ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 24 / 1อ่านอรรถกถา 24 / 47อรรถกถา เล่มที่ 24 ข้อ 48อ่านอรรถกถา 24 / 49อ่านอรรถกถา 24 / 229
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ อักโกสวรรคที่ ๕
๘. อภิณหปัจจเวกขณธรรมสูตร

               อรรถกถาอภิณหปัจจเวกขณธรรมสูตรที่ ๘               
               อภิณหปัจจเวกขณธรรมสูตรที่ ๘ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า ปพฺพชิเตน ได้แก่ ผู้ละฆราวาส การครองเรือนเข้าถึงการบวชในพระศาสนา.
               บทว่า อภิณฺหํ แปลว่า เนืองๆ บ่อยๆ.
               บทว่า ปจฺจเวกฺขิตพฺพา แปลว่า พึงสำรวจดู พึงกำหนดคู.
               บทว่า เววณฺณิยํ แปลว่า ความมีเพศต่าง ความมีรูปต่างๆ ก็ความมีเพศต่างนั้นมี ๒ อย่าง คือ ความมีเพศต่างโดยสรีระ ๑ ความมีเพศต่างโดยบริวาร ๑.
               บรรดาความมีเพศต่าง ๒ อย่างนั้น ความมีเพศต่างโดยสรีระ พึงทราบได้ด้วยการปลงผมและหนวด. ก็ก่อนบวช แม้นุ่งผ้าก็ต้องใช้ผ้าดีเนื้อละเอียด ย้อมสีต่างๆ แม้บริโภคก็ต้องกินรสอร่อยต่างๆ ใส่ภาชนะทองและเงิน แม้นอนนั่งก็ต้องที่นอนที่นั่งอย่างดีในห้องสง่างาม แม้ประกอบยาก็ต้องใช้เนยใส เนยข้นเป็นต้น ตั้งแต่บวชแล้ว จำต้องนุ่งผ้าขาด ผ้าปะ ผ้าย้อมน้ำฝาด จำต้องฉันแต่ข้าวคลุกในบาตรเหล็กหรือบาตรดิน จำต้องนอนแต่บนเตียงลาดด้วยหญ้าเป็นต้น ในเสนาสนะมีโคนไม้เป็นอาทิ จำต้องนั่งบนท่อนหนังและเสื่อลำแพนเป็นต้น จำต้องประกอบยาด้วยน้ำมูตรเน่าเป็นต้น.
               พึงทราบความมีเพศต่างโดยบริขารในข้อนี้ ด้วยประการฉะนี้. ก็บรรพชิตพิจารณาอยู่อย่างนี้ ย่อมละโกปะ ความขัดใจ และมานะ ความถือตัวเสียได้.
               บทว่า ปรปฏิพทฺธา เม ชีวิกา ความว่า บรรพชิตพึงพิจารณาอย่างนี้ว่า ความเป็นอยู่ด้วยปัจจัย ๔ จำต้องเกี่ยวเนื่องในผู้อื่น อิริยาบถก็สมควร อาชีวะการเลี้ยงชีพก็บริสุทธิ์ ทั้งเป็นอันเคารพยำเกรงบิณฑบาต ชื่อว่าเป็นผู้บริโภคไม่พิจารณาในปัจจัย ๔ ก็หามิได้.
               บทว่า อญฺโญ เม อากกฺโป กรณีโย ความว่า บรรพชิตพึงพิจารณาว่า อากัปกิริยาเดินอันใดของเหล่าคฤหัสถ์ คือย่างก้าวไม่กำหนด โดยอาการยืดอกคอตั้งอย่างสง่างาม เราพึงทำอากัปกิริยาต่างไปจากอากัปกิริยาของคฤหัสถ์นั้น เราพึงมีอินทรีย์สงบมีใจสงบ มองชั่วแอก ย่างก้าวกำหนดแต่น้อย [ไม่ย่างก้าวยาว] พึงเดินไปเหมือนนำเกวียนบรรทุกน้ำไปในที่ขรุขระ. ด้วยว่า บรรพชิตพิจารณาอยู่อย่างนี้ ย่อมมีอากัปกิริยาสมควร สิกขา ๓ ย่อมบริบูรณ์.
               ศัพท์ว่า กจฺจิ นุ โข รวมนิบาตลงในความกำหนด.
               บทว่า อตฺตา ได้แก่ จิต.
               บทว่า สีลโต น อุปวทติ ได้แก่ ไม่ตำหนิตนเองเพราะศีลเป็นปัจจัยอย่างนี้ว่าศีลของเราไม่บริบูรณ์. ด้วยว่า บรรพชิตพิจารณาอยู่อย่างนี้ ย่อมตั้งหิริความละอายขึ้นภายใน. หิรินั้นก็ให้สำเร็จความสำรวมในทวารทั้ง ๓. ความสำรวมในทวารทั้ง ๓ ย่อมเป็นจตุปาริสุทธิศีล บรรพชิตผู้ตั้งอยู่ในจตุปาริสุทธิศีล เจริญวิปัสสนาแล้ว ย่อมยึดพระอรหัตไว้ได้.
               บทว่า อนุวิจฺจ วิญฺญู สพฺรหฺมจารี ความว่า เหล่าสพรหมจารีผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกับผู้เป็นบัณฑิต พิจารณาใคร่ครวญแล้ว. ด้วยว่า บรรพชิตพิจารณาอยู่อย่างนี้ โอตตัปปะ ความเกรงกลัวบาปภายนอก ย่อมตั้งขึ้น. โอตตัปปะนั้นย่อมให้สำเร็จความสำรวมในทวารทั้ง ๓. ดังนั้น จึงควรทราบโดยนัยในลำดับถัดมานั้นแล.
               บทว่า นานาภาโว วินาภาโว ความว่า ความเป็นต่างๆ เพราะเกิดมา ความพลัดพราก เพราะมรณะ. ด้วยว่า บรรพชิตพิจารณาอยู่อย่างนี้ ชื่อว่าไม่มีอาการคือประมาทในทวารทั้ง ๓. มรณัสสติ ความระลึกถึงความตาย ก็เป็นอันตั้งลงด้วยดี.
               ในบทว่า กมฺมสฺสโกมฺหิ เป็นต้น พึงทราบวินิจฉัยดังนี้.
               กรรมเป็นของเรา คือเป็นสมบัติของตน เหตุนั้น เราจึงเป็นผู้มีกรรมเป็นของของเรา. ผลที่กรรมพึงให้ ชื่อว่าผลทายะ ผลแห่งกรรม ชื่อว่ากรรมทายะ ผลแห่งกรรม เราย่อมรับผลแห่งกรรมนั้น เหตุนั้น เราจึงเป็นผู้รับผลแห่งกรรม.
               กรรมเป็นกำเนิด คือเหตุของเรา เหตุนั้น เราจึงเป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด. กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ เป็นญาติของเรา เหตุนั้น เราจึงเป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์. กรรมเป็นที่พึ่งอาศัยของเรา เหตุนั้น เราจึงเป็นผู้มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย.
               บทว่า ตสฺส ทายาโท ภวิสฺสามิ ได้แก่ เราจักเป็นทายาท คือเป็นผู้รับผลที่กรรมนั้นให้แล้ว. ด้วยว่า บรรพชิตพิจารณาถึงความที่เรามีกรรมเป็นของของตนอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่ชื่อว่ากระทำบาป.
               บทว่า กถมฺภูตสฺส เม รตฺตินฺทิวา วีติปตนฺติ ความว่า คืนวันล่วงไป เปลี่ยนแปลงไป เราเป็นอย่างไร คือเรากำลังทำวัตรปฏิบัติอยู่หรือๆ ว่าไม่ทำ ท่องบ่นพระพุทธวจนะอยู่หรือๆ ว่าไม่ท่องบ่น กำลังทำกิจกรรมในโยนิโสมนสการอยู่หรือๆ ว่าไม่ทำ. ด้วยว่า บรรพชิตพิจารณาอยู่อย่างนี้ ความไม่ประมาทย่อมบริบูรณ์.
               บทว่า สุญฺญาคาเร อภิรมามิ ความว่า เราแต่ผู้เดียวอยู่ในทุกอิริยาบถ ในโอกาสอันสงัด ยังยินดียิ่งอยู่หรือหนอ. ด้วยว่า บรรพชิตพิจารณาอยู่อย่างนี้ กายวิเวกย่อมบริบูรณ์.
               บทว่า อุตฺตริมนุสฺสธมฺมา ความว่า ธรรมทั้งหลายมีฌานเป็นต้นของท่านผู้ได้ฌาน และพระอริยะผู้เป็นมนุษย์ที่ยิ่ง เป็นมนุษย์ชั้นอุกฤษฏ์หรือธรรมทั้งหลายที่ยิ่งยวดที่ประเสริฐกว่ามนุษยธรรมกล่าวคือกุศลกรรมบถ ๑๐ มีอยู่ คือเป็นอยู่ในสันดานของเราหรือ.
               บทว่า อลมริยญาณทสฺสนวิเสโส ความว่า ชื่อว่าญาณ เพราะอรรถว่าให้เกิดมหัคตปัญญาและโลกุตรปัญญา. ชื่อว่าทัสสนะ เพราะอรรถว่าเห็นธรรมโดยทำให้ประจักษ์เหมือนดังเห็นด้วยจักษุ เหตุนั้น จึงชื่อว่าญาณทัสสนะ.
               ญาณทัสสนะอันเป็นอริยะ คือบริสุทธิ์สูงสุด เหตุนั้น จึงชื่อว่าอริยญาณทัสสนะ. อริยญาณทัสสนะอันอาจคือเป็นอริยะสามารถกำจัดกิเลส มีอยู่ในธรรมนั้น หรือแก่ธรรมนั้น เหตุนั้น ธรรมนั้นจึงชื่อว่าอลมริยญาณทัสสนะ ได้แก่ธรรมของมนุษย์ผู้ยิ่ง ต่างโดยฌานเป็นต้น.
               อลมริยญาณทัสสนะนั้นด้วย วิเศษด้วย เหตุนั้น จึงชื่อว่าอลมริยญาณทัสสนวิเสส.
               อีกนัยหนึ่ง คุณวิเศษ คือญาณทัสสนะอันบริสุทธิ์ สามารถกำจัดกิเลสได้นั้นนั่นเอง เหตุนั้น จึงชื่อว่าอลมริยญาณทัสสนวิเสส ก็ได้.
               บทว่า อธิคโต ได้แก่ ความวิเศษที่เราได้ไว้แล้วมีอยู่หรือหนอ.
               บทว่า โสหํ ได้แก่ เรานั้นมีคุณวิเศษอันได้ไว้แล้ว.
               บทว่า ปจฺฉิเม กาเล ได้แก่ ในเวลานอนบนเตียงสำหรับตาย.
               บทว่า ปุฎฺโฐ ได้แก่ ถูกเพื่อนสพรหมจารีถามถึงคุณวิเศษที่บรรลุ.
               บทว่า น มงฺกุ ภวิสฺสามิ ได้แก่ เราจักไม่เป็นผู้คอตก หมดอำนาจ.
               ด้วยว่า บรรพชิตพิจารณาอย่างนี้ ย่อมไม่ชื่อว่าตายเปล่า.

               จบอรรถกถาอภิณปัจจเวกขณธรรมสูตรที่ ๘               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ อักโกสวรรคที่ ๕ ๘. อภิณหปัจจเวกขณธรรมสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 24 / 1อ่านอรรถกถา 24 / 47อรรถกถา เล่มที่ 24 ข้อ 48อ่านอรรถกถา 24 / 49อ่านอรรถกถา 24 / 229
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=24&A=2110&Z=2128
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=7831
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=7831
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :