ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 22 / 1อ่านอรรถกถา 22 / 328อรรถกถา เล่มที่ 22 ข้อ 329อ่านอรรถกถา 22 / 330อ่านอรรถกถา 22 / 388
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ มหาวรรคที่ ๑
๔. อาสวสูตร

               อรรถกถาอาสวสูตรที่ ๔               
               พึงทราบวินิจฉัยในอาสวสูตรที่ ๔ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า สํวรา ปหาตพฺพา ได้แก่ (อาสวะทั้งหลาย) พึงละได้ด้วยสังวร.
               แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้แล.
               บทว่า อิธ ได้แก่ ในศาสนานี้.
               บทว่า ปฏิสงฺขา คือ ใคร่ครวญ ได้แก่ทราบ. อธิบายว่าพิจารณา.
               บทว่า โยนิโส คือ โดยอุบาย ได้แก่โดยครรลอง.
               อนึ่ง ในสูตรนี้ การพิจารณาโทษในอสังวร พึงทราบว่าเป็นการพิจารณาโดยแยบคาย ก็การพิจารณานี้นั้น พึงทราบตามอาทิตตปริยายสูตรมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การที่จักขุนทรีย์ถูกซี่เหล็กที่ร้อนไฟติดลุกโชนโชติช่วงทิ่มเอายังดีกว่า แต่การถือนิมิตในรูปทั้งหลายที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุโดยอนุพยัญชนะ ไม่ประเสริฐเลย.
               ในบทว่า จกฺขุนฺทฺริยสํวรสํวุโต วิหรติ นี้ มีอธิบายดังต่อไปนี้
               อินทรีย์คือจักษุ ชื่อว่าจักขุนทรีย์. ที่ชื่อว่าสังวร เพราะระวัง. มีคำอธิบายว่า เพราะปิด คือเพราะกั้น. คำว่า สังวร นั่นเป็นชื่อของสติ. สังวรในจักขุนทรีย์ ชื่อว่าจักขุนทรีย์สังวร ก็จักขุนทรีย์สังวรนี้ แม้เมื่อชวนจิตเกิดขึ้น ก็เรียกว่าจักขุนทรียสังวร เพราะห้ามกิเลสทั้งหลายมิให้เกิดขึ้นในทวารนั้น.
               บทว่า สํวุโต ได้แก่ ประกอบด้วยสังวรนั้น ความจริงเป็นอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อิมินา ปาฏิโมกฺขสํวเรน อุเปโต โหติ ฯเปฯ สมนฺนาคโต ดังนี้ไว้ในวิภังค์นี้ว่า ปาฏิโมกฺขสํวรสํวุโต.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า สํวริ แปลว่า ระวังแล้ว. มีคำอธิบายว่า กั้นแล้ว คือปิดแล้ว.
               บทว่า จกฺขุนฺทฺริยสํวรสํวุโต ความว่า ระวัง. มีคำอธิบายว่า กั้น คือปิด บานประตูคือสติ กล่าวคือจักขุนทรียสังวรที่จักขุทวาร เหมือนปิดประตูที่ประตูเรือนฉะนั้น.
               ความหมายดังว่ามานี้แลในสูตรนี้ดีกว่า.
               จริงอย่างนั้น ความหมายนี้แล ปรากฏในบทเหล่านี้ คือ จกฺขุนฺทฺริยสํวรํ อสํวุตสฺส วิหรโต สํวุตสฺส วิหรโต (ผู้ไม่สำรวมซึ่งสังวรอินทรีย์คือจักษุอยู่ ผู้สำรวมซึ่งสังวรอินทรีย์คือจักษุอยู่)
               ในบทว่า ยญฺหิสฺส เป็นต้น มีอธิบายว่า ภิกษุนั้นไม่สำรวม คือไม่กั้น ไม่ปิดจักขุนทรียสังวรใดอยู่.
               อีกอย่างหนึ่ง เย อักษรอาเทสเป็น ยํ ก็ได้ความหมายเท่ากับ เย อสฺส.
               บทว่า อาสวา วิฆาตปริฬาหา ความว่า อาสวะ ๔ อย่าง และความเร่าร้อนเพราะกิเลส หรือความเร่าร้อนเพราะวิบาก ที่ทำความคับแค้นให้เหล่าอื่น.
               อธิบายว่า เมื่อภิกษุยินดี คือเพลิดเพลินอิฏฐารมณ์ที่มาสู่คลองในจักษุทวาร ด้วยอำนาจความพอใจในกาม กามาสวะย่อมเกิดขึ้น เมื่อภิกษุยินดีด้วยความปรารถนาภพว่าเราจักได้อิฏฐารมณ์เช่นนี้ แม้ในสุคติภพอื่น ภวาสวะย่อมเกิดขึ้น เมื่อภิกษุยึดถือว่าสัตว์หรือว่าของสัตว์ ทิฏฐาสวะย่อมเกิดขึ้น. ความไม่รู้ที่เกิดพร้อมกับอาสวะทั้งหมดทีเดียว ชื่อว่าอวิชชาสวะ. อาสวะ ๔ เกิดขึ้น ดังว่ามานี้แล. กิเลสเหล่าอื่นที่สัมปยุตด้วยอาสวะเหล่านั้น ซึ่งมีความเร่าร้อนอันเกิดจากความคับแค้น หรือวิบากของกิเลสเหล่านั้นในอนาคต ท่านกล่าวว่า พึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ไม่สำรวมจากอาสวะแม้เหล่านั้นอยู่.
               บทว่า เอวํส เต ตัดบทเป็น เอวํ อสฺส เต มีคำอธิบายว่า ไม่มีโดยอุบายนี้ ไม่มีโดยประการอื่น.
               แม้ในบทว่า ปฏิสงฺขาโยนิโส โสตินฺทฺริยสํวรสํวุโต เป็นต้นก็มีนัยความหมายอย่างเดียวกันนี้แล.
               บทว่า อิเม วุจฺจนฺติ อาสวา สํวรา ปหาตพฺพา ความว่า อาสวะ ๒๔ อย่างโดยแยกเป็นอย่างละ ๔ ในทวารทั้ง ๖ เหล่านี้
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พึงละได้ด้วยสังวร คำใดที่จะพึงกล่าวไว้ในบทว่า ปฏิสงฺขา โยนิโส จีวรํ เป็นต้น คำนั้นทั้งหมดได้กล่าวไว้แล้วแลในศีลกถา ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค.
               บทว่า ยญฺหิสฺส ความว่า ก็เมื่อภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง (ไม่เสพปัจจัย) ในบรรดาปัจจัยมีจีวรและบิณฑบาตเป็นต้นก็ดี.
               บทว่า อปฺปฏิเสวโต ได้แก่ ไม่เสพโดยอุบายอันแยบคายอย่างนี้.
               ในที่นี้ เมื่อภิกษุปรารถนาปัจจัยมีจีวรเป็นต้นที่ยังไม่ได้ หรือยินดีปัจจัยมีจีวรเป็นต้นนั้นที่ได้แล้ว พึงทราบว่า กามาสวะเกิดขึ้น. เมื่อภิกษุยินดีด้วยการปรารถนาภพว่า เราจักได้ปัจจัยเช่นนี้ในสุคติภพแม้อื่น พึงทราบว่า ภวาสวะเกิดขึ้น. เมื่อภิกษุตั้งอัตตสัญญา (ความสำคัญว่าเป็นตัวตน) ว่าเราได้ เราไม่ได้ หรือว่าจีวรนี้ของเรา พึงทราบว่า ทิฏฐาสวะเกิดขึ้น. ส่วนอวิชชาสวะเกิดพร้อมกับอาสวะอื่นทั้งหมด.
               การเกิดขึ้นของอาสวะ ๔ เป็นความคับแค้นและความเร่าร้อน ดังพรรณนามานี้แล พึงทราบอาสวะแม้โดยการทำเวทนาใหม่ให้เกิดขึ้น.
               บทว่า อิเม วุจฺจนฺติ ภิกฺขเว อาสวา ปฏิเสวนา ปหาตพฺพา ความว่า อาสวะ ๑๖ อย่างเหล่านี้ โดยแยกออกเป็นอย่างละ ๔ ในแต่ละปัจจัย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พึงละด้วยการพิจารณาแล้วเสพ ที่เรียกว่าญาณสังวรนี้.
               บทว่า ปฏิสงฺขา โยนิโส ขโม โหติ สีตสฺส ความว่า ภิกษุพิจารณาโดยอุบาย คือโดยคัลลอง แล้วย่อมเป็นผู้อดทนต่อความหนาว คือย่อมข่ม ย่อมอดกลั้นซึ่งความหนาว ได้แก่ไม่สั่นสะท้าน คือไม่ละทิ้งกัมมัฏฐาน เพราะความหนาวแม้เพียงเล็กน้อย เหมือนคนขี้ขลาด.
               แม้ในความร้อนเป็นต้น ก็มีนัยนี้แล.
               ก็ในที่นี้ คำพูดนั่นแล พึงทราบว่าเป็นทางแห่งคำพูด.
               ในบทว่า ทุกฺขานํ เป็นต้น มีอธิบายว่า เวทนา พึงทราบว่าเป็นทุกข์ เพราะหมายความว่าทนได้ยาก เป็นเวทนากล้า เพราะหมายความว่ามาก เป็นเวทนาแข็ง เพราะหมายความว่าหยาบ เป็นเวทนาเผ็ดร้อน เพราะหมายความว่าเจ็บแสบ เป็นเวทนาไม่สำราญ เพราะเว้นจากความน่ายินดี เป็นเวทนาไม่น่าชอบใจ เพราะไม่ทำให้เจริญ เป็นเวทนาคร่าชีวิต เพราะสามารถคร่าชีวิตได้.
               บทว่า ยญฺหิสฺส ความว่า (เมื่อภิกษุนั้นไม่อดกลั้น) อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ แม้ธรรมอย่างหนึ่ง ในบรรดาความหนาวเป็นต้น.
               บทว่า อนธิวาสยโต คือ ไม่อดกลั้น ได้แก่ไม่อดทน.
               ส่วนความเกิดขึ้นแห่งอาสวะในอธิการนี้ พึงทราบดังต่อไปนี้
               เมื่อภิกษุกระทบหนาว ปรารถนาความอบอุ่น กามาสวะย่อมเกิดขึ้น ในที่ทุกแห่งก็อย่างนี้. เมื่อภิกษุปรารถนาภพว่า ในสุคติภพ ไม่มีหนาวหรือร้อน ภวาสวะย่อมเกิดขึ้น. การยึดถือว่า เราหนาว เราร้อน ดังนี้เป็นทิฏฐาสวะ (ส่วน) อวิชชาสวะ ประกอบพร้อมกับอาสวะ (ที่กล่าวมา) ทั้งหมดทีเดียว.
               บทว่า อิเม วุจฺจนฺติ ความว่า อาสวะเหล่านี้มีจำนวนมาก โดยแยกแต่ละอย่าง ในความหนาวเป็นต้นแยกออกเป็นอย่างละ ๔ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พึงละด้วยความอดกลั้น ที่เรียกว่าขันติสังวรนี้.
               บทว่า ปฏิสงฺขา โยนิโส จณฺฑหตฺถึ ปริวชฺเชติ ความว่า ภิกษุพิจารณาโดยอุบาย คือโดยคัลลองอย่างนี้ว่า เราไม่ควรยืนในที่ใกล้ช้างตัวดุร้าย เพราะว่าจะพึงมีความตายบ้าง ความทุกข์ปางตายบ้างซึ่งมีเหตุมาจากการยืนในที่ใกล้นั้น ดังนี้แล้ว หลบหลีกช้างตัวดุร้าย คือถอยหนี.
               ในทุกบทก็มีนัย นี้แล.
               บทว่า จณฺฑํ ได้แก่ ร้าย คือดุ.
               บทว่า ขาณุํ ได้แก่ ตอไม้ตะเคียนเป็นต้น.
               บทว่า กณฺฏกฏฺฐานํ ได้แก่ โอกาสที่หนามจะแทง.
               บทว่า โสพฺภํ ได้แก่ ที่ที่ขาดทาง (ขึ้นลง) ทุกด้าน (โตรก).
               บทว่า ปปาตํ ได้แก่ สถานที่ที่ขาดทาง (ขึ้นลง) ไปข้างหนึ่ง.
               บทว่า จณฺฑนิกํ ได้แก่ สถานที่เป็นที่ทิ้งน้ำเสีย และครรภ์มลทินเป็นต้น.
               บทว่า โอฬิคลฺลํ ได้แก่ สถานที่เป็นที่ไหลไปแห่งโคลน เป็นต้นเหล่านั้นนั่นแล. สถานที่นั้นถึงจะลึกถึงเข่า ก็เป็นสถานที่เต็มไปด้วยของไม่สะอาด. และสถานที่ทั้ง ๒ แห่งนี้เป็นสถานที่ที่มีอมนุษย์ชุกชุม เพราะฉะนั้นจึงต้องเว้น.
               ในบทว่า อนาสเน นี้มีอธิบายว่า อาสนะที่ไม่เหมาะสม ชื่อว่าอนาสนะ อาสนะนั้น โดยความหมายพึงทราบว่า ได้แก่อาสนะที่เก็บไว้ในที่ลับอันเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน.
               แม้ในบทนี้ว่า อโคจเร มีความว่า โคจรที่ไม่เหมาะสม ชื่อว่าอโคจร. อโคจรนั้นมี ๕ อย่างแยกออกเป็นหญิงแพศยาเป็นต้น.
               บทว่า ปาปเก มิตฺเต ได้แก่ มิตรผู้ลามก คือมิตรผู้ทุศีล ได้แก่บุคคลเทียมมิตร คือผู้ไม่ใช่มิตร.
               บทว่า ปาปเกสุ ได้แก่ ต่ำช้า.
               บทว่า โอกปฺเปยฺยุํ คือ พึงเชื่อ ได้แก่พึงน้อมใจเชื่อว่า ท่านผู้มีอายุรูปนี้ ได้ทำหรือจักทำแน่แท้.
               บทว่า ยญฺหิสฺส ความว่า (เมื่อภิกษุนั้นไม่บรรเทา) อันตรายอย่างใดอย่างหนึ่ง คืออันตรายแม้อย่างหนึ่งในบรรดาอันตรายมีช้างเป็นต้น.
               ส่วนความเกิดขึ้นแห่งอาสวะในที่นี้ พึงทราบดังต่อไปนี้
               เมื่อภิกษุเผชิญทุกข์มีช้างเป็นต้นเป็นเหตุ ปรารถนาสุข กามาสวะย่อมเกิดขึ้น. เมื่อภิกษุปรารถนาภพว่าทุกข์เช่นนี้ไม่มีในสุคติภพ ภวาสวะย่อมเกิดขึ้น. การยึดถือว่าช้างเหยียบเรา ดังนี้เป็นทิฏฐาสวะ (ส่วน) อาสวะที่ประกอบพร้อมกับอาสวะ ชื่อว่าอวิชชาสวะทั้งหมดนั่นแหละ.
               บทว่า อิเม วุจฺจนฺติ ความว่า อาสวะเหล่านี้มีมากอย่าง โดยแยกแต่ละอย่างในบรรดาอันตรายมีช้างเป็นต้น ด้วยอำนาจแยกออกเป็นอย่างละ ๔ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พึงละด้วยการหลีกหนี กล่าวคือศีลสังวรนี้.
               บทว่า ปฏิสงฺขา โยนิโส อุปฺปนฺนํ กามวิตกฺกํ นาธิวาเสติ ความว่า ภิกษุพิจารณาเห็นโทษในกามวิตก โดยอุบายอันแยบคายโดยนัยเป็นต้นว่า วิตกนี้เป็นอกุศลแม้เพราะเหตุนี้ มีโทษแม้เพราะเหตุนี้ มีผลเป็นทุกข์ แม้เพราะเหตุนี้ ก็วิตกนั้นแลย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง ดังนี้แล้ว ไม่ยับยั้งกามวิตกที่เกิดขึ้นในอารมณ์นั้นๆ. อธิบายว่า ยกอารมณ์ขึ้นสู่จิตแล้วบังคับไม่อยู่ หรือบังคับให้อยู่ในภายในไม่ได้.
               ถามว่า ภิกษุเมื่อยับยั้งไม่ได้จะทำอย่างไร ?
               ตอบว่า ละทิ้งเสีย.
               ถามว่า ละทิ้งเหมือนเอาตะกร้าตัดหยากเยื่อทิ้งหรือ?
               ตอบว่า ไม่ใช่ โดยที่แท้แล้ว บรรเทา คือเจาะแทง นำกามวิตกนั้นออก.
               ถามว่า แทงเหมือนเอาประตักแทงโคพลิพัทหรือ?
               ตอบว่า ไม่ใช่ โดยที่แท้แล้ว ทำมันให้สิ้นสุด คือทำมันให้ปราศจากไปเป็นที่สุด คือแม้ที่สุดของกามวิตกนั้นจะไม่เหลือ โดยที่สุดแม้เพียงภังคขณะ (ของจิต) โดยประการใด จะทำกามวิตกนั้นโดยประการนั้น.
               ถามว่า ก็ภิกษุจะทำกามวิตกนั้นให้เป็นอย่างนั้นได้อย่างไร?
               ตอบว่า ทำให้ถึงความไม่มีต่อไป คือให้ถึงความไม่มีในภายหลัง ได้แก่โดยประการที่มันจะถูกข่มไว้ด้วยดีด้วยวิกขัมภนปหาน.
               แม้ในวิตก ๒ อย่างที่เหลือก็มีนัยนี้แล.
               บทว่า อปฺปนฺนุปฺปนฺเน ได้แก่ (วิตก) ที่เกิดขึ้นแล้วๆ มีคำอธิบายว่า ที่เพียงแต่เกิดขึ้นเท่านั้น อีกอย่างหนึ่ง. มีคำอธิบายว่า บรรเทาวิตกที่เกิดขึ้นคราวเดียวแล้วไม่เพิกเฉยในครั้งที่ ๒ ได้แก่บรรเทาวิตกที่เกิดขึ้นแล้วๆ ทั้ง ๗ ครั้นนั้นแล.
               บทว่า ปาปเก อกุสเล ธมฺเม ได้แก่ วิตกทั้งหลายมีกามวิตกเป็นต้นเหล่านั้นนั่นแล หรือวิตกใหญ่ทั้งหมด ๙ ชนิด.
               บรรดาวิตกทั้ง ๙ ชนิดนั้น วิตก ๓ อย่าง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้ว (ส่วน) วิตก ๖ อย่างที่เหลือเหล่านี้คือ ญาติวิตก (วิตกถึงญาติ) ชนบทวิตก (วิตกถึงชนบท) อมรวิตก (วิตกถึงเทวดา) วิตกที่เกี่ยวเนื่องด้วยความเอ็นดูผู้อื่น วิตกที่เกี่ยวเนื่องด้วยลาภ สักการะและคำสรรเสริญ วิตกที่เกี่ยวเนื่องด้วยความไม่ดูหมิ่น.
               บทว่า ยญฺหิสฺส ความว่า (เมื่อภิกษุนั้นไม่บรรเทา) วิตกอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาวิตกเหล่านี้.
               อนึ่ง ในที่นี้ กามวิตกก็คือกามาสวะนั่นเอง วิตกที่นอกไปจากกามวิตกนั้นจัดเป็นภวาสวะ วิตกที่สัมปยุตด้วยภวาสวะนั้นจัดเป็นทิฏฐาสวะ อวิชชาในวิตกทั้งหมดจัดเป็นอวิชชาสวะ พึงทราบความเกิดขึ้นแห่งอาสวะดังพรรณนามานี้แล.
               บทว่า อิเม วุจฺจนฺติ ความว่า อาสวะเหล่านี้มีประการดังกล่าวแล้วด้วยอำนาจกามวิตกเป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พึงละด้วยการบรรเทา กล่าวคือวิริยะประกอบด้วยการพิจารณาเห็นโทษในวิตกนั้นๆ นี้.
               บทว่า ปฏิสงฺขา โยนิโส สติสมฺโพชฺฌงฺคํ ภาเวติ ความว่า ภิกษุพิจารณาเห็นโทษในการไม่มีภาวนา และอานิสงส์ในภาวนาโดยอุบาย คือโดยคัลลองแล้วเจริญสติสัมโพชฌงค์.
               ในทุกบท ก็มีนัยนี้.
               ก็การเจริญโพชฌงค์ทั้งหลายนี้ได้อธิบายไว้พิสดารแล้วในตอนต้นแล.
               บทว่า ยญฺหิสฺส ความว่า เมื่อภิกษุนั้น (ไม่เจริญ) โพชฌงค์ข้อใดข้อหนึ่งในบรรดาโพชฌงค์เหล่านี้.
               ก็ในการเกิดอาสวะขึ้นในที่นี้ พึงทราบนัยดังนี้ว่า อาสวะเหล่าใดมีกามาสวะเป็นต้นที่จะพึงเกิดขึ้นเพราะไม่ได้เจริญ โพชฌงค์ทั้งหลายที่สัมปยุตด้วยอริยมรรคเหล่านี้ อาสวะเหล่านั้นย่อมไม่มีแก่เธอผู้เจริญ (โพชฌงค์) อยู่อย่างนี้.
               บทว่า อิเม วุจฺจนฺติ ความว่า อาสวะทั้งหลายมีกามาสวะเป็นต้นเหล่านี้แหละ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า จะละได้ด้วยการเจริญโพชฌงค์ที่เป็นโลกุตระนี้.

               จบอรรถกถาอาสวสูตรที่ ๔               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ มหาวรรคที่ ๑ ๔. อาสวสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 22 / 1อ่านอรรถกถา 22 / 328อรรถกถา เล่มที่ 22 ข้อ 329อ่านอรรถกถา 22 / 330อ่านอรรถกถา 22 / 388
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=22&A=9109&Z=9200
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=3144
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=3144
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :