ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 21 / 1อ่านอรรถกถา 21 / 27อรรถกถา เล่มที่ 21 ข้อ 28อ่านอรรถกถา 21 / 29อ่านอรรถกถา 21 / 274
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ อุรุเวลวรรคที่ ๓
๘. อริยวังสสูตร

               อรรถกถาอริยวังสสูตรที่ ๘               
               อริยวังสสูตรที่ ๘ ตั้งขึ้นมีอัธยาศัยของพระองค์เป็นอัตถุปปัตติเหตุ เกิดเรื่อง.
               ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งเหนือบวรพุทธาสน์ที่เขาจัดถวาย ณ ธรรมสภา พระเชตวันมหาวิหาร ตรัสเรียกภิกษุสี่หมื่นรูปผู้นั่งแวดล้อมว่า ภิกฺขเว ดังนี้แล้ว จึงทรงเริ่มมหาอริยวังสสูตรนี้ว่า จตฺตาโรเม ภิกฺขเว อริยวํสา เป็นต้น ด้วยอำนาจอัธยาศัยของพระองค์บ้าง ของบุคคลอื่นบ้าง.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อริยวํสา คือ วงศ์ของพระอริยะทั้งหลาย.อริยวงศ์ที่แปดแม้นี้ เป็นสายของพระอริยะ ชื่อว่าเป็นประเพณีเชื้อสายของพระอริยะ เหมือนขัตติยวงศ์ พราหมณวงศ์ เวสสวงศ์ สุททวงศ์ สมณวงศ์ กุลวงศ์ ราชวงศ์ฉะนั้น.
               ก็วงศ์นี้นั้นท่านกล่าวว่าเป็นยอดของวงศ์เหล่านี้ เหมือนกลิ่นกระลำพักเป็นต้น เป็นยอดของไม้มีกลิ่นเกิดที่รากเป็นต้น.
               ถามว่า ก็คนเหล่าไหน คืออริยะ วงศ์ของอริยะ.
               ตอบว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย และสาวกของพระตถาคตทั้งหลาย ท่านเรียกว่าพระอริยะ วงศ์ของพระอริยะเหล่านั้นจึงรวมเรียกว่าอริยวงศ์. ก่อนแต่กาลนี้ไป ในที่สุดสี่อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป เกิดพระพุทธเจ้าขึ้น ๔ พระองค์ คือ พระตัณหังกระ ๑ พระเมธังกระ ๑ พระสรณังกระ ๑ พระทีปังกระ ๑ ดังนี้ วงศ์ของพระอริยะเหล่านั้นรวมชื่อว่าอริยวงศ์. ภายหลังแต่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้าเหล่านั้น ล่วงไปหนึ่งอสงไขยเกิดพระพุทธเจ้าพระนามว่า โกณฑัญญะ ฯลฯ ในกัปนี้เกิดพระพุทธเจ้าขึ้น ๔ พระองค์ คือ พระกกุสันธะ ๑ พระโกนาคมนะ ๑ พระกัสสปะ ๑ พระผู้มีพระภาคเจ้าโคตมะของพวกเรา ๑ ดังนี้ วงศ์ของพระอริยะเหล่านั้น รวมชื่อว่าอริยวงศ์.
               อีกอย่างหนึ่ง วงศ์ของพระอริยะทั้งหลาย คือ พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ปัจเจกพุทธเจ้าและพุทธสาวก ทั้งอดีต อนาคตและปัจจุบัน รวมชื่อว่าอริยวงศ์.
               ก็แลวงศ์แห่งพระอริยะเหล่านี้นั้น ชื่อว่า อคฺคญฺญา ได้แก่ พึงรู้ว่าล้ำเลิศ. ชื่อว่า รตฺตญฺญา ได้แก่ พึงรู้ว่าประพฤติมานานแล้ว. ชื่อว่า วํสญฺญา ได้แก่ พึงรู้ว่าเป็นวงศ์ คือ เชื้อสาย. ชื่อว่า โปราณา ได้แก่ มิใช่เกิดขึ้นเดี๋ยวนี้. ชื่อว่า อสํกิณฺณา ได้แก่ มิใช่กระจัดกระจาย มิใช่ถูกทอดทิ้ง.
               บทว่า อสํกิณฺณปุพฺพา ได้แก่ ไม่เคยกระจัดกระจาย พระพุทธเจ้าในอดีตไม่เคยทอดทิ้งด้วยเข้าใจว่า ประโยชน์อะไรด้วยอริยวงศ์เหล่านี้.
               บทว่า น สํกิยนฺติ ได้แก่ แม้บัดนี้ ท่านเหล่านั้นก็ไม่ทอดทิ้ง.
               บทว่า น สํกิยิสฺสนฺติ ได้แก่ แม้พระพุทธเจ้าในอนาคต ก็จักไม่ทอดทิ้ง. สมณพราหมณ์เหล่าใดที่เป็นผู้รู้ในโลก อริยวงศ์เหล่านี้อันสมณพราหมณ์เหล่านั้น ไม่คัดค้านแล้ว คือ สมณพราหมณ์ผู้รู้ไม่ตำหนิ ไม่ติเตียนแล้ว.
               บทว่า สนฺตุฏโฐ โหติ ความว่า เป็นผู้สันโดษด้วยปัจจยสันโดษ.
               บทว่า อิตริตเรน ความว่า เป็นผู้สันโดษด้วยปัจจัย หยาบ ละเอียด เศร้าหมอง ประณีต ถาวรและเก่าอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               โดยที่แท้ ภิกษุย่อมเป็นผู้สันโดษด้วยปัจจัยตามที่ได้แล้วเป็นต้น ตามมีตามได้ คืออย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ในจีวรสันโดษมีสามคือ ยถาลาภสันโดษ ยินดีตามที่ได้ ยถาพลสันโดษ ยินดีตามกำลัง ยถาสารุปปสันโดษ ยินดีตามสมควร.
               แม้ในบิณฑบาตเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               เรื่องพิสดารแห่งสันโดษเหล่านั้น พึงทราบโดยนัยที่ท่านกล่าวแล้วในพระสูตรนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้สันโดษดังนี้เป็นต้น. ดังนั้น ท่านหมายถึงสันโดษสามเหล่านี้ จึงกล่าวว่า ภิกษุเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ คือเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรตามที่ได้แล้วเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้.
               ก็ในจีวรสันโดษนี้ ภิกษุพึงรู้จักจีวร พึงรู้จักเขตจีวร พึงรู้จักบังสุกุลจีวร พึงรู้จักสันโดษด้วยจีวร พึงรู้จักธุดงค์ที่เกี่ยวกับจีวร.
               ในข้อเหล่านั้น ข้อว่า พึงรู้จักจีวร ได้แก่ พึงรู้จักกับปิยจีวร ๑๒ ชนิดเหล่านี้คือ จีวร ๖ ที่ทำด้วยเปลือกไม้เป็นต้น และจีวรอันอนุโลม ๖ ที่ทำด้วยผ้าเนื้อดีเป็นต้น.
               และพึงรู้จักอกัปปิยจีวรเป็นต้นอย่างนี้คือ จีวรที่ทำด้วยเปลือกไม้กรอง จีวรทำด้วยปอ จีวรทำด้วยแผ่นไม้กรอง ผ้ากัมพลทำด้วยผมคน ผ้าใบลาน หนังเสือ ปีกนกเค้า ผ้าทำด้วยต้นไม้ ผ้าทำด้วยเถาวัลย์ ผ้าทำด้วยตะไคร้น้ำ ผ้าทำด้วยต้นกล้วย ผ้าทำด้วยไม้ไผ่.
               ข้อว่า พึงรู้จักเขตจีวร ได้แก่ พึงรู้จักเขต ๖ โดยการเกิดขึ้นอย่างนี้ คือ เกิดโดยสงฆ์บ้าง คณะบ้าง ญาติบ้าง มิตรบ้าง ทรัพย์ของตนบ้าง บังสุกุลบ้าง
               และพึงรู้จักเขต ๘ ด้วยมาติกา ๘.
               ข้อว่า พึงรู้จักบังสุกุลจีวร ได้แก่ พึงทราบผ้าบังสุกุล ๒๓ อย่างคือ
                         ๑. ผ้าที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า
                         ๒. ผ้าที่เขาทิ้งในตลาด
                         ๓. ผ้าที่เขาทิ้งตามทางรถ
                         ๔. ผ้าที่เขาทิ้งในกองขยะ
                         ๕. ผ้าเช็ดครรภ์มลทินของหญิงคลอดบุตร
                         ๖. ผ้าอาบน้ำ
                         ๗. ผ้าที่เขาทิ้งไว้ตามท่าอาบน้ำหรือท่าข้าม
                         ๘. ผ้าที่เขาห่อคนตายไปป่าช้าแล้วนำกลับมา
                         ๙. ผ้าถูกไฟไหม้แล้วเขาทิ้ง
                         ๑๐. ผ้าที่โคเคี้ยวแล้วเขาทิ้ง
                         ๑๑. ผ้าปลวกกัดแล้วเขาทิ้ง
                         ๑๒. ผ้าหนูกัดแล้วเขาทิ้ง
                         ๑๓. ผ้าริมขาดแล้วเขาทิ้ง
                         ๑๔. ผ้าขาดชายแล้วเขาทิ้ง
                         ๑๕. ผ้าที่เขาทำเป็นธง
                         ๑๖. ผ้าที่เขาบูชาไว้ที่จอมปลวก
                         ๑๗. ผ้าของภิกษุด้วยกัน
                         ๑๘. ผ้าที่คลื่นทะเลซัดขึ้นฝั่ง
                         ๑๙. ผ้าที่เขาทิ้งๆ ไว้ในที่ราชาภิเษก
                         ๒๐. ผ้าที่ตกอยู่ในหนทาง
                         ๒๑. ผ้าที่ถูกลมหอบไป
                         ๒๒. ผ้าสำเร็จด้วยฤทธิ์
                         ๒๓. ผ้าที่เทวดาถวาย.
               ก็ในเรื่องผ้านี้ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               บทว่า โสตฺถิยํ คือ ผ้าที่เขาห่อครรภ์มลทินไปทิ้ง.
               บทว่า คตปจฺจาคตํ ความว่า ผ้าที่เขาห่อคนตายนำไปป่าช้าแล้วนำกลับมา.
               บทว่า ธชาหฏํ คือ ผ้าที่เขาให้ยกเป็นธงขึ้นแล้ว นำกลับมาจากที่นั้น.
               บทว่า ถูปํ คือ ผ้าที่เขาบูชาไว้ที่จอมปลวก.
               บทว่า สามุทฺทิยํ คือ ผ้าที่คลื่นทะเลซัดขึ้นฝั่ง.
               บทว่า ปถิกํ คือ ผ้าพวกคนเดินทาง ทุบด้วยแผ่นหินห่มไปเพราะกลัวโจร.
               บทว่า อิทฺธิมยํ คือ จีวรของเอหิภิกษุ.
               บทที่เหลือชัดแจ้งแล้วแล.
               ข้อว่า พึงรู้จักจีวรสันโดษ ความว่า จีวรสันโดษในจีวรมี ๒๐ คือ
                         ๑. สันโดษด้วยการตรึก
                         ๒. สันโดษด้วยการเดินทาง
                         ๓. สันโดษด้วยการแสวงหา
                         ๔. สันโดษด้วยการได้
                         ๕. สันโดษด้วยการรับพอประมาณ
                         ๖. สันโดษด้วยการเว้นจากความโลเล
                         ๗. สันโดษตามได้
                         ๘. สันโดษตามลำพัง
                         ๙. สันโดษตามสมควร
                         ๑๐. สันโดษด้วยน้ำ
                         ๑๑. สันโดษด้วยการซัก
                         ๑๒. สันโดษด้วยการทำ
                         ๑๓. สันโดษด้วยการกะประมาณ
                         ๑๔. สันโดษด้วยด้าย
                         ๑๕. สันโดษด้วยการเย็บ
                         ๑๖. สันโดษด้วยการย้อม
                         ๑๗. สันโดษด้วยการทำกัปปะ
                         ๑๘. สันโดษด้วยการใช้สอย
                         ๑๙. สันโดษด้วยการเว้นจากการสะสม
                         ๒๐. สันโดษด้วยการสละ.
               ในสันโดษ ๒๐ เหล่านั้นอันภิกษุผู้ยินดี อยู่จำพรรษาตลอดไตรมาสแล้ว ตรึกเพียงหนึ่งเดือนก็ควร. ด้วยว่าเธอปวารณาแล้ว ย่อมทำจีวรในเดือนที่เกิดจีวร. ภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ย่อมทำได้โดยกึ่งเดือนเท่านั้น. การตรึกสิ้นกาลหนึ่งเดือนหรือกึ่งเดือนด้วยประการดังนี้ ชื่อว่าวิตักกสันโดษ ก็อันภิกษุผู้ยินดีด้วยวิตักกสันโดษ พึงเป็นเช่นกับพระเถระผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ผู้อยู่ที่ปาจีนขัณฑราชีวิหาร.
               ได้ยินว่า พระเถระมาด้วยหวังว่า จักไหว้พระเจดีย์ ในเจติยบรรพตวิหาร ไหว้พระเจดีย์แล้วคิดว่า จีวรของเราเก่า เราจักได้ในที่อยู่ของภิกษุมากรูป ท่านไปยังมหาวิหาร พบพระสังฆเถระแล้วจึงถามถึงที่พัก แล้วอยู่ในวิหารนั้น ในวันรุ่งขึ้นจึงถือเอาจีวรมาไหว้พระเถระ. พระเถระกล่าวว่า อะไร ผู้มีอายุ. ท่านตอบว่า ท่านผู้เจริญ กระผมจักไปยังประตูบ้าน. พระเถระกล่าวว่า ผู้มีอายุ แม้เราก็จักไป.
               ท่านรับว่า ดีละขอรับ แล้วจึงเดินไปยืนอยู่ที่ซุ้มประตูแห่งมหาโพธิ คิดว่า เราจักได้จีวรที่ชอบใจ ในที่อยู่ของคนผู้มีบุญทั้งหลาย แล้วคิดว่า ความตรึกตรองเราไม่บริสุทธิ์ จึงกลับเสียจากที่นั่นเอง ในวันรุ่งขึ้นไปสู่ที่ใกล้เนิน ชื่อเปนนัมพนะ ในวันรุ่งขึ้นกลับจากประตูด้านทิศเหนือแห่งมหาเจดีย์อย่างนั้นเหมือนกัน
               แม้ในวันที่ ๔ ก็ได้ไปยังสำนักพระเถระ. พระเถระคิดว่า การตรึกของภิกษุนี้จักไม่บริสุทธิ์ดังนี้แล้ว ถือเอาจีวร ถามปัญหา เข้าไปสู่บ้านกับภิกษุนั้นนั่นเอง.
               ก็ในราตรีนั้น มนุษย์คนหนึ่งปวดอุจจาระแล้วถ่ายอุจจาระรดผ้าจึงทิ้งผ้านั้นไว้ในกองขยะ พระเถระผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เห็นผ้านั้นที่หมู่แมลงวันหัวเขียวไต่ตอม จึงประคองอัญชลี. พระมหาเถระถามว่า ผู้มีอายุ ทำไมท่านจึงประคองอัญชลีแก่กองขยะ. กระผมประคองแก่พระทศพล พระบิดาของกระผม พระทศพลผู้ทรงถือเอาผ้าที่เขาคลุมร่างนางปุณณทาสีทิ้งแล้วเป็นผ้าบังสุกุลทรงสลัดสัตว์เล็กๆ ประมาณตุมพะหนึ่ง แล้วทรงถือเอาจากป่าช้า ทรงทำกิจที่ทำได้ยากแล้ว.
               พระมหาเถระคิดว่า ความตรึกของพระเถระผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรบริสุทธิ์แล้ว แม้พระเถระผู้ถือบังสุกุลเป็นวัตรก็ยืนอยู่ ณ ที่นั้นนั่นเอง เจริญวิปัสสนา บรรลุผลทั้งสามแล้ว ถือเอาผ้าผืนนั้นกระทำเป็นจีวรห่มแล้ว ไปสู่ปาจีนขัณฑราชีวิหาร ได้บรรลุพระอรหัตอันเป็นผลเลิศแล้ว.
               ก็การที่ภิกษุ เมื่อจะไปเพื่อต้องการจีวร ไม่คิดว่า เราจักได้ในที่ไหน ไปโดยมีกัมมัฏฐานเป็นใหญ่เท่านั้น ชื่อว่าคมนสันโดษ (สันโดษด้วยการไป). ก็การที่ภิกษุเมื่อจะแสวงหาจีวร ไม่แสวงหากับภิกษุธรรมดา พาภิกษุผู้มีความละอายน่ารักไปแสวง ชื่อว่าปริเยสนสันโดษ สันโดษด้วยการแสวงหา. การที่ภิกษุแสวงหาอยู่อย่างนี้ เห็นจีวรที่ทายกนำมาแต่ไกล ไม่ตรึกอย่างนี้ว่า จีวรนั้นจักน่าชอบใจ จีวรนั้นจักน่าพอใจ แล้วยินดีด้วยจีวรที่หยาบหรือละเอียดเป็นต้น ตามที่ตนได้แล้วเท่านั้น ชื่อว่าปฏิลาภสันโดษ สันโดษด้วยการได้. การที่ภิกษุแม้เมื่อถือเอาจีวรที่ตนได้แล้วอย่างนี้ ยินดีด้วยจีวรสักว่าเพียงพอแก่ตนเองว่า ผ้าเท่านี้จักเป็นจีวร ๒ ชั้น ผ้าเท่านี้จักเป็นจีวรชั้นเดียว ดังนี้เท่านั้น ชื่อว่ามัตตปฏิคคหณสันโดษ สันโดษด้วยการรับเอาแต่พอดี.
               อนึ่ง การที่ภิกษุแสวงหาจีวรอยู่ ไม่คิดว่า เราจักได้จีวรที่น่าพอใจ ที่ประตูเรือนของคนโน้น แล้วเที่ยวไปตามลำดับประตู ชื่อว่าโลลุปปวิวัชชนสันโดษ สันโดษด้วยการเว้นความโลเลเสีย.
               การที่ภิกษุอาจยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยจีวรที่เศร้าหมองหรือประณีตอย่างใดอย่างหนึ่ง ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยจีวรอันตนได้แล้วอย่างนั่นแล ชื่อว่ายถาลาภสันโดษ สันโดษด้วยปัจจัยตามได้. การรู้จักกำลังของตนแล้วยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยจีวรที่สามารถจะให้เป็นไปได้ ชื่อว่ายถาพลสันโดษ สันโดษด้วยปัจจัยตามกำลัง. การที่ภิกษุถวายจีวรที่ชอบใจแก่ภิกษุอื่นแล้ว ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยจีวรอย่างใดอย่างหนึ่งของตน ชื่อว่ายถาสารุปปสันโดษ สันโดษด้วยปัจจัยตามสมควร
               การไม่เลือกว่า น้ำในที่ไหนชอบใจ ในที่ไหนไม่ชอบใจ ดังนี้แล้ว ซักจีวรด้วยน้ำที่สมควรซักได้อย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอุทกสันโดษ สันโดษด้วยน้ำ. ภิกษุควรเว้นน้ำที่ขุ่นด้วยดินเหลือง ยางไม้และใบไม้เน่า. อันการที่ภิกษุผู้จะซักจีวร ไม่ทุบด้วยไม้ค้อนเป็นต้น ขยำด้วยมือซัก ชื่อว่าโธวนสันโดษ สันโดษด้วยการซัก.
               อนึ่ง จะซักจีวรที่ไม่สะอาด แม้ด้วยน้ำที่ใส่ไบไม้ต้มให้ร้อนก็ควร การที่ภิกษุซักทำอยู่อย่างนี้ ไม่ยังจิตให้กำเริบว่า จีวรนี้หยาบ จีวรนี้ละเอียดดังนี้แล้ว กระทำโดยวิธีที่ให้เพียงพอเท่านั้น ชื่อว่ากรณสันโดษ สันโดษด้วยการทำ. การทำจีวรพอปิดมณฑลสามเท่านั้น ชื่อว่าปริมาณสันโดษ สันโดษด้วยประมาณ.
               อนึ่ง การที่ไม่เที่ยวไปโดยคิดว่า เราจักแสวงหาด้ายที่ชอบใจ เพื่อทำจีวรแล้วถือด้ายชนิดใดชนิดหนึ่งนั่นแล ที่บุคคลนำมาวางไว้ที่ถนนเป็นต้น หรือที่เทวสถาน หรือที่เขานำมาวางไว้แทบเท้าแล้วทำ ชื่อว่าสุตตสันโดษ สันโดษด้วยด้าย.
               ในเวลาติดผ้ากุสิ พึงสอยเย็บ ๗ ครั้งในที่มีประมาณหนึ่งนิ้ว. ด้วยว่า เมื่อเธอทำอยู่อย่างนี้ ภิกษุใดไม่เป็นสหาย แม้ภิกษุนั้นก็ไม่เสียธรรมเนียม. แต่ในที่ประมาณสามนิ้ว ก็ควรสอยเย็บ ๗ ครั้ง. เมื่อเธอทำอยู่อย่างนี้ แม้ภิกษุผู้เดินทาง ก็พึงเป็นสหายแท้. ภิกษุใดไม่เป็นสหาย ภิกษุนั้นก็ย่อมเสียธรรมเนียม นี้ชื่อว่าสิพพนสันโดษ สันโดษด้วยการเย็บ. ก็ภิกษุผู้จะย้อมจีวร ไม่ควรเที่ยวแสวงหาน้ำย้อมไทรดำเป็นต้น เธอได้น้ำย้อมมีน้ำย้อมไม้ พะยอมขาวเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็พึงย้อมด้วยน้ำย้อมนั้น. เมื่อไม่ได้อย่างนั้น พึงถือเอาน้ำย้อมที่พวกชาวบ้านถือเอาปอแล้วทิ้งไว้ในป่า หรือกากน้ำย้อมที่พวกภิกษุต้มทิ้งไว้ แล้วจึงย้อม นี้ชื่อว่ารชนสันโดษ สันโดษด้วยการย้อม. การที่ภิกษุถือเอาสีเขียว สีเปือกตม สีดำ สีคล้ำอย่างใดอย่างหนึ่งทำกัปปะ (พินทุ) อันปรากฏชัดแก่คนผู้นั่งอยู่บนหลังช้าง ชื่อว่ากัปปสันโดษ สันโดษด้วยกัปปะ.
               การใช้สอยพอปกปิดอวัยวะที่ทำความละอายให้กำเริบเท่านั้น ชื่อว่าปริโภคสันโดษ สันโดษด้วยการใช้สอย พระมหาสิวเถระกล่าวว่า ก็ภิกษุได้ผ้าแล้ว แต่ยังไม่ได้ด้ายหรือเข็มหรือผู้ทำ จะเก็บไว้ก็ควร แต่เมื่อได้เข็มเป็นต้นจะเก็บไว้ไม่ควร แม้จีวรที่ทำแล้ว ถ้าเธอประสงค์จะให้แก่สหธรรมิกมีอันเตวาสิกเป็นต้น แต่อันเตวาสิกเหล่านั้นยังอยู่ไม่พร้อมกัน จะเก็บไว้จนกว่าจะมาก็ควร เมื่ออันเตวาสิกเป็นต้นพอมาถึงแล้วควรให้ทีเดียว เมื่อไม่อาจจะให้ ควรอธิษฐานไว้ เมื่อไตรจีวรอื่นมีอยู่ จะอธิษฐานแม้เป็นผ้าปูนอนก็ควร ด้วยว่าจีวรที่ไม่อธิษฐานนั่นแล ย่อมเป็นสันนิธิแท้ จีวรที่อธิษฐานแล้วไม่เป็นสันนิธิ นี้ชื่อว่าสันนิธิปริวัชชนสันโดษ สันโดษด้วยการเว้นการสะสม.
               อนึ่ง อันภิกษุเมื่อจะสละไม่ควรให้เพราะเห็นแก่หน้า พึงตั้งอยู่ในสาราณียธรรม แล้วสละให้ดังนี้ นี้ชื่อว่าวิสัชชนสันโดษ สันโดษด้วยการสละ.
               ข้อว่า พึงรู้จักธุดงค์ทั้งหลายที่เกี่ยวด้วยจีวร ได้แก่ปังสุกุลิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร และเตจีวริกังคะองค์แห่งภิกษุผู้ทรงไตรจีวรเป็นวัตร. พึงทราบเรื่องพิสดารแห่งธุดงค์เหล่านั้น ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค.
               ภิกษุเมื่อบำเพ็ญมหาอริยวงศ์เกี่ยวด้วยจีวรสันโดษ ชื่อว่าย่อมรักษาธุดงค์สองเหล่านี้ไว้ได้ เมื่อรักษาธุดงค์เหล่านั้น ย่อมเป็นผู้สันโดษด้วยมหาอริยวงศ์คือจีวรสันโดษ ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า วณฺณวาที ความว่า ภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้สันโดษ แต่ไม่กล่าวสรรเสริญสันโดษ. รูปหนึ่งไม่สันโดษ แต่กล่าวสรรเสริญสันโดษ. รูปหนึ่งทั้งไม่สันโดษ ทั้งไม่กล่าวสรรเสริญสันโดษ. รูปหนึ่งย่อมเป็นผู้สันโดษด้วย กล่าวสรรเสริญสันโดษด้วย เพื่อทรงแสดงสันโดษนั้น จึงตรัสว่า อิตริตรจีวรลนฺตุฏฺฐิยา จ วณฺณวาที ดังนี้.
               บทว่า อเนสนํ ความว่า ไม่ทำการแสวงหาอันไม่สมควรนานาประการต่างโดยเป็นทูตการรับใช้ส่งข่าว.
               บทว่า อปฺปฏิรูปํ แปลว่า ไม่สมควร.
               บทว่า อลทฺธา จ แปลว่า ไม่ได้แล้ว.
               ภิกษุบางรูปคิดว่า เราจักได้จีวรอย่างไรหนอ อยู่รวมกับพวกภิกษุผู้มีบุญทั้งหลาย ทำการหลอกลวงย่อมหวาดสะดุ้งอย่างใด ภิกษุผู้สันโดษไม่ได้จีวร ย่อมไม่หวาดสะดุ้งอย่างนั้น.
               บทว่า ลทฺธา จ ความว่า ได้โดยธรรม โดยสม่ำเสมอ.
               บทว่า อคธิโต คือ ปราศจากเครื่องร้อยคือโลภะ.
               บทว่า อมุจฺฉิโต ความว่า ไม่ถึงความสยบด้วยตัณหามีประมาณยิ่ง.
               บทว่า อนชฺฌาปนฺโน ความว่า ผู้อันตัณหาไม่ครอบงำ ไม่รัดรึงไว้.
               บทว่า อาทีนวทสฺสาวี ความว่า เห็นโทษในอาบัติเนื่องด้วยอเนสนาและในการบริโภคลาภที่หมกมุ่น.
               บทว่า นิสฺสรณปญฺโญ ความว่า รู้ชัดถึงอุบายที่จะถอนตนออกซึ่งที่ท่านกล่าวว่า เพียงเพื่อบำบัดความหนาวเท่านั้น.
               บทว่า อิตริตรจีวรสนฺตุฏฺฐิยา ความว่า เพราะสันโดษด้วยจีวรอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               บทว่า เนวตฺตานุกฺกํเสติ ความว่า ย่อมไม่ยกตนว่า เราทรงผ้าบังสุกุลเป็นปกติ เราถือวงศ์ของภิกษุผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นปกติในโรงอุปสมบท ใครเล่าจะเสมอเราดังนี้.
               บทว่า โน ปรํ วมฺเภติ ความว่า ไม่ข่มคนอื่นอย่างนี้ว่า ส่วนภิกษุอื่นๆ เหล่านี้ ไม่ทรงบังสุกูลิกะ หรือว่าภิกษุเหล่านั้นไม่มีแม้เพียงทรงผ้าบังสุกุล.
               บทว่า โย หิ ตตฺถ ทกฺโข ความว่า ภิกษุใดมีทักษะ คือฉลาดสามารถในภาวะกล่าวสรรเสริญเป็นต้นในจีวรสันโดษนั้น.
               บทว่า อนลโส ความว่า เว้นความเกียจคร้านโดยการทำติดต่อกัน.
               บทว่า สมฺปชาโน ปติสฺสโต ความว่า ประกอบด้วยปัญญาคือสัมปชัญญะและสติ.
               บทว่า อริยวํเส ฐิโต ได้แก่ ตั้งมั่นแล้วในอริยวงศ์.
               บทว่า อิตริตเรน ปิณฺฑปาเตน คือ ด้วยบิณฑบาตอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               ก็ในบิณฑบาตสันโดษนี้ ภิกษุพึงรู้จักบิณฑบาต พึงรู้จักเขตของบิณฑบาต พึงรู้จักสันโดษด้วยบิณฑบาต พึงรู้จักธุดงค์ที่เกี่ยวด้วยบิณฑบาต.
               ในข้อเหล่านั้น ข้อว่า บิณฑบาต ได้แก่ บิณฑบาต ๑๖ คือ ข้าวสุก ขนมสด ข้าวสัตตุ ปลา เนื้อ น้ำนม นมส้ม เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ข้าวยาคู ของควรเคี้ยว ของควรลิ้ม ของควรเลีย.
               ข้อว่า เขตของบิณฑบาต ได้แก่ เขตของบิณฑบาต ๑๕ คือ
                         ๑. สังฆภัต
                         ๒. อุทเทสภัต
                         ๓. นิมันตนภัต
                         ๔. สลากภัต
                         ๕. ปักขิกภัต
                         ๖. อุโปสถิกภัต
                         ๗. ปาฏิปทิกภัต
                         ๘. อาคันตุกภัต
                         ๙. คมิกภัต
                         ๑๐. คิลานภัต
                         ๑๑. คิลานุปัฏฐากภัต
                         ๑๒. ธุรภัต
                         ๑๓. กุฏิภัต
                         ๑๔. วารกภัต
                         ๑๕. วิหารภัต.
               ข้อว่า บิณฑบาตสันโดษ ได้แก่ สันโดษในบิณฑบาต ๑๕ คือ
                         ๑. วิตักกสันโดษ
                         ๒. คมนสันโดษ
                         ๓. ปริเยสนสันโดษ
                         ๔. ปฏิลาภสันโดษ
                         ๕. ปฏิคคหณสันโดษ
                         ๖. มัตตปฏิคคหณสันโดษ
                         ๗. โลลุปปวิวัชชนสันโดษ
                         ๘. ยถาลาภสันโดษ
                         ๙. ยถาพลสันโดษ
                         ๑๐. ยถาสารุปปสันโดษ
                         ๑๑. อุปการสันโดษ
                         ๑๒. ปริมาณสันโดษ
                         ๑๓. ปริโภคสันโดษ
                         ๑๔. สันนิธิปริวัชชนสันโดษ
                         ๑๕. วิสัชชนสันโดษ.
               ในสันโดษเหล่านั้น ภิกษุผู้ยินดีล้างหน้าเสร็จแล้วจึงตรึก.
               ส่วนปิณฑปาติกภิกษุไปพร้อมกับคณะในเวลาบำรุงพระเถระตอนเย็น คิดเท่านี้ว่าพรุ่งนี้จักเที่ยวบิณฑบาตในที่ไหน ในบ้านโน้น เจ้าข้า ดังนี้แล้ว ไม่พึงตรึกต่อจากนั้น. อันภิกษุผู้เที่ยวไปรูปเดียว พึงยืนตรึกในโรงวิตก. เมื่อเธอตรึกต่อจากนั้น ย่อมชื่อว่าเคลื่อนห่างไกลจากอริยวงศ์. นี้ชื่อว่าวิตักกสันโดษ สันโดษด้วยการตรึก.
               เมื่อเข้าไปเพื่อบิณฑบาต ก็ไม่คิดว่าเราจักได้ในที่ไหน พึงไปโดยมุ่งกัมมัฏฐานเป็นใหญ่ นี้ชื่อว่าคมนสันโดษ สันโดษด้วยการไป. เมื่อแสวงหาก็ไม่พาภิกษุธรรมดาไป พึงพาภิกษุผู้ละอายน่ารักเท่านั้นไปแสวง นี้ชื่อว่าปริเยสนสันโดษ สันโดษด้วยการแสวงหา. เธอเห็นบิณฑบาตที่เขานำมาแต่ไกล ไม่พึงเกิดจิตคิดว่า นั่นของชอบใจ ไม่ชอบใจดังนี้ นี้ชื่อว่าปฏิลาภสันโดษ สันโดษด้วยการได้. เธอไม่คิดว่า เราจักรับสิ่งนี้ที่ชอบใจ จักไม่รับสิ่งนี้ที่ไม่ชอบใจดังนี้ แล้วพึงรับอย่างใดอย่างหนึ่งที่พอยังอัตภาพให้เป็นไปเท่านั้น นี้ชื่อว่าปฏิคคสหณสันโดษ สันโดษด้วยการรับ.
               ก็ในปฏิคคสหณสันโดษปัจจัยนี้ ไทยธรรมมีมาก ทายกประสงค์จะถวายน้อย เธอพึงรับแต่น้อย. ไทยธรรมมีมาก ทั้งทายกประสงค์จะถวายมาก เธอพึงรับแต่พอประมาณเท่านั้น. ไทยธรรมมีไม่มากทั้งทายกประสงค์จะถวายน้อย เธอพึงรับแต่น้อย. ไทยธรรมมีไม่มาก ส่วนทายกประสงค์จะถวายมาก เธอพึงรับโดยประมาณ. ด้วยว่าภิกษุผู้ไม่รู้จักประมาณในการรับ ย่อมทำลายความเลื่อมใสของพวกมนุษย์ยังศรัทธาไทยให้ตก ไม่ทำตามคำสอน ย่อมไม่สามารถจะยึดเหนี่ยวจิตแม้ของมารดาผู้บังเกิดเกล้าไว้ได้. เธอรู้จักประมาณแล้ว พึงรับด้วยอาการอย่างนี้แล นี้ชื่อว่ามัตตปฏิคคหณสันโดษ สันโดษด้วยการรับพอประมาณ.
               การที่ภิกษุไม่ไปเฉพาะตระกูลมั่งคั่งเท่านั้น เดินไปตามลำดับประตู นี้ชื่อว่าโลลุปปวิวัชชนสันโดษ สันโดษด้วยการเว้นจากความโลเล.
               ยถาลาภสันโดษเป็นต้น มีนัยอันกล่าวไว้ในจีวรแล้ว.
               การบริโภคบิณฑบาตแล้วรู้อุปการะอย่างนี้ว่า การจักรักษาสมณธรรมดังนี้ บริโภค ชื่อว่าอุปการสันโดษ สันโดษด้วยอุปการะ. เธอไม่พึงรับบาตรที่เขาบรรจุเต็มมาถวาย เมื่ออนุปสัมบันมี พึงให้อนุปสัมบันนั้นรับ เมื่อไม่มี เธอให้เขานำออกเสียบ้าง รับแต่พอรับได้ นี้ชื่อปริมาณสันโดษ สันโดษด้วยประมาณ. การบริโภคด้วยคิดอย่างนี้ว่า เป็นการบรรเทาความหิว นี้เป็นอุบายถ่ายถอนในความหิวนี้ นี้ชื่อว่าปริโภคสันโดษ สันโดษด้วยการบริโภค. เธอไม่พึงเก็บไว้บริโภค นี้ชื่อว่าสันนิธิปริวัชชนสันโดษ สันโดษด้วยการเว้นจากสะสม. เธอไม่เห็นแก่หน้า ตั้งอยู่ในสาราณียธรรม พึงสละ นี้ชื่อว่าวิสัชชนสันโดษ สันโดษด้วยการสละ.
               ส่วนธุดงค์ ๕ ที่เกี่ยวด้วยปิณฑบาต คือ ปิณฑปาติกังคะ สปทานจาริกังคะ เอกาสนิกังคะ ปัตตปิณฑิกังคะ ขลูปัจฉาภัตติกังคะ. ธุดงค์เหล่านั้นมีเรื่องพิสดาร อันกล่าวไว้แล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรค.
               ภิกษุผู้บำเพ็ญมหาอริยวงศ์เกี่ยวด้วยปิณฑบาตสันโดษ ย่อมรักษาธุดงค์ ๕ เหล่านี้ เมื่อรักษาธุดงค์ ๕ เหล่านี้ ชื่อว่าเป็นผู้สันโดษด้วยอริยวงศ์ เกี่ยวด้ยปิณฑบาตสันโดษ.
               บทเป็นต้นว่า วณฺณวาที ดังนี้ พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้ว.
               ในบทว่า เสนาสเนน นี้ พึงรู้จักเสนาสนะ พึงรู้จักเขตเสนาสนะ พึงรู้จักสันโดษด้วยเสนาสนะ พึงรู้จักธุดงค์ที่เกี่ยวด้วยเสนาสนะ.
               ในข้าเหล่านั้น ข้อว่า เสนาสนะ ได้แก่ เสนาสนะ ๑๕ เหล่านี้ คือ
                         ๑. เตียง
                         ๒. ตั่ง
                         ๓. ฟูก
                         ๔. หมอน
                         ๕. วิหาร
                         ๖. เรือนมุงด้านเดียว
                         ๗. ปราสาท
                         ๘. ปราสาทโล้น
                         ๙. ถ้ำ
                         ๑๐. ที่เร้น
                         ๑๑. ป้อม
                         ๑๒. เรือนโถง
                         ๑๓. พุ่มไผ่
                         ๑๔. โคนต้นไม้
                         ๑๕. หรือที่ๆ พวกภิกษุหลีกออกไป.
               ข้อว่า เขตแห่งเสนาสนะ ได้แก่ เขต ๖ คือ โดยสงฆ์บ้าง คณะบ้าง ญาติบ้าง มิตรบ้าง ทรัพย์ของตนบ้าง ผ้าบังสุกุลบ้าง.
               ข้อว่า เสนาสนสันโดษ ได้แก่ สันโดษในเสนาสนะ ๑๕ มีวิตักกสันโดษเป็นต้น. สันโดษเหล่านั้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในบิณฑบาต.
               ส่วนธุดงค์ ๕ ที่เกี่ยวด้วยเสนาสนะ คือ อารัญญิกังคะ รุกขมูลิกังคะ อัพโภกาสิกังคะ โสสานิกังคะ ยถาสันถติกังคะ. เรื่องพิสดารของธุดงค์เหล่านั้น กล่าวไว้แล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรค.
               ภิกษุผู้บำเพ็ญมหาอริยวงศ์เกี่ยวด้วยเสนาสนะสันโดษ ย่อมรักษาธุดงค์ ๕ เหล่านี้ไว้ได้ เมื่อรักษาธุดงค์เหล่านี้ ย่อมชื่อว่าเป็นผู้สันโดษด้วยมหาอริยวงศ์เกี่ยวด้วยเสนาสนะสันโดษ
               ส่วนคิลานปัจจัยก็อยู่ในบิณฑบาตนั่นเอง. ภิกษุพึงยินดีในคิลานปัจจัยนั้นด้วยยถาลาภสันโดษ ยถาพลสันโดษ ยถาสารุปปสันโดษเท่านั้น.
               เนสัชชิกังคะย่อมจัดเข้าอริยวงศ์ข้อยินดีในภาวนาด้วยประการฉะนี้.
               สมดังคำที่ท่านกล่าวว่า
                         ปญฺจ เสนาสเน วุตฺตา    ปญฺจ อาหารนิสฺสิตา
                         เอโก วิริยสญฺญุตฺโต      เทฺว จ จีวรนิสฺสิตา
                         ธุดงค์ ๕ อย่าง ท่านกล่าวไว้ในเสนาสนะ ๕
                         อย่าง อาศัยอาหารอย่างหนึ่ง ประกอบด้วย
                         ความเพียร และ ๒ อย่างอาศัยจีวร ดังนี้.

               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอริยวงศ์คือสันโดษเป็นข้อแรก เหมือนทางปูลาดแผ่นดิน เหมือนทรงทำท้องทะเลให้เต็ม และเหมือนทรงขยายอากาศให้กว้างออกแล้ว จึงตรัสปิณฑปาตสันโดษเป็นข้อที่สอง เหมือนทรงให้พระจันทร์อุทัยขึ้น และเหมือนทรงทำพระอาทิตย์ให้โลดขึ้น ตรัสอริยวงศ์คือเสนาสนะสันโดษเป็นข้อที่สาม เหมือนทรงยกภูเขาสิเนรุขึ้น บัดนี้ เพื่อตรัสอริยวงศ์ คือยินดีในภาวนาเป็นข้อที่สี่ ที่ประดับด้วยนัยพันหนึ่ง ทรงเริ่มเทศนาว่า ปุน จ ปรํ ภิกฺขเว ภิกฺขุ ภาวนาราโม โหติ เป็นต้น.
               ในบทว่า ภาวนาราโม นั้น ความยินดี ชื่อว่าอารามะ. อธิบายว่า ความยินดียิ่ง. ชื่อว่าภาวนารามะ เพราะภิกษุนั้น ยินดีในภาวนาการเจริญ. ชื่อว่าภาวนารตะ เพราะยินดีแล้วในภาวนา. ชื่อว่าปหานารามะ เพราะยินดีในปหานะการละ ๕ อย่าง.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าภาวนารามะ เพราะเจริญอยู่จึงยินดี. ชื่อว่าปหานารามะ เพราะละอยู่จึงยินดี. ในภาวนาและปหานะนี้ พึงทราบความอย่างนี้.
               จริงอยู่ ภิกษุนี้เจริญสติปัฏฐาน ๔ อยู่ย่อมยินดี. อธิบายว่า ย่อมได้ความยินดี. เจริญสัมมัปปธาน ๔ อยู่ก็เหมือนกัน เมื่อเจริญอิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อนุปัสสนา ๗ มหาวิปัสสนา ๑๘ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ เจริญการแจกอารมณ์ ๓๘ อยู่ย่อมยินดี ย่อมได้ความยินดี.
               อนึ่ง ละกิเลสมีกามฉันทะเป็นต้นอยู่ ก็ยินดีได้ความยินดี. ส่วนในอริยวงศ์ ๔ เหล่านี้ วินัยปิฎกทั้งสิ้นเป็นอันตรัสด้วยธุดงค์ ๑๓ และความสันโดษด้วยปัจจัย ๔ ด้วยอริยวงศ์สามข้อแรกก่อน. สองปิฎกที่เหลือ ตรัสด้วยอริยวงศ์ข้อยินดีในภาวนา. ก็ภิกษุเมื่อกล่าวอริยวงศ์ข้อยินดีในภาวนานี้ พึงกล่าวโดยเนกขัมมบาลีในปฏิสัมภิทามรรค พึงกล่าวโดยปริยายแห่งทสุตตรสูตรในทีฆนิกาย พึงกล่าวโดยปริยายแห่งสติปัฏฐานสูตรในมัชฌิมนิกาย พึงกล่าวโดยปริยายแห่งนิทเทสในอภิธรรม.
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า ปฏิสมฺภิทามคฺเค เนกฺขมฺมปาลิยา ได้แก่ พึงกล่าวตามเนกขัมมบาลีในปฏิสัมภิทามรรคอย่างนี้ว่า เธอเมื่อเจริญเนกขัมมะก็ยินดี ละกามฉันทะก็ยินดี เมื่อเจริญอัพยาบาทก็ยินดี ละพยาบาทก็ยินดี เมื่อเจริญอาโลกสัญญาก็ยินดี ละถีนมิทธะก็ยินดี เมื่อเจริญอวิกเขปะ ความไม่ฟุ้งซ่านก็ยินดี ละอุทธัจจะก็ยินดี เมื่อเจริญธัมวิวัฏฐานะ การกำหนดธรรมก็ยินดี ละวิจิกิจฉาก็ยินดี เมื่อเจริญญาณก็ยินดี ละอวิชชาก็ยินดี เมื่อเจริญปราโมทย์ก็ยินดี ละอรติความริษยาก็ยินดี เมื่อเจริญปฐมญาณก็ยินดี ละนิวรณ์ ๕ ก็ยินดี เมื่อเจริญทุติยฌานก็ยินดี ละวิตกวิจารก็ยินดี เมื่อเจริญตติยฌานก็ยินดี ละปีติก็ยินดี เมื่อเจริญจตุตถฌานก็ยินดี ละสุขทุกข์ก็ยินดี เมื่อเจริญอากาสานัญจายตนสมาบัติก็ยินดี ละรูปสัญญา ปฏิฆสัญญา นานัตตสัญญา ก็ยินดี เมื่อเจริญวิญญาณัญจายตนสมาบัติ ฯลฯ เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติก็ยินดี ละอากิญจัญญายตนสัญญาก็ยินดี.
               เมื่อเจริญอนิจจานุปัสสนาก็ยินดี ละนิจสัญญาก็ยินดี เมื่อเจริญทุกขานุปัสสนาก็ยินดี ละสุขสัญญาก็ยินดี เมื่อเจริญอนัตตานุปัสสนาก็ยินดี ละอัตตสัญญาก็ยินดี เมื่อเจริญนิพพิทานุปัสสนาก็ยินดี ละนันทิก็ยินดี เมื่อเจริญวิราคานุปัสสนาก็ยินดี ละราคะก็ยินดี เมื่อเจริญนิโรธานุปัสสนาก็ยินดี ละสมุทัยก็ยินดี เมื่อเจริญปฏินิสสัคคานุปัสสนาก็ยินดี ละอาทานะก็ยินดี เมื่อเจริญขยานุปัสสนาก็ยินดี ละฆนสัญญาก็ยินดี เมื่อเจริญวยานุปัสสนาก็ยินดี ละอายุหนะเห็นว่าเจริญขึ้นก็ยินดี เมื่อเจริญวิปริณามานุปัสสนาก็ยินดี ละธุวสัญญาก็ยินดี เมื่อเจริญอนิมิตตานุปัสสนาก็ยินดี ละนิมิตก็ยินดี เมื่อเจริญอัปปณิหิตานุปัสสนาก็ยินดี ละปณิธิก็ยินดี เมื่อเจริญสุญญตานุปัสสนาก็ยินดี ละอภินิเวสก็ยินดี เมื่อเจริญอธิปัญญาธรรมวิปัสสนาก็ยินดี ละสาราทานาภินิเวสก็ยินดี เมื่อเจริญยถาภูตญาณทัสสนะก็ยินดี ละสัมโมหาภินิเวสก็ยินดี เมื่อเจริญอาทีนวานุปัสสนาก็ยินดี ละอาลยาภินิเวสก็ยินดี เมื่อเจริญปฏิสังขานุปัสสนาก็ยินดี ละอัปปฏิสังขะก็ยินดี เมื่อเจริญวิวัฏฏานุปัสสนาก็ยินดี ละสังโยคาภินิเวสก็ยินดี เมื่อเจริญโสดาปัตติมรรคก็ยินดี ละกิเลสที่ตั้งอยู่แห่งเดียวอันมรรคเห็นแล้วก็ยินดี เมื่อเจริญสกทาคามิมรรคก็ยินดี ละกิเลสอย่างหยาบก็ยินดี เมื่อเจริญอนาคามิมรรคก็ยินดี ละกิเลสที่ร่วมด้วยอนุสัยก็ยินดี เมื่อเจริญอรหัตมรรคก็ยินดี ละสรรพกิเลสก็ยินดี ดังนี้.
               คำว่า ทีฆนิกาเย ทสุตฺตรสุตฺตนฺตปริยาเยน ได้แก่ พึงกล่าวโดยปริยายแห่งทสุตตรสูตรในทีฆนิกายอย่างนี้ว่า
               เมื่อเจริญธรรมอย่างหนึ่งก็ยินดี ละธรรมอย่างหนึ่งก็ยินดี ฯลฯ เมื่อเจริญธรรม ๑๐ ก็ยินดี ละธรรม ๑๐ ก็ยินดี เมื่อเจริญธรรมอย่างหนึ่งก็ยินดี เป็นไฉน? คือ กายคตาสติที่ประกอบด้วยความแช่มชื่น ชื่อว่าเจริญธรรมอย่างหนึ่งก็ยินดี เมื่อละธรรมอย่างหนึ่งก็ยินดีเป็นไฉน? คือ อัสมิมานะ ชื่อว่าละธรรมอย่างหนึ่งนี้ก็ยินดี เมื่อเจริญธรรม ๒ ก็ยินดีเป็นไฉน? ฯลฯ เมื่อเจริญธรรม ๑๐ ก็ยินดีเป็นไฉน? คือ กสิณายตนะ ๑๐. ชื่อว่าเจริญธรรม ๑๐ เหล่านี้ก็ยินดี. เมื่อละธรรม ๑๐ ก็ยินดีเป็นไฉน? คือ มิจฉัตตะ ๑๐ ชื่อว่าละธรรม ๑๐ เหล่านี้ก็ยินดี ภิกษุเป็นผู้มีภาวนาเป็นที่ยินดีอย่างนี้แล.
               คำว่า มชฺฌิมนิกาเย สติปฏฺฐานสุตฺตนตปริยาเยน ได้แก่ พึงกล่าวโดยปริยายแห่งสติปัฏฐานสูตร ในมัชฌิมนิกายอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นหนทางไปอันเอก ฯลฯ เข้าไปตั้งอยู่เฉพาะหน้าแก่เธอ แต่เพียงสักว่าญาณ แต่เพียงสักว่าความอาศัยระลึก. เธอย่อมมีสันดานอันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีภาวนาเป็นที่ยินดี ยินดีแล้วในภาวนาอย่างนี้แล. เป็นผู้มีปหานะ เป็นที่ยินดี ยินดีแล้วในปหานะ. อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเมื่อเดินก็รู้ชัดว่า เรากำลังเดิน. ฯลฯ อีกข้อหนึ่ง เหมือนอย่างว่าภิกษุพึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไปแล้วในป่าช้า ฯลฯ เป็นของผุ เป็นจุณ. เธอก็น้อมเข้ามาสู่กายนี้แลว่า ถึงร่างกายนี้ก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดาเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้. อย่างนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายในบ้าง ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีภาวนาเป็นที่ยินดีอย่างนี้แล.
               คำว่า อภิธมฺเม นิทฺเทสปริยาเยน บัณฑิตพึงกล่าวโดยปริยายแห่งนิทเทสอย่างนี้ว่า เธอเมื่อเห็นสังขตธรรมแม้ทั้งปวง โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นผี โดยความเป็นสังกิเลส เศร้าหมอง ย่อมยินดี. ภิกษุเป็นผู้มีภาวนาเป็นที่ยินดีอย่างนี้แล.
               บทว่า เนวตฺตานุกฺกํเสติ ความว่า ภิกษุย่อมไม่ทำการยกตนอย่างนี้ว่า เมื่อเราทำกรรมในวิปัสสนาว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตามาตลอด ๖๐ ปี ๗๐ ปี ถึงปัจจุบันนี้ ใครเล่าจะเป็นผู้เสมอเราดังนี้.
               บทว่า โน ปรํ วมฺเภติ ความว่า ย่อมไม่ทำการข่มคนอื่นอย่างนี้ว่า แม้เพียงวิปัสสนาว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ดังนี้ ก็ไม่มี ทำไมพวกเหล่านี้จึงละเลยกัมมัฏฐานเที่ยวไปดังนี้.
               บทที่เหลือมีนัยอันกล่าวแล้วทั้งนั้น.
               บทว่า อิเม โข ภิกฺขเว จตฺตาโร อริยวํสา ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยักเยื้องพระสูตรว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยวงศ์ ๔ เหล่านี้เป็นวงศ์ของพระอริยะ เป็นเชื้อสายของพระอริยะ เป็นทางของพระอริยะ เป็นหนทางไปของพระอริยะ ดังนี้ บัดนี้ เมื่อทรงแสดงอิสระโดยภิกษุผู้บำเพ็ญมหาอริยวงศ์ จึงตรัสว่า อิเมหิ จ ปน ภิกฺขเว เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า เสฺวว อรตึ สหติ ความว่า เธอเท่านั้นย่อมย่ำยีครอบงำความไม่ยินดี ความไม่ยินดียิ่ง ความเอือมระอาเสียได้.
               บทว่า น ตํ อรติ สหติ ความว่า ชื่อว่าความไม่ยินดี ในการเจริญอธิกุศล ในเสนาสนะที่สงัดนั้นใด ความไม่ยินดีนั้น ย่อมไม่สามารถจะย่ำยีครอบงำภิกษุนั้นได้.
               บทว่า อรติรติสโห ความว่า ภิกษุผู้มีปัญญาย่อมย่ำยีสามารถครอบงำความไม่ยินดี และความยินดีในกามคุณ ๕.
               บัดนี้ เมื่อทรงถือเอายอดธรรมด้วยคาถาทั้งหลาย จึงตรัสคำว่า นารตี เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ธีรํ คือ ผู้มีความเพียร.
               บทว่า นารตี ธีรสํหติ นี้เป็นคำกล่าวเหตุแห่งบทแรก. เพราะเหตุที่ความไม่ยินดี ไม่ย่ำยี ภิกษุผู้มีปัญญา คือย่อมไม่สามารถจะย่ำยี คือครอบงำภิกษุผู้มีปัญญาได้ ฉะนั้น ความไม่ยินดีจึงหาย่ำยีภิกษุผู้มีปัญญาได้ไม่.
               บทว่า ธีโร หิ อรตึสโห ความว่า เพราะเหตุที่ภิกษุเป็นผู้ข่มความไม่ยินดีได้ ชื่อว่าผู้มีปัญญา เพราะข่มความไม่ยินดีได้ ฉะนั้น เธอจึงข่มความไม่ยินดีได้.
               บทว่า สพฺพกมฺมวิหายินํ ความว่า ภิกษุผู้สละกรรมเป็นไปในภูมิสามทั้งปวงแล้ว คือตัดขาดทางรอบด้านแล้ว.
               บทว่า ปนุณฺณํ โก นิวารเย ความว่า ราคะก็ดี โทสะก็ดี อะไรเล่าจะมาขัดขวางผู้บรรเทากิเลสทั้งหลายได้แล้ว.
               บทว่า เนกฺขํ ชมฺโพนทสฺเสว โก นํ นินฺทิตุมรหติ ความว่า ใครเล่าจะติบุคคลนั้นผู้หลุดพ้นจากโทษที่จะพึงติ ดุจแท่งทองคำธรรมชาติที่เรียกว่า ชมพูนุท.
               บทว่า พฺรหฺมุนาปิ ปสํสิโต ความว่า ถึงพรหมก็สรรเสริญบุคคลนั้น.
               เวลาจบเทศนา ภิกษุสี่หมื่นรูปก็ดำรงอยู่ในพระอรหัต.

               จบอรรถกถาอริยวังสสูตรที่ ๘               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ อุรุเวลวรรคที่ ๓ ๘. อริยวังสสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 21 / 1อ่านอรรถกถา 21 / 27อรรถกถา เล่มที่ 21 ข้อ 28อ่านอรรถกถา 21 / 29อ่านอรรถกถา 21 / 274
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=21&A=714&Z=766
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=7205
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=7205
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :