ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 24 / 1อ่านอรรถกถา 24 / 222อรรถกถา เล่มที่ 24 ข้อ 223อ่านอรรถกถา 24 / 224อ่านอรรถกถา 24 / 229
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ทุติยวรรคที่ ๒
๖. ทสมสูตร

               อรรถกถาทสมสูตรที่ ๖               
               ทสมสูตรที่ ๖ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า ทสโม ความว่า ก็คฤหบดีนั้น เขานับในตำแหน่งที่ ๑๐ ด้วยอำนาจชาติและสกุล และด้วยการนับตระกูลที่เป็นคฤหบดีมหาศาล เพราะเหตุนั้น เขาจึงชื่อว่าทสมะนั่นแล.
               บทว่า อฏฺฐกนาคโร แปลว่า ชาวเมืองอัฏฐกะ.
               บทว่า กุกฺกุฎาราเม ได้แก่ อารามที่กุกกุฏเศรษฐีสร้างไว้.
               ในคำว่า เตน ภควตา ฯ เป ฯ สมฺมทกฺขาโต นี้มีความสังเขปดังต่อไปนี้ :-
               ทสมคฤหบดีถามท่านพระอานนท์ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้บำเพ็ญพระบารมี ๓๐ ถ้วนแล้ว ทรงหักกิเลสทั้งปวง ทรงรู้ยิ่งซึ่งอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณนั้น อันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายชมเชยด้วยเหตุ ๔ ประการ ด้วยสามารถแห่งเวสารัชชญาณ ๔ อย่างคือ พระองค์ทรงรู้อัธยาศัยและอนุสัยของสัตว์ทั้งหลายนั้นๆ ทรงเห็นไญยธรรมทั้งปวงเหมือนผลมะขามป้อมที่วางไว้บนฝ่ามือ.
               อนึ่ง ทรงรู้ด้วยปุพเพนิวาสญาณเป็นต้น ทรงเห็นด้วยทิพจักษุ หรือว่าทรงรู้ด้วยวิชชา ๓ หรือด้วยอภิญญา ๖ ทรงเห็นด้วยสมันตจักษุอันไม่ติดขัดในโลกทั้งปวง ทรงรู้ด้วยปัญญาอันสามารถรู้ธรรมทั้งปวง หรือทรงเห็นรูปอันล่วงเสียซึ่งจักษุวิสัยของสรรพสัตว์ และรูปที่อยู่ภายนอกฝาเรือนเป็นต้น ด้วยมังสจักษุอันบริสุทธิ์ยิ่งนัก ทรงเห็นด้วยปฏิเวธปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ที่มีสมาธิเป็นปทัฏฐาน (เป็นเหตุใกล้) อันยังประโยชน์ตนให้สำเร็จ ทรงเห็นด้วยเทสนาปัญญาอันเป็นเครื่องแสดงธรรมที่มีกรุณาเป็นปทัฏฐาน (เป็นเหตุใกล้) อันยังประโยชน์ผู้อื่นให้สำเร็จ หรือทรงรู้ธรรมอันกระทำซึ่งอันตราย ทรงเห็นธรรมอันเป็นเหตุนำสัตว์ออกจากวัฏทุกข์ ชื่อว่าทรงเป็นพระอรหันต์ เพราะทรงกำจัดข้าศึกคือกิเลสเสียได้. ทรงพระนามว่าสัมมาสัมพุทธะ เพราะตรัสรู้ธรรมโดยชอบด้วยพระองค์เอง พระองค์ตรัสธรรมเอกมีอยู่หรือหนอ.
               บทว่า อภิสงฺขตํ ความว่า อันภิกษุกระทำแล้ว คือให้เกิดขึ้นแล้ว.
               บทว่า อภิสญเจตยิตํ ความว่า อันภิกษุคิด คือให้สำเร็จแล้ว.
               บทว่า โส ตตฺถ ฐิโต ความว่า ภิกษุนั้นตั้งอยู่แล้วในธรรมคือสมถะและวิปัสสนา
               ด้วยบททั้งสองว่า ธมฺมราเคน ธมฺมนนฺทิยา ท่านพระอานนท์กล่าวความยินดี ด้วยอำนาจความพอใจในสมถะและวิปัสสนา.
               จริงอยู่ ภิกษุเมื่อกำหนดยึดเอาฉันทราคะโดยประการทั้งปวง ในสมถะและวิปัสสนา ย่อมเป็นพระอรหันต์ เมื่อไม่อาจยึดเอาไว้ได้ก็เป็นพระอนาคามี ย่อมบังเกิดในพรหมโลกชั้นสุทธาวาส เพราะยังละฉันทราคะในสมถะและวิปัสสนาไม่ได้ นี้เป็นถ้อยคำของอาจารย์ทั้งหลายผู้มีความเห็นเสมอกัน.
               แต่ท่านอาจารย์ผู้ชอบพูดเคาะกล่าวว่า ภิกษุนี้บังเกิดแล้วในสุทธาวาสภูมิ ด้วยอกุศลจิต เพราะบาลีว่า เตเนว ธมฺมราเคน ดังนี้.
               อาจารย์ฝ่ายพูดเคาะถูกต่อว่า ว่า ขอท่านจงนำพระสูตรมาด้วย ดังนี้.
               เมื่ออาจารย์ฝ่ายนั้นมองไม่เห็นพระสูตรนั้น ก็นำเฉพาะพระสูตรนี้เท่านั้นมาอ้าง.
               ลำดับนั้น ก็จะถูกค้านว่า ก็พระสูตรนี้หรือที่ท่านนำมาอ้างแล้ว หรือเพื่อจะนำมา ดังนี้
               ตอบว่า นำมาอ้างแล้วแน่นอน.
               ลำดับนั้น อาจารย์ฝ่ายพูดเคาะกล่าวว่า เมื่อเป็นอย่างนั้น ภิกษุผู้ต้องการอนาคามิผล จักต้องทำความยินดีด้วยอำนาจความพอใจในสมถะและวิปัสสนา เมื่อเกิดฉันทราคะขึ้นแล้ว จักได้อนาคามิผล. ท่านอย่าแสดงอย่างเลื่อนลอยว่าข้าพเจ้าได้อ้างสูตรมาแล้วเลย เมื่อถามปัญหา ควรจะร่ำเรียนในสำนักของอาจารย์ ขบอรรถรสให้แตกแล้วจึงค่อยกล่าว ด้วยว่าชื่อว่าปฏิสนธิในสวรรค์ด้วยอกุศลไม่มี และปฏิสนธิในอบายด้วยกุศลก็ไม่มี.
               สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๑-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวดาหรือมนุษย์ ก็หรือว่าสุคติเหล่าใดเหล่าหนึ่งอย่างอื่น ย่อมไม่ปรากฏด้วยกรรมอันเกิดแต่โลภะ อันเกิดแต่โทสะและเกิดแต่โมหะ โดยที่แท้ นรก กำเนิดดิรัจฉาน เปรตวิสัย หรือทุคติเหล่าใดเหล่าหนึ่งแม้อื่น ย่อมปรากฏด้วยกรรมอันเกิดแต่โลภะ เกิดแต่โทสะและเกิดแต่โมหะ.
____________________________
๑- องฺ. ฉกฺก. เล่ม ๒๒/ข้อ ๓๑๐

               อาจารย์ผู้พูดเคาะอันบัณฑิตพึงทำให้เข้าใจอย่างนี้ ถ้าว่าเขาเข้าใจไซร้ ก็จงเข้าใจไปเถิด แต่ถ้าว่าเขาไม่เข้าใจ ก็พึงส่งเขาไปด้วยคำว่า ขอท่านจงไป เข้าไปวิหารแต่เช้าตรู่ แล้วดื่มข้าวยาคูเสีย. ดังนี้.
               คำว่า อยมฺปิ โข คหปติ ฯเปฯ เอกธมฺโม อกฺขาโต ความว่า ท่านพระอานนท์ถูกถามถึงธรรมอย่างหนึ่ง ก็กระทำธรรม ๑๑ ประการให้ชื่อว่าธรรมอย่างหนึ่งๆ ด้วยอำนาจคำถาม อย่างนี้ว่า ธรรมอย่างหนึ่ง แม้นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสไว้แล้ว ธรรมอย่างหนึ่งแม้นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสไว้แล้ว.
               อีกอย่างหนึ่ง การกล่าวว่า แม้ธรรมทั้งปวง ชื่อว่าธรรมอย่างหนึ่งก็ควร เพราะอรรถว่าให้เกิดอมตธรรมขึ้นได้.
               บทว่า นิธิมุขํ คเวสนฺโต ได้แก่ แสวงหาขุมทรัพย์.
               บทว่า สกิเทว ได้แก่ ด้วยความพยายามครั้งเดียวเท่านั้น.
               ถามว่า ก็การพบขุมทรัพย์ ๑๑ ขุม ด้วยความพยายามครั้งเดียวเท่านั้นเป็นอย่างไร.
               ตอบว่า บุคคลบางคนในโลกนี้เที่ยวไปในป่าแสวงหาเครื่องดำเนินชีวิต บุคคลผู้หวังดีคนหนึ่งเห็นเขาแล้ว ถามว่า ท่านผู้เจริญ เที่ยวไปทำไม? เขาตอบว่า แสวงหาเครื่องดำเนินชีวิต ผู้หวังดีนั้นกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านจงมานี่ ท่านจงพลิกหินแผ่นนี้ขึ้น เขาพลิกหินแผ่นนั้นขึ้นแล้วก็พบหม้อทรัพย์ ๑๑ หม้อที่วางซ้อนกันหรือวางเรียงกัน. อย่างนี้ ชื่อว่าพบขุมทรัพย์ ๑๑ ขุมด้วยความพยายามครั้งเดียวเท่านั้น.
               บทว่า อาจริยธนํ ปริเยสิสฺสนฺติ ความว่า จริงอยู่ อัญญเดียรถีย์เรียนศิลปะในสำนักอาจารย์ผู้ใด ย่อมนำทรัพย์ออกจากเรือนมาให้อาจารย์นั้นก่อนหรือภายหลัง หรือระหว่างเรียนศิลปะ. เดียรถีย์ที่ไม่มีทรัพย์ในเรือน ก็ย่อมแสวงหาจากญาติหรือจากสหายให้ แม้เมื่อคนเหล่านั้นไม่มี ย่อมแสวงหาจากผู้ที่ชอบพอกันของชนเหล่านั้น เมื่อไม่ได้อย่างนี้ ย่อมเที่ยวขอเขาให้ก็มี. ทสมคฤหบดีกล่าวหมายเอาข้อนั้น จึงกล่าวคำนี้.
               บทว่า กึ ปนาหํ ความว่า ทสมคฤหบดีกล่าวว่า ก่อนอื่นพวกอัญญเดียรถีย์นอกศาสนาแสวงหาทรัพย์ เพื่ออาจารย์ผู้ให้เพียงศิลปะในศาสนาที่แม้อันไม่นำสัตว์ออกจากทุกข์ แต่เราจักไม่กระทำการบูชาแก่อาจารย์ผู้แสดงข้อปฏิบัติอันให้เกิดอมตะ ๑๑ ประการ ในศาสนาอันนำสัตว์ออกจากทุกข์มีประการอย่างนั้นหรือว่าจักกระทำเล่า.
               บทว่า ปจฺเจกทุสฺสยุเคน อจฺฉาเทสิ ความว่า ทสมคฤหบดีได้ถวายคู่ผ้าแก่ภิกษุรูปละ ๑ คู่.
               ก็ในเรื่องนี้ คำที่พูดขึ้นย่อมเป็นเช่นนี้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อจฺฉาเทสิ.
               บทว่า ปญฺจสตํ วิหารํ ความว่า ให้สร้างบรรณศาลามีราคา ๕๐๐ กหาปณะ.

               จบอรรถกถาทสมสูตรที่ ๖               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ทุติยวรรคที่ ๒ ๖. ทสมสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 24 / 1อ่านอรรถกถา 24 / 222อรรถกถา เล่มที่ 24 ข้อ 223อ่านอรรถกถา 24 / 224อ่านอรรถกถา 24 / 229
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=24&A=8310&Z=8451
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=8642
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=8642
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :