ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 12อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 13อ่านอรรถกถา 25 / 14อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท จิตตวรรคที่ ๓

หน้าต่างที่ ๗ / ๙.

               ๗. เรื่องพระปูติคัตตติสสเถระ [๓๐]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ทรงปรารภพระเถระชื่อว่าปูติคัตตติสสเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า “อจิรํ วตยํ กาโย” เป็นต้น.

               พระเถระกายเน่า               
               ได้ยินว่า กุลบุตรชาวกรุงสาวัตถีผู้หนึ่ง ฟังธรรมกถาในสำนักของพระศาสดา ถวายชีวิตในพระศาสนา ได้บรรพชาอุปสมบทแล้ว ได้ชื่อว่าพระติสสเถระ. เมื่อกาลล่วงไปๆ โรคเกิดขึ้นในสรีระของท่าน ต่อมทั้งหลายประมาณเท่าเมล็ดผักกาดผุดขึ้น. มัน (โตขึ้น) โดยลำดับ ประมาณเท่าเมล็ดถั่วเขียว ประมาณเท่าเมล็ดถั่วดำ ประมาณเท่าเมล็ดกระเบา ประมาณเท่าผลมะขามป้อม ประมาณเท่าผลมะตูม แตกแล้ว. สรีระทั้งสิ้นได้เป็นช่องเล็กช่องน้อย ชื่อของท่านเกิดขึ้นแล้วว่า พระปูติคัตตติสสเถระ (พระติสสเถระผู้มีกายเน่า).
               ต่อมา ในกาลเป็นส่วนอื่น กระดูกของท่านแตกแล้ว. ท่านได้เป็นผู้ที่ใครๆ ปฏิบัติไม่ได้. ผ้านุ่งและผ้าห่มเปื้อนด้วยหนองและเลือด ได้เป็นเช่นกับขนมร่างแห. พวกภิกษุมีสัทธิวิหาริกเป็นต้นไม่อาจจะปฏิบัติได้ (จึงพากัน) ทอดทิ้งแล้ว. ท่านเป็นผู้ไม่มีที่ พึ่งนอน (แซ่ว) แล้ว.

               พระพุทธเจ้าทรงพยาบาลและทรงแสดงธรรม               
               ก็ธรรมดาว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่ทรงละการตรวจดูโลกสิ้น ๒ วาระ (คือ) ในกาลใกล้รุ่ง เมื่อทรงตรวจดูโลก ทรงตรวจดูจำเดิมแต่ขอบปากแห่งจักรวาล ทำพระญาณให้มุ่งต่อพระคันธกุฎี, เมื่อทรงตรวจดูเวลาเย็น ทรงตรวจดูจำเดิมแต่พระคันธกุฎี ทำพระญาณให้มุ่งต่อที่ (ออกไป) ภายนอก.
               ก็ในสมัยนั้น พระปูติคัตตติสสเถระปรากฏแล้วภายในข่าย คือพระญาณของพระผู้มีพระภาคเจ้า. พระศาสดาทรงเห็นอุปนิสัยแห่งพระอรหัตของติสสภิกษุ ทรงดำริว่า “ภิกษุนี้ถูกพวกสัทธิวิหาริกเป็นต้นทอดทิ้งแล้ว, บัดนี้ เธอยกเว้นเราเสีย ก็ไม่มีที่พึ่งอื่น” ดังนี้แล้ว จึงเสด็จออกจากพระคันธกุฎี เหมือนเสด็จเที่ยวจาริกในวิหาร เสด็จไปสู่โรงไฟ ทรงล้างหม้อ ใส่น้ำ ยกตั้งบนเตา เมื่อทรงรอให้น้ำร้อน ได้ประทับยืนในโรงไฟนั่นเอง, ทรงรู้ความที่น้ำร้อนแล้ว เสด็จไปจับปลายเตียงที่ติสสภิกษุนอน.
               ในกาลนั้น พวกภิกษุกราบทูลว่า “ขอพระองค์จงเสด็จหลีกไป พระเจ้าข้า พวกข้าพระองค์จักยก๑- (เอง) แล้ว (ช่วยกัน) ยกเตียง นำไปสู่โรงไฟ.
____________________________
๑- สำนวนภาษามคธใช้ คหธาตุ.

               พระศาสดาทรงให้นำรางมา ทรงเทน้ำร้อน (ใส่) แล้ว ทรงสั่งภิกษุเหล่านั้นให้ (เปลื้อง) เอาผ้าห่มของเธอ ให้ขยำด้วยน้ำร้อน แล้วให้ผึ่งแดด.
               ลำดับนั้น พระศาสดาประทับยืนอยู่ในที่ใกล้ของเธอ ทรงรดสรีระนั้นให้ชุ่มด้วยน้ำอุ่น ทรงถูสรีระของเธอ ให้เธออาบแล้ว. ในที่สุดแห่งการอาบของเธอ, ผ้าห่มนั้นแห้งแล้ว.
               ทีนั้น พระศาสดาทรงช่วยเธอให้นุ่งผ้าห่มนั้น ทรงให้ขยำผ้ากาสาวะที่เธอนุ่งด้วยน้ำ แล้วให้ผึ่งแดด. ทีนั้น เมื่อน้ำที่กายของเธอพอขาด (คือแห้ง) ผ้านุ่งนั้นก็แห้ง. เธอนุ่งผ้ากาสาวะผืนหนึ่ง ห่มผ้ากาสาวะผืนหนึ่ง เป็นผู้มีสรีระเบา มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง นอนบนเตียงแล้ว.
               พระศาสดาประทับยืน ณ ที่เหนือศีรษะของเธอ ตรัสว่า “ภิกษุ กายของเธอนี้ มีวิญญาณไปปราศแล้ว หาอุปการะมิได้ จักนอนบนแผ่นดิน เหมือนท่อนไม้”
               ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า
                         ๗. อจิรํ วตยํ กาโย                ปฐวึ อธิเสสฺสติ
                         ฉุฑฺโฑ อเปตวิญฺญาโณ นิรตฺถํว กลิงฺครํ
                                        ไม่นานหนอ กายนี้จักนอนทับแผ่นดิน.
                         กายนี้มีวิญญาณไปปราศ อันบุคคลทิ้งแล้ว, ราวกับ
                         ท่อนไม้ไม่มีประโยชน์ฉะนั้น.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อจิรํ วต เป็นต้น ความว่า ภิกษุต่อกาลไม่นานเลย กายนี้จักนอนทับแผ่นดิน คือจักนอนเบื้องบนแห่งแผ่นดินที่สัตว์นอนแล้วด้วยการนอนปกตินี้.
               ด้วยบทว่า ฉุฑฺโฑ พระศาสดาทรงแสดงเนื้อความว่า “กายนี้ จักเป็นของชื่อว่าเปล่า เพราะความมีวิญญาณไปปราศ ถูกทอดทิ้งแล้วนอน.”
               เหมือนอะไร?
               เหมือนท่อนไม้ ไม่มีประโยชน์.
               อธิบายว่า เหมือนท่อนไม้อันไร้อุปการะ ไม่มีประโยชน์,
               จริงอยู่ พวกมนุษย์ผู้มีความต้องการด้วยทัพสัมภาระ เข้าไปสู่ป่าแล้ว ตัดไม้ตรงโดยสัณฐานแห่งไม้ตรง ไม้คดโดยสัณฐานแห่งไม้คด ถือเอา (เป็น) ทัพสัมภาระ, แต่ตัดไม้เป็นโพรง ไม้ผุ ไม้ไม่มีแก่น ไม้เกิดเป็นตะปุ่มตะป่ำที่เหลือ ทิ้งไว้ในป่านั้นนั่นเอง มนุษย์พวกอื่นผู้มีความต้องการด้วยทัพสัมภาระมาแล้ว ชื่อว่าหวังถือเอาชิ้นไม้ที่ถูกทิ้งไว้นั้น ย่อมไม่มี,
               มนุษย์เหล่านั้นแลดูไม้นั้นแล้ว ย่อมถือเอาไม้ที่เป็นอุปการะแก่ตนเท่านั้น; ไม้นอกนี้ ย่อมเป็นไม้ถมแผ่นดิน๑- อย่างเดียว, ก็ไม้นั้นพึงเป็นไม้แม้ที่ใครๆ อาจจะทำเชิงรองเตียงหรือเขียงเท้า หรือว่าตั่งแผ่นกระดานด้วยอุบายนั้นๆ ได้;
               ส่วนว่า บรรดาส่วน ๓๒ ในอัตภาพนี้ แม้ส่วนหนึ่ง ชื่อว่าเข้าถึงความเป็นของที่จะพึงถือเอาได้ ด้วยสามารถแห่งอุปกรณ์วัตถุมีเชิงรองเตียงเป็นต้น หรือด้วยมุขเป็นอุปการะอย่างอื่น ย่อมไม่มี กายนี้มีวิญญาณไปปราศแล้ว ต่อวันเล็กน้อยเท่านั้น ก็จักต้องนอนเหนือแผ่นดิน เหมือนท่อนไม้ไม่มีประโยชน์ฉะนั้น ดังนี้แล.
____________________________
๑- ปฐวีคตํ.

               พระปูติคัตตติสสเถระนิพพาน               
               ในเวลาจบเทศนา พระปูติคัตตติสสเถระบรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาแล้ว. แม้ชนอื่นเป็นอันมากก็ได้เป็นพระอริยบุคคลมีพระโสดาบันเป็นต้น. ฝ่ายพระเถระบรรลุพระอรหัตแล้วก็ปรินิพพาน. พระศาสดาโปรดให้ทำสรีรกิจของท่าน ทรงเก็บ (อัฐิ) ธาตุ แล้วโปรดให้ทำเจดีย์ไว้.
               พวกภิกษุกราบทูลถามพระศาสดาว่า “พระเจ้าข้า พระปูติคัตตติสสเถระบังเกิดในที่ไหน?”
               พระศาสดา. เธอปรินิพพานแล้ว ภิกษุทั้งหลาย.
               พวกภิกษุ. พระเจ้าข้า กายของภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยแห่งพระอรหัตเห็นปานนั้น
                         เกิดเป็นกายเน่า เพราะเหตุอะไร?
                         กระดูกทั้งหลายแตกแล้ว เพราะเหตุอะไร?
                         อะไรเป็นเหตุถึงความเป็นอุปนิสัยแห่งพระอรหัตของท่านเล่า?
               พระศาสดา. ภิกษุทั้งหลาย ผลนี้ทั้งหมดเกิดแล้วแก่ติสสะนั่น ก็เพราะกรรมที่ตัวทำไว้.
               พวกภิกษุ. ก็กรรมอะไร? ที่ท่านทำไว้ พระเจ้าข้า.
               พระศาสดาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้ากระนั้น พวกเธอจงฟัง” ดังนี้แล้ว
               ทรงนำอดีตนิทานมา (ตรัสดังต่อไปนี้) :-

               บุรพกรรมของพระติสสะ               
               ติสสะนี้เป็นพรานนก ในกาลแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ ฆ่านกเป็นอันมากบำรุงอิสรชน, ขายนกที่เหลือจากนกที่ให้แก่อิสรชนเหล่านั้น. คิดว่า “นกที่เหลือจากขาย อันเราฆ่าเก็บไว้ จักเน่าเสีย” จึงหักกระดูกแข้งและกระดูกปีกของนกเหล่านั้น ทำอย่างที่มันไม่อาจบินหนีไปได้ แล้วกองไว้. เขาขายนกเหล่านั้นในวันรุ่งขึ้น, ในเวลาที่ได้นกมามากมาย ก็ให้ปิ้งไว้ เพื่อประโยชน์แห่งตน.
               วันหนึ่ง เมื่อโภชนะมีรสของเขาสุกแล้ว พระขีณาสพองค์หนึ่งเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาต ได้ยืนอยู่ที่ประตูเรือนของเขา เขาเห็นพระเถระแล้ว ยังจิตให้เลื่อมใส คิดว่า
               “สัตว์มีชีวิตมากมายถูกเราฆ่าตาย, ก็พระผู้เป็นเจ้ายืนอยู่ที่ประตูเรือนของเรา และโภชนะอันมีรสก็มีอยู่พร้อมภายในเรือน, เราจะถวายบิณฑบาตแก่ท่าน”
               ดังนี้แล้ว จึงรับบาตรของพระขีณาสพนั้น ใส่โภชนะอันมีรสนั้นให้เต็มบาตรแล้ว ถวายบิณฑบาตอันมีรส แล้วไหว้พระเถระด้วยเบญจางคประดิษฐ์ กล่าวว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าพึงถึงที่สุดแห่งธรรมที่ท่านเห็นเถิด.”
               พระเถระได้ทำอนุโมทนาว่า “จงเป็นอย่างนั้น.”

               ประมวลผลกรรม               
               ภิกษุทั้งหลาย ผล (ทั้งหมด) นั่นสำเร็จแล้วแก่ติสสะ ด้วยอำนาจแห่งกรรมที่ติสสะทำแล้วในกาลนั้นนั่นเอง;
               กายของติสสะเกิดเน่าเปื่อย, และกระดูกทั้งหลายแตกก็ด้วยผลของการทุบกระดูกนกทั้งหลาย;
               ติสสะบรรลุพระอรหัต ก็ด้วยผลของการถวายบิณฑบาตอันมีรสแก่พระขีณาสพ ดังนี้แล.

               เรื่องพระปูติคัตตติสสเถระ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท จิตตวรรคที่ ๓
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 12อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 13อ่านอรรถกถา 25 / 14อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=366&Z=394
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=19&A=2399
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=19&A=2399
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๙  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :