ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 53อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 58อ่านอรรถกถา 2 / 62อ่านอรรถกถา 2 / 881
อรรถกถา นิสสัคคิยกัณฑ์
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ จีวรวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๗

               จีวรวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๗               
               พรรณนาตทุตตริสิกขาบท               
               ตทุตตริสิกขาบทว่า เตน สมเยน เป็นต้น ข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไป :-
               ในตทุตตริสิกขาบทนั้น มีวินิจฉัยดังนี้ :-

               [แก้อรรถปฐมบัญญัติเรื่องปวารณาเพื่อนำไป]               
               ศัพท์ว่า อภิ ในคำว่า อภิหฏฺฐุํ เป็นอุปสรรค. มีอรรถว่า เพื่อนำไป.
               มีคำอธิบายว่า เพื่อถือเอา.
               บทว่า ปวาเรยฺย มีความว่า พึงให้ปรารถนา คือให้เกิดความปรารถนา ความพอใจ. อธิบายว่า พึงบอก คือ พึงนิมนต์.
               เพื่อทรงแสดงอาการที่ผู้ปวารณาเพื่อให้นำไปจะพึงกล่าว พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสบทภาชนะแห่งบทว่า อภิหฏฺฐุํ ไว้อย่างนี้ว่า ท่านต้องการจีวรเท่าใด ก็จงรับไปเท่านั้นเถิด.
               อีกอย่างหนึ่ง ในบาทคาถานี้ว่า เนกฺขมฺมํ ทฏฺฐุเขมโต มีอรรถว่า ทิสฺวา (เห็นแล้ว) ฉันใด, สองบทว่า อภิหฏฺฐุํ ปวาเรยฺย แม้ในสิกขาบทนี้ ก็มีอรรถว่า เขานำมาแล้วปวารณา ฉันนั้น.
               การนำมาในคำว่า อภิหริตฺวา นั้น มี ๒ อย่างคือ การนำมาด้วยกายอย่าง ๑ การนำมาด้วยวาจาอย่าง ๑. พ่อเจ้าเรือนก็ดี แม่เจ้าเรือนก็ดี ผู้มิใช่ญาติ นำผ้าทั้งหลายมาด้วยกายแล้ววางไว้ที่ใกล้เท้า พึงปวารณากล่าวว่า ท่านต้องการจีวรเท่าใด ก็จงรับไปเท่านั้นเถิด.
               อนึ่ง พึงกล่าวปวารณาด้วยวาจาว่า เรือนคลังผ้าของพวกข้าพเจ้าเต็มบริบูรณ์, ท่านต้องการจีวรเท่าใด ก็จงรับไปเท่านั้นเถิด. ก็เพราะรวมการนำมาทั้งสองนั้นเข้าเป็นอันเดียวกัน ตรัสเรียกว่า ปวารณาเพื่อนำไป.
               บทว่า สนฺตรุตฺตรปรมํ มีวิเคราะห์ว่า ผ้าอุตราสงค์กับอันตรวาสก เป็นอย่างยิ่งแห่งจีวรนั้น เหตุนั้น จีวรนั้นจึงชื่อว่า มีอุตราสงค์กับอันตรวาสกเป็นอย่างยิ่ง.
               มีคำอธิบายว่า ผ้าห่มกับผ้านุ่ง เป็นกำหนดอย่างสูงแห่งจีวรนั้น.
               หลายบทว่า ตโต จีวรํ สาทิตพฺพํ มีความว่า ภิกษุพึงถือเอาจีวรมีประมาณเท่านี้ จากจีวรที่คฤหบดีหรือคฤหปตานี ผู้มิใช่ญาตินำมาให้นั้น.
               อธิบายว่า ไม่ควรรับเกินกว่านี้. ก็เพราะว่าภิกษุผู้มีเพียงไตรจีวรเท่านั้น ถูกโจรชิงเอาจีวรไปหมด ควรปฏิบัติอย่างนี้, ภิกษุอื่นควรปฏิบัติแม้อย่างอื่น ฉะนั้น เพื่อจะทรงแสดงวิภาคนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสบทภาชนะแห่งบทว่า ตโต จีวรํ สาทิตพฺพํ นั้น โดยนัยมีว่า สเจ ตีณิ นฏฺฐานิ โหนฺติ เป็นต้น.
               วินิจฉัยในคำว่า สเจ ตีณิ นฏฺฐานิ เป็นต้นนั้น ดังต่อไปนี้ :-
               ถ้าภิกษุใดมีจีวรหาย ๓ ผืน, ภิกษุนั้นพึงยินดี ๒ ผืน คือจักนุ่งผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง แล้วแสวงหาอีกผืนหนึ่งจากที่แห่งภิกษุผู้เป็นสภาคกัน. ภิกษุใดมีจีวรหาย ๒ ผืน ภิกษุนั้นพึงยินดีผืนเดียว. ถ้าภิกษุเที่ยวไปโดยปกติด้วยอุตราสงค์กับอันตรวาสก พึงยินดี ๒ ผืน. เมื่อยินดีเช่นนั้น จักเป็นผู้เสมอกับภิกษุผู้ยินดีผืนเดียวนั่นเอง. หายผืนเดียว ไม่พึงยินดี. ภิกษุใดมีจีวรหายไปผืนเดียวในบรรดาจีวร ๓ ผืน ภิกษุนั้นไม่ควรยินดี. แต่บรรดาจีวร ๒ ผืนของภิกษุใดหายผืนเดียว เธอพึงยินดีผืนเดียว. แต่ของภิกษุใดมีผืนเดียวเท่านั้น และจีวรผืนนั้นหาย ภิกษุนั้นพึงยินดี ๒ ผืน. แต่สำหรับภิกษุนี้ เมื่อหายไปทั้ง ๕ ผืน พึงยินดี ๒ ผืน. เมื่อหาย ๔ ผืน พึงยินดีผืนเดียว. เมื่อหาย ๓ ผืน ไม่พึงยินดีอะไรๆ เลย. ก็ในจีวรที่หายไป ๒ ผืนหรือ ๑ ผืน จะต้องกล่าวไปทำไมเล่า?
               จริงอยู่ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งพึงตั้งอยู่ในความเป็นผู้มีอุตราสงค์กับอันตรวาสกเป็นอย่างยิ่ง. ยิ่งกว่านั้นไปย่อมไม่ได้, คำดังกล่าวมานี้ เป็นลักษณะในข้อนี้.
               สองบทว่า เสสกํ อาหริสฺสามิ มีความว่า ข้าพเจ้า จักทำจีวรสองผืนแล้ว จักนำผ้าที่เหลือมาคืนให้.
               บทว่า น อจฺฉินฺนการณา มีความว่า พวกทายกถวายด้วยอำนาจแห่งคุณมีความเป็นพหูสูตเป็นต้น.
               ในบทว่า ญาตกานํ เป็นต้น มีความว่า ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ยินดีจีวรของพวกญาติถวาย ผู้ยินดีของพวกคนปวารณาถวาย ผู้ยินดี (จีวรที่จ่ายมา) ด้วยทรัพย์ของตน.
               อนึ่ง ในอรรถกถาทั้งหลาย ท่านกล่าวว่า ตามปกตินั่นแลจะขอจีวรแม้มากในที่แห่งญาติและคนปวารณา ก็ควร, เพราะเหตุที่ถูกโจรเป็นต้นชิงไป ควรจะขอแต่พอประมาณเท่านั้น. คำนั้นไม่สมด้วยพระบาลี. ก็เพราะสิกขาบทนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติ ในเพราะเรื่องขอเพื่อประโยชน์แก่คนอื่นเท่านั้น เพราะฉะนั้น ในสิกขาบทนี้ พระองค์จึงไม่ตรัสว่า เพื่อประโยชน์แก่คนอื่น. คำที่เหลือมีอรรถตื้นทั้งนั้น.
               บรรดาปกิณกะมีสมุฏฐานเป็นต้น สิกขาบทแม้นี้ก็มีสมุฏฐาน ๖ เป็นกิริยา โนสัญญาวิโมกข์ อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓ มีเวทนา ๓ ฉะนี้แล.

               พรรณนาตทุตตริสิกขาบทที่ ๗ จบ.               
               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา นิสสัคคิยกัณฑ์ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ จีวรวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๗ จบ.
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 53อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 58อ่านอรรถกถา 2 / 62อ่านอรรถกถา 2 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=2&A=1089&Z=1203
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=4142
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=4142
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๕  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :