ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 24 / 1อ่านอรรถกถา 24 / 16อรรถกถา เล่มที่ 24 ข้อ 17อ่านอรรถกถา 24 / 18อ่านอรรถกถา 24 / 229
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ นาถกรณวรรคที่ ๒
๗. นาถสูตรที่ ๑

               อรรถกถาปฐมนาถสูตรที่ ๗               
               ปฐมนาถสูตรที่ ๗ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า สนาถา ความว่า มีญาติ คือมีญาติพวกพ้องมากอยู่. ชนเหล่าใดทำที่พึ่ง เหตุนั้น ชนเหล่านั้นชื่อว่าผู้ทำที่พึ่ง. อธิบายว่า กระทำให้มีที่พึ่ง ที่พำนักแก่ตน.
               ในบทว่า กลฺยาณมิตฺโต เป็นต้น ชื่อว่ามีกัลยาณมิตร ก็เพราะมีมิตรดี ที่สมบูรณ์ด้วยศีลเป็นต้น. ชื่อว่ามีกัลยาณสหาย ก็เพราะชนเหล่านั้นเป็นสหายของเขา เพราะไปร่วมกันในอิริยาบถมียืนนั่งเป็นต้น. ชื่อว่ากัลยาณสัมปวังกะ ก็เพราะเอออวยโอนอ่อนในพวกกัลยาณมิตร ด้วยกายและใจ.
               บทว่า สุวโจ โหติ ความว่า ย่อมเป็นผู้ที่เขาพึงว่ากล่าวโดยง่าย ที่เขาพึงสั่งสอนได้ง่าย.
               บทว่า ขโม ได้แก่ แม้ถูกว่ากล่าวด้วยคำหยาบคายกักขฬะ ก็ทนได้ ไม่โกรธ.
               บทว่า ปทกฺขิณคฺคาหี อนุสาสนึ ความว่า ไม่กระทำเหมือนบางคน ที่เมื่อถูกท่านโอวาทก็รับเอาข้างซ้าย [ไม่เคารพ] ตอบโต้หรือไม่ฟังเดินไปเสีย รับเอาเบื้องขวา [คือโดยเคารพ] ด้วยกล่าวว่า โอวาทพร่ำสอนเถิดท่าน เมื่อท่านไม่โอวาท คนอื่นใครเล่าจักโอวาท ดังนี้.
               บทว่า อุจฺจาวจานิ แปลว่า สูงต่ำ.
               บทว่า กึกรณียานิ ได้แก่ กิจกรรมที่ถามอย่างนี้ว่า ผมจะทำอะไร แล้วกระทำ.
               บรรดากิจกรรมสูงต่ำ ชื่อว่ากิจกรรมสูง ได้แก่ กิจกรรมเช่นว่าทำจีวร ย้อมจีวร โบกปูนพระเจดีย์ กิจกรรมที่จะพึงทำในโรงอุโบสถ เรือนพระเจดีย์และเรือนโพธิ์อย่างนี้เป็นต้น. ชื่อว่ากิจกรรมต่ำ ได้แก่ กิจกรรมเล็กน้อยเช่นล้างบาตร ทาน้ำมันเป็นต้น.
               บทว่า ตตฺรุปายาย ได้แก่อันดำเนินไปในกิจกรรมนั้น.
               บทว่า อลํ กาตุํ แปลว่า เป็นผู้สามารถทำได้เอง.
               บทว่า อลํ สํวิธาตุํ แปลว่า ผู้สามารถจัดการได้.
               ภิกษุชื่อว่าธรรมกามะ เพราะมีความรักใคร่ธรรม. อธิบายว่า ย่อมรักพระไตรปิฎกพุทธวจนะ.
               บทว่า ปิยสมุทาหาโร ความว่า เมื่อผู้อื่นกล่าวอยู่ก็ฟังโดยเคารพ ทั้งตัวเองก็ใคร่จะแสดงแก่ผู้อื่น.
               ในคำว่า อภิธมฺเม อภิวินเย นี้ พึงทราบ ๔ หมวด คือ ธรรม อภิธรรม วินัย อภิวินัย.
               ใน ๔ หมวดนั้น ชื่อว่าธรรม ได้แก่พระสุตตันตปิฎก ชื่อว่าอภิธรรม ได้แก่ปกรณ์ทั้ง ๗. ชื่อว่าวินัย ได้แก่วิภังค์ทั้งสอง [ภิกขุวิภังค์ ภิกขุนีวิภังค์] ชื่อว่าอภิวินัย ได้แก่ขันธกะและบริวาร.
               อีกนัยหนึ่ง ทั้งสุตตันตปิฎก ทั้งอภิธัมมปิฎก ชื่อว่าธรรมทั้งนั้น. มรรคผล ชื่อว่าอภิธรรม วินัยปิฎกทั้งสิ้น ชื่อว่าวินัย การทำการระงับกิเลส ชื่อว่าอภิวินัย. อธิบายว่า เป็นผู้ มีความปราโมทย์อย่างโอฬารในธรรม อภิธรรม วินัยและอภิวินัยทั้งหมด ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า กุสเลสุ ธมฺเมสุ เป็นสัตต มีวิภัตติ ลงในอรรถตติยาวิภัตติ. อธิบายว่า เป็นผู้ไม่ทอดธุระ เพื่อต้องการบรรลุธรรมเหล่านั้น เพราะเหตุแห่งกุศลธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๔.

               จบอรรถกถาปฐมนาถสูตรที่ ๗               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ นาถกรณวรรคที่ ๒ ๗. นาถสูตรที่ ๑ จบ.
อ่านอรรถกถา 24 / 1อ่านอรรถกถา 24 / 16อรรถกถา เล่มที่ 24 ข้อ 17อ่านอรรถกถา 24 / 18อ่านอรรถกถา 24 / 229
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=24&A=625&Z=676
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=7238
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=7238
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :