ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 287อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 297อ่านอรรถกถา 20 / 309อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ทุติยปัณณาสก์
ปุคคลวรรคที่ ๑

               ทุติยปัณณาสก์               
               ปุคคลวรรคที่ ๑               
               อรรถกถาสูตรที่ ๑               
               ทุติยปัณณาสก์ สูตรที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               เพราะถือเอาพร้อมกับพระเจ้าจักรพรรดิ จึงมิได้ตรัสบทว่า โลกานุกมฺปาย ไว้ด้วย. และในสูตรนี้ เพราะความเกิดขึ้นแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ สัตว์โลกย่อมได้สมบัติ ๒ (คือมนุษย์สมบัติ ละสวรรค์สมบัติ) ส่วนความเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมได้สมบัติทั้ง ๓ (คือได้เพิ่มนิพพานสมบัติด้วย).
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๑               

               อรรถกถาสูตรที่ ๒               
               ในสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า อจฺฉริยมนุสฺสา ความว่า เหล่ามนุษย์ผู้สร้างสมบารมี ชื่อว่ามนุษย์อัศจรรย์.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๒               

               อรรถกถาสูตรที่ ๓               
               ในสูตรที่ ๓ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า พหุโน ชนสฺส อนุตปฺปา โหติ ความว่า ย่อมกระทำความร้อนใจแก่มหาชน.
               บรรดาบุคคล ๒ จำพวกนั้น กาลกิริยาของพระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมกระทำความร้อนใจแก่เทวดาและมนุษย์ในจักรวาลเดียว. กาลกิริยาของพระตถาคต ย่อมกระทำความร้อนใจแก่เทวดาและมนุษย์ในหมื่นจักรวาล.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๓               

               อรรถกถาสูตรที่ ๔               
               ในสูตรที่ ๔ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า ถูปารหา แปลว่า ผู้สมควรคือคู่ควรเหมาะสมแก่สถูป. เพราะผู้ปรนนิบัติพระเจดีย์ของพระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมได้สมบัติ ๒. ผู้ปรนนิบัติพระเจดีย์ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมได้สมบัติแม้ทั้ง ๓.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๔               

               อรรถกถาสูตรที่ ๕               
               ในสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า พุทฺธา ได้แก่ ท่านผู้ตรัสรู้อริยสัจ ๔ ด้วยอานุภาพของตน (ตรัสรู้เอง).
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๕               

               อรรถกถาสูตรที่ ๖               
               ในสูตรที่ ๖ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า ผลนฺติยา แปลว่า เมื่อฟ้าทำเสียง [ผ่า].
               บทว่า น สนฺตสนฺติ ความว่า ย่อมไม่กลัวเพราะละสักกายทิฏฐิได้แล้ว.
               บรรดาคนและสัตว์ทั้งสองนั้น พระขีณาสพไม่กลัว เพราะละสักกายทิฏฐิของตนได้แล้ว. ช้างอาชาไนยไม่กลัว เพราะมีสักกายทิฏฐิจัด.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๖               

               อรรถกถาสูตรที่ ๗-๘               
               แม้ในสูตรที่ ๗ ข้อ ๓๐๓ และสูตรที่ ๘ ข้อ ๓๐๔ ก็นัยนี้แหละ.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๗-๘               

               อรรถกถาสูตรที่ ๙               
               ในสูตรที่ ๙ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า กึปุริสา ได้แก่ กินนร.
               บทว่า มานุสึ วาจํ น ภาสนฺติ ความว่า ไม่พูดภาษามนุษย์.
               เล่ากันมาว่า ราษฎรนำกินนรตัวหนึ่งมาแสดงแก่พระเจ้าธรรมาโศก. พระองค์มีรับสั่งว่า พวกท่านจงให้มันพูด. กินนรไม่ปรารถนาจะพูด. บุรุษคนหนึ่งคิดว่า เราจักให้กินนรนี้พูด จึงพากินนรลงไปยังปราสาทชั้นล่าง ตอกหลัก ๒ หลัก แล้วยกหม้อข้าวขึ้นตั้ง. หม้อข้าวตกลงข้างโน้นบ้างข้างนี้บ้าง. กินนรเห็นดังนั้น ก็กล่าวคำเพียงเท่านี้ว่า ตอกหลักเพิ่มอีกหลักหนึ่ง จะไม่เหมาะหรือ.
               เวลาต่อมา เขานำกินนรมาแสดงอีก ๒ ตัว พระราชามีรับสั่งว่า พวกเจ้าจงให้มันพูด. กินนรทั้งสองนั้นก็ไม่ปรารถนาจะพูด. บุรุษคนหนึ่งคิดว่า เราจักให้กินนรทั้งสองนี้พูด จึงได้พากินนรเหล่านั้นไปตลาด. ที่ตลาดนั้นกินนรตัวหนึ่งได้เห็นมะม่วงสุกและปลา. กินนรอีกตัวหนึ่งได้เห็นผลมะขวิดและผลไม้มีรสเปรี้ยว.
               บรรดากินนร ๒ ตัวนั้น กินนรตัวหนึ่งพูดว่า เพื่อนยาก พวกมนุษย์เคี้ยวกิน (ผลไม้มีมะม่วงเป็นต้น) พวกเขาจะไม่เป็นโรคกลากได้อย่างไรเล่า. กินนรอีกตัวหนึ่งพูดว่า คนเหล่านี้อาศัยปลาและผลไม้นั้น จะไม่เป็นโรคเรื้อนได้อย่างไรเล่า. กินนรทั้งหลายแม้ไม่อาจพูดภาษามนุษย์ แต่เมื่อเห็นอำนาจประโยชน์ ๒ อย่างดังกล่าวมานี้ ก็พูดแล.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๙               

               อรรถกถาสูตรที่ ๑๐               
               ในสูตรที่ ๑๐ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า อปฺปฏิวาโน ได้แก่ ไม่เบื่อ ไม่ท้อแท้.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๑๐               

               อรรถกถาสูตรที่ ๑๑               
               ในสูตรที่ ๑๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               บทว่า อสนฺตสนฺนิวาสํ ได้แก่ การอยู่ร่วมกันของเหล่าสัตบุรุษ.
               บทว่า น วเทยฺย ความว่า ไม่พึงว่ากล่าว. อธิบายว่า จงอย่าว่ากล่าวด้วยโอวาทก็ตาม ด้วยอนุสาสนีก็ตาม.
               บทว่า เถรํปาหํ น วเทยฺยํ ความว่า แม้เราก็ไม่พึงว่ากล่าวภิกษุผู้เถระ โดยโอวาทและอนุสาสนี.
               บทว่า อหิตานุกมฺปี ได้แก่ มุ่งหวังแต่สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์.
               บทว่า โน หิตานุกมฺปี ได้แก่ ไม่มุ่งหวังประโยชน์เกื้อกูล.
               บทว่า โนติ นํ วเทยฺยํ ความว่า พึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าจักไม่เชื่อคำของท่าน.
               บทว่า วิเหเสยฺยํ ความว่า พึงเบียดเบียนเพราะเหตุแห่งถ้อยคำ.
               บทว่า ปสฺสมปิสฺส น ปฏิกเรยฺยํ ความว่า แม้เราเห็นอยู่ก็ตาม รู้อยู่ก็ตาม จะไม่เชื่อคำของผู้นั้น.
               พึงทราบเนื้อความในบททั้งปวงโดยอุบายนี้.
               ส่วนในฝ่ายขาว บทว่า สาธูติ นํ วเทยฺยํ ความว่า เมื่อเราชื่นชมคำของเขา จะพึงกล่าวว่า ดีละ เจริญแท้ ท่านกล่าวดีแล้ว.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๑๑               

               อรรถกถาสูตรที่ ๑๒               
               ในสูตรที่ ๑๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า อุภโต วจีสํสาโร ความว่า วาจาที่สาดใส่กันและกัน ออกมาเป็นด่าและด่าตอบกันทั้งสองฝ่าย ชื่อว่าการต่อปากต่อคำ.
               บทว่า ทิฏฺฐิปลาโส ความว่า การตีเสมอมีลักษณะเทียบคู่ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะอาศัยทิฏฐิ ชื่อว่าการตีเสมอด้วยอำนาจทิฏฐิ.
               บทว่า เจตโส อาฆาโต ได้แก่ ความโกรธ.
               จริงอยู่ ความโกรธนั้นเกิดขึ้นทำจิตให้อาฆาต.
               บทว่า อปฺปจฺจโย ได้แก่ อาการที่ไม่ยินดี อธิบายว่า โทมนัส.
               บทว่า อนภิรทฺธิ ได้แก่ ความโกรธนั้นเอง. ก็ความโกรธนั้นท่าน เรียกว่า อนภิรทฺธิ เพราะไม่ยินดีอย่างยิ่ง.
               บทว่า อชฺฌตฺตํ อวูปสนฺตํ โหติ ความว่า เรื่องนั้นทั้งหมดไม่สงบเสียได้ ในจิตของตนซึ่งเป็นภายในของตนและในบริษัทของตน คือสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิก.
               บทว่า ตเสฺมตํ ตัดบทเป็น ตสฺมึ เอตํ แปลว่า ข้อที่จะพึงหวังได้ในอธิกรณ์เรื่องนั้น.
               บทที่เหลือ พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วนั้นแล.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๑๒               
               จบปุคคลวรรคที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ ปุคคลวรรคที่ ๑ จบ.
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 287อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 297อ่านอรรถกถา 20 / 309อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=1991&Z=2087
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=1316
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=1316
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :