ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 181อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 191อ่านอรรถกถา 20 / 205อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอกธัมมาทิบาลี อีกนัยหนึ่ง
วรรคที่ ๓

               อรรถกถาวรรคที่ ๓#-               
____________________________
#- บาลี ๑๙๑ - ๒๐๔.

               ในวรรคที่ ๓ สูตรที่ ๑ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า มิจฺฉาทิฏฺฐิโก ได้แก่ ผู้ไม่เห็นตามความเป็นจริง.
               บทว่า วิปรีตทสฺสโน ได้แก่ เป็นผู้มีความเห็นแปรปรวนไปตามความเห็นผิดนั้นทีเดียว.
               บทว่า สทฺธมฺมา วุฏฺฐาเปตฺวา ความว่า ให้ออกจากธรรมคือกุศลกรรมบถ ๑๐.
               บทว่า อสทฺธมฺเม ปติฏฺฐาเปติ ความว่า ให้ตั้งอยู่ในอสัทธรรม กล่าวคืออกุศลกรรมบถ ๑๐.
               ก็ในบทว่า เอกปุคฺคโล นี้ พึงทราบว่า ได้แก่ พระเทวทัตกับครูทั้ง ๖ และคนอื่นๆ ที่เป็นอย่างนี้.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๑               

               อรรถกถาสูตรที่ ๒               
               ในสูตรที่ ๒ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า สมฺมาทิฏฺฐิโก ได้แก่ ผู้มีความเห็นตามความเป็นจริง.
               บทว่า อวิปรีตทสฺสโน ได้แก่ ผู้มีความเห็นอันไม่แปรปรวนไปจากความเห็นชอบนั้นนั่นแหละ.
               บทว่า อสทฺธมฺมา ความว่า จากอกุศลกรรมบถ ๑๐.
               บทว่า สทฺธมฺเม ความว่า ในสัทธรรม กล่าวคือกุศลกรรมบถ ๑๐.
               ก็ในบทว่า เอกปุคฺคโล นี้ ในเมื่อพระพุทธเจ้ายังมิได้เสด็จอุปบัติ ย่อมได้แก่บุคคลมีอาทิอย่างนี้ คือ พระเจ้าจักรพรรดิ พระสัพพัญญูโพธิสัตว์. เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติแล้ว ย่อมได้พระพุทธเจ้าและสาวกของพระพุทธเจ้า.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๒               

               อรรถกถาสูตรที่ ๓               
               ในสูตรที่ ๓ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า มิจฺฉาทิฏฺฐิปรมานิ นี้ มีวิเคราะห์ว่า มิจฉาทิฏฐิเป็นอย่างยิ่งของโทษเหล่านั้น เหตุนั้น โทษเหล่านั้น ชื่อว่า มิจฺฉาทิฏฐิปรมานิ โทษทั้งหลายมีมิจฉาทิฏฐิเป็นอย่างยิ่ง.
               อธิบายว่า อนันตริยกรรม ๕ ชื่อว่ากรรมมีโทษมาก. มิจฉาทิฏฐิเท่านั้น ชื่อว่ามีโทษมากกว่าอนันตริกรรม ๕ แม้เหล่านั้น.
               ถามว่า เพราะเหตุไร.
               ตอบว่า เพราะอนันตริยกรรม ๕ นั้นมีเขตกำหนด. ด้วยว่า ท่านกล่าวอนันตริยกรรม ๔ อย่างว่า ให้เกิดในนรก. แม้สังฆเภทก็เป็นกรรมตั้งอยู่ในนรกชั่วกัปเท่านั้น. อนันตริยกรรมเหล่านั้นมีเขตกำหนดที่สุดก็ยังปรากฏด้วยประการอย่างนี้. ส่วนนิยตมิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิดอันดิ่ง ไม่มีเขตกำหนด เพราะนิยตมิจฉาทิฏฐินั้นเป็นรากเหง้าของวัฏฏะ. การออกไปจากภพ ย่อมไม่มีสำหรับคนผู้ประกอบด้วยนิยตมิจฉาทิฏฐินั้น แม้ชนเหล่านั้นก็ย่อมปฏิบัติผิด.
               อนึ่ง ทั้งสวรรค์ ทั้งมรรค ย่อมไม่มีแก่คนผู้ประกอบด้วยนิยตมิจฉาทิฏฐินั้น ในคราวกัปพินาศ เมื่อมหาชนพากันเกิดในพรหมโลก บุคคลผู้เป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ ไม่เกิดในพรหมโลกนั้น (แต่กลับ) เกิดที่หลังจักรวาล.
               ถามว่า ก็หลังจักรวาลไฟไม่ไหม้หรือ.
               ตอบว่า ไหม้. บางอาจารย์กล่าวว่า ก็เมื่อหลังจักรวาลแม้ถูกไฟไหม้อยู่ คนผู้เป็นนิยตมิจฉาทิฏฐินี้ ก็ถูกไฟไหม้อยู่ในโอกาสแห่งหนึ่งในอากาศ.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๓               

               อรรถกถาสูตรที่ ๔               
               ในสูตรที่ ๔ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า มกฺขลิ ความว่า เจ้าลัทธิผู้ได้ชื่ออย่างนี้ เพราะยึดคำว่า มา ขลิ อย่าพลาดล้มนะ.
               บทว่า นทีมุเข ความว่า ในที่ที่แม่น้ำ ๒ สายมาบรรจบกัน. คำนี้เป็นเพียง (ยกมา) เทศนาเท่านั้น. น้ำแม้อย่างอื่นเห็นปานนั้น ซึ่งมีสถานที่มาบรรจบกันของแม่น้ำสายใดสายหนึ่ง ในบรรดาน้ำแม้เหล่านี้ คือ ลำธาร ๒ สาย สายน้ำ ๒ สาย ทะเลสายน้ำจืด ทะเลสายน้ำเค็ม และแม่น้ำแห่งสมุทร.
               บทว่า ขิปํ๑- แปลว่า ลอบ.
____________________________
๑- ม. ขิปฺปํ ลอบ.

               บทว่า อุชฺเฌยฺย แปลว่า ดัก. อธิบายว่า พวกมนุษย์เอาไม้อ้อ ต้นอ้อย ไม้ไผ่ หรือเส้นเถาย่านทรายมาสานให้เป็นลอบขนาดเท่าหม้อ ใบเดียวบ้าง ๒ ใบบ้าง ๓ ใบบ้าง ผูกงาที่ปากลอบด้วยหวาย นำไปดักเอาปากลอบจมไว้ในน้ำ ตอกหลักขนาบไว้ทั้งสองข้าง ผูกลอบด้วยหวายไว้กับหลักนั้น.
               คำว่า ดักลอบ นี้ ท่านกล่าวหมายเอาการกระทำดังกล่าวแล้วนั้น. ก็แม้ปลาตัวเล็กๆ เข้าไปในลอบนั้นแล้วก็หลุดออกไปไม่ได้.
               บทว่า อนยาย ความว่า เพื่อความไม่เจริญ.
               บทว่า พฺยสนาย ความว่า เพื่อความฉิบหาย.
               บทว่า มกฺขลิ โมฆปุริโส ได้แก่ บุรุษเปล่าชื่อ มักขลิโคสาล ผู้นี้.
               บทว่า มนุสฺสขิปํ มญฺเญ โลเก อุปฺปนฺโน ความว่า เกิดขึ้นแล้วในโลก เป็นเหมือนลอบดักมนุษย์ เพื่อห้ามมหาชนไปในทางนั้นคือทางไปสวรรค์และพระนิพพาน.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๔               

               อรรถกถาสูตรที่ ๕ เป็นต้น               
               ในสูตรที่ ๕ เป็นต้น พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า ทุรกฺขาเต ภิกฺขเว ธมฺมวินเย มีอธิบายว่า คำสอนของเจ้าลัทธินอกพระศาสนา ชื่อว่าธรรมวินัยที่กล่าวไว้ชั่ว. เพราะว่า ในคำสอนนั้น แม้ผู้สอนก็ไม่เป็นสัพพัญญู แม้ธรรมก็เป็นธรรมที่กล่าวไว้ชั่ว แม้หมู่คณะก็เป็นผู้ปฏิบัติชั่ว.
               บทว่า โย จ สมาทเปติ ได้แก่ บุคคลผู้เป็นอาจารย์คนใดย่อมชักชวน.
               บทว่า ยญฺจ สมาทเปติ ความว่า ชักชวนอันเตวาสิก (ศิษย์) คนใด.
               บทว่า โย จ สมาทปิโต คถตฺตาย ปฏิปชฺชติ ความว่า อันเตวาสิกคนใดถูกอาจารย์ชักชวนแล้ว กระทำตามคำของอาจารย์อยู่ ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น.
               บทว่า พหุํ อปุญฺญํ ปสวติ อธิบายว่า ก็บุคคลผู้ชักชวน เมื่อชักชวนคน ๑๐๐ คน ในกรรมมีปาณาติบาตเป็นต้น ย่อมได้อกุศลเท่ากันกับอกุศลของคนผู้ถูกชักชวนแม้ทั้งหมดนั้น เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า คนเหล่านั้นทั้งหมดย่อมประสบกรรมมิใช่บุญเป็นอันมาก.
               บทว่า สฺวากฺขาเต ได้แก่ ในพระธรรมและพระวินัยที่ตรัสไว้ดีแล้ว คือแสดงไว้ดีแล้ว เพราะในพระธรรมและพระวินัยเห็นปานนี้ พระศาสดาก็ทรงเป็นพระสัพพัญญู พระธรรมพระศาสดาก็ตรัสไว้ดีแล้ว และหมู่คณะก็เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว.
               บทว่า สพฺเพ เต พหุ ปุญฺญํ ปสวติ มีอธิบายว่า คนผู้ชักชวนได้เห็นภิกษุทั้งหลายเข้าไปบิณฑบาต ได้ชักชวนคนอื่นๆ ให้ถวายข้าวยาคูและภัตเป็นต้น ย่อมได้กุศลเท่ากับกุศลของผู้ถวายทานแม้ทั้งหมด. เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงตรัสว่า คนเหล่านั้นทั้งหมดย่อมประสบบุญเป็นอันมาก.
               บทว่า ทายเกน มตฺตา ชานิตพฺพา ความว่า บุคคลผู้ให้พึงรู้ประมาณคือพึงให้พอประมาณ ให้จนเต็ม ไม่ควรให้จนล้น แต่ไม่กล่าวว่าไม่พึงให้ ดังนี้ กล่าวว่าพึงให้หน่อยหนึ่งๆ พอประมาณ.
               ถามว่า เพราะเหตุไร.
               ตอบว่า เพราะเมื่อเต็มแล้วแม้จะให้เกินไป มนุษยสมบัติ ทิพยสมบัติ หรือนิพพานสมบัติที่เกินไปย่อมไม่มี.
               บทว่า โน ปฏิคฺคาหเกน ความว่า ก็สำหรับปฏิคาหก ชื่อว่ากิจในการรู้จักประมาณแล้วรับเอา ย่อมไม่มี.
               ถามว่า เพราะเหตุไร.
               ตอบว่า เพราะขึ้นชื่อว่าปฏิปทาในความเป็นผู้มักน้อย ซึ่งมีมูลมาแต่การรู้ประมาณ เต็มแล้วรับพอประมาณ ย่อมไม่มีแก่ปฏิคาหกนั้น. แต่ว่าได้เท่าใด ควรรับเอาเท่านั้น. เพราะเค้ามูลในการรับอย่างเหลือล้น สำหรับปฏิคาหกนั้น จักเป็นการรับเพื่อเลี้ยงบุตรและภรรยาไป.
               บทว่า ปฏิคฺคาหเกน มตฺตา ชานิตพฺพา ความว่า บุคคลผู้เป็นปฏิคาหกพึงรู้ประมาณ.
               พึงรู้อย่างไร.
               คือเมื่อจะรับ ต้องรู้อำนาจของผู้ให้ ต้องรู้อำนาจ (ความมากน้อย) ของไทยธรรม ต้องรู้กำลังของตน. ก็ถ้าไทยธรรมมีมาก ผู้ให้ต้องการให้น้อยไซร้ ควรรับเอาแต่น้อยตามอำนาจของผู้ให้. ไทยธรรมมีน้อย ผู้ให้ต้องการให้มาก ควรรับเอาแต่น้อยตามอำนาจของไทยธรรม. แม้ไทยธรรมก็มาก แม้ผู้ให้ก็ต้องการจะให้มาก ปฏิคาหกควรรู้กำลังของตนแล้วรับเอาพอประมาณ ก็เมื่อรู้ประมาณอย่างนี้แล้วรับเอา ย่อมทำปฏิปทาคือความมักน้อยให้เต็มบริบูรณ์.
               ลาภย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่เคยมีลาภเกิดขึ้นแล้ว ลาภที่เกิดขึ้นแล้วย่อมอยู่มั่นคง. บุคคลผู้ที่ยังไม่เลื่อมใสก็เลื่อมใส บุคคลผู้ที่เลื่อมใสแล้วก็เลื่อมใสยิ่งขึ้น เป็นประหนึ่งบุคคลผู้เป็นที่สนใจของมหาชน กระทำพระศาสนาให้ดำรงอยู่ตลอดกาลนาน.
               ในข้อนั้นมีเรื่องต่อไปนี้เป็นตัวอย่าง
               ได้ยินว่า ในโรหนชนบท มีภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งอยู่ในกุฬุมริยวิหาร ในสมัยที่ภิกษาหายาก (ท่าน) รับภัตตาหารทัพพีเดียวเพื่อฉัน ในเรือนของนายลัมพกัณณ์ (กรรมกร) คนหนึ่งในบ้านนั้น แลัวรับภัตตาหารอีกทัพพีหนึ่งเท่านั้น เพื่อจะไป.
               วันหนึ่ง ท่านได้เห็นพระภิกษุอาคันตุกะรูปหนึ่งในเรือนนั้น จึงรับเอาภัตตาหารทัพพีเดียวเท่านั้น. เพราะเหตุนั้น ต่อมาภายหลัง กุลบุตรผู้นั้นเลื่อมใสท่าน จึงบอกแก่พวกมิตรอมาตย์ที่ประตูพระราชวังว่า พระประจำสกุลของเรา เป็นผู้ชื่อว่ามักน้อยเห็นปานนี้. มิตรอำมาตย์แม้ทั้งปวงเหล่านั้นก็เลื่อมใสในคุณคือความมักน้อยของท่าน ต่างพากันตั้งภัตตาหารประจำ ๖๐ ที่ เฉพาะวันหนึ่งๆ. ภิกษุผู้มักน้อยเป็นธรรมดาอย่างนี้แล ย่อมยังลาภที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น.
               แม้พระเจ้าสัทธาติสสมหาราชทรงให้ติสสอำมาตย์ ผู้เป็นคนอุปัฏฐากใกล้ชิดไปสอบสวน ทรงให้เขาปิ้งนกกระทาตัวหนึ่งมาให้. เมื่อติสสอำมาตย์ทำอย่างนั้นแล้ว ครั้นเวลาจะเสวยจึงตรัสว่า เราให้ส่วนที่เลิศแล้วจึงจักบริโภค จึงให้ประทานเนื้อนกกระทาแก่สามเณรผู้ถือสิ่งของของพระมหาเถระใกล้บริเวณกัสสัตถศาลา เมื่อท่านรับเอาแต่น้อย ก็เลื่อมใสในคุณคือความมักน้อยของท่าน จึงตรัสว่า ดูก่อนพ่อ โยมเลื่อมใส ขอถวายภัตตาหารประจำ ๘ ที่แก่ท่าน.
               สามเณรทูลว่า มหาบพิตร ภัตตาหารประจำเหล่านั้น อาตมาถวายอุปัชฌาย์.
               พระราชาตรัสว่า โยมถวายอีก ๘ ที่. สามเณรทูลว่า ภัตตาหาร ๘ ที่นั้น อาตมาขอถวายอาจารย์ของอาตมา.
               พระราชาตรัสว่า โยมถวายอีก ๘ ที่. สามเณรทูลว่า อาตมาถวายภัตตาหาร ๘ ที่นั้นแก่ท่านผู้เสมอด้วยอุปัชฌาย์.
               พระราชาตรัสว่า โยมถวายอีก ๘ ที่. สามเณรทูลว่า อาตมาถวายภัตตาหาร ๘ ที่นั้นแก่ภิกษุสงฆ์.
               พระราชาตรัสว่า โยมถวายภัตตาหารแม้อีก ๘ ที่.
               สามเณรนั้นจึงรับเอา. ลาภอันเกิดขึ้นแก่สามเณรนั้น ย่อมเป็นลาภมั่นคงด้วยประการอย่างนี้.
               แม้ในบทว่า อปฺปสนฺนา ปสีทนฺติ นี้ ก็มีตัวอย่างดังต่อไปนี้
               ทีฆพราหมณ์นิมนต์พราหมณ์ทั้งหลายมาฉัน ได้ถวายภัตตาหารทีละ ๕ ขันก็ไม่อาจให้อิ่มหนำ. อยู่มาวันหนึ่งได้ฟังถ้อยคำว่า ว่ากันว่าพวกพระสมณะเป็นผู้มักน้อย เพื่อจะทดลอง จึงให้คนถือภัตตาหารไปยังวิหารในเวลาที่พระภิกษุสงฆ์ทำภัตกิจ เห็นภิกษุประมาณ ๓๐ รูปฉันอยู่บนหอฉัน จึงถือเอาภัตตาหารขันหนึ่งไปยังที่ใกล้พระสังฆเถระ.
               พระเถระได้ใช้นิ้วมือหยิบเอาหน่อยหนึ่ง. โดยทำนองนี้นั่นแล ภัตตาหารขันเดียวได้ทั่วถึงแก่ภิกษุหมดทุกรูป. แต่นั้น พราหมณ์เลื่อมใสในความมักน้อยว่า ได้ยินว่า พระสมณะเหล่านี้มีคุณทุกอย่างทีเดียว จึงสละทรัพย์พันหนึ่ง สร้างพระเจดีย์ไว้ในวิหารนั้นนั่นแล.
               ผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส ย่อมเลื่อมใสด้วยประการอย่างนี้.
               ในบทว่า ปสนฺนา ภิยฺโย ปสีทนฺติ นี้ กิจเนื่องด้วยเรื่องราว (ที่จะนำมาสาธก) ไม่มี.
               ก็เพราะเห็นความมักน้อย ความเลื่อมใสย่อมเจริญยิ่งทีเดียวแก่ผู้ที่เลื่อมใสแล้ว.
               ก็มหาชนได้เห็นคนผู้มักน้อยเช่นพระมัชฌันติกติสสเถระเป็นต้น ย่อมสำคัญที่จะเป็นผู้มักน้อย (ตามอย่าง) บ้าง เพราะเหตุนั้น ผู้มักน้อยจึงชื่อว่าเป็นที่สนใจของมหาชน.
               อนึ่ง ผู้มักน้อยชื่อว่าย่อมกระทำพระศาสนาให้ตั้งมั่นอยู่ได้นาน เพราะพระบาลีว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความมักน้อยย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น เพื่อความไม่ฟั่นเฟือน เพื่อความไม่อันตรธานแห่งพระสัทธรรม ดังนี้.
               บทว่า โน ทายเกน ความว่า ก็ในพระธรรมวินัยที่ตรัสไว้ดีแล้ว ชื่อว่ากิจที่จะต้องรู้ประมาณแล้วจึงให้ ย่อมไม่มีแก่ทายก. ไทยธรรมประมาณเท่าใดมีอยู่ ควรให้ไม่เกินประมาณเท่านั้น. ก็ทายกผู้ให้นี้ย่อมได้สิ่งที่ประณีตยิ่งๆ ขึ้น ไม่เกินมนุษยสมบัติและทิพยสมบัติ เพราะเหตุที่ให้จนเกินประมาณ.
               บทว่า โย อารทฺธวีริโย โส ทุกฺขํ วิหรติ ความว่า ผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งมีวัตรมีการทำให้เร่าร้อนด้วยความร้อน ๕ แห่ง การทำความเพียรด้วยการหมกในหลุมทราย การพลิกไปมาในแสงพระอาทิตย์ (คือนอนกลางแดด) เพราะความเพียรในการนั่งกระหย่งเป็นต้น ย่อมอยู่เป็นทุกข์ในปัจจุบัน.
               เมื่อคนผู้นั้นนั่นแหละสมาทาน (วัตร) ในลัทธิภายนอกพระศาสนา (เขา) เกิดในนรกด้วยวิบากของการประพฤติตบะนั้น ชื่อว่าย่อมอยู่เป็นทุกข์ในสัมปรายภพ.
               บทว่า โย กุสีโต โส ทุกฺขํ วิหรติ ความว่า แม้คนผู้เกียจคร้านนี้ ก็อยู่เป็นทุกข์ทั้งในปัจจุบันและสัมปรายภพ.
               ถามว่า อยู่เป็นทุกข์อย่างไร.
               ตอบว่า บุคคลใด จำเดิมแต่บวชมา ไม่มีการใส่ใจโดยแยบคาย ไม่เรียนพระพุทธวจนะ ไม่กระทำอาจริยวัตรและอุปัชฌายวัตร ไม่กระทำวัตร (คือการปัดกวาด) ลานพระเจดีย์และลานโพธิ์. บริโภคศรัทธาไทย (ของที่เขาให้ด้วยศรัทธา) ของมหาชน ด้วยการไม่พิจารณา ประกอบเนืองๆ ซึ่งความสบายในการนอนตลอดวัน ในเวลาตื่นขึ้นมาก็ตรึกด้วยวิตก ๓ ประการ (คือกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก) บุคคลนั้นย่อมเคลื่อนจากภิกษุภาวะความเป็นภิกษุ โดย ๒-๓ วันเท่านั้น.
               ชื่อว่าอยู่เป็นทุกข์ในปัจจุบัน ด้วยประการอย่างนี้. และก็เพราะบวชแล้วไม่กระทำสมณธรรมโดยชอบ
                         กุโส ยถา ทุคฺคหิโต       หตฺถเมวานุกนฺตติ
                         สามญฺญํ ทุปฺปรามฏฺฐํ    นิรยายูปกฑฺฒตีติ.
               แปลความว่า
                         คุณเครื่องเป็นสมณะ (พรหมจรรย์) ที่บุคคล
                         จับต้องไม่ดี ย่อมคร่าไปนรก เหมือนหญ้าที่
                         บุคคลจับไม่แน่น (แล้วดึงมา) ย่อมบาดมือ
                         นั่นแหละฉะนั้น.

               เขาย่อมถือปฏิสนธิในอบายทีเดียว ชื่อว่าย่อมอยู่เป็นทุกข์ในสัมปรายภพ ด้วยประการอย่างนี้.
               บทว่า โย กุสีโน โส สุขํ วิหรติ ความว่า บุคคลกระทำการประพฤติตบะอะไรๆ ในการประพฤติตบะซึ่งมีประการดังกล่าวแล้วตามเวลา นุ่งผ้าขาว ทัดทรงดอกไม้และลูบไล้ของหอม บริโภคโภชนะที่อร่อย นอนบนที่นอนอันอ่อนนุ่มตามเวลา ย่อมอยู่เป็นสุขในปัจจุบันและสัมรายภพ. ก็เพราะเขาไม่ยึดมั่นการประพฤติตบะนั้น จึงไม่เสวยทุกข์ในนรกมากยิ่ง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าอยู่เป็นสุขในสัมปรายภพ.
               บทว่า โย อารทฺธวีริโย โส สุขํ วิหรติ ความว่า บุคคลปรารภความเพียร จำเดิมแต่กาลที่ได้บวชมา ย่อมกระทำให้บริบูรณ์ในวัตรทั้งหลาย เรียนเอาพระพุทธพจน์ กระทำกรรมในโยนิโสมนสิการ ครั้นเมื่อเขานึกถึงการบำเพ็ญวัตร การเล่าเรียนพระพุทธพจน์และการทำสมณธรรม จิตย่อมเลื่อมใส เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอยู่เป็นสุขในปัจจุบันด้วยประการฉะนี้. แต่เมื่อไม่อาจบรรลุพระอรหัตในปัจจุบัน ย่อมจะเป็นผู้ตรัสรู้เร็วในภพที่เกิด เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอยู่เป็นสุขแม้ในสัมปรายภพ.
               พระสูตรนี้มีคำเป็นต้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คูถแม้มีจำนวนน้อยก็มีกลิ่นเหม็น แม้ฉันใด ดังนี้ ตรัสไว้เพราะอัตถุปปัติเหตุเกิดเรื่อง.
               ถามว่า เหตุเกิดเรื่องไหน.
               ตอบว่า เหตุเกิดเรื่องแห่งสตุปปาทสูตร ในนวกนิบาต.
               จริงอยู่ พระตถาคต เมื่อจะตรัสเรื่องนั้นได้ตรัสว่า บุคคล ๙ จำพวกพ้นจากนรก พ้นจากกำเนิดสัตว์เดียรัจฉาน พ้นจากเปรตวิสัย ดังนี้เป็นต้น.
               ครั้งนั้น พระตถาคตมีพระดำริว่า ก็ถ้าบุตรของเราฟังธรรมเทศนานี้แล้วสำคัญว่า พวกเราเป็นผู้สิ้นนรก สิ้นกำเนิดสัตว์เดียรัจฉาน สิ้นเปรตวิสัย สิ้นอบาย ทุคติ วินิบาตแล้ว ก็จะไม่พึงสำคัญที่จะพยายามเพื่อมรรคผลสูงๆ ขึ้นไป เราจักทำความสังเวชให้เกิดแก่บุตรของเราเหล่านั้น ดังนี้แล้ว จึงทรงเริ่มพระสูตรนึ้ว่า เสยฺยถาปิ ภิกฺขเว ดังนี้เป็นต้น เพื่อจะให้เกิดสังเวช.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปฺปมตฺตโก แปลว่า มีประมาณหน่อยหนึ่ง คือมีประมาณน้อย. คูถนั้น ชั้นที่สุดแม้แต่ปลายใบหญ้าคาแตะแล้วดม กลิ่นก็เหม็นอยู่นั่นแหละ.
               บทว่า อปฺปมตฺตกํปิ ภวํ น วณฺเณมิ ความว่า เราไม่สรรเสริญการถือปฏิสนธิในภพชั่วกาลเวลาเล็กน้อย. บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงการเปรียบเทียบกาลเวลานั้น จึงตรัสว่า โดยชั้นที่สุดแม้ชั่วกาลเวลาลัดนิ้วมือ ดังนี้. ในคำนี้ ท่านอธิบายว่า ชั่วกาลเวลาแม้สักว่าเอานิ้ว ๒ นิ้ว มารวมกันแล้วก็ดีดแยกออกเป็นกำหนดอย่างต่ำที่สุด.
               คำที่เหลือในที่ทุกแห่ง มีความง่ายทั้งนั้นแล.

               จบอรรถกถาวรรคที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอกธัมมาทิบาลี อีกนัยหนึ่ง วรรคที่ ๓ จบ.
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 181อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 191อ่านอรรถกถา 20 / 205อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=950&Z=1002
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=14&A=10152
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=14&A=10152
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :