ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 148อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 149อ่านอรรถกถา 20 / 150อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี
วรรคที่ ๔

หน้าต่างที่ ๑๐ / ๑๒.

               อรรถกถาพระสูตรที่ ๑๐               
               ประวัติพระสาคตเถระ               
               ในสูตรที่ ๑๐ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               ด้วยบทว่า เตโชธาตุกุสสานํ ท่านแสดงว่า ท่านพระสาคตเถระเป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวกผู้ฉลาดเข้าเตโชธาตุ.
               ความจริง พระเถระนี้ใช้เดชครอบงำเดชของนาคชื่ออัมพติตถะ ได้ทำให้หายพยศ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงชื่อว่า เป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวกผู้ฉลาดเข้าเตโชธาตุ
               ในปัญหากรรมของท่าน มีเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับ ดังนี้
               ก็พระเถระรูปนี้ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ถือปฏิสนธิในครอบครัว ในกรุงหงสวดี ต่อมา กำลังฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวกผู้ฉลาดเข้าเตโชธาตุ จึงทำกุศลกรรมอย่างใหญ่ ปรารถนาตำแหน่งนั้น. เขาทำกุศลตลอดชีวิต เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์. ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดในครอบครัวพราหมณ์ ในกรุงสาวัตถี. บิดามารดาจึงตั้งชื่อท่านว่า สาคตมาณพ.
               ต่อมา สาคตมาณพนั้นฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาได้ศรัทธา จึงบวชทำสมาบัติ ๘ ให้บังเกิดแล้ว บรรลุความเป็นผู้ชำนาญในสมาบัตินั้น.
               ต่อมาวันหนึ่ง พระศาสดาเสด็จจาริกไป ได้เสด็จถึงที่ใกล้กรุงโกสัมพี. สมัยนั้น คนที่มาที่ไปมากด้วยกันเป็นศัตรูของนายเรือเก่าที่ท่าน้ำ ตีนายเรือนั้นตาย. นายเรือนั้นตั้งความปรารถนาด้วยทั้งจิตที่ขุ่นแค้น บังเกิดเป็นนาคราชมีอานุภาพมากที่ท่าเรือนั้นนั่นแหละ เพราะมีจิตขุ่นแค้น เขาจึงทำให้ฝนตกในเวลาที่มิใช่หน้าฝน ไม่ให้ฝนตกในเวลาหน้าฝน ข้าวกล้าก็ไม่สมบูรณ์. ชาวแว่นแคว้นทั้งสิ้นทำการเส้นสังเวยทุกปี เพื่อให้นาคราชนั้นสงบ สร้างเรือนหลังหนึ่งให้นาคราชนั้นอยู่.
               แม้พระศาสดาก็เสด็จข้ามทางท่านั้น มีภิกษุสงฆ์แวดล้อม ได้เสด็จไป ทรงมีพระประสงค์จะประทับอยู่คืนหนึ่ง ณ ที่นั้น.
               ครั้งนั้น พระเถระนี้ทราบว่า เขาว่ามีนาคราชดุอยู่ที่นั้น จึงคิดว่าควรจะทรมานนาคราชนี้ให้หายพยศ แล้วจัดแจงที่ประทับอยู่สำหรับพระศาสดา ดังนี้แล้วเข้าไปยังที่อยู่ของนาค นั่งขัดสมาธิ.
               นาคโกรธว่า สมณะโล้นนี้ชื่อไร จึงบังอาจเข้าไปนั่งยังที่อยู่ของเรา แล้วจึงบังหวนควันขึ้น. พระเถระก็ทำบังหวนควันยิ่งกว่า. พระยานาคทำไฟลุกโพลง. พระเถระก็ทำไฟลุกโพลงยิ่งกว่า ครอบงำเดชของนาคนั้น. นาคคิดว่าภิกษุรูปนี้ใหญ่จริงหนอ จึงหมอบกราบลงแทบเท้าพระเถระกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพระเจ้าขอถึงท่านเป็นสรณะ. พระเถระบอกว่า กิจด้วยสรณะสำหรับเราไม่มีดอก ท่านจงถึงพระทศพลเป็นสรณะเถิด.๑ นาคนั้นรับคำว่า ดีละ แล้วเป็นผู้ถึงสรณะ.
____________________________
๑-ปาฐะว่า โส สาธูติ สรณํ คโตฯ โส อคจฺฉิ ตํ สรณํ ฯเปฯ สพฺพญฺญุตํปิ สํคโต ฯ หุตฺวา อิโต ปฏฺฐาย น กิญฺจิ วิเหเฐมิ เทวํปิ สมฺมา วสฺสาเปมีติฯ
   พม่าเป็น โส สาธูติ สรณคโต หุตฺวา ตโต ปฏฺฐาย น กญฺจิ วิเหเฐติ, เทวมฺปิ สมฺมา วสฺสาเปติ, แปลตามพม่า.

               ๒-(นาคนั้นได้ถึงพระทศพล ผู้มีพระเศียรคือสัพพัญญุตญาณอันประเสริฐ ผู้มีพระเกล้างามคือนิพพานารมณ์อันประเสริฐ ผู้มีพระนลาตคือจตุตถญาณอันประเสริฐ ผู้มีรัศมีพระอุณณาโลมคือสมาปัตติญาณ ดั่งวชิระอันประเสริฐ ผู้มีพระโขนงทั้งคู่อันประเสริฐเกินความงามแห่งนีลกสิณ ผู้มีคู่พระจักษุคือทิพยจักษุ ปัญญาจักษุและสมันตจักษุอันประเสริฐ ผู้มีคู่พระโสต คือทิพยโสตญาณอันประเสริฐ ผู้มีพระนาสิกโด่งคือโคตรภูญาณอันประเสริฐ ผู้มีคู่พระปราง (แก้ม) คือมรรคผลญาณและวิมุตติผลญาณอันประเสริฐ ผู้มีคู่พระโอษฐ์คือโลกิยญาณและโลกุตตรญาณอันประเสริฐ ผู้มีพระทนต์งามคือสัตตตึสโพธิปักขิยญาณอันประเสริฐ ผู้มีพระเขี้ยว ๔ คือจตุมรรคญาณอันประเสริฐ ผู้มีพระชิวหาคือจตุสัจจญาณอันประเสริฐ ผู้มีพระหนุ (คาง) คืออัปปฏิหตญาณ (พระญาณที่ไม่มีอะไรขัดขวาง) อันประเสริฐ ผู้มีพระศอคือญาณเครื่องบรรลุวิโมกข์อันยอดเยี่ยมอันประเสริฐ ผู้มีคู่พระพาหา (แขน) คือจตุเวสารัชชญาณอันประเสริฐ ผู้มีพระองคุลี (นิ้ว) กลมงามคือทสานุสสติญาณอันประเสริฐ ผู้มีแผ่นพระอุระ (อก) เต็มคือสัตตโพชฌงค์ ผู้มีคู่พระถัน (นม) คืออาสยานุสยญาณอันประเสริฐ ผู้มีพระวรกายท่อนกลางคือทศพลญาณอันประเสริฐ ผู้มีพระชงม์ (แข้ง) คือปัญจินทรีย์และปัญจพละอันประเสริฐ ผู้มีคู่พระอูรุ (ขา) คือทสกุศลกัมมปถอันประเสริฐ ผู้มีสังฆาฏิคือศีลสมาธิปัญญาอันประเสริฐ ผู้มีบังสุกุลจีวรเครื่องปกปิดพระวรกายคือหิริโอตตัปปะอันประเสริฐ ผู้มีพระอันตรวาสก (สะบง) คืออัฏฐังคิกมรรคญาณอันประเสริฐ ผู้มีประคตเอวคือจตุสติปัฏฐานอันประเสริฐ เป็นสรณะ พระพุทธเจ้าท่านให้แจ่มแจ้งแล้วดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบรรลุแม้พระสัพพัญญุตญาณแล้ว)
____________________________
๒- ที่วงเล็บไว้ ฉบับพม่าสีหลไม่มี.

               ตั้งแต่นั้น นาคก็ไม่เบียดเบียนใครๆ ทำฟ้าฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าทั้งหลายก็สมบูรณ์ พูนผล.
               พวกชาวกรุงโกสัมพีฟังข่าวว่า เขาว่าพระผู้เป็นเจ้าสาคตะทรมานอัมพติตถนาคได้แล้ว ต่างคอยการเสด็จมาของพระศาสดา จัดแจงสักการะเป็นอันมากถวายพระทศพล ชาวเมืองเหล่านั้น ครั้นถวายสักการะอย่างมากแด่พระทศพลแล้ว ก็ตกแต่งน้ำใสสีขาว (ประเภทสุรา?) ไว้ในเรือนทุกหลัง ตามคำแนะนำของเหล่าภิกษุฉัพพัคคีย์ (ภิกษุ ๖ รูป).
               วันรุ่งขึ้น เมื่อพระสาคตเถระเที่ยวบิณฑบาต ก็พากันถวายน้ำนั้นบ้านละหน่อยๆ พระเถระถูกผู้คนทั้งหลายขะยั่นขะยอ เพราะยังไม่ได้ทรงบัญญัติสิกขาบท ก็ดื่มทุกเรือนหลังละหน่อยๆ เดินไปไม่ไกลนักก็สิ้นสติล้มลงที่กองขยะ เพราะไม่มีอาหารรองท้อง.
               พระศาสดาเสวยเสร็จแล้ว เสด็จออกไปเห็นท่านพระสาคตะเถระนั้น ก็โปรดให้พาตัวไปพระวิหาร ทรงตำหนิแล้วทรงบัญญัติสิกขาบท.
               วันรุ่งขึ้น ท่านได้สติ ฟังเขาเล่าถึงเหตุที่ตนทำแล้วก็แสดงโทษที่ล่วงเกิน ขอให้พระทศพลงดโทษแล้ว เกิดความสลดใจ เจริญวิปัสสนาแล้วบรรลุพระอรหัต.
               เรื่องปรากฏในพระวินัยดังกล่าวมานี้. พึงทราบเรื่องพิสดารตามนัยที่มาแล้วในวินัยนั้นนั่นแล.
               ภายหลัง พระศาสดาประทับนั่งในพระเชตวันมหาวิหาร กำลังทรงสถาปนาพระเถระทั้งหลายไว้ในตำแหน่งทั้งหลายตามลำดับ จึงทรงสถาปนาท่านพระสาคตเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวกผู้ฉลาดเข้าเตโชธาตุแล.

               จบอรรถกถาพระสูตรที่ ๑๐               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี วรรคที่ ๔
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 148อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 149อ่านอรรถกถา 20 / 150อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=675&Z=693
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=14&A=6083
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=14&A=6083
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :