ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 21 / 1อ่านอรรถกถา 21 / 161อรรถกถา เล่มที่ 21 ข้อ 171อ่านอรรถกถา 21 / 181อ่านอรรถกถา 21 / 274
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต จตุตถปัณณาสก์
๓. สัญเจตนิยวรรค

               สัญเจตนิยวรรควรรณนาที่ ๓               
               อรรถกถาเจตนาสูตรที่ ๑               
               พึงทราบวินิจฉัยในเจตนาสูตรที่ ๑ แห่งวรรคที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า กาเย ได้แก่ เมื่อกายทวาร. อธิบายว่า เมื่อความเคลื่อนไหวทางกายมีอยู่.
               ในบทว่า กายสญฺเจตนาเหตุ เป็นต้น ความสำเร็จแห่งเจตนาในกายทวารชื่อว่า กายสัญเจตนา (ความจงใจทำทางกาย) กายสัญเจตนานั้นมี ๒๐ อย่าง คือ กามาวจรกุศล ๘ อย่าง อกุศล ๑๒ อย่าง.
               วจีสัญเจตนา (ความจงใจทำทางวาจา) ก็เหมือนกัน.
               มโนสัญญเจตนา (ความจงใจทำทางใจ) ก็เหมือนกัน.
               อนึ่ง แม้มหัคคตเจตนา ๙ ก็ได้ในบทนี้.
               บทว่า กายสญฺเจตนาเหตุ ได้แก่ เพราะกายสัญเจตนาเป็นปัจจัย.
               บทว่า อุปฺปชฺชติ อชฺฌตฺตํ สุขทุกฺขํ ได้แก่ สุขเกิดขึ้นภายในตนเพราะกุศลกรรม ๘ เป็นปัจจัย ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอกุสลกรรม ๑๒ เป็นปัจจัย.
               แม้ในทวารที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า อวิชฺชาปจฺจยา วา ได้แก่ เพราะอวิชชาเป็นเหตุ.
               จริงอยู่ ถ้าว่าอวิชชาที่ถูกปกปิดไว้เป็นปัจจัย เมื่อเป็นเช่นนั้น เจตนาอันเป็นปัจจัยแห่งสุขและทุกข์ในทวาร ๓ ย่อมเกิดขึ้น. นี้ท่านกล่าวด้วยอำนาจปัจจัยอันเป็นมูล ด้วยประการฉะนี้.
               ในบทว่า อวิชฺชาปจฺจยา วา สามํ วา เป็นต้น บุคคลอันคนอื่นไม่ได้ใช้ เมื่อปรุงแต่งด้วยตนเอง ชื่อว่าปรุงแต่งกายสังขารเอง. ชักชวนคนอื่นให้ปรุงกายสังขารใด คนอื่น ชื่อว่าปรุงกายสังขารนั้นของเขา.
               ก็บุคคลใดรู้กุศลว่าเป็นกุศล รู้อกุศลว่าเป็นอกุศล รู้กุศลวิบากว่าเป็นกุศลวิบาก รู้อกุศลวิบากว่าเป็นอกุศลวิบาก ย่อมปรุงสังขาร ๒๐ อย่างในกายทวาร บุคคลนี้ชื่อว่ารู้ปรุงสังขาร บุคคลใดไม่รู้อย่างนี้ปรุงสังขาร บุคคลนี้ชื่อว่าไม่รู้ปรุงสังขาร.
               แม้ในทวารที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ในข้อนั้นพึงทราบการกระทำโดยไม่รู้ตัวดังนี้.
               พวกเด็กรุ่นคิดว่า เราจะทำกิจที่มารดาบิดาทำไว้ จึงไหว้เจดีย์ บูชาด้วยดอกไม้ ไหว้หมู่ภิกษุสงฆ์ แม้ทั้งที่เขาไม่รู้ว่าเป็นกุศล การกระทำนั้นก็เป็นกุศลทั้งนั้น. สัตว์เดียรัจฉานมีเนื้อและนกเป็นต้นก็เหมือนกัน ฟังธรรม ไหว้สงฆ์ ไหว้เจดีย์ ทั้งที่มันรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง การกระทำนั้นก็เป็นกุศลเหมือนกัน. แต่พวกเด็กรุ่นเอาและมือและเท้า เตะตีมารดาบิดา ยกมือขู่ตะคอกขว้างก้อนดินด่า. แม่โคไล่ตามหมู่ภิกษุ. เหล่าสุนัขไล่ตามกัด. สีหะและพยัคฆ์เป็นต้นไล่ตามฆ่า. ทั้งที่มันรู้บ้างไม่รู้บ้าง พึงทราบว่าเป็นอกุศลกรรม.
               บัดนี้ พึงรวบรวมเจตนาอันประมวลลงในทวารแม้ทั้ง ๓.
               ถามว่า อย่างไร.
               ตอบว่า ในกายทวาร เจตนาที่ทำด้วยตนเองเป็นมูล ๒๐ ที่คนอื่นใช้เป็นมูล ๒๐ ที่รู้ตัวเป็นมูล ๒๐ ที่ไม่รู้ตัวอยู่เป็นมูล ๒๐ รวมเป็นเจตนา ๘๐. ในวจีทวารก็เหมือนกัน. แต่ในมโนทวาร วิกัปหนึ่งๆ วิกัปละ ๒๙ (๔ วิกัป) รวมเป็น ๑๑๖. ดังนั้น เจตนาแม้ทั้งหมดในทวาร ๓ มีสองร้อยเจ็ดสิบหก (๒๗๖)
               เจตนาแม้ทั้งหมดนั้นย่อมนับได้ว่าเป็นสังขารขันธ์ทั้งนั้น การเสวยอารมณ์สัมปยุตด้วยสังขารขันธ์นั้นเป็นเวทนาขันธ์ อาการรู้จำเป็นสัญญา จิตเป็นวิญญาณขันธ์ กายเป็นอุปาทารูป ธาตุ ๔ ที่เป็นปัจจัยแห่งอุปาทารมณ์เป็นภูตรูป ๔ ขันธ์ ๕ ดังกล่าวมาเหล่านี้ ชื่อว่าทุกขสัจ.
               บทว่า อิเมสุ ภิกฺขเว ธมฺเมสุ อวิชฺชานุปติตา ความว่า อวิชชาตกไปแล้วในเจตนาธรรมมีประเภทดังกล่าวแล้วเหล่านี้ ด้วยอำนาจสหชาตปัจจัย และอุปนิสสยปัจจัย. เป็นอันท่านแสดงถึงวัฏฏะและอวิชชาที่เป็นมูลแห่งวัฏฏะ ด้วยอาการอย่างนี้.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงสรรเสริญพระขีณาสพผู้เจริญวิปัสสนาด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล้วบรรลุพระอรหัต จึงตรัสว่า อวิชฺชายเตฺวว อเสสวิราคนิโรธา ดังนี้เป็นอาทิ.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อเสสวิราคนิโรธา ได้แก่ สำรอกโดยไม่เหลือ และดับโดยไม่เหลือ.
               บทว่า โส กาโย น โหติ ความว่า การกระทำทางกายของพระขีณาสพ ย่อมปรากฏเป็นต้นอย่างนี้ คือ การกวาดลานเจดีย์ การกวาดลานโพธิ์ การก้าวไปและการถอยกลับ การทำวัตรปฏิบัติ. แต่ในกายทวาร เจตนา ๒๐ ของพระขีณาสพนั้นย่อมถึงความเป็นกิจไม่มีวิบากเป็นธรรมดา. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า โส กาโย น โหติ ยมฺปจฺจยาสฺส ตํ อุปฺปชฺชติ อชฺฌตฺตํ สุขทุกฺขํ (กายอันเป็นปัจจัยให้สุขทุกข์ภายในพระขีณาสพนั้นเกิดไม่มี) เจตนาอันเป็นไปในกายทวาร ท่านประสงค์กายในที่นี้.
               แม้ในสองบทที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน.
               แม้บทมีอาทิว่า เขตฺตํ ดังนี้ ก็เป็นชื่อของกรรมทั้งที่เป็นกุศลและอกุศลนั่นแล.
               จริงอยู่ สุขและทุกข์นั้น ท่านกล่าวว่าชื่อว่าเขต เพราะอรรถกถาว่าเป็นที่งอกแห่งวิบาก ชื่อว่าวัตถุ เพราะอรรถว่าเป็นพื้นที่ตั้ง ชื่อว่าอายตนะ เพราะอรรถว่าเป็นเหตุ ชื่อว่าอธิกรณะ เพราะอรรถว่าเป็นเรื่องราว.
               พระศาสดา ครั้นทรงแสดงกรรมอันประมวลลงด้วยทวาร ๓ โดยฐานะประมาณเท่านี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงถึงฐานะอันเป็นผลของกรรมนั้น จึงตรัสว่า จตฺตาโรเม ภิกฺขเว ดังนี้เป็นอาทิ.
               ในบทนั้น บทว่า อตฺตภาวปฏิลาภา ได้แก่ อัตภาพที่ตนได้แล้ว.
               บทว่า อตฺตสญฺเจตนา กมติ ได้แก่ เจตนาที่ตนดำริไว้ย่อมนำไป คือย่อมเป็นไป.
               ในบทมีอาทิว่า อตฺตสญฺเจตนาเหตุ เตสํ สตฺตานํ ตมฺหา กายา จุติ โหติ (การจุติจากกายนั้นของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นย่อมมี เพราะสัญเจตนาของตนเป็นเหตุ) ได้แก่ พวกเทพผู้เป็นขิฑฑาปโทสิกะ (มุ่งแต่จะเล่น) ย่อมจุติเพราะสัญเจตนาของตนเป็นเหตุ. ด้วยว่า เมื่อทวยเทพเหล่านั้นดื่มด่ำอยู่ในความพอใจของทิพย์ในสวนนันทวัน จิตรลดาวันและปารุสกวันเป็นต้น เหนื่อยอ่อน ลืมดื่มและบริโภค. เขาย่อมแห้งไปเพราะขาดอาหาร เหมือนดอกไม้ที่เหวี่ยงไปในแดด.
               มโนปโทสิกา (ทวยเทพผู้ทำร้ายทางใจ) ย่อมจุติเพราะสัญเจตนาของผู้อื่นเป็นเหตุ ได้แก่ ทวยเทพชั้นจาตุมมหาราชิกา.
               ได้ยินว่า บรรดาทวยเทพเหล่านั้น เทพบุตรองค์หนึ่งหมายจักเล่นนักขัตฤกษ์ จึงพร้อมด้วยบริวาร ขึ้นรถไปตามทาง ทีนั้น เทพบุตรอีกองค์หนึ่งออกไปเห็นเทพบุตรนั้นกำลังไปข้างหน้า จึงโกรธว่า อะไรกันพ่อเอ้ย คนขอทานผู้นี้เห็นเทพบุตรองค์หนึ่งทำเหมือนไม่เคยเห็นแล้วเห่อผยองราวกระบวนแห่ไปตามถนน. เทพบุตรผู้เดินไปข้างหน้าเหลียวดูเห็นเทพบุตรนั้นโกรธ คิดว่า ขึ้นชื่อว่าคนโกรธรู้ได้ง่าย ครั้นรู้ว่าเทพบุตรนั้นโกรธจริง จึงโกรธตอบว่าท่านโกรธจักทำอะไรเราได้ เราได้สมบัตินี้มาด้วยอำนาจทานและศีลเป็นต้น ไม่ใช่ได้มาด้วยอำนาจของท่าน. ก็เมื่อเทพบุตรองค์หนึ่งโกรธ อีกองค์หนึ่งไม่โกรธยังรักษาไว้ได้ แต่เมื่อทั้งสองโกรธ ความโกรธของเทพบุตรองค์หนึ่งเป็นปัจจัยของอีกองค์หนึ่ง ความโกรธของเทพบุตรองค์นั้นก็เป็นปัจจัยของเทพบุตรอีกองค์หนึ่ง เพราะฉะนั้น เทพบุตรทั้งสองย่อมจุติทั้งที่สนมเทพอัปสรคร่ำครวญอยู่.
               มนุษย์ทั้งหลายย่อมจุติเพราะสัญเจตนาของตนและสัญเจตนาของผู้อื่น เป็นเหตุ. อธิบายว่า มนุษย์ทั้งหลายย่อมจุติ เพราะเหตุแห่งสัญเจตนาของตนและแห่งสัญเจตนาของผู้อื่น.
               จริงอยู่ มนุษย์ทั้งหลายครั้นโกรธแล้วก็เอามือบ้าง เท้าบ้าง ทุบตีตนด้วยตนเอง ผูกด้วยเครื่องผูกคือเชือกเป็นต้นบ้าง ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง กินยาพิษบ้าง ย่อมกระโดดเหวบ้าง กระโดดน้ำบ้าง เข้ากองไฟบ้าง เอาท่อนไม้ศัสตราประหาร แม้คนอื่นให้ตายบ้าง. สัญเจตนาของตนก็ดี สัญเจตนาของผู้อื่นก็ดี ย่อมเป็นไปมนุษย์เหล่านั้นด้วยอาการอย่างนี้.
               บทว่า กตเม เตน เทวา ทฏฺฐพฺพา ความว่า จะพึงเห็นทวยเทพเหล่านั้นเป็นไฉน หรือความว่าจะพึงเห็นทวยเทพด้วยอัตภาพนั้นเป็นไฉนดังนี้บ้าง.
               ถามว่า เพราะเหตุไร พระเถระจึงถามปัญหานี้ การกล่าวด้วยตนเองยังไม่พอหรือ.
               ตอบว่า ยังไม่พอ. ก็บทนี้ปัญหาพุทธวิสัยโดยสภาวะของปัญหา เพราะเหตุนั้น พระเถระจึงไม่กล่าว.
               บทว่า เตน ทฏฺฐพฺพา ได้แก่ พึงเห็นด้วยอัตภาพนั้น. ก็ปัญหานี้ย่อมได้ในกามาวจรบ้าง รูปาวจรบ้างในเบื้องต่ำ แต่ตรัสกำหนดด้วยภวัคคพรหม เป็นอันตรัสโดยสิ้นเชิง เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอย่างนี้.
               บทว่า อาคนฺตาโร อิตฺถตฺตํ ได้แก่ เป็นผู้กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือ สู่ความเป็นกามาวจรและเบญจขันธ์นั่นเอง หาได้เกิดในภพนั้นไม่ มิได้เกิดในภพเบื้องบน.
               บทว่า อนาคนฺตาโร อิตฺถตฺตํ ได้แก่ เป็นผู้ไม่กลับมาสู่ขันธบัญจกนี้คือเป็นผู้ไม่เกิดในเบื้องต่ำ. อธิบายว่า เป็นผู้เกิดในภพนั้นบ้าง เป็นผู้เกิดในเบื้องบนบ้าง เป็นผู้ปรินิพพานในภพนั้นนั่นเองบ้าง.
               ในบทนี้พึงทราบสัตว์ผู้เกิดในเบื้องบน แม้ด้วยอำนาจสัตว์ทั้งหลายผู้เกิดแล้วในภพชั้นต่ำ. ก็ขันธบัญจกนี้ไม่มีในภวัคคพรหม.
               คำที่เหลือในบททั้งปวงง่ายทั้งนั้นแล.
               จบอรรถกถาเจตนาสูตรที่ ๑               

               อรรถกถาวิภัตติสูตรที่ ๒               
               พึงทราบวินิจฉัยในวิภัตติสูตรที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อตฺถปฏิสมฺภิทา ได้แก่ ญาณอันถึงความแตกฉานในอรรถทั้งหลาย ๕.
               บทว่า โอธิโส คือ โดยเหตุ. บทว่า พฺยญฺชนโส คือ โดยอักษร.
               บทว่า อเนกปริยาเยน คือ โดยเหตุหลายอย่าง.
               บทว่า อาจิกฺขามิ แปลว่า บอก. บทว่า เทเสมิ คือ บอกกล่าวทำให้ปรากฏ.
               บทว่า ปญฺญาเปมิ คือ ให้เขารู้. บทว่า ปฏฺฐเปมิ คือ กล่าวยกขึ้นให้เป็นไปแล้ว.
               บทว่า วิวรามิ คือ บอกแบบเปิดเผย. บทว่า วิภชามิ คือ บอกแบบจำแนก.
               บทว่า อุตฺตานีกโรมิ คือ บอกทำข้อที่ลึกซึ้งให้ตื้น.
               บทว่า โส มํ ปญฺเหน ได้แก่ ผู้นั้นจงเข้าไปถามปัญหาเรา.
               บทว่า อหํ เวยฺยากรเณน ความว่า ข้าพเจ้าจักยังจิตของผู้นั้นให้ยินดีด้วยการแก้ปัญหา.
               บทว่า โย โน ธมฺมานํ สุกุสโล ความว่า พระศาสดาผู้ทรงฉลาดเลิศในธรรมที่เราบรรลุแล้ว พระองค์ประทับอยู่ต่อหน้าเรา ตรัสว่า ผิว่าอัตถปฏิสัมภิทา เรายังไม่ทำให้แจ้ง ดูก่อนสารีบุตร เธอจงทำให้แจ้งก่อนแล้ว จักทรงห้ามเสีย.
               เพราะเหตุนั้น พระสารีบุตรชื่อว่านั่งต่อพระพักตร์พระศาสดา บันลือสีหนาท.
               พึงทราบความในบททั้งหมดด้วยอุบายนี้.
               ก็และในปฏิสัมภิทาเหล่านี้ ปฏิสัมภิทา ๓ เป็นโลกิยะ อัตถปฏิสัมภิทาเป็นทั้งโลกิยะและโลกุตระ ด้วยประการฉะนี้.
               จบอรรถกถาวิภัตติสูตรที่ ๒               

               อรรถกถาโกฏฐิตสูตรที่ ๓               
               พึงทราบวินิจฉัยในโกฏฐิตสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ผสฺสายตนานํ ได้แก่ บ่อเกิดแห่งผัสสะ. อธิบายว่า ที่ที่เกิดแห่งผัสสะ.
               บทว่า อตฺถญฺญํ กิญฺจิ ความว่า ท่านมหาโกฏฐิตะถามว่า เมื่อผัสสายตนะเหล่านั้นดับโดยไม่เหลือ กิเลสไรๆ นอกจากนั้นแม้จำนวนน้อยยังมีอยู่หรือ.
               แม้ในบทว่า นตฺถญฺญํ กิญฺจิ ท่านมหาโกฏฐิตะก็ถามว่า กิเลสแม้จำนวนน้อยก็ไม่มีหรือ.
               แม้ในสองบทที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ท่านมหาโกฏฐิตะถามปัญหาแม้ ๔ ข้อเหล่านี้ด้วยอำนาจสัสสตทิฏฐิ อุจเฉททิฏฐิ เอกัจจสัสสตทิฏฐิ (ความเห็นว่าเที่ยงเป็นบางอย่าง) และอมราวิกเขปทิฏฐิ (ความเห็นดิ้นได้ไม่ตายตัว).
               ด้วยเหตุนั้น พระเถระ (พระสารีบุตร) เมื่อจะคัดค้านปัญหาที่ท่านมหาโกฏฐิตะถามแล้วถามอีก จึงกล่าวว่า มาเหวํ ดังนี้.
               คำว่า หิ ในคำนี้ (มาเหวํ) เป็นเพียงนิบาต. อธิบายว่า ท่านอย่าพูดอย่างนี้.
               ท่านมหาโกฏฐิตะถามโดยอาการมีสัสสตทิฏฐิเป็นต้นว่า สิ่งใดๆ อื่นด้วยอำนาจการเข้าไปถือว่ามีอัตตามีอยู่หรือ คือชื่อว่าอัตตาไรๆ อื่นมีอยู่หรือ.
               ถามว่า ก็พระเถระ (พระมหาโกฏฐิตะ) นี้เป็นอัตตูปลัทธิถือลัทธิว่ามีอัตตา หรือ.
               ตอบว่า ไม่ใช่อัตตูปลัทธิ แต่ภิกษุรูปหนึ่งซึ่งนั่งอยู่ในที่นั้นมีลัทธิอย่างนี้ ภิกษุนั้นไม่อาจถามได้. ท่านมหาโกฏฐิตะถามอย่างนี้เพื่อจะให้พระสารีบุตรแก้ลัทธิในที่นั้น. พระมหาโกฏฐิตะคิดว่า พระมหาสาวกทั้งหลายแก้ปัญหานี้ แม้ในพุทธกาลแก่ผู้ที่มีจักมีลัทธิอย่างนี้ในอนาคตกาล จึงถามเพื่อตัดโอกาสที่จะพูดกัน.
               บทว่า อปฺปมญฺจํ ปปญฺเจติ ได้แก่ ไม่ทำความเนิ่นช้าในที่อันควรทำให้เนิ่นช้า คือหน่วงทางอันไม่ควรหน่วง.
               บทว่า ตาวตา ปญฺจสฺสคติ ความว่า คติแห่งผัสสายตนะ ๖ ยังมีอยู่เพียงใด คติแห่งปปัญจธรรม (ธรรมอันทำให้เนิ่นช้า) อันต่างด้วยตัณหา ทิฏฐิ มานะก็ยังมีอยู่เพียงนั้น.
               บทว่า ฉนฺนํ อาวุโส ผสฺสายตนานํ อเสสวิราคนิโรธา ปปญฺจนิโรโธ ปปญฺวูปโม (ดูก่อนผู้อาวุโส เพราะผัสสายตนะ ๖ ดับด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ ปปัญจธรรมก็ดับ ปปัญจธรรมก็ระงับไป) ความว่า เมื่ออายตนะ ๖ เหล่านี้ดับโดยประการทั้งปวง แม้ปปัญจธรรมก็เป็นอันดับไป เป็นอันระงับไป แต่ในอรูปภพ ผัสสายตนะ ๕ ของเทวดาผู้เป็นปุถุชนดับไปก็จริง ถึงดังนั้น เพราะผัสสายตนะที่ ๖ ยังไม่ดับ ปปัญจธรรมแม้ ๓ ก็ชื่อว่ายังละไม่ได้. ก็และท่านกล่าวปัญหานี้ด้วยสามารถปัญจโวหารภพของสัตว์ที่มีขันธ์ ๕ เท่านั้น.
               จบอรรถกถาโกฏฐิตสูตรที่ ๓               

               อานนทสูตรที่ ๔ ไม่มีเนื้อความอรรถกถา.

               อรรถกถาอุปวานสูตรที่ ๕               
               พึงทราบวินิจฉัยในอุปวานสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า วิชฺขายนฺตกโร โหติ ความว่า บุคคลทำที่สุดวัฏทุกข์ได้ด้วยวิชชา คือทำทางวัฏทุกข์ทั้งสิ้นให้ขาดเสียตั้งอยู่.
               แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า สอุปาทาโน แปลว่า เป็นผู้ยังมีความยึดถืออยู่.
               บทว่า อนฺตกโร อภวิสฺส คือ บุคคลจักทำที่สุดแห่งวัฏทุกข์อยู่ได้.
               บทว่า จรณสมฺปนฺโน คือ ถึงพร้อมแล้วด้วยจรณธรรม ๑๕ ประเภท.
               บทว่า ยถาภูตํ ชานํ ปสฺสํ อนฺตกโร โหติ ความว่า บุคคลรู้เห็นด้วยมรรคปัญญาตามความเป็นจริงแล้ว ชื่อว่าเป็นผู้ทำที่สุดแห่งวัฏทุกข์ตั้งอยู่ เพราะฉะนั้น พระสารีบุตรเถระจึงให้ปัญหาจบลงด้วยยอดธรรมคือพระอรหัต.
               จบอรรถกถาอุปวานสูตรที่ ๕               

               อายาจนสูตรที่ ๖ พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในอรรถกถาเอกนิบาตในหนหลัง.

               อรรถกถาราหุลสูตรที่ ๗               
               พึงทราบวินิจฉัยในราหุลสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อชฺฌตฺติกา ได้แก่ ปฐวีธาตุใน ๒๐ ส่วนมีผมเป็นต้นมีลักษณะแข็ง.
               บทว่า พาหิรา ได้แก่ พึงทราบปฐวีธาตุในแผ่นหินและภูเขาเป็นต้นอันไม่เนื่องด้วยอินทรีย์ เป็นภายนอกมีลักษณะแข็ง.
               พึงทราบธาตุแม้ที่เหลือโดยนัยนี้.
               บทว่า เนตํ มม เนโสหมสฺมิ น เม โส อตฺตา (นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เป็นเรา นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา) นี้ ท่านกล่าวด้วยอำนาจการปฏิเสธความยึดถือด้วยตัณหามานะและทิฏฐิ.
               บทว่า สมฺมปฺปญฺญาย ทฏฺฐพฺพํ ได้แก่ พึงเห็นด้วยมรรคปัญญาโดยเหตุโดยการณ์.
               บทว่า ทิสฺวา ได้แก่ เห็นด้วยมรรคปัญญา พร้อมด้วยวิปัสสนา.
               บทว่า อจฺเฉชฺชิ ตณฺหํ ได้แก่ ตัดตัณหาที่พึงฆ่าด้วยมรรคพร้อมด้วยมูล.
               บทว่า วิวฏฺฏยิ สญฺโญชนํ ได้แก่ รื้อ คือเพิกถอนละสังโยชน์ ๑๐ อย่าง.
               บทว่า สมฺมามานาภิสมยา ได้แก่ เพราะละมานะ ๙ อย่างโดยเหตุโดยการณ์.
               บทว่า อนฺตมกาสิ ทุกฺขสฺส ได้แก่ กระทำวัฏทุกข์ให้ขาดทาง. อธิบายว่า กระทำแล้วตั้งอยู่.
               พระศาสดาตรัสวิปัสสนาไว้ในราหุลวาทสูตรให้สังยุตตนิกายด้วยประการฉะนี้. แม้ในจูฬราหุโลวาทสูตรก็ตรัสวิปัสสนาไว้. ตรัสการเว้นจากมุสาวาทของภิกษุหนุ่มไว้ในราหุโลวาทสูตร ณ อัมพลัฏฐิการาม. ตรัสวิปัสสนาเท่านั้นในมหาราหุโลวาทสูตร. ตรัสจตุโกฏิกสุญญตาไว้ในอังคุตตรนิกายนี้.
               จบอรรถกถาราหุลสูตรที่ ๗               

               อรรถกถาชัมพาลีสูตรที่ ๘               
               พึงทราบวินิจฉัยในชัมพาลีสูตรที่ ๘ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า สนฺตํ เจโตวิมุตฺตึ ได้แก่ สมาบัติ ๘ อย่างใดอย่างหนึ่ง.
               บทว่า สกฺกายนิโรธํ ได้แก่ ดับสักกายะอันได้แก่วัฏฏะที่เป็นไปในภูมิ ๓. อธิบายว่า นิพพาน.
               บทว่า น ปกฺขนฺทติ ได้แก่ ไม่แล่นไปด้วยอำนาจอารมณ์. แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า น ปาฏิกงฺโข ได้แก่ ไม่พึงหวังได้.
               บทว่า ลปคเตน ได้แก่ เปื้อนยางเหนียว.
               ก็และในความนี้ ควรนำมาเปรียบด้วยบุรุษผู้ประสงค์จะข้ามไปฝั่งโน้น. เขาว่าบุรุษผู้หนึ่งประสงค์จะข้ามไปฝั่งโน้นของแม่น้ำ ซึ่งมีกระแสเชี่ยวจัดมาก เต็มไปด้วยปลาร้าย คิดว่า ฝั่งในน่ารังเกียจ มีภัยเฉพาะหน้า ฝั่งนอกเป็นที่เกษมปลอดภัย เราจะทำอย่างไรดีหนอ จึงจักข้ามไปฝั่งโน้นได้ เห็นต้นกุ่ม ๘ ต้นตั้งอยู่เรียงกัน จึงแน่ใจว่าเราน่าจะไปตามลำดับของต้นไม้นี้ได้ ขึ้นชื่อว่าต้นกุ่มมีกิ่งเลี้ยง มือจะจับกิ่งยึดไว้ไม่ได้ จึงเอายางของต้นไทรและต้นเลียบเป็นต้น ต้นใดต้นหนึ่งทามือและเท้า เอามือขวาจับกิ่งหนึ่งไว้. มือก็ติดทีกิ่งนั้นเอง เอามือซ้าย เท้าขวา เท้าซ้ายจับเกาะก็ติดอีก เพราะเหตุนั้น มือและเท้าแม้ทั้ง ๔ ก็ติดอยู่ที่กิ่งนั้นนั่นเอง. เขาห้อยหัวลง เมื่อฝนตกลงบนแม่น้ำ เขาก็จมลงในกระแสแม่น้ำที่เต็ม กลายเป็นเหยื่อจระเข้เป็นต้น.
               ในข้อนั้น กระแสแห่งสงสารพึงเห็นดุจกระแสน้ำ. พระโยคาวจรดุจบุรุษประสงค์จะข้ามฝั่งกระแสน้ำ สักกายะดุจฝั่งใน นิพพานดุจฝั่งนอก สมาบัติ ๘ ดุจต้นกุ่ม ๘ ต้นที่ตั้งเรียงอยู่ การไม่ชำระธรรมที่เป็นอันตรายต่อฌานและวิปัสสนาให้หมดจดแล้ว เข้าสมาบัติดุจเอามือที่เปื้อนยางเหนียวจับกิ่งไม้ เวลาที่ถูกความติดใจคล้องไว้ในปฐมฌาน ดุจเอามือและเท้าเกี่ยวติดไว้ที่กิ่งไม้ห้อยหัวลง เวลาที่กิเลสเกิดในทวาร ๖ ดุจฝนตกบนกระแสน้ำ เวลาที่ผู้จมอยู่ในกระแสสงสาร เสวยทุกข์ในอบาย ๔ ดุจเวลาที่ผู้จมลงในกระแสแม่น้ำที่เต็ม เป็นเหยื่อของจระเข้เป็นต้น.
               บทว่า สุทฺเธน หตฺเถน ได้แก่ ด้วยมือที่ล้างสะอาดดีแล้ว แม้ในความข้อนี้ก็พึงเปรียบเทียบเช่นนั้นเหมือนกัน. บุรุษผู้ประสงค์จะข้ามฝั่งคิดว่า ขึ้นชื่อว่าต้นกุ่มกิ่งเกลี้ยง ผู้ที่จับด้วยมือที่สกปรกมือก็พึงติด จึงล้างมือและเท้าให้สะอาด แล้วจับกิ่งหนึ่งขึ้นต้นที่ ๑ ลงจากต้นที่ ๑ ขึ้นต้นที่ ๒ ฯลฯ ลงจากต้นที่ ๗ ขึ้นต้นที่ ๘ ลงจากต้นที่ ๘ แล้วก็ถึงพื้นที่ปลอดภัย ณ ฝั่งโน้น.
               ในข้อนั้น เวลาที่พระโยคีคิดว่า เราจักเข้าสมาบัติ ๘ ครั้นออกจากสมาบัติแล้วจักยึดเอาพระอรหัตให้ได้ดังนี้ พึงทราบดุจเวลาที่บุรุษนั้นคิดว่า เราจักข้ามไปฝั่งโน้นด้วยต้นไม้เหล่านี้ การชำระธรรมอันเป็นอันตรายต่อฌานและวิปัสสนาแล้วเข้าสมาบัติ ดุจการยึดกิ่งไม้ด้วยมือสะอาด เวลาเข้าปฐมฌาน ดุจเวลาขึ้นต้นไม้ต้นที่ ๑ ในต้นไม้เหล่านั้น เวลาที่ไม่ถูกความติดใจผูกไว้ในปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานนั้นแล้วเข้าทุติยฌาน ฯลฯ ดุจเวลาลงจากต้นไม้ต้นที่ ๑ แล้วขึ้นต้นที่ ๒ ฯลฯ เวลาที่ไม่ถูกความติดใจผูกไว้ในอากิญจัญญายตนสมาบัติ ออกจากอากิญจัญญายตนสมาบัตินั้นแล้ว เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ดุจลงจากต้นไม้ต้นที่ ๗ แล้วขึ้นต้นที่ ๘ เวลาที่ไม่ถูกความติดใจผูกไว้ในเนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกจากสมาบัติแล้ว พิจารณาสังขารบรรลุพระอรหัต ดุจเวลาที่บุรุษลงจากต้นไม้ต้นที่ ๘ แล้วก็ไปถึงฝั่งโน้นอันเป็นพื้นที่มีความปลอดภัย.
               บทว่า อวิชฺชาปฺปเภทํ มนสิกโรติ ได้แก่ ภิกษุมนสิการพระอรหัต กล่าวคือธรรมเครื่องทำลายอวิชชาใหญ่หนาทึบ อันเป็นความไม่รู้ในฐานะ ๘ อวิชชา ๘.
               บทว่า น ปกฺขนฺทติ ได้แก่ ไม่แล่นไปโดยอารมณ์.
               บทว่า ชมฺพาลี ได้แก่ บ่อน้ำขนาดใหญ่เป็นที่ขังน้ำซึ่งไหลออกจากหมู่บ้าน.
               บทว่า อเนกวสฺสคณิกา ได้แก่ บ่อน้ำชื่อว่า อเนกวสฺสคณิกา เพราะมีบ่อน้ำเกิดขึ้นนับได้หลายปี เพราะบ่อน้ำนั้นเกิดขึ้นในเวลาที่หมู่บ้านหรือนครเกิดขึ้น.
               บทว่า อายมุขานิ ได้แก่ ลำรางไหลเข้า ๔ แห่ง.
               บทว่า อปายมุขานิ ได้แก่ ช่องไหลออก.
               บทว่า น ปาลิปฺปเภโท ปาฏิกงฺโข ได้แก่ ไม่พึงหวังที่จะมีน้ำล้นขอบออกไปได้ เพราะว่าน้ำที่เอ่อขึ้นจากนั้น หาทำลายขอบเขตแล้วพัดเอาหยากเยื่อไปลงสู่มหาสมุทรได้ไม่ เพื่อไขความนี้ให้แจ่มแจ้ง ควรนำเรื่องตนแสวงหาสวนมาเปรียบ.
               มีเรื่องเล่าว่า กุลบุตรชาวเมืองคนหนึ่งแสวงหาสวน ได้เห็นบ่อใหญ่ไม่ไกลไม่ใกล้จากเมืองนัก. เขาเข้าใจว่า ณ ที่นี้จักเป็นสวนน่ารื่นรมย์ จึงถือเอาจอบปิดทาง ๔ ด้านแล้ว เปิดช่องให้น้ำไหล. ฝนไม่ตกเพิ่ม น้ำที่เหลือก็ไหลไปตามช่องน้ำไหล ชิ้นหนังและผ้าขี้ริ้วเป็นต้น ก็เกิดเน่าในที่นั้นเอง. ชนทั้งหลายก็หยุดอยู่รอบๆ ไม่ยอมเข้าไป. แม้ที่เข้าไปก็ต้องปิดจมูกเดินหลีกไป. ล่วงไป ๒-๓ วัน เขามาถอยไปฝืนแลดู ไม่อาจเข้าไปได้แล้ว ก็หลีกไป.
               ในข้ออุปมานั้น โยคาวจรพึงเห็นดุจกุลบุตรชาวเมือง. กายคือมหาภูตรูป ๔ ดุจเวลาที่กุลบุตรผู้แสวงหาสวนเห็นบ่อน้ำใหญ่ ใกล้ประตูบ้าน. เวลาที่ตนไม่ได้น้ำคือการฟังธรรม ดุจเวลาที่ปิดทางน้ำไหลเข้า. เวลาที่สละความสำรวมในทวาร ๖ ดุจเวลาที่เปิดทางน้ำไหลออก. เวลาที่ไม่ได้กรรมฐานเป็นที่สบาย ดุจเวลาที่ฝนไม่ตกถูกต้องตามฤดูกาล. เวลาที่คุณภายในเสื่อม ดุจเวลาที่น้ำที่เหลือไหลไปทางน้ำไหลออก เวลาที่ไม่สามารถทำลายขอบคันคืออวิชชาได้ด้วยอรหัตมรรคแล้ว กำจัดกองกิเลสเสียทำพระนิพพานให้แจ้ง ดุจเวลาที่น้ำเอ่อแล้วไม่สามารถทำลายขอบคันพัดพาหยากเยื่อลงไปมหาสมุทรได้ เวลาที่เต็มไปด้วยกิเลสมีราคะเป็นต้นภายใน ดุจชิ้นหนังและผ้าขี้ริ้วเป็นต้นเน่าอยู่ในบ่อน้ำนั่นเอง เวลาที่บุคคลผู้มีความพร้อมเพรียงในวัฏฏะ เพลิดเพลินในวัฏฏะ ดุจเวลาที่เขามาเห็น (บ่อน้ำ) แล้วมีความร้อนใจกลับไป.
               บทว่า ปาลิปฺปเภโท ปาฏิกงฺโข ได้แก่ พึงหวังน้ำล้นขอบบ่อไปได้. อธิบายว่า จริงอยู่ น้ำที่เอ่อจากนั้นจักสามารถทำลายขอบบ่อแล้วพัดหยากเยื่อลงไปสู่มหาสมุทรได้.
               แม้ในข้อนี้ก็พึงนำข้อเปรียบเทียบนั้นมาได้. เวลาที่ได้ฟังธรรมเป็นที่สบาย พึงทราบดุจเวลาที่เปิดทางน้ำไหลออกในบ่อน้ำนั้น เวลาสำรวมในทวาร ๖ ตั้งมั่นแล้ว ดุจเวลาที่ปิดทางไหลออก เวลาที่ตนได้กรรมฐานเป็นที่สบาย ดุจเวลาที่ฝนตกต้องตามฤดูกาล เวลาตนทำลายอวิชชาเสียได้ด้วยอรหัตมรรคแล้วกำจัดกองกิเลส ทำนิพพานให้แจ้ง ดุจเวลาน้ำไหลเอ่อขึ้นทำลายขอบคันพัดเอาหยากเยื่อลงไปสู่มหาสมุทร เวลาที่เต็มเปี่ยมด้วยโลกุตรธรรมในภายใน ดุจเวลาที่สระเต็มเปี่ยมด้วยน้ำที่เข้าไปทางน้ำไหลเข้า เวลาที่ขึ้นสู่ธรรมปราสาท นั่งเอิบอิ่มผลสมาบัติมีนิพพานเป็นอารมณ์ ดุจการที่บุคคลสร้างรั้วไว้โดยรอบ แล้วปลูกต้นไม้ สร้างปราสาทในท่ามกลางสวน หานักฟ้อนมาบำรุงบำเรอแล้วนั่งบริโภคอาหารที่ดี.
               คำที่เหลือในบทนี้มีเนื้อความง่ายทั้งนั้น.
               ก็เทศนาตรัสคละกันทั้งโลกิยะและโลกุตระ.
               จบอรรถกถาชัมพาลีสูตรที่ ๘               

               อรรถกถานิพพานสูตรที่ ๙               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิพพานสูตรที่ ๙ ดังต่อไปนี้ :-
               ในบททั้งหลายมีอาทิว่า หานภาคิยา สญฺญา พึงทราบความโดยนัยที่ท่านกล่าวไว้แล้วในอภิธรรมนั่นแล อย่างนี้ว่า การมนสิการด้วยสัญญาอันสหรคตด้วยกาม ย่อมทำผู้ได้ปฐมฌานให้ฟุ้งซ่าน สัญญาก็ชื่อ หานภาคินี (สัญญาฝ่ายเสื่อม).
               บทว่า ยถาภูตํ นปฺปชานาติ ได้แก่ ไม่รู้ด้วยมรรคญาณตามความเป็นจริง.
               จบอรรถกถานิพพานสูตรที่ ๙               

               อรรถกถามหาปเทสสูตรที่ ๑๐               
               พึงทราบวินิจฉัยในมหาปเทสสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า โภคนคเร วิหรติ ได้แก่ ในปรินิพพานสมัย พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกไปนครนั้นแล้วประทับอยู่.
               บทว่า อานนฺทเจติเย ได้แก่ ในวิหารอันตั้งอยู่ตรงสถานที่เป็นภพของอานันทยักษ์.
               บทว่า มหาปเทเส แปลว่า โอกาสใหญ่หรือข้ออ้างใหญ่. อธิบายว่า เหตุใหญ่ ที่กล่าวอ้างคนใหญ่ๆ มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น.
               บทว่า เนว อภินนฺทิตพฺพํ ความว่า ภาษิตนั้นอันเธอทั้งหลายผู้ร่าเริงยินดี ให้สาธุการแล้วไม่พึงฟังก่อนอย่าเพิ่งเชื่อ เพราะเมื่อมีผู้กระทำอย่างนี้ ภิกษุนั้นแม้จะถูกต่อว่าในภายหลังว่า คำนี้ไม่สม ก็ยังกล่าวว่า เมื่อก่อนนี้เป็นธรรม บัดนี้ไม่ใช่ธรรมเสียแล้วหรือ ดังนี้แล้วไม่ย่อมสละลัทธิ.
               บทว่า นปฺปฏิกฺโกสิตพฺพํ ได้แก่ ไม่พึงกล่าวก่อนว่าคนโง่นี้พูดอะไร. เพราะเมื่อกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุนั้นจักไม่กล่าวถึงแม้ข้อที่ถูกและไม่ถูก. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อนภินนฺทิตฺวา อปฺปฏิกฺโกสิตฺวา ดังนี้.
               บทว่า ปทพฺยญฺชนานิ ได้แก่ พยัญชนะกล่าวคือบท.
               บทว่า สาธุกํ อุคฺคเหตฺวา ได้แก่ เรียนด้วยดีว่า ท่านกล่าวบาลีไว้ในที่นี้ กล่าวความไว้ในที่นี้ กล่าวอนุสนธิไว้ในที่นี้ กล่าวคำต้นคำปลายไว้ในที่นี้ ดังนี้.
               บทว่า สุตฺเต โอตาเรตพฺพานิ ได้แก่ พึงเทียบเคียงกันในพระสูตร.
               บทว่า วินเย สนฺทสฺเสตพฺพานิ ได้แก่ พึงสอบสวนในพระวินัย.
               ในที่นี้ ท่านกล่าววินัยว่าเป็นสูตร ดังที่ท่านกล่าวไว้ในสุตตวิภังค์ว่า คัดค้านไว้ในที่ไหน คัดค้านไว้ในกรุงสาวัตถี.
               ขันธกะท่านเรียกว่าวินัย ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า โกสมฺพิยํ วินยาติสาเร ดังนี้. ไม่ยึดถือเอาแม้วินัยปิฎกอย่างนี้ แต่ถือเอาวินัยปิฎกอย่างนี้ว่า อุภโตวิภังค์เป็นพระสูตร ขันธกะแลปริวารเป็นพระวินัยดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ถือเอาปิฎกสองอย่างนี้คือ สุตตันตปิฎกเป็นพระสูตร วินัยปิฎกเป็นพระวินัย. หรือว่าไม่ถือเอาปิฎกสามอย่างนี้ก่อน คือสุตตันตปิฎก และอภิธัมมปิฎกเป็นพระสูตร วินัยปิฎกเป็นพระวินัย
               จริงอยู่ ชื่อว่าพุทธพจน์ที่ไม่มีชื่อว่าสูตรมีอยู่ คือ ชาดก ปฏิสัมภิทา นิเทศ สุตนิบาต ธรรมบท อุทาน อิติวุตตกะ วิมานวัตถุ เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา อปทาน แต่พระสุทินนเถระคัดค้านพุทธพจน์นั้นทั้งหมดว่าพุทธพจน์ที่ไม่มีชื่อว่าสูตรนั้นไม่มีดังนี้ แล้วกล่าวว่าปิฎก ๓ เป็นพระสูตร แต่วินัยเป็นการณะ.
               เมื่อจะแสดงถึงการณะต่อจากนั้น จึงกล่าวสูตรนี้ว่า
               ดูก่อนโคตมี ท่านพึงรู้ธรรมเหล่าใด ธรรมเหล่านี้ย่อมเป็นไปเพื่อประกอบด้วยราคะ ไม่เป็นไปเพื่อปราศจากราคะ ย่อมเป็นไปเพื่อสังโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อปราศจากสังโยชน์ ย่อมเป็นไปเพื่อความยึดมั่น ไม่เป็นไปเพื่อความไม่ยึดมั่น ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักมาก ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่สันโดษ ไม่เป็นไปเพื่อความสันโดษ ย่อมเป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ไม่เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร ย่อมเป็นไปเพื่อความคลุกคลี ไม่เป็นไปเพื่อความวิเวก ย่อมเป็นไปเพื่อความสะสม ไม่เป็นไปเพื่อความไม่สะสม
               ดูก่อนโคตมี ท่านพึงรู้โดยส่วนเดียวว่า นี้ไม่ใช่ธรรม นี้ไม่ใช่วินัย นี้ไม่ใช่คำสอนของพระศาสดา ดังนี้
               ดูก่อนโคตมี ท่านพึงรู้ธรรมเหล่าใด ธรรมเหล่านี้ย่อมเป็นไปเพื่อความปราศจากราคะ ไม่เป็นไปเพื่อความมีราคะ ย่อมเป็นไปเพื่อปราศจากสังโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อสังโยชน์ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่ยึดมั่น ไม่เป็นไปเพื่อความยึดมั่น ย่อมเป็นไปเพื่อความมักน้อย ไม่เป็นไปเพื่อความมักมาก ย่อมเป็นไปเพื่อความสันโดษ ไม่เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษ ย่อมเป็นไปเพื่อปรารภความเพียร ไม่เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ย่อมเป็นไปเพื่อวิเวก ไม่เป็นไปเพื่อความคลุกคลี ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่สะสม ไม่เป็นไปเพื่อความสะสม
               ดูก่อนโคตมี ท่านพึงรู้โดยส่วนเดียวว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา.
               เพราะฉะนั้น ความในข้อนี้จึงมีดังนี้ว่า
               บทว่า สุตฺเต ได้แก่ พึงเทียบเคียงในพุทธพจน์คือปิฎก ๓.
               บทว่า วินเย นี้ ได้แก่ พึงสอบสวนในเหตุแห่งการกำจัดกิเลสมีราคะเป็นต้น อย่างหนึ่ง.
               บทว่า น เจว สุตฺเต โอตรนฺติ ความว่า บทพยัญชนะทั้งหลาย ไม่มาในที่ไหนๆ ตามลำดับ ในพระสูตร ยกเปลือกขึ้นแล้ว ปรากฏชัดว่ามาจากคัมภีร์ คุฬหเวสสันตระ คุฬหอุมมัคคะ คุฬหวินัยและเวทัลลปิฎกอย่างใดอย่างหนึ่ง (เป็นคัมภีร์ปายมหายาน). ก็บทพยัญชนะที่มาแล้วอย่างนี้ และไม่ปรากฏในการนำกิเลสมีราคะเป็นต้นออกไป ก็พึงทิ้งเสีย. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อิติ หิทํ ภิกฺขเว ฉฑฺเฑยฺยาถ ดังนี้.
               พึงทราบความในบททุกบท โดยอุบายนี้.
               บทว่า อิทํ ภิกฺขเว จตุตฺถํ มหาปเทสํ ธาเรยฺยาถ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงทรงจำไว้ ซึ่งโอกาสเป็นที่ประดิษฐานธรรมข้อที่ ๔ นี้ไว้.
               จบอรรถกถามหาปเทสสูตรที่ ๑๐               
               จบสัญเจตนิยวรรควรรณนาที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต จตุตถปัณณาสก์ ๓. สัญเจตนิยวรรค จบ.
อ่านอรรถกถา 21 / 1อ่านอรรถกถา 21 / 161อรรถกถา เล่มที่ 21 ข้อ 171อ่านอรรถกถา 21 / 181อ่านอรรถกถา 21 / 274
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=21&A=4300&Z=4616
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=9001
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=9001
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :