ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 502อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 503อ่านอรรถกถา 20 / 504อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ มหาวรรคที่ ๒
๓. เวนาคสูตร

               อรรถกถาเวนาคสูตรที่ ๓               
               พึงทราบวินิจฉัยในเวนาคสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-

               จาริกมี ๒ อย่าง               
               บทว่า โกสเลสุ ได้แก่ ในชนบทที่มีชื่ออย่างนั้น.
               บทว่า จาริกํ จรมาโน ได้แก่ (พระผู้มีพระภาคเจ้า) เสด็จพุทธะดำเนินไปสู่ทางไกล. ธรรมดาว่า การเสด็จจาริกของพระผู้มีพระภาคเจ้ามีอยู่ ๒ อย่างคือ การเสด็จจาริกอย่างรีบด่วน ๑ การเสด็จจาริกอย่างไม่รีบด่วน ๑.
               บรรดาการเสด็จจาริก ๒ อย่างนั้น การที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นบุคคลผู้ควรจะแนะนำให้รู้ได้แม้ในที่ไกลแล้ว ด่วนเสด็จไปเพื่อประโยชน์ในอันที่จะสอนบุคคลนั้นให้รู้ ชื่อว่าการเสด็จจาริกอย่างรีบด่วน. การเสด็จจาริกอย่างรีบด่วนนั้น พึงเห็นในเวลาที่เสด็จไปต้อนรับพระมหากัสสปะเป็นต้น ส่วนการที่พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงอนุเคราะห์โลกด้วยพุทธกิจมีการเที่ยวบิณฑบาตเป็นต้น เสด็จไปตามลำดับหมู่บ้านวันละหนึ่งโยชน์ สองโยชน์ ชื่อว่าการเสด็จจาริกอย่างไม่รีบด่วน. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาการเสด็จจาริกอย่างไม่รีบด่วนนี้จึงตรัสคำนี้ว่า จาริกญฺจรมาโน.
               ก็กถาว่าด้วยการเสด็จจาริก ได้กล่าวไว้แล้วโดยพิสดารในอัมพัฏฐสุตตวรรณนา ในอรรถกถาทีฆนิกาย ชื่อสุมังคลวิลาสินี.

               บ้านพราหมณ์               
               บทว่า พฺราหฺมณคาโม ความว่า หมู่บ้านที่พราหมณ์ทั้งหลายมาสโมสรกันก็ดี หมู่บ้านที่พราหมณ์ทั้งหลายมาบริโภคก็ดี เรียกว่าหมู่บ้านที่พราหมณ์ (ทั้งนั้น). ในที่นี้ หมู่บ้านที่พราหมณ์ทั้งหลายมาสโมสรกัน ประสงค์เอาว่าเป็นหมู่บ้านพราหมณ์.
               บทว่า ตทวสริ คือ เสด็จไปในหมู่บ้านที่พราหมณ์นั้น. อธิบายว่า เสด็จถึงแล้ว.
               ส่วนการประทับอยู่มิได้กำหนดไว้ในที่นี้. เหตุนั้น จึงควรทราบว่า ในที่ไม่ไกลหมู่บ้านที่พราหมณ์นั้นมีไพรสณฑ์แห่งหนึ่งซึ่งสมควรแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระศาสดาเสด็จไปยังไพรสณฑ์นั้น.
               บทว่า อสฺโสสุํ ความว่า (พราหมณคหบดีทั้งหลาย) ฟัง คือได้เข้าไป ได้แก่ทราบตามกระแสเสียงที่เปล่งออกเป็นคำพูดที่ถึงโสตทวาร.
               ศัพท์ว่า โข เป็นนิบาตใช้ในความหมายแห่งอวธารณะ (ห้ามความอื่น) หรือในความหมายเพียงทำบทให้เต็ม.
               บรรดาความหมาย ๒ อย่างนั้น ด้วยความหมายแห่งอวธารณะ พึงทราบเนื้อความดังนี้ว่า พราหมณคหบดีทั้งหลายได้ยินแล้วทีเดียว พราหมณคหบดีเหล่านั้นมิได้มีอันตรายแห่งการฟังอะไรเลย. และในการทำบทให้เต็ม (ปทปูรณะ) พึงทราบแต่เพียงว่าเป็นความสละสลวยแห่งพยัญชนะเท่านั้น.

               ความหมายของสมณะ               
               บัดนี้ เพื่อจะประกาศเนื้อความที่พราหมณคหบดีทั้งหลายได้ฟังแล้ว พระสังคีติกาจารย์จึงกล่าวคำว่า สมโณ ขลุ โภ โคตโม เป็นต้นไว้.
               ในบทเหล่านั้น พึงทราบความว่า บุคคลชื่อว่าเป็นสมณะ เพราะมีบาปอันสงบแล้ว.
               ศัพท์ว่า ขลุ เป็นนิบาตใช้ในความหมายว่า ได้ฟังสืบๆ มา.
               บทว่า โภ เป็นเพียงพราหมณคหบดีเหล่านั้นร้องเรียกกันและกัน.
               บทว่า โคตโม เป็นบทแสดงถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยอำนาจโคตร. เหตุนั้น ในบทว่า สมโณ ขลุ โภ โคตโม นี้พึงเห็นเนื้อความอย่างนี้ว่า ผู้เจริญ ได้ยินว่า พระสมณะผู้โคตมโคตร.
               ส่วนบทว่า สกฺยปุตฺโต นี้เป็นบทแสดงถึงตระกูลอันสูงส่งของพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               บทว่า สกฺยกุลา ปพฺพชิโต เป็นบทแสดงว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงผนวชด้วยศรัทธา. มีคำอธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ถูกความเสื่อมอะไรเลยครอบงำ ทรงละตระกูลนั้นที่ยังไม่เสื่อมสิ้นเลย ทรงผนวชด้วยศรัทธา.
               บทว่า ตํ โข ปน เป็นทุติยาวิภัติใช้ในความหมายบ่งบอกว่าเป็นอย่างนี้. อธิบายว่า ก็ของพระโคดมผู้เจริญนั้นแล.
               บทว่า กลฺยาโณ ได้แก่ ประกอบด้วยคุณอันงาม. มีคำอธิบายว่า ประเสริฐที่สุด.
               บทว่า กิตฺติสทฺโท ได้แก่ เกียรตินั่นเองหรือเสียงชมเชย.
               บทว่า อพฺภุคฺคโต ได้แก่ ระบือไปถึงเทวโลก.
               ถามว่า กิตติศัพท์ระบือไปอย่างไร.
               ตอบว่า ระบือไปว่า อิติปิ โส ภควา ฯ เป ฯ พุทฺโธ ภควา.
               ในพระบาลีนั้นมีบทสัมพันธ์ดังนี้
               พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระอรหันต์ แม้เพราะเหตุนี้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแม้เพราะเหตุนี้ ฯลฯ เป็นพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้เพราะเหตุนี้. มีคำอธิบายว่า เพราะเหตุนี้ด้วย เพราะเหตุนี้ด้วย.
               ในพระพุทธคุณนั้น ท่านตั้งมาติกาไว้โดยนัยเป็นต้นว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นพึงทราบว่า เป็นพระอรหันต์ ด้วยเหตุเหล่านี้คือ
                         ๑. เพราะเป็นผู้ไกล (จากกิเลส)
                         ๒. เพราะทรงทำลายข้าศึกทั้งหลาย
                         ๓. เพราะทรงหักซี่กำทั้งหลาย
                         ๔. เพราะเป็นผู้ควรแก่ปัจจัยเป็นต้น
                         ๕. เพราะไม่มีความลับในการทำบาป
               ดังนี้ แล้วขยายบทเหล่านี้ทุกบททีเดียว ให้พิสดารในพุทธานุสตินิเทศ ในปกรณ์พิเศษชื่อวิสุทธิมรรค. นักศึกษาพึงถือเอาความพิสดารของบทเหล่านั้นจากปกรณ์พิเศษ ชื่อวิสุทธิมรรคนั้นเทอญ.
               บทว่า โส อิมํ โลกํ ความว่า พระโคดมผู้เจริญนั้น... โลกนี้.
               ต่อไปนี้ จะแสดงคำที่จะพึงกล่าว.
               บทว่า สเทวกํ ได้แก่ (สัตว์โลก) พร้อมทั้งเทวดาทั้งหลาย ชื่อว่าสเทวกะ. (สัตวโลก) พร้อมทั้งมารอย่างนี้ ชื่อว่าสมารกะ. (สัตวโลก) พร้อมทั้งพรหม ชื่อว่าสพรหมกะ. หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ ชื่อว่าสัสสมณพราหมณี. หมู่สัตว์ที่ชื่อว่าปชา เพราะมีตัวตนเกิดจากน้ำ ซึ่งปชานั้น ปชาพร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ชื่อว่าสเทวมนุสสะ.
               บรรดาคำเหล่านั้น ด้วยคำว่าสเทวกะ พึงทราบว่ามุ่งถึงเทวดาชั้นกามาวจร ๕ ชั้น. ด้วยคำว่าสมารกะ พึงทราบว่ามุ่งถึงเทวดาชั้นกามาวจรชั้นที่ ๖. ด้วยคำว่าสพรหมกะ พึงทราบว่ามุ่งถึงพรหม. ด้วยคำว่าสัสสมณพราหมณี พึงทราบว่ามุ่งถึงสมณพราหมณ์ผู้เป็นข้าศึกศัตรูต่อพระศาสนา และมุ่งถึงสมณพราหมณ์ผู้มีบาปอันสงบแล้ว ผู้ลอยบาปแล้ว. ด้วยคำว่าปชา พึงทราบว่ามุ่งถึงสัตวโลก. ด้วยคำว่าสเทวมนุสสะ พึงทราบว่ามุ่งถึงสมมติเทพและมนุษย์ที่เหลือ.
               ในที่นี้ สัตวโลกพร้อมทั้งโอกาสโลก พึงทราบว่าท่านถือเอาแล้วด้วย ๓ บท สัตวโลกคือหมู่สัตว์ พึงทราบว่าท่านถือเอาแล้วด้วย ๒ บท ดังพรรณนามาฉะนี้.
               อีกนัยหนึ่ง โลกชั้นอรูปาวจร ท่านถือเอาแล้วด้วยศัพท์ว่าสเทวกะ. เทวโลกชั้นกามาวจร ๖ ชั้น ท่านถือเอาแล้วด้วยศัพท์ว่าสมารกะ. โลกของรูปพรหม ท่านถือเอาแล้วด้วยศัพท์ว่าสพรหมกะ. มนุษยโลกพร้อมทั้งบริษัท ๔ หรือสมมติเทพ หรือสัตวโลกทั้งหมดที่เหลือ ท่านถือเอาแล้วด้วยศัพท์ว่าสัสสมณพราหมณะเป็นต้น.
               ฝ่ายพระโบราณาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า บทว่า สเทวกํ ได้แก่ โลกที่เหลือพร้อมทั้งเทวดาทั้งหลาย.
               บทว่า สมารกํ ได้แก่ โลกที่เหลือพร้อมทั้งมาร.
               บทว่า สพฺรหฺมกํ ได้แก่ โลกที่เหลือพร้อมทั้งพรหม. เพื่อจะประมวลสัตว์ที่เข้าถึงภพ ๓ ทั้งหมดไว้ใน ๓ บท ด้วยอาการ ๓ แล้วกำหนดถือเอาอีกด้วย ๒ บท ท่านจึงกล่าวว่า สสฺสมณพฺพราหฺมณึ ปชํ สเทวมนุสฺสํ ดังพรรณนามานี้. ท่านกำหนดถือเอาธาตุ ๓ นั่นแลโดยอาการนั้นๆ ด้วยบท ๕ อย่างนี้แล.
               บทว่า สยํ ในคำว่า สยํ อภิญฺญา สตฺฉิกตฺวา ปเวเทติ มีความว่า ด้วยพระองค์เอง คือไม่มีคนอื่นแนะนำ.
               บทว่า อภิญฺญา แปลว่า ด้วยอภิญญา. อธิบายว่า ทรงรู้ด้วยพระญาณอันยิ่ง.
               บทว่า สตฺฉิกตฺวา คือ ทรงทำให้ประจักษ์ชัด. ท่านทำการปฏิเสธการคาดคะเนเป็นต้น ด้วยบทว่า สตฺฉิกตฺวา นั้น.
               บทว่า ปเวเทติ คือ ทรงให้รู้ ได้แก่ทรงให้ทราบ คือทรงประกาศ.

               เบื้องต้น-ท่ามกลาง-ที่สุด               
               บทว่า โส ธมฺมํ เทเสติ อาทิกลฺยาณํ ฯลฯ ปริโยสานกลฺยาณํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงอาศัยพระกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย ถึงจะทรงงด (พระธรรมเทศนาไว้ชั่วคราว) แล้วทรงแสดงความสุขอันเกิดจากวิเวกอย่างยอดเยี่ยม.
____________________________
๑- ปาฐะว่า หิตฺวาปิ อนุตฺตรํ วิเวกสุขํ เทเสติ
    ฎีกาจารย์ได้ขยายความออกไปว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ากำลังทรงแสดงธรรม ขณะที่บริษัทให้สาธุการหรือพิจารณาธรรมตามที่ได้ฟังแล้ว จะทรงงดแสดงธรรมขั้นต้นไว้ชั่วคราวก่อน ทรงเข้าผลสมาบัติและทรงออกจากสมาบัติตามที่ทรงกำหนดไว้แล้ว จึงจะทรงแสดงธรรม ต่อจากที่ได้หยุดพักไว้.

               ก็แล พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงความสุขอันเกิดจากวิเวกนั้นน้อยบ้าง มากบ้าง ก็ทรงแสดงเฉพาะประการที่มีความงามในเบื้องต้นเป็นต้นเท่านั้น.
               มีคำอธิบายว่า ทรงแสดงทำให้งามคือดี ได้แก่ไม่ให้มีโทษเลยทั้งในเบื้องต้น ทรงแสดงทำให้งามคือดี ได้แก่ไม่ให้มีโทษเลยทั้งในท่ามกลางทั้งในที่สุด.
               ในข้อนั้นมีอธิบายว่า เบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุดของเทศนามีอยู่ เบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุดของศาสนา (คำสอน) ก็มีอยู่.
               สำหรับเทศนาก่อน ในคาถา ๔ บท บทที่ ๑ ชื่อว่าเป็นเบื้องต้น สองบทจากนั้นชื่อว่าเป็นท่ามกลาง บาทเดียวในตอนท้ายชื่อว่าเป็นที่สุด. สำหรับพระสูตรที่มีอนุสนธิเดียว คำขึ้นต้นเป็นเบื้องต้น คำลงท้ายว่า อิทมโวจ เป็นที่สุด ระหว่างคำขึ้นต้นและคำลงท้ายทั้งสองเป็นท่ามกลาง. สำหรับพระสูตรหลายอนุสนธิ อนุสนธิแรกเป็นเบื้องต้น อนุสนธิสุดท้ายเป็นที่สุด อนุสนธิเดียวบ้าง สองอนุสนธิบ้าง อนุสนธิมาก (กว่า ๑ หรือ ๒) บ้างในตอนกลางเป็นท่ามกลางทั้งหมด.
               สำหรับศาสนา (คำสอน) ศีล สมาธิและวิปัสสนา ชื่อว่าเป็นเบื้องต้น. สมจริงดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ก็อะไรเป็นเบื้องต้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย ศีลที่บริสุทธิ์ดีและทิฏฐิที่ตรง (สัมมาทิฏฐิ) เป็นเบื้องต้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลายเป็นต้นดังนี้.
               ส่วนอริยมรรคที่ตรัสไว้อย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มัชฌิมาปฏิปทาที่ตถาคตตรัสรู้แล้วมีอยู่ ดังนี้ ชื่อว่าเป็นท่ามกลาง. ผลและนิพพาน ชื่อว่าเป็นที่สุด.
               ผล ท่านกล่าวว่าเป็นที่สุด ในประโยคนี้ว่า ดูก่อนพราหมณ์ เพราะเหตุนั้นแล ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์ นั่นเป็นฝั่ง นั่นเป็นที่สุด.
               นิพพาน ท่านกล่าวว่าเป็นที่สุด ในประโยคนี้ว่า ดูก่อนวิสาขะผู้มีอายุ ท่านอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ที่หยั่งลงในนิพพาน มีนิพพานเป็นที่ไปในเบื้องหน้า มีนิพพานเป็นที่สุด.
               ในที่นี้ ท่านประสงค์เอาเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุดของเทศนา. เพราะว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงธรรม ก็ทรงแสดงศีลในเบื้องต้น ทรงแสดงมรรคในท่ามกลาง แล้วทรงแสดงนิพพานในที่สุด. ด้วยเหตุนั้น พระสังคีติกาจารย์จึงกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง (และ) งามในที่สุด.
               เพราะเหตุนั้น พระธรรมกถึกแม้รูปอื่นๆ เมื่อจะกล่าวธรรม
                         ก็พึงแสดงศีลในเบื้องต้น พึงแสดงมรรคในท่ามกลาง
                         พึงแสดงนิพพานในที่สุด นี้ชื่อว่าเป็นหลักที่ดีของพระ
                         ธรรมกถึก.

               บทว่า สาตฺถํ สพฺยญฺชนํ ความว่า ก็เทศนาของพระธรรมกถึกรูปใดอาศัยการพรรณนาถึงข้าวต้มข้าวสวย หญิงและชายเป็นต้น (อาศัยสิ่งเหล่านี้เป็นเหตุจูงใจจึงแสดง) พระธรรมกถึกนั้นไม่ชื่อว่าแสดงธรรมที่พรั่งพร้อมใจด้วยอรรถ (ประโยชน์) แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงละเทศนาเห็นปานนั้นเสีย ทรงแสดงเทศนาที่อาศัยสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น เพราะเหตุนั้น พระสังคีติกาจารย์จึงกล่าวว่า ทรงแสดงธรรมที่พรั่งพร้อมด้วยอรรถ (ประโยชน์)
               ส่วนเทศนาของพระธรรมกถึกรูปใดประกอบด้วยพยัญชนะประการเดียวเป็นต้นบ้าง มีพยัญชนะหายไปทุกตัวบ้าง ทิ้งพยัญชนะทั้งหมดและนิคหิตเป็นพยัญชนะไปหมดบ้าง เทศนาของพระธรรมกถึกรูปนั้น ชื่อว่าไม่มีพยัญชนะ เพราะมีพยัญชนะไม่ครบเหมือนภาษาของพวกชาวป่ามีชาวทมิฬ ชาวกิรายตนะและชาวโยนกเป็นต้น.
               แต่ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรม กระทำพยัญชนะให้บริบูรณ์ ไม่ทรงลบล้างพยัญชนะทั้ง ๑๐ ชนิดที่กล่าวไว้อย่างนี้ว่า
                         ความรู้เรื่องพยัญชนะมี ๑๐ ประการ
                         คือ สิถิล ๑ ธนิต ๑ ทีฆะ ๑ รัสสะ ๑
                         ลหุ ๑ ครุ ๑ นิคหิต ๑ สัมพันธ์ ๑
                         ววัฏฐิตะ ๑ วิมุตตะ ๑

               เพราะเหตุนั้น พระสังคีติกาจารย์จึงกล่าวว่า ทรงแสดงธรรมพรั่งพร้อมไปด้วยพยัญชนะ.
               คำว่า เกวลํ ในบทว่า เกวลปริปุณฺณํ นี้ เป็นคำใช้แทนคำว่า สกลํ หมายถึงทั้งหมด.
               บทว่า ปริปุณฺณํ หมายถึงไม่ขาดไม่เกิน. มีคำอธิบายดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมบริบูรณ์ทั้งหมดทีเดียว แม้เทศนาเรื่องเดียวที่ไม่บริบูรณ์ก็ไม่มี.
               บทว่า ปริสุทฺธํ ได้แก่ ไม่มีอุปกิเลส. อธิบายว่า พระธรรมกถึกรูปใดแสดงธรรมด้วยหวังว่า เราจักได้ลาภหรือสักการะเพราะอาศัยธรรมเทศนานี้ เทศนาของพระธรรมกถึกรูปนั้น ชื่อว่าไม่บริสุทธิ์.
               แต่ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงมุ่งหวังโลกามิส ทรงมีพระทัยอ่อนโยนด้วยการแผ่ประโยชน์เกื้อกูลด้วยการเจริญเมตตา ทรงแสดงธรรมด้วยพระทัยที่ดำรงอยู่ในการยกย่อง เพราะเหตุนั้น พระสังคีติกาจารย์จึงกล่าวว่า ทรงแสดงธรรมบริสุทธิ์.
               บทว่า พฺรหฺมจริยํ ในคำว่า พฺรหฺมจริยํ ปกาเสติ นี้ ได้แก่ ศาสนา (คำสอน) ทั้งหมดที่สงเคราะห์ลงในไตรสิกขา เพราะเหตุนั้น พระสังคีติกาจารย์จึงกล่าวว่า ทรงประกาศพรหมจรรย์.
               พึงเห็นเนื้อความในบทนี้อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น ฯลฯ บริสุทธิ์ และเมื่อทรงแสดงอย่างนี้ ชื่อว่าทรงประกาศศาสนพรหมจรรย์ทั้งสิ้นที่สงเคราะห์ลงในไตรสิกขา.
               บทว่า พฺรหฺมจริยํ ความว่า จริยาที่ชื่อว่าเป็นพรหม เพราะหมายความว่าประเสริฐที่สุด. อีกอย่างหนึ่ง มีคำอธิบายว่า จริยาของท่านผู้ประเสริฐทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ชื่อว่าพรหมจรรย์.
               บทว่า สาธุ โข ปน ความว่า ก็แล การเห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเป็นของดี. มีคำอธิบายว่า นำประโยชน์มาให้ นำความสุขมาให้.
               บทว่า ตถารูปานํ อรหตํ ความว่า พระอรหันต์ทั้งหลาย เช่น พระโคดมผู้เจริญเป็นบุคคลที่เห็นได้โดยยาก โดยใช้เวลานานถึงหลายแสนโกฏิกัป (จึงจะได้เห็น) มีสรีระดึงดูดใจแพรวพราวด้วยมหาปุริสลักษณะอันงามเลิศ ๓๒ ประการ ประดับประดาด้วยรัตนะคืออนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ แวดวงด้วยพระรัศมีที่แผ่ซ่านออกไปประมาณหนึ่งวา น่าทัศนาไม่น้อย มีกระแสเสียงแสดงธรรมไพเราะยิ่งนัก ได้เสียงเรียกขาน (นาม) ว่า เป็นพระอรหันต์ในโลก เพราะได้บรรลุคุณตามเป็นจริง.
               บทว่า ทสฺสนํ โหติ ความว่า แม้เพียงลืมนัยน์ตาที่เป็นประกายด้วยความเลื่อมใสเป็นต้นขึ้นดูก็ยังเป็นการดี เพราะทำอัธยาศัยอย่างนี้ว่า ก็ถ้าว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเช่นพระโคดมผู้เจริญแสดงธรรมอยู่ ด้วยพระสุรเสียงดุจเสียงพรหมซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘ เราทั้งหลายจักได้ฟังสักบทหนึ่งไซร้ ก็จักเป็นการดียิ่งขึ้นไปอีกทีเดียว.
               บทว่า เย ภควา เตนุปสงฺกมึสุ ความว่า ชาวเวนาคปุระทั้งหลายละทิ้งการงานทุกอย่างมีใจยินดี.
               ในบทว่า อญฺชลิมฺปณาเมตฺวา นี้มีอธิบายว่า ชนเหล่าใดเข้ากันได้กับทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งฝ่ายสัมมาทิฏฐิและมิจฉาทิฏฐิ ชนเหล่านั้นคิดอย่างนี้ว่า ถ้าพวกมิจฉาทิฏฐิจักทักท้วงพวกเราว่า เพราะเหตุไร ท่านทั้งหลายจึงกราบพระสมณโคดม เราทั้งหลายจักตอบพวกมิจฉาทิฏฐินั้นว่า แม้ด้วยเหตุเพียงทำอัญชลีก็จัดเป็นการกราบด้วยหรือ? ถ้าพวกสัมมาทิฏฐิจักท้วงพวกเราว่า เพราะเหตุไร ท่านทั้งหลายจึงไม่กราบพระผู้มีพระภาคเจ้า เราทั้งหลายจักตอบว่า เพราะศีรษะกระทบพื้นดินเท่านั้นหรือจึงจัดเป็นการกราบ แม้การประนมมือก็ถือเป็นการกราบเหมือนกันมิใช่หรือ?

               ประกาศชื่อและโคตร               
               บทว่า นามโคตฺตํ ความว่า ชาวเวนาคปุระทั้งหลายเมื่อกล่าวว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าชื่อทัตตะเป็นบุตรของคนโน้น ชื่อมิตตะ เป็นบุตรคนโน้น มาในที่นี้ดังนี้ ชื่อว่าประกาศชื่อ. เมื่อกล่าวว่า ข้าแต่พระโคมผู้เจริญ ข้าพเจ้าชื่อวาเสฏฐะ ข้าพเจ้าชื่อกัจจายนะ มาในที่นี้ดังนี้ ชื่อว่าประกาศโคตร.
               เล่ากันว่า ชาวเวนาคปุระเหล่านั้นยากจน เป็นคนแก่ ทำอย่างนั้นก็ด้วยหวังว่า เราทั้งหลายจักปรากฏด้วยอำนาจชื่อและโคตรในท่ามกลางบริษัท. ก็แลชาวเวนาคปุระเหล่าใดนั่งนิ่ง ชาวเวนาคปุระเหล่านั้นเป็นคนตระหนี่ เป็นคนโง่. บรรดาชนเหล่านั้น พวกที่ตระหนี่คิดว่า เมื่อเราทำการสนทนาปราศัยคำหนึ่ง สองคำ พระสมณโคดมก็จะคุ้นเคยด้วย เมื่อมีความคุ้นเคยจะไม่ให้ภิกษาหนึ่ง สองทัพพี ก็จะไม่เหมาะดังนี้ เมื่อจะปลีกตัวจากการสนทนาปราศัยนั้น จึงนั่งนิ่ง. พวกคนโง่นั่งนิ่งอยู่ในที่แห่งหนึ่งเหมือนก้อนดินที่ขว้างลง เพราะความที่ตนเป็นคนไม่รู้.
               บทว่า เวนาคปุริโก ได้แก่ ชาวเมืองเวนาคบุรี.
               บทว่า เอตทโวจ ความว่า ชาวเมืองเวนาคบุรีมองดูพระสรีระของพระตถาคตเจ้า ตั้งแต่ปลายพระบาทขึ้นไปจนถึงปลายพระเกศา ก็เห็นพระสรีระของพระตถาคตเจ้าประดับประดาด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ซึ่งรุ่งเรืองด้วยอนุพยัญชนะ ๘๐ แวดล้อมด้วยพระพุทธรัศมีสีเข้ม ๖ สีซึ่งเปล่งออกจากพระสรีระไปครอบคลุมประเทศโดยรอบให้ ๘๐ ศอก จึงเกิดความพิศวงงงงวย เมื่อจะกล่าวสรรเสริญคุณจึงได้กล่าวอย่างนี้ คือได้กล่าวคำมี อาทิว่า อจฺฉริยํ โภ โคตม.

               จิตผ่องใสทำให้อินทรีย์ ๕ ผ่องใส               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยาวญฺจิทํ นี้ เป็นคำบ่งถึงการกำหนดมีประมาณยิ่ง.
               บทว่า ยาวญฺจิทํ นั้น สัมพันธ์เข้ากับบทว่า วิปฺปสนฺนํ.และ (อินทรีย์ทั้งหลาย) ผ่องใสเพียงใด ชื่อว่าผ่องใสอย่างยิ่ง. อธิบายว่า ผ่องใสยิ่งนัก.
               บทว่า อินฺทฺริยานิ ได้แก่ อินทรีย์ ๖ มีจักษุเป็นต้น ก็ความที่อินทรีย์ ๖ นั้นผ่องใสได้ปรากฏแล้วแก่พราหมณ์วัจฉโคตร เพราะได้เห็นความที่โอกาสที่อินทรีย์ ๕ ตั้งอยู่ผ่องใส. ก็เพราะเหตุที่ความผ่องใสนั้นย่อมผ่องใสที่ใจนั่นเอง เพราะสำหรับบุคคลผู้มีจิตไม่ผ่องใส ก็จะมีอินทรีย์ไม่ผ่องใสฉะนั้น แม้ความผ่องใสแห่งมนินทรีย์ก็ได้ปรากฏแก่พราหมณ์วัจฉโคตรนั้น.
               พราหมณ์วัจฉโคตรมุ่งเอาความที่อินทรีย์ ๖ ผ่องใสอย่างนี้นั้น จึงกล่าวว่า วิปฺปสนฺนานิ อินฺทฺริยานิ.
               บทว่า ปริสุทฺโธ ได้แก่ ไม่มีมลทิน.
               บทว่า ปริโยทาโต ได้แก่ ผุดผ่อง.
               บทว่า สารทํ พทรปณฺฑุํ ได้แก่ ผลพุทราสุกเต็มที่ซึ่งเกิดในสรทกาล. แท้จริง ผลพุทราสุกจัดนั้น มีทั้งใสทั้งผุดผ่อง.
               บทว่า ตาลปกฺกํ ได้แก่ ผลตาลสุกจัด.
               บทว่า สมฺปติ พนฺธนา ปมุตฺตํ ได้แก่ หลุดจากขั้วในขณะนั้นนั่นเอง. อธิบายว่า เนื้อที่เพียง ๔ องคุลีของผลตาลสุกนั้นที่บุคคลปลิดออกจากขั้วทะลาย แล้วหงายหน้าขึ้นวางไว้บนแผ่นกระดาน ย่อมปรากฏเป็นสีสดใสผุดผ่องแก่บุคคลผู้แลดู.
               พราหมณ์วัจฉโคตรหมายเอาผลตาลสุกนั้นแล จึงกล่าวอย่างนี้.
               บทว่า เนกฺขํ ชมฺโพนทํ ได้แก่ แท่งทองชมพูนุทซึ่งมีสีแดงกล่ำ
               บทว่า ทกฺขกมฺมารปุตฺตสุปริกมฺมกตํ ได้แก่ อันบุตรนายช่างทองผู้ฉลาดตกแต่งไว้ดีแล้ว.
               บทว่า อุกฺกามุเข สุกุลสมฺปหฏฺฐํ ความว่า ทองชมพูนุทอันนายช่างทองผู้มีฝีมือ หลอมในเตาของนายช่างทองแล้วขัดอย่างดี ด้วยการตี การรีดและการบุนวด. อธิบายว่า ขัดนวดให้ได้ที่ด้วยดี.
               บทว่า ปณฺฑุกมฺพเล นิกฺขิตฺตํ ความว่า อันนายช่างทองผู้มีฝีมือ ใช้ไฟลน ขัดถูด้วยเขี้ยวเสือเหลือง เอายางไม้ทาแล้ววางไว้บนผ้ากัมพลสีแดง.
               บทว่า ภาสเต ได้แก่ เปล่งแสงเพราะมีแสงเกิดเอง.
               บทว่า ตปเต ได้แก่ ส่องสว่าง เพราะกำจัดความมืด.
               บทว่า วิโรจติ ได้แก่ แผ่ไพโรจน์โชติช่วง. อธิบายว่า สง่างาม.
               ในบทว่า อุจฺจาสยนมหาสยนานิ นี้มีอธิบายดังต่อไปนี้
               ที่นอน (สูง) เกินขนาด ชื่อว่าที่นอนสูง. ที่นอนที่เป็นอกัปปิยภัณฑ์ (ของที่ไม่ควรแก่สมณะ) ทั้งยาวและกว้าง ชื่อว่าที่นอนใหญ่.
               บัดนี้ เมื่อจะแสดงที่นอนสูงและที่นอนใหญ่นั้น พราหมณ์วัจฉโคตรจึงกล่าวคำว่า เสยฺถีทํ อาสนฺทิ เป็นต้น.

               อธิบายเรื่องอาสนะเป็นต้น               
               ในคำว่า อาสนฺทิ เป็นต้นนั้นมีอธิบายดังต่อไปนี้
               ที่ชื่อว่าอาสันทิ ได้แก่ อาสนะ (ที่นั่ง) เกินขนาด ที่ชื่อว่าบัลลังก์ ได้แก่ บัลลังก์ (เตียงหรือแท่น) ที่เขาทำโดยติดรูปสัตว์ร้ายไว้ที่เท้า.
               ที่ชื่อว่า โคณกะ ได้แก่ ผ้าโกเชาว์ผืนใหญ่ที่มีขนยาว. เล่ากันว่า ขนของผ้าโกเชาว์ผืนใหญ่นั้น (ยาว) เกิน ๔ นิ้ว.
               ที่ชื่อว่า จิตติกา ได้แก่ เครื่องลาดขนแกะวิจิตรด้วยรัตนะ.
               ที่ชื่อว่า ปฏิกา ได้แก่ เครื่องลาดสีขาวทำจากขนแกะ.
               ที่ชื่อว่า ปฏลิกา ได้แก่ เครื่องลาดขนแกะมีดอกหนา ซึ่งเรียกว่าแผ่นมะขามป้อมบ้าง.
               ที่ชื่อว่า ตูลิกา ได้แก่ เครื่องลาดทำจากสำลี ซึ่งยัดเต็มด้วยสำลีชนิดใดชนิดหนึ่งในสำลี ๓ ชนิด.
               ที่ชื่อว่า วิกติกา ได้แก่ เครื่องลาดขนแกะซึ่งวิจิตรด้วยรูปราชสีห์ และเสือโคร่งเป็นต้น.
               ที่ชื่อว่า อุทธโลมี ได้แก่ เครื่องลาดขนแกะที่มีชายทั้งสองข้าง. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า เครื่องลาดขนแกะที่มีดอกนูนขึ้นข้างเดียว.
               ที่ชื่อว่า เอกันตโลมี ได้แก่ เครื่องลาดขนแกะที่มีชายข้างเดียว. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า เครื่องลาดขนแกะที่มีดอกนูนขึ้นทั้งสองข้าง.
               ที่ชื่อว่า กัฏฐิสสะ ได้แก่ เครื่องลาดทำจากไหม เย็บติดด้วยรัตนะ.
               ที่ชื่อว่า โกเสยยะ ได้แก่ เครื่องลาดทำจากเส้นไหม เย็บติดด้วยรัตนะเหมือนกัน.
               ที่ชื่อว่า กุตตกะ ได้แก่ เครื่องลาดขนแกะขนาด ที่นางระบำ ๑๖ นางใช้ยืนร่ายรำได้.
               ที่ชื่อว่า เครื่องลาดช้างเป็นต้น ได้แก่ เครื่องลาดที่ลาดบนหลังช้างเป็นต้น และเครื่องลาดที่ทำแสดงเป็นรูปช้างเป็นต้น.
               ที่ชื่อว่า อชินัปปเวณิ ได้แก่ เครื่องลาดที่เอาหนังเสือดาวมาเย็บทำโดยขนาดเท่าเตียง.
               บทที่เหลือมีความหมายดังกล่าวแล้วในตอนต้นนั่นเอง.
               บทว่า นิกามลาภี แปลว่า (พระสมณโคดมผู้เจริญ) มีปกติได้ตามปรารถนา คือมีปกตได้ที่นอนสูงและใหญ่ตามที่ต้องการๆ.
               บทว่า อกิจฺฉลาภี แปลว่า มีปกติได้โดยไม่ยาก.
               บทว่า อกสิรลาภี แปลว่า มีปกติได้ที่นอนอันไพบูลย์ คือมีปกติได้ที่นอนใหญ่.
               พราหมณ์วัจฉโคตรกล่าวหมายเอาว่า พระสมณโคดมผู้เจริญเห็นจะได้ที่นอนที่โอฬารทีเดียว. เล่ากันว่า พราหมณ์นี้ตระหนักในการนอน (ชอบนอน). เขาเห็นว่า อินทรีย์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าผ่องใสเป็นต้นสำคัญอยู่ว่า พระสมณโคดมนี้นั่งและนอนบนที่นอนสูง และที่นอนใหญ่เห็นปานนี้เป็นแน่แท้ ด้วยเหตุนั้น อินทรีย์ทั้งหลายของท่านจึงผ่องใส ผิวพรรณจึงบริสุทธิ์ผุดผ่อง จึงได้กล่าวสรรเสริญคุณของเสนาสนะนี้.
               ในบทว่า ลทฺธา จ ปน น กปฺปนฺติ นี้ มีอธิบายว่า เพราะพระบาลีว่า เครื่องลาดบางอย่างใช้ได้. อธิบายว่า เครื่องลาดแกมไหมล้วนจะปูลาดแม้บนเตียงก็ใช้ได้ เครื่องลาดทำด้วยผ้าขนสัตว์เป็นต้น จะปูลาดโดยใช้เป็นเครื่องปูพื้นก็ใช้ได้ จะตัดเท้าของอาสันทิ (แล้วนั่ง) ก็ได้ จะทำลายรูปสัตว์ร้ายของแท่น (แล้วนั่ง) ก็ได้ จะฉีกอาสนะยัดนุ่นเอามาทำเป็นหมอนก็ได้ ดังนี้ เครื่องลาดแม้เหล่านี้จึงควรโดยวิธีเดียวกัน แต่เพราะอาศัยสิ่งที่เป็นอกัปปิยะ เครื่องลาดทั้งหมดนั่นแหละ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าไม่สมควร.
               บทว่า วนนฺตํเยว ปจารยามิ ความว่า เราตถาคตเข้าไปสู่ป่าทีเดียว.
               บทว่า ยเทว คือ ยานิเยว (แปลว่า เหล่าใด).
               บทว่า ปลฺลงฺกํ อาภุชิตฺวา คือ นั่งให้อาสนะติดกับขาอ่อนชิดกันไปโดยชอบ.
               บทว่า อุชุํ กายํ ปณิธาย คือ ตั้งกายให้ตรง ให้กระดูกสันหลัง ๑๘ ข้อ เอาปลายจรดปลายกัน.
               บทว่า ปริมุขํ สตึ อุปฏฺฐเปตฺวา ความว่า ตั้งสติมุ่งตรงต่อพระกัมมัฏฐาน หรือทำการกำหนดและการนำออก (จากทุกข์) ให้ปรากฏชัด.
               สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ดังนี้ว่า
               ศัพท์ว่า ปริ มีความหมายว่ากำหนด. ศัพท์ว่า มฺขํ มีความหมายว่านำออก. ศัพท์ว่า สติ มีความหมายว่าตั้งมั่น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ตั้งสติไว้เฉพาะหน้า.
               บทว่า อุปสมฺปชฺช วิหรามิ ความว่า เราตถาคตได้ คือทำให้ประจักษ์อยู่.

               พระพุทธเจ้าเข้าฌานเดินจงกรม               
               บทว่า เอวมฺภูโต ความว่า (เราตถาคต) เป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยฌานใดฌานหนึ่งในบรรดาฌานมีปฐมฌานเป็นต้นอย่างนี้.
               บทว่า ทิพฺโพ เม เอโส ตสฺมึ สมเย จงฺกโม โหติ ความว่า ก็การจงกรมทิพย์ แม้เมื่อเราตถาคตออกจากสมาบัติเดินจงกรม การจงกรม (นั้น) ชื่อว่าเป็นการจงกรมทิพย์เหมือนกัน.
               แม้ในอิริยาบถทั้งหลายมีการยืนเป็นต้นก็มีนัยนี้แล.
               ในการอยู่ ๒ อย่างนอกนี้ก็เหมือนกัน.
               บทว่า โส เอวํ ปชานามิ ราโค เม ปหีโน ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงราคะที่ละได้แล้วด้วยอรหัตมรรค ณ มหาโพธิบัลลังก์นั่นเอง จึงตรัสว่า โส เอวํ ปชานามิ ราโค เม ปหีโน ดังนี้.
               แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้แล.
               อนึ่ง ถามว่า ด้วยบทนี้เป็นอันตรัสถึงอะไร (ตอบว่า) พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงการพิจารณา (ปัจจเวกขณญาณ).
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงผลสมาบัติด้วยการพิจารณาแท้จริง อิริยาบถมีการจงกรมเป็นต้นของพระอริยผู้เข้าผลสมาบัติก็ดี ผู้ออกจากสมาบัติก็ดี ชื่อว่าเป็นจงกรมของพระอริยะเป็นต้น.
               บทที่เหลือในสูตรนี้ง่ายทั้งหมดแล.

               จบอรรถกถาเวนาคสูตรที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ มหาวรรคที่ ๒ ๓. เวนาคสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 502อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 503อ่านอรรถกถา 20 / 504อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=4739&Z=4854
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=4248
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=4248
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :