ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 257อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 267อ่านอรรถกถา 20 / 277อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ปฐมปัณณาสก์
พาลวรรคที่ ๓

               พาลวรรคที่ ๓               
               อรรถกถาสูตรที่ ๑               
               พาลวรรคที่ ๓ สูตรที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า อจฺจยํ อจฺจยโต น ปสฺสติ ความว่า ทำผิดแล้ว ไม่เห็นความผิดของตนว่าเราทำผิด ได้แก่ ไม่กล่าวว่า ข้าพเจ้าทำผิดแล้ว นำทัณฑกรรมมาขอขมาโทษ.
               บทว่า อจฺจยํ เทเสนฺตสฺส ความว่า เมื่อเขากล่าวอย่างนี้แล้วนำทัณฑกรรมมาขอขมาโทษ.
               บทว่า ยถาธมฺมํ น ปฏิคฺคณฺหาติ ความว่า เมื่อเขากล่าวว่า ข้าพเจ้าจักไม่กระทำอย่างนี้อีก ขอท่านโปรดยกโทษแก่ข้าพเจ้าดังนี้. ก็ไม่ยอมรับการขอขมานี้ตามธรรมคือตามสมควร คือไม่กล่าวว่า จำเดิมแต่นี้ ท่านอย่าได้ทำอย่างนี้อีก เรายกโทษแก่ท่าน ดังนี้.
               ธรรมฝ่ายขาวพึงทราบโดยนัยตรงกันข้ามกับที่กล่าวแล้ว.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๑               

               อรรถกถาสูตรที่ ๒               
               ในสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า อพฺภาจิกฺขนฺติ ได้แก่ กล่าวตู่ คือกล่าวด้วยเรื่องไม่จริง.
               บทว่า โทสนฺตโร แปลว่า มีโทสะตั้งอยู่ในภายใน.
               จริงอยู่ คนแบบนี้ย่อมกล่าวตู่พระตถาคต เช่น สุนักขัตตลิจฉวีกล่าวว่า อุตตริมนุสสธรรมของพระสมณโคดมหามีไม่.
               บทว่า สทฺโธ วา ทุคฺคหิเตน ความว่า หรือว่า ผู้ที่มีศรัทธาแก่กล้า ด้วยศรัทธาที่เว้นจากญาณ มีความเลื่อมใสอ่อนนั้น ถือผิดๆ กล่าวตู่พระตถาคตโดยนัยเป็นต้นว่า ขึ้นชื่อว่าพระพุทธเจ้านั้น เป็นโลกุตระทั้งพระองค์ พระอาการ ๓๒ มีพระเกสาเป็นต้นของพระองค์ล้วนเป็นโลกุตระทั้งนั้น ดังนี้.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๒               

               อรรถกถาสูตรที่ ๓               
               ในสูตรที่ ๓ ง่ายทั้งนั้นแล.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๓               

               อรรถกถาสูตรที่ ๔               
               ในสูตรที่ ๔ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า เนยฺยตฺถํ สุตฺตนฺตํ ความว่า สุตตันตะใดมีเนื้อความพึงแนะนำ ซึ่งสุตตันตะมีเนื้อความพึงแนะนำนั้น.
               บทว่า นีตตฺโถ สุตฺตนฺโตติ ทีเปติ ความว่า เมื่อกล่าวว่า สุตตันตะนี้มีเนื้อความกล่าวไว้แล้ว. ในบาลีประเทศนั้น สุตตันตะเห็นปานนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลจำพวก ๑ บุคคล ๒ จำพวก บุคคล ๓ จำพวก บุคคล ๔ จำพวกดังนี้ ชื่อว่ามีเนื้อความพึงแนะนำ.
               ก็ในที่นี้ ถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลจำพวก ๑ ดังนี้เป็นต้นก็จริง ถึงอย่างนั้น เมื่อว่าโดยปรมัตถ์ บุคคลหามีไม่ พึงแนะนำเนื้อความแก่เขาอย่างนี้ด้วยประการฉะนี้ทีเดียว แต่บุคคลผู้นี้โง่เขลาจึงแสดงว่า สุตตันตะนี้มีเนื้อความแนะนำแล้ว. เพราะว่า เมื่อบุคคลไม่มีโดยปรมัตถ์แล้ว พระตถาคตก็ไม่พึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลจำพวก ๑ ดังนี้เป็นต้นซิ. แต่เพราะพระองค์ตรัสอย่างนั้น ฉะนั้นจึงถือว่า บุคคลมีอยู่โดยปรมัตถ์ ชื่อว่าย่อมแสดงสุตตันตะมีเนื้อความควรแนะนำ ว่าเป็นสุตตันตะมีเนื้อความแนะนำแล้ว.
               บทว่า นีตตฺถํ ได้แก่ มีเนื้อความที่ตรัสไว้อย่างนี้ว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ซึ่งในที่นี้ก็มีเนื้อความชัดอยู่แล้วว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน. แต่บุคคลผู้นี้โง่เขลาคิดว่า ยังมีสุตตันตะที่มีเนื้อความพึงแนะนำ เราจักนำเนื้อความของสุตตันตะนั้นมา ถือว่า ที่เที่ยง ที่เป็นสุข ที่เป็นตัวตนก็มีอยู่ ดังนี้ ชื่อว่าย่อมแสดงสุตตันตะมีเนื้อความแนะนำแล้ว ว่าเป็นสุตตันตะมีเนื้อความควรแนะนำ.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๔               

               อรรถกถาสูตรที่ ๕               
               ในสูตรที่ ๕ มีเนื้อความง่ายทั้งนั้นแล.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๕               

               อรรถกถาสูตรที่ ๖               
               ในสูตรที่ ๖ (บาลีข้อ ๒๗๑) มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า ปฏิจฺฉนฺนกมฺมนฺตสฺส ได้แก่ ผู้มีการกระทำอันเป็นบาป. เพราะคนทั้งหลายย่อมทำบาปโดยอาการปกปิด แม้หากทำโดยอาการไม่ปกปิด บาปกรรมก็ได้ชื่อว่ากรรมอันปกปิดอยู่นั่นเอง.
               บทว่า นิรโย ได้แก่ ขันธ์พร้อมทั้งโอกาส และขันธ์ในกำเนิดดิรัจฉาน.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๖               

               อรรถกถาสูตรที่ ๗-๘               
               ในสูตรที่ ๗ และสูตรที่ ๘ ง่ายทั้งนั้นแล.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๗-๘               

               อรรถกถาสูตรที่ ๙               
               ในสูตรที่ ๙ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า ปฏิคฺคหา แปลว่า ฐานะที่ต้อนรับ. ความว่า สถานที่ ๒ แห่งย่อมต้อนรับบุคคลทุศีล.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๙               

               อรรถกถาสูตรที่ ๑๐               
               ในสูตรที่ ๑๐ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า อตฺถวเส ได้แก่ เหตุ.
               บทว่า อรญฺญวนปฏฺฐานิ ได้แก่ ป่าและดง.
               ใน ๒ อย่างนั้น ในอภิธรรมท่านเรียกที่ทั้งหมดที่อยู่นอกเสาอินทขีล [เสาหลักเมือง] ออกไปว่าป่า โดยตรงก็จริง ถึงอย่างนั้น ป่าที่ภิกษุผู้ถืออรัญญิกธุดงค์พอพักอยู่ได้ ที่ท่านกล่าวว่า ใกล้ที่สุดชั่ว ๕๐๐ ธนูนั้นแหละ พึงทราบว่าท่านประสงค์.
               บทว่า วนปฏฺฐํ ได้แก่ ป่าที่เลยเขตบ้านออกไป ไม่เป็นถิ่นของมนุษย์ ไม่เป็นที่ไถที่หว่าน.
               บทว่า ปนฺตานิ ได้แก่ สุดกู่ คือไกลมาก.
               บทว่า ทิฏฺฐธมฺมสุขวิหารํ ได้แก่ การอยู่อย่างผาสุกทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ.
               บทว่า ปจฺฉิมญฺจ ชนตํ อนุกมฺปมาโน ความว่า อนุเคราะห์สาวกรุ่นหลังของเรา.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๑๐               

               อรรถกถาสูตรที่ ๑๑               
               ในสูตรที่ ๑๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า วิชฺชาภาคิยา แปลว่า เป็นไปในส่วนวิชชา.
               บทว่า สมโถ ได้แก่ ความที่จิตมีอารมณ์เดียว (แน่วแน่).
               บทว่า วิปสฺสนา ได้แก่ ญาณกำหนดสังขารเป็นอารมณ์.
               บทว่า กิมตฺถมนุโภติ ความว่า ให้สำเร็จประโยชน์อะไร คือให้ถึงพร้อม ให้บริบูรณ์.
               บทว่า จิตฺตํ ภาวียติ ความว่า เจริญเพิ่มพูน พัฒนามรรคจิต.
               บทว่า โย ราโค โส ปหียติ ความว่า ละกิเสลที่ชื่อว่าราคะด้วยอำนาจย้อมใจได้. เพราะราคะเป็นข้าศึกของมรรคจิต มรรคจิตเป็นข้าศึกของราคะ. ขณะมีราคะ ไม่มีมรรคจิต. ขณะมีมรรคจิต ไม่มีราคะ. ราคะเกิดขึ้นเมื่อใด ย่อมห้ามมิให้มรรคจิตเกิดขึ้นเมื่อนั้น คือตัดหนทาง. มรรคจิตเกิดขึ้นเมื่อใด เมื่อนั้นมรรคจิตก็เพิกถอนราคะพร้อมทั้งรากทีเดียว ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า ราโค ปหียติ.
               บทว่า วิปสฺสนา ภิกฺขเว ภาวิตา ความว่า วิปัสสนาญาณอันภิกษุเพิ่มพูนแล้วให้เจริญแล้ว.
               บทว่า ปญฺญา ภาวียติ ความว่า มรรคปัญญาอันวิปัสสนาให้เจริญ คือให้เพิ่มพูนให้พัฒนา
               บทว่า ยา อวิชฺชา สา ปหียติ ความว่า ละอวิชชาใหญ่ที่มีมูลแห่งวัฏฏะได้ในฐานะทั้ง ๘ อวิชชาเป็นข้าศึกของมรรคปัญญา มรรคปัญญาก็เป็นข้าศึกของอวิชชา. ในขณะมีอวิชชา ไม่มีมรรคปัญญา. ในขณะมีมรรคปัญญา ไม่มีอวิชชา. อวิชชาเกิดขึ้นเมื่อใด เมื่อนั้นย่อมห้ามมิให้มรรคปัญญาเกิดขึ้น คือตัดหนทาง. มรรคปัญญาเกิดขึ้นเมื่อใด เมื่อนั้นมรรคปัญญาก็เพิกถอนอวิชชาพร้อมทั้งรากทีเดียว. เพราะเหตุนั้นจึงตรัสว่า อวิชฺชา ปหียติ.
               สหชาตธรรมทั้งสอง คือมรรคจิต มรรคปัญญา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วด้วยประการฉะนี้.
               ด้วยพระดำรัสว่า ราคูปกฺกิลิฏฺฐํ วา ภิกฺขเว จิตฺตํ น วิมุจฺจติ ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า มรรคจิตย่อมไม่หลุดพ้น เพราะจิตยังเศร้าหมองด้วยราคะ.
               ด้วยพระดำรัสว่า อวิชฺชูปกฺกิลิฏฺฐา วา ปญฺญา น ภาวียติ ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า มรรคปัญญา ภิกษุย่อมเจริญไม่ได้ เพราะปัญญายังเศร้าหมองด้วยอวิชชา.
               บทว่า อิติ โข ภิกฺขเว แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล.
               บทว่า ราควิราคา เจโตวิมุตฺติ ความว่า ธรรมดาเจโตวิมุตติย่อมมี เพราะสำรอกราคะ คือราคะสิ้นไป. คำนี้เป็นชื่อของผลสมาธิ.
               บทว่า อวิชฺชาวิราคา ปญฺญาวิมุตฺติ ความว่า ธรรมดาปัญญาวิมุตติย่อมมี เพราะสำรอกอวิชชา คืออวิชชาสิ้นไป.
               ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสมาธิวิปัสสนาที่เป็นไปในขณะต่างๆ ดังนี้แล.

               จบอรรถกถาสูตรที่ ๑๑               
               จบพาลวรรคที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ พาลวรรคที่ ๓ จบ.
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 257อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 267อ่านอรรถกถา 20 / 277อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=1564&Z=1616
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=635
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=635
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :