ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 23 / 1อ่านอรรถกถา 23 / 100อรรถกถา เล่มที่ 23 ข้อ 101อ่านอรรถกถา 23 / 102อ่านอรรถกถา 23 / 281
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ปัณณาสก์ มหาวรรคที่ ๒
๑. เวรัญชสูตร

               มหาวรรคที่ ๒               
               อรรถกถาเวรัญชสูตรที่ ๑               
               มหาวรรคที่ ๒ เวรัญชสูตรที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               พึงประกอบบทมีอาทิอย่างนี้ว่า อภิวาเทติ กับ อักษรที่กล่าวไว้ในบทนี้ว่า น สมโณ โคตโม แล้วทราบโดยความอย่างนี้ว่า พระสมณะโคดมไม่ไหว้ ไม่ลุกขึ้นจากอาสนะ ทั้งไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะอย่างนี้ว่า เชิญท่าน โปรดนั่งตรงนี้.
               ก็ วา ศัพท์ในคำว่า อภิวาเทติ วา เป็นต้นลงในอรรถชื่อว่า วิภาวนะ ทำให้ชัด เหมือน วา ศัพท์ในประโยคเป็นต้นว่า รูปํ นิจฺจํ วา อนิจฺจํ วา รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง.
               เวรัญชพราหมณ์ ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว พอเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงทำการกราบตนเป็นต้น จึงกล่าวว่า ตยิทํ โภ โคตม ตเถว ท่านพระโคดม ข้อนั้นเป็นจริงอย่างนั้น. อธิบายว่า สิ่งที่ข้าพเจ้าได้ยินมานั้น เป็นอย่างนั้นจริง. การได้ยินมาและการได้เห็นนั้นเข้ากันสมกัน โดยความหมาย ก็คือเป็นอย่างเดียวกัน.
               ก็ท่านพระโคดม ฯลฯ ย่อมไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะ. เวรัญชพราหมณ์กล่าวย้ำเรื่องที่ตนได้ฟังกับสิ่งที่เห็น จึงกล่าวติเตียนด้วยประการอย่างนั้น.
               บทว่า ตยิทํ โภ โคตม น สมฺปนฺนเมว ความว่า การไม่กระทำอภิวาทเป็นต้นนั้น ไม่สมควรเลย.
               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงอาศัยโทษ คือการยกตนข่มท่านแก่เวรัญชพราหมณ์นั้น มีพระทัยเยือกเย็นกอร์ปด้วยพระกรุณา ทรงประสงค์จะขจัดความไม่รู้นั้นแล้วทรงแสดงแต่ความถูกต้อง จึงตรัสอาทิว่า นาหนฺตํ พฺราหฺมณ ดังนี้.
               ในพระดำรัสฺนั้นมีความย่อดังต่อไปนี้ :-
               ดูก่อนพราหมณ์ เราแม้ตรวจดูด้วยจักษุ คือพระสัพพัญญุตญาณอันไม่ติดขัด ก็ยังมองไม่เห็นบุคคลในโลกนี้อันต่างด้วยเทวโลกเป็นต้นที่เราจะพึงกราบ ลุกรับ หรือเชื้อเชิญด้วยอาสนะ.
               อีกอย่างหนึ่ง ข้อนี้ไม่น่าอัศจรรย์เลย เราบรรลุพระสัพพัญญุตญาณยังมองไม่เห็นบุคคลผู้ควรแก่การนอบน้อมเห็นปานนี้ ในวันนี้นั้น อีกอย่างแล แม้ในกาลใด เราเกิดในเดี๋ยวนั้น หันหน้าไปทางทิศอุดร เดินไป ๗ ย่างก้าว แลดูหมื่นโลกธาตุทั้งสิ้น แม้ในกาลนั้น ในโลกนี้ต่างด้วยเทวโลกเป็นต้น เราก็ยังมองไม่เห็นบุคคลผู้ที่เราจะพึงกระทำการนอบน้อมเห็นปานนั้น.
               ครั้งนั้นแล เห็นพระขีณาสพมหาพรหมผู้มีอายุ ๑๖,๐๐๐ กัปก็ประคองอัญชลีเกิดความโสมนัสยอมรับนับถือเราว่า พระองค์เป็นมหาบุรุษในโลกพร้อมทั้งเทวโลก พระองค์เป็นผู้เลิศ เป็นผู้เจริญที่สุด เป็นประเสริฐที่สุดของโลกพร้อมทั้งเทวโลก ไม่มีผู้ที่จะยิ่งใหญ่กว่าพระองค์.
               ก็แม้ในกาลนั้น เรามองไม่เห็นผู้คนยิ่งใหญ่กว่าเรา จึงเปล่งอาสภิวาจา วาจาอย่างองอาจว่า เราเป็นผู้เลิศของโลก เราเป็นผู้เจริญที่สุดของโลก เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดเของโลก. เราแม้เกิดได้ครู่เดียวก็ยังไม่มีบุคคลที่ควรแก่การกราบไหว้อย่างนี้ บัดนี้ เรานั้นบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว จะพึงกราบใครเล่า เพราะฉะนั้น ท่านอย่าปรารถนาการนอบน้อมอย่างยิ่งเห็นปานนี้จากตถาคตเลย ท่านพราหมณ์. เพราะว่าเราตถาคตพึงกราบบุคคลใด ฯลฯ หรือเชื้อเชิญคนใดด้วยอาสนะ แม้ศีรษะของบุคคลนั้นก็จะพึงขาดหลุมจากคอตกลง ณ พื้นดินทันที เหมือนผลตาลหลุดจากขั้วที่ติดอยู่หย่อนๆ เพราะแก่จัด หลุดขาดจากขั้วตอนสิ้นคืนฉะนั้น.
               แม้เมื่อตรัสอย่างนี้แล้วพราหมณ์ก็ยังกำหนดไม่ได้ว่า พระตถาคตเป็นผู้เจริญที่สุดในโลก เพราะความด้อยปัญญา เมื่ออดทน พระดำรัสนั้นอย่างเดียวไม่ได้ จึงกล่าวว่า ท่านพระโคดมผู้ไม่เป็นรส.
               ได้ยินว่า พราหมณ์นั้นมีความมุ่งหมายดังนี้ :-
               สามีจิกรรมคือการกราบ การลุกรับและการทำอัญชลี ในโลกที่เขาเรียกว่าสามัคคีรส ท่านพระโคดมไม่มีเลย เพราะฉะนั้น ท่านพระโคดมจึงไม่มีรส คือไม่มีรสชาติ ไม่มีรสเป็นสภาวะ.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงหลีกเลี่ยงความขัดแย้งโดยตรง เพื่อให้พราหมณ์นั้นเกิดจิตอ่อนโยน เมื่อจะทรงชี้แจงความหมายของคำนั้น โดยประการอื่นในพระองค์ จึงตรัสว่า อตฺถิ เขฺวส พฺราหฺมณ ปริยาโย ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อตฺถิ เขฺวส ตัดบทเป็น อตฺถิ โข เอส.
               บทว่า ปริยาโย ได้แก่ เหตุ.
               ท่านอธิบายว่า ดูก่อนพราหมณ์ มีเหตุอยู่ที่บุคคลเมื่อกล่าวถึงเราว่า ท่านพระโคดมไม่มีรสชาติดังนี้ ชื่อว่าพึงกล่าวชอบ คือพึงนับว่ากล่าวความจริง ก็เหตุนั้นเป็นไฉน? ดูก่อนพราหมณ์ ความยินดีในรูป ฯลฯ ความยินดีในโผฏฐัพพะ ตถาคตละได้แล้ว.
               มีอธิบายอย่างไร?
               มีอธิบายว่า ความยินดีในรูป ความยินดีในเสียง ความยินดีในกลิ่น ความยินดีในรส ความยินดีในโผฏฐัพพะอันใด กล่าวคือความพอใจกามสุข ย่อมเกิดแก่พวกปุถุชน แม้ที่เขาสมมติกันว่าเป็นผู้ประเสริฐด้วยชาติกำเนิดหรือด้วยอุปบัติ ผู้พอใจเพลิดเพลิน กำหนัดในรูปารมณ์เป็นต้น รสเหล่าใดย่อมดึงโลกนี้ไว้เหมือนผูกไว้ที่คอ หรือเรียกว่าสามัคคีรส เพราะเกิดขึ้นด้วยความพร้อมเพรียงของวัตถุและอารมณ์เป็นต้น รสแม้ทั้งหมดนั้น ตถาคตละได้แล้ว.
               แม้เมื่อควรจะตรัสว่า เราละเสียแล้ว ก็ไม่ทรงยกพระองค์ด้วยมมังการ แสดงธรรมอีกอย่างหนึ่ง นั่นเป็นเทสนาวิลาสความเยื้องกรายแห่งเทศนาของพระตถาคต.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ปหีนา แปลว่า ไปปราศหรือขาดจากจิตสันดาน.
               ก็ในอรรถนี้ พึงเห็นฉัฏฐีวิภัติ ใช้ในอรรถแห่งตติยาวิภัติ.
               ชื่อว่ามีรากตัดขาดแล้ว เพราะรากล้วนแล้วด้วยตัณหาและอวิชชาของรสเหล่านั้น อันตถาคตตัดขาดแล้วด้วยสาตรา คืออริยมรรค. ชื่อว่ากระทำให้เหมือนวัตถุพื้นที่ตั้งของต้นตาล เพราะกระทำให้เป็นวัตถุที่ตั้งของความยินดีในรูปเป็นต้นเหล่านั้น เหมือนวัตถพื้นที่ตั้งของต้นตาล.
               เหมือนอย่างว่า เมื่อถอนต้นตาลพร้อมทั้งราก กระทำประเทศคือพื้นที่ตรงนั้นให้เป็นเพียงพื้นที่ตั้งของต้นตาลนั้น ต้นตาลนั้นย่อมไม่ปรากฏว่าเกิดขึ้นอีกฉันใด เมื่อถอนความยินดีในรูปเป็นต้นพร้อมทั้งรากด้วยสาตราคืออริยมรรค กระทำจิตสันดานให้เป็นเพียงวัตถุ เพราะความยินดีในรูปเป็นต้นเหล่านั้นเคยเกิดขึ้นในกาลก่อน ความยินดีในรูปเป็นต้นเหล่านั้นแม้ทั้งหมด จึงเรียกว่า ตาลวัตถุกตา กระทำให้เป็นดุจพื้นที่ตั้งของต้นตาลฉันนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ตาลวัตถุกตา เพราะกระทำให้เหมือนตาลยอดด้วน เพราะไม่งอกขึ้นเป็นธรรมดา ก็เพราะเหตุที่ความยินดีในรูปเป็นต้น ถูกกระทำให้เป็นเหมือนพื้นที่ตั้งของต้นตาลอย่างนี้ คือย่อมเป็นอันทำไม่ให้มีต่อไป เป็นอันถูกทำโดยประการที่ความยินดีในรูปเป็นต้นเหล่านั้นจะไม่มีในภายหลังฉะนั้น จึงตรัสว่า อนภาวํกตา ทำไม่ให้มี.
               บทว่า อายตึ อนุปฺปาทธมฺมา ได้แก่ มีอันไม่เกิดขึ้นในอนาคตเป็นสภาพ.
               บทว่า โน จ โข ตฺวํ สนฺธาย วเทสิ ความว่า ท่านกล่าวเหตุใดหมายถึงเรา เหตุนั้นย่อมไม่มี.
               ถามว่า เมื่อตรัสอย่างนี้ ย่อมเป็นอันทรงอนุญาตว่า สามัคคีรสที่พราหมณ์กล่าวนั้นมีอยู่ในพระองค์ มิใช่หรือ?
               ตอบว่า ไม่ใช่ทรงอนุญาต. เพราะผู้ใดเป็นผู้ควรทำสามัคคีรสนั้นแล้วไม่กระทำ ผู้นั้นควรต้องถูกกล่าวว่าเป็นผู้ไม่มีรสเป็นรูป เพราะไม่มีสามัคคีรสนั้น.
               แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ควรทีเดียวที่จะกระทำสามัคคีรสนั้น เพราะเหตุนั้น เมื่อจะทรงประกาศความไม่ควรในการทำสามัคคีรสนั้น จึงตรัสว่า โน จ โข ยํ ตฺวํ สนฺธาย วเทสิ ดังนี้. อธิบายว่า ท่านกล่าวถึงเราว่า ไม่มีรสเป็นรูป หมายเอาเหตุใด เหตุนั้นไม่ควรกล่าวในเราทั้งหลายเลย.
               พราหมณ์ไม่อาจยกเอาความไม่มีรสชาติที่ตนประสงค์ด้วยอาการอย่างนี้ จึงกล่าวปริยายอื่นต่อไปภายหลังว่า นิพฺโพโค ภวํ เป็นต้น.
               ก็ในปริยายทั้งปวง พึงทราบลำดับการประกอบความโดยนัยดังกล่าวในเหตุนี้ แล้วทราบเนื้อความที่หมายกล่าวอย่างนี้ :-
               พราหมณ์สำคัญกรรมมีการกราบเป็นต้น ซึ่งบุคคลผู้เจริญวัยทั้งหลายนั้นเท่านั้นว่า สามัคคีบริโภคในโลก และกล่าวหาพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า นิพโภคะ ไม่มีโภคะ เพราะไม่มีสามัคคีบริโภคนั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นว่า การบริโภคด้วยฉันทราคะในรูปเป็นต้นของสัตว์ทั้งหลายไม่มีในพระองค์ จึงทรงอนุญาตปริยายอื่นอีก.
               พราหมณ์เห็นการไม่กระทำกรรม คือความประพฤติอันเป็นกุศลมีการกราบเป็นต้นซึ่งคนผู้เจริญวัยในโลกที่ชาวโลกกระทำกัน จึงกล่าวหาพระผู้มีพระภาคเจ้าอีกว่า เป็นอกิริยวาทะ กล่าวการไม่ทำ.
               ก็แต่เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสการไม่กระทำกายทุจริตเป็นต้นฉะนั้น เมื่อทรงเห็นความเป็นผู้มีวาทะว่าไม่เป็นอันทำนั้นในพระองค์ จึงทรงอนุญาตปริยายอื่นอีก.
               ในข้อนั้น เว้นกายทุจริตเป็นต้นเสีย อกุศลธรรมที่เหลือพึงทราบว่าอกุศลบาปธรรมมากอย่าง.
               พราหมณ์ไม่เห็นกรรมมีการกราบเป็นต้นนั้นนั่นในพระผู้มีพระภาคเจ้าอีก สำคัญว่าแบบแผนโลก ประเพณีโลกอันนี้ จะขาดสูญ เพราะอาศัยข้อนี้ จึงกล่าวหาพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า เป็นอุจเฉทวาทะ วาทะว่าขาดสูญ.
               แต่เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสการขาดสูญแห่งราคะอันเป็นไปในกามคุณ ๕ และโทสะอันสัมปยุตด้วยอกุศลจิตทั้งสองด้วยอนาคามิมรรค. อนึ่ง ตรัสความขาดสูญแห่งโมหะอันเป็นแดนเกิดอกุศลทั้งปวงด้วยอรหัตตมรรค ตรัสความขาดสูญแห่งอกุศลธรรมทั้งหมด เว้นกิเลส ๓ อย่างนั้น ด้วยมรรคทั้ง ๔ ตามสมควร. ฉะนั้น เมื่อทรงเห็นวาทะว่าขาดสูญนั้นมีในพระองค์ จึงทรงอนุญาตปริยายอื่นอีก.
               พราหมณ์สำคัญว่า พระสมณโคดมชะรอยจะเกลียดกรรม คือความประพฤติอันดีมีการกราบเป็นต้นซึ่งคนผู้เจริญวัยนี้ทีเดียว ด้วยเหตุนั้น จึงไม่กระทำการกราบไหว้เป็นต้นนั้น จึงกล่าวหาพระผู้มีพระภาคเจ้าอีกว่า เป็นเชคุจฉี ผู้มักเกลียด.
               แต่เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเกลียดกายทุจริตเป็นต้น คือทรงเกลียด ทรงละอายกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต และการถึงพร้อม กิริยาที่ถึงพร้อม ความพร้อมเพรียงแห่งอกุศลบาปธรรมมากอย่างแม้ทั้งหมด เหมือนบุรุษผู้รักสวยรักงามเกลียดคูถฉะนั้น. เมื่อทรงเห็นความเกลียดอันนั้นในพระองค์ จึงทรงอนุญาตเหตุข้ออื่นอีก.
               ตติยาวิภัติว่า กายทุจฺจริเตน เป็นต้น ในพระบาลีนั้นพึงทราบว่าใช้ในอรรถแห่งทุติยาวิภัติ (แปลว่าซึ่งกายทุจริตเป็นต้น).
               พราหมณ์ไม่เห็นกรรมมีการกราบเป็นต้น อันนั้นแหละในพระผู้มีพระภาคเจ้าอีก สำคัญว่า พระสมณโคดมนี้กำจัด คือทำกรรมของผู้เจริญที่สุดในโลก ข้อนี้ให้เสียหายไป. อีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่ไม่ทรงทำสามีจิกรรมอันนี้ฉะนั้น พระสมณโคดมนี้ควรกำจัด ควรข่มขี่ จึงกล่าวหาพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า เวนยิกะ ผู้มักกำจัด.
               ในข้อนั้นมีวจนัตถะ คือความหมายของคำดังต่อไปนี้ :-
               ชื่อว่าวินัย เพราะจำกัด. อธิบายว่า ทำให้พินาศฉิบหาย. วินัยนั่นแหละเป็นเวนยิกะ (คือความหมายเหมือนกัน). อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าเวนยิกะเพราะควรกำจัด. อธิบายว่า ควรข่มขี่. แต่เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมเพื่อกำจัด เพื่อสงบระงับราคะเป็นต้น ฉะนั้น จึงทรงเป็นนักกำจัด.
               ก็ในบทว่า เวนยิโก นี้มีความหมายของบทดังต่อไปนี้ :-
               ชื่อว่าเวนยิกะ เพราะทรงแสดงธรรมเพื่อกำจัด. ก็การพฤติของตัทธิต (หลักไวยากรณ์ชนิดหนึ่ง) มีนัยวิจิตรหลากหลาย. พระผู้มีพระภาคเจ้านี้นั้นทรงเห็นความเป็นนักกำจัด (กิเลส) อันนั้นในพระองค์ จึงทรงอนุญาตปริยายอื่นอีก.
               เพราะเหตุที่โลกิยชน เมื่อกระทำสามีจิกรรมมีการกราบเป็นต้น ย่อมทำคนผู้เจริญวัยให้ยินดีร่าเริง แต่เมื่อไม่ทำ ย่อมแผดเผา เบียดเบียน ทำความโทมนัสให้เกิดขึ้นแก่ผู้เจริญวัยเหล่านั้น แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงกระทำสามีจิกรรมเหล่านั้นฉะนั้น พราหมณ์จึงสำคัญว่า พระสมณโคดมนี้แผดเผาผู้เจริญวัยหรือสำคัญว่าพระสมณโคดมนี้เป็นกำพร้า (ไร้ที่พึ่ง) เพราะเว้นจากการประพฤติความดี จึงกล่าวหาพระผู้มีพระภาคเจ้าอีกว่า เป็นตปัสสี คนเผาผลาญ.
               ในบทว่า ตปัสสี นั้นความหมายของบทมีดังนี้ :-
               ชื่อว่าตบะ เพราะแผดเผา. อธิบายว่า เบียดเบียน บีบคั้น. คำว่าตบะนี้เป็นชื่อของการทำสามีจิกรรม. ชื่อว่าตปัสสี เพราะมีตบะเครื่องเผาผลาญ. ในอรรถวิกัปที่ ๒ ไม่พิจารณาพยัญชนะ (คือไม่คำนึงถึงตัวอักษร) เรียกคนกำพร้าในโลกว่าตปัสสี คนช่างเผาผลาญ. แต่เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนับได้ว่า ตปัสสี ผู้มักเผาผลาญ เพราะทรงละเหล่าอกุศลธรรมที่เรียกชื่อว่า ตปนียะ เพราะแผดเผาชาวโลกเสียได้ ฉะนั้น เมื่อทรงเห็นความเป็นผู้มักเผาผลาญข้อนั้นในพระองค์ จึงทรงอนุญาตปริยายอื่นอีก.
               ในบทว่า ตปัสสี นั้นมีความหมายของคำดังต่อไปนี้ :-
               อกุศลธรรมทั้งหลายชื่อว่าตบะ เพราะแผดเผา. คำนี้เป็นชื่อของอกุศลธรรมทั้งหลาย. ชื่อว่าตปัสสี เพราะซัดไป เหวี่ยงไป ละทิ้ง กำจัดตบะคืออกุศลธรรมเหล่านั้น.
               พราหมณ์ยังสำคัญอยู่อีกว่า กรรมมีการกราบเป็นต้นนั้นย่อมเป็นไปเพื่อคัพภสมบัติในเทวโลก คือเพื่อได้เฉพาะการปฏิสนธิในเทวโลก และเห็นว่าสามีจิกรรมมีการกราบเป็นต้นนั้นไม่มีในพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงกล่าวหาพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า อปคัพภะ ผู้ปราศจากครรภ์. อีกอย่างหนึ่ง แม้เมื่อจะแสดงโทษในการถือปฏิสนธิในครรภ์มารดาของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยอำนาจความโกรธ จึงกล่าวอย่างนั้น.
               ในบทว่า อปคัพภะ นั้น ความของบทมีดังนี้ :-
               ชื่อว่าอปคัพภะ เพราะปราศจากครรภ์. อธิบายว่า ไม่ควรอุปบัติในเทวโลก. อีกอย่างหนึ่ง ชื่ออปคัพภะ เพราะมีครรภ์ที่เกิดเลว. อธิบายว่า ชื่อว่ามีส่วนได้ครรภ์ที่เลวต่อไป เพราะห่างไกลครรภ์ในเทวโลก. หรือว่าพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นได้มีการอยู่ในครรภ์ในท้องพระมารดาอย่างแล้ว. แต่เพราะเหตุที่คัพภไสยา การนอนในครรภ์แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าไปปราศเสียแล้ว ฉะนั้น พระองค์เมื่อทรงเห็นความปราศจากครรภ์นั้นในพระองค์ จึงทรงอนุญาตปริยายอื่นอีก.
               แม้ในพระบาลีนั้น บทเหล่านี้ว่า ดูก่อนพราหมณ์ การนอนในครรภ์ การเกิดในภพใหม่ต่อไปอันผู้ใดแลละได้แล้ว ดังนี้ พึงเห็นใจความอย่างนี้ว่า ดูก่อนพราหมณ์ การนอนในครรภ์และการเกิดในภพ ในอนาคตกาลอันบุคคลใดละได้แล้ว เพราะมีเหตุอันมรรคชั้นเยี่ยมกำจัดแล้ว.
               ก็ในอธิการนี้ ท่านถือเอาชลาพุชะกำเนิด ด้วยคัพภเสยยะศัพท์.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงเห็นนอกนี้ด้วยปุนัพภวาภินิพพัตติศัพท์.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงเห็นเนื้อความในคำนี้อย่างนี้ว่า การนอนของสัตว์ผู้เกิดในครรภ์ ชื่อว่าคัพภไสยา. การเกิดคือภพใหม่ ชื่อว่าปุนัพภวาภินิพพัตติ. เหมือนไปจากวิญญาณ ย่อมไม่มีฉันใด แม้ในเรื่องนี้ก็ฉันนั้น ไม่ควรเข้าใจว่าการนอนเป็นอื่นไปจากครรภ์ (ก็มี).
               อนึ่ง ชื่อว่าการเกิด เหตุที่เป็นภพใหม่บ้าง ไม่เป็นภพใหม่บ้าง มีอยู่ และในที่นี้ประสงค์เอาการเกิดที่เป็นภพใหม่ เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่า ปุนพฺวโว เอว อภินิพฺพตฺติ ปุนพฺภวาภินิพฺพตฺติ การเกิดคือภพใหม่ ชื่อว่าการเกิดใหม่ ดังนี้.
               พราหมณ์แม้จะด่าด้วยอักโกสวัตถุ เรื่องสำหรับด่ามีความเป็นผู้ไม่มีรสชาติเป็นต้น ตั้งแต่เวลาที่มาถึงแล้วด้วยประการอย่างนั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ธัมมิสสระเป็นใหญ่ในธรรม ธรรมราชา พระราชาเพราะธรรม ธรรมสวามี เจ้าของธรรม เป็นตถาคต ทรงสำรวมดูพราหมณ์ด้วยพระจักษุอันเยือกเย็นด้วยความเอ็นดู ทรงบรรลุธรรมธาตุใดแล้ว ชื่อว่าถึงพร้อมด้วยความเยื้องกรายแห่งเทศนานั้น เพราะธรรมธาตุนั้นทรงรู้แจ้งดีแล้ว เมื่อจะทรงขจัดความมืดมนอนธการในดวงใจของพราหมณ์ ดุจพระจันทร์เพ็ญลอยเด่นในท้องฟ้าอันปราศจากเมฆ และดุจพระอาทิตย์ในสรทกาล ฤดูร้อน จึงทรงแสดงอักโกสวัตถุเหล่านั้นแหละเป็นอย่างอื่น ด้วยปริยายนั้นๆ.
               เมื่อจะทรงประกาศความแผ่ไปแห่งพระกรุณาของพระองค์ คุณลักษณะของผู้คงที่ ความเป็นผู้มีจิตเสมอด้วยแผ่นดิน และความเป็นผู้มีอกุปปธรรมอันไม่กำเริบที่ทรงได้แล้ว เพราะไม่ทรงหวั่นไหวด้วยโลกธรรม ๘ ซ้ำอีก จึงทรงพระดำริว่า พราหมณ์ผู้นี้ย่อมกำหนดความที่ตนเป็นผู้เฒ่าด้วยอาการมีผมหงอก ฟันหักและหนังเหี่ยวเป็นต้นอย่างเดียว ทั้งหารู้ว่าไม่ว่าตนถูกชาติติดตาม ถูกชราต้อนไป ถูกพยาธิครอบงำ ถูกมรณะคอยกำจัด ตายวันนี้แล้ว วันรุ่งขึ้นก็จะต้องกลายเป็นทารกนอนหงายอีก.
               ก็ (เขา) มายังสำนักเราด้วยความอุตสาหะเป็นอันมาก ขอการมาของเขานั้นจงมีประโยชน์เถิด เมื่อจะทรงแสดงว่าพระองค์เป็นผู้เกิดก่อนไม่มีคนเทียมในโลกนี้ จึงทรงเพิ่มพระธรรมเทศนาแก่พราหมณ์โดยนัยว่า เสยฺยถาปิ พฺราหฺมณ ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เสยฺยถาปิ เป็นต้นไป พึงทราบความโดยนัยดังกล่าวแล้วในหนหลังนั่นแหละ.
               ส่วนความแปลกกันมีดังนี้ :-
               ก็โดยนัยดังกล่าวไว้ในหนหลังนั่นแหละ ลูกไก่เหล่านั้นกระพือปีกร้องออกไป พอเหมาะแก่ขณะนั้น และบรรดาลูกไก่เหล่านั้นซึ่งออกไปอย่างนั้น ลูกไก่ตัวใดออกก่อน ลูกไก่ตัวนั้นเขาเรียกว่าพี่ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประสงค์จะทำความที่พระองค์เป็นพี่ผู้เจริญที่สุดให้สำเร็จด้วยอุปมานั้น จึงตรัสถามพราหมณ์ว่า โย นุ โข เตสํ กุกฺกุฏจฺฉาปกานํ ฯเปฯ กินฺติ สฺวาสฺส ฯลฯ ลูกไก่ตัวนั้นควรเรียกว่าอย่างไร ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กุกฺกุฏจฺฉาปกานํ แปลว่า บรรดาลูกไก่ทั้งหลาย.
               บทว่า กินฺติ สฺวาสฺส วจนีโย ความว่า ลูกไก่ตัวนั้นควรเรียกว่าอะไร คือพึงเรียกอย่างไร จะเรียกว่าพี่หรือน้อง
               บทว่า เชฏฺโฐติสฺส โภ โคตม วจนีโย ความว่า ท่านพระโคดม ลูกไก่ตัวนั้ควรเรียกว่าเป็นพี่.
               หากจะมีผู้ถามว่า เพราะเหตุไร?
               แก้ว่า เพราะบรรดาลูกไก่เหล่านั้น ลูกไก่ตัวนั้นแก่กว่าเพื่อน. อธิบายว่า เพราะลูกไก่ตัวนั้นเป็นตัวแก่กว่าลูกไก่เหล่านั้น.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงทำความอุปมาให้สำเร็จผลแก่พราหมณ์นั้น จึงตรัสว่า เอวเมว โข ดังนี้เป็นต้น. (อธิบายว่า) แม้เราก็เหมือนลูกไก่ตัวนั้น.
               บทว่า อวิชฺชาคตาย ปชาย ความว่า ความไม่รู้ เรียกว่าอวิชชา. หมู่สัตว์ผู้ตกอยู่ในอวิชชา คือความไม่รู้นั้น.
               บทว่า ปชาย นี้เป็นชื่อของสัตว์. อธิบายว่า ในสัตว์ทั้งหลายผู้เข้าไปอยู่ภายในกะเปาะไข่ คืออวิชชา.
               บทว่า อณฺฑภูตาย ได้แก่ มีแล้ว คือเกิดแล้ว เกิดพร้อมแล้วในไข่. เหมือนอย่างว่า สัตว์บางจำพวกเกิดในไข่เรียกว่าอัณฑภูตฉันใด หมู่สัตว์แม้ทั้งหลายนี้ก็ฉันนั้น เรียกว่าอัณฑภูต เพราะเกิดในกะเปาะไข่คืออวิชชา.
               บทว่า ปริโยนทฺธาย ได้แก่ อันกะเปาะไข่คืออวิชชานั้นหุ้ม คือผูกพันไว้โดยรอบ.
               บทว่า อวิชฺชณฺฑโกสํ ปทาเลตฺวา ได้แก่ ทำลายกะเปาะไข่อันสำเร็จด้วยอวิชชานั้น.
               บทว่า เอโกว โลเก ความว่า เราเท่านั้นเป็นเอก ไม่เป็นที่สอง ในโลกสันนิวาสแม้ทั้งสิ้น.
               บทว่า อนุตฺตรํ สมฺมาสมฺโพธึ อภิสมฺพุทฺโธ ได้แก่ พระปัญญาเครื่องตรัสรู้ชอบและโดยพระองค์เอง ปราศจากผู้ยิ่งกว่า คือประเสริฐสุดกว่าเขาทั้งหมด.
               อีกอย่างหนึ่ง พระปัญญาเครื่องตรัสรู้อันประเสริฐและดี.
               คำว่า โพธิ นี้เป็นชื่อของอรหัตตมรรคญาณ ทั้งเป็นชื่อของพระสัพพัญญุตญาณด้วย แม้ชื่อทั้งสองก็เหมาะ.
               ถามว่า อรหัตตมรรคของคนเหล่าอื่นเป็นปัญญาเครื่องตรัสรู้ยอดเยี่ยมหรือไม่?
               ตอบว่า ไม่เป็น.
               เพราะเหตไร? เพราะไม่ให้คุณทุกอย่าง.
               ก็บรรดาบุคคลเหล่านั้น อรหัตตมรรคย่อมให้เฉพาะอรหัตตผลแก่บางคน ให้วิชชา ๓ แก่บางคน ให้อภิญญา ๖ แก่บางคน ให้ปฏิสัมภิทา ๔ แก่บางคน ให้สาวกบารมีญาณแก่บางคน สำหรับพระปัจเจกพุทธะทั้งหลายให้เฉพาะปัจเจกโพธิญาณเท่านั้น ส่วนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายให้คุณสมบัติทุกอย่าง เหมือนการอภิเษกให้ความเป็นใหญ่ในโลกทั้งปวงแก่พระราชา เพราะเหตุนั้น ปัญญาเครื่องตรัสรู้อันยอดเยี่ยม จึงไม่มีแม้แก่ใครอื่น.
               บทว่า อภิสมฺพุทฺโธ ได้แก่ รู้ทั่วยิ่งแล้วแทงตลอดแล้ว. อธิบายว่า บรรลุแล้ว.
               บัดนี้ พึงเทียบการสาธกข้ออุปมาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้โดยนัยมีอาทิว่า เอวเมว โข นั้น ด้วยเนื้อความแล้วทราบอย่างนี้ :-
               เหมือนอย่างว่า แม่ไก่ตัวนั้นกระทำกิริยา ๓ อย่างมีการนอนกกไข่ของตนฉันใด การที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ประทับนั่งที่โพธิบัลลังก์ กระทำอนุปัสสนาปัญญาเห็นเนื่องๆ ๓ อย่าง คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในสันดานของพระองค์ก็ฉันนั้น การไม่ทำวิปัสสนาญาณให้เสื่อมไป ด้วยการยังอนุปัสสนา ๓ ประการให้สมบูรณ์อยู่แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ เหมือนฟองไข่ไม่ตายโคม ด้วยการทำกิริยาทั้ง ๓ ของแม่ไก่ให้สมบูรณ์.
               การที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้งเป็นโพธิสัตว์ทำลายความเยื่อใยด้วยอำนาจความใคร่อันเป็นตามภพทั้ง ๓ ด้วยการทำอนุปัสสนา ๓ อย่างให้สมบูรณ์ เหมือนแม่ไก่ทำยางเมือกของไข่ให้สิ้นไปด้วยการทำกิริยาทั้ง ๓ อย่าง (คือกก ทำให้อบอุ่น ฟักให้ได้รับกลิ่นตัวแม่ไก่). ความที่กะเปาะฟองไข่คืออวิชชาเป็นของเบาบาง ก็ด้วยการที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ทรงทำอนุปัสสนาทั้ง ๓ ให้สมบูรณ์ เหมือนความที่กะเปาะฟองไข่เป็นของบอบบาง ก็เพราะแม่ไก่ทำกิริยาทั้ง ๓ อย่างฉะนั้น.
               ความที่วิปัสสนาญาณเป็นคุณชาติกล้าแข็ง ผ่องใสและแหลมคม ก็เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ทรงทำอนุปัสสนาทั้ง ๓ ให้สมบูรณ์ เปรียบเหมือนความที่เล็บเท้าและจะงอยปากของลูกไก่เป็นของหยาบและแข็ง ก็ด้วยการที่แม่ไก่ทำกิริยาทั้ง ๓ ฉะนั้น. เวลาที่วิปัสสนาญาณเปลี่ยนไป เวลาขยายไป เวลาถือเอาห้อง ก็ด้วยการที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ทรงทำอนุปัสสนาทั้ง ๓ ให้บริบูรณ์ เปรียบเหมือนเวลาที่ลูกไก่เปลี่ยนไป ก็ด้วยการที่แม่ไก่ทำกิริยาทั้ง ๓ ฉะนั้น.
               พึงทราบเวลาที่ทำวิปัสสนาญาณให้ถือเอาห้อง ทำลายกะเปาะไข่คืออวิชชา ด้วยอรหัตตมรรคที่บรรลุโดยลำดับ กระพือปีกคืออภิญญา ๖ ทำให้แจ้งพุทธคุณทั้งสิ้นโดยสวัสดี ด้วยการที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบำเพ็ญอนุปัสสนาทั้ง ๓ ให้บริบูรณ์ เหมือนเวลาที่ลูกไก่ทำลายกะเปาะฟองไข่ด้วยปลายเล็บเท้าหรือจะงอยปาก กระพือปีกเจาะออกโดยสวัสดี ด้วยการทำกิริยาทั้ง ๓ อย่างของแม่ไก่ฉะนั้น.
               บทว่า อหญฺหิ พฺราหฺมณ เชฏฺโฐ เสฏฺโฐ โลกสฺส ความว่า ดูก่อนพราหมณ์ บรรดาลูกไก่เหล่านั้น ลูกไก่ตัวที่ทำลายกะเปาะฟองไข่บังเกิดก่อน เป็นตัวพี่ฉันใด บรรดาหมู่สัตว์ผู้ตกอยู่ในอวิชชา เรานี่แหละนับว่าเป็นผู้เจริญกว่า คือเป็นผู้เจริญที่สุด เพราะทำลายกะเปาะฟองไข่บังเกิดก่อน เป็นตัวพี่ฉันใด บรรดาหมู่สัตว์ผู้ตกอยู่ในอวิชชา เรานี่แหละนับว่าเป็นผู้เจริญกว่า คือเป็นผู้เจริญที่สุด เพราะทำลายกะเปาะฟองไข่คืออวิชชานั้น เกิดในอริยชาติก่อนฉันนั้น. อนึ่ง นับว่าเป็นผู้ประเสริฐสุด เพราะไม่มีผู้เทียบได้ด้วยคุณทั้งปวง.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงประกาศความที่พระองค์เป็นผู้เจริญที่สุด ประเสริฐสุดอันยอดเยี่ยมแก่พราหมณ์อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงปฏิปทาอันเป็นเหตุให้ทรงบรรลุถึงความเป็นผู้เจริญที่สุดและประเสริฐสุดนั้นตั้งแต่เบื้องต้น จึงตรัสคำมีอาทิว่า อารทฺธํ โข ปน เม พฺราหฺมณ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อารทฺธํ โข ปน เม พฺราหฺมณ วีริยํ อโหสิ ความว่า ดูก่อนพราหมณ์ ความเป็นผู้เจริญที่สุดและประเสริฐสุดอันยอดเยี่ยมนี้ เราบรรลุด้วยความเกียจคร้าน ด้วยความมีสติหลงลืม ด้วยกายอันกระสับกระส่าย ด้วยจิตอันฟุ้งซ่าน ก็หามิได้.
               ก็อนึ่งแล เราได้มีความเพียรอันปรารภแล้ว เพื่อบรรลุความเป็นผู้เจริญที่สุดและประเสริฐสุดอันนั้น. เรานั่งที่โพธิมัณฑสถาน ได้ปรารภประคองความเพียรต่างโดยสัมมัปปธาน ๔ อันเป็นไปไม่ย่อหย่อน. ความเพียรนั้นของเราได้เป็นความเพียรไม่ย่อหย่อน เพราะได้ปรารภแล้วทีเดียว. ก็จะมีแต่ความเพียรอย่างเดียวก็หามิได้ แม้สติก็เป็นอันเราเข้าไปตั้งไว้โดยมุ่งตรงต่ออารมณ์ และเป็นสติที่ไม่หลงลืม เพราะเป็นธรรมชาติเข้าไปตั้งมั่นแล้ว.
               บทว่า ปสฺสทฺโธ กาโย อสารทฺโธ ความว่า แม้กายของเราก็เป็นสภาพสงบด้วยอำนาจกายปัสสิทธิและจิตตปัสสัทธิ.
               ในความสงบนั้น เหตุที่เมื่อนามกายสงบ แม้รูปกายก็ชื่อว่าเป็นอันสงบเหมือนกันฉะนั้น จึงไม่ตรัสให้แปลกกันเลยว่า นามกาโย รูปกาโย นามกาย รูปกาย แต่ตรัสว่า ปสฺสทฺโธ กาโย กายสงบ.
               บทว่า อสารทฺโธ ความว่า ก็กายนั้นแลชื่อว่าสงบ. อธิบายว่า ปราศจากความกระวนกระวาย เพราะเป็นกายสงบแท้เทียว.
               บทว่า สมาหิตํ จิตฺตํ เอกคฺคํ ความว่า แม้จิต เราก็ตั้งไว้โดยชอบคือตั้งไว้ด้วยดี เป็นเหมือนแนบแน่น และมีอารมณ์เดียวคือไม่หวั่นไหว ไม่ดิ้นรน เพราะเป็นจิตตั้งมั่นทีเดียว.
               ด้วยลำดับแห่งคำเพียงเท่านี้ ย่อมเป็นอันตรัสปฏิปทาอันเป็นเบื้องต้นของฌาน. บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงคุณวิเศษ เริ่มต้นแต่ปฐมฌานที่ทรงบรรลุด้วยปฏิปทานี้จนถึงอวิชชา ๓ เป็นที่สุด จึงตรัสคำมีอาทิว่า โส โข อหํ ดังนี้.
               ในคำที่ตรัสไว้นั้น เบื้องแรก คำที่มิได้ยกขึ้นวินิจฉัยนั้น ก็ได้กล่าวไว้ดีแล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั่นแล.
               ก็ในบทว่า อยํ โข เม พฺรหฺมณ เป็นต้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า วิชฺชา คือ ที่ชื่อว่าวิชชา เพราะอรรถว่ากระทำความรู้แจ้ง.
               ถามว่า ทำความรู้แจ้งอะไร?
               ตอบว่า ทำความรู้แจ้งบุพเพนิวาสญาณ คือรู้ขันธ์ที่อยู่อาศัยในกาลก่อน.
               บทว่า อวิชฺชา ได้แก่ โมหะอันปกปิดวิชชานั้น เพราะอรรถว่ากระทำความไม่รู้แจ้ง บุพเพนิวาสญาณนั่นแหละ.
               บทว่า ตโม ความว่า โมหะ นั้นนั่นเองชื่อว่า ตมะ ความมืด เพราะอรรถว่าปกปิดวิชชานั้น.
               บทว่า อาโลโก ความว่า วิชชานั้นนั่นแล ชื่อว่าอาโลกะ ความสว่าง เพราะอรรถว่ากระทำความสว่าง.
               ก็ในบทว่า อาโลโก นี้มีใจความดังนี้ว่า วิชชาเราบรรลุแล้ว.
               คำที่เหลือ (จากโอโลโก) เป็นคำสรรเสริญ.
               ก็ในข้อนี้ประกอบด้วยความดังต่อไปนี้ :-
               วิชชานี้แล เราบรรลุแล้ว เมื่อเรานั้นบรรลุวิชชาแล้ว อวิชชาก็หายไป. อธิบายว่า พินาศไป.
               เพราะเหตุไร? เพราะวิชชาเกิดขึ้น.
               ในบททั้งสองแม้นอกนี้ ก็นัยนี้.
               บทว่า ตํ ในบทว่า ยถา ตํ นี้ เป็นเพียงนิบาต. ชื่อว่าผู้ไม่ประมาท เพราะไม่อยู่ปราศจากสติ ชื่อว่าความผู้มีความเพียร เพราะมีความเพียรเครื่องเผากิเลส ชื่อว่าผู้มีตนส่งไป อธิบายว่า ผู้มีจิตส่งไปแล้ว เพราะไม่อาลัยในกายและชีวิต.
               ท่านอธิบายไว้ดังต่อไปนี้ :-
               เมื่อบุคคลไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปอยู่ อวิชชาพึงถูกขจัดไป วิชชาพึงเกิดขึ้น ความมืดพึงถูกขจัดไป ความสว่างพึงเกิดขึ้นฉันใด อวิชชาอันเราขจัดแล้ว วิชชาเกิดขึ้น ความมืดเราขจัดแล้ว ความสว่างเกิดขึ้น ฉันนั้นเหมือนกัน. เรานั้นได้ผลอันสมแก่การประกอบความเพียรทีเดียว.
               บทว่า อยํ โข เม พฺราหฺมณ ปฐมา อภินิพฺภิทา อโหสิ กุกฺกุฏจฺฉาปกสฺเสว อณฺฑโกสมฺพา ความว่า ดูก่อนพราหมณ์ การทำลายกะเปาะไข่ คืออวิชชาอันปกปิดขันธ์ที่เคยอยู่อาศัยในกาลก่อน ด้วยจะงอยปาก คือบุพเพนิวาสานุสสติญาณ ความรู้ในการระลึกชาติหนหลัง แล้วชำแรกได้ครั้งที่ ๑ ออกไปครั้งที่ ๑ เกิดเป็นอริยะครั้งที่ ๑ นี้แล ได้มีแล้วแก่เรา เหมือนลูกไก่ทำลายกะเปาะฟองไข่นั้นด้วยจะงอยปากหรือปลายเล็บเท้าแล้วชำแรกออกไป จากกะเปาะฟองไข่นั้น เกิดเติบโตในฝูงไก่ ฉะนั้น.
               นัยในบุพเพนิวาสกถาว่าด้วยความรู้เรื่องขันธ์เป็นที่อยู่อาศัยในกาลก่อน เพียงเท่านี้ก่อน.
               ส่วนในจุตูปปาตกถาว่าด้วยความรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า วิชฺชา ได้แก่ วิชชา คือทิพพจักขุญาณ.
               บทว่า อวิชฺชา ได้แก่ อวิชชาอันปกปิดจุตูปปาตญาณ. เหมือนอย่างกล่าวไว้ในบุพเพนิวาสกถาว่า ทำลายกะเปาะฟองไข่ คืออวิชชาอันปกปิดขันธ์ที่อาศัยอยู่ในก่อน ด้วยจะงอยปาก คือบุพเพนิวาสานุสสติญาณดังนี้ ฉันใด ในที่นี้ควรกล่าวว่า ทำลายกะเปาะฟองไข่คืออวิชชาอันปกปิดจุติและอุปบัติของสัตว์ ด้วยจะงอยปากคือจุตูปปาตญาณดังนี้ ฉันนั้น.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงการบรรลุอาสวักขยญาณ ซึ่งกำหนดเอาด้วยปัจจเวกขณญาณแก่พราหมณ์ จึงตรัสคำมีอาทิว่า อยํ โข เม พฺราหฺมณ ตติยา วิชฺชา ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า วิชฺชา ได้แก่ วิชชาคืออรหัตตมรรคญาณ.
               บทว่า อวิชฺชา ได้แก่ อวิชชาที่ปกปิดสัจจะทั้ง ๔.
               ในบทว่า อยํ โข เม พฺราหฺมณ ตติยา อภินิพฺภิทา อโหสิ นี้มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               ดูก่อนพราหมณ์ การที่เราทำลายกะเปาะฟองไข่ คืออวิชชาอันปกปิดสัจจะทั้ง ๔ ด้วยจะงอยปากคืออาสวักขยญาณแล้วชำแรกออกครั้งที่ ๓ ออกไปครั้งที่ ๓ เกิดเป็นอริยะครั้งที่ ๓ นี้แล ได้มีแล้วแก่เรา เหมือนลูกไก่ทำลายกะเปาะฟองไข่ด้วยจะงอยปาก หรือด้วยปลายเล็บเท้าแล้วชำแรกออกจากกะเปาะฟองไข่นั้น เกิดมาเติบโตในฝูงไก่ ฉะนั้น.
               ถามว่า ด้วยคำเพียงเท่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอะไร?
               ตอบว่า ทรงแสดงความนี้ว่า ดูก่อนพราหมณ์ ก็ลูกไก่นั้นทำลายกะเปาะฟองไข่แล้วออกจากกะเปาะฟองไข่นั้น เกิดครั้งเดียวเท่านั้น แต่เราทำลายกะเปาะฟองไข่นั้น คืออวิชชาอันปิดขันธ์ที่อาศัยอยู่ในก่อน เกิดครั้งแรกด้วยวิชชาคือบุพเพนิวาสานุสสติญาณก่อน จากนั้นก็ทำลายกะเปาะฟองไข่คืออวิชชาอันปิดจุติและปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลาย เกิดครั้งที่ ๒ ด้วยวิชชาคือทิพยจักษุญาณ ต่อไปทำลายกะเปาะฟองไข่คืออวิชชาอันปิดสัจจะทั้ง ๔ เกิดครั้งที่ ๓ ด้วยวิชชาคืออาสวักขยญาณ เราเกิด ๓ ครั้งด้วยวิชชา ๓ อย่างนี้ และการเกิดของเรานั้นเป็นของประเสริฐงาม บริสุทธิ์.
               ก็เมื่อทรงแสดงอย่างนี้ ได้ประกาศพระสัพพัญญูคุณแม้ทั้งหมดด้วยวิชชา ๓ อย่างนี้ คือประกาศอตีตังสญาณด้วยบุพเพนิวาสญาณ ประกาศปัจจุบันนังสญาณและอนาคตังสญาณด้วยทิพยจักษุญาณ ประกาศโลกิยคุณและโลกุตตรคุณทั้งสิ้นด้วยอาสวักขยญาณ ทรงแสดงความที่พระองค์ก็เป็นผู้เจริญที่สุด และประเสริฐสุดด้วยอริยชาติ การเกิดอันประเสริฐแก่พราหมณ์.
               บทว่า เอวํ วุตฺเต เวรญฺโช พฺราหฺมโณ ความว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงอนุเคราะห์ชาวโลก เมื่อจะทรงอนุเคราะห์พราหมณ์ ตรัสภาวะที่พระองค์เป็นผู้เจริญที่สุดและประเสริฐที่สุด ด้วยอริยชาติการเกิดอันประเสริฐแม้ที่ควรปกปิด ด้วยพระธรรมเทศนาอันประกาศวิชชา ๓ อย่างนี้ เวรัญชพราหมณ์ผู้มีกายและจิตเต็มด้วยความซาบซ่านแห่งปีติ เข้าใจถึงความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้เจริญที่สุดเและประเสริฐที่สุดด้วยการเกิดอันประเสริฐนั้น ได้ตำหนิตนว่า เราได้กล่าวหาพระสัพพัญญูผู้ประกอบด้วยคุณทั้งปวง ผู้เจริญที่สุดในโลกทั้งปวง เช่นว่า ไม่ทำกรรมมีการกราบเป็นต้นแก่คนอื่น น่าติจริงหนอพราหมณ์ช่างไม่รู้ จึงตกลงใจว่า บัดนี้ ท่านผู้นี้เป็นผู้เจริญที่สุด เพราะเกิดก่อนด้วยอริยชาติ ความเกิดอันประเสริฐในโลก เป็นประเสริฐที่สุด เพราะไม่มีผู้ทัดเทียมด้วยคุณทั้งปวง แล้วได้กราบทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ท่านพระโคดมเป็นผู้เจริญที่สุด ท่านพระโคดมเป็นผู้ประเสริฐที่สุด.
               ก็แลครั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว เมื่อจะชมเชยพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นต่อไป จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อภิกฺกนฺตํ โภ โคตม ไพเราะจริง ท่านพระโคดม. คำนั้นมีเนื้อความดังกล่าวแล้วนั่นแล.

               จบอรรถกถาเวรัญชสูตรที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ปัณณาสก์ มหาวรรคที่ ๒ ๑. เวรัญชสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 23 / 1อ่านอรรถกถา 23 / 100อรรถกถา เล่มที่ 23 ข้อ 101อ่านอรรถกถา 23 / 102อ่านอรรถกถา 23 / 281
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=23&A=3510&Z=3658
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=4845
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=4845
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :