ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 62อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 72อ่านอรรถกถา 20 / 82อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอกธัมมาทิบาลี
กัลยาณมิตตตาทิวรรคที่ ๘

               อรรถกถากัลยาณมิตตตาทิวรรคที่ ๘               
               อรรถกถาสูตรที่ ๑               
               สูตรที่ ๑ แห่งวรรคที่ ๘ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า กลฺยาณมิตฺตตา ความว่า ชื่อว่ากัลยาณมิตร เพราะมีมิตรดี. ภาวะแห่งความเป็นผู้มีกัลยาณมิตรนั้น ชื่อว่ากัลยาณมิตตตา ความเป็นผู้มีมิตรดี.
               คำที่เหลือพึงทราบโดยนัยที่ตรงกันข้ามกับคำดังกล่าวนี้.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๑               

               อรรถกถาสูตรที่ ๒               
               ในสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อนุโยโค ได้แก่ การประกอบ การประกอบทั่ว.
               บทว่า อนนุโยโค ได้แก่ การไม่ประกอบ การไม่ประกอบทั่ว.
               บทว่า อนุโยคา แปลว่า เพราะการประกอบเนืองๆ.
               บทว่า อนนุโยคา แปลว่า เพราะไม่ประกอบเนืองๆ.
               บทว่า กุสลานํ ธมฺมานํ ได้แก่ กุศลธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๔.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๒               

               อรรถกถาสูตรที่ ๓               
               ในสูตรที่ ๓ มีเนื้อความง่ายทั้งนั้น
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๓               

               อรรถกถาสูตรที่ ๔               
               ในสูตรที่ ๔ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า โพชฺฌงฺคา ได้แก่ ธรรม ๗ ประการอันเป็นองค์คุณของสัตว์ผู้ตรัสรู้.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะเป็นองค์แห่งธรรมสามัคคีเครื่องตรัสรู้อันเป็นเหตุออกจากวัฏฏะ หรือทำให้แจ้งสัจจะ ๔ ของสัตว์ผู้ตรัสรู้นั้น.
               บทว่า โพชฺฌงฺคา ความว่า ชื่อว่าโพชฌงค์ ด้วยอรรถว่ากระไร?
               ที่ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะเป็นองค์แห่งธรรมสามัคคีเครื่องตรัสรู้. ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะองค์แห่งธรรมสามัคคีเครื่องตรัสรู้ตาม. ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะเป็นองค์แห่งธรรมสามัคคีเครื่องตรัสรู้เฉพาะ. ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะเป็นองค์แห่งธรรมสามัคคีเครื่องตรัสรู้พร้อม. ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะเป็นไปพร้อม ด้วยปัญญาเครื่องตรัสรู้.
               ก็บท (ว่าโพชฌงค์) นี้ ท่านจำแนกไว้แล้วด้วยประการฉะนี้.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๔               

               อรรถกถาสูตรที่ ๕               
               ในสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               ด้วยบทนี้ว่า ภาวนาปาริปูรึ คจฺฉนฺติ ย่อมถึงความเจริญเต็มที่ ดังนี้ ท่านกล่าวถึงภูมิพร้อมด้วยกิจตามความเป็นจริงแห่งโพชฌงค์.
               ก็ภูมินี้นั้นมี ๔ อย่าง คือวิปัสสนา ๑ ฌานที่เป็นบาทแห่งวิปัสสนา ๑ มรรค ๑ ผล ๑.
               ใน ๔ อย่างนั้น ในเวลาที่เกิดในวิปัสสนา โพชฌงค์จัดเป็นกามาวจร. ในเวลาที่เกิดในฌานอันเป็นบาทของวิปัสสนา โพชฌงค์เป็นรูปาวจรและอรูปาวจร. ในเวลาที่เกิดในมรรคและผล โพชฌงค์เป็นโลกุตตระ.
               ดังนั้น ในสูตรนี้ ท่านจึงกล่าวโพชฌงค์ว่า เป็นไปในภูมิทั้ง ๔.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๕               

               อรรถกถาสูตรที่ ๖               
               ในสูตรที่ ๖ มีความย่อเหตุที่เกิดเรื่อง.
               ก็ในเหตุที่เกิดเรื่อง ท่านตั้งเรื่องไว้ดังต่อไปนี้ :-
               ภิกษุมากรูปนั่งประชุมกันในโรงธรรม ท่านเกิดสนทนาปรารภพันธุลมัลลเสนาบดีขึ้นในระหว่าง ดังนี้ว่า อาวุโส ตระกูลชื่อโน้นเมื่อก่อนได้มีหมู่ญาติเป็นอันมาก มีสมัครพรรคพวกมาก บัดนี้มีญาติน้อย มีสมัครพรรคพวกน้อย.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบวาระจิตของภิกษุเหล่านั้น ทรงทราบว่า เมื่อเราไป (ที่นั้น) จักมีเทศน์กัณฑ์ใหญ่จึงเสด็จออกจากพระคันธกุฎี ประทับนั่งบนบวรพุทธอาสน์ ที่เขาตกแต่งไว้ในโรงธรรม แล้วตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งประชุมด้วยเรื่องอะไรกัน.
               พวกภิกษุกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เรื่องคามนิคมเป็นต้นอย่างอื่นย่อมไม่มี แต่ตระกูลชื่อโน้น เมื่อก่อนมีญาติมาก มีสมัครพรรคพวกมาก บัดนี้มีญาติน้อย มีสมัครพรรคพวกน้อย พวกข้าพระองค์ นั่งประชุมสนทนากันดังนี้.
               พระศาสดาทรงปรารภสูตรนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อมนี้มีประมาณน้อย ดังนี้ ในเมื่อเกิดเรื่องนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปฺปมตฺติกา ได้แก่ น้อยคือมีประมาณน้อย.
               จริงอยู่ ด้วยความเสื่อมนี้ ท่านกล่าวคำมีอาทิว่า ความเสื่อมจากสวรรค์ หรือจากมรรคย่อมไม่มี นั่นเป็นเพียงความเสื่อมในปัจจุบันเท่านั้น.
               บทว่า เอตํ ปติกิฏฺฐํ ความว่า นี้เป็นของที่เลวร้าย นี้เป็นของต่ำทราม.
               บทว่า ยทิทํ ปญฺญาปริหานิ ความว่า ความเสื่อมแห่งกัมมัสสกตปัญญา ฌานปัญญา วิปัสสนาปัญญา มรรคปัญญาและผลปัญญาในศาสนาของเรา เป็นความเสื่อมที่เลวร้าย เป็นความเสื่อมที่ต่ำทราม เป็นความเสื่อมที่ควรละทิ้งเสีย.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๖               

               อรรถกถาสูตรที่ ๗               
               ในสูตรที่ ๗ ท่านกล่าวไว้แล้ว ในเหตุเกิดเรื่องเหมือนกัน.
               ได้ยินว่า บรรดาภิกษุสงฆ์ผู้นั่งประชุมกันในโรงธรรม บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า ตระกูลชื่อโน้น เมื่อก่อนมีญาติน้อย พวกน้อย บัดนี้ตระกูลนั้นมีญาติมาก มีพวกมาก หมายเอาตระกูลนั้น จึงกล่าวอย่างนี้แล.
               คือ หมายถึงนางวิสาขาอุบาสิกาและเจ้าลิจฉวีในกรุงเวสาลี.
               พระศาสดาทรงทราบวาระจิตของภิกษุเหล่านั้นจึงเสด็จมาโดยนัยก่อนนั่นแล ประทับนั่งบนธรรมาสน์ ตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร?
               ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบตามความเป็นจริงแล้ว.
               พระศาสดาทรงเริ่มพระสูตรนี้เพื่อเหตุเกิดเรื่องนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปฺปมตฺติกา ความว่า ชื่อว่าน้อย เพราะไม่มีผู้อาศัยสมบัตินั้นแล้ว ถึงสวรรค์หรือมรรคได้.
               บทว่า ยทิทํ ปญฺญาวุฑฺฒิ ได้แก่ ความเจริญแห่งกัมมัสสกตปัญญาเป็นต้น.
               บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะชื่อว่าความเจริญแห่งญาติเป็นเพียงปัจจุบันเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่สามารถให้ถึงสวรรค์ หรือมรรคได้.
               บทว่า ปญฺญาวุฑฺฒิยา ได้แก่ ด้วยความเจริญแห่งปัญญามีกัมมัสสกตปัญญาเป็นต้น.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๗               

               อรรถกถาสูตรที่ ๘               
               สุตรที่ ๘ ท่านกล่าวไว้ในเหตุเกิดเรื่องเหมือนกัน.
               ได้ยินว่า ภิกษุมากรูปนั่งประชุมกันในโรงธรรม ปรารภบุตรของเศรษฐีผู้มีทรัพย์มาก กล่าวว่า ตระกูลชื่อโน้น เมื่อก่อนมีโภคะมาก มีเงินและทองมาก บัดนี้ตระกูลนั้นกลับมีโภคะน้อย.
               พระศาสดาเสด็จมาโดยนัยก่อนนั่นแหละ ทรงสดับคำของภิกษุเหล่านั้นแล้ว จึงทรงเริ่มพระสูตรนี้.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๘               

               อรรถกถาสูตรที่ ๙               
               แม้ในสูตรที่ ๙ ท่านก็กล่าวไว้ในเหตุเกิดเรื่องเหมือนกัน
               ได้ยินว่า พวกภิกษุนั่งประชุมกันในโรงธรรม ปรารภกากวลิยเศรษฐีและปุณณเศรษฐี กล่าวว่า ตระกูลชื่อโน้น เมื่อก่อนมีโภคะน้อย บัดนี้ตระกูลเหล่านั้นมีโภคะมาก.
               พระศาสดาเสด็จมาโดยนัยก่อนนั่นแล ทรงสดับคำของภิกษุเหล่านั้น จึงเริ่มพระสูตรนี้.
               คำที่เหลือในสูตรทั้ง ๒ นี้ พึงทราบโดยนัยดังกล่าวในหนหลังนั่นแล.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๙               

               อรรถกถาสูตรที่ ๑๐               
               แม้สูตรที่ ๑๐ ท่านกล่าวไว้แล้วในเหตุเกิดเรื่องเหมือนกัน.
               ได้ยินว่า ภิกษุทั้งหลายในโรงธรรมปรารภพระเจ้าโกศลมหาราช กล่าวว่า ตระกูลชื่อโน้น เมื่อก่อนมียศมาก มีบริวารมาก บัดนี้มียศน้อย มีบริวารน้อย.
               พระศาสดาเสด็จมาโดยนัยก่อนนั่นแล ทรงสดับคำของภิกษุเหล่านั้น จึงเริ่มเทศนานี้.
               คำที่เหลือพึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.

               จบอรรถกถาสูตรที่ ๑๐               
               จบอรรถกถากัลยาณมิตตตาทิวรรคที่ ๘               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอกธัมมาทิบาลี กัลยาณมิตตตาทิวรรคที่ ๘ จบ.
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 62อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 72อ่านอรรถกถา 20 / 82อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=291&Z=331
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=14&A=1708
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=14&A=1708
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๒  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :