ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 21 / 1อ่านอรรถกถา 21 / 23อรรถกถา เล่มที่ 21 ข้อ 24อ่านอรรถกถา 21 / 25อ่านอรรถกถา 21 / 274
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ อุรุเวลวรรคที่ ๓
๔. กาฬกสูตร

               อรรถกถากาฬกสูตรที่ ๔               
               กาฬกสูตรที่ ๔ ตั้งขึ้นเพราะอัตถุปปัตติเหตุเกิดเรื่อง.
               ถามว่า เหตุเกิดเรื่องอะไร. ตอบว่า เรื่องพระคุณของพระทศพล.
               ได้ยินว่า นางจูฬสุภัททา ธิดาของอนาถบิณฑิกะหมายใจจักไปเป็นแม่ศรีเรือนของบุตรกาฬกเศรษฐี ณ นครสาเกต จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักไปมีสามี ณ ตระกูลของคนมิจฉาทิฏฐิ ถ้าข้าแต่พระองค์จักได้รับนับถือในตระกูลนั้น เมื่อจะส่งบุรุษคนหนึ่งมา ก็จักเนิ่นช้า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์โปรดนึกถึงข้าพระองค์บ้างดังนี้ ได้รับการรับรองแล้วก็ไป.
               ท่านกาฬกเศรษฐีคิดว่า ลูกสะใภ้ของเรามาแล้ว เมื่อทำงานมงคลจึงได้จัดของกินและของบริโภคเป็นอันมาก ได้เชิญชีเปลือย ๕๐๐ มา. เมื่อชีเปลือยเหล่านั้นนั่งแล้ว ท่านเศรษฐีจึงส่งคนไปบอกนางจูฬสุภัททาว่า ลูกสาวของพ่อจงมาไหว้พระอรหันต์.
               อริยสาวิกาผู้บรรลุผลแล้ว พอเขาพูดว่า พระอรหันต์เท่านั้นก็ลุกขึ้นไปด้วยคิดว่า ลาภของเราหนอ. พอได้เห็นชีเปลือยซึ่งแสดงว่าไม่มีศักดิ์ศรีเหล่านั้น จึงพูดว่า คุณพ่อขา ธรรมดาสมณะทั้งหลายไม่ใช่ไม่มีหิริภายใน ไม่ใช่ไม่มีโอตตัปปะภายนอกนี่ค่ะ คิดว่า พวกนี้มิใช่สมณะ จึงถ่มน้ำลายเดินกลับไปยังสถานที่อยู่ของตน.
               ครั้งนั้น พวกชีเปลือยพูดว่า ท่านมหาเศรษฐี หญิงกาลกรรณีเช่นนี้ ท่านได้มาแต่ไหน ทั่วชมพูทวีป ไม่มีหญิงสาวอื่นหรือ แล้วก็พากันบริภาษเศรษฐี. ท่านเศรษฐีจึงขอร้องว่า ท่านอาจารย์ กรรมอันข้าพเจ้ารู้หรือไม่รู้ ก็ได้ทำลงไปแล้วละ ข้าพเจ้าจักรู้เรื่องนั้นดังนี้ ส่งพวกชีเปลือยไปแล้ว ก็ไปหานางสุภัททาถามว่า แม่หนู เหตุไรเจ้าจึงได้ทำอย่างนี้ เหตุไรเจ้าจึงทำให้พระอรหันต์อับอาย.
               นางตอบว่า คุณพ่อขา ธรรมดาว่าพระอรหันต์ไม่เป็นอย่างนี้.
               ครั้งนั้น ท่านเศรษฐีจึงพูดกะนางว่า
                                   สมณะของเจ้าเป็นอย่างไร เจ้าจึง
                         สรรเสริญท่านนักหนา สมณะของเจ้ามีศีล
                         อย่างไร มีมรรยาทอย่างไร เจ้าถูกถาม
                         แล้ว จงบอกความข้อนั้นแก่พ่อ.
               นางจึงตอบว่า
                                   ท่านผู้มีอินทรีย์สงบ ใจสงบ ตั้งอยู่
                         ในมรรคมีคุณอันสงบ มีจักษุทอดลง
                         พูดพอประมาณ สมณะของลูกเป็นเช่นนี้
                         เจ้าค่ะ สมณะเหล่านี้ตัดเครื่องผูก เข้าป่า
                         อยู่ตามลำพัง ไม่มีเพื่อน เหมือนช้างตัด
                         เครื่องผูก สมณะของลูกเป็นเช่นนี้เจ้าค่ะ.
               ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงยืนกล่าวพระคุณของพระรัตนตรัยต่อหน้าเศรษฐี. เศรษฐีฟังคำของนางแล้ว จึงกล่าวว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น เราจะนำสมณะของเจ้ามาทำมงคลดังนี้. นางถามว่า คุณพ่อจะทำเมื่อไร. เศรษฐีคิดว่า เมื่อเราบอกว่า ๒-๓ วัน นางก็จะพึงส่งทูตไปให้เรียกมาดังนี้ เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงได้บอกกะนางว่า พรุ่งนี้สิ แม่หนู.
               ในเวลาเย็น นางขึ้นปราสาทชั้นบน ถือภาชนะดอกไม้ขนาดใหญ่ ระลึกถึงพระคุณของพระศาสดาแล้วจึงซัดกำดอกไม้ ๘ กำไปเพื่อพระทศพล แล้วประคองอัญชลี ยืนนอบน้อมอยู่. นางได้กล่าวอย่างนี้ว่า พรุ่งนี้ ขอพระองค์โปรดทรงรับภิกษาของข้าพระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป. ดอกไม้เหล่านั้นไปประดิษฐานเป็นเพดานเบื้องบนพระทศพล.
               พระศาสดา เมื่อทรงนึกถึงก็ได้ทรงเห็นเหตุนั้น ในเวลาจบพระธรรมเทศนา อนาถบิณฑิกมหาเศรษฐีนมัสการพระทศพลแล้วทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันพรุ่งนี้ขอพระองค์จงรับภิกษาในเรือนของข้าพระองค์พร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูป.
               พระศาสดาตรัสว่า ท่านเศรษฐี เรารับนิมนต์นางจูฬสุภัททาไว้แล้ว.
               ท่านเศรษฐีทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่เห็นใครมา.
               พระศาสดาตรัสว่า ถูกละท่านเศรษฐี แต่อุบาสิกาผู้เป็นสัตบุรุษอยู่แต่ไกลแม้สุดพันโยชน์ก็ย่อมปรากฏได้ เหมือนภูเขาหิมวันต์ จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
                         เหล่าสัตบุรุษปรากฏชัดในที่ไกล เหมือน
                         หิมวันตบรรพต ส่วนเหล่าอสัตบุรุษ อยู่ที่
                         นั่นเองก็ไม่มีใครเห็น เหมือนลูกศรที่ยิง
                         ไปเวลากลางคืน.

               อนาถบิณฑิกะทูลว่า ขอพระองค์โปรดทรงสงเคราะห์ธิดาของข้าพระองค์เถิด พระเจ้าข้าดังนี้ ถวายบังคมแล้วก็กลับไป.
               พระศาสดาตรัสกะพระอานนท์ว่า อานนท์ เราจักไปนครสาเกต เธอจงให้สลากแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป แต่เมื่อจะให้เธอพึงให้แก่พวกภิกษุผู้บรรลุอภิญญา ๖ เท่านั้น. พระเถระก็ได้ทำอย่างนั้น.
               ในตอนดึกแห่งราตรี นางจูฬสุภัททาคิดว่า ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงมีกิจมาก ทรงมีกรณียมาก จะทรงกำหนดหรือไม่ทรงกำหนด (ก็ไม่รู้) เราจักทำอย่างไรหนอ.
               ขณะนั้น ท้าวเวสสุวรรณมหาราชได้กล่าวกับนางจูฬสุภัททาว่า แม่นางสุภัททา เธออย่าใจเขว อย่าใจเสียไปเลย พระผู้มีพระภาคเจ้ากับภิกษุสงฆ์ทรงรับนิมนต์เพื่อเสวยภัตตาหารในวันพรุ่งนี้ไว้แล้ว. นางยินดีร่าเริงตระเตรียมทานอย่างเดียว.
               แม้ท้าวสักกเทวราชทรงเรียกวิสสุกรรมมาสั่งว่า พ่อเอย พระทศพลจักเสด็จไปยังสำนักของนางจูฬสุภัททา นครสาเกต ท่านจงสร้างเรือนยอด ๕๐๐ หลัง. วิสสุกรรมเทพบุตรนั้นก็ได้ทำตามเทวโองการ.
               พระศาสดาอันภิกษุผู้ได้อภิญญา ๖ จำนวน ๕๐๐ รูปแวดล้อมแล้ว ได้เสด็จไปยังนครสาเกต ด้วยกูฏาคารยานมีเรือนยอดประหนึ่งรอยขีดอากาศที่มีสีดังแก้วมณี.
               นางจูฬสุภัททาถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์มีองค์พระพุทธเจ้าเป็นประมุข ถวายบังคมพระศาสดาทูลว่า ฝ่ายพ่อผัวของข้าพระองค์เป็นมิจฉาทิฏฐิ สาธุ ขอพระองค์จงโปรดตรัสธรรมอันควรแก่ชนเหล่านั้นด้วยเถิด พระเจ้าข้า.
               พระศาสดาทรงแสดงธรรมแล้ว. ท่านกาฬกเศรษฐีเป็นโสดาบันได้ถวายอุทยานของตนแด่พระทศพล. พวกชีเปลือยไม่ปรารถนาที่จะออกไปด้วยคิดว่า ท่านเศรษฐีให้แก่พวกเราก่อนดังนี้. ท่านเศรษฐีสั่งให้นำชีเปลือยทั้งหมดออกไปด้วยกล่าวว่า พวกท่านจงไป นำพวกชีเปลือยเหล่านั้นไปโดยวิธีการที่จะพึงนำออกไปเสียดังนี้แล้ว จึงให้สร้างวิหารลงในที่ตรงนั้นนั่นเอง แล้วหลั่งน้ำทำให้เป็นพรหมไทยอุทิศถวาย วิหารนั้นจึงชื่อว่ากาฬการาม เพราะกาฬกเศรษฐีให้สร้างไว้.
               สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กาฬการามนั้น ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สาเกเต วิหรติ กาฬการาเม ดังนี้.
               บทว่า ภิกฺขุ อามนฺเตสิ ได้แก่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุ ๕๐๐ รูปมา.
               ได้ยินว่า ภิกษุเหล่านั้นเป็นกุลบุตรชาวนครสาเกต ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้ว บวชในสำนักของพระศาสดา นั่งอยู่ ณ ศาลาที่เฝ้ากล่าวคุณของพระทศพลว่า โอ! ชื่อว่าคุณของพระพุทธเจ้าทั้งหลายใหญ่จริง พระศาสดาทรงเปลื้องกาฬกเศรษฐีผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิเห็นปานนี้ ออกจากมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดได้ ให้บรรลุโสดาปัตติผล ทรงทำทั่วทั้งนครให้เป็นเสมือนเทวโลก.
               พระศาสดาทรงพินิจพิจารณาถึงจิตของภิกษุผู้กล่าวสรรเสริญเหล่านั้น จึงทรงดำริว่า เมื่อเราไป เทศนากัณฑ์ใหญ่จักตั้งขึ้น เวลาจบเทศนา ภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านี้จักตั้งอยู่ในพระอรหัต แผ่นดินใหญ่จักไหวถึงน้ำรองแผ่นดินดังนี้ เสด็จยังธรรมสภา ประทับบนบวรพุทธาสนะที่เขาจัดถวาย ทรงทำภิกษุเหล่านั้นให้เป็นเบื้องต้นแล้ว จึงทรงเริ่มเทศนานี้ว่า ยํ ภิกฺขเว สเทวกสฺส โลกสฺส ดังนี้.
               พระสูตรนี้ พึงทราบว่า ตั้งขึ้นเพราะเรื่องพระคุณด้วยประการฉะนี้. เวลาจบเทศนา แผ่นดินใหญ่ได้ไหวถึงนำรองแผ่นดินแล้ว.
               บทว่า อพฺภญฺญาสึ ได้แก่ ได้รู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง. อธิบายว่า ตรัสรู้แล้ว.
               บทว่า วิทิตํ ได้แก่ รู้แล้วทำให้ปรากฏได้.
               ด้วยบทนี้ ทรงแสดงความข้อนี้ว่า ชนเหล่าอื่นรู้อย่างเดียว แต่เรารู้แล้วทำให้ปรากฏด้วย. ชื่อว่าภูมิแห่งพระสัพพัญญุตญาณ ตรัสด้วยสามบทเหล่านี้.
               บทว่า ตํ ตถาคเตน น อุปฏฺฐาสิ ความว่า อารมณ์อันเป็นไปในทวารหกนั้นไม่ปรากฏ คือไม่เข้าไปถึงตถาคตด้วยตัณหาหรือด้วยทิฏฐิ ก็จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นี้ทรงเห็นรูปด้วยจักษุ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงมีฉันทราคะ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงมีจิตหลุดพ้นดีแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงฟังเสียงด้วยโสตะ ทรงดมกลิ่นด้วยฆานะ ทรงลิ้มรสด้วยชิวหา ทรงถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ทรงรู้สึกธรรมด้วยมนัส พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงมีฉันทราคะ ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงมีจิตหลุดพ้นดีแล้ว ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า ตํ ตถาคเตน น อุปฏฺฐาสิ ดังนี้.
               ก็แล ภูมิแห่งพระขีณาสพ พึงทราบว่า ตรัสด้วยบทนี้.
               บทว่า ตํ มมสฺส มุสา ความว่า คำนั้นแล พึงชื่อว่า มุสาวาท.
               บทว่า ตํปิสฺส ตาทิสเมว คำนั้นก็พึงเป็นโทษแก่เรา. ชื่อว่าสัจจภูมิ พึงทราบว่า ตรัสด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้.
               บทว่า ทิฏฺฐา ทิฏฺฐพพํ ได้แก่ เห็นรูปที่เห็นแล้วควรเห็น.
               บทว่า ทิฏฺฐํ น มญฺญติ ความว่า ย่อมไม่สำคัญอายตนะคือรูปที่เห็นแล้วนั้นด้วยตัณหามานะทิฏฐิว่า เราก็เห็นรูปที่มหาชนเห็นแล้วเหมือนกัน.
               บทว่า อทิฏฺฐํ น มญฺญติ ความว่า ย่อมไม่สำคัญด้วยตัณหาเป็นต้น แม้อย่างนี้ว่า เราเห็นรูปนั้นที่มหาชนยังไม่เห็น.
               บทว่า ทิฏฺฐพฺพํ น มญฺญติ ความว่า ย่อมไม่สำคัญด้วยความสำคัญเหล่านั้น แม้อย่างนี้ว่า เราก็เห็นรูปที่มหาชนเห็นแล้วดังนี้.
               ความจริง รูปที่ควรเห็นก็เป็นรูปที่มหาชนเห็นแล้วนั่นเอง. ก็คำเห็นปานนี้ ผู้ศึกษาย่อมหาได้แม้ในสามกาล. เนื้อความของคำเหล่านั้นตรัสแล้วด้วยบทนั้น.
               บทว่า ทิฏฺฐารํ (บาลีว่า ทิฏฺฐานํ) น มญฺญติ ความว่า ย่อมไม่สำคัญ ผู้เห็นนี้ชื่อว่าสัตว์ผู้หนึ่ง ด้วยความสำคัญเหล่านั้น. แม้ในฐานะที่เหลือ ก็พึงทราบเนื้อความโดยนัยนี้นี่แล. ชื่อว่าสุญญตาภูมิ ภูมิคือความว่างเปล่า ก็ตรัสด้วยฐานะประมาณเท่านี้.
               บทว่า อิติ โข ภิกฺขเว แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล.
               บทว่า ตาทิโสว ตาที ความว่า ความเป็นเหมือนหนึ่ง ชื่อว่าความคงที่.
               จริงอยู่ พระตถาคตเป็นเช่นใดในอิฏฐารมณ์มีลาภเป็นต้น ในอนิฏฐารมณ์มีเสื่อมลาภเป็นต้นก็เป็นเช่นนั้น ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ตถาคตเป็นผู้คงที่ทั้งในลาภ ทั้งในความเสื่อมลาภ เป็นผู้คงที่ทั้งในยศ ทั้งในความเสื่อมยศ เป็นผู้คงที่ทั้งในนินทา ทั้งในสรรเสริญ เป็นผู้คงที่ทั้งในสุข ทั้งในทุกข์ ดังนี้. ตถาคตชื่อว่าตาที เช่นนั้นก็เพราะความเป็นผู้คงที่นี้.
               บทว่า ตมฺหา จ ปน ตาทิมฺหา ความว่า ชื่อว่าภูมิแห่งผู้คงที่ ตรัสด้วยคำประมาณเท่านี้ว่า ไม่มีผู้คงที่อื่นที่ยิ่งกว่า หรือประณีตกว่าความคงที่ของตถาคตนั้นดังนี้. เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยักย้ายเทศนาด้วยภูมิ ๕ เหล่านี้ มหาปฐพีก็ได้ไหว เป็นพยานในฐานะ ๕. เวลาจบเทศนา สัตว์คือเทวดาและมนุษย์จำนวน ๘๔,๐๐๐ ผู้มาถึงที่นั้นรวมทั้งกุลบุตร ๕๐๐ ซึ่งบวชใหม่เหล่านั้นเป็นต้นก็พากันดื่มน้ำปานะคืออมฤตธรรมแล้ว.
               แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจบพระสูตรลงแล้ว เมื่อจะทรงถือยอดธรรมด้วยคาถาทั้งหลาย จึงตรัสคำว่า ยงฺกิญฺจิ เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อชฺโฌสิตํ สจฺจมุตํ ปเรสํ ความว่า สิ่งที่ได้เห็นเป็นต้น ที่คนเหล่าอื่นสำคัญว่าจริง แล้วติดใจด้วยความเชื่อที่ดำเนินตามคนอื่น คือกลืนเอาไว้เสร็จสรรพ.
               บทว่า สยสํวุเตสุ ความว่า ในการถือสิ่งที่ตนระวังอยู่เอง คือประพฤติถือแล้ว. อธิบายว่า ในคนที่มีทิฏฐิเป็นคติ. ด้วยว่า พวกคนที่มีทิฏฐิเป็นคติ เขาก็เรียกกันว่า สยํสํวุตา (อันตนระวังอยู่เอง).
               บทว่า สจฺจํ มุสา วาปิ ปรํ ทเหยฺย ความว่า ตถาคตเป็นผู้คงที่ในคนที่มีทิฏฐิเป็นคติ กล่าวคืออันตนระวังอยู่เองเหล่านั้น ไม่พึงถือ ไม่พึงเชื่อ ไม่พึงประพฤติตามคำ แม้คำหนึ่งของคนเหล่านั้นว่า จริงหรือไม่จริงให้บอกไปคือให้สูงสุด อย่างนี้ว่า นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง ดังนี้.
               บทว่า เอตญฺจ สลฺลํ คือ เราเห็นลูกศรคือทิฏฐิอันนี้.
               บทว่า ปฏิกจฺจ ทิสฺวา ความว่า เราเห็นมาก่อน ณ โคนโพธิพฤกษ์.
               บทว่า วิสตฺตา ความว่า ประชาชนติดข้อง พัวพันอยู่.
               ในบทว่า ชานามิ ปสฺสามิ ตเถว เอตํ นี้ ความว่า หมู่สัตว์นี้ติดใจกลืนเสร็จสรรพ ก็ติดก็ข้องก็พัวพัน แม้เราก็ได้รู้เห็นสิ่งนั้น สิ่งนั้นก็เหมือนที่หมู่สัตว์นี้ยึดถือกันไว้ แต่ตถาคตทั้งหลายไม่ติดใจอย่างนั้น.

               จบอรรถกถากาฬกสูตรที่ ๔               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ อุรุเวลวรรคที่ ๓ ๔. กาฬกสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 21 / 1อ่านอรรถกถา 21 / 23อรรถกถา เล่มที่ 21 ข้อ 24อ่านอรรถกถา 21 / 25อ่านอรรถกถา 21 / 274
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=21&A=635&Z=670
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=7021
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=7021
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :