ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 148อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 149อ่านอรรถกถา 20 / 150อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี
วรรคที่ ๔

หน้าต่างที่ ๒ / ๑๒.

               อรรถกถาสูตรที่ ๒               
               ประวัติพระอุรุเวลกัสสปเถระ               
               ในสูตรที่ ๒ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               ด้วยบทว่า มหาปริสานํ ท่านแสดงว่า ท่านพระอุรุเวลกัสสปเป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวกผู้มีบริวารมาก.
               จริงอยู่ พระเถระอื่นๆ บางกาลก็มีปริวารมาก บางกาลก็มีปริวารน้อย ส่วนพระเถระนี้กับน้องชายทั้งสอง มีปริวารประจำ เป็นสมณะถึงหนึ่งพันรูป.
               บรรดาภิกษุชฎิลสามรูปนั้น เมื่อแต่ละรูปให้บรรพชาครั้งละรูป ก็จะเป็นสมณะสองพันรูป เมื่อให้บรรพชาครั้งละสองรูป ก็จะเป็นสมณะสามพันรูป เพราะฉะนั้น ท่านอุรุเวลกัสสปจึงเป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวกผู้มีบริวารมาก.
               ก็คำว่า กัสสป เป็นโคตรของท่าน. ปรากฏชื่อว่า อุรุเวลกัสสป เพราะท่านบวชในอุรุเวลาเสนานิคม.
               ในปัญหากรรมของท่าน มีเรื่องจะกล่าวตามลำดับ ดังนี้ :-
               ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ แม้ท่านอุรุเวลกัสสปนี้ก็ถือปฏิสนธิในเรือนสกุล ณ กรุงหงสวดี เจริญวัยแล้ว ฟังธรรมกถาของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวกผู้มีบริษัทมาก คิดว่า แม้เราก็ควรจะเป็นเช่นภิกษุรูปนี้ในอนาคตกาล จึงถวายมหาทานแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ๗ วัน ให้ครองไตรจีวร ถวายบังคมพระศาสดา แล้วได้กระทำความปรารถนาในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวกผู้มีบริษัท.
               พระศาสดาทรงเห็นไม่มีอันตราย จึงทรงพยากรณ์ว่า เขาจักเป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวกผู้มีบริษัทมาก ในศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้า ในอนาคตกาล แล้วเสด็จกลับไป.
               กุลบุตรแม้นั้นกระทำกัลยาณกรรมตลอดชีวิต เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ ในที่สุดกัปที่ ๙๒ ก็บังเกิดเป็นกนิษฐภาดาต่างมารดาของพระพุทธเจ้าพระนามว่าปุสสะ พระราชบิดาพระนามว่ามหินทรราชา.
               ท่านยังมีพี่น้องอื่นๆ อีกสององค์. พี่น้องทั้งสามองค์นั้นได้ตำแหน่งองค์ละแผนกอย่างนี้ ทรงปราบปรามชนบทชายแดนที่ก่อกบฏ โดยนัยที่กล่าวแล้วในหนหลัง ทรงได้พรจากสำนักพระราชบิดา ทรงรับพรว่า พวกข้าพระองค์จักบำรุงพระทศพลตลอดไตรมาส.
               ครั้งนั้น พี่น้องทั้งสามพระองค์ทรงดำริว่า พวกเราบำรุงพระทศพลกระทำให้เหมาะ จึงควรจึงแต่งตั้งอมาตย์ผู้หนึ่งไว้ในตำแหน่งเป็นผู้หารายได้ แต่งตั้งอมาตย์ผู้หนึ่งเป็นผู้รับจ่าย แต่งตั้งอมาตย์ผู้หนึ่งในตำแหน่งเป็นผู้เลี้ยงภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข สมาทานศีลสิบสำหรับพระองค์ รักษาสิกขาบททั้งหลายตลอดไตรมาส.
               อมาตย์ทั้งสามคนนั้นบังเกิดเป็นพิมพิสาร วิสาขะและรัฐปาละ ในพุทธุปบาทกาลนี้ โดยนัยที่กล่าวมาแล้วในหนหลัง.
               ส่วนพระราชกุมารเหล่านั้น เมื่อพระทศพลอยู่จำพรรษาแล้ว ทรงบูชาด้วยปัจจัยด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง กระทำกัลยาณกรรมตลอดชีวิต บังเกิดในสกุลพราหมณ์ก่อนพระทศพลของเราทรงอุบัติ มีนามว่ากัสสป. ทั้งสามคนตามโคตรของตน คนทั้งสามนั้นเจริญวัยแล้วเรียนไตรเพท คนใหญ่มีบริวารมาณพ ๕๐๐ คน คนกลาง ๓๐๐ คน คนเล็ก ๒๐๐ คน.
               ทั้งสามพี่น้องตรวจดูสาระในคัมภีร์ (ไตรเพท) เห็นแต่ประโยชน์ส่วนปัจจุบันเท่านั้น ไม่เห็นประโยชน์ส่วนภายภาคหน้า พี่ชายคนใหญ่ไปยังตำบลอุรุเวลาบวชเป็นฤษีพร้อมกับบริวารของตน ชื่อว่าอุรุเวลกัสสป. คนกลางไปบวชที่คุ้งมหาคงคานที ชื่อว่านทีกัสสป. คนเล็กไปบวชที่คยาสีสประเทศ ชื่อว่าคยากัสสป.
               เมื่อกัสสปพี่น้องบวชเป็นฤษีอยู่ ณ ที่นั้นล่วงวันไปเป็นอันมาก พระโพธิสัตว์ของเราเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ทรงได้พระสัพพัญญุตญาณ ประกาศพระธรรมจักรตามลำดับ ทรงสถาปนาพระปัญจวัคคียเถระไว้ในพระอรหัต ทรงแนะนำสหาย ๕๕ คนมียศกุลบุตรเป็นหัวหน้า ทรงส่งพระอรหันต์ ๖๐ องค์ให้จาริกไปเพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก ด้วยพระดำรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจาริกไปดังนี้เป็นต้น ทรงแนะนำพวกภัททวัคคีย์ แล้วทรงเห็นเหตุแห่งอุรุเวลกัสสป ก็ทรงทราบว่าเมื่อเราไป สามพี่น้องพร้อมบริวารจักบรรลุพระอรหัต ลำพังพระองค์เดียวไม่มีเพื่อน เสด็จถึงที่อยู่ของอุรุเวลกัสสป ทรงขอเรือนไฟเพื่อประทับอยู่ ทรงแนะนำอุรุเวลกัสสปพร้อมด้วยบริวาร ตั้งต้นแต่ทรงทรมานงู ซึ่งอยู่ในเรือนไฟนั้นด้วยปาฏิหาริย์ทั้งหลาย เป็นจำนวนถึง ๓,๕๐๐ อย่างแล้วทรงให้บวช น้องชายอีกสองคนรู้ว่าพี่ชายบวช ก็มาบวชพร้อมด้วยบริวาร เหล่าชฎิลทั้งหมดเป็นเอหิภิกขุ ทรงบาตรและจีวรสำเร็จมาแต่ฤทธิ.
               พระศาสดาทรงพาสมณะ ๑,๐๐๐ รูปนั้นไปยังคยาสีสประเทศ ประทับนั่งบนหลังแผ่นหิน ทรงตรวจดูว่า คนเหล่านี้บวชบำเรอไฟ ควรจะแสดงภพทั้งสาม ให้เป็นเสมือนเรือนไฟไหม้แก่คนเหล่านี้ จึงทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตร. จบเทศนา ก็บรรลุพระอรหัตหมดทุกรูป.
               พระศาสดามีภิกษุชฎิลเหล่านั้นแวดล้อม ทรงทราบถึงปฏิญญาที่ถวายไว้แด่พระเจ้าพิมพิสารตามลำดับ เสด็จถึงพระราชอุทยานลัฏฐิวัน กรุงราชคฤหถ์ พระราชาทรงทราบว่าพระทศพลเสด็จมาถึงแล้ว ก็พร้อมด้วยพราหมณ์และคฤหบดีสิบสองนหุต เสด็จเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคับแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง.
               พระศาสดาทรงตรวจดูบริษัททั้งหมด ทรงเห็นมหาชนทำความนอบน้อมอุรุเวลกัสสป ทรงพระดำริว่า คนเหล่านี้ไม่รู้ว่าเราหรือกัสสป เป็นใหญ่ ขึ้นชื่อว่าเหล่าชนที่มีวิตก ไม่อาจรับเทศนาได้ จึงได้ประทานสัญญา(ณ) แก่พระเถระว่า กัสสป เธอจงตัดความวิตกของเหล่าอุปัฏฐากของเธอเสีย.
               พระเถระรับพระดำรัสของพระศาสดา แล้วลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระศาสดาด้วยเบญจางคประดิษฐ์ เหาะขึ้นสู่อากาศประมาณชั่วต้นตาล แสดงฤทธิต่างๆ ประกาศว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก แล้วลงมาถวายบังคมพระยุคลบาทพระทศพล โดยอุบายนั้น ครั้งที่ ๗ เหาะขึ้นสู่อากาศ ๗ ชั่วต้นตาล แล้วถวายบังคมพระยุคลบาทของพระทศพล นั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง.
               เวลานั้น มหาชนหมดวิตกในพระศาสดาว่า ท่านผู้นี้เป็นมหาสมณะในโลก.
               ลำดับนั้น พระศาสดาจึงทรงแสดงธรรมโปรด. จบเทศนา พระราชาพร้อมด้วยพราหมณ์และคฤหบดีสิบเอ็ดนหุต ดำรงอยู่ในพระโสดาปัตติผล นหุตหนึ่งประกาศตนเป็นอุบาสก.
               ภิกษุจำนวนพันรูป บริวารของอุรุเวลกัสสปเหล่านั้น คิดด้วยความคุ้นเคยของตนว่า กิจบรรพชิตของพวกเราถึงที่สุดแล้ว พวกเราจักไปภายนอกทำอะไร. จึงเที่ยวห้อมล้อมท่านพระอุรุเวลกัสสปอย่างเดียว บรรดาภิกษุชฎิลทั้งสามนั้น เมื่อภิกษุชฎิลแต่ละองค์รับนิสสิตก์ได้ครั้งละองค์ ก็เป็นสองพัน เมื่อรับได้ครั้งละสององค์ ก็เป็นสามพัน.
               ตั้งแต่นั้นมานิสสิตก์ของภิกษุชฎิลเหล่านั้นมีเท่าใด จะกล่าวถึงนิสสิตก์เท่านั้นก็ควรแล.
               ในข้อนั้นมีวัตถุนิทานดังนี้.
               แต่ต่อมา พระศาสดาประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวกผู้มีบริษัทมาก ดังนี้แล.

               จบอรรถกถาสูตรที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี วรรคที่ ๔
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 148อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 149อ่านอรรถกถา 20 / 150อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=675&Z=693
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=14&A=6083
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=14&A=6083
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :