ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 23 / 1อ่านอรรถกถา 23 / 166อรรถกถา เล่มที่ 23 ข้อ 167อ่านอรรถกถา 23 / 168อ่านอรรถกถา 23 / 281
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต สันธานวรรคที่ ๑
๑๗. ภูมิจาลสูตร

               อรรถกถาภูมิจาลสูตรที่ ๑๐               
               ภูมิจาลสูตรที่ ๑๐ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               ในบทว่า นิสีทนํ นี้ ท่านประสงค์เอาท่อนหนัง.
               บทว่า อุทฺเทนเจติยํ ท่านกล่าวถึงวิหารที่เขาสร้างไว้ในที่อยู่ของอุทเทนยักษ์.
               แม้ในโคตมกเจดีย์เป็นต้นก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า ภาวิตา แปลว่า เจริญแล้ว.
               บทว่า พหุลีกตา แปลว่า กระทำให้มาก.
               บทว่า ยานีกตา แปลว่า ทำให้เป็นดุจยานที่เทียมแล้ว.
               บทว่า วตฺถุกตา แปลว่า ทำให้เป็นดุจที่ตั้ง เพราะอรรถว่าเป็นที่พึ่งอาศัย.
               บทว่า อนุฏฺฐิตา แปลว่า ตั้งไว้แล้ว.
               บทว่า ปริจิตา แปลว่า สั่งสมแล้วโดยรอบ คือเจริญดีแล้ว.
               บทว่า สุสมารทฺธา แปลว่า เริ่มไว้เป็นอย่างดีแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นตรัสโดยมิได้กำหนดอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงโดยกำหนดแน่นอนอีก จึงตรัสคำมีอาทิว่า ตถาคตสฺส โข ดังนี้.
               ก็ในที่นี้บทว่า กปฺปํ ได้แก่ อายุกัป (คือกำหนดอายุอย่างสูงของคนในยุคนั้นๆ).
               พระผู้มีพระภาคเจ้าพึงดำรงพระชนม์อยู่ตลอดกำหนดอายุของคนทั้งหลายในสมัยนั้นๆ อย่างเต็มที่.
               บทว่า กปฺปาวเสสํ วา ได้หรือเกิน ๑๐๐ ปีซึ่งได้ตรัสไว้ว่า "น้อยหรือยิ่งกว่า". แต่พระมหาสิวเถระกล่าวว่า ธรรมดาว่าพระพุทธะทั้งหลายย่อมไม่ทรงบันลือในที่มิใช่ฐานะ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเข้าสมาบัติบ่อยๆ ทรงข่มเวทนาใกล้ตายได้ พึงดำรงอยู่ได้ตลอดภัทรกัปทีเดียว.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระองค์จึงไม่ดำรงอยู่ตลอดภัทรกัป?
               ตอบว่า ขึ้นชื่อว่าสรีระที่มีใจครอง ถูกชราลักษณะมีฟันหักเป็นต้นครอบงำ แต่พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีฟันหักเป็นต้น ย่อมเสด็จปรินิพพานในอายุส่วนที่ ๕ (คือ ๒๐ ปีที่ ๕) ในเวลาเป็นที่รักที่ชอบใจของมหาชนทีเดียว.
               ก็บรรดาพระมหาสาวกผู้ตรัสรู้ตามเสด็จพระพุทธเจ้า พระมหาสาวกองค์หนึ่งปรินิพพานแล้ว ย่อมพึงตั้งอยู่เหมือนตอไม้ หรือว่า พึงตั้งอยู่โดยมีภิกษุหนุ่ม และสามเณรห้อมล้อม แต่นั้นก็จะพึงถูกดูแคลนว่า โธ่เอ๋ย บริษัทของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เพราะฉะนั้น พระองค์จึงไม่ทรงดำรงอยู่. แม้เมื่อกล่าวไว้อย่างนี้ ข้อที่เรียกกาลว่าอายุกัปนี้นั่นแหละ ก็กำหนดไว้ในอรรถกถาแล้ว.
               บทว่า ตํ ในคำว่า ยถาตํ มาเรน ปริยุฏฺฐิตจิตฺโต นี้เป็นเพียงนิบาต.
               อธิบายว่า ปุถุชนบางคนแม้อื่นมีจิตถูกมารดลใจ มีจิตถูกมารครอบงำ ไม่สามารถจะรู้แจ้งได้ฉันใด พระอานนท์ก็ไม่สามารถจะรู้แจ้งได้ ฉันนั้นเหมือนกัน. เพราะมารย่อมครอบงำจิตของท่านผู้ยังละวิปัลลาส ๑๒ ไม่ได้โดยประการทั้งปวง. พระเถระยังละวิปัลลาส ๔ ไม่ได้ ด้วยเหตุนั้น มารจึงครอบงำจิตของท่าน.
               ถามว่า ก็มารนั้นเมื่อทำการดลจิตทำอย่างไร?
               ตอบว่า ย่อมแสดงรูปารมณ์ที่น่ากลัวบ้าง ให้ได้ยินสัททารมณ์ที่น่ากลัวบ้าง แต่นั้น สัตว์ทั้งหลายได้เห็นภาพเช่นนั้น หรือได้ฟังเสียงเช่นนั้น ก็หมดสติอ้าปาก มารก็สอดมือเข้าไปทางปากของสัตว์เหล่านั้แล้วบีบหัวใจ แต่นั้น สัตว์ทั้งหลายก็หมดความรู้สึกตั้งอยู่ แต่มารนี้จักสามารถหรือที่จะสอดมือเข้าทางปากของพระเถระ ก็ได้แต่แสดงอารมณ์ที่น่ากลัว พระเถระได้เห็นอารมณ์นั้นเข้า จึงไม่รู้แจ้งนิมิตโอภาส.
               ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งๆ ที่ทรงทราบอยู่ เพราะเหตุไร? จึงตรัสเรียกถึง ๓ ครั้ง?
               ตอบว่า เพราะเพื่อทรงทำความโศกให้เบาบาง ด้วยการยกโทษขึ้นว่า นั่นเป็นการทำไม่ดีของท่าน นั่นเป็นการผิดพลาดของท่าน ในเมื่อท่านพระอานนท์ทูลอาราธานาว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงดำรงพระชนมายุอยู่ก่อนเถิด พระเจ้าข้า.
               ในบทว่า มาโร ปาปิมา นี้ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               ชื่อว่ามาร เพราะประกอบสัตว์ไว้ในความพินาศให้ตายไป.
               บทว่า ปาปิมา นี้เป็นไวพจน์ของบทว่า มาโร นั้นนั่นแล.
               จริงอยู่ มารนั้น เขาเรียกว่าปาปิมา เพราะประกอบด้วยบาปธรรม.
               บทว่า ภาสิตา โข ปเนส ภนฺเต ความว่า จริงอยู่ มารนี้มาที่โพธิมัณฑสถาน ในสัปดาห์ที่ ๘ ในเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสรู้สัมโพธิญาณแล้วทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีทั้งหลายเพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นพระองค์ทรงบรรลุตามพระประสงค์แล้ว สัพพัญญุตญาณพระองค์ทรงแทงตลอดแล้ว ประโยชน์อะไรที่พระองค์จะต้องทรงตรวจดูสัตว์โลกเล่า แล้วทูลอาราธนาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดเสด็จปรินิพพานในบัดนี้เหมือนในวันนี้.
               แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสห้ามมารนั้นว่า น ตาวาหํ เรายังไม่ปรินิพพานก่อนนะมาร ดังนี้เป็นต้น.
               มารกล่าวคำมีอาทิว่า ภาสิตา โข ปเนสา ภนฺเต ก็คำนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วแลดังนี้ หมายเอาคำว่า น ตาวาหํ นั้น.
               ในบทเหล่านี้ บทว่า วิยตฺตา ได้แก่ เป็นผู้ฉลาดด้วยอำนาจมรรค. เป็นผู้อันท่านแนะนำแล้วเหมือนอย่างนั้น. เป็นผู้แกล้วกล้าเหมือนอย่างนั้น.
               บทว่า พหุสฺสุตา ได้แก่ ชื่อว่าเป็นพหูสูต เพราะมีพุทธพจน์อันสดับแล้วมากด้วยอำนาจปิฎก ๓. ชื่อว่าธรรมธร เพราะทรงธรรมนั้นแหละไว้.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงเห็นความในที่นี้อย่างนี้ว่า ผู้เป็นพหูสูตทางปริยัติ และผู้เป็นพหูสูตทางปฏิเวธ ชื่อว่าผู้ทรงธรรม เพราะทรงปริยัติธรรมและปฏิเวธธรรมนั่นแล.
               บทว่า ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺนา ได้แก่ ปฏิบัติทางวิปัสสนาอันเป็นธรรมสมควรแก่อริยธรรม.
               บทว่า สามีจิปฏิปนฺนา ได้แก่ ปฏิบัติปฏิปทาอันเหมาะสม.
               บทว่า อนุธมฺมจาริโน แปลว่า ผู้มีปกติประพฤติธรรมอันสมควร.
               บทว่า สกํ อาจริยกํ ได้แก่ วาทะแห่งอาจารย์ของตน.
               บทว่า สหธมฺเมน ได้แก่ ด้วยคำอันมีเหตุ คือมีการณ์.
               บทว่า สปฺปาฏิหาริยํ ความว่า พระอริยสาวกเหล่านั้นย่อมแสดงธรรมให้เป็นธรรมนำสัตว์ออกจากทุกข์.
               บทว่า พฺรหฺมจริย์ ได้แก่ ศาสนพรหมจรรย์ทั้งสิ้นที่สงเคราะห์ด้วยสิกขาทั้ง ๓.
               บทว่า อิทธํ ได้แก่ สำเร็จด้วยอำนาจยินดีในฌาน.
               บทว่า ผีตํ ได้แก่ ถึงความเจริญด้วยอำนาจอภิญญาสมาบัติ เหมือนดอกไม้บานเต็มที่.
               บทว่า วิตฺถาริกํ ได้แก่ แผ่ไปด้วยอำนาจประดิษฐานอยู่ในทิศาภาคนั้นๆ.
               บทว่า พาหุชญฺญํ ได้แก่ ชนเป็นอันมากรู้แล้ว คือแทงตลอดแล้วด้วยอำนาจการตรัสรู้ของชนเป็นอันมาก.
               บทว่า ปุถุภูตํ แปลว่า ถึงความแน่นหนาโดยอาการทั้งปวง.
               ถึงความแน่นหนาอย่างไร?
               ถึงความแน่นหนาตราบเท่าที่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายประกาศดีแล้ว. อธิบายว่า เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญูชน มีประมาณเท่าใด เทวดาและมนุษย์ทั้งหมดมีประมาณเท่านั้น ประกาศด้วยดีแล้ว.
               บทว่า อปฺโปสฺกฺโก ได้แก่ เป็นผู้ไม่มีความอาลัย.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนมารผู้มีบาป ตั้งแต่สัปดาห์ที่ ๘ ท่านเที่ยวร่ำร้องอยู่ว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดปรินิพพานบัดนี้เถิด พระเจ้าข้า ขอพระสุคตโปรดนิพพานบัดนี้เถิดพระเจ้าข้า ดังนี้ บัดนี้ ตั้งแต่วันนี้ไป ท่านจงเลิกความอุตสาหะเถิด อย่าทำความพยายามเพื่อให้เราปรินิพพานเลย.
               บทว่า สโต สมฺปชาโน อายุสงฺขารํ โอสชฺชิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งสติมั่น กำหนดด้วยฌาน ทรงปลงคือละสังขาร.
               ในการปลงอายุสังขารนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงปลงอายุสังขาร เหมือนเอามือปล่อยก้อนดินไม่ แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเกิดพระดำริขึ้นว่า ก็เราจะเข้าผลสมาบัติเพียง ๓ เดือนเท่านั้น ต่อนั้นจักไม่เข้า.
               บทว่า โอสฺสชฺชิ ตรัสหมายเอาคำนั้น. ปาฐะว่า อวสฺสชฺชิ ดังนี้ก็มี.
               บทว่า มหาภูมิจาโล ได้แก่ แผ่นดินไหวใหญ่.
               ได้ยินว่า ในกาลนั้น หมื่นโลกธาตุไหวแล้ว.
               บทว่า ภึสนโก แปลว่า น่าสะพึงกลัว.
               บทว่า เทวทุนฺทุภิโย จ ผลึสุ ได้แก่ กลองทิพย์บันลือลั่น ฝนคำรามกระหึ่ม สายฟ้าแลบแปลบปลาบผิดฤดูกาล. ท่านอธิบายว่า ฝนตกชั่วขณะหนึ่ง.
               บทว่า อุทานํ อุทาเนสิ ความว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเปล่งอุทาน? เพราะทรงพระดำริว่า ชื่อว่าใครๆ จะพึงพูดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าถูกมารติดตามไปข้างหลังๆ พูดรบกวนว่า จงปรินิพพานเถิดพระเจ้าข้า จึงทรงปลงอายุสังขารเพราะความกลัว เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้นจงอย่ามีโอกาสเลย ดังนี้แล้วจึงทรงเปล่งพระอุทานอันหลั่งออกมาด้วยกำลังพระปีติ.
               พึงทราบวินิจฉัยในพระอุทานนั้นดังต่อไปนี้ :-
               (เครื่องปรุงแต่งงาน) ชื่อว่าตุละ เพราะบุคคลชั่งได้ คือกำหนดได้ เพราะเป็นของประจักษ์แก่สัตว์ทั้งปวงมีสุนัขบ้านและสุนัขจิ้งจอกเป็นต้น.
               ที่ชื่อว่าตุละ นั้นคืออะไร? คือกรรมฝ่ายกามาวจร.
               เครื่องปรุงแต่งภพที่ชั่งได้ไม่มี หรือที่ชั่งได้ของบุคคลนั้นไม่มี คือไม่มีโลกิยกรรมอย่างอื่นที่แม้นเหมือน เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอตุละ ชั่งไม่ได้.
               เครื่องปรุงแต่งภพที่ชื่ออตุละนั้นคืออะไร? คือ กรรมฝ่ายมหัคคตะ.
               อีกอย่างหนึ่ง กามาวจรกรรม รูปาวจรกรรม ชื่อว่าตุละ ชั่งได้. อรูปาวจรกรรม ชื่อว่าชื่ออตุละ ชั่งไม่ได้.
               อีกอย่างหนึ่ง วิบากน้อยชื่อตุละ วิบากมากชื่ออตุละ.
               บทว่า สมฺภวํ ได้แก่ เป็นเหตุแห่งสมภพ.
               บทว่า ภวสงฺขารํ ได้แก่ เครื่องปรุงแต่งงานใหม่. อธิบายว่า กรรมที่ทำให้เป็นกอง ทำให้เป็นก้อน.
               บทว่า อวสฺสชฺชิ แปลว่า ปลงแล้ว.
               บทว่า มุนี ได้แก่มุนีคือพระเจ้า.
               บทว่า อชฺฌตฺตรโต ได้แก่ ยินดีแล้วภายในตน.
               บทว่า สมาหิโต ได้แก่ มีจิตตั้งมั่นแล้วด้วยอุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ.
               บทว่า อภินฺทิ กวจมิว ได้แก่ ทำลายแล้วดุจนักรบทำลายเกราะ.
               บทว่า อตฺตสมฺภวํ ได้แก่ กิเลสที่เกิดในตน.
               ท่านกล่าวอธิบายไว้ดังนี้ว่า มุนีสละโลกิยกรรม กล่าวคือตุละและอตุละซึ่งได้ชื่อว่าสัมภวะ เพราะอรรถว่ามีวิบาก และได้ชื่อว่าภวสังขาร เพราะอรรถว่าปรุงแต่งภพ และเป็นผู้ยินดีภายในตน มีจิตตั้งมั่น ทำลายกิเลสที่เกิดในตน เหมือนนักรบใหญ่ในสงครามสำคัญ ทำลายเกราะฉะนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อตุลญฺจ สมฺภวํ ได้แก่ พระนิพพานและภพ.
               บทว่า ภวสงฺขารํ ได้แก่ กรรมอันนำสัตว์ไปสู่ภพ.
               บทว่า อวสฺสชฺชิ มุนิ ความว่า พระมุนี คือพระพุทธเจ้าทรงพิจารณาโดยนัยเป็นต้นว่า ขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง การดับขันธ์ ๕ คือพระนิพพาน เที่ยง ทรงเห็นเป็นโทษในภพ และอานิสงส์ในพระนิพพานแล้ว ทรงสละกรรมเครื่องปรุงแต่งภพอันเป็นมูลแห่งขันธ์ทั้งหลายนั้น ด้วยอริยมรรคอันกระทำความสิ้นกรรม ดังกล่าวไว้อย่างนี้ว่า ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรมดังนี้.
               พระองค์ทรงยินดีในภายใน มีพระหฤทัยตั้งมั่น ทำลายแดนเกิดแห่งตนอันเป็นดุจเกราะได้อย่างไร? ความจริงพระองค์ทรงยินดีในภายในด้วยอำนาจวิปัสสนา มีพระหทัยตั้งมั่นด้วยอำนาจสมถะ ทรงทำลายกิเลสชาติทั้งหมดที่ได้นามว่าอัตตสัมภวะ เพราะเกิดในตนที่หุ้มห่ออัตตภาพตั้งอยู่ดุจเกราะด้วยกำลังสมถะและวิปัสสนา จำเดิมแต่เบื้องต้นด้วยอาการอย่างนี้
               และกรรมที่ทรงทำโดยไม่มีกิเลส ชื่อว่าทรงสละแล้ว เพราะไม่มีปฏิสนธิ พระองค์ทรงละกรรมด้วยละกิเลสได้ ดังกล่าวมาฉะนี้
               และธรรมดาผู้ละกิเลสได้แล้ว ย่อมไม่มีความกลัว เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า พระองค์ไม่ทรงกลัว ทรงปลงอายุสังขาร และทรงเปล่งอุทานเพื่อให้โลกรู้ว่าพระองค์ไม่ทรงกลัว.
               บทว่า ยํ มหาวาตา ความว่า โดยสมัยใด หรือในสมัยใด ลมพายุพัด ลมชื่ออุกเขปกวาตก็ตั้งขึ้น. ลมอุเขปกวาตนั้นก็พัดตัดลมที่รองรับน้ำอันมีความหนาเก้าแสนหกหมื่นโยชน์. แต่นั้น น้ำในอากาศก็ตก เมื่อตกน้ำ แผ่นดินก็ตก ลม (ที่รองรับน้ำ) ก็จะอุ้มเอาน้ำไว้อีกด้วยกำลังของตน เหมือนอุ้มน้ำไว้ในธมกรก หม้อกรองน้ำ ฉะนั้น แต่นั้น น้ำก็สูงขึ้น เมื่อน้ำสูงขึ้น แผ่นดินก็สูงขึ้น. น้ำไหลแล้วอย่างนี้ก็ทำให้แผ่นดินไหว. ก็การไหวอย่างนี้ย่อมมีมาจนถึงทุกวันนี้. ก็การยุบลงและการนูนขึ้น ย่อมไม่ปรากฏเพราะแผ่นดินมาก.
               บทว่า มหิทฺธิกา มหานุภาวา ความว่า ชื่อว่ามีฤทธิ์มาก เพราะมีความสำเร็จมาก ชื่อว่ามีอานุภาพมาก เพราะมีสิ่งที่จะพึงเสวยมาก.
               บทว่า ปริตฺตา ได้แก่ มีกำลังเพลา.
               บทว่า อปฺปมาณา ได้แก่ มีกำลัง.
               บทว่า โส อิมํ ปฐวี กมฺเปติ ความว่า สมณะหรือพราหมณ์นั้นทำฤทธิ์ให้บังเกิดแล้ว เมื่อจะให้สลดใจ จึงทำแผ่นดินให้ไหว เหมือนพระมหาโมคคัลลานะ หรือเมื่อจะทดลองฤทธิ์ก็ทำแผ่นดินให้ไหว เหมือนสังฆรักขิตสามเณรผู้เป็นหลานของพระมหานาคเถระ.
               บทว่า สงฺกมฺเปติ ได้แก่ ไหวโดยรอบ.
               บทว่า สมฺปกมฺเปติ นี้ เป็นไวพจน์ของบทว่า สงฺกมฺเปติ นั้นนั่นแล.
               ดังนั้น บรรดาเหตุปัจจัยทำแผ่นดินไหว ๘ ประการเหล่านี้ เหตุปัจจัย ๑ เพราะธาตุกำเริบ ที่ ๒ เพราะอานุภาพของผู้มีฤทธิ์ ที่ ๓ และที่ ๔ เพราะเดชแห่งบุญ ที่ ๕ เพราะเดชแห่งญาณ ที่ ๖ เพราะอำนาจให้สาธุการ ที่ ๗ เพราะความการุณย์เป็นสภาวะ ที่ ๘ เพราะร้องห่มร้องไห้.
               เมื่อพระมหาสัตว์ลงสู่ครรภ์พระมารดา และประสูติจากครรภ์พระมารดา แผ่นดินไหวเพราะเดชแห่งบุญของพระมหาสัตว์นั้น. ในสมัยตรัสรู้อภิสัมโพธิญาณ แผ่นดินถูกเดชของพระญาณชักนำแล้ว จึงได้ไหว. ในสมัยประกาศพระธรรมจักร แผ่นดินดำรงนิ่งอยู่ในภาวะแห่งสาธุการ เมื่อให้สาธุการก็ไหว. ในสมัยทรงปลงอายุสังขาร แผ่นดินดำรงนิ่งอยู่ในความเป็นผู้มีกรุณาเป็นสภาวะ แต่ทนจิตสังขาร (สัคทาเวทนา) ไม่ได้ ก็ไหว. ในสมัยปรินิพพาน แผ่นดินอาดูรด้วยแรงการร้องห่มร้องไห้ จึงได้ไหว. ก็ความนี้ พึงทราบด้วยอำนาจเทวดาประจำปฐวี.
               ก็การให้สาธุการเป็นต้นนั้นย่อมไม่มีแก่แผ่นดินที่เป็นมหาภูต เพราะแผ่นดินที่เป็นมหาภูต ไม่มีเจตนา.
               คำที่เหลือในบททั้งปวงง่ายทั้งนั้นแล.

               จบอรรถกถาภูมิจาลสูตรที่ ๑๐               
               จบจาลวรรคที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

               รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
                         ๑. อิจฉาสูตร
                         ๒. อลํสูตร ๘ สูตร
                         ๓. สังขิตตสูตร
                         ๔. คยาสูตร
                         ๕. อภิภายตนสูตร
                         ๖. วิโมกขสูตร
                         ๗. โวหารสูตรที่ ๑
                         ๘. โวหารสูตรที่ ๒
                         ๙. ปริสสูตร
                         ๑๐. ภูมิจาลสูตร
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต สันธานวรรคที่ ๑ ๑๗. ภูมิจาลสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 23 / 1อ่านอรรถกถา 23 / 166อรรถกถา เล่มที่ 23 ข้อ 167อ่านอรรถกถา 23 / 168อ่านอรรถกถา 23 / 281
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=23&A=6499&Z=6623
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=6177
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=6177
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :