ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐]อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 139อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 146อ่านอรรถกถา 20 / 147อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี
วรรคที่ ๑

หน้าต่างที่ ๘ / ๑๐.

               อรรถกถาสูตรที่ ๘               
               ประวัติพระปิณโฑลภารทวาชะ               
               พึงทราบวินิจฉัยในสูตรที่ ๘ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า สีหนาทิกานํ ความว่า ผู้บันลือสีหนาท คือพระบิณโฑลภารทวาชะเป็นยอด.
               ได้ยินมาว่า ในวันบรรลุพระอรหัต ท่านถือเอาผ้ารองนั่งออกจากวิหารนี้ไปวิหารโน้น ออกจากบริเวณนี้ไปบริเวณโน้น เที่ยวบันลือสีหนาทว่า ท่านผู้ใดมีความสงสัยในมรรคหรือผล ท่านผู้นั้นจงถามเราดังนี้ ท่านยืนต่อพระพักตร์พระพุทธทั้งหลายบันลือสีหนาทว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กิจที่ควรกระทำในศาสนานี้ถึงที่สุดแล้ว ฉะนั้น ชื่อว่าผู้ยอดของเหล่าภิกษุผู้บันลือสีหนาท.
               ก็ในปัญหากรรมของท่านมีเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับต่อไปนี้
               ได้ยินว่า ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ พระปิณโฑลภารทวาชะนี้บังเกิดในกำเนิดสีหะ ณ เชิงบรรพต.
               พระศาสดาทรงตรวจดูโลก ทรงเห็นเหตุสมบัติของท่าน (ความถึงพร้อมแห่งเหตุ) จึงเสด็จทรงบาตรในกรุงสาวัตถี ภายหลังเสวยภัตตาหาร แล้ว ในเวลาใกล้รุ่ง เมื่อสีหะออกไปหาเหยื่อ จึงทรงเข้าไปยังถ้ำที่อยู่ของสีหะนั้น ประทับนั่งขัดสมาธิในอากาศเข้านิโรธสมาบัติ.
               พระยาสีหะได้เหยื่อแล้ว กลับมาหยุดอยู่ที่ประตูถ้ำ เห็นพระทศพลประทับนั่งภายในถ้ำ ดำริว่า
               ไม่มีสัตว์อื่นที่ชื่อว่าสามารถจะมานั่งยังที่อยู่ของเรา บุรุษนี้ใหญ่แท้หนอ มานั่งขัดสมาธิภายในถ้ำได้ แม้รัศมีสรีระของท่านก็แผ่ไปโดยรอบ เราไม่เคยเห็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ถึงเพียงนี้ บุรุษนี้จักเป็นยอดของปูชนียบุคคลในโลกนี้ แม้เราควรกระทำสักการะตามสติกำลัง ถวายพระองค์.
               จึงไปนำดอกไม้ต่างๆ ทั้งที่เกิดในน้ำ ทั้งที่เกิดบนบกลาดเป็นอาสนะดอกไม้ตั้งแต่พื้นจนถึงที่นั่งขัดสมาธิ ยืนนมัสการพระตถาคตในที่ตรงพระพักตรตลอดคืนยังรุ่ง รุ่งขึ้นวันใหม่ก็นำดอกไม้เก่าออก เอาดอกไม้ใหม่ลาดอาสนะโดยทำนองนี้ เที่ยวตกแต่งปุบผาสนะถึง ๗ วัน บังเกิดปีติโสมนัสอย่างแรง ยืนเฝ้าอยู่ที่ประตูถ้ำ ในวันที่ ๗ พระศาสดาออกจากนิโรธ ประทับยืนที่ประตูถ้ำ.
               พระยาสีหะราชาแห่งมฤคกระทำประทักษิณพระตถาคต ๓ ครั้ง ไหว้ในที่ทั้ง ๔ แล้วถอยออกไปยืนอยู่.
               พระศาสดาทรงดำริว่า เท่านี้จักพอเป็นอุปนิสัยแก่เธอ เหาะกลับไปพระวิหารตามเดิม.
               ฝ่ายพระยาสีหะนั้นเป็นทุกข์เพราะพลัดพรากจากพระพุทธองค์ กระทำกาละแล้วถือปฏิสนธิในตระกูลมหาศาลในกรุงหงสวดี เจริญวัยแล้ว วันหนึ่งไปพระวิหารกับชาวกรุง ฟังพระธรรมเทศนา บำเพ็ญมหาทาน ๗ วัน โดยนัยที่กล่าวแล้วแต่หลัง กระทำกาละในภพนั้น เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายมาบังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาลในกรุงราชคฤห์ ในพุทธุปบาทกาลนี้ โดยชื่อมีชื่อว่า ภารทวาชะ.
               ท่านเจริญวัยแล้ว ศึกษาไตรเพทเที่ยวสอนมนต์แก่มาณพ ๕๐๐ คน ท่านรับภิกษาของมาณพทุกคนด้วยตนเองเที่ยวในที่ที่เขาเชื้อเชิญ เพราะตนเป็นหัวหน้า เขาว่าท่านภารทวาชะนี้เป็นคนมักโลเลอยู่นิดหน่อย คือเที่ยวแสวงหาข้าวต้มข้าวสวยและของเคี้ยวไม่ว่าในที่ไหนๆ กับมาณพเหล่านั้น ในที่ที่ท่านไปแล้วไปอีกก็ต้อนรับเพียงข้าวถ้วยเดียวเท่านั้น ดังนั้น จึงปรากฎชื่อว่า ปิณโฑลภารทวาชะ.
               วันหนึ่ง เมื่อพระศาสดาเสด็จถึงกรุงราชคฤห์ ท่านได้ฟังธรรมกถา ได้ศรัทธาแล้ว บวชบำเพ็ญวิปัสสนา ได้บรรลุพระอรหัตแล้ว ในเวลาที่ท่านบรรลุพระอรหัตนั่นเอง ท่านถือเอาผ้าปูนั่งออกจากวิหารนี้ไปวิหารโน้น ออกจากบริเวณนี้ไปบริเวณโน้น เที่ยวบันลือสีหนาทว่า ท่านผู้ใดมีความสงสัยในมรรคหรือผล ขอท่านผู้นั้นจงถามเราเถิด.
               วันหนึ่ง เศรษฐีในกรุงราชคฤห์เอาไม้ไผ่ต่อๆ กันขึ้นไป แขวนบาตรไม้แก่นจันทร์ มีสีดังดอกชัยพฤกษ์ไว้ในอากาศ ท่านเหาะไปถือเอาด้วยฤทธิ์ เป็นผู้ที่มหาชนให้สาธุการแวดล้อมไปพระวิหาร วางไว้ในพระหัตถ์ของพระตถาคตแล้ว.
               พระศาสดาทรงทราบอยู่สอบถามว่า ภารทวาชะ เธอได้บาตรนี้มาแต่ไหน. ท่านจึงเล่าเหตุการณ์ที่ได้มาถวาย พระศาสดาตรัสว่า เธอแสดงอุตตริมนุสสธรรมเห็นปานนี้แก่มหาชน เธอกระทำกรรมสิ่งที่ไม่ควรทำแล้ว ทรงตำหนิโดยปริยายเป็นอันมากแล้วทรงบัญญัติสิกขาบทว่า
               “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ควรแสดงอุตตริมนุสสธรรมอันเป็นอิทธิปาฏิหาริย์แก่พวกคฤหัสถ์ทั้งหลาย ผู้ใดขืนแสดงต้องอาบัติทุกกฎ” ดังนี้
               ทีนั้นเกิดพูดกันในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ว่า พระเถระที่บันลือสีหนาทในวันที่ตนบรรลุพระอรหัต บอกในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ว่า ผู้ใดมีความสงสัยในมรรคหรือผล ผู้นั้นจงถามเรา ดังนี้ ในที่ต่อพระพักตร์พระพุทธเจ้า ก็ทูลถึงการบรรลุพระอรหัตของตน พระสาวกเหล่าอื่นก็นิ่ง โดยความที่ตนชอบบันลือสีหนาทนั่นเอง แม้จะทำมหาชนให้เกิดความเลื่อมใสเหาะไปรับบาตรไม้แก่นจันทน์ ภิกษุเหล่านั้นกระทำคุณทั้ง ๓ เหล่านี้เป็นอันเดียวกัน กราบทูลแก่พระศาสดาแล้ว. ก็ธรรมดาว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงติเตียนผู้ที่ควรติเตียน ย่อมทรงสรรเสริญผู้ที่ควรสรรเสริญ ในฐานะนี้.
               พระศาสดาทรงถือว่า ความเป็นยอดของพระเถระที่สมควรสรรเสริญนั้นแหละ แล้วสรรเสริญพระเถระว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอินทรีย์ ๓ นั่นแล เธอเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ภารทวาชภิกษุได้พยากรณ์พระอรหัตแลว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์เราอยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ เราทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้
               อินทรีย์ ๓ เป็นไฉน คือ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอินทรีย์ ๓ เหล่านี้แล เธอเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ภารทวาชภิกษุพยากรณ์แล้วซึ่งพระอรหัตตผล ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์เราอยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ ดังนี้.
               จึงทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุบันลือสีหนาทแล.

               จบอรรถกถาสูตรที่ ๘               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี วรรคที่ ๑
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐]
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 139อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 146อ่านอรรถกถา 20 / 147อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=628&Z=643
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=14&A=2634
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=14&A=2634
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :