ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 23 / 1อ่านอรรถกถา 23 / 62อรรถกถา เล่มที่ 23 ข้อ 63อ่านอรรถกถา 23 / 64อ่านอรรถกถา 23 / 281
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต มหาวรรคที่ ๒
๒. สุริยสูตร

               อรรถกถาสุริยสูตรที่ ๒               
               สุริยสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               พึงทราบปุเรจาริกกถา ถ้อยคำที่กล่าวนำหน้าแห่งพระสูตรนี้ก่อนอื่น เริ่มต้นดังต่อไปนี้ว่า
               เพราะเหตุที่สัตตสุริยเทศนา พระอาทิตย์ ๗ ดวงเป็นไปด้วยอำนาจแสดงว่าโลกพินาศด้วยไฟกัลป์ ฉะนั้น จึงทรงแสดงว่า สังวัฏฏกัปป์มี ๓, สังวัฏฏสีมามี ๓, สังวัฏฏมูลมี ๓, โกลาหลมี ๓.
               ปุเรจาริกกถานั้นได้กล่าวไว้พิสดารแล้ว ในปุพเพนิวาสานุสสตินิเทศ ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค.
               บทว่า เอตทโวจ ความว่า เพื่อจะทรงแสดงความวิบัติของสังขารทั้งหลายทั้งที่มีใจครองและไม่มีใจครอง ตามอัธยาศัยของภิกษุ ๕๐๐ รูปผู้เจริญอนิจจกรรมฐาน พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสัตตปุริโยปมสูตร มีคำเป็นต้นว่า อนิจฺจา ภิกฺขเว สงฺขารา ด้วยประการฉะนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนิจฺจา ความว่า สังขารทั้งหลายชื่อว่า อนิจฺจา ไม่เที่ยง เพราะอรรถว่ามีแล้ว กลับไม่มี.
               บทว่า สงฺขารา ได้แก่ สังขารธรรม ทั้งที่มีใจครองและไม่มีใจครอง.
               บทว่า อธุวา ความว่า ชื่อว่าไม่ยั่งยืน เพราะอรรถว่าไม่นาน.
               บทว่า อนสฺสาสิกา ความว่า เว้นจากความเบาใจ เพราะมีความเป็นของไม่ยั่งยืน.
               บทว่า อลเมว แปลว่า สมควรแล้ว.
               บทว่า อชฺโฌคาฬฺโห ได้แก่ จมลงไปในน้ำ.
               บทว่า อจฺจุคฺคโต ได้แก่ โผล่ขึ้นแล้วจากหลังน้ำ.
               บทว่า เทโว น วสฺสติ ความว่า ชื่อว่าเมฆฝนที่ทำน้ำให้ไหวเป็นอันแรก รวมกันเป็นเมฆฝนกลุ่มก้อนอันเดียวกันแล้ว ตกลงในแสนโกฏิจักรวาฬ. ในกาลนั้น พืชที่งอกออกมาแล้ว ย่อมไม่กลับเข้าไปยังเรือนพืชอีก. ธรรมกถาที่คาดคะเนย่อมถือเป็นประมาณว่า นับตั้งแต่เวลาที่ฝนไม่ตกนั้น น้ำก็งวดลงไป เหมือนน้ำในธัมมกรกฉะนั้น. ฝนไม่ตกอีกแม้เพียงหยาดเดียว. ก็เมื่อโลกกำลังพินาศ ตั้งต้นแต่อเวจีมหานรกไป ก็มีแต่ความว่างเปล่า. สัตว์ทั้งหลายครั้นขึ้นจากอเวจีมหานรกนั้นแล้ว ก็บังเกิดในมนุษย์โลกและในสัตว์เดรัจฉาน. แม้สัตว์ที่บังเกิดในสัตว์เดรัจฉานกลับได้เมตตาในบุตรและพี่น้อง ทำกาละแล้ว บังเกิดในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.
               เทวดาทั้งหลายเที่ยวไปทางอากาศ ร้องบอกกันว่า ที่นี้เป็นที่เที่ยวหามิได้ ทั้งไม่ยั่งยืน พวกท่านจงเจริญเมตตา เจริญกรุณา มุทิตา อุเบกขากันเถิด ดังนี้.
               สัตว์เหล่านั้น ครั้นเจริญเมตตาเป็นต้นแล้ว จุติจากที่นั้นแล้ว ย่อมบังเกิดในพรหมโลก.
               ในบทว่า พืชคามา มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               พืช ๕ ชนิดชื่อว่าพืชคาม. พืชสีเขียวที่มีรากและใบงอกชนิดใดชนิดหนึ่ง ชื่อว่าภูตคาม.
               ในบทว่า โอสธติณวนปฺปตโย มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               ต้นไม้ที่เขาใช้ปรุงยารักษาโรค ชื่อว่าโอสธ. ต้นไม้ที่มีแก่นข้างนอก เช่น ต้นตาลและต้นมะพร้าวเป็นต้น ชื่อว่าติณะ. ต้นไม้ที่เจริญที่สุดในป่า ชื่อว่าวนัปปติ ต้นไม้เจ้าป่า. แม่น้ำน้อยที่เหลือ เว้นแม่น้ำใหญ่ ๕ สาย ชื่อว่ากุนนที แม่น้ำน้อย. สระเล็กๆ มีบึงเป็นต้นที่เหลือ เว้นสระใหญ่ ๗ สระ ชื่อว่ากุสุพภะ บ่อน้ำ.
               ในบทว่า ทุติโย สุริโย เป็นต้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               ในคราวที่มีพระอาทิตย์ดวงที่ ๒ ดวงหนึ่งขึ้นไป ดวงหนึ่งตก. ในคราวที่มีพระอาทิตย์ดวงที่ ๓ ดวงหนึ่งขึ้นไป ดวงหนึ่งตก. ดวงหนึ่งยังอยู่กลาง (ท้องฟ้า). ในคราวที่มีพระอาทิตย์ดวงที่ ๔ ย่อมตั้งขึ้นเรียงกันเป็นลำดับ เหมือนภิกษุ ๔ รูปผู้เที่ยวไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ๔ ครอบครัวยืนอยู่ตามลำดับประตูบ้านฉะนั้น.
               แม้ที่พระอาทิตย์ดวงที่ ๕ เป็นต้นก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า ปลุชฺชนฺติ ได้แก่ ขาดตกลง.
               บทว่า เนว ฉาริกา ปญฺญายติ น มสิ ความว่า เมื่อที่มีประมาณเท่านี้คือ แผ่นดินใหญ่ในจักรวาฬ ขุนเขาสิเนรุ ภูเขาหิมพานต์ ภูเขาจักรวาฬ กามาพจรสวรรค์ ๖ ชั้นและพรหมโลกชั้นปฐมฌานภูมิ ที่ถูกไฟไหม้แล้ว ขี้เถ้าหรือถ่านแม้เพียงจะหยิบเอาด้วยนิ้วมือก็ไม่ปรากฏ.
               บทว่า โก มนฺตา โก สทฺธาตา ความว่าใครสามารถจะให้บุคคลรู้ จะให้เขาเชื่อเรื่องนั้น หรือใครจะเป็นผู้เชื่อเรื่องนั้น.
               บทว่า อญฺญตร ทิฏฺฐปเทหิ ความว่า เว้นพระอริยสาวก ผู้โสดาบัน ผู้มีบท (คือพระนิพพาน) อันตนเห็นแล้ว. อธิบายว่า ใครเล่าจักเชื่อคนอื่นได้.
               บทว่า วีตราโค ความว่า ผู้ปราศจากราคะ ด้วยอำนาจวิกขัมภนปหาน (ละได้ด้วยการข่ม).
               บทว่า สาสนํ อาชานึสุ ความว่า พระสาวกทั้งหลายรู้ถึงคำพร่ำสอน คือดำเนินตามทาง เพื่อความเป็นสหายชาวพรหมโลก.
               บทว่า สมสมคติโย ความว่า ผู้มีคติเสมอกัน คือมีคติเป็นอันเดียวกัน โดยอาการเป็นอันเดียวกัน ในอัตภาพที่ ๒.
               บทว่า อตฺตริ เมตฺตํ ภเวยฺยํ ความว่า เราพึงเจริญเมตตาให้ยิ่งๆ ขึ้นไป คือทำให้ประณีต เริ่มตั้งแต่ปฐมฌานไปจนถึงฌานหมวด ๓ และฌานหมวด ๔.
               บทว่า จกฺขุมา ความว่า พระศาสดาทรงมีพระจักษุ ๕ ชื่อว่าจักขุมา.
               บทว่า ปรินิพฺพุโต ความว่า เสด็จปรินิพพานด้วยกิเลสปรินิพพาน ณ โพธิบัลลังก์นั่นเอง.
               ครั้นพระศาสดาทรงแสดงอนิจจลักษณะแล้ว ทรงยักเยื้องพระธรรมเทศนาไปอย่างนี้ ภิกษุผู้เจริญอนิจจกรรมฐานทั้ง ๕๐๐ นั้น ส่งญาณไปตามกระแสเทศนา บรรลุพระอรหัตแล้ว บนอาสนะที่ตนนั่งนั่นแหละ ดังนี้.

               จบอรรถกถาสุริยสูตรที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต มหาวรรคที่ ๒ ๒. สุริยสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 23 / 1อ่านอรรถกถา 23 / 62อรรถกถา เล่มที่ 23 ข้อ 63อ่านอรรถกถา 23 / 64อ่านอรรถกถา 23 / 281
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=23&A=2162&Z=2259
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=4421
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=4421
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :