ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 148อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 149อ่านอรรถกถา 20 / 150อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี
วรรคที่ ๔

หน้าต่างที่ ๔ / ๑๒.

               อรรถกถาสูตรที่ ๔               
               ประวัติพระพักกุลเถระ               
               ในสูตรที่ ๔ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า อปฺปาพาธานํ ได้แก่ ผู้ไม่มีอาพาธ.
               บทว่า พากุโล ได้แก่ พระเถระได้ชื่ออย่างนี้ เพราะเจริญเติบโตมาในสกุลทั้งสอง.
               ในปัญหากรรมของท่าน มีเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับ ดังนี้.
               ดังได้ยินมา ในอดีตกาล พระเถระนี้ถือปฏิสนธิในสกุลพราหมณ์ ก่อนแต่พระทศพลพระนามว่าอโนมทัสสี ปลายอสงไขยกำไรแสนกัป นับแต่กัปนี้ เจริญวัยก็เรียนพระเวท มองไม่เห็นสาระในคัมภีร์ไตรเพท คิดว่าจักแสวงหาประโยชน์ที่เป็นไปภายภาคหน้า จึงบวชเป็นฤษี ได้อภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ ทำเวลาให้ล่วงไป ด้วยการเล่นฌาน.
               สมัยนั้น พระอโนมทัสสีโพธิสัตว์บรรลุพระสัพัญญุตญาณ มีหมู่พระอริยะแวดล้อมแล้ว เสด็จจาริกไป ดาบสฟังว่าพระรัตนะสามเกิดขึ้นแล้ว จึงไปสำนักพระศาสดาฟังธรรม จบเทศนาก็ตั้งอยู่ในสรณะ แต่ไม่อาจละฐานะ (เพศ) ของตนได้ ท่านไปเฝ้าพระศาสดาและฟังธรรมเป็นครั้งคราว.
               ต่อมา สมัยหนึ่ง พระตถาคตเกิดโรคลมในพระอุทร. ดาบสมาเพื่อเฝ้าพระศาสดา ทราบว่าพระศาสดาประชวร จึงถามว่า ท่านเจ้าข้า ประชวรเป็นโรคอะไร เมื่อภิกษุทั้งหลายกล่าวว่าเป็นโรคลมในพระอุทร จึงคิดว่านี้เป็นเวลาทำบุญของเรา จึงไปยังเชิงเขา รวบรวมยาชนิดต่างๆ แล้วถวายพระเถระผู้อุปัฏฐากด้วยกล่าวว่า โปรดน้อมถวายยานี้แต่พระศาสดา โรคลมในพระอุทรก็สงบ พร้อมกับการใช้ยา
               ดาบสนั้นไปเฝ้าในเวลาที่พระศาสดาทรงผาสุก ทูลอย่างนี้ว่า ความผาสุกเกิดแก่พระตถาคต เพราะยาของข้าพระองค์นี้อันใด ด้วยผลแห่งการถวายยาของข้าพระองค์นั้น ขอความเจ็บไข้ทางร่างกายแม้แต่เพียงถอนผม ก็จงอย่ามีในภพที่ข้าพระองค์เกิดแล้วเกิดเล่า.
               นี้เป็นกัลยาณกรรมในอัตตภาพนั้นของท่าน
               ท่านจุติจากภพนั้นบังเกิดในพรหมโลก เวียนว่ายอยู่ในเทวดามนุษย์ สิ้นอสงไขยหนึ่ง ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ถือปฏิสนธิในครอบครัว ณ กรุงหงสวดี เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวกผู้มีอาพาธน้อย กระทำกุศลกรรมยิ่งยวดขึ้นไป ก็ปรารถนาตำแหน่งนั้น.
               ท่านกระทำกุศลจนตลอดชีวิต เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ บังเกิดในครอบครัวพราหมณ์ ณ กรุงพันธุมวดี ก่อนพระทศพลพระนามว่าวิปัสสี บังเกิด บวชเป็นฤษีโดยนัยก่อนนั่นแล เป็นผู้ได้ฌาน อาศัยอยู่เชิงเขา. พระวิปัสสีโพธิสัตว์บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ มีภิกษุหกล้านแปดแสนเป็นบริวาร ทรงอาศัยกรุงพันธุมวดี ทรงทำการสงเคราะห์พระมหาราชเจ้าผู้พุทธบิดาแล้วประทับอยู่ ณ มิคทายวันอันเกษม.
               ครั้งนั้น ดาบสนี้ทราบว่าพระทศพลบังเกิดในโลก จึงมาฟังธรรมกถาของพระศาสดาตั้งอยู่ในสรณะ ไม่อาจละบรรพชาของตน แต่ก็มาอุปัฏฐากพระศาสดาเป็นครั้งคราว.
               สมัยหนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย เว้นพระศาสดาและพระอัครสาวกเกิดโรคที่ศีรษะ เพราะถูกลมของต้นไม้มีพิษที่ออกดอกสพรั่งในป่าหิมพานต์. ดาบสมาที่เฝ้าพระศาสดา พบภิกษุนั่งคลุมศีรษะจึงถามว่า ท่านเจ้าข้า ภิกษุสงฆ์เป็นอะไร. ภิกษุทั้งหลายตอบว่า ผู้มีอายุ เหล่าภิกษุเป็นโรคดอกไม้พิษ.
               ดาบสคิดว่า นี้เป็นเวลาที่จะทำการขวนขวายทางกายแก่ภิกษุสงฆ์ ให้บุญบังเกิดแก่เรา จึงเก็บยาชนิดต่างๆ ด้วยอำนาจของตนแล้วเอาประกอบเป็นยาถวาย. โรคของภิกษุทุกรูปก็สงบไปทันที. ดาบสนั้นดำรงอยู่ชั่วอายุ ก็บังเกิดในพรหมโลก เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ เก้าสิบเอ็ดกัป.
               ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสป บังเกิดในกรุงพาราณสี ครองเรือนอยู่คิดว่า เรือนที่อยู่ของเราทรุดโทรม จำจักต้องไปชายแดนนำทัพพสัมภาระมาสร้างเรือน จึงไปกับพวกช่างไม้ พบวิหารใหญ่คร่ำคร่าในระหว่างทาง ก็คิดว่า การสร้างเรือนของเรายกไว้ก่อน การสร้างเรือนนั้นจักไม่ไปกับเรา แต่การไปด้วยกันช่วยกันทำอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน ควรอยู่ เขาให้พวกช่างไม้เหล่านั้นถือทัพพสัมภาระ ให้สร้างโรงอุโบสถในวิหารนั้น ให้สร้างโรงฉัน โรงไฟ (ที่จงกรม) เรือนไฟ กัปปิยกุฏิ (โรงพยาบาล) ที่พักกลางคืนและที่พักกลางวัน วัจจกุฏิ (ส้วม) จัดตั้งยาใช้และฉันสำหรับภิกษุสงฆ์ไว้ทุกอย่าง.
               เขากระทำกุศลจนตลอดชีวิต เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ พุทธันดรหนึ่ง ถือปฏิสนธิในเรือนเศรษฐีกรุงโกสัมพี ก่อนพระทศพลของเราบังเกิด ตั้งแต่วันที่เขาถือปฏิสนธิ สกุลเศรษฐีนั้นก็ประสบลาภอันเลิศ ยศอันเลิศ.
               ครั้งนั้น มารดาของเขาคลอดบุตรแล้วคิดว่า เด็กคนนี้มีบุญ กระทำบุญไว้แต่ก่อน เป็นผู้ไม่มีโรค อายุยืน ยังดำรงอยู่ตลอดกาลเท่าใด ก็จักเป็นผู้ให้สมบัติแก่เราตลอดกาลเพียงนั้น ก็เด็กทั้งหลายที่อาบน้ำในแม่น้ำยมุนา ในวันเกิดนั่นแล ย่อมเป็นผู้ไม่มีโรค จึงส่งเด็กนั้นไปอาบน้ำ.
               ท่านอาจารย์ผู้รจนาคัมภีร์มัชฌิมนิกายกล่าวว่า นางให้อาบศีรษะในวันที่ ๕ แล้วส่งเด็กนั้นไปเล่นน้ำ ณ ที่นั้น เมื่อพี่เลี้ยงนางนมกำลังให้เด็กเล่นดำลงโผล่ขึ้น ปลาตัวหนึ่งเห็นเด็กนั้นสำคัญว่าเหยื่อ ก็อ้าปากคาบเอาไป พี่เลี้ยงนางนม (ตกใจ) ก็ทิ้งเด็กหนีไป ปลาก็กลืนเด็กนั้น สัตว์มีบุญไม่ประสบทุกข์ ก็เหมือนเข้าห้องนอนแล้วนอน ด้วยเดชะบุญของเด็ก ปลาก็เหมือนกลืนภาชนะที่ร้อนก็เร่าร้อน ก็ว่ายไปโดยเร็วถึง ๓๐ โยชน์ เข้าไปติดอวนของประมง ชาวกรุงพาราณสี. ธรรมดาปลาใหญ่ติดอวนย่อมตาย แต่เดชะบุญของเด็ก ปลาตัวนี้พอเขาปลดจากอวนจึงตาย ประมงทั้งหลายได้ปลาตาย ย่อมชำแหละขาย ใช้คานหามไปทั้งตัว เที่ยวตระเวนไปในกรุง บอกว่าเอาทรัพย์มาพันหนึ่ง และให้ปลาตัวนี้ ใครๆ ก็ไม่ซื้อ.
               ในกรุงนั้นมีสกุลเศรษฐีมีสมบัติ ๘๐ โกฏิ พวกประมงถึงใกล้ประตูเรือนสกุลเศรษฐีนั้น ถูกเศรษฐีถามว่า พวกท่านเอาอะไร จึงจะให้. จึงตอบว่า เอากหาปณะ พวกเขาให้กหาปณะแล้วรับเอาปลาไป ภริยาเศรษฐีเล่นกับปลาในวันอื่นๆ แต่วันนั้นวางปลาไว้บนเขียง ชำแหละด้วยตนเอง ธรรมดาคนทั้งหลายย่อมชำระปลาทางท้อง แต่ภริยาเศรษฐีนั้นชำแหละทางข้างหลัง เห็นเด็กมีผิวดังทองในท้องปลา ก็ส่งเสียงลั่นว่า เราได้บุตรในท้องปลา จึงพาเด็กไปหาสามีในทันทีนั้นเอง.
               เศรษฐีก็ให้ตีกลองป่าวร้อง แล้วพาเด็กไปสำนักพระราชา กราบทูลว่า ข้าแต่เทวะ ข้าพระบาทได้เด็กในท้องปลา ข้าพระบาทจะทำอย่างไร.
               พระราชารับสั่งว่า เด็กนี้มีบุญอยู่ในท้องปลาก็ไม่มีโรค ท่านจงเลี้ยงไว้.
               สกุลอีกสกุลหนึ่งได้ยินว่า เขาว่า สกุลเศรษฐีสกุลหนึ่งในกรุงพาราณสีได้เด็กในท้องปลา เศรษฐีสามีภริยานั้นก็ไปกรุงพาราณสี. ลำดับนั้น มารดาของเด็กนั้นเห็นเด็กแต่งตัวเล่นหัวอยู่ ก็ถามว่า เด็กคนนี้ถูกใจจริงหนอ จึงบอกเรื่องนั้น. มารดาอีกคนหนึ่งกล่าวว่า บุตรของเราน่ะ. ถามว่า ท่านได้บุตรที่ไหน. ตอบว่า ในท้องปลา. มารดาเดิมบอกว่าก็ไม่ใช่บุตรของท่าน เป็นบุตรของเรา. ถามว่า ท่านได้มาอย่างไร.
               ตอบว่า เราอุ้มท้องมาถึง ๑๐ เดือน ครั้งนั้น เด็กกำลังเล่นน้ำในแม่น้ำ ปลาก็ฮุบเด็กไป. มารดาอีกคนหนึ่งบอกว่า บุตรของท่านคงจักเป็นปลาตัวอื่นฮุบเอาไป ส่วนเด็กคนนี้ เราได้ในท้องปลา.
               แม่ทั้งสองฝ่ายก็พากันไปยังราชสกุล.
               พระราชาตัดสินว่า หญิงผู้นี้ไม่เป็นมารดามิอาจจะทำได้ เพราะอุ้มท้องมาถึง ๑๐ เดือน พวกประมงถึงจับปลาได้ ชื่อว่าจับได้แต่ภายนอกมีตับไตเป็นต้นก็ไม่มี แม้หญิงผู้นี้ไม่เป็นมารดา ก็ไม่อาจทำได้เพราะได้เด็กในท้องปลา เพราะฉะนั้น เด็กจงเป็นทายาทของทั้งสองสกุล.
               นับแต่นั้นมา สกุลทั้งสองก็ประสบลาภอันเลิศยศอันเลิศอย่างยิ่ง จึงพากันขนานนามท่านว่า พากุลกุมาร เพราะสกุลทั้งสองเลี้ยงให้เติบโต.
               เมื่อท่านรู้ความแล้ว สกุลทั้งสองก็สร้างปราสาท ๓ หลังไว้ในนครทั้งสอง จัดนาฏกะ นักฟ้อนรำไว้ ท่านอยู่ ๒ เดือนในนครหนึ่งๆ อยู่ครบ ๔ เดือนแล้ว เขาสร้างมณฑปไว้บนเรือขนาน ให้ท่านกับเหล่านาฏกะลงไปอยู่ในมณฑปนั้น ท่านเสวยสมบัติอยู่ก็ไปยังอีกนครหนึ่ง ๔ เดือน เหล่านาฏกะชาวนครออกไปต้อนรับท่าน ด้วยคิดว่าท่านจักมาครึ่งทาง ๒ เดือน แล้วห้อมล้อมท่านนำไปยังนครของตนอีก ๒ เดือน เหล่านาฏกะอีกพวกหนึ่งก็กลับไปนครของตน ท่านอยู่ในนครนั้น ๒ เดือนแล้วก็ไปยังอีกนครหนึ่ง โดยทำนองนั้นนั่นแล ท่านเสวยสมบัติอย่างนี้ ๘๐ ปีบริบูรณ์.
               สมัยนั้น พระโพธิสัตว์ของเราทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ประกาศธรรมจักรอันประเสริฐ เสด็จจาริกมาโดยลำดับถึงกรุงโกสัมพี.
               พระมัชฌิมภาณกาจารย์ว่า กรุงพาราณสี แม้พากุลเศรษฐีสดับข่าวว่า พระทศพลเสด็จมาแล้ว จึงถือเอาของหอมและมาลัยไปสำนักพระศาสดาฟังธรรม ได้ศรัทธาก็บวช ท่านเป็นปุถุชนอยู่ ๗ วัน อรุณวันที่ ๗ ก็บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา.
               ครั้งนั้น พวกหญิงแม่บ้านที่ท่านสร้างสมไว้ครั้งเป็นคฤหัสถ์ในนครทั้งสองก็กลับไปเรือนสกุลของตน อยู่ในเรือนสกุลนั้นนั่นแหละ ทำจีวรส่งไปถวาย พระเถระใช้สอยจีวรผืนหนึ่งที่ชาวกรุงโกสัมพีส่งไปถวาย ครึ่งเดือน จีวรผืนหนึ่งที่ชาวกรุงพาราณสีส่งไปถวาย ครึ่งเดือน โดยทำนองนี้นี่แล ชาวนครก็นำจีวรแต่ชนิดสุดยอด ในนครทั้งสองมาถวายแต่พระเถระรูปเดียว.
               พระเถระครองเรือน ๘๐ ปี อาพาธเจ็บป่วยไรๆ ก็มิได้มีตลอดกาล แม้เพียงใช้ ๒ นิ้วจับก้อนของหอมสูดดม ในปีที่ ๘๐ ก็เข้าบรรพชาโดยสะดวกดาย ท่านแม้บวชแล้ว อาพาธแม้เล็กน้อยหรือความขาดแคลนด้วยปัจจัย ๔ มิได้มีเลย แม้สมัยปรินิพพาน ในปัจฉิมกาล ท่านก็กล่าวพากุลสูตรทั้งสิ้น โดยแสดงสุขที่เป็นทางกายและทางใจของตนแก่อเจลกัสสปะ สหายเก่าครั้งเป็นคฤหัสถ์ แล้วก็ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ.
               อัตถุปปัตติเหตุเกิดเรื่อง ตั้งขึ้นดังกล่าวมาฉะนี้
               ส่วนพระศาสดาสถาปนาพระเถระทั้งหลายไว้ในตำแหน่งต่างๆ ตามลำดับ ก็ทรงสถาปนาท่านพระพากุลเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นยอดของภิกษุสาวกผู้มีอาพาธน้อย ในพระศาสนานี้ ครั้งพระเถระยังมีชีวิตอยู่แล.

               จบอรรถกถาสูตรที่ ๔               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี วรรคที่ ๔
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 148อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 149อ่านอรรถกถา 20 / 150อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=675&Z=693
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=14&A=6083
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=14&A=6083
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :