิยา ธมฺมา ได้แก่ ธรรมเป็นอารมณ์ของสติ คือโพธิปักขิยธรรม ๓๗ และโลกุตรธรรม ๙.
               บทว่า ตตฺถ โยนิโสมนสิการพหุลีกาโร ได้แก่ การทำบ่อยๆ ซึ่งมนสิการโดยอุบายในธรรมนั้น.
               บทว่า กุสลา ในบทเป็นต้นว่า กุสลากุสลา ธมฺมา ได้แก่ ธรรมเกิดแต่ความฉลาดไม่มีโทษมีผลเป็นสุข.
               บทว่า อกุสลา ได้แก่ ธรรมเกิดแต่ความไม่ฉลาด มีโทษ มีผลเป็นทุกข์.
               บทว่า สาวชฺชา ได้แก่ ธรรมเป็นอกุศล. บทว่า อนวชฺชา ได้แก่ ธรรมเป็นกุศล.
               แม้ในธรรมเลวประณีต ดำและขาว ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า สปฺปฏิภาคา ได้แก่ กัณหธรรมและสุกกธรรมเท่านั้น ด้วยว่า กัณหธรรมชื่อว่ามีส่วนเปรียบเพราะให้ผลดำ และสุกกธรรมชื่อว่ามีส่วนเปรียบ เพราะให้ผลขาว. อธิบายว่า มีส่วนแห่งวิบากเช่นกัน.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่ามีส่วนเปรียบ เพราะมีส่วนตรงกันข้าม. คือมีส่วนเปรียบแม้อย่างนี้ว่า ส่วนสุกกธรรมตรงกันข้ามกับกัณหธรรม และกัณหธรรมตรงกันข้ามกับสุกกธรรม.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่ามีส่วนเปรียบ เพราะอรรถว่าจะนำมากลับกันไม่ได้. คือกัณหะและสุกกธรรมมีส่วนเปรียบกันได้อย่างนี้ว่า ฝ่ายอกุศลห้ามกุศลแล้วจึงให้วิบากของตน ส่วนกุศลห้ามอกุศลแล้วจึงให้วิบากของตน ดังนี้.
               บทว่า อารพฺภธาตุ ได้แก่ ความเพียรครั้งแรก.
               บทว่า นิกฺขมธาตุ ได้แก่ ความเพียรมีกำลังกว่านั้น เพราะออกจากความเกียจคร้าน.
               บทว่า ปรกฺกมธาตุ ได้แก่ ความเพียรมีกำลังกว่านั้น เพราะเป็นเหตุก้าวไปข้างหน้าๆ คือฐานะ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวด้วยบท ๓.
               บทว่า ปีติสมฺโพชฺฌงฺคฏฺฐานิยา ได้แก่ ธรรมเป็นอารมณ์ของปีติ.
               บทว่า กายปสฺสทฺธิ ได้แก่ ความสงบแห่งขันธ์สาม. (คือเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์และสังขารขันธ์)
               บทว่า จิตฺต ปสฺสทฺธิ ได้แก่ ความสงบแห่งวิญญาณขันธ์.
               บทว่า สมาธินิมิตฺตํ ได้แก่ สมถะบ้าง อารมณ์ของสมถะบ้าง.
               บทว่า อพฺยคฺคนิมิตฺตํ เป็นไวพจน์ของบทว่า สมาธินิมิตฺตํ นั้น.
               บทว่า อุเปกฺขาสมฺโพชฺฌงฺคฏฺฐานิยา ได้แก่ ธรรมเป็นอารมณ์ของอุเบกขา. แต่โดยเนื้อความ พึงทราบอาการอันเป็นกลางว่า ธรรมทั้งหลายเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา.
               ในข้อนี้ สติ ธรรมวิจยะและอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ท่านกล่าวไว้โดยความเป็นอารมณ์อย่างนี้. ธรรมทั้งหลายที่เหลือ ท่านกล่าวไว้โดยความเป็นอารมณ์บ้าง โดยความเป็นอุปนิสสัยบ้าง.

               จบอรรถกถากายสูตรที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค โพชฌงคสังยุตต์ ปัพพตวรรคที่ ๑ ๒. กายสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 19 / 1อ่านอรรถกถา 19 / 355อรรถกถา เล่มที่ 19 ข้อ 357อ่านอรรถกถา 19 / 373อ่านอรรถกถา 19 / 1786
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=19&A=2163&Z=2227
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=4462
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=4462
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๐  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :