ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 23 / 1อ่านอรรถกถา 23 / 165อรรถกถา เล่มที่ 23 ข้อ 166อ่านอรรถกถา 23 / 167อ่านอรรถกถา 23 / 281
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต สันธานวรรคที่ ๑
๑๖. ปริสสูตร

               อรรถกถาปริสสูตรที่ ๙               
               ปริสสูตรที่ ๙ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า ขตฺติยปริสา ได้แก่ ชุมนุม คือสมาคมแห่งขัตติยบริษัท.
               ในบททั้งปวงก็นัยนี้.
               บทว่า อเนกสตํ ขตฺติยปริสํ ความว่า ขัตติยบริษัท เช่นสมาคมแห่งพระเจ้าพิมพิสาร สมาคมแห่งพระญาติ และสมาคมแห่งเจ้าลิจฉวีเป็นต้น การที่พระศาสดาเสด็จเข้าหาขัตติยบริษัทเป็นต้น แม้ในจักรวาลอื่นก็ย่อมมีได้เหมือนกัน.
               บทว่า สลฺลปิตปุพฺพํ ได้แก่ เคยทำการเจรจาปราศรัย.
               บทว่า สากจฺฉา ความว่า แม้ธรรมสากัจฉา เราก็เคยเข้าสนทนา.
               บทว่า ยาทิโก เตสํ วณฺโณ ความว่า กษัตริย์เหล่านั้นเป็นคนผิวขาวก็มี เป็นคนผิวดำก็มี เป็นคนผิวสองสีก็มี พระศาสดามีพระฉวีวรรณดังทองอย่างเดียว. แต่คำนั้นตรัสอาศัยทรวดทรง.
               อนึ่ง เขาย่อมรู้จักกันว่าเป็นกษัตริย์ พราหมณ์เป็นต้น ก็ตรงทรวดทรงของชนเหล่านั้นอย่างเดียวเท่านั้น แต่พระผู้มีพระภาคเจ้ามิใช่เป็นเช่นกับพวกมิลักขะ ทั้งไม่ได้ทรงสวมใส่กุณฑลแก้วมณี ประทับนั่งด้วยเพศแห่งพระพุทธเจ้านั่นแหละ.
               แต่ชนแม้เหล่านั้นย่อมเห็นทรวดทรงว่าเหมือนตนไปทั้งนั้น.
               บทว่า ยาทิสโก เตสํ สโร ความว่า ชนเหล่านั้นเป็นผู้มีเสียงห้วนก็มี เป็นผู้มีเสียงเหมือนเสียงแมวก็มี เป็นผู้มีเสียงเหมือนเสียงกาก็มี (แต่) พระศาสดามีพระสุรเสียงดังเสียงพรหมอย่างเดียว. ก็คำนี้ตรัสหมายเอาภาษาอื่น.
               ก็แม้ถ้าพระศาสดาจะประทับนั่งตรัสอยู่บนราชอาสน์ในขัตติยบริษัทนั้นไซร้ กษัตริย์เหล่านั้นก็จะมีความคิดว่า วันนี้ พระราชาตรัสด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะ. แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วเสด็จหลีกไปแล้ว กษัตริย์เหล่านั้นเห็นพระราชาเสด็จมาอีก จึงเกิดพิจารณาทบทวนขึ้นว่า ผู้นี้เป็นใครหนอ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โก นุ โข อยํ ความว่า กษัตริย์เหล่านั้นแม้พิจารณาทบทวนอยู่อย่างนี้ว่า พระราชาพระองค์นี้คือใครหนอ เมื่อตรัสๆ โดยอาการอันนุ่มนวลด้วยภาษามคธ ภาษาสีหฬในที่นี้ ในบัดนี้แหละก็หายตัวไปเสียแล้ว พระราชาพระองค์นี้เป็นเทวดาหรือมนุษย์ดังนี้ ก็ไม่รู้จัก.
               ถามว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมแก่ผู้ไม่รู้จักอย่างนี้ เพื่อประโยชน์อะไร?
               แก้ว่า เพื่อต้องการให้เป็นวาสนา (อปรมบารมี).
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงโดยหวังผลอนาคตอย่างนี้ว่า ก็ธรรมที่เขาสดับแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นปัจจัยในอนาคตทีเดียว.
               พึงทราบกำเนิดแห่งคำมีอาทิว่า อเนกสตํ พฺราหฺมณปริสํ ดังนี้ ด้วยอำนาจสมาคมแห่งโสณทัณฑพราหมณ์เป็นต้น และด้วยอำนาจจักรวาลอื่น.

               จบอรรถกถาปริสสูตรที่ ๙               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต สันธานวรรคที่ ๑ ๑๖. ปริสสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 23 / 1อ่านอรรถกถา 23 / 165อรรถกถา เล่มที่ 23 ข้อ 166อ่านอรรถกถา 23 / 167อ่านอรรถกถา 23 / 281
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=23&A=6475&Z=6498
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=6158
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=6158
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :