ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 2 / 10อ่านอรรถกถา 2 / 881
อรรถกถา นิสสัคคิยกัณฑ์
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ จีวรวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๑

               ทุติยสมันตปาสาทิกา วินัยวรรณนา               
               ติงสกกัณฑวรรณนา               
               ธรรม ๓๐ เหล่าใด ชื่อว่านิสสัคคีย์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้สงบ ทรงแสดงแล้ว บัดนี้ ข้าพเจ้าจักทำการพรรณนาบทที่ยังไม่เคยมีมาก่อนแห่งธรรมเหล่านั้น.

               นิสสัคคิยปาจิตตีย์ จีวรวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๑               
               พรรณนาปฐมกฐินสิกขาบท               
               ในคำนิทานว่า โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ที่โคตมกเจดีย์ใกล้กรุงไพศาลี. ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตไตรจีวรแก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้เป็นต้น ที่ชื่อว่า ไตรจีวรนั้นได้แก่จีวร ๓ ผืนนี้ คือ อันตรวาสก ๑ อุตตราสงค์ ๑ สังฆาฏิ ๑ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตแล้วเพื่อใช้สอย.
               ก็จีวร ๓ ผืนนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตในที่ใด? ทรงอนุญาตเมื่อไร? และทรงอนุญาตเพราะเหตุไร? คำนั้นทั้งหมดมาแล้วในเรื่องหมอชีวกในจีวรขันธกะนั่นแล.
               ข้อว่า อญฺเญเนว ติจีวเรน คามํ ปวิสนฺติ มีความว่า พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ครองไตรจีวรเข้าบ้านสำรับหนึ่งต่างหาก จากสำรับที่ใช้ครองอยู่ในวัด และสำรับที่ใช้ครองสรงน้ำ. ใช้จีวรวันละ ๙ ผืนทุกวัน ด้วยอาการอย่างนี้.
               สองบทว่า อุปฺปนฺนํ โหติ มีความว่า อดิเรกจีวรนี้เกิดขึ้นให้ช่องแก่อนุบัญญัติ ด้วยอำนาจการได้ มิใช่ด้วยอำนาจความสำเร็จ.

               [แก้อรรถปฐมบัญญัติเรื่องพระอานนท์]               
               ข้อว่า อายสฺมโต สารีปุตฺตสฺส ทาตุกาโม โหติ มีความว่า ได้ยินว่า ท่านพระอานนท์ย่อมนับถือท่านพระสารีบุตรโดยนับถือความมีคุณมากของพระสารีบุตรว่า เว้นพระผู้มีพระภาคเจ้า บุคคลอื่นที่มีคุณวิเศษเห็นปานนี้ ไม่มีเลย. ท่านได้จีวรที่ชอบใจ ซักแล้ว กระทำพินทุกัปปะแล้ว ถวายแก่พระเถระนั่นแล แม้ทุกคราว. ในเวลาก่อนฉันได้ยาคูและของเคี้ยว หรือบิณฑบาตอันประณีตแล้ว ย่อมถวายแก่พระเถระเหมือนกัน. ในเวลาหลังฉัน แม้ได้เภสัชมีน้ำผึ้งและน้ำอ้อยเป็นต้น ก็ถวายแก่พระเถระนั่นเอง. พาเด็กทั้งหลายออกจากตระกูลอุปัฏฐาก ให้บรรพชาให้ถืออุปัชฌายะ ในสำนักพระเถระแล้ว กระทำอนุสาวนากรรมเอง.
               ฝ่ายท่านพระสารีบุตรก็นับถือท่านพระอานนท์เหลือเกิน ด้วยทำในใจว่า ธรรมดาว่า กิจที่บุตรจะพึงกระทำแก่บิดา เป็นภาระของบุตรคนโต เพราะฉะนั้น กิจใดที่เราจะพึงกระทำแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า กิจนั้นทั้งหมด พระอานนท์กระทำอยู่, เราอาศัยพระอานนท์จึงได้เพื่อเป็นผู้มีความขวนขวายน้อยอยู่. คำทั้งหมดว่า แม้พระเถระนั้นได้จีวรที่ชอบใจแล้ว ก็ถวายพระอานนทเถระเหมือนกันเป็นต้น เป็นเช่นกับด้วยคำก่อนนั่นแล. พระอานนทเถระนับถือด้วยความนับถือคุณมากอย่างนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า ย่อมเป็นผู้มีความประสงค์จะถวายจีวรนั้น แม้ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นแก่ท่านพระสารีบุตร.
               ก็ในคำว่า นวมํ วา ภควา ทิวสํ ทสมํ วา นี้ หากใครๆ จะพึงมีความสงสัยว่า พระเถระทราบได้อย่างไร?
               ตอบว่า พระเถระทราบได้ด้วยเหตุหลายอย่าง.

               [เหตุที่พระอานนท์ทราบการมาของพระสารีบุตรได้]               
               ได้ยินว่า พระสารีบุตรเถระ เมื่อจะหลีกจาริกไปในชนบท มักบอกลาพระอานนทเถระก่อนแล้วจึงหลีกไปว่า ผมจักมาโดยกาลชื่อว่าประมาณเท่านี้ ในระหว่างนี้ ท่านอย่าละเลยพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้. ถ้าแม้นว่า ท่านไม่บอกลาในที่ต่อหน้า ก็ต้องส่งภิกษุไปบอกลาก่อนจึงไป. ถ้าว่า ท่านอยู่จำพรรษาในอาวาสอื่น และภิกษุเหล่าใดมาก่อน ท่านก็ส่งภิกษุเหล่านั้นไปอย่างนี้ว่า พวกท่านจงถวายบังคมพระบาทยุคลของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้า ตามคำของเรา, และจงเรียนถามถึงความไม่มีโรคของพระอานนท์แล้วบอกว่า เราจักมาในวันชื่อโน้น, และพระเถระย่อมมาในวันตามที่ท่านกำหนดไว้แล้วนั่นแลเสมอๆ.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านพระอานนท์ย่อมทราบได้ด้วยการอนุมานบ้าง ย่อมทราบได้โดยนัยนี้บ้างว่า ท่านพระสารีบุตร เมื่อทนอดกลั้นความวิปโยค (พลัดพราก) จากพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่สิ้นวันมีประมาณเท่านี้, บัดนี้ นับแต่นี้ไปจักไม่เลยวันชื่อโน้น ท่านจักมาแน่นอน.
               จริงอยู่ ชนทั้งหลายผู้ซึ่งมีปัญญามาก ย่อมมีความรักและความเคารพในพระผู้มีพระภาคเจ้ามาก ดังนี้. พระเถระย่อมทราบได้ด้วยเหตุหลายอย่างด้วยประการอย่างนี้. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกราบทูลว่า จักมาในวันที่ ๙ หรือวันที่ ๑๐ พระพุทธเจ้าข้า! ดังนี้ เมื่อพระอานนทเถระกราบทูลอย่างนี้แล้ว เพราะสิกขาบทนี้มีโทษทางพระบัญญัติ มิใช่มีโทษทางโลก เพราะเหตุนั้น ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงทำวันที่ท่านพระอานนท์กราบทูลนั่นแลให้เป็นกำหนด จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทรงอดิเรกจีวรไว้ ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่ง ดังนี้. ถ้าหากว่า พระเถระนี้จะพึงทูลแสดงขึ้นกึ่งเดือน หรือเดือนหนึ่ง, แม้กึ่งเดือน หรือเดือนหนึ่งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็จะพึงทรงอนุญาต.

               [แก้อรรถสิกขาบทวิภังค์ว่าด้วยการเดาะกฐิน]               
               บทว่า นิฏฺฐิตจีวรสฺมึ ได้แก่ เมื่อจีวรสำเร็จแล้วโดยการสำเร็จอย่างใดอย่างหนึ่ง. ก็เพราะจีวรนี้ย่อมเป็นอันสำเร็จแล้วด้วยการกระทำบ้าง ด้วยเหตุมีการเสียหายเป็นต้นบ้าง ฉะนั้น เพื่อทรงแสดงเพียงแต่อรรถเท่านั้น ในบทภาชนะแห่งบทว่า นิฏฺฐิตจีวรสฺมึ นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำมีอาทิว่า ภิกฺขุนา จีวรํ กตํ วา โหติ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กตํ คือ อันภิกษุกระทำแล้วด้วยกรรมมีสูจิกรรมเป็นที่สุด. ที่ชื่อว่า กรรมมีสูจิกรรมเป็นที่สุด ได้แก่การทำกรรมที่ควรทำด้วยเข็มอย่างใดอย่างหนึ่ง มีการติดรังดุมและลูกดุมเป็นที่สุด แล้วก็เก็บเข็มไว้ (ในกล่องเข็ม).
               บทว่า นฏฺฐํ คือ ถูกพวกโจรเป็นต้นลักเอาไป. จริงอยู่ แม้จีวรนั่น ท่านเรียกว่า สำเร็จแล้ว ก็เพราะความกังวล ด้วยการกระทำนั่นเอง สำเร็จลงแล้ว.
               บทว่า วินฏฺฐํ คือ ถูกพวกสัตว์มีปลวกเป็นต้นกัดแล้ว.
               บทว่า ทฑฺฒํ คือ ถูกไฟไหม้.
               สองบทว่า จีวราสา วา อุปจฺฉินฺนา มีความว่า หมดความหวังในจีวรซึ่งบังเกิดขึ้นว่า เราจักได้จีวรในตระกูลชื่อโน้นก็ดี. อันที่จริง ควรทราบความที่จีวรแม้เหล่านี้สำเร็จแล้ว เพราะความกังวลด้วยการกระทำนั่นแล สำเร็จลงแล้ว.
               สองบทว่า อุพฺภตสฺมึ กฐิเน คือ (เมื่อจีวรสำเร็จแล้ว) และเมื่อกฐินเดาะเสียแล้ว. ด้วยบทว่า อุพฺภตสฺมึ กฐิเน นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงความไม่มีแห่งปลิโพธที่ ๒, ก็กฐินนั้น อันภิกษุทั้งหลายย่อมเดาะด้วยมาติกาอย่างหนึ่งในบรรดามาติกา ๘ หรือด้วยการเดาะในระหว่าง เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำว่า อฏฺฐนฺนํ มาติกานํ เป็นต้น ในนิเทศแห่งบทว่า อุพฺภตสฺมึ กฐิเน นั้น.
               บรรดามาติกาและการเดาะในระหว่างนั้น มาติกา ๘#- มาแล้วในกฐินขันธกะอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มาติกาแห่งการเดาะกฐิน ๘ เหล่านี้ คือ ปักกมนันติกา นิฏฐานันติกา สันนิฏฐานันติกา นาสนันติกา สวนันติกา อาสาวัจเฉทิกา สีมาติกกันติกา สหุพภารา.
               แม้การเดาะกฐินในระหว่าง ก็มาในภิกขุนีวิภังค์๒- อย่างนี้ว่า
               สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ ยทิ สงฺฆสฺส ปตฺตกลฺลํ สงฺโฆ กฐินํ อุทฺธเรยฺย
เอสา ญตฺติ, สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ กฐินํ อุทฺธรติ ยสฺสายสฺมโต ขมติ
กฐินสฺส อุพฺภาโร โส ตุณฺหสฺส ยสฺส นกฺขมติ โส ภาเสยฺย, อุพฺภตํ
สงฺเฆน กฐินํ ขมติ สงฺฆสฺส ตสฺมา ตุณฺหี เอวเมตํ ธารยามิ

               แปลว่า
               ท่านเจ้าข้า! ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า, ถ้าความพรั่งพร้อมแห่งสงฆ์ถึงที่แล้ว, สงฆ์พึงเดาะกฐิน, นี้คำเสนอ,
               ท่านเจ้าข้า! ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า, สงฆ์ย่อมเดาะกฐิน, การเดาะกฐินควรแก่ท่านผู้มีอายุใด ท่านผู้มีอายุนั้นพึงนิ่งอยู่, ถ้าไม่ควรแก่ท่านผู้มีอายุใด ท่านผู้มีอายุนั้น พึงพูดขึ้น,
               กฐินอันสงฆ์เดาะแล้วย่อมควรแก่สงฆ์ เพราะฉะนั้น สงฆ์พึงนิ่งอยู่ ข้าพเจ้าจะทรงไว้ซึ่งความเป็นผู้นิ่งอยู่แห่งสงฆ์อย่างนี้แล.
____________________________
#- วิ. มหา. เล่ม ๕/ข้อ ๙๙.
๒- วิ. ภิกฺขุนีวิ. เล่ม ๓/ข้อ ๒๕๓.

               ข้าพเจ้าจักพรรณนาคำที่ควรกล่าวในมาติกาและอันตรุพภารานั้นทั้งหมด ในอาคตสถานนั่นแล. แต่เมื่อจะกล่าวเสียในที่นี้ บาลีที่ควรจะนำมาก็ดี เนื้อความที่ควรจะกล่าวก็ดี แม้จะเป็นอันกล่าวแล้ว, แต่ก็เป็นเรื่องที่รู้ได้ไม่ง่าย เพราะกล่าวไว้ในฐานะอันไม่ควร.
               บทว่า ทสาหปรมํ มีวิเคราะห์ว่า ๑๐ วัน เป็นกำหนดอย่างยิ่งแห่งกาลนั้น เพราะเหตุนั้น กาลนั้นจึงชื่อว่ามี ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่ง.
               อธิบายว่า จีวรนั้นอันภิกษุพึงทรงไว้ตลอดกาลมี ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่ง. แต่เพื่อจะทรงแสดงแต่อรรถเท่านั้น ในบทภาชนะ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า พึงทรงไว้ได้ ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่ง.
               จริงอยู่ มีคำอธิบายว่า ความเป็นกาลมี ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่ง ที่ตรัสไว้ในบทว่า ทสาหปรมํ นี้ ภาวะแห่งกาละมี ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่งนั้น มีใจความดังนี้ว่า พึงทรงไว้ได้ชั่วกาลประมาณเท่านี้ที่ยังไม่ล่วงเลยไป.
               จีวรที่ชื่อว่า อติเรก เพราะไม่นับเข้าในจำพวกจีวรที่อธิษฐานและวิกัปไว้ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอติเรกจีวร. ด้วยเหตุนั้น ในบทภาชนะแห่งบทว่า อติเรกจีวรํ นั้น จึงตรัสว่า จีวรที่ไม่ได้อธิษฐานและไม่ได้วิกัปไว้.

               [อธิบายกำเนิดจีวร ๖ ชนิด]               
               ข้อว่า ฉนฺนํ จีวรานํ อญฺญตรํ มีความว่า บรรดาจีวร ๖ ชนิดเหล่านี้๑- คือจีวรผ้าเปลือกไม้ ๑ จีวรผ้าฝ้าย ๑ จีวรผ้าไหม ๑ จีวรผ้ากัมพล ๑ จีวรผ้าป่าน ๑ จีวรผ้าผสมกัน ๑ จีวรอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงกำเนิดแห่งจีวร ด้วยคำว่า ฉนฺนํ เป็นต้นนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อทรงแสดงขนาด (แห่งจีวรนั้น) จึงตรัสว่า จีวรอย่างต่ำควรจะวิกัปได้ ดังนี้. ขนาดแห่งจีวรนั้น ด้านยาว ๒ คืบ ด้านกว้าง คืบหนึ่ง. ในขนาดแห่งจีวรนั้น มีพระบาลีดังนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้วิกัปจีวรอย่างต่ำ ด้านยาว ๘ นิ้ว กว้าง ๔ นิ้ว โดยนิ้วพระสุคต.๒-
               ข้อว่า ตํ อติกฺกามยโต นิสฺสคฺคิยํ ปาจิตฺติยํ มีความว่า เมื่อภิกษุยังจีวรมีกำเนิดและประมาณตามที่กล่าวแล้วนั้น ให้ล่วงกาลมี ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่ง คือเมื่อไม่ทำโดยวิธีที่จะไม่เป็นอติเรกจีวรเสียในระหว่างกาลมี ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่งนี้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
               อธิบายว่า จีวรนั้น เป็นนิสสัคคีย์ด้วย เป็นอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุนั้นด้วย.
               อีกอย่างหนึ่ง การเสียสละ ชื่อว่า นิสสัคคีย์. คำว่า นิสสัคคีย์ นั่นเป็นชื่อของวินัยกรรมอันภิกษุพึงกระทำในกาลเป็นส่วนเบื้องต้น, การเสียสละมีอยู่แก่ธรรมชาตินั้น เหตุนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่า นิสสัคคีย์ ฉะนี้แล.
               นิสสัคคีย์นั้น คืออะไร? คือ ปาจิตตีย์.
               ในคำว่า ตํ อติกฺกามยโต นิสฺสคฺคิยํ ปาจิตฺติยํ นี้ มีใจความดังนี้ว่า เป็นปาจิตตีย์มีการเสียสละเป็นวินัยกรรมแก่ภิกษุผู้ให้ล่วงกาลนั้นไป.
               แต่ในบทภาชนะ เพื่อทรงแสดงอรรถวิกัปแรกก่อน พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงตั้งมาติกาว่า เมื่อภิกษุให้ล่วงกาลนั้นไป เป็นนิสสัคคีย์ แล้วตรัสคำว่า ในเมื่ออรุณวันที่ ๑๑ ขึ้น เป็นนิสสัคคีย์ คืออันภิกษุพึงเสียสละ ดังนี้. และจีวรนั้นอันภิกษุพึงเสียสละแก่บุคคลใด พึงเสียสละโดยวิธีอย่างใด เพื่อทรงแสดงบุคคลและวิธีเสียสละนั้นอีก จึงตรัสคำเป็นต้นว่า สงฺฆสฺส วา ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น ในคำว่า เอกาทเส อรุณุคฺคมเน นี้ ผู้ศึกษาพึงทราบว่า จีวรเกิดขึ้นในวันใด อรุณแห่งวันนั้น อาศัยวันที่จีวรเกิดขึ้น เพราะเหตุนั้น จึงเป็นนิสสัคคีย์ ในเมื่ออรุณวันที่ ๑๑ ขึ้นรวมกับวันที่จีวรเกิด ถ้าแม้ว่า จีวรเป็นอันมากผูกหรือพับรวมกันเก็บไว้ ก็เป็นอาบัติเพียงตัวเดียว. ในจีวรที่พับไว้ไม่รวมกันเป็นอาบัติหลายตัวตามจำนวนแห่งวัตถุ.
____________________________
๑- วิ. มหา. เล่ม ๕/ข้อ ๑๓๙/๑๙๓.
๒- วิ. มหา. เล่ม ๕/ข้อ ๑๖๐/๒๑๙.

               [อธิบายวิธีเสียสละและวิธีแสดงอาบัติ]               
               ข้อว่า นิสฺสชฺชิตฺวา อาปตฺติ เทเสตพฺพา มีความว่า ถามว่า พึงแสดงอาบัติอย่างไร?
               แก้ว่า พึงแสดงเหมือนอย่างที่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในขันธกะ.
               ถามว่า ก็ตรัสไว้ในขันธกะนั้น อย่างไร?
               แก้ว่า ตรัสไว้อย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ กระทำอุตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ไหว้เท้าแห่งภิกษุผู้แก่ทั้งหลายแล้ว นั่งกระโหย่ง ประนมมือ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า
               อหํ ภนฺเต อิตฺถนฺนามํ อาปตฺตึ อาปนฺโน ตํ ปฏิเทเสมิ๑-
               (ท่านเจ้าข้า! กระผมต้องอาบัติมีชื่ออย่างนี้ ขอแสดงคืนอาบัตินั้น).
               ก็ในอธิการนี้ ถ้าจีวรมีผืนเดียว พึงกล่าวว่า เอกํ นิสฺสคฺคิยํ ปาจิตฺติยํ ... (ต้องแล้ว) ซึ่งนิสสัคคีย์ ปาจิตตีย์ตัวหนึ่ง.
               ถ้าจีวร ๒ ผืนพึงกล่าวว่า เทฺว ... ซึ่งอาบัติ ๒ ตัว. ถ้าจีวรมากผืนพึงกล่าวว่า สมฺพหุลา ... ซึ่งอาบัติหลายตัว. แม้ในการเสียสละ ถ้าว่า จีวรมีผืนเดียวพึงกล่าวตามสมควรแก่บาลีนั่นแลว่า อิทํ เม ภนฺเต จีวรํ ท่านเจ้าข้า! จีวรของกระผมผืนนี้ เป็นต้น.
               ถ้าหากว่าจีวร ๒ ผืน หรือมากผืน พึงกล่าวว่า
               อิมานิ เม ภนฺเต จีวรานิ ทสาหาติกฺกนฺตานิ นิสฺสคฺคิยานิ อิมานาหํ สงฺฆสฺส นิสฺสชฺชามิ
(ท่านเจ้าข้า! จีวรของกระผมเหล่านี้ล่วง ๑๐ วัน เป็นนิสสัคคีย์, กระผมเสียสละจีวรเหล่านี้แก่สงฆ์).
               เมื่อไม่สามารถจะกล่าวบาลีได้ พึงกล่าวโดยภาษาอื่นก็ได้. ภิกษุพึงรับอาบัติโดยนัยดังกล่าวไว้ในขันธกะนั่นแลว่า ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงรับอาบัติ.
               สมจริงดังที่ตรัสไว้ในขันธกะนั้นอย่างนี้ว่า๒- ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถ พึงเผดียงสงฆ์ว่า ท่านเจ้าข้า! ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อนี้รูปนี้ ระลึกได้ เปิดเผย กระทำให้ตื้น ย่อมแสดงซึ่งอาบัติ, ถ้าความพรั่งพร้อมแห่งสงฆ์ถึงที่แล้ว, ข้าพเจ้าพึงรับอาบัติของภิกษุมีชื่ออย่างนี้ ดังนี้.
____________________________
๑- วิ. จุลฺ เล่ม ๖/ข้อ ๖๙๐/หน้า ๓๗๐.
๒- วิ. จุลฺ เล่ม ๖/ข้อ ๖๙๐/หน้า ๓๖๘-๓๖๙.

               ภิกษุผู้แสดงอันภิกษุรับอาบัตินั้น พึงกล่าวว่า ปสฺสสิ (เธอเห็นหรือ).
               ผู้แสดง :   อาม ปสฺสามิ (ขอรับ! ผมเห็น).
               ผู้รับ :      อายตึ สํวเรยฺยาสิ (เธอพึงสำรวมต่อไป).
               ผู้แสดง :   สาธุ สุฏฺฐุ สํวริสฺสามิ (ดีละ ผมจะสำรวมให้ดี)๑-

               ก็ในอาบัติ ๒ ตัว หรือหลายตัวด้วยกัน ผู้ศึกษาพึงทราบความต่างแห่งวจนะโดยนัยก่อนนั่นแล, แม้ในการให้จีวร (คืน) ก็พึงทราบความแตกต่างแห่งวจนะด้วยอำนาจแห่งวัตถุ คือ สงฺโฆ อิมํ จีวรํ อิมานิ จีวรานิ... สงฆ์พึงให้จีวรผืนนี้... พึงให้จีวรทั้งหลายเหล่านี้... ถึงในการเสียสละแก่คณะ และแก่บุคคล ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน.
               ก็ในการแสดงและการรับอาบัติในอธิการนี้ มีบาลีดังต่อไปนี้ :-
               เตน ภิกฺขเว ภิกฺขุนา ฯเปฯ เอวมสฺสุ วจนียา อหํ ภนฺเต อิตฺถนฺนามํ อาปตฺตึ อาปนฺโน ตํ ปฏิเทเสมิ ๓-
               แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุนั้น พึงเข้าไปหาภิกษุมากรูป กระทำผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ไหว้เท้าทั้งหลายแห่งภิกษุผู้แก่ทั้งหลายแล้ว นั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลี พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า! ข้าพเจ้าต้องอาบัติชื่อนี้ ขอแสดงคืนซึ่งอาบัตินั้น.
               อันภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถ พึงเผดียงภิกษุเหล่านั้นให้ทราบว่า
               สุณาตุ เม ภนฺเต อายสฺมนฺตา อยํ อิตฺถนฺนาโม ภิกฺขุ อาปตฺตึ สรติ วิวรติ อุตฺตานีกโรติ เทเสติ ยทายสฺมนฺตานํ ปตฺตกลฺลํ อหํ อิตฺถนฺนามสฺส ภิกฺขุโน อาปตฺตึ ปฏิคฺคณฺเหยฺยํ
๓-
               แปลว่า ท่านเจ้าข้า! ท่านผู้มีอายุทั้งหลายขอจงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่ออย่างนี้ รูปนี้ย่อมระลึก ย่อมเปิดเผย ย่อมกระทำให้ตื้น ย่อมแสดงอาบัติ, ถ้าว่าความพรั่งพร้อมแห่งท่านผู้มีอายุทั้งหลายถึงที่แล้ว, ข้าพเจ้าพึงรับอาบัติของภิกษุชื่อนี้.
____________________________
๑- วิ. จุลฺ เล่ม ๖/ข้อ ๖๙๐/หน้า ๓๗๐.
๓- วิ. จุลฺ เล่ม ๖/ข้อ ๖๙๐/หน้า ๓๖๘-๓๖๙.

               ภิกษุผู้แสดงอันภิกษุผู้รับอาบัตินั้น พึงกล่าวว่า ปสฺสสิ (ท่านเห็นหรือ).
               ผู้แสดง :   อาม ปสฺสามิ (ขอรับ! ผมเห็น).
               ผู้รับ :      อายตึ สํวเรยฺยาสิ (ท่านพึงสำรวมระวังต่อไป).

               ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ทำอุตราสงค์เฉวียงบ่า แล้วนั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลีแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ดูก่อนอาวุโส! ข้าพเจ้าต้องอาบัติมีชื่ออย่างนี้แล้ว, จะแสดงคืนอาบัติ.
               ภิกษุผู้แสดงอันภิกษุผู้รับอาบัตินั้นพึงกล่าวว่า ปสฺสสิ (ท่านเห็นหรือ).
               ผู้แสดง :   อาม ปสฺสามิ (ขอรับ! ผมเห็น).
               ผู้รับ :      อายตึ สํวเรยฺยาสิ (ท่านพึงสำรวมระวังต่อไป).

               ในวิสัยแห่งการแสดงและรับอาบัตินั้น ผู้ศึกษาพึงทราบการระบุชื่ออาบัติและความต่างแห่งวจนะ โดยนัยก่อนนั่นแล. และพึงทราบบาลีแม้ในการสละแก่ภิกษุ ๒ รูป เหมือนในการสละแก่คณะฉะนั้น.
               ก็ถ้าว่าจะพึงมีความแปลกกันไซร้, พระผู้มีพระภาคเจ้าพึงตรัสบาลีไว้แผนกหนึ่ง แม้ในการสละแก่ภิกษุ ๒ รูปนี้ เหมือนอย่างที่พระองค์ตรัสปาริสุทธิอุโบสถแก่ภิกษุ ๓ รูป โดยนัยเป็นต้นว่า ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ ๓ รูป ทำปาริสุทธิอุโบสถ, ภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุเหล่านั้นพึงทำอุโบสถเหล่านั้นอย่างนี้; ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถ พึงเผดียงภิกษุเหล่านั้นให้ทราบ แล้วตรัสปาริสุทธิอุโบสถแก่ภิกษุ ๒ รูปอีกแผนกหนึ่งต่างหาก โดยนัยเป็นต้นว่า ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ ๒ รูปทำปาริสุทธิอุโบสถ, ภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุเหล่านั้น พึงทำอุโบสถนั้นอย่างนี้, ภิกษุเถระพึงทำอุตราสงค์เฉวียงบ่า๔- ดังนี้ ฉะนั้น.
               ก็เพราะไม่มีความแปลกกัน ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงมิได้ตรัสไว้ ทรงผ่านไปเสีย เพราะฉะนั้น บาลีในการสละแก่ภิกษุ ๒ รูปนี้ เป็นบาลีที่ตรัสไว้แก่คณะเหมือนกัน.
               ส่วนในการรับอาบัติมีความแปลกกันดังนี้ :-
               บรรดาภิกษุ ๒ รูป ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งอย่าตั้งญัตติ เหมือนภิกษุผู้รับอาบัติ ตั้งญัตติ ในเมื่อภิกษุผู้ต้องอาบัติสละแก่คณะแล้วแสดงอาบัติ พึงรับอาบัติเหมือนบุคคลคนเดียวรับฉะนั้น. แท้จริง ชื่อว่าการตั้งญัตติสำหรับภิกษุ ๒ รูปย่อมไม่มี. ก็ถ้าหากจะพึงมี พระผู้มีพระภาคเจ้าจะไม่พึงตรัสปาริสุทธิอุโบสถไว้แผนกหนึ่ง สำหรับภิกษุ ๒ รูป แม้ในการให้จีวรที่เสียสละ แล้วคืน จะกล่าวว่า อิมํ จีวรํ อายสฺมโต เทม พวกเราใหัจีวรผืนนี้แก่ท่าน เหมือนภิกษุรูปเดียวกล่าวว่า อิมํ จีวรํ อายสฺมโต ทมฺมิ ผมให้จีวรผืนนี้แก่ท่าน ดังนี้ ก็ควร.
               จริงอยู่ แม้ญัตติทุติยกรรม ซึ่งหนักกว่านี้ ตรัสว่า ควรอปโลกน์ทำ ก็มี. วินัยกรรมมีการสละนี้ สมควรแก่ญัตติทุติยกรรมเหล่านั้น. แต่จีวรที่สละแล้ว ควรให้คืนทีเดียว, จะไม่ให้คืนไม่ได้. ก็การให้คืนจีวรที่สละเสียแล้วนี้เป็นเพียงวินัยกรรม. จีวรนั้นจะเป็นอันภิกษุนั้นให้แก่สงฆ์ หรือแก่คณะ หรือแก่บุคคล หามิได้ทั้งนั้นแล.
____________________________
๔- วิ. มหา. เล่ม ๔/ข้อ ๑๘๕/หน้า ๒๔๓.

               [แก้อรรถบทภาชนีย์ว่าด้วยอติเรกจีวรล่วง ๑๐ วันเป็นต้น]               
               ข้อว่า ทสาหาติกฺกนฺเต อติกฺกนฺตสญฺญี ได้แก่ ผู้มีความสำคัญในจีวรที่ล่วง ๑๐ วันแล้วอย่างนี้ว่า จีวรนี้ล่วง (๑๐ วัน) แล้ว. อีกอย่างหนึ่ง ความว่า เมื่อ ๑๐ วันล่วงแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า ๑๐ วันล่วงไปแล้ว.
               ข้อว่า นิสฺสคฺคิยํ ปาจิตฺติยํ มีความว่า ความสำคัญที่กล่าวไว้ในบทว่า อติกฺกนฺสญฺญี นี้คุ้มอาบัติไม่ได้, ถึงภิกษุใดจะมีความสำคัญอย่างนี้, จีวรนั้นของภิกษุแม้นั้น ก็เป็นนิสสัคคีย์ และภิกษุนั้นก็ต้องอาบัติปาจิตตีย์ด้วย, หรือเป็นปาจิตตีย์ มีการเสียสละเป็นวินัยกรรม เพราะฉะนั้น อรรถวิกัปทั้ง ๒ ย่อมถูกต้อง.
               ทุกๆ บทก็มีนัยเช่นนี้.
               ข้อว่า อวิสฺสชฺชิเต วิสฺสชฺชิตสญฺญี ได้แก่ ผู้มีความสำคัญในจีวรที่ตนไม่ได้ให้ ค ือ ไม่ได้สละให้แก่ใครๆ อย่างนี้ว่า เราสละแล้ว.
               ข้อว่า อนฏฺเฐ นฏฺฐสญฺญี มีความว่า โจรทั้งหลาย ย่อมลักเอาซึ่งจีวรเป็นอันมากของภิกษุเหล่าอื่น ที่เก็บรวมไว้กับจีวรของตน, บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุรูปนี้เป็นผู้มีความสำคัญในจีวรของตนซึ่งไม่ได้หายไป ว่าหายแล้ว. แม้ในจีวรที่ไม่ได้เสียหายเป็นต้น ก็มีนัยเช่นนี้.
               ก็ในบทว่า อวิลุตฺเต นี้ พึงทราบสันนิษฐานว่า ในจีวรที่มิได้ถูกชิงไป ด้วยอำนาจที่พังห้องแล้วข่มขู่ชิงเอาไป.
               ข้อว่า อนิสฺสชฺชิตฺวา ปริภุญฺชติ อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺส มีความว่า ภิกษุไม่เปลื้องจีวรที่นุ่งครั้งเดียว หรือห่มครั้งเดียวออกจากกายแล้วเที่ยวไป แม้ตลอดวัน เป็นอาบัติตัวเดียวเท่านั้น. ภิกษุเปลื้องออกแล้วนุ่งหรือห่มจีวรที่ยังไม่สละนั้น เป็นทุกกฏทุกๆ ประโยค. จัดจีวรที่นุ่งไม่เรียบร้อย หรือห่มไม่เรียบร้อย ให้เรียบร้อย ไม่เป็นอาบัติ. ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ใช้สอยของภิกษุอื่น. ก็คำมีอาทิว่า ภิกษุได้จีวรที่ผู้อื่นกระทำแล้วใช้สอยดังนี้ เป็นเครื่องสาธกในความไม่เป็นอาบัตินี้. ทรงหมายเอาการใช้สอย ปรับเป็นอาบัติทุกกฏแก่ภิกษุผู้มีความสำคัญในจีวรยังไม่ล่วง (๑๐ วัน) ว่าล่วงแล้ว และภิกษุผู้มีความสงสัย.

               [ว่าด้วยขนาดจีวรที่ควรอธิษฐานและวิกัป]               
               ก็ในข้อว่า อนาปตฺติ อนฺโตทสาหํ อธิฏฺเฐติ วิกปฺเปติ นี้ ผู้ศึกษาพึงทราบจีวรที่ควรอธิษฐาน และที่ควรวิกัป. ในจีวรที่ควรอธิษฐานและวิกัปนั้น มีพระบาลีดังต่อไปนี้ :-
               ครั้งนั้นแล ภิกษุทั้งหลายได้มีความรำพึงอย่างนี้ว่า จีวรทั้งหลายที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตไว้ คือไตรจีวรก็ดี คือวัสสิกสาฎกก็ดี คือนิสีทนะก็ดี คือปัจจัตถรณะก็ดี คือกัณฑุปฏิจฉาทิก็ดี คือมุขปุญฉนโจลกะก็ดี คือปริขารโจลกะก็ดี ควรอธิษฐานทั้งหมดหรือว่า ควรจะวิกัปหนอแล.๑-
               ภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลเรื่องนี้ แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตว่า ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อธิษฐานไตรจีวร ไม่อนุญาตให้วิกัป, ให้อธิษฐานวัสสิกสาฎก ตลอด ๔ เดือนแห่งฤดูฝน พ้นจาก ๔ เดือนฤดูฝนนั้น อนุญาตให้วิกัปไว้, อนุญาตให้อธิษฐานนิสีทนะไม่ใช่ให้วิกัป, อนุญาตให้อธิษฐานผ้าปูนอน ไม่ใช่ให้วิกัป, อนุญาตให้อธิษฐานกัณฑุปฏิจฉาทิ (ผ้าปิดแผล) ชั่วเวลาอาพาธ พ้นจากกาลอาพาธนั้น อนุญาตให้วิกัป, อนุญาตให้อธิษฐานมุขปุญฉนโจล (ผ้าเช็ดหน้า) ไม่อนุญาตให้วิกัป, อนุญาตให้อธิษฐานบริขารโจล ไม่อนุญาตให้วิกัป๑- ดังนี้.
____________________________
๑- วิ. มหา. เล่ม ๕/ข้อ ๑๖๐/หน้า ๒๑๘-๒๑๙.

               [ว่าด้วยการอธิษฐานไตรจีวรเป็นต้น]               
               บรรดาจีวรเป็นต้นเหล่านั้น อันภิกษุเมื่อจะอธิษฐานไตรจีวรย้อมแล้วให้กัปปะพินทุ พึงอธิษฐานจีวรที่ได้ประมาณเท่านั้น. ประมาณแห่งจีวรนั้น โดยกำหนดอย่างสูง หย่อนกว่าสุคตจีวร (จีวรของพระสุคต) จึงควร. และโดยกำหนดอย่างต่ำ ประมาณแห่งสังฆาฏิและอุตราสงค์ ด้านยาว ๕ ศอกกำ ด้านกว้าง ๓ ศอกกำ จึงควร. อันตรวาสก ด้านยาว ๕ ศอกกำ ด้านกว้างแม้ ๒ ศอก ก็ควร. เพราะอาจเพื่อจะปกปิดสะดือด้วยผ้านุ่งบ้าง ผ้าห่มบ้างแล. ก็จีวรที่เกินและหย่อนกว่าประมาณดังกล่าวแล้ว พึงอธิษฐานว่า บริขารโจล.
               ในวิสัยแห่งการอธิษฐานจีวรนั้น ท่านกล่าวไว้ว่า การอธิษฐานจีวร มี ๒ อย่าง คืออธิษฐานด้วยกายอย่างหนึ่ง อธิษฐานด้วยวาจาอย่างหนึ่ง ฉะนั้น ภิกษุพึงถอนสังฆาฏิผืนเก่าว่า อิมํ สงฺฆาฏึ ปจฺจุทฺธรามิ (เราถอนสังฆาฏิผืนนี้) แล้วเอามือจับสังฆาฏิใหม่ หรือพาดบนส่วนแห่งร่างกาย กระทำการผูกใจว่า อิมํ สงฺฆาฏึ อธิฏฺฐามิ (เราอธิษฐานสังฆาฏินี้) แล้วพึงทำกายวิการ อธิษฐานด้วยกาย นี้ชื่อว่า การอธิษฐานด้วยกาย. เมื่อไม่ถูกต้องจีวรนั้นด้วยส่วนแห่งร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง การอธิษฐานนั้น ไม่ควร.
               ส่วนในการอธิษฐานด้วยวาจา พึงเปล่งวาจาแล้วอธิษฐานด้วยวาจา. ในการอธิษฐานด้วยวาจานั้นมีการอธิษฐาน ๒ วิธี. ถ้าผ้าสังฆาฏิอยู่ในหัตถบาส พึงเปล่งวาจาว่า ข้าพเจ้าอธิษฐานสังฆาฏิผืนนี้. ถ้าอยู่ภายในห้อง ในปราสาทชั้นบน หรือในวัดใกล้เคียง พึงกำหนดที่เก็บสังฆาฏิไว้แล้วเปล่งวาจาว่า ข้าพเจ้าอธิษฐานสังฆาฏินั่น. ในอุตราสงค์และอันตรวาสก ก็มีนัยอย่างนี้. จริงอยู่ เพียงแต่ชื่อเท่านั้นที่แปลกกัน. เพราะฉะนั้น พึงอธิษฐานจีวรทั้งหมดโดยชื่อของตนเท่านั้น อย่างนี้ว่า สงฺฆาฏึ อุตฺตราสงฺคํ อนฺตรวาสกํ ดังนี้.
               ถ้าภิกษุกระทำจีวรมีสังฆาฏิเป็นต้นด้วยผ้าที่อธิษฐานเก็บไว้ เมื่อย้อมและกัปปะเสร็จแล้วพึงถอนว่า ข้าพเจ้าถอนผ้านี้ แล้วอธิษฐานใหม่. แต่เมื่อเย็บแผ่นผ้าใหม่ หรือขัณฑ์ใหม่เฉพาะที่ใหญ่กว่าเข้ากับจีวรที่อธิษฐานแล้ว ควรอธิษฐานใหม่. ในแผ่นผ้าที่เท่ากันหรือเล็กกว่า ไม่มีกิจด้วยการอธิษฐาน (ใหม่).
               ถามว่า ก็ไตรจีวรจะอธิษฐานเป็นบริขารโจล ควรหรือไม่ควร?
               แก้ว่า ได้ทราบว่า พระมหาปทุมเถระกล่าวว่า ไตรจีวรพึงอธิษฐานเป็นไตรจีวรอย่างเดียว, ถ้าว่า อธิษฐานเป็นบริขารโจลได้, การบริหารที่ตรัสไว้ในอุทโทสิตสิกขาบท ก็จะพึงไร้ประโยชน์ไป. ได้ยินว่า เมื่อพระมหาปทุมเถระกล่าวอย่างนี้ พวกภิกษุที่เหลือกล่าวว่า แม้บริขารโจล พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสว่า พึงอธิษฐาน ; เพราะเหตุนั้น การอธิษฐานไตรจีวรให้เป็นบริขารโจล ย่อมสมควร.
               แม้ในมหาปัจจรี ท่านก็กล่าวว่า ชื่อว่า บริขารโจลนี้เป็นเหตุแห่งการเก็บ (จีวรโดยความไม่เป็นนิสสัคคีย์) ไว้แผนกหนึ่ง. จะอธิษฐานไตรจีวรว่า บริขารโจล แล้วใช้สอย ควรอยู่. ส่วนในอุทโทสิตสิกขาบทตรัสการบริหารไว้สำหรับภิกษุผู้อธิษฐานไตรจีวรแล้วบริหารอยู่.
               ได้ยินว่า แม้พระมหาติสสเถระผู้กล่าวอุภโตวิภังค์ ซึ่งอยู่ที่ปุณณวาลิการามได้กล่าวว่า ในกาลก่อน พวกเราได้ฟังจากพระมหาเถระว่า พวกภิกษุผู้ชอบอยู่ในป่าเก็บจีวรไว้ในโพรงไม้เป็นต้น ไปเพื่อต้องการจะเริ่มบำเพ็ญเพียร, และเมื่อภิกษุเหล่านั้นไปเพื่อประสงค์จะฟังธรรมในวัดใกล้เคียง เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว พวกสามเณรหรือพวกภิกษุหนุ่มจึงถือบาตรจีวรมา (ให้) เพราะฉะนั้น การจะอธิษฐานไตรจีวรเป็นบริขารโจล เพื่อใช้สอยสะดวก ควรอยู่.
               แม้ในมหาปัจจรีท่านก็กล่าวว่า ในกาลก่อน พวกภิกษุผู้อยู่ป่าได้อธิษฐานไตรจีวรเป็นบริขารโจลนั่นแล แล้วใช้สอย ด้วยใส่ใจว่า ในแดนที่ไม่ผูกสีมารักษาได้ยาก.
               วัสสิกสาฎกที่ไม่เกินประมาณ อันภิกษุพึงระบุชื่อแล้วอธิษฐานสิ้น ๔ เดือนฤดูฝนโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล, ต่อจากนั้นพึงถอนวิกัปไว้. ก็วัสสิกสาฎกนี้ แม้ย้อมพอทำให้เสียสี ก็ควร. แต่สองผืนไม่ควร.
               ผ้านิสีทนะพึงอธิษฐานโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล. ก็แลผ้านิสีทนะนั้นได้ประมาณมีได้เพียงผืนเดียวเท่านั้น. สองผืนไม่ควร.
               แม้ผ้าปูนอนก็ควรอธิษฐานเหมือนกัน. ก็ผ้าปูนอนนั้น ถึงใหญ่ก็ควร แม้ผืนเดียวก็ควร แม้มากผืนก็ควร. มีลักษณะเป็นต้นว่า สีเขียวก็ดี สีเหลืองก็ดี มีชายก็ดี มีชายเป็นลายดอกไม้ก็ดี ย่อมควรทุกประการ. ภิกษุอธิษฐานคราวเดียว ย่อมเป็นอันอธิษฐานแล้วทีเดียว.
               ผ้าปิดฝีได้ประมาณพึงอธิษฐานชั่วเวลาที่ยังมีอาพาธอยู่, เมื่ออาพาธหายแล้ว พึงปัจจุทธรณ์วิกัปไว้. ผืนเดียวเท่านั้น จึงควร.
               ผ้าเช็ดหน้าพึงอธิษฐานเหมือนกัน. ภิกษุจำต้องปรารถนาผืนอื่นเพื่อต้องการใช้เวลาที่ยังซักอีกผืนหนึ่งอยู่, เพราะฉะนั้น สองผืนก็ควร. แต่พระเถระอีกพวกหนึ่งกล่าวว่า การอธิษฐานผ้าเช็ดหน้านั้น มุ่งการเก็บไว้เป็นสำคัญ แม้มากผืนก็ควร.
               ในบริขารโจล ชื่อว่าการนับจำนวนไม่มี, พึงอธิษฐานได้เท่าจำนวนที่ต้องการนั่นเทียว. ถุงย่ามก็ดี ผ้ากรองน้ำก็ดี มีประมาณเท่าจีวรที่ควรวิกัปเป็นอย่างต่ำ พึงอธิษฐานว่า บริขารโจล เหมือนกัน. แม้จะรวมจีวรมากผืนเข้าด้วยกันแล้วอธิษฐานว่า ข้าพเจ้าอธิษฐานจีวรเหล่านี้เป็นบริขารโจล ดังนี้ ก็สมควรเหมือนกัน. แม้ภิกษุจะเก็บไว้เพื่อประโยชน์แก่เภสัช นวกรรมและมารดาบิดาเป็นต้น ก็จำต้องอธิษฐานแท้. แต่ในมหาปัจจรี ท่านกล่าวว่า ไม่เป็นอาบัติ.
               ส่วนในเสนาสนบริขารเหล่านี้ คือ ฟูกเตียง ๑ ฟูกตั่ง ๑ หมอน ๑ ผ้าปาวาร ๑ ผ้าโกเชาว์ ๑ และในเครื่องปูลาดที่เขาถวายไว้เพื่อประโยชน์แก่เสนาสนบริขาร ไม่มีกิจที่ต้องอธิษฐานเลย.

               [ว่าด้วยเหตุให้ขาดอธิษฐาน]               
               ถามว่า ก็จีวรที่อธิษฐานแล้ว เมื่อภิกษุใช้สอยอยู่ จะละอธิษฐานไปด้วยเหตุอย่างไร?
               ตอบว่า ย่อมละด้วยเหตุ ๙ อย่างนี้ คือ ด้วยให้บุคคลอื่น ๑ ด้วยถูกชิงเอาไป ๑ ด้วยถือเอาโดยวิสาสะ ๑ ด้วยหันไปเป็นคนเลว ๑ ด้วยลาสิกขา ๑ ด้วยกาลกิริยา ๑ ด้วยเพศกลับ ๑ ด้วยถอนอธิษฐาน ๑ ด้วยความเป็นช่องทะลุ ๑.
               บรรดาเหตุ ๙ อย่างนั้น จีวรทุกชนิดย่อมละอธิษฐานด้วยเหตุ ๘ อย่างข้างต้น. แต่เฉพาะไตรจีวรละอธิษฐานด้วยความเป็นช่องทะลุ ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาทุกแห่ง. และการละอธิษฐานนั้น ท่านกล่าวไว้ด้วยช่องทะลุประมาณเท่าหลังเล็บ. ในช่องทะลุประมาณเท่าหลังเล็บนั้น ผู้ศึกษาพึงทราบขนาดเท่าหลังเล็บ ด้วยสามารถแห่งเล็บนิ้วก้อย. และช่องทะลุ เป็นช่องโหว่ทีเดียว. ก็ถ้าแม้นว่า ภายในช่องทะลุมีเส้นด้ายเส้นหนึ่งยังไม่ขาด, ก็ยังรักษาอยู่.
               บรรดาไตรจีวรนั้น สำหรับสังฆาฏิและอุตราสงค์ ช่องทะลุจากด้านในแห่งเนื้อที่มีประมาณเพียง ๑ คืบจากชายด้านยาว, มีประมาณ ๘ นิ้วจากชายด้านกว้าง ย่อมทำให้ขาดอธิษฐาน. แต่สำหรับอันตรวาสกช่องทะลุจากด้านในแห่งเนื้อที่ มีประมาณเพียง ๑ คืบจากชายด้านยาว, มีประมาณ ๔ นิ้วจากชายด้านกว้าง ย่อมทำให้ขาดอธิษฐาน. ช่องทะลุเล็กลงมา ไม่ทำให้ขาดอธิษฐาน. เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดเป็นช่องทะลุ จีวรนั้นย่อมตั้งอยู่ในฐานแห่งอติเรกจีวร, ควรกระทำสูจิกรรมแล้วอธิษฐานใหม่.
               แต่พระมหาสุมเถระกล่าวว่าสำหรับจีวรที่ได้ประมาณ มีช่องทะลุที่ใดที่หนึ่ง ย่อมทำให้ขาดอธิษฐาน, แต่สำหรับจีวรที่ใหญ่ ช่องทะลุภายนอกจากประมาณ ยังไม่ทำให้ขาดอธิษฐาน, ช่องทะลุที่เกิดข้างในจึงทำให้ขาด ดังนี้.
               พระกรวิยติสสเถระกล่าวว่า จีวรเล็ก ใหญ่ ไม่เป็นประมาณ, ช่องทะลุในที่ซึ่งภิกษุเมื่อครองจีวรซ้อนกัน#- ๒ ตัวม้วนมาพาดไว้บนแขนซ้าย ยังไม่ทำให้ขาดอธิษฐาน, ช่องทะลุส่วนภายในย่อมทำให้ขาด, แม้สำหรับอันตรวาสก ช่องทะลุในที่แห่งจีวรที่ภิกษุม้วนให้เป็นลูกบวบ ย่อมไม่ทำให้ขาด, ช่องทะลุที่ต่ำลงจากที่ม้วนให้เป็นลูกบวบนั้น ย่อมทำให้ขาด.
____________________________
#- วิมติ : เทฺว จีวรานิ ปารุปนฺตสฺสาติ คามปฺปเวเส ทฺวิคุณํ กตฺวา
#- สงฺฆาฏิโย ปารุปนํ สนฺธาย วุตฺตํ. แม้สารัตถทีปนี ๓/๑๔๖ ก็แก้คล้ายกันนี้.

               แต่ในอรรถกถาอันธกะ ท่านทำวาทะของพระมหาสุมเถระให้เป็นหลักในไตรจีวรแล้วกล่าวว่า จีวรประมาณอย่างต่ำ ย่อมรักษาอธิษฐานไว้ได้ จึงกล่าวคำแม้นี้เพิ่มเติมไว้ว่า ในบริขารโจล ด้านยาว ๙ นิ้วโดยนิ้วสุคต ด้านกว้าง ๔ นิ้ว เป็นช่องทะลุ ณ ที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง ย่อมละอธิษฐานไป, ในบริขารโจลผืนใหญ่ช่องทะลุที่ต่ำกว่า ๘ นิ้วและ ๔ นิ้วนั้น ยังไม่ละอธิษฐาน, ในจีวรที่ควรอธิษฐานทั้งหมดก็นัยนี้ ดังนี้.
               บรรดาวาทะทั้ง ๔ นั้น เพราะขึ้นชื่อว่า ประมาณอย่างเล็กอื่นๆ ที่ต่ำกว่าประมาณอย่างเล็ก แห่งจีวรที่ควรวิกัป ของจีวรที่จะพึงอธิษฐานแม้ทั้งหมด ย่อมไม่มี. ด้วยว่า ประมาณแห่งผ้านิสีทนะ ผ้าปิดแผลและผ้าอาบน้ำฝนที่ท่านกล่าวไว้นั้น เป็นประมาณอย่างใหญ่ เพราะประมาณที่ยิ่งกว่าประมาณอย่างใหญ่นั้น สำเร็จแล้ว (ใช้ได้), หาใช่ประมาณอย่างเล็กไม่ เพราะประมาณอย่างเล็กลงมาจากประมาณอย่างใหญ่นั้น ไม่สำเร็จ (ใช้ไม่ได้). แม้ไตรจีวรที่หย่อนกว่าประมาณแห่งสุคตจีวร จัดเป็นประมาณอย่างใหญ่เหมือนกัน. แต่ประมาณอย่างเล็กที่ท่านแยกกล่าวไว้ต่างหากในพระสูตรไม่มี.
               การกำหนดขนาดใหญ่แห่งผ้าเช็ดหน้า ผ้าปูนอนและผ้าบริขารโจล ไม่มีเหมือนกัน. แต่ท่านกล่าวกำหนดไว้ด้วยประมาณอย่างเล็กขนาดจีวรที่ควรวิกัป. เพราะฉะนั้น คำใดที่ท่านกล่าวไว้ก่อน ในอรรถกถาอันธกะว่า ประมาณอย่างเล็กย่อมรักษาการอธิษฐานไว้ได้ แล้วแสดงประมาณอย่างเล็ก ๘ นิ้ว และ ๔ นิ้ว โดยนิ้วสุคตแห่งบริขารโจลเท่านั้น ในบรรดาไตรจีวรและบริขารโจลเป็นต้นนั้นแล้ว และหมายเอาประมาณอย่างเล็กแห่งไตรจีวรเป็นต้นนอกนี้ ซึ่งมีชนิด ๕ ศอกกำเป็นต้น จึงกล่าวว่า ในจีวรที่ควรอธิษฐานทั้งหมด ก็นัยนี้, คำที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาอันธกะนั้น ย่อมไม่สมกัน. แม้ในวาทะของพระกรวิยติสสเถระ ท่านก็แสดงช่องทะลุจากชายด้านยาวเท่านั้น จากชายด้านกว้างท่านมิได้แสดงไว้ เพราะฉะนั้น วาทะของพระกรวิยติสสเถระนั้น ก็ไม่ได้กำหนดไว้.
               ในวาทะของพระมหาสุมเถระท่านกล่าวไว้ว่า ช่องทะลุในที่แห่งใดแห่งหนึ่งแห่งจีวรที่ได้ประมาณ ย่อมทำให้ขาดอธิษฐาน, ช่องทะลุภายนอกจากประมาณ แห่งจีวรขนาดใหญ่ ย่อมไม่ทำให้ขาดอธิษฐาน. แต่ท่านก็ไม่ได้กล่าวคำนี้ว่า จีวรชื่อนี้ จัดเป็นจีวรที่ได้ประมาณ, ที่โตกว่าจีวรที่ได้ประมาณนี้ จัดเป็นจีวรใหญ่.
               อีกอย่างหนึ่ง ในวิสัยแห่งไตรจีวรเป็นต้นนี้ อาจารย์ทั้งหลายประสงค์เอาคำว่า ขนาดที่ต่างกันมี ๕ ศอกกำเป็นอาทิ เป็นประมาณอย่างเล็กแห่งไตรจีวรเป็นต้น, ถ้าในจีวรใหญ่นั้น ช่องทะลุในภายนอกจากประมาณอย่างเล็ก ไม่พึงทำให้ขาดอธิษฐานไซร้, ช่องทะลุในภายนอก จากประมาณอย่างเล็กแม้แห่งบาตรขนาดใหญ่ หรือแห่งบาตรขนาดกลาง ก็ไม่พึงทำให้ขาดอธิษฐาน, แต่ (ช่องทะลุในภายนอกจากประมาณอย่างเล็ก) จะไม่ทำให้ขาดอธิษฐานหามิได้ เพราะฉะนั้น วาทะแม้นี้ก็ไม่ได้กำหนดขนาดไว้.
               แต่อรรถกถาวาทะแรกทั้งหมดนี้ เป็นประมาณ ในอธิการวินิจฉัยไตรจีวรเป็นต้นนี้. เพราะเหตุไร? เพราะมีกำหนด. จริงอยู่ ประมาณอย่างเล็กแห่งไตรจีวร ประมาณช่องทะลุ และประมาณแห่งส่วนที่เป็น่ช่องทะลุ ท่านกำหนดกล่าวไว้แล้วในทุกอรรถกถาเหมือนกัน. เพราะฉะนั้น วาทะนั้นนั่นแลเป็นประมาณ. ด้วยว่า อรรถกถาวาทะนั้น ท่านกล่าวคล้อยตามพระประสงค์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าแน่แท้. ส่วนใน ๓ วาทะนอกนี้ ไม่มีกำหนดเลย. คำหน้ากับคำหลังไม่สมกันฉะนี้แล.
               ก็ภิกษุใดดามผ้าปะลงในที่ชำรุดก่อนแล้ว เลาะที่ชำรุดออกในภายหลัง, การอธิษฐานของภิกษุนั้นยังไม่ขาดไป. แม้ในการเปลี่ยนแปลงกระทง (จีวร) ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน. สำหรับจีวร ๒ ชั้น เมื่อชั้นหนึ่งเกิดเป็นช่องทะลุ หรือครากไป อธิษฐานยังไม่ขาด. ภิกษุกระทำจีวรผืนเล็กให้เป็นผืนใหญ่ หรือกระทำผืนใหญ่ให้เป็นผืนเล็ก, อธิษฐานยังไม่ขาด. เมื่อจะต่อริมสองข้างเข้าที่ตรงกลาง ถ้าว่า ตัดออกก่อนแล้ว ภายหลังเย็บติดกัน อธิษฐานย่อมขาด. ถ้าเย็บต่อกันแล้วภายหลังจึงตัด ยังไม่ขาดอธิษฐาน. แม้เมื่อใช้พวกช่างย้อมซักให้เป็นผ้าขาว อธิษฐานก็ยังคงเป็นอธิษฐานอยู่ทีเดียวแล.
               วินิจฉัยในการอธิษฐาน ในคำว่า อนฺโตทสาหํ อธิฏฺเฐติ วิกปฺเปติ นี้ เท่านี้ก่อน.

               [อธิบายการวิกัปจีวร]               
               ส่วนในการวิกัปมีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               วิกัปมี ๒ อย่าง คือ วิกัปต่อหน้า ๑ วิกัปลับหลัง ๑.
               ถามว่า วิกัปต่อหน้า เป็นอย่างไร?
               แก้ว่า ภิกษุพึงทราบว่า จีวรผืนเดียวหรือมากผืน และว่า จีวรวางไว้ใกล้หรือมิได้วางไว้ใกล้ (อยู่ในหัตถบาสหรือนอกหัตถบาส) แล้วกล่าวว่า อิมํ จีวรํ จีวรผืนนี้ บ้าง ว่า อิมานิ จีวรานิ จีวรเหล่านี้บ้าง ว่า เอตํ จีวรํ จีวรนั่น บ้าง ว่า เอตานิ จีวรานิ จีวรเหล่านั่นบ้าง แล้วพึงกล่าวว่า ตุยฺหํ วิกปฺเปมิ ข้าพเจ้าวิกัปแก่ท่าน ดังนี้. วิกัปต่อหน้านี้ มีอยู่อย่างเดียว. ด้วยการวิกัปเพียงเท่านี้ จะเก็บไว้สมควรอยู่. จะใช้สอย หรือจะสละ หรือจะอธิษฐานไม่ควร.
               แต่เมื่อภิกษุนั้น (ภิกษุผู้รับวิกัป) กล่าวคำว่า มยฺหํ สนฺตกํ สนฺตกานิ ปริภุญฺช วา วิสฺสชฺเชหิ วา ยถาปจฺจยํ วา กโรหิ แปลว่า จีวรนี้หรือจีวรเหล่านี้ เป็นของข้าพเจ้า ท่านจงใช้สอย จงจำหน่าย จงกระทำตามสมควรแก่ปัจจัยเถิด ดังนี้ ชื่อว่า ปัจจุทธรณ์ (ถอนวิกัป), จำเดิมแต่นั้น แม้การบริโภคเป็นต้น ย่อมสมควร.
               อีกนัยหนึ่ง ภิกษุพึงรู้ว่า จีวรผืนเดียวหรือมากผืน และว่าวางไว้ใกล้ หรือมิได้วางไว้ใกล้ อย่างนั้นนั่นแล แล้วกล่าวว่า อิมํ จีวรํ หรือว่า อิมานิ จีวรานิ ดังนี้ ว่า เอตํ จีวรํ หรือว่า เอตานิ จีวรานิ ดังนี้ ในสำนักของภิกษุนั้นนั่นแล ระบุชื่อสหธรรมิก ๕ รูปใดรูปหนึ่ง คือผู้ใดผู้หนึ่ง ที่ตนชอบใจแล้ว พึงกล่าวว่า ติสฺสสฺส ภิกฺขุโน วิกปฺเปมิ ข้าพเจ้าวิกัป... แก่ภิกษุติสสะ หรือว่า ติสฺสาย ภิกฺขุนิยา, ติสฺสาย สิกฺขมานาย, ติสฺสสฺส สามเณรสฺส, ติสฺสาย สามเณริยา วิกปฺเปมิ ข้าพเจ้าวิกัป... แก่ติสสาภิกษุณี, แก่ติสสาสิกขมานา, แก่ติสสสามเณร, แก่ติสสาสามเณรี ดังนี้. นี้เป็นวิกัปต่อหน้า อีกอย่างหนึ่ง. ด้วยการวิกัปเพียงเท่านี้ จะเก็บไว้สมควรอยู่. แต่ในการใช้สอยเป็นต้น กิจแม้อย่างหนึ่ง ย่อมไม่ควร. แต่เมื่อภิกษุนั้นกล่าวคำว่า จีวรนี้ของภิกษุชื่อติสสะ ฯลฯ ของสามเณรีชื่อติสสา ท่านจงบริโภคก็ตาม จงจำหน่ายก็ตาม จงกระทำตามสมควรแก่ปัจจัยก็ตาม ดังนี้ ชื่อว่าเป็นอันถอน, จำเดิมแต่นั้นแม้การใช้สอยเป็นต้น ก็สมควร.
               ถามว่า การวิกัปลับหลัง เป็นอย่างไร?
               แก้ว่า ภิกษุพึงทราบว่า จีวรผืนเดียวหรือมากผืน และจีวรวางไว้ใกล้ หรือมิได้วางไว้ใกล้ เหมือนอย่างนั้นแล้ว กล่าวว่า อิมํ จีวรํ ซึ่งจีวรนี้ หรือว่า อิมานิ จีวรานิ ซึ่งจีวรทั้งหลายนี้ ว่า เอตํ จีวรํ ซึ่งจีวรนั่น หรือว่า เอตานิ จีวรานิ ซึ่งจีวรทั้งหลายนั่น ดังนี้ แล้วกล่าวว่า ตุยฺหํ วิกปฺปนตฺถาย ทมฺมิ ข้าพเจ้าให้แก่ท่าน เพื่อประโยชน์แก่การวิกัป.
               ภิกษุผู้วิกัปอันภิกษุผู้รับวิกัปนั้น พึงกล่าวว่า ใครเป็นมิตรหรือเป็นเพื่อนเห็น หรือเป็นเพื่อนคบกันของท่าน.
               ลำดับนั้น ภิกษุผู้วิกัปนอกนี้พึงกล่าวว่า ภิกษุชื่อติสสะ หรือว่า ฯลฯ สามเณรีชื่อติสสาโดยนัยก่อนนั่นแล.
               ภิกษุนั้นพึงกล่าวอีกว่า อหํ ติสฺสสฺส ภิกฺขุโน ทมฺมิ ข้าพเจ้าให้แก่ภิกษุชื่อติสสะ ฯลฯ หรือว่า อหํ ติสฺสาย สามเณริยา ทมฺมิ ข้าพเจ้าให้แก่สามเณรีชื่อติสสา ดังนี้. อย่างนี้ ชื่อว่าวิกัปลับหลัง. ด้วยการวิกัปเพียงเท่านี้ การเก็บไว้ สมควรอยู่. ส่วนในการใช้สอยเป็นต้น กิจแม้อย่างเดียว ก็ไม่สมควร.
               แต่เมื่อภิกษุนั้นกล่าวคำว่า อิตฺถนฺนามสฺส ภิกฺขุโน สนฺตกํ ปริภุญฺช วา วิสฺสชฺเชหิ วา ยถาปจฺจยํ วา กโรหิ (จีวร) ของภิกษุชื่อนี้ ท่านจงใช้สอยก็ได้ จงจำหน่ายก็ได้ จงกระทำตามสมควรแก่ปัจจัยก็ได้ โดยนัยดังกล่าวแล้วในวิกัปต่อหน้าอย่างที่สองนั่นแล, ชื่อว่าเป็นอันถอน. จำเดิมแต่ถอนแล้วนั้น แม้กิจทั้งหลายมีการใช้สอยเป็นต้น ย่อมควร.
               ถามว่า การวิกัปทั้ง ๒ อย่าง ต่างกันอย่างไร?
               ตอบว่า ในการวิกัปต่อหน้า ภิกษุวิกัปเองแล้วให้ผู้อื่นถอนได้, ในวิกัปลับหลัง ภิกษุให้คนอื่นวิกัปแล้วให้คนอื่นนั่นเองถอน, นี้เป็นความต่างกัน ในเรื่องวิกัปทั้ง ๒ นี้. ก็ถ้าวิกัปแก่ผู้ใด ผู้นั้นไม่ฉลาดในพระบัญญัติ ไม่รู้จะถอน, พึงถือจีวรนั้นไปยังสำนักสหธรรมิกอื่นผู้ฉลาด วิกัปใหม่แล้วพึงให้ถอน. นี้ชื่อว่า การวิกัปบริขารที่วิกัปแล้ว ควรอยู่.
               ในบทว่า วิกปฺเปติ นี้ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               ก็คำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้โดยไม่แปลกกันว่า วิกปฺเปติ นี้ ดูเหมือนจะผิด จากพระบาลีเป็นต้นว่า อนุชานามิ ภิกฺขเว ติจีวรํอธิฏฺาตุํ นวิกปฺเปตุํดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อธิษฐานไตรจีวร ไม่ใช่ให้วิกัป ดังนี้, แต่พระตถาคตทั้งหลายย่อมไม่ตรัสคำที่ผิด เพราะฉะนั้น ผู้ศึกษาพึงทราบเนื้อความแห่งคำว่า อนุชานามิ ภิกฺขเว ติจีวรํ เป็นต้นนั้น โดยนัยอย่างนี้ว่า เราอนุญาตให้อธิษฐาน สำหรับภิกษุผู้บริหารไตรจีวร โดยสังเขปว่าไตรจีวรเท่านั้น ไม่ใช่ให้วิกัป. แต่ผ้าอาบน้ำฝน อนุญาตให้วิกัปอย่างเดียว ถัดจาก ๔ เดือน (ฤดูฝน) ไม่ใช่อธิษฐาน, และเมื่อมีอรรถอย่างนี้ ภิกษุรูปใดใคร่จะอยู่ปราศจากไตรจีวร ผืนใดผืนหนึ่ง, เป็นอันทรงประทานโอกาสแก่ภิกษุนั้น เพื่อถอนจีวรอธิษฐานแล้ววิกัป เพื่อสะดวกในการอยู่ปราศ (ไตรจีวร) ไม่เป็นอาบัติ ในเมื่อล่วง ๑๐ วัน. โดยอุบายนี้ บัณฑิตพึงทราบความที่วิกัปไม่สำเร็จในจีวรเป็นต้นทั้งหมดฉะนี้แล.
               บทว่า วิสฺสชฺเชติ มีวินิจฉัยว่า ภิกษุให้จีวรแก่ผู้อื่น, ก็อย่างไรเป็นอันให้แล้ว และอย่างไร เป็นอันถือเอาแล้ว? ภิกษุผู้สละให้กล่าวว่า อิทํ ตุยฺหํ เทมิ ททามิ ทชฺชามิ โอโณเชมิ ปริจฺจชามิ วสฺสชฺชามิ ข้าพเจ้าให้ ยกให้ มอบให้ น้อมให้ สละให้ จำหน่ายจีวรผืนนี้แก่ท่าน หรือว่า อิตฺถนฺนามสฺส เทมิ ฯเปฯ นิสฺสชฺชามิ ข้าพเจ้าให้ ฯลฯ สละให้แก่ท่านผู้มีชื่อนี้ ดังนี้ เป็นอันให้ทั้งต่อหน้าทั้งลับหลังแล้วทีเดียว ; เมื่อผู้สละให้กล่าวว่า ตุยฺหํ คณฺหาหิ ท่านจงถือเอาของท่าน ดังนี้, ภิกษุผู้รับกล่าวว่า มยฺหํ คณฺหามิ ข้าพเจ้าถือเอาของข้าพเจ้า เป็นอันให้ถูกและถือเอาถูก, เมื่อผู้สละให้กล่าวว่า ตว สนฺตกํ กโรหิ ตว สนฺตกํ โหตุ ตว สนฺกํ กริสฺสิ ท่านจงทำให้เป็นของท่าน จงเป็นของท่าน ท่านจักกระทำให้เป็นของท่าน ดังนี้. ภิกษุผู้รับกล่าวว่า มม สนฺตกํ กโรมิ ข้าพเจ้าจะทำให้เป็นของข้าพเจ้า มม สนฺตกํ โหตุ จงเป็นของข้าพเจ้า มม สนฺตกํ กริสฺสามิ ข้าพเจ้าจักกระทำให้เป็นของข้าพเจ้า ดังนี้, เป็นอันให้ไม่ถูกและเป็นอันถือเอาไม่ถูก.
               ภิกษุผู้สละให้ ไม่รู้เพื่อจะให้ (ไม่รู้วิธีเสียสละให้) เลย, ฝ่ายผู้รับก็ไม่รู้เพื่อจะรับ (ไม่รู้วิธีรับ). ก็ถ้าเมื่อภิกษุผู้เสียสละให้กล่าวว่า ขอท่านจงทำให้เป็นของท่านเสีย ภิกษุผู้รับกล่าวว่า ดีละ ขอรับ! ผมจะรับเอาแล้วถือเอา, เป็นอันให้ไม่ถูกต้อง แต่เป็นอันรับเอาถูกต้อง. ก็ถ้ารูปหนึ่งกล่าวว่า ท่านจะถือเอาเสีย, อีกรูปหนึ่ง (คือผู้รับ) กล่าวว่า ผมจะไม่ถือเอา, ผู้เสียสละให้นั้นกล่าวอีกว่า ท่านจงถือเอาของที่ผมให้แล้วเพื่อท่าน, ฝ่ายภิกษุนอกนี้กล่าวว่า ผมไม่มีความต้องการด้วยของสิ่งนี้, หลังจากนั้นแม้รูปก่อนก็ให้ล่วง ๑๐ วันไปด้วยเข้าใจว่า เราให้แล้ว, ฝ่ายรูปหลังก็ให้ล่วง ๑๐ วันไปด้วยเข้าใจว่า เราได้ปฏิเสธไปแล้ว เป็นอาบัติแก่ใคร ไม่เป็นอาบัติแก่ใคร? ไม่เป็นอาบัติแก่ใคร, ก็ท่านรูปใดชอบใจ, ท่านรูปนั้นพึงอธิษฐานใช้สอยเถิด.
               ฝ่ายภิกษุผู้ที่มีความสงสัยในการอธิษฐาน จะพึงทำอย่างไร? พึงบอกความเป็นผู้สงสัยแล้วกล่าวว่า ถ้าจีวรจักไม่ได้อธิษฐาน เมื่อเป็นอย่างนั้น จีวรเป็นของควรแก่ข้าพเจ้า แล้วพึงเสียสละโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล. เพราะว่าเมื่อภิกษุให้รู้อย่างนี้แล้วทำวินัยกรรมไม่เป็นมุสาวาท. แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า จีวรนั้น ภิกษุรูปหนึ่งถือเอาเป็นวิสาสะแล้วคืนให้ ก็ควร. คำของอาจารย์บางพวกนั้นไม่ชอบ. เพราะนั่น ไม่ใช่วินัยกรรมของภิกษุผู้มีความสงสัยนั้น. ทั้งผ้านั้น ก็ไม่เป็นวัตถุอื่น ด้วยเหตุสักว่าถือเอาแล้วให้คืนนี้.
               คำว่า นสฺสติ เป็นต้น มีอรรถตื้นทั้งนั้นแล.
               ในคำว่า โย น ทเทยฺย อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺส นี้มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               เป็นทุกกฏแก่ภิกษุผู้ไม่คืนให้ ด้วยความสำคัญนี้ว่า ภิกษุนี้ให้แล้วแก่เรา. แต่ภิกษุผู้รู้ว่าเป็นของภิกษุนั้นแล้วชิงเอาด้วยเลศ พระวินัยธรพึงให้ตีราคาสิ่งของปรับอาบัติ ฉะนี้แล.
               ในสมุฏฐานเป็นต้น สิกขาบทนี้ ชื่อว่ากฐินสมุฏฐาน ย่อมเกิดทางกายกับวาจา และทางกายวาจากับจิต เป็นอกิริยา เพราะต้องด้วยการไม่อธิษฐานและไม่วิกัป เป็นโนสัญญาวิโมกข์ เพราะไม่พ้นด้วยสัญญา แม้ไม่รู้ก็ต้อง เป็นอจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓ มีเวทนา ๓ ฉะนี้แล.

               พรรณนาปฐมกฐินสิกขาบท ในอรรถกถาพระวินัย               
               ชื่อสมันตปาสาทิกา จบ.               
               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา นิสสัคคิยกัณฑ์ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ จีวรวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๑ จบ.
อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 2 / 10อ่านอรรถกถา 2 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=2&A=1&Z=155
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=3262
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=3262
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :