ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 23 / 1อ่านอรรถกถา 23 / 57อรรถกถา เล่มที่ 23 ข้อ 58อ่านอรรถกถา 23 / 59อ่านอรรถกถา 23 / 281
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต อัพยากตวรรคที่ ๑
๘. โมคคัลลานสูตร

               อรรถกถาโมคคัลลานสูตรที่ ๘               
               โมคคัลลานสูตรที่ ๘ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า ปจลายมาโน ความว่า พระมหาโมคคัลลานะเข้าไปอาศัยหมู่บ้านนั้น กระทำสมณธรรมในไพรสณฑ์แห่งหนึ่ง มีร่างกายลำบาก เพราะถูกความเพียรในการจงกรมตลอด ๗ วันบีบคั้น จึงนั่งโงกง่วงอยู่ในท้ายที่จงกรม.
               บทว่า ปจลายสิ โน แก้เป็น นิทฺทายสิ นุ แปลว่า เธอง่วงหรือ.
               บทว่า อนุมชฺชิตฺวา แปลว่า ลูบคลำแล้ว.
               บทว่า อาโลกสญฺญํ ได้แก่ ความสำคัญในความสว่างเพื่อบรรเทาความง่วง.
               บทว่า ทิวาสญฺญํ ได้แก่ ความสำคัญว่าเป็นกลางวัน.
               บทว่า ยถา ทิวา ตถา รตฺตึ ความว่า เธอตั้งความสำคัญว่าสว่างในกลางวันฉันใด เธอตั้งความสำคัญว่าสว่างนั้นแม้ในเวลากลางคืนก็ฉันนั้น.
               คำว่า ยถา รตฺตํ ตถา ทิวา เธอตั้งความสำคัญว่าสว่างในกลางคืนฉันใด เธอตั้งความสำคัญว่าสว่างนั้นแม้ในเวลากลางวันฉันนั้น.
               บทว่า สปฺปภาสํ เธอพึงให้จิตเป็นไปพร้อมกับแสงสว่าง เพื่อประโยชน์แก่ทิพยจักขุญาณ.
               บทว่า ปจฺฉาปุเรสญฺญี ความว่า ผู้มีสัญญาด้วยสัญญาอันนำไปทั้งข้างหน้าและข้างหลัง.
               บทว่า อนฺโตคเตหิ อินฺทฺริเยหิ ได้แก่ ด้วยอินทรีย์ ๕ อันไม่ฟุ้งซ่านไปในภายนอกอันเข้ามาตั้งอยู่ในภายในเท่านั้น.
               บทว่า มิทฺธสุขํ ได้แก่ ความสุขอันเกิดแต่ความหลับ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงกรรมฐานเครื่องบรรเทาความง่วงแก่พระเถระ ด้วยฐานะมีประมาณเท่านี้.
               บทว่า โสณฺฑํ ได้แก่ งวงคือมานะ.
               ในบทว่า กิจฺจกรณียานิ นี้มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               กรรมที่ตนจะพึงทำแน่แท้ ชื่อว่า กิจฺจานิ กิจกรรมที่เป็นหน้าที่ทั้งหลาย. ส่วนกิจนอกนี้ ชื่อว่า กรณียานิ กิจควรทำทั้งหลาย.
               บทว่า มงฺกุภาโว ได้แก่ ความเป็นผู้ไร้อำนาจ ความโทมนัส เสียใจ.
               พระศาสดาตรัสภิกขาจารวัตรแก่พระเถระด้วยฐานะมีประมาณเท่านี้. บัดนี้ เพื่อจะทรงชักจูงกัน ให้สิ้นสุดลง พระองค์จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ตสฺมาติห ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิคฺคาหิกกถํ ความว่า ถ้อยคำอันเป็นเหตุให้ถือเอาผิด เป็นไปโดยนัยเป็นต้นว่า ท่านย่อมไม่รู้ธรรมและวินัยนี้ เพื่อจะเว้นการคลุกคลีกับบาปมิตร. พระศาสดาจึงตรัสคำมีอาทิว่า นาหํ โมคฺคลฺลาน ดังนี้.
               บทว่า กิตฺตาวตา นุ โข ความว่า ด้วยข้อปฏิบัติเพียงไรหนอ.
               บทว่า ตณฺหาสงฺขยวิมุตฺโต โหติ ความว่า ภิกษุชื่อว่าตัณหาสังขยวิมุตตะ เพราะเป็นผู้มีจิตน้อมไปในพระนิพพานอันเป็นที่สิ้นตัณหา ทำพระนิพพานนั้นเป็นอารมณ์.
               พระมหาโมคคัลลานะทูลถามว่า โดยย่อด้วยข้อปฏิบัติเท่าไร ภิกษุย่อมชื่อว่าตัณหาสังขยวิมุตตะ ขอพระองค์โปรดทรงแสดงข้อปฏิบัตินั้นนั่นแล ที่เป็นปฏิปทาส่วนเบื้องต้นของภิกษุผู้ขีณาสพ โดยสังเขปเถิดพระเจ้าข้า.
               บทว่า อจฺจนฺตนิฏฺโฐ ความว่า ชื่อว่า อจฺจนฺตา เพราะเป็นไปล่วงส่วน กล่าวคือความสิ้นไปและความเสื่อมไป.
               ภิกษุชื่อว่า อจฺจนฺตนิฏฺโฐ เพราะมีความสำเร็จล่วงส่วน. อธิบายว่า มีความสำเร็จโดยส่วนเดียว มีความสำเร็จติดต่อกัน.
               บทว่า อจฺจนฺตโยคฺคกฺเขมี ความว่า ผู้มีธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะล่วงส่วน. อธิบายว่า มีธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะเป็นนิจ.
               บทว่า อจฺจนฺตพฺรหฺมจารี ความว่า เป็นพรหมจารีล่วงส่วน. อธิบายว่า เป็นพรหมจารีเป็นนิจ.
               บทว่า อจฺจนฺตปริโยสาโน ความว่า มีที่สุดล่วงส่วนโดยนัยก่อนนั่นแหละ.
               บทว่า เสฏฺโฐ เทวมนุสฺสานํ ความว่า ประเสริฐสุดคือสูงสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย. พระมหาโมคคัลลานะทูลขอว่า ภิกษุชื่อว่าเห็นปานนี้ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงไร ขอพระองค์โปรดทรงแสดงสำหรับภิกษุนั้นโดยย่อเถิดพระเจ้าข้า.
               ในบทว่า สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย นี้มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               ชื่อว่าธรรมทั้งปวง คือ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ ธรรมทั้งหมดนั้นไม่ควร คือไม่ถูก ไม่ชอบ ไม่เหมาะที่จะยึดมั่นด้วยอำนาจตัณหาและทิฏฐิ. เพราะเหตุไร ธรรมจึงไม่ควรถือมั่น เพราะธรรมเหล่านั้นไม่ตั้งอยู่โดยอาการที่จะยึดถือไว้.
               จริงอยู่ ธรรมเหล่านั้น แม้ตนจะยึดถือเอาว่า สังขารทั้งหลายเป็นของเที่ยง เป็นสุขและเป็นอัตตา ก็ย่อมสำเร็จผลว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตาอยู่นั่นเอง เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ไม่ควรถือมั่นดังนี้.
               บทว่า อภิชานาติ ความว่า ย่อมรู้ยิ่ง คือรู้ด้วยญาตปริญญาว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา.
               บทว่า ปริชานาติ ความว่า ย่อมกำหนดรู้ด้วยติรณปริญญา เหมือนอย่างนั้นนั่นแหละ.
               บทว่า ยํกิญจิ เวทนํ ความว่า ย่อมเสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้มีประมาณน้อยโดยที่สุดแม้ประกอบด้วยปัญจวิญญาณ.
               ด้วยบทนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยักเยื้องด้วยอำนาจเวทนา จึงแสดงการกำหนดอรูปธรรม (นามธรรม) เป็นอารมณ์แก่พระเถระ
               บทว่า อนิจฺจานุปสฺสี ได้แก่พิจารณาเห็นโดยความไม่เที่ยง.
               วิราคะในบทว่า วิราคานุปสฺสี นี้มี ๒ คือ ขยวิราคะ ความคลายกำหนัดเพราะสิ้นไป ๑ อัจจันตวิราคะ ความคลายกำหนัดเพราะล่วงส่วน ๑.
               ในสองอย่างนี้ วิปัสสนาอันเห็นความสิ้นไปแห่งสังขารทั้งหลายโดยความสิ้นก็ดี มรรคญาณคือการเห็นความคลายกำหนัดล่วงส่วนคือพระนิพพาน โดยความคลายกำหนัดก็ดี ชื่อว่าวิราคานุปัสสนา การพิจารณาเห็นโดยความคลายกำหนัด.
               บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยวิราคธรรมทั้ง ๒ นั้น ชื่อว่าวิราคานุปัสสี ผู้ตามเห็นความคลายกำหนัด. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึงวิราคะนั้น จึงตรัสว่า วิราคานุปสฺสี. อธิบายว่า บุคคลผู้พิจารณาเห็นความคลายกำหนัด
               แม้ในนิโรธานุปสสีบุคคลก็นัยนี้เหมือนกัน. เพราะแม้นิโรธ ความดับก็มี ๒ เหมือนกัน คือ ขยนิโรธ ความดับเพราะสิ้นไป อัจจันตนิโรธ ความดับล่วงส่วน.
               ในบทว่า ปฏินิสฺสคฺคานุปสฺสี นี้ โวสสัคคะ ความสละ ท่านเรียกว่าปฏินิสสัคคะ ความสละคืน. ความสละนั้นก็มี ๒ อย่าง คือ ปริจจาคโวสสัคคะ ความสละด้วยการบริจาค ปักขันทนโวสสัคคะ ความสละด้วยการแล่นไป.
               บรรดาความสละทั้ง ๒ นั้น วิปัสสนาชื่อว่าปริจจาคโวสสัคคะ ความสละด้วยอำนาจตทังคปหาน. มรรคชื่อว่าปักขันทนโวสสัคคะ ความสละด้วยการแล่นไป ด้วยว่ามรรคนั้นย่อมแล่นไปสู่พระนิพพานโดยเป็นอารมณ์.
               อีกอย่างหนึ่ง มรรคนั้นชื่อว่าโวสสัคคะ เพราะเหตุแม้ทั้ง ๒ คือ เพราะละขันธ์และกิเลสด้วยอำนาจสมุจเฉทปหาน และเพราะการแล่นไปในพระนิพพาน เพราะเหตุนั้น วิปัสสนาจึงชื่อว่าปริจจาคโวสสัคคะ สละด้วยการบริจาค เพราะวิปัสสนาย่อมละกิเลสและขันธ์ และมรรคที่ชื่อว่าปักขันทนโวสสัคคะ ความสละด้วยการแล่นไป เพราะจิตย่อมแล่นไปในความดับสนิทคือนิพพานธาตุ.
               ก็เพราะเหตุนี้ คำทั้งสองนี้จึงจัดเข้าได้ในมรรค บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยวิปัสสนาและมรรคทั้งสองนั้น ย่อมเป็นผู้ชื่อว่าปฏินิสสัคคานุปัสสี ผู้ตามเห็นความสละคืน เพราะประกอบด้วยปฏินิสสัคคานุปัสสนานี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึงบุคคลนั้น จึงตรัสอย่างนี้.
               คำว่า น จ กิญฺจิ โลเก อุปาทิยติ ความว่า ภิกษุนั้นย่อมไม่ยึด ไม่ถือเอา ไม่จับต้องธรรมชาติอะไร คือสังขารแม้อย่างหนึ่งด้วยอำนาจตัณหา.
               คำว่า อนุปาทิยํ น ปริตสฺสติ ความว่า เมื่อไม่ถือมั่น ย่อมไม่สะดุ้ง เพราะความหวาดสะดุ้งด้วยอำนาจตัณหา.
               บทว่า ปจฺจตฺตํเยว ปรินิพฺพายติ ความว่า ย่อมปรินิพพานด้วยกิเลสปรินิพพานด้วยตนทีเดียว. ก็ปัจจเวกขณญาณของภิกษุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงโดยนัยเป็นต้นว่า ขีณา ชาติ ชาติสิ้นแล้ว ดังนี้. ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าถูกพระโมคคัลลานะทูลถามถึงปฏิปทาอันเป็นส่วนเบื้องต้น ของพระขีณาสพโดยย่อแล้ว จึงตรัสโดยย่อเหมือนกัน.
               แต่พระสูตรนี้เป็นทั้งพระโอวาท เป็นทั้งวิปัสสนาสำหรับพระเถระ. พระเถระนั้นเจริญวิปัสสนาในพระสูตรนี้ แล้วบรรลุพระอรหันต์ดังนี้แล.

               จบอรรถกถาโมคคัลลานสูตรที่ ๘               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต อัพยากตวรรคที่ ๑ ๘. โมคคัลลานสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 23 / 1อ่านอรรถกถา 23 / 57อรรถกถา เล่มที่ 23 ข้อ 58อ่านอรรถกถา 23 / 59อ่านอรรถกถา 23 / 281
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=23&A=1873&Z=1938
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=4283
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=4283
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :