ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 136อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 139อ่านอรรถกถา 25 / 141อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน ชัจจันธวรรคที่ ๖ กิรสูตรที่ ๒

               อรรถกถาทุติยกิรสูตร               
               ทุติยกิรสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า สสฺสโต อตฺตา จ โลโก จ ความว่า
               ชนแม้เหล่าอื่นยึดถือรูปารมณ์เป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ว่าเป็นอัตตา และว่าเป็นโลกแล้ว ยึดถือรูปารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งว่าเที่ยง ยั่งยืน กล่าวเหมือนอย่างนั้น.
               เหมือนอย่างที่กล่าวไว้ว่า ชนทั้งหลายย่อมบัญญัติรูปให้เป็นอัตตาและโลกว่าเป็นอัตตา เป็นโลก และเที่ยง บัญญัติเวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณให้เป็นอัตตา และโลกว่าเป็นอัตตา เป็นโลก และเที่ยง.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อตฺตา ได้แก่ วัตถุที่ถือว่าเป็นเรา. บทว่า โลโก ได้แก่ วัตถุที่ถือว่าเป็นของเรา ท่านกล่าวว่า มีในตน. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อตฺตา ได้แก่ ตนเอง. บทว่า โลโก ได้แก่ ผู้อื่น. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อตฺตา ได้แก่ ขันธ์ ๑ ในบรรดาอุปาทานขันธ์ ๕ ขันธ์นอกนั้น ได้แก่โลก. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อตฺตา ได้แก่ ขันธสันดานที่มีวิญญาณครองที่ไม่มีวิญญาณครอง ได้แก่ โลก.
               ชนทั้งหลายถือรูปเป็นต้นนั้นๆ เป็น ๒ ประการตามทัสสนะว่าเป็นอัตตา และว่าเป็นโลก อย่างนี้แล้วยึดถือเอาทั้งอัตตาและโลกนั้นกล่าวว่าเที่ยง ยั่งยืน แน่นอน. ด้วยคำนี้ ท่านแสดงสัสสตวาทะ ๔.
               ด้วยคำว่า อสสฺสโต นี้ แสดงอุจเฉทวาทะแม้ทั้ง ๗.
               บทว่า สสฺสโต จ อสสฺสโต จ อธิบายว่า ที่ชื่อว่าเที่ยง เพราะอัตตาและโลกบางอย่างเที่ยง ที่ชื่อว่าไม่เที่ยง เพราะอัตตาและโลกบางอย่างไม่เที่ยง.
               อีกอย่างหนึ่ง อัตตาและโลกนั้นแหละ. บางคราวเที่ยง บางคราวไม่เที่ยง เหมือนของคนผู้เห็นตนเป็นคติ พึงทราบความในข้อนี้อย่างนี้ว่า สสฺสโต เที่ยง.
               ด้วยบทว่า สสฺสโต นี้ ท่านแสดงถึงวาทะว่าเที่ยงเป็นบางอย่างแม้โดยประการทั้งปวง.
               ด้วยบทว่า เนว สสฺสโต นาสสฺสโต นี้ ท่านแสดงถึงวาทะที่ดิ้นได้ไม่ตายตัว. ก็ชนเหล่านั้นเห็นโทษในสัสสตวาทะ และอสัสสตวาทะ กล่าวซัดซ่ายไปว่า อัตตาและโลกเที่ยงก็หามิได้ ไม่เที่ยงก็หามิได้.
               บทว่า สยํกโต แปลว่า ตนเองสร้างขึ้น. เหมือนอย่างว่าอัตตาของเหล่าสัตว์นั้นๆ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมของตน แล้วเสวยสุขทุกข์ฉันใด อัตตาแลก็ฉันนั้น ย่อมกระทำอัตตาและโลก กล่าวคือความกังวลและความพัวพัน ให้เป็นเครื่องอุปโภคของอัตตานั้น ชนเหล่านั้นมีลัทธิแม้อันนี้ เหมือนลัทธิอัตตาว่า เนรมิตขึ้น.
               บทว่า ปรํกโต แปลว่า คนอื่นสร้างขึ้น อธิบายว่า คนอื่นนอกจากตน จะเป็นอิสรชน บุรุษหรือสตรีก็ตาม สร้าง คือเนรมิตอัตตาและโลกตามกาลหรือตามปกติ.
               บทว่า สยํกโต จ ปรํกโต จ ความว่า เพราะเหตุที่อิสรชนเป็นต้น เมื่อเนรมิตอัตตาและโลก จะเนรมิตด้วยตนเองอย่างเดียวเท่านั้นก็หามิได้ โดยที่แท้ ต้องได้เหตุผู้ทำร่วมกันของธรรมและอธรรม แห่งเหล่าสัตว์นั้นๆ ฉะนั้น สัตว์บางพวกจึงมีลัทธิดังนี้ว่า อัตตาและโลก ตนเองสร้างขึ้นและคนอื่นสร้างขึ้น.
               บทว่า อสยํกาโร อปรํกาโร ความว่า ชื่อว่าอสยังการ เพราะตนเองไม่ได้สร้าง ชื่อว่าอปรังการ เพราะคนอื่นไม่ได้สร้าง. เพราะลงนิคหิตอาคม จึงกล่าวว่า อปรํกาโร. ผู้นี้เห็นโทษในข้อที่ตนและคนอื่นสร้าง จึงปฏิเสธทั้งสองอย่าง. เพื่อจะหลีกเลี่ยงคำถามที่ว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น อัตตาและโลกเกิดขึ้นได้อย่างไร จึงกล่าวเฉลยว่า อธิจฺจสมุปฺปนฺโน เกิดขึ้นลอยๆ. ท่านแสดงอธิจจสมุปปันนวาทะว่า เกิดขึ้นตามความปรารถนา คือเกิดขึ้นโดยเว้นเหตุบางอย่าง. ก็ด้วยคำนั้น เป็นอันสงเคราะห์เหตุกวาทะเข้าด้วย.
               บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงวาทะนั้นของคนผู้มีทิฏฐิเป็นคติ กล่าวยึดถือสุขและทุกข์อันเป็นคุณ หรือเป็นเครื่องกังวลของอัตตานั้น โดยเป็นของเที่ยงเป็นต้น เหมือนกล่าวยึดถืออัตตา จึงตรัสคำมีอาทิว่า สนฺเตเก สมณพฺรหฺมณา. คำนั้นมีนัยดังกล่าวแล้วแล.
               ก็ในบทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา นี้ เพราะการเปรียบด้วยคนตาบอดแต่กำเนิด ไม่มาในพระสูตรนี้ จึงละความนั้นแล้วประกอบความโดยนัยที่กล่าวในหนหลังแล. ในคาถาก็เหมือนกัน.
               ในพระคาถานั้นมีความแปลกกันเพียงเท่านี้ว่า ยังไม่ถึงพระนิพพานอันเป็นที่หยั่งลง ย่อมจมลงในระหว่างเทียว.
               คำนั้นมีอธิบายดังต่อไปนี้
               ทิฏฐิคติกบุคคลทั้งหลายข้องอยู่ในทิฏฐิ คือทิฏฐินิสัย ยังไม่ถึงคือยังไม่บรรลุพระนิพพาน กล่าวคือเป็นที่หยั่งลง หรืออริยมรรคอันเป็นอุบายเครื่องบรรลุพระนิพพานนั้น เพราะเป็นฝั่ง หรือเป็นที่พึ่งของทิฏฐิคติกบุคคลเหล่านั้นจึงจม คือหมกอยู่ในระหว่าง คือในท่ามกลางโอฆะ ๔ มีกาโมฆะเป็นต้น หรือห้วงน้ำใหญ่ คือสงสารนั่นแหละ.
               อริยมรรคและพระนิพพาน ชื่อว่าธรรมเป็นเครื่องหยั่งลง เพราะเป็นเครื่องหยั่งลงหรือเป็นที่ตั้งอาศัย. ในที่นี้ เพราะรัสสะ โอคาธํ นั่นแล จึงกล่าวว่า โอคธํ. มีการแยกบทว่า ตํ โอคธํ เป็น ตโมคธํ.

               จบอรรถกถาทุติยกิรสูตรที่ ๕               
               -----------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน ชัจจันธวรรคที่ ๖ กิรสูตรที่ ๒ จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 136อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 139อ่านอรรถกถา 25 / 141อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=3584&Z=3636
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=26&A=8264
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=26&A=8264
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๙  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :