ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 32อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 42อ่านอรรถกถา 2 / 46อ่านอรรถกถา 2 / 881
อรรถกถา นิสสัคคิยกัณฑ์
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ จีวรวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๔

               จีวรวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๔               
               พรรณนาปูราณจีวรโธวาปนสิกขาบท               
               ปูราณจีวรสิกขาบทว่า เตน สมเยน เป็นต้น ข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไป :-
               ในปูราณจีวรสิกขาบทนั้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

               [อธิบายบุคคลที่จัดเป็นญาติและมิใช่ญาติ]               
               ข้อว่า ยาว สตฺตมา ปิตามหยุคา มีความว่า บิดาของบิดาชื่อว่าปิตามหะ. ยุคแห่งปิตามหะ ชื่อว่า ปิตามหยุค. ประมาณแห่งอายุ ท่านเรียกว่า ยุค.
               ก็ศัพท์ว่า ยุค นี้เป็นเพียงโวหารพูดกันเท่านั้น. แต่โดยเนื้อความ ปิตามหะนั่นแหละ ชื่อว่า ปิตามหยุค. บรรพบุรุษถัดขึ้นไปจากปิตามหยุคนั้น แม้ทั้งหมด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาด้วยปิตามหศัพท์นั่นเอง.
               นางภิกษุณีผู้ซึ่งไม่เกี่ยวเนื่องกันมาตลอด ๗ ชั่วบุรุษอย่างนี้ ตรัสเรียกว่า ไม่ใช่คนเกี่ยวเนื่องกันมาตลอด ๗ ชั่วอายุของบุรพชนก. ปิตามหศัพท์นี้ เป็นมุขแห่งเทศนาเท่านั้น. แต่เพราะพระบาลีว่า มาติโต วา ปิติโต วา ดังนี้ ปิตามหยุคก็ดี ปิตามหียุคก็ดี มาตามหยุคก็ดี มาตามหียุคก็ดี ก็ชื่อว่า ปิตามหยุค, แม้พวกญาติมีพี่น้อง ชายพี่น้องหญิง หลานลูกและเหลนเป็นต้น ของปิตามหยุคเป็นต้นแม้เหล่านั้น ทั้งหมดนั้น พึงทราบว่า ทรงสงเคราะห์เข้าในคำว่า ปิตามหยุคนี้ทั้งนั้น.
               ใน ๔ ยุค คือ ปิตามหยุค ปิตามหียุค มาตามหยุค และมาตามหียุคนั้น มีนัยพิสดารดังต่อไปนี้ :-
               ภิกษุณี ไม่ใช่คนเนื่องถึงกันด้วยความเกี่ยวเนื่องทางมารดา ไม่ใช่คนเนื่องถึงกันด้วยความเกี่ยวเนื่องทางบิดา ตลอด ๗ ชั่วอายุของบุรพชนกอย่างนี้ คือ บิดา, บิดาของบิดา (ปู่), บิดาของปู่นั้น (ปู่ทวด), บิดาแม้ของปู่ทวดนั้น (ปู่ชวด),
               ตลอด ๗ ชั่วยุค ทั้งข้างสูงและข้างต่ำ แม้อย่างนี้ คือ บิดา ๑ มารดาของบิดา (ย่า) ๑ บิดาและมารดาของมารดาแม้นั้น (ตายาย) ๑ พี่น้องชาย ๑ พี่น้องหญิง ๑ บุตร ๑ ธิดา ๑,
               ตลอด ๗ ชั่วยุค แม้อย่างนี้ คือ บิดา, พี่น้องชายของบิดา, พี่น้องหญิงของบิดา, ลูกชายของบิดา, ลูกหญิงของบิดา, เชื้อสายบุตรธิดาแม้ของชนเหล่านั่น,
               ตลอด ๗ ชั่วยุค อย่างนี้ คือ มารดา, มารดาของมารดา (ยาย), มารดาของยายนั้น (ยายทวด), มารดาของยายทวดแม้นั้น (ยายชวด),
               ตลอด ๗ ชั่วยุค ทั้งข้างสูงและข้างต่ำ แม้อย่างนี้ คือ มารดา ๑ บิดาของมารดา (ตา) ๑ บิดาและมารดาของตานั้น (ทวดชายหญิง) ๑ พี่น้องชาย ๑ พี่น้องหญิง ๑ บุตร ๑ ธิดา ๑,
               ตลอด ๗ ชั่วยุค แม้อย่างนี้ คือ มารดา, พี่น้องชายของมารดา (ลุงน้าชาย), พี่น้องหญิงของมารดา (ป้าน้าหญิง), ลูกชายของมารดา, ลูกหญิงของมารดา, เชื้อสายบุตรธิดาของชนแม้เหล่านั้น, นี้ชื่อว่า ผู้มิใช่ญาติ.

               [ว่าด้วยจีวรเก่าและการใช้ให้ซัก]               
               บทว่า อุภโตสงฺเฆ มีความว่า ภิกษุณีผู้อุปสมบท ด้วยอัฏฐวาจิยกรรม คือ ด้วยญัตติจตุตถกรรม ในฝ่ายภิกษุสงฆ์ ๑ ด้วยญัตติจตุตถกรรม ในฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ ๑.
               ข้อว่า สกึ นิวตฺถํปิ สกึ ปารุตํปิ มีความว่า จีวรที่ย้อมแล้วทำกัปปะเสร็จ นุ่งหรือห่ม แม้เพียงครั้งเดียว. ชั้นที่สุดพาดไว้บนบ่า หรือบนศีรษะ โดยมุ่งการใช้สอยเป็นใหญ่ เดินทางไป หรือว่า หนุนศีรษะนอน, แม้จีวรนั่นก็ชื่อว่า จีวรเก่าเหมือนกัน.
               ในกุรุนที ท่านกล่าวว่า ก็ถ้าว่า ภิกษุนอนเอาจีวรไว้ใต้ที่นอน หรือเอามือทั้งสองยกขึ้นทำเป็นเพดานบนอากาศ ไม่ให้ถูกศีรษะเดินไป. นี้ยังไม่ชื่อว่า ใช้สอย.
               ในคำว่า โธตํ นิสฺสคฺคิยํ นี้ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ภิกษุณีที่ถูกภิกษุใช้อย่างนี้ ย่อมจัดเตาไฟ ขนฟืนมา ก่อไฟ ตักน้ำมา เพื่อประโยชน์แก่การซัก, ย่อมเป็นทุกกฏแก่ภิกษุ ทุกๆ ประโยคของนางภิกษุณี ตลอดเวลาที่นางภิกษุณียังยกจีวรนั้นขึ้นซักอยู่, จีวรนั้นพอซักเสร็จแล้วยกขึ้น ก็เป็นนิสสัคคีย์. ถ้านางภิกษุณีสำคัญว่า จีวรยังซักไม่สะอาด จึงเทน้ำราดหรือซักใหม่, เป็นทุกกฏ ทุกๆ ประโยค ตลอดเวลาที่ยังไม่เสร็จ. แม้ในการย้อมและการทุบ ก็มีนัยอย่างนี้. ก็ภิกษุณีเทน้ำย้อมลงในรางสำหรับย้อม แล้วย้อมเพียงคราวเดียว, กระทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนแต่การเทน้ำย้อมเป็นต้นนั้น เพื่อประโยชน์แก่การย้อม หรือว่าภายหลัง กลับย้อมใหม่ เป็นทุกกฏแก่ภิกษุทุกๆ ประโยคในฐานะทั้งปวง. แม้ในการทุบ ก็พึงทราบประโยคอย่างนี้.
               ข้อว่า อญฺญาติกาย อญฺญาติกสญฺญี ปุราณจีวรํ โธวาเปติ
               มีความว่า ถ้าแม้นว่า ภิกษุไม่พูดว่า เธอจงซักจีวรนี้ให้เรา, แต่ทำกายวิการ เพื่อประโยชน์แก่การซัก ให้ที่มือด้วยมือ หรือวางไว้ใกล้เท้า หรือฝากต่อๆ ไป คือ ส่งไปในมือของนางสิกขมานา สามเณร สามเณรี อุบาสิกา และเดียรถีย์ เป็นต้น หรือว่า โยนไปในที่ใกล้แห่งนางภิกษุณีผู้กำลังซักอยู่ที่ท่าน้ำ, คือในโอกาสภายใน ๑๒ ศอก จีวรเป็นอันภิกษุใช้นางภิกษุณีให้ซักเหมือนกัน. ก็ถ้าว่าภิกษุละอุปจารวางไว้ห่างจากร่วมในเข้ามา และนางภิกษุณีนั้น ซักแล้วนำมา, ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุ. ภิกษุให้จีวรในมือแห่งนางสิกขมานาก็ดี สามเณรก็ดี อุบาสิกาก็ดี เพื่อประโยชน์แก่การซัก, ถ้านางสิกขมานานั้นอุปสมบทแล้ว จึงซัก, เป็นอาบัติเหมือนกัน. ให้ไว้ในมือแห่งอุบาสก ถ้าอุบาสกนั้น เมื่อเพศกลับแล้ว บรรพชาอุปสมบทในสำนักนางภิกษุณีแล้ว จึงซัก, เป็นอาบัติเหมือนกัน. แม้ในจีวรที่ให้ในมือของสามเณร หรือของภิกษุในเวลาเพศกลับ ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน.

               [ว่าด้วยอาบัติและอนาบัติในการใช้ให้ซัก]               
               ในคำว่า โธวาเปติ รชาเปติ เป็นต้น มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               จีวรเป็นนิสสัคคีย์ด้วยวัตถุแรก เป็นทุกกฏแก่ภิกษุด้วยวัตถุที่ ๒, เมื่อภิกษุให้กระทำทั้ง ๓ วัตถุ เป็นนิสสัคคีย์ด้วยวัตถุแรก เป็นทุกกฏ ๒ ตัว ด้วยวัตถุที่เหลือ. แต่เพราะเมื่อภิกษุใช้ให้กระทำการซักเป็นต้นนี้ตามลำดับหรือว่าผิดลำดับ ก็ไม่มีความพ้นจากอาบัติ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสจตุกกะ ๓ หมวดไว้ในพระบาลีนี้.
               แต่ถ้าแม้เมื่ออภิกษุกล่าวว่า เธอจงย้อม ซัก จีวรนี้แล้วนำมาให้เรา ดังนี้ นางภิกษุณีนั้นซักก่อนแล้ว จึงย้อมภายหลัง เป็นทุกกฏกับนิสสัคคีย์เท่านั้น.
               ในคำที่ตรงกันข้ามแม้ทั้งหมด ก็พึงทราบนัยอย่างนี้.
               ก็ถ้าว่า เมื่อภิกษุกล่าวว่า เธอซักแล้ว จงนำมา นางภิกษุณีซักด้วย ย้อมด้วย, เป็นอาบัติ เพราะการซักเป็นปัจจัยอย่างเดียว, ไม่เป็นอาบัติในเพราะการย้อม.
               พึงทราบอนาบัติ โดยลักษณะนี้ว่า ภิกษุมิได้สั่ง ซักเอง ในเพราะการกระทำเกินกว่าคำที่ภิกษุสั่งทุกๆ แห่ง ด้วยประการอย่างนี้. แต่เมื่อภิกษุกล่าวว่า กิจใดที่จะพึงกระทำในจีวรนี้, กิจนั้นจงเป็นภาระของเธอทั้งหมด ดังนี้ ย่อมต้องอาบัติมากหลาย เพราะคำพูดคำเดียว.
               ก็บทเหล่านี้ว่า อญฺญาติกาย เวมติโก อญฺญาติกาย ญาติกสญฺญี พึงทราบโดยพิสดาร ด้วยสามารถแห่งจตุกกะ ๓ หมวด โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแหละ.
               สองบทว่า เอกโต อุปสมฺปนฺนาย มีความว่า เป็นทุกกฎแก่ภิกษุ ผู้ใช้นางภิกษุณีผู้อุปสมบท ในสำนักแห่งภิกษุณีทั้งหลายให้ซัก. แต่เมื่อใช้นางภิกษุณีผู้อุปสมบทในสำนักแห่งภิกษุทั้งหลายให้ซัก เป็นอาบัติตามวัตถุเหมือนกัน. นางสากิยานี ๕๐๐ ชื่อว่าผู้อุปสมบทในสำนักแห่งภิกษุทั้งหลาย.
               สองบทว่า อวุตฺตา โธวติ มีความว่า ภิกษุณีผู้มาเพื่ออุเทศ หรือว่า เพื่อโอวาท เห็นจีวรสกปรก ฉวยเอาไปจากที่วางไว้ หรือให้นำมาให้ด้วยกล่าวว่า พระคุณเจ้าโปรดให้เถิด ดิฉันจักซัก แล้วซักก็ดี ย้อมก็ดี ทุบก็ดี ภิกษุณีนี้ชื่อว่า ผู้อันภิกษุไม่ได้สั่ง ซักเอง.
               แม้ภิกษุณีใดได้ยินภิกษุสั่งภิกษุหนุ่ม หรือสามเณรว่า เธอจงซักจีวรนี้แล้ว กล่าวว่า พระคุณเจ้าจงนำมาเถิด ดิฉันจักซักเอง แล้วซักหรือถือเอาเป็นของยืมแล้ว ซัก ย้อมให้ แม้ภิกษุณีนี้ก็ชื่อว่า ผู้อันภิกษุไม่ได้สั่ง ซักเอง.
               สองบทว่า อญฺญํ ปริกฺขารํ มีความว่า ภิกษุใช้ภิกษุณีให้ซักล้างบรรดาบริขารมีถุงรองเท้า ถลกบาตร ผ้าอังสะ ประคดเอว เตียงตั่ง ฟูกและเสื่ออ่อนเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่เป็นอาบัติ. คำที่เหลือในสิกขาบทนี้ มีอรรถตื้นทั้งนั้น.
               ก็ในบรรดาปกิณกะมีสมุฏฐานเป็นต้น สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๖ เป็นกิริยา โนสัญญาวิโมกข์ อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓ มีเวทนา ๓ ฉะนี้แล.

               พรรณนาปูราณจีวรโธวาปนสิกขาบทที่ ๔ จบ.               
               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา นิสสัคคิยกัณฑ์ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ จีวรวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๔ จบ.
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 32อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 42อ่านอรรถกถา 2 / 46อ่านอรรถกถา 2 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=2&A=553&Z=751
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=3911
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=3911
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :