ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 179อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 181อ่านอรรถกถา 20 / 191อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอกธัมมาทิบาลี อีกนัยหนึ่ง
วรรคที่ ๒

               อรรถกถาวรรคที่ ๒#-               
____________________________
#- บาลีข้อ ๑๘๑ - ๑๙๐.

               ในวรรคที่ ๒ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า มิจฺฉาทิฏฺฐิ นี้เป็นชื่อของทิฏฐิแม้ทั้ง ๖๒.
               บทว่า มิจฺฉาทิฏฺฐิกสฺส ได้แก่ บุคคลผู้ประกอบด้วยทิฏฐินั้น.
               บทว่า สมฺมาทิฏฺฐิ นี้เป็นชื่อของสัมมาทิฏฐิแม้ทั้ง ๕ ประการ.
               บทว่า สมฺมาทิฏฺฐิกสฺส ได้แก่ บุคคลผู้ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐินั้น.
               การทำในใจโดยไม่มีอุบาย ชื่อว่าการทำในใจโดยไม่แยบคาย. การทำในใจโดยอุบาย ชื่อว่าการทำในใจโดยแยบคาย. ในการทำในใจโดยไม่แยบคายและแยบคายนั้น เมื่อทำในใจโดยไม่แยบคาย มิจฉาทิฏฐิที่ยังไม่เคยเกิด ย่อมเกิดขึ้น. ส่วนที่เกิดขี้นแล้ว ย่อมเจริญจนถึงการปฏิสนธิโดยแน่นอน. เมื่อแน่นอนแล้ว มิจฉาทิฏฐิชื่อว่าเจริญแล้ว.
               เมื่อทำในใจโดยแยบคาย สัมมาทิฏฐิที่ยังไม่เคยเกิด ย่อมเกิดขึ้น. ส่วนที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญมากขึ้นจนถึงพระอรหัตมรรค. เมื่อบรรลุพระอรหัตผลแล้ว สัมมาทิฏฐิชื่อว่าเป็นอันเจริญมากแล้ว.
               ในบทว่า มิจฺฉาทิฏฺฐิยา ภิกฺขเว สมนฺนาคตา สตฺตา นี้ พึงทราบวินิจฉัย ดังนี้
               มิจฉาทิฏฐิบางอย่างห้ามสวรรค์ด้วย ห้ามมรรคด้วย.
               บางอย่างห้ามมรรคเท่านั้น ไม่ห้ามสวรรค์.
               บางอย่างไม่ห้ามทั้งสวรรค์ ไม่ห้ามทั้งมรรค.
               บรรดามิจฉาทิฏฐิเหล่านั้น มิจฉาทิฏฐิ ๓ อย่างนี้ คือ อเหตุกทิฏฐิ อกิริยทิฏฐิ นัตถิกทิฏฐิ ห้ามสวรรค์และห้ามมรรค.
               อันตคาหิกมิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ ห้ามมรรค แต่ไม่ห้ามสวรรค์.
               สักกายทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐ ไม่ห้ามสวรรค์ ไม่ห้ามมรรค.
               แต่ปฏิเสธวิธีนี้แล้วว่า ธรรมดาทิฏฐิโดยที่กำหนดเอาสักกายทิฏฐิซึ่งมีวัตถุ ๒๐ ประการ ชื่อว่าสามารถนำไปสู่สวรรค์ ไม่มี ย่อมทำให้จมลงในนรกโดยส่วนเดียวเท่านั้น โดยพระบาลีในพระสูตรนี้ว่า มิจฺฉาทิฏฺฐิยา ภิกฺขเว สมนฺนาตา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ผู้ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ ดังนี้เป็นต้น เหมือนอย่างว่า ก้อนหินแม้ขนาดเท่าถั่วเขียวและถั่วเหลือง โยนลงไปในน้ำ ชื่อว่าจะลอยอยู่ข้างบน ย่อมไม่มี ย่อมจมลงไปข้างล่างอย่างเดียวฉันใด โดยที่สุด แม้แต่สักกายทิฏฐิ ชื่อว่าสามารถนำไปสู่สวรรค์ ย่อมไม่มี ย่อมให้จมลงในอบายทั้งหลายโดยส่วนเดียวเท่านั้นก็ฉันนั้น.
               ในบทว่า สมฺมาทิฏฺฐิยา สมนฺนาคตา นี้ พึงทราบวินิจฉัยดังนี้
               สัมมาทิฏฐิมี ๕ อย่าง คือ กัมมัสสกตสัมมาทิฏฐิ ฌานสัมมาทิฏฐิ วิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ มัคคสัมมาทิฏฐิ ผลสัมมาทิฏฐิ.
               ในสัมมาทิฏฐิ ๕ อย่างนั้น กัมมัสสกตสัมมาทิฏฐิย่อมชักมาซึ่งสัมปัตติภพ. ฌานสัมมาทิฏฐิย่อมให้ปฏิสนธิในรูปภพ. มัคคสัมมาทิฏฐิย่อมกำจัดวัฏฏะ. ผลสัมมาทิฏฐิย่อมห้ามภพ.
               ถามว่า วิปัสสนาสัมมาทิฏฐิทำอะไร.
               ตอบว่า แม้วิปัสสนาสัมมาทิฏฐินั้น ก็ไม่ชักมาซึ่งปฏิสนธิ.
               ส่วนพระติปิฏกจูฬอภัยเถระกล่าวว่า ถ้าวิปัสสนาสัมมาทิฏฐิที่อบรมไว้แล้ว อาจให้บรรลุพระอรหัตในปัจจุบันได้ไซร้ ข้อนั้นก็เป็นการดี ถ้าไม่อาจให้บรรลุพระอรหัตได้ไซร้ ก็ยังให้ปฏิสนธิในภพ ๗ ภพได้ ผู้มีอายุ.
               ท่านกล่าวถึงสัมมาทิฏฐิอันเป็นโลกิยะและโลกุตระนี้ไว้อย่างนี้. ก็ในเนื้อความดังกล่าวนี้ พึงทราบสัมมาทิฏฐิอันเป็นโลกิยะซึ่งให้สำเร็จในภพเท่านั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า ยญฺเจว กายกมฺมํ ยถาทิฏฺฐิ สมตฺตํ สมาทินฺนํ ดังต่อไปนี้
               บทว่า ยถาทิฏฐิ ได้แก่ ตามสมควรแก่ทิฏฐิ นั้น.
               บทว่า สมตฺตํ แปลว่า บริบูรณ์.
               บทว่า สมาทินฺนํ แปลว่า ถือเอาแล้ว.
               กายกรรมนั่นนั้นมี ๓ อย่าง คือ กายกรรมที่ตั้งอยู่ตามทิฏฐิ ๑ กายกรรมที่เกิดพร้อมกับทิฏฐิ ๑ กายกรรมที่อนุโลมทิฏฐิ ๑.
               บรรดากายกรรม ๓ อย่างนั้น กายกรรมคือปาณาติบาต อทินนาทานและมิจฉาจาร ของบุคคลผู้มีลัทธิอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ที่เจ้าของไม่ให้ ประพฤติมิจฉาจาร บาปซึ่งมีเหตุมาแต่การกระทำนั้นไม่มี การให้ผลของบาปก็ไม่มี นี้ชื่อว่ากายกรรมตั้งอยู่ตามทิฏฐิ.
               อนึ่ง กายกรรมที่เกิดพร้อมกับทัสสนะนี้แห่งลัทธินี้ที่ว่า เมื่อบุคคลฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ที่เจ้าของไม่ให้ ประพฤติมิจฉาจาร บาปซึ่งมีเหตุมาแต่การกระทำนั้นไม่มี การให้ผลของบาปก็ไม่มี ดังนี้ ชื่อว่ากายกรรมที่เกิดพร้อมกับทิฏฐิ.
               กายกรรมนั้นนั่นแหละที่บุคคลสมาทานให้บริบูรณ์ ยึดถือ ถูกต้องให้บริบูรณ์ ชื่อว่ากายกรรมอนุโลมทิฏฐิ.
               แม้ในวจีกรรมเป็นต้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ก็ในวจีกรรมนี้ ประกอบความว่า เมื่อบุคคลฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ที่เจ้าของไม่ให้ ประพฤติมิจฉาจาร บาปซึ่งมีเหตุมาแต่การกระทำนั้นไม่มี ดังนี้ฉันใด ในวจีกรรมและมโนกรรมก็ฉันนั้น พึงประกอบความว่า เมื่อบุคคลพูดเท็จ กล่าวคำส่อเสียด กล่าวคำหยาบ กล่าวคำเพ้อเจ้อ บาปซึ่งมีเหตุมาแต่การพูดนั้นไม่มี เมื่อบุคคลมีอภิชฌา คือความเพ่งเล็ง มีจิตพยาบาท มีความเห็นผิด บาปซึ่งมีเหตุแต่วจีทุจริตและมโนทุจริตไม่มี ดังนี้.
               ก็ในบทว่า ยา จ เจตนา ดังนี้เป็นต้น เจตนาที่เกิดพร้อมกับทิฏฐิ ชื่อว่าเจตนา. ความปรารถนาที่เกิดพร้อมกับทิฏฐิ ชื่อว่าปัตถนา ความปรารถนา. การตั้งจิตไว้ตามเจตนาและความปรารถนา ชื่อว่าปณิธิ ความตั้งใจ. ส่วนธรรมมีผัสสะเป็นต้นที่ประกอบพร้อมกับเจตนาเป็นต้นเหล่านั้น ชื่อว่าสังขาร ธรรมอันปัจจัยปรุงแต่ง.
               บทว่า ทิฏฐิ หิ ภิกฺขเว ปาปิกา ความว่า เพราะว่า ทิฏฐิของบุคคลนั้นเลวทราม.
               บทว่า นิกฺขิตฺตํ แปลว่า ปลูกไว้.
               บทว่า อุปาทิยติ แปลว่า ถือเอา.
               บทนี้ที่ว่า กฏุกตฺตาย (เพื่อความเป็นของขม) เป็นไวพจน์ของบทแรกนั่นแหละ.
               ก็แม้ในที่นี้ พึงทราบคำว่า กฏุกํ (แปลว่า ความขม) เหมือนในอาคตสถาน (ที่มาของพระบาลี) ว่า๑- วณฺณคนฺธรสุเปโต อมฺโพยํ อหุ วา ปุเร ดังนี้เป็นต้น ซึ่งแปลความว่า เมื่อก่อนมะม่วงนี้เป็นไม้ที่สมบูรณ์ด้วยสี กลิ่นและรส ได้รับการยกย่องอยู่ บัดนี้ มะม่วงก็กลายเป็นไม้มีผลขมไป เพราะเหตุไร. ข้าแต่พระเจ้าทธิวหนะ มะม่วงของพระองค์ถูกห้อมล้อมด้วยสะเดา รากเกี่ยวพันกันกับราก กิ่งทับกันกับกิ่ง มะม่วงจึงกลายเป็นไม้มีผลขม เพราะอยู่ร่วมกับต้นไม้มีรสขม.
____________________________
๑- ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๒๒๑-๒๒๒

               บทว่า อสาตตฺตาย แปลว่า เพราะเป็นของมีรสไม่อร่อย.
               ก็ในวีชุปมสูตรนี้ พระเถระปางก่อนกล่าวว่านิยตมิจฉาทิฏฐิ ท่านถือเอาด้วยบทว่า ทิฏฐิ. แต่คำนั้น ท่านปฏิเสธแล้วกล่าวว่า รวมเอาแม้ทิฏฐิ ๖๒ ทั้งหมด.
               ในพระสูตรต่อไป พึงประกอบแล้วทราบว่า กายกรรมเป็นต้นอันตั้งอยู่ตามทิฏฐิ โดยนัยมีอาทิว่า เมื่อบุคคลเว้นจากปาณาติบาต อทินนาทาน เว้นจากมิจฉาจาร บุญเกิดแต่การงดเว้นนั้นเป็นเหตุ ย่อมไม่มี ดังนี้.
               ก็ในที่นี้ พึงทราบความตั้งจิตอันเกิดพร้อมกับสัมมาทิฏฐิเท่านั้น ชื่อว่าปัตถนา ความปรารถนา.
               ก็ในอธิการนี้ ท่านกล่าวหมายเอาสัมมาทิฏฐิทั้งโลกิยะและโลกุตระ.
               คำที่เหลือในที่ทุกแห่ง ง่ายทั้งนั้นแล.

               จบอรรถกถาวรรคที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอกธัมมาทิบาลี อีกนัยหนึ่ง วรรคที่ ๒ จบ.
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 179อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 181อ่านอรรถกถา 20 / 191อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=884&Z=949
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=14&A=10079
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=14&A=10079
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :