ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 24 / 1อ่านอรรถกถา 24 / 20อรรถกถา เล่มที่ 24 ข้อ 21อ่านอรรถกถา 24 / 22อ่านอรรถกถา 24 / 229
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ มหาวรรคที่ ๓
๑. สีหสูตร

               มหาวรรคที่ ๓               
               อรรถกถาสีหสูตรที่ ๑               
               วรรคที่ ๓ สีหสูตรที่ ๑ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า วิสมคเต ได้แก่ ผู้ไปในที่หาเหยื่ออันไม่ราบเรียบ.
               บทว่า สงฺฆาตํ อาปาเทสึ แปลว่า ให้ถึงฆาต คือการถูกฆ่า.
               จริงอยู่ ราชสีห์นั้นมีความเอ็นดูในหมู่สัตว์เล็กๆ เพราะตนมีอำนาจมาก เพราะฉะนั้น จึงคิดว่าหมู่สัตว์เหล่าใดอาจตั้งอยู่ในฐานะเป็นศัตรู จำต้องฆ่าหมู่สัตว์เหล่านั้นเสีย หมู่สัตว์เหล่าใดอ่อนกำลัง ประสงค์จะหนี หมู่สัตว์เหล่านั้นก็จักหนีไปเสีย จึงบันลือสีหนาทแล้วออกไปหาเหยื่อ.
               บทว่า ตถาคตสฺเสตํ อธิวจนํ ความว่า ก็ผิว่าพระตถาคตชื่อว่าสีหะ เพราะทรงอดทนอย่างหนึ่ง เพราะทรงฆ่าอย่างหนึ่ง จึงทรงอดทนอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ทุกอย่าง และทรงฆ่าเสียด้วยทรงย่ำยีวาทะของเหล่าผู้มีวาทะเป็นข้าศึกทุกคน.
               บทว่า อิทมสฺส โหติ สีหนาทสฺมึ ได้แก่ นี้เป็นสีหนาท คือการบันลือที่ไม่มีความกลัวของพระตถาคตนั้น.
               บทว่า ตถาคตสฺส ตถาคตพลานิ ได้แก่ เป็นกำลังของพระตถาคตเท่านั้น ไม่ทั่วไปกับคนอื่นๆ. อธิบายว่า พละของพระพุทธเจ้าแต่ปางก่อนทั้งหลายมาแล้วโดยสมบัติ คือบุญแลยศฉันใด แม้พละของพระตถาคตก็ฉันนั้น ดังนี้.
               ในคำว่า ตถาคตสฺส พลานิ นี้มีกำลัง ๒ อย่าง คือกำลังพระวรกาย ๑ กำลังพระญาณ ๑.
               ในกำลัง ๒ อย่างนั้น กำลังพระวรกาย พึงทราบโดยการเทียบตระกูลช้าง.
               สมจริงที่พระโบราณาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้ว่า
                         กาฬาวกญฺจ คงฺเคยฺยํ    ปณฺฑรํ ตมฺพปิงฺคลํ
                         คนฺธมงฺคลเหมญฺจ       อุโปสถจฺฉทฺทนฺติเม.
                         ตระกูลช้างเหล่านี้ คือ กาฬาวกะ ๑ คังเคยยะ ๑
                         ปัณฑระ ๑ ตัมพะ ๑ ปิงคละ ๑ คันธะ ๑ มังคละ ๑
                         เหมะ ๑ อุโปสถะ ๑ ฉัททันตะ ๑

               รวมช้าง ๑๐ ตระกูลเหล่านี้ บรรดาตระกูลช้างเหล่านั้น ตระกูลช้างกาฬาวกะ พึงเห็นว่าเป็นตระกูลช้างธรรมดาๆ. กำลังกายบุรุษ ๑๐ คนเท่ากับกำลังช้างตระกูลกาฬาวกะ ๑ เชือก กำลังกายของช้างตระกูลกาฬาวกะ ๑๐ เชือกเท่ากับกำลังกายช้างตระกูลคังเคยยะ ๑ เชือก กำลังกายของช้างตระกูลคังเคยยะ ๑๐ เชือกเท่ากับกำลังกายของช้างตระกูลปัณฑระ ๑ เชือก กำลังกายของช้างตระกูลปัณฑระ ๑๐ เชือกเท่ากับกำลังกายของช้างตระกูลตัมพะ ๑ เชือก กำลังกายของช้างตระกูลตัมพะ ๑๐ เชือกเท่ากับกำลังกายของช้างตระกูลปิงคละ ๑ เชือก กำลังกายของช้างตระกูลปิงคละ ๑๐ เชือกเท่ากับกำลังกายของช้างตระกูลคันธะ ๑ เชือก กำลังของช้างตระกูลคันธะ ๑๐ เชือกเท่ากับกำลังกายช้างตระกูลมังคละ ๑ เชือก
               กำลังกายของช้างตระกูลมังคละ ๑๐ เชือกเท่ากับกำลังกายของช้างตระกูลเหมะ ๑ เชือก กำลังกายของช้างตระกูลเหมะ ๑๐ เชือกเท่ากับกำลังกายของช้างตระกูลอุโบสถะ ๑ เชือก กำลังกายของช้างตระกูลอุโบสถะ ๑๐ เชือกเท่ากับกำลังกายของช้างตระกูลฉัททันตะ ๑ เชือก กำลังกายของช้างตระกูลฉัททันตะ ๑๐ เชือกเท่ากับพระวรกายของพระตถาคตพระองค์เดียว กำลังพระวรกายของพระตถาคตนี้เรียกว่ากำลังนารายณ์ดังนี้ก็มี กำลังพระวรกายของพระตถาคตนี้นั้น เมื่อเทียบช้างธรรมดาๆ ก็เท่ากับกำลังช้าง ๑ พันโกฏิ. เมื่อเทียบบุรุษก็เท่ากับกำลังบุรุษ ๑ หมื่นโกฏิ นี้เป็นกำลังพระวรกายของพระตถาคตก่อน.
               พึงทราบกำลังพระญาณที่มาในบาลีก่อน พระทศพลญาณมาในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย จตุเวสารัชชญาณ อกัมปนญาณในบริษัท ๘ จตุโยนิปริจเฉทญาณ ปัญจคติปริจเฉทญาณ ญาณ ๗๓ ญาณ ๗๗ ซึ่งมาในคัมภีร์สังยุตตนิกาย รวมญาณดังกล่าวนี้ ญาณหลายพันอย่างอื่นอีก. นี้ชื่อว่ากำลังพระญาณ.
               แม้ในสูตรนี้ ท่านก็ประสงค์เอากำลังพระญาณเท่านั้น. จริงอยู่ พระญาณ ท่านเรียกว่าพละ เพราะอรรถว่าไม่หวั่นไหว และเพราะอรรถว่าอุปถัมภ์.
               บทว่า อาสภณฺฐานํ ได้แก่ ฐานะอันประเสริฐสุด คือฐานะอันสูงสุด.
               อีกอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าในปางก่อนทั้งหลาย ชื่อว่าอาสภะ. อธิบายว่า ฐานะของอาสภะ พระพุทธเจ้าปางก่อนเหล่านั้น.
               อีกนัยหนึ่ง โคจ่าฝูง ๑๐๐ ตัว ชื่อว่าอุสภะ โคจ่าฝูง ๑,๐๐๐ ตัว ชื่อว่าอาสภะ หรือว่า โคจ่าฝูง ๑๐๐ คอก ชื่อว่าอุสภะ โคจ่าฝูง ๑,๐๐๐ คอก ชื่อว่าอาสภะ โคตัวประเสริฐสุดแห่งโคทั้งหลาย ทนอันตรายได้ทุกอย่าง สีขาว ผึ่งผาย ลากเข็นของหนักมากได้แม้ถูกเสียงฟ้าร้อง ๑๐๐ ครั้งก็ไม่สะดุ้งสะเทือน ชื่อว่านิสภะ.
               โคนิสภะนั้น ท่านประสงค์เอาว่า โคอุสภะในสูตรนี้. ก็คำนี้เป็นคำบรรยายของคำว่า อุสภะนั้น.
               บทว่า อุสภสฺส อิทํ ได้แก่ อาสภะ.
               บทว่า ฐานํ ได้แก่ ที่ที่โคอาสภะยืนเอาเท้าทั้ง ๔ เหยียบลงแผ่นดิน.
               ก็ที่นี้เป็นเหมือนอาสภะ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอาสภะ (ที่ยืนอย่างองอาจ) เพราะเปรียบเหมือนโคอุสภะ ที่นับได้ว่าโคนิสภะ ประกอบด้วยกำลังของโคอุสภะ เอาเท้าทั้ง ๔ ยืนเหยียบ ณ ที่ยืนโดยไม่ไหวติงฉันใด แม้พระตถาคตทรงประกอบด้วยกำลังของพระตถาคต ๑๐ ประการ ทรงเหยียบแผ่นดินคือบริษัท ๘ อันศัตรูหมู่ปัจจามิตรไรๆ ทำให้หวั่นไหวไม่ได้ ก็ทรงยืน ณ ที่อันมั่นคงฉันนั้น เมื่อทรงยืนอย่างนั้น ก็ทรงปฏิญาณเข้าถึง ไม่บอกคืนฐานะอันสูงสุดที่มีในพระองค์ ด้วยเหตุนั้นจึงตรัสว่า อาสภณฺฐานํ ปฏิชานาติ ปฏิญาณฐานะอันสูงสุดดังนี้.
               บทว่า ปริสาสุ ได้แก่ ในบริษัท ๘ คือ ขัตติยบริษัท พรหมณบริษัท คหบดีบริษัท สมณบริษัท จาตุมหาราชิกบริษัท ดาวดึงส์บริษัท มารบริษัท และพรหมบริษัท.
               บทว่า สีหนาทํ นทติ แปลว่า บันลือการบันลืออันประเสริฐสุด บันลือการบันลือของบุคคลผู้ไม่มีความกลัว หรือบันลือการบันลือเสมือนการบันลือของราชสีห์.
               ในข้อนั้น มีอุปมาดังนี้
               ราชสีห์ประกอบด้วยกำลังของราชสีห์ แกล้วกล้าในที่ทุกแห่ง ปราศจากขนพอง ย่อมบันลือสีหนาทฉันใด แม้ราชสีห์คือพระตถาคต ทรงประกอบด้วยกำลังของพระตถาคต ทรงแกล้วกล้าในบริษัททั้ง ๘ ปราศจากขนพอง ทรงบันลือสีหนาท อันพรั่งพร้อมด้วยความงามแห่งเทศนานานาวิธี โดยนัยว่าดังนี้ สักกายะเป็นต้นก็ฉันนั้น ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า ปริสาสุ สีหนาทํ นทติ บันลือสีหนาทในบริษัททั้งหลายดังนี้.
               ก็ในคำว่า พฺรหฺมจกฺกํ ปวตฺเตติ นี้ คำว่า พฺรหฺมํ แปลว่า ประเสริฐสุด สูงสุด วิเศษสุด.
               คำว่า จกฺกํ ได้แก่ ธรรมจักร.
               ก็ธรรมจักรนี้นั้นมี ๒ อย่าง คือ ปฏิเวธญาณ ๑ เทศนาญาณ ๑.
               ใน ๒ อย่างนั้น ธรรมจักรที่พระปัญญาอบรมนำอริยผลมาให้พระองค์ ชื่อว่าปฏิเวธญาณ ธรรมจักรที่พระกรุณาอบรม นำอริยผลมาให้พระสาวกทั้งหลาย ชื่อว่าเทศนาญาณ.
               ในญาณทั้งสองนั้น ปฏิเวธญาณมี ๒ คือ ที่กำลังเกิด ที่เกิดแล้ว.
               จริงอยู่ ปฏิเวธญาณนั้น ชื่อว่ากำลังเกิดตั้งแต่เสด็จออกทรงผนวชจนถึงพระอรหัตมรรค ชื่อว่าเกิดแล้วในขณะแห่งผลจิต หรือว่าชื่อว่ากำลังเกิดตั้งแต่ภพดุสิตจนถึงพระอรหัตมรรค ณ โพธิบัลลังก์ ชื่อว่าเกิดแล้วในขณะแห่งผลจิต. หรือว่าชื่อว่ากำลังเกิด จำเดิมตั้งแต่ความปรารถนา ณ เบื้องพระบาทแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกร จนถึงทรงบรรลุพระอรหัตมรรค, ชื่อว่าเกิดแล้ว ในขณะแห่งผลจิต.
               ฝ่ายเทศนาญาณก็มี ๒ คือ ที่กำลังเป็นไป ที่เป็นไปแล้ว.
               จริงอยู่ เทศนาญาณนั้น ชื่อว่ากำลังเป็นไปจนถึงโสดาปัตติมรรคของพระอัญญาโกณฑัญญะ ชื่อว่าเป็นไปแล้วในขณะแห่งผลจิต [โสดาปัตติผล]. ก็ในญาณทั้ง ๒ นั้น ปฏิเวธญาณที่เกิดแล้วเป็นโลกุตระ เทศนาญาณที่เป็นไปแล้วเป็นโลกิยะ แม้ญาณทั้ง ๒ นั้นไม่ทั่วไปแก่สาวกอื่นๆ เป็นญาณที่เกิดอยู่ในพระองค์ของพระพุทธะทั้งหลายเท่านั้น.
               บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงโดยพิสดาร ถึงพระพละที่พระตถาคตทรงประกอบแล้ว ทรงปฏิญาณฐานะอันสูงสุด จึงตรัสว่า กตมานิ ทส อิธ ภิกฺขเว ตถาคโต ฐานญฺจ ฐานโต เป็นอาทิ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ฐานญฺจ ฐานโต ได้แก่ เหตุโดยความเป็นเหตุ.
               จริงอยู่ เพราะเหตุที่ผลตั้งอยู่ เกิดและเป็นไปในเหตุนั้น เพราะเป็นไปเนื่องด้วยเหตุนั้น ฉะนั้น เหตุท่านจึงเรียกว่าฐานะ. พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงทราบเหตุนั้นๆ ว่าฐานะ เพราะธรรมที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งธรรมเกิดขึ้น ทรงทราบเหตุนั้นๆ ว่าอฐานะ เพราะธรรมที่ไม่เป็นเหตุไม่เป็นปัจจัยแห่งธรรมเกิดขึ้น ชื่อว่าทรงทราบฐานะโดยเป็นฐานะ อฐานะโดยเป็นอฐานะ ตามเป็นจริง.
               แต่ในอภิธรรม คำนี้ท่านกล่าวไว้พิสดารแล้ว โดยนัยเป็นต้นว่า มรรคญาณเหล่านั้น ญาณที่รู้ฐานะโดยเป็นฐานะและรู้อฐานะโดยเป็นอฐานะ ตามเป็นจริงของพระตถาคตเป็นไฉน ดังนี้.
               บทว่า ยมฺปิ แปลว่า ด้วยญาณใด.
               บทว่า อิทมฺปิ ภิกฺขเว ตถาคตสฺส ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฐานาฐานญาณแม้นี้ ย่อมชื่อว่าตถาคตพละของตถาคต.
               พึงทราบการประกอบความในบททั้งปวงด้วยประการอย่างนี้.
               บทว่า กมฺมสมาทานานํ ได้แก่ ของกุศลกรรมและอกุศลกรรมที่บุคคลยึดถือกระทำแล้ว. อีกอย่างหนึ่ง กรรมนั้นแลชื่อว่ากรรมสมาทาน.
               บทว่า ฐานโส เหตุโส แปลว่า โดยความเป็นปัจจัยและโดยความเป็นเหตุ.
               ก็ในกรรมสมาทานนั้น กถากล่าวถึงญาณนี้โดยพิสดารว่า กรรมเป็นเหตุแห่งวิบาก เพราะคติ อุปธิ กาลและปโยคะ มาแล้วในอภิธรรม โดยนัยเป็นต้นว่า กรรมสมาทานฝ่ายอกุศลบางเหล่ามีอยู่ ห้ามคติสมบัติ จึงไม่ให้วิบาก.
               บทว่า สพฺพตฺถคามินึ ได้แก่ ที่ให้ถึงคติทั้งปวง และที่ไม่ให้ถึงคติ.
               บทว่า ปฏิปทํ ได้แก่ มรรค.
               บทว่า ยถาภูตํ ปชานาติ ความว่า เมื่อมนุษย์แม้เป็นอันมากฆ่าสัตว์ตัวเดียวเท่านั้น เขาย่อมรู้ชัดถึงสภาพของการปฏิบัติทั้งหลาย กล่าวคือกุศลเจตนาและอกุศลเจตนา ในวัตถุอันเดียวกันโดยไม่ผิด ตามนัยนี้ว่าผู้นี้จักมีเจตนาไปนรก ผู้นี้จักมีเจตนาไปกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน. อนึ่ง กถากล่าวถึงญาณนี้โดยพิสดารมาแล้วในอภิธรรมเหมือนกัน โดยนัยเป็นต้นว่า บรรดาญาณเหล่านั้น ญาณที่รู้ปฏิปทาไปในคติทั้งปวงตามเป็นจริงของตถาคตเป็นไฉน พระตถาคตในโลกนี้ ย่อมทรงรู้ชัดว่านี้มรรค นี้ไม่ใช่มรรค นี้ปฏิปทาที่ให้ไปนรกดังนี้.
               บทว่า อเนกธาตุํ ได้แก่ ธาตุเป็นอันมาก โดยจักขุธาตุเป็นต้น หรือโดยกามธาตุเป็นต้น.
               บทว่า นานาธาตุํ ได้แก่ ธาตุมีประการต่างๆ เพราะกำหนดความต่างของธาตุเหล่านั้น.
               บทว่า โลกํ ได้แก่ โลกคือขันธ์อายตนะและธาตุ.
               บทว่า ยถาภูตํ ปชานาติ ได้แก่ ทรงแทงตลอดสภาพของธาตุเหล่านั้นโดยไม่ผิด. แม้ญาณนี้ ท่านก็กล่าวไว้พิสดารแล้วในอภิธรรมโดยนัยเป็นต้นว่า บรรดาญาณเหล่านั้น ญาณที่รู้ธาตุเป็นอันมาก ธาตุต่างๆ โลกตามเป็นจริงของพระตถาคตเป็นไฉน. พระตถาคตในโลกนี้ ย่อมทรงรู้ชัดความเป็นต่างๆ แห่งขันธ์ ดังนี้.
               บทว่า นานาธิมุตฺติกตํ ได้แก่ ความที่สัตว์ทั้งหลาย มีอัธยาศัยต่างๆ กัน โดยอัธยาศัยทั้งหลายมีอัธยาศัยเลวเป็นต้น. ญาณแม้นี้ ท่านกล่าวไว้พิสดารแล้วในอภิธรรมโดยนัยเป็นต้นว่า บรรดาญาณเหล่านั้น ญาณที่รู้ความที่สัตว์ทั้งหลายมีอัธยาศัยต่างๆ กัน ตามเป็นจริงของพระตถาคตเป็นไฉน. พระตถาคตในโลกนี้ ย่อมทรงรู้ชัดว่า สัตว์ทั้งหลายมีอัธยาศัยเลวมีอยู่ดังนี้.
               บทว่า ปรสตฺตานํ ได้แก่ สัตว์ที่ มีอินทรีย์ดี.
               บทว่า ปรปุคฺคลานํ ได้แก่ สัตว์ที่มีอินทรีย์เลวอื่นจากนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง สองบทนี้มีความอย่างเดียวกัน ตรัสเป็น ๒ ส่วน ก็ด้วยอำนาจเวไนยสัตว์.
               บทว่า อินฺทฺริยปโรปริยตฺตํ ความว่า ความยิ่งและความหย่อน ความเจริญและความเสื่อมแห่งอินทรีย์ทั้งหลายมีสัทธินทรีย์เป็นต้น.
               กถากล่าวถึงญาณแม้นี้โดยพิสดาร ก็มาในอภิธรรมเหมือนกันโดยนัยเป็นต้นว่า บรรดาญาณเหล่านั้น ญาณที่รู้ความที่สัตว์อื่น บุคคลอื่นมีอินทรีย์ยิ่งและหย่อนตามเป็นจริงของพระตถาคตนั้นเป็นไฉน. พระตถาคตในโลกนี้ย่อมทรงรู้อาสยะ อัธยาศัยดี ทรงรู้อนุสยะ อัทธยาศัยเลวของสัตว์ทั้งหลายดังนี้.
               บทว่า ฌานวิโมกฺขสมาธิสมาปตฺตีนํ ได้แก่ แห่งฌาน ๔ มีปฐมฌานเป็นต้น วิโมกข์ ๘ มีว่า รูปี รูปานิ ปสฺสติ บุคคลผู้เจริญรูปฌาน เห็นรูปทั้งหลายเป็นต้น สมาธิ ๓ มีสมาธิที่มีวิตก ที่มีวิจารเป็นต้น และอนุปุพพวิหารสมบัติ ๙ มีปฐมญาณสมาบัติเป็นต้น.
               บทว่า สงฺกิเลสํ ได้แก่ ธรรมฝ่ายเสื่อม.
               บทว่า โวทานํ ได้แก่ ธรรมฝ่ายวิเศษ.
               บทว่า วุฏฺฐานํ ได้แก่ แม้การออกจากสมาธินั้นๆ ก็ชื่อว่าวุฏฐานะ ฌานที่คล่องแคล่วชั้นต่ำๆ ย่อมเป็นปทัฏฐานของฌานชั้นสูงๆ. เพราะฉะนั้น แม้โวทาน ท่านก็เรียกว่าวุฏฐานะ การออกจากฌานทั้งปวงย่อมมีด้วยภวัคจิต การออกจากนิโรธสมาบัติ ย่อมมีด้วยผลสมาบัติ. ข้าพเจ้าหมายเอาข้อนั้น จึงกล่าวว่า แม้การออกจากสมาธินั้นๆ ชื่อว่าวุฏฐานะ.
               แม้ญาณนี้ ท่านก็กล่าวไว้พิสดารแล้วในอภิธรรม โดยนัยเป็นต้นว่า บรรดาญาณเหล่านั้น ญาณที่รู้ความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว การออกแห่งฌานวิโมกข์ สมาธิและสมาบัติตามเป็นจริงของพระตถาคตเป็นไฉน.
               บทว่า ฌายี ได้แก่ ผู้มีฌาน ๔ มีความพิสดารในอภิธรรมโดยนัยเป็นต้นว่า ผู้มีฌานบางท่านแอบแนบสมาบัติที่มีอยู่นั่นแล ดังนี้. การวินิจฉัยในกถากล่าวถึงญาณทั้งหลายโดยพิสดารว่า สพฺพวิปตฺติ เป็นต้น ก็กล่าวไว้แล้วในอรรถกถาคัมภีร์วิภังค์ [อภิธรรม] ชื่อว่าสัมโมหวิโนทนี. กถาที่ว่าด้วยปุพเพนิวาสานุสสติญาณและทิพพจักขุญาณ ก็กล่าวไว้พิสดารแล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรค. กถาว่าด้วยอาสวักขยญาณ ก็กล่าวไว้แล้วในหนหลังนั่นแล.
               ในเรื่องพระญาณของพระตถาคตนั้น มีคำตอบของพระปรวาทีว่า ญาณแผนกหนึ่งที่ชื่อว่าทศพลญาณไม่มี. อันนี้ก็เป็นประเภทแห่งพระสัพพัญญุตญาณนั่นเอง. คำนั้นไม่ควรเห็นอย่างนั้น ด้วยว่า ทศพลญาณก็ญาณหนึ่ง พระสัพพัญญุตญาณก็ญาณหนึ่ง.
               จริงอยู่ พระทศพลญาณก็รู้เฉพาะกิจของตนๆ เท่านั้น. พระสัพพัญญุตญาณย่อมรู้ทั้งกิจของตนๆ นั้น ทั้งกิจที่เหลือนอกจากของตนนั้น. ความจริงในพระทศพลญาณทั้งหลาย พระญาณที่ ๑ รู้เหตุและมิใช่เหตุ พระญาณที่ ๒ รู้กรรมอื่นและวิบากอื่น พระญาณที่ ๓ รู้การกำหนดกรรม พระญาณที่ ๔ ย่อมรู้เหตุแห่งความที่ธาตุเป็นต่างๆ กัน พระญาณที่ ๕ ย่อมรู้อธิมุตติ คืออัธยาศัยของสัตว์ทั้งหลาย พระญาณที่ ๖ ย่อมรู้ความที่อินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลายว่าแก่และอ่อน พระญาณที่ ๗ ย่อมรู้ความเศร้าหมองเป็นต้นของธรรมเป็นอาทิอย่างนั้น พร้อมกับญาณเป็นอาทิ พระญาณที่ ๘ ย่อมรู้สันตติความสืบต่อแห่งขันธ์ที่อยู่อาศัยในชาติก่อนๆ พระญาณที่ ๙ ย่อมรู้จุติและปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลาย พระญาณที่ ๑๐ ย่อมรู้กำหนดสัจจะ.
               ส่วนพระสัพพัญญุตญาณย่อมรู้ข้อที่พระญาณเหล่านั้นควรรู้ และข้อที่เกินไปกว่าพระญาณเหล่านั้น. ก็พระสัพพัญญุตญาณ หาทำกิจของพระญาณเหล่านั้นทุกอย่างไม่. จริงอยู่ พระสัพพัญญุตญาณนั้นหาเป็นญาณแนบสนิทอยู่ได้ไม่ หาเป็นอิทธิแสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ไม่ หาเป็นมรรคทำกิเลสทั้งหลายให้สิ้นไปได้ไม่.
               อนึ่ง ท่านปรวาทีพึงถูกถามอย่างนี้ว่า ธรรมดาพระทศพลญาณนี้มีวิตก มีวิจาร ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร หรือไม่มีวิตกไม่มีวิจาร เป็นกามาวจร รูปาวจรหรืออรูปาวจร เป็นโลกิยะหรือโลกุตระ
               เมื่อรู้ ก็จักตอบว่า พระญาณ ๗ ตามลำดับมีวิตกมีวิจาร จักตอบว่าพระญาณ ๒ นอกจากพระญาณ ๗ นั้นไม่มีวิตกไม่มีวิจาร. จักตอบว่า อาสวักขยญาณมีวิตกมีวิจารก็มี. จักตอบว่า พระญาณ ๗ ตามลำดับก็เหมือนกัน เป็นกามาวจร พระญาณ ๒ นอกจากพระญาณ ๖ นั้นเป็นรูปาวจร พระญาณหนึ่งสุดท้ายเป็นโลกุตระ. ส่วนพระสัพพัญญุตญาณมีวิตกมีวิจารเท่านั้น เป็นกามาวจรเท่านั้น เป็นโลกิยะเท่านั้น.
               ครั้นรู้การพรรณนาตามบทในพระญาณของพระตถาคตนั้นอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพราะเหตุที่พระตถาคตทรงเห็นความไม่มีกิเลสเครื่องกั้นจิต อันเป็นฐานะและอฐานะ แห่งการบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะและไม่บรรลุของเวไนยสัตว์ทั้งหลาย ด้วยฐานาฐานญาณก่อนทีเดียว เพราะทรงเห็นสัมมาทิฏฐิเป็นต้นอันเป็นโลกิยะ และเพราะทรงเห็นความไม่มีนิยตมิจฉาทิฏฐิ
               ลำดับนั้นจึงทรงเห็นความไม่มีวิบากเป็นเครื่องกั้นด้วยกรรมวิปากญาณ เพราะทรงเห็นปฏิสนธิของสัตว์ที่มีไตรเหตุ ทรงเห็นความไม่มีกรรมเป็นเครื่องกั้น ด้วยสัพพัตถคามินีปฏิปทาญาณ เพราะทรงเห็นความไม่มีอนันตริยกรรม เมื่อเป็นดังนั้น จึงทรงเห็นความวิเศษแห่งจริยาของเหล่าสัตว์ที่ไม่มีเครื่องกั้น ด้วยอเนกธาตุนานาธาตุญาณ เพื่อทรงแสดงธรรมที่อนุกูล เพราะทรงเห็นธรรมที่ธาตุต่างกัน ต่อนั้นก็ทรงเห็นอธิมุตติอัธยาศัยของสัตว์เหล่านั้น ด้วยนานาธิมุตติกญาณ เพื่อที่แม้ไม่ทรงยึดประโยค ก็ทรงแสดงธรรมด้วยอำนาจอธิมุตติ ทรงเห็นความที่สัตว์มีอินทรีย์ยิ่งและหย่อน ด้วยอินทรียปโรปริยัติญาณ เพื่อทรงแสดงตามความสามารถและตามกำลัง ด้วยอำนาจเหล่าสัตว์ที่ทรงเห็นอธิมุตติแล้วอย่างนั้น เพราะทรงเห็นอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลายมีศรัทธาเป็นต้นแก่และอ่อน แต่สัตว์เหล่านั้น ก็ทรงกำหนดรู้ว่ามีอินทรีย์ยิ่งและหย่อนอย่างนั้น ถ้าอยู่ไกลแค่นั้น ก็จะเสด็จเข้าไปใกล้สัตว์เหล่านั้นอย่างฉับพลัน ด้วยความวิเศษแห่งฤทธิ์ เพราะทรงชำนาญในฌานเป็นต้นด้วยฌานาทิญาณ.
               ครั้นเสด็จเข้าไปใกล้แล้ว เมื่อทรงเห็นภาวะของสัตว์เหล่านั้นในชาติก่อนๆ ด้วยปุพเพนิวาสานุสสติญาณ เมื่อทรงเห็นความวิเศษแห่งสมบัติที่สัตว์บรรลุแล้ว ด้วยเจโตปริยญาณที่พึงบรรลุ เพราะอานุภาพแห่งทิพยจักขุญาณจึงทรงแสดงธรรม เพื่อปฏิปทาอันจะให้ถึงธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะ เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะ เพราะเป็นผู้ปราศจากความลุ่มหลงแล้ว ด้วยอานุภาพแห่งอาสวักขยญาณ ฉะนั้น พึงทราบตามลำดับนี้ว่า ตรัสพละทั้งหลายด้วยลำดับนี้.

               จบอรรถกถาสีหสูตรที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ มหาวรรคที่ ๓ ๑. สีหสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 24 / 1อ่านอรรถกถา 24 / 20อรรถกถา เล่มที่ 24 ข้อ 21อ่านอรรถกถา 24 / 22อ่านอรรถกถา 24 / 229
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=24&A=843&Z=923
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=7296
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=7296
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :