ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 135อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 139อ่านอรรถกถา 20 / 146อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต
เอกบุคคลบาลี

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               อรรถกถาสูตรที่ ๒               
               ในสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ปาตุภาโว ได้แก่ การเกิดขึ้น คือการสำเร็จ.
               บทว่า ทุลฺลโภ โลกสฺมึ ได้แก่ หาได้ยาก คือหาได้โดยยากยิ่งในสัตวโลกนี้.
               ที่ชื่อว่าหาได้ยาก เพราะเหตุไร? เพราะพระองค์ไม่อาจบำเพ็ญทานบารมีคราวเดียวแล้วได้เป็นพระพุทธเจ้า.
               อนึ่ง พระองค์ไม่ทรงสามารถบำเพ็ญทานบารมี ๒ ครั้ง ๑๐ ครั้ง ๒๐ ครั้ง ๕๐ ครั้ง ๑๐๐ ครั้ง ๑,๐๐๐ ครั้ง โกฏิครั้ง แสนโกฏิครั้ง ไม่ทรงสามารถบำเพ็ญทานบารมีได้ ๑ วัน ๒ วัน ๑๐ วัน ๒๐ วัน ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน ๑,๐๐๐ วัน ๑๐๐,๐๐๐ วัน แสนโกฏิวัน ฯลฯ ๑ เดือน ๑ ปี ๒ ปี ฯลฯ แสนโกฏิปี ๑ กัป ๒ กัป ฯลฯ แสนโกฏิกัป พระองค์ไม่สามารถบำเพ็ญทานบารมี ๑ อสงไขย ๒ อสงไขย ๓ อสงไขยแห่งกัป แล้วเป็นพระพุทธเจ้าได้.
               แม้ในศีลบารมี เนกขัมมบารมี ฯลฯ อุเบกขาบารมี ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               แต่ครั้งสุดท้าย พระองค์ทรงบำเพ็ญบารมี ๑๐ สิ้น ๔ อสงไขยกำไรแสนกัป แล้วจึงสามารถเป็นพระพุทธเจ้าได้ ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ พระองค์จึงชื่อว่า หาได้ยาก.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๒               

               อรรถกถาสูตรที่ ๓               
               ในสูตรที่ ๓ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อจฺฉริยมนุสฺโส แปลว่า มนุษย์อัศจรรย์.
               บทว่า อจฺฉริโย ความว่า ไม่มีเป็นนิตย์เหมือนตาบอดขึ้นภูเขา.
               นัยแห่งศัพท์เท่านี้ก่อน แต่นัยแห่งอรรถกถาดังต่อไปนี้.
               ชื่อว่าอัจฉริยะ เพราะควรแก่การปรบมือ. อธิบายว่า ควรปรบมือแล้วมองดู.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่ามนุษย์อัศจรรย์ แม้เพราะประกอบด้วยธรรมอันไม่เคยมี น่าอัศจรรย์หลายประการมีอาทิอย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันไม่เคยมีน่าอัศจรรย์ ๔ ประการ ย่อมมีปรากฏ เพราะพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าปรากฏ.
               ชื่อว่าอัจฉริยมนุษย์ เพราะเป็นมนุษย์ที่เคยสั่งสมมาก็มี.
               จริงอยู่ การที่พระองค์ทรงประชุมธรรม ๘ ประการอันจะทำให้อภินีหารเพียบพร้อม แล้วทรงผูกพระมนัสประทับนั่ง ณ มหาโพธิมัณฑสถาน ต่อพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ใครๆ อื่นมิได้เคยสั่งสมมาเลย พระสัพพัญญูโพธิสัตว์พระองค์เดียวเท่านั้นสั่งสมมา.
               อนึ่ง แม้การที่พระองค์ได้รับพยากรณ์ในสำนักพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้ไม่หวนกลับหลัง อธิษฐานความเพียรแล้วบำเพ็ญพุทธการกธรรม ใครๆ อื่นมิได้เคยสั่งสมมาเลย พระสัพพัญญูโพธิสัตว์เท่านั้นเคยสั่งสมมา.
               อนึ่ง พระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมีให้แก่กล้า (ยังพระบารมีให้ถือเอาห้อง) ดำรงอยู่ในอัตภาพเช่นเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร บำเพ็ญสัตตสตกมหาทาน (ของ ๗ สิ่ง สิ่งละ ๗๐๐) มีอาทิอย่างนี้ คือ ช้าง ๗๐๐ ม้า ๗๐๐ ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ มอบพระโอรสเช่นพระชาลีกุมาร พระธิดา เช่นกัณหาชินา และพระเทวีเช่นพระนางมัทรี ไว้ในมุขแห่งทาน ดำรงอยู่ตลอดอายุในอัตภาพที่ ๒ ทรงถือปฏิสนธิในภพชั้นดุสิต ซึ่งใครๆ อื่นมิได้เคยสั่งสมมาเลย พระสัพพัญญูโพธิสัตว์เท่านั้นเคยสั่งสมมา.
               แม้การที่พระองค์ทรงดำรงอยู่ในภพชั้นดุสิตตลอดอายุ ทรงรับการเชิญของเทวดาทั้งหลาย ทรงตรวจดูมหาวิโลกิตะ ๕ อย่าง ทรงมีพระสติและสัมปชัญญะ จุติจากดุสิต ถือปฏิสนธิในตระกูลที่มีโภคะมาก ซึ่งใครๆ อื่นมิได้เคยสั่งสมมาเลย พระสัพพัญญูโพธิสัตว์เท่านั้นเคยสั่งสมมา.
               อนึ่ง หมื่นโลกธาตุไหวในวันถือปฏิสนธิก็ดี การที่พระองค์ทรงมีพระสติสัมปชัญญะอยู่ในพระครรภ์ของพระมารดาก็ดี การที่หมื่นโลกธาตุไหว แม้ในวันที่พระองค์ทรงมีพระสติสัมปชัญญะเสด็จออกจากพระครรภ์ของพระมารดาก็ดี การที่พระองค์ประสูติในเดี๋ยวนี้แล้วเสด็จย่างพระบาทได้ ๗ ก้าวก็ดี การกางกั้นเศวตฉัตรอันเป็นทิพย์ก็ดี การโบกพัดด้วยวาลชนีอันเป็นทิพย์ก็ดี การที่พระองค์ทรงเหลียวดูอย่างสีหะไปใน ๔ ทิศ ไม่ทรงเห็นสัตว์ไรๆ ที่จะเสมอเหมือนพระองค์ แล้วทรงบันลือสีหนาทอย่างนี้ว่า เราเป็นผู้เลิศของโลกก็ดี การที่หมื่นโลกธาตุไหว ในขณะที่พระองค์ทรงละราชสมบัติ เมื่อพระญาณแก่กล้าแล้วเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ก็ดี การที่พระองค์ประทับนั่งสมาธิ ณ มหาโพธิมัณฑสถาน ทรงชนะมารเป็นต้นไปแล้ว ทรงชำระปุพเพนิวาสานุสสติญาณ และทิพจักขุญาณ ทรงทำหมื่นโลกธาตุให้ไหว ขณะทรงแทงตลอดกองคุณคือพระสัพพัญญุตญาณ ในเวลาใกล้รุ่งก็ดี การประกาศพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยมซึ่งมีวนรอบ ๓ รอบด้วยปฐมเทศนาก็ดี
               ความอัศจรรย์ทั้งหมดดังกล่าวมาอย่างนี้เป็นต้น ใครๆ อื่นมิได้เคยสั่งสมมาเลย พระสัพพัญญูพุทธเจ้าเท่านั้นเคยสั่งสมมา.
               ชื่อว่า มนุษย์อัศจรรย์ เพราะเป็นมนุษย์เคยสั่งสมมาดังนี้บ้าง ด้วยประการอย่างนี้.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๓               

               อรรถกถาสูตรที่ ๔               
               ในสูตรที่ ๔ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า กาลกิริยา ความว่า ชื่อว่ากาลกิริยา เพราะกิริยาที่ปรากฏในกาลครั้งหนึ่ง.
               จริงอยู่ พระตถาคตทรงดำรงอยู่ ๔๕ พรรษา ทรงประกาศปิฎก ๓ นิกาย ๕ สัตถุศาสน์มีองค์ ๙ พระธรรมขันธ์ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ทรงกระทำมหาชนให้น้อมไปในพระนิพพาน โอนไปในพระนิพพาน บรรทมระหว่างไม้สาละทั้งคู่ ตรัสเรียกภิกษุสงฆ์มา ทรงโอวาทด้วยความไม่ประมาท ทรงมีพระสติสัมปชัญญะเสด็จปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ.
               กาลกิริยานี้ของพระตถาคตนั้นปรากฏมาจนกระทั่งกาลวันนี้ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่ากาลกิริยา เพราะเป็นกิริยาที่ปรากฏในเวลาหนึ่ง.
               บทว่า อนุตปฺปา โหติ แปลว่า กระทำความเดือดร้อนตาม (ภายหลัง).
               ในข้อนั้น กาลกิริยาของพระเจ้าจักรพรรดิ กระทำความเดือดร้อนตามแก่เทวดาและมนุษย์ในหนึ่งจักรวาล. กาลกิริยาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย กระทำความเดือดร้อนตามแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายในหมื่นจักรวาล ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า กระทำความเดือดร้อนตามแก่ชนมาก ดังนี้.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๔               

               อรรถกถาสูตรที่ ๕               
               ในสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อทุติโย ความว่า ที่ชื่อว่า อทุติโย เพราะไม่มีพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๒.
               จริงอยู่ พระพุทธะมี ๔ คือ สุตพุทธะ จตุสัจจพุทธะ ปัจเจกพุทธะ สัพพัญญูพุทธะ.
               ในพุทธะ ๔ นั้น ภิกษุผู้เป็นพหูสูต (มีพุทธพจน์อันสดับแล้วมาก) ชื่อว่าสุตพุทธะ. ภิกษุผู้เป็นพระขีณาสพ (นี้อาสวะสิ้นแล้ว) ชื่อว่าจตุสัจจพุทธะ. พระองค์ผู้บำเพ็ญบารมีสองอสงไขย กำไรแสนกัป แล้วแทงตลอดปัจเจกพุทธญาณ ชื่อว่าปัจเจกพุทธะ. พระองค์ผู้บำเพ็ญบารมี ๔-๘-๑๖ อสงไขย กำไรแสนกัป แล้วย่ำยีกระหม่อมแห่งมารทั้ง ๓ แทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณ ชื่อว่าสัพพัญญูพุทธะ.
               ในพุทธะ ๔ เหล่านี้ พระสัพพัญญูพุทธะชื่อว่าไม่มีพระองค์ที่ ๒. ธรรมดาว่าพระสัพพัญญูพุทธะพระองค์อื่นจะเสด็จอุบัติร่วมกับพระสัพพัญญูพุทธะพระองค์นั้นก็หาไม่.
               บทว่า อสหาโย ความว่า ชื่อว่าไม่มีสหาย เพราะท่านไม่มีสหายผู้เช่นกับด้วยอัตภาพ หรือด้วยธรรมที่ทรงแทงตลอดแล้ว. ก็พระเสขะและพระอเสขะ ชื่อว่าเป็นสหายของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย โดยปริยายนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงได้เสกขปฏิปทาและอเสกขปฏิปทาเป็นสหายแล.
               บทว่า อปฺปฏิโม (ไม่มีผู้เปรียบ) ความว่า อัตภาพเรียกว่ารูปเปรียบ. ชื่อว่าไม่มีผู้เปรียบ เพราะรูปเปรียบอื่นเช่นกับอัตภาพของท่านไม่มี.
               อีกอย่างหนึ่ง มนุษย์ทั้งหลายกระทำรูปเปรียบใดล้วนแล้วด้วยทองและเงินเป็นต้น ในบรรดารูปเปรียบเหล่านั้น ชื่อว่าผู้สามารถกระทำโอกาสแม้สักเท่าปลายขนทรายให้เหมือนอัตภาพของพระตถาคต ย่อมไม่มี เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าไม่มีผู้เปรียบแม้โดยประการทั้งปวง.
               บทว่า อปฺปฏิสโม (ไม่มีผู้เทียบ) ความว่า ชื่อว่าไม่มีผู้เทียบ เพราะใครๆ ชื่อว่าผู้จะเทียบกับอัตภาพของพระตถาคตนั้น ไม่มี.
               บทว่า อปฺปฏิภาโค (ไม่มีผู้เทียม) ความว่า ชื่อว่าไม่มีผู้เทียม เพราะธรรมเหล่าใดอันพระตถาคตทรงแสดงไว้ โดยนัยมีอาทิว่า สติปัฏฐานมี ๔ ขึ้นชื่อว่าผู้สามารถเพื่อจะทำเทียมในธรรมเหล่านั้นโดยนัยมีอาทิว่า น จตฺตาโร สติปฏฺฐานา ตโย วา ปญฺจ วา (สติปัฏฐานไม่ใช่ ๔ สติปัฏฐานมี ๓ หรือ ๕)
               บทว่า อปฺปฏิปุคฺคโล (ไม่มีบุคคลผู้แข่ง) ความว่า ชื่อว่าไม่มีบุคคลผู้แข่ง เพราะไม่มีบุคคลอื่นไรๆ ชื่อว่าสามารถเพื่อให้ปฏิญญาอย่างนี้ว่า เราเป็นพระพุทธเจ้า ดังนี้.
               บทว่า อสโม (ไม่มีผู้เสมอ) ความว่า ชื่อว่าผู้ไม่เสมอด้วยสัตว์ทั้งปวง เพราะไม่มีบุคคลเทียมนั่นเอง.
               บทว่า อสมสโม (ผู้เสมอกับบุคคลผู้ไม่มีใครเสมอ) ความว่า พระสัพพัญญูพุทธเจ้าทั้งหลายที่เป็นอดีตและอนาคต ท่านเรียกว่าไม่มีผู้เสมอ ผู้เสมอด้วยพระสัพพัญญูพุทธเจ้า ผู้ไม่มีใครๆ เสมอเหล่านั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าผู้เสมอกับบุคคลผู้ไม่มีใครเสมอ.
               บทว่า ทฺวิปทานํ อคฺโค ความว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นยอดของเหล่าสัตว์ผู้ไม่มีเท้า มี ๒ เท้า มี ๔ เท้า มีเท้ามาก สัตว์ผู้มีรูป ไม่มีรูป ผู้มีสัญญา ไม่มีสัญญา มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่.
               เพราะเหตุไร ในที่นี้ ท่านจึงกล่าวว่า เป็นยอดของเหล่าสัตว์ ๒ เท้า?
               เพราะเนื่องด้วยพระองค์เป็นผู้ประเสริฐกว่า.
               จริงอยู่ ธรรมดาว่า ท่านผู้ประเสริฐ เมื่อจะอุบัติในโลกนี้ หาอุบัติในสัตว์ไม่มีเท้า มี ๔ เท้าและมีเท้ามากไม่ ย่อมอุบัติเฉพาะในสัตว์ ๒ เท้าเท่านั้น.
               ในสัตว์ ๒ เท้าชนิดไหน? ในมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย.
               ก็เมื่อเสด็จอุบัติในหมู่มนุษย์ ย่อมอุบัติเป็นพระพุทธเจ้าผู้สามารถเพื่อทำสามพันโลกธาตุและหลายพันโลกธาตุ ให้อยู่ในอำนาจได้. เมื่ออุบัติในหมู่เทวดาย่อมอุบัติเป็นท้าวมหาพรหม ผู้ทำหมื่นโลกธาตุให้อยู่ในอำนาจได้. ท้าวมหาพรหมนั้นพร้อมที่จะเป็นกัปปิยการก หรือเป็นอารามิกของพระองค์ ดังนั้น ท่านจึงเรียกว่าเป็นยอดของสัตว์ ๒ เท้าด้วยอำนาจเป็นผู้ประเสริฐกว่ามนุษย์และเทวดาแม้นั้นทีเดียว.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๕               

               อรรถกถาสูตรที่ ๖ เป็นต้น               
               ในสูตรที่ ๖ เป็นต้นมีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า เอกปุคฺคลสฺส ภิกฺขเว ปาตุภาวา มหโต จกฺขุสฺส ปาตุภาโว โหติ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุใหญ่ย่อมปรากฏ เพราะพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นบุคคลเอกปรากฏ. เมื่อบุคคลนั้นปรากฏแล้ว แม้จักขุก็ย่อมปรากฏเหมือนกัน เพราะเว้นบุคคลปรากฏเสีย จักขุก็ปรากฏไม่ได้.
               บทว่า ปาตุภาโว ได้แก่ การอุบัติ คือความสำเร็จ.
               จักษุชนิดไหน? จักษุคือปัญญา.
               เสมือนเช่นไร? เสมือนวิปัสสนาปัญญาของพระสารีบุตรเถระ เสมือนสมาธิปัญญาของพระมหาโมคคัลลานเถระ. แม้ในอาโลกะ (การเห็น) เป็นต้นก็นัยนี้เหมือนกัน.
               จริงอยู่ ในการมองเห็นเป็นต้นนี้ ท่านประสงค์เอาการมองเห็นเช่นการมองเห็นด้วยปัญญา และแสงสว่างเช่นแสงสว่างแห่งปัญญาของพระอัครสาวกทั้งสอง.
               บทแม้ทั้ง ๓ นี้ คือแห่งดวงตาอันใหญ่ แห่งการมองเห็นอันใหญ่ แห่งแสงสว่างอันใหญ่ พึงทราบว่า ตรัสเจือกันทั้งโลกิยะและโลกุตตระ.
               บทว่า ฉนฺนํ อนุตฺตริยานํ ได้แก่ ธรรมอันสูงสุด ๖ อย่างที่ไม่มีธรรมอื่นยิ่งขึ้นไปกว่า.
               ในคำนั้นมีอธิบายว่า
               อนุตตริยะ ๖ เหล่านี้ คือ ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ ลาภานุตตริยะ สิกขานุตตริยะ ปาริจริยานุตตริยะ อนุสสตานุตตริยะ. ความปรากฏเกิดขึ้นแห่งอนุตตริยะ ๖ เหล่านี้จึงมี.
               จริงอยู่ ท่านพระอานนทเถระย่อมได้เห็นพระตถาคตด้วยจักขุวิญญาณทั้งเช้าทั้งเย็น นี้ชื่อว่าทัสสนานุตตริยะ. แม้คนอื่นไม่ว่าจะเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามีก็ย่อมได้เห็นพระตถาคตเหมือนพระอานันทเถระ แม้นี้ก็ชื่อว่าทัสสนานุตตริยะ.
               อนึ่ง บุคคลอื่นอีกผู้เป็นกัลยาณปุถุชน ก็ได้เห็นพระทศพลเหมือนพระอานนทเถระ ทำการเห็นนั้นให้เจริญ ย่อมบรรลุโสดาปัตติมรรค นี้ก็ชื่อว่าทัสสนะเหมือนกัน. ส่วนการเห็นเดิม ชื่อว่าทัสสนานุตตริยะ.
               จริงอยู่ บุคคลย่อมได้ฟังพระดำรัสของพระทศพลเนืองๆ ด้วยโสตวิญญาณ เหมือนพระอานนทเถระ นี้ชื่อสวนานุตตริยะ. แม้พระอริยบุคคลเหล่าอื่นมีพระโสดาบันเป็นต้นย่อมได้ฟังพระดำรัสของพระตถาคตเจ้า เหมือนพระอานนทเถระ แม้นี้ก็ชื่อว่าสวนานุตตริยะ. ส่วนบุคคลอื่นอีกผู้เป็นกัลยาณปุถุชนได้ฟังพระดำรัสของพระตถาคตเจ้า เหมือนพระอานนทเถระ เจริญสวนะนั้น ย่อมบรรลุโสดาปัตติมรรค นี้ก็ชื่อว่าสวนะเหมือนกัน. ส่วนการฟังเดิม ชื่อว่าสวนานุตตริยะ.
               บุคคลย่อมได้เฉพาะศรัทธาในพระทศพล เหมือนพระอานนทเถระนี้ ก็ชื่อว่าลาภานุตตริยะ. แม้บุคคลเหล่าอื่นมีพระโสดาบันเป็นต้นได้ลาภเฉพาะคือศรัทธาในพระทศพล เหมือนพระอานนทเถระ ย่อมได้ลาภเฉพาะ แม้นี้ก็ชื่อว่าลาภานุตตริยะ. ส่วนคนอื่นอีกเป็นกัลยาณปุถุชนได้ลาภเฉพาะคือศรัทธาในพระทศพล เหมือนพระอานนทเถระ เจริญลาภนั้น ย่อมบรรลุโสดาปัตติมรรค นี้ชื่อว่าการได้เหมือนกัน. ส่วนการได้อันเดิม ชื่อว่าลาภานุตตริยะ.
               อนึ่ง บุคคลศึกษาสิกขา ๓ ในพระศาสนาของพระทศพล เหมือนพระอานนทเถระ นี้ชื่อว่าสิกขานุตตริยะ. แม้พระอริยบุคคลเหล่าอื่นมีพระโสดาบันเป็นต้น ย่อมศึกษาสิกขา ๓ ในพระศาสนาของพระทศพล เหมือนพระอานนทเถระ แม้นี้ก็ชื่อว่าสิกขานุตตริยะ. ส่วนคนอื่นอีกผู้เป็นกัลยาณปุถุชนศึกษาสิกขา ๓ ในพระศาสนาของพระทสพล เหมือนพระอานนทเถระ เจริญสิกขา ๓ นั้นย่อมบรรลุโสดาปัตติมรรค นี้ชื่อว่าการศึกษาเหมือนกัน. ส่วนการศึกษาอันเดิม ชื่อว่าสิกขานุตตริยะ.
               อนึ่ง บุคคลปรนนิบัติพระทศพลเนืองๆ เหมือนพระอานนทเถระ นี้ชื่อว่าปาริจริยานุตตริยะ. แม้พระอริยบุคคลเหล่าอื่นมีพระโสดาบันเป็นต้นย่อมปรนนิบัติพระทศพลเนืองๆ แม้นี้ก็ชื่อว่าปาริจริยานุตตริยะ. ส่วนคนอื่นๆ ผู้เป็นกัลยาณปุถุชนปรนนิบัติพระทศพล เหมือนพระอานนทเถระ เจริญการปรนนิบัตินั้น ย่อมบรรลุโสดาปัตติมรรค นี้ชื่อว่าการปรนนิบัติเหมือนกัน. ส่วนการปรนนิบัติอันเดิม ชื่อว่าปาริจริยานุตตริยะ.
               บุคคลระลึกถึงเนืองๆ ถึงคุณอันเป็นโลกิยะและโลกุตตระของพระทศพล เหมือนพระอานนทเถระ นี้ชื่อว่าอนุสสตานุตตริยะ. แม้พระอริยบุคคลเหล่าอื่นมีพระโสดาบันเป็นต้นระลึกเนืองๆ ถึงคุณอันเป็นโลกิยะและโลกุตตระของพระทศพล เหมือนพระอานนทเถระ แม้นี้ก็ชื่อว่าอนุสสตานุตตริยะ. ส่วนคนอื่นอีกเป็นกัลยาณปุถุชนระลึกเนืองๆ ถึงคุณอันเป็นโลกิยะและโลกุตตระของพระทศพล เหมือนพระอานนทเถระ เจริญการระลึกเนืองๆ นั้นย่อมบรรลุโสดาปัตติมรรค นี้ชื่อว่าอนุสสติ เหมือนกัน. ส่วนอนุสสติเดิม ชื่อว่าอนุสสตานุตตริยะ
               ดังพรรณนามานี้ คืออนุตตริยะ ๖. อนุตตริยะ ๖ เหล่านี้ย่อมปรากฏ
               อนุตตริยะ ๖ เหล่านี้ พึงทราบว่า ท่านกล่าวเจือปนกันทั้งโลกิยะและโลกุตตระ.
               บทว่า จตุนฺนํ ปฏิสมฺภิทานํ สจฺฉิกิริยา โหติ ความว่า ก็ปฏิสัมภิทา ๔ คือ อรรถปฏิสัมภิทา ธรรมปฏิสัมภิทา นิรุตติปฏิสัมภิทา ปฏิภาณปฏิสัมภิทา.
               ในปฏิสัมภิทา ๔ นั้น ความรู้ในอรรถชื่อว่าอรรถปฏิสัมภิทา. ความรู้ในธรรมชื่อว่าธรรมปฏิสัมภิทา. ความรู้ในการกล่าวภาษาที่เป็นอรรถและธรรม ชื่อว่านิรุตติปฏิสัมภิทา. ความรู้ในญาณทั้งหลาย ชื่อว่าปฏิภาณปฏิสัมภิทา.
               ความสังเขปในที่นี้มีเพียงเท่านี้. ส่วนความพิสดารแห่งปฏิสัมภิทาเหล่านั้นมาแล้วในอภิธรรมนั่นแล.
               อธิบายว่า การกระทำให้แจ้งประจักษ์ปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ นี้ย่อมมีในพุทธุปบาทกาล. การกระทำให้แจ้งปฏิสัมภิทาเหล่านั้น เว้นพุทธุปบาทกาลเสีย ย่อมไม่มี.
               ปฏิสัมภิทาแม้เหล่านี้ พึงทราบว่า ท่านกล่าวว่าเป็นได้ทั้งโลกิยะและโลกุตตระ.
               บทว่า อเนกธาตุปฏิเวโธ ความว่า การแทงตลอดธาตุ ๑๘ มีคำว่า จักขุธาตุ รูปธาตุ ดังนี้เป็นต้น ย่อมมีในพุทธุปบาทกาลเท่านั้น เว้นพุทธุปบาทกาล ย่อมไม่มี.
               ในคำว่า นานาธาตุปฏิเวโธ โหติ การแทงตลอดธาตุต่างๆ จึงมีนี้ ธาตุ ๑๘ นี้แหละ พึงทราบว่า นานาธาตุ เพราะมีสภาวะต่างๆ. ก็การแทงตลอดอันใด ซึ่งธาตุเหล่านั้น โดยเหตุต่างๆ อย่างนี้ว่า ธาตุเหล่านี้มีสภาวะต่างกัน ในข้อนี้ นี้ชื่อว่าการแทงตลอดธาตุต่างๆ.
               บทว่า วิชฺชา ในบทว่า วิชฺชาวิมุตฺติผลสจฺฉิกิริยา นี้ได้แก่ ผลญาณ.
               บทว่า วิมุตฺติ ได้แก่ ธรรมที่สัมปยุตด้วยโสดาปัตติผล นอกจากวิชชานั้น.
               บทว่า โสตาปตฺติผลสจฺฉิกิริยา ความว่า ปฐมมรรคชื่อว่าโสตะ.
               ชื่อว่าโสดาปัตติผล เพราะเป็นผลอันบุคคลพึงบรรลุด้วยโสตะนั้น. สกทาคามิผลเป็นต้นปรากฏชัดแล้วแล.
               บทว่า อนุตฺตรํ แปลว่า ยอดเยี่ยม.
               บทว่า ธมฺมจกฺกํ ได้แก่ จักรอันประเสริฐ.
               จริงอยู่ จักกศัพท์นี้ มาในอรรถว่าอุรจักร (คือจักรประหารชีวิต) ในคาถานี้ว่า
                         ท่านได้ประสบนางเวมานิกเปรต ๔ นาง จาก ๔ นาง
                         เป็น ๘ นาง จาก ๘ นางเป็น ๑๖ นาง ถึงจะได้ประสบ
                         นางเวมานิกเปรต จาก ๑๖ นางเป็น ๓๒ นาง ก็ยัง
                         ปรารถนายิ่งไปกว่านั้น จึงได้ประสบจักรนี้ จักรกรด
                         ย่อมพัดผันบนกระหม่อมของคน ผู้ถูกความอยาก
                         ครอบงำแล้ว.
               ลงในอรรถว่าจักรคืออิริยาบถ ในประโยคนี้ว่า ชาวชนบทเปลี่ยนอิริยาบถ เดินไปรอบๆ. ลงในอรรถว่าจักรคือไม้ ในประโยคนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ช่างรถหมุนจักรคือไม้ยนต์ที่ทำ ๖ เดือนเสร็จ. ลงในอรรถว่าจักรคือลักษณะ ในประโยคนี้ว่า โทณพราหมณ์ได้เห็นจักรคือลายลักษณะอันเกิดที่พระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งมีกำพันซี่. ลงในอรรถว่าจักรคือสมบัติ ในประโยคนี้ว่า สมบัติ ๔ ย่อมเป็นไปแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายผู้ประกอบด้วยสมบัติเหล่าใด สมบัติเหล่านี้มี ๔ ประการ. ลงในอรรถว่าจักรคือรัตนะ ในประโยคนี้ว่า จักรคือรัตนะอันเป็นทิพย์ ปรากฏอยู่.
               แต่ในที่นี้ ลงในอรรถว่าจักรคือธรรม.
               ในบทว่า ปวตฺติตํ นี้พึงทราบประเภทดังนี้ว่า ชื่อว่ากำลังปรารถนาอย่างจริงจังซึ่งพระธรรมจักร ธรรมจักรชื่อว่าปรารถนาอย่างจริงจังแล้ว ชื่อว่ากำลังทำพระธรรมจักรให้เกิดขึ้น ธรรมจักรชื่อว่าทรงทำให้เกิดขึ้นแล้ว ชื่อว่ากำลังประกาศพระธรรมจักร ธรรมจักรชื่อว่าทรงประกาศแล้ว.
               ชื่อว่ากำลังปรารถนาอย่างจริงจัง ซึ่งพระธรรมจักรตั้งแต่ครั้งไหน?
               ครั้งที่พระองค์เป็นสุเมธพราหมณ์ เห็นโทษในกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในเนกขัมมะ ถวายสัตตสดกมหาทานแล้วบวชเป็นฤาษี ทำอภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ ให้บังเกิด ตั้งแต่นั้นมา ชื่อว่ากำลังปรารถนาอย่างจริงจัง ซึ่งพระธรรมจักร.
               ชื่อว่าปรารถนาอย่างจริงจังแล้ว ตั้งแต่ครั้งไหน?
               ครั้งพระองค์ประชุมธรรม ๘ ประการ แล้วทรงผูกพระมนัสเพื่อประโยชน์แก่การทำพระมหาโพธิญาณให้ผ่องแผ้ว ณ บาทมูลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกร ทรงอธิษฐานพระวิริยะว่าเราไม่ได้รับพยากรณ์ จักไม่ลุกขึ้นแล้วจึงนอนลง ได้รับพยากรณ์จากสำนักพระทศพลแล้ว ตั้งแต่นั้นมา ธรรมจักรชื่อว่าปรารถนาอย่างจริงจังแล้ว.
               ชื่อว่า กำลังให้ธรรมจักรเกิดขึ้น ตั้งแต่ครั้งไหน?
               ครั้งแม้เมื่อพระองค์ทรงบำเพ็ญทานบารมี ชื่อว่ากำลังยังธรรมจักรให้เกิดขึ้น. เมื่อทรงบำเพ็ญสีลบารมีก็ดี ฯลฯ ทรงบำเพ็ญอุปบารมีก็ดี ชื่อว่ากำลังยังธรรมจักรให้เกิดขึ้น เมื่อทรงบำเพ็ญบารมี ๑๐ อุปบารมี ๑๐ ปรมัตถบารมี ๑๐ ก็ดี เมื่อทรงบำเพ็ญมหาบริจาค ๕ ก็ดี ทรงบำเพ็ญญาตัตถจริยาก็ดี ชื่อว่าทรงยังธรรมจักรให้เกิดขึ้น. ทรงอยู่ในภาวะเป็นพระเวสสันดร ทรงถวายสัตตสดกมหาทาน ทรงมอบบุตรและภรรยา ในมุขคือทาน ทรงถือเอายอดพระบารมี ทรงบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต ทรงดำรงอยู่ในดุสิตนั้นตลอดพระชนมายุ อันเทวดาทูลอาราธนาแล้วให้ปฏิญญา แม้ทรงพิจารณาดูมหาวิโลกนะ ๕ ชื่อว่ากำลังยังธรรมจักรให้เกิดขึ้นเหมือนกัน.
               เมื่อทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระมารดาก็ดี เมื่อทรงทำหมื่นจักรวาลให้ไหว ในขณะปฏิสนธิก็ดี เมื่อทรงทำโลกให้ไหว เหมือนอย่างนั้นนั่นแล ในวันเสด็จออกจากพระครรภ์ของมารดาก็ดี เมื่อประสูติในเดี๋ยวนั้นแล้วเสด็จย่างพระบาทไป ๗ ก้าว ทรงบันลือสีหนาทว่าเราเป็นผู้เลิศก็ดี
               เมื่อเสด็จอยู่ครองเรือนตลอด ๒๙ พรรษาก็ดี เสด็จออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่ก็ดี ทรงบรรพชาที่ริมฝั่งแม่น้ำอโนมานทีก็ดี ทรงกระทำมหาปธานความเพียร ๖ พรรษาก็ดี เสวยข้าวมธุปายาสที่นางสุชาดาถวาย แล้วทรงลอยถาดทองในแม่น้ำแล้วเสด็จไปโพธิมัณฑสถานอันประเสริฐ ในเวลาเย็น ประทับนั่งตรวจโลกธาตุด้านทิศบุรพา ทรงกำจัดมารและพลของมาร ในเมื่อดวงอาทิตย์ยังทรงอยู่นั่นแล ทรงระลึกถึงปุพเพนิวาสญาณในปฐมยามก็ดี ทรงชำระทิพยจักษุในมัชฌิมยามก็ดี ทรงพิจารณาปัจจยาการในเวลาต่อมาเนื่องกับเวลาใกล้รุ่ง แล้วแทงตลอดโสดาปัตติมรรคก็ดี ทรงทำให้แจ้งโสดาปัตติผลก็ดี ทรงทำให้แจ้งสกทาคามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผลก็ดี เมื่อทรงแทงตลอดอรหัตตมรรคก็ดี ก็ชื่อว่าทรงกำลังกระทำธรรมจักรให้เกิดขึ้นเหมือนกัน.
               ก็ธรรมจักร ชื่อว่าอันพระองค์ให้เกิดขึ้นแล้ว ในขณะแห่งพระอรหัตตผล.
               จริงอยู่ คุณราสี กองแห่งคุณทั้งสิ้นของพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมสำเร็จพร้อมกับอรหัตตผลนั่นแล. เพราะฉะนั้น ธรรมจักรนั้นเป็นอันชื่อว่าอันพระองค์ให้เกิดขึ้นแล้วในขณะนั้น.
               พระองค์ทรงประกาศธรรมจักรเมื่อไร?
               เมื่อพระองค์ทรงยับยั้งอยู่ ๗ สัปดาห์ ณ โพธิมัณฑสถาน ทรงแสดงธรรมจักกัปวัตสูตร กระทำพระอัญญาโกณฑัญญเถระให้เป็นกายสักขี ที่ป่าอิสิปมฤคทายวัน ชื่อว่าทรงประกาศพระธรรมจักร.
               ก็ในกาลใดพระอัญญาโกณฑัญญเถระได้การฟังที่บังเกิดด้วยอานุภาพแห่งเทศนาญาณของพระทศพล แล้วบรรลุธรรมก่อนเขาทั้งหมด จำเดิมแต่กาลนั้นมา พึงทราบว่า ธรรมจักรเป็นอันชื่อว่าทรงประกาศแล้ว.
               จริงอยู่ คำว่า ธรรมจักร นี้เป็นชื่อแห่งเทศนาญาณบ้าง แห่งปฏิเวธญาณบ้าง.
               ใน ๒ อย่างนั้น เทศนาญาณเป็นโลกิยะ ปฏิเวธญาณเป็นโลกุตตระ.
               ถามว่า เทศนาญาณ ปฏิเวธญาณ เป็นของใคร?
               แก้ว่า ไม่ใช่ของใครอื่น พึงทราบว่าเทศนาญาณและปฏิเวธญาณ เป็นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น.
               บทว่า สมฺมเทว ได้แก่ โดยเหตุ คือโดยนัย โดยการณ์นั้นเอง.
               บทว่า อนุปฺปวตฺตนฺติ ความว่า พระเถระชื่อว่าย่อมประกาศตามธรรมจักรที่พระศาสดาทรงประกาศไว้ก่อนแล้ว เหมือนเมื่อพระศาสดาเสด็จไปข้างหน้า พระเถระเดินไปข้างหลัง ชื่อว่าเดินตามพระศาสดานั้นฉะนั้น.
               ถามว่า ประกาศตามอย่างไร?
               ตอบว่า ก็พระศาสดาเมื่อทรงแสดงว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ สติปัฏฐาน ๔ อะไรบ้าง ชื่อว่าทรงประกาศธรรมจักร.
               พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระนั่นแล เมื่อแสดงว่า ดูก่อนผู้มีอายุ สติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ ชื่อว่าย่อมประกาศตามซึ่งธรรมจักร.
               แม้ในสัมมัปปธานเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน. มิใช่แต่ในโพธิปักขิยธรรมอย่างเดียว.
               แม้ในคำว่า ภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ เหล่านี้ อริยวงศ์ ๔ เหล่านี้เป็นต้น ก็พึงทราบนัยนี้เหมือนกัน. ด้วยประการดังกล่าวนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าชื่อว่าทรงประกาศธรรมจักร พระเถระชื่อว่าประกาศตามพระธรรมจักรที่พระทศพลทรงประกาศแล้ว.
               ก็พระธรรมอันพระเถระผู้ประกาศตามธรรมจักรอย่างนี้แสดงแล้วก็ดี ประกาศแล้วก็ดี ย่อมชื่อว่าเป็นอันพระศาสดาทรงแสดงแล้วประกาศแล้วทีเดียว. ผู้ใดผู้หนึ่งไม่ว่าจะเป็นภิกษุภิกษุณีก็ตาม อุบาสกอุบาสิกาก็ตาม เป็นเทพหรือเป็นท้าวสักกะก็ตาม เป็นมารหรือเป็นพรหมก็ตามแสดงธรรมไว้ ธรรมทั้งหมดนั้นเป็นอันชื่อว่าพระศาสดาทรงแสดงแล้ว ทรงประกาศแล้ว.
               ส่วนชนนอกนั้น ชื่อว่าตั้งอยู่ในฝ่ายของผู้ที่ดำเนินตามรอย.
               อย่างไร?
               เหมือนอย่างว่า ชนทั้งหลายอ่านลายพระราชหัตถ์ที่พระราชาทรงประทานแล้วกระทำงานใดๆ งานนั้นๆ อันผู้ใดผู้หนึ่งกระทำเองก็ดี ให้คนอื่นกระทำก็ดี เขาเรียกว่าพระราชาใช้ให้ทำอย่างนั้นเหมือนกัน.
               ความจริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนพระราชาผู้ใหญ่. พุทธพจน์คือปิฎก ๓ เหมือนลายพระราชหัตถ์. การให้โดยมุขคือนัยในพระไตรปิฎก เหมือนการทรงประทานลายพระราชหัตถ์. การให้บริษัท ๔ เรียนพุทธพจน์ตามกำลังของตนแล้วแสดง ประกาศแก่ชนเหล่าอื่น เหมือนอ่านลายพระราชหัตถ์แล้วทำการงาน.
               ในธรรมเหล่านั้น ธรรมที่ผู้ใดผู้หนึ่งแสดงก็ดี ประกาศก็ดี พึงทราบว่า ชื่อว่าธรรมอันพระศาสดาแสดงแล้ว ประกาศแล้ว เหมือนผู้ใดผู้หนึ่งอ่านลายพระราชหัตถ์ ทำงานใดๆ ด้วยตนเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นทำก็ดี งานนั้นๆ ชื่อว่าอันพระราชาใช้ให้ทำแล้วเหมือนกัน.
               คำที่เหลือในบททั้งปวงมีอรรถง่ายทั้งนั้นแล.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๖ เป็นต้น               

               จบอรรถกถาเอกปุคคลวรรคที่ ๑๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอกบุคคลบาลี จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 135อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 139อ่านอรรถกถา 20 / 146อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=585&Z=627
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=14&A=2013
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=14&A=2013
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๒  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :