ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 194อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 195อ่านอรรถกถา 25 / 196อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ เอกนิบาต
ทุติยวรรค เสขสูตรที่ ๒

               อรรถกถาทุติยเสขสูตร               
               ในทุติยเสขสูตรที่ ๗ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า พาหิรํ ได้แก่ เหตุที่มี ณ ภายนอก จากสันดานในภายใน.
               บทว่า กลฺยาณมิตฺตตา ได้แก่ บุคคลผู้ที่สมบูรณ์ด้วยคุณมีศีลเป็นต้น เป็นผู้กำจัดความชั่วร้าย เป็นผู้ส่งเสริมประโยชน์ เป็นมิตรมีอุปการะทุกสิ่งทุกอย่าง ชื่อว่าเป็นกัลยาณมิตร ความเป็นกัลยาณมิตรนั้นชื่อว่า กลฺยาณมิตฺตตา.
               ในบทว่า กลฺยาณมิตฺตตา นั้นมีอธิบายดังนี้
               ตามปกติ กัลยาณมิตรนี้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ วิริยะ สติ สมาธิและปัญญา กัลยาณมิตรเพราะถึงพร้อมด้วยศรัทธา ย่อมเชื่อการตรัสรู้ของพระตถาคต ย่อมไม่สละการแสวงหาประโยชน์สุขในสัตว์ทั้งหลายที่เกิดขึ้น เพราะเหตุการตรัสรู้ชอบนั้น เพราะถึงพร้อมด้วยศีล จึงย่อมเป็นที่รัก และเป็นที่เคารพของเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย เป็นผู้น่ายกย่อง คอยตักเตือน ตำหนิบาป คอยว่ากล่าว อดทนถ้อยคำ.
               เพราะถึงพร้อมด้วยสุตะ จึงเป็นผู้กล่าวถ้อยคำที่ลึกซึ้งมีขันธ์ อายตนะ สัจจะ ปฏิจจสมุปบาทเป็นต้น. เพราะถึงพร้อมด้วยจาคะ จึงเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย เป็นผู้สันโดษ มีความสงัด ไม่คลุกคลี. เพราะถึงพร้อมด้วยวิริยะ จึงเป็นผู้เพียรพยายามในการปฏิบัติประโยชน์แก่ตนและคนอื่น. เพราะถึงพร้อมด้วยสติ จึงเป็นผู้มีสติมั่น เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความรอบคอบ คือสติอย่างเยี่ยม เป็นผู้ระลึกได้ จำได้แม้สิ่งที่ทำ แม้คำที่พูดนานมาแล้ว. เพราะถึงพร้อมด้วยสมาธิ จึงเป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน เป็นผู้มั่นคงมีจิตแน่วแน่ และเพราะถึงพร้อมด้วยปัญญา จึงย่อมรู้สิ่งที่ไม่วิปริต.
               กัลยาณมิตรนั้นแสวงหาคติธรรมทั้งที่เป็นกุศล และอกุศลด้วยสติ รู้ประโยชน์สุขของสัตว์ทั้งหลายตามความเป็นจริงด้วยปัญญา เป็นผู้มีจิตไม่ฟุ้งซ่านในอารมณ์นั้นด้วยสมาธิ ปรามสัตว์ทั้งหลายจากสิ่งไม่เป็นประโยชน์ด้วยความเพียร ย่อมชักชวนในสิ่งที่มีประโยชน์อย่างเดียว ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
                         ปิโย ครุ ภาวนีโย    วตฺตา จ วจนกฺขโม
                         คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา    โน จฏฺฐาเน นิโยชเย
                                 กัลยาณมิตร เป็นผู้น่ารัก น่าเคารพ
                         น่ายกย่อง เป็นผู้ว่ากล่าวตักเตือน อดทน
                         ถ้อยคำ กล่าวถ้อยคำลึกซึ้ง ไม่ชักชวน
                         ในทางที่ไม่ใช่ฐานะ.๑-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นกัลยาณมิตรย่อมละอกุศล เจริญกุศล เพราะเหตุนั้น บุคคลผู้เป็นกัลยาณมิตร อาศัยภิกษุผู้เป็นกัลยาณมิตร ยังกัมมัสสกตาญาณให้เกิด ย่อมทำศรัทธาที่เกิดขึ้นแล้วให้คงที่ เกิดศรัทธาแล้วก็เข้าไปหา ครั้นเข้าไปหาแล้ว ย่อมฟังธรรม ครั้นฟังธรรมนั้นแล้ว ย่อมได้ศรัทธาในพระตถาคต ด้วยการได้ศรัทธานั้น จึงละการอยู่ครองเรือนออกบวช ทำปาริสุทธศีล ๔ ให้ถึงพร้อม สมาทานธุตธรรม (ธรรมอันกำจัดกิเลส) เป็นไปตามกำลัง เป็นผู้ได้กถาวัตถุ ๑๐ เป็นผู้ปรารภความเพียรอยู่ เข้าไปตั้งสติไว้ มีสัมปชัญญะ เจริญโพธิปักขิยธรรมตลอดคืนยังรุ่ง ในไม่ช้าทำวิปัสสนา ให้ตัดขาดอกุศลทั้งหมด ด้วยการบรรลุอริยมรรค และยังกุศลธรรมทั้งปวงให้เจริญถึงความบริบูรณ์ด้วยภาวนา.
____________________________
๑- องฺ. สตฺตก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๓๔

               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
               ดูก่อนเมฆิยะ ข้อที่ภิกษุผู้เป็นกัลยาณมิตร หวังดีต่อสหายดี เพื่อนดี จักเป็นผู้มีศีล จักเป็นผู้สำรวมในปาฏิโมกข์ จักเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร จักเป็นผู้เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย จักสมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย
               ข้อที่ภิกษุผู้เป็นกัลยาณมิตร ฯลฯ เพื่อนดี เป็นผู้มีถ้อยคำขัดเกลากิเลส ถ้อยคำเปิดใจอย่างสบาย จักเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว ฯลฯ เพื่อนิพพาน คือ
               ๑. อปฺปิจฺฉกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความปรารถนาน้อย
               ๒. สนฺตุฏฺฐิกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้สันโดษ
               ๓. ปวิเวกกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้สงัด
               ๔. อสํสคฺคกถา ถ้อยคำชักนำไม่ให้ระคนด้วยหมู่
               ๕. วิริยารมฺภกถา ถ้อยคำชักนำให้ปรารภความเพียร
               ๖. สีลกถา ถ้อยคำชักนำให้ตั้งอยู่ในศีล
               ๗. สมาธิกถา ถ้อยคำชักนำให้ทำใจให้สงบ
               ๘. ปญฺญากถา ถ้อยคำชักนำให้เกิดปัญญา
               ๙. วิมุตฺติกถา ถ้อยคำชักนำให้ทำใจให้พ้นจากกิเลส
               ๑๐. วิมุตฺติญาณทสฺสนกถา ถ้อยคำชักนำให้เกิดความรู้ความเห็นในการพ้นจากกิเลส
               ด้วยถ้อยคำเห็นปานนี้ ภิกษุจักได้โดยง่าย จักได้โดยไม่ยาก จักได้โดยไม่ลำบาก
               ข้อที่ภิกษุผู้เป็นกัลยาณมิตร ฯลฯ มีเพื่อนดี จักเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้เกิดกุศลธรรม เป็นผู้มีกำลังใจ มีความเพียรมั่นไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย
               ข้อที่ภิกษุผู้เป็นกัลยาณมิตร ฯลฯ มีเพื่อนดี จักเป็นผู้มีปัญญา จักเป็นผู้ประกอบด้วยอุทยัตถคามินีปัญญา (รู้ความเกิดและความเสื่อม) เพื่อให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ อันเป็นการตรัสรู้อย่างประเสริฐ.๒-
____________________________
๒- ขุ. อุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๘๘

               พึงทราบนิมิต คือการหลุดพ้นจากวัฏทุกข์ทั้งสิ้นว่า กลฺยาณมิตฺตตา อย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำมีอาทิว่า ดูก่อนอานนท์ สัตว์ทั้งหลายผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา มีความแก่เป็นธรรมดา ย่อมพ้นจากชาติชรา เพราะอาศัยเราผู้เป็นกัลยาณมิตร๓-
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นกัลยาณมิตรย่อมละอกุศล เจริญกุศล ดังนี้.
____________________________
๓- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๓๘๓

               พึงทราบความแห่งคาถาต่อไปนี้
               บทว่า สปฺปฏิสฺโส ชื่อว่า สปฺปฏิสฺโส เพราะเป็นไปกับด้วยความยำเกรง คือการรับฟัง เป็นผู้น้อมรับโอวาทของกัลยาณมิตร. อธิบายว่า เป็นผู้ว่าง่าย.
               อีกอย่างหนึ่ง ผู้ให้โอวาทชื่อปติสสะ เพราะปรารถนาให้เกิดประโยชน์สุข. ชื่อสัปปฏิสสะ เพราะเป็นไปกับด้วยความปรารถนานั้น ประกอบด้วยความเคารพและความเอื้อเฟื้อ มากด้วยความเคารพยำเกรงในครู.
               บทว่า สคารโว ได้แก่ ประกอบด้วยคารวธรรม ๖ อย่าง.
               บทว่า กรํ มิตฺตาน วจนํ ได้แก่ กระทำตามโอวาท คือปฏิบัติตามโอวาทของกัลยาณมิตรทั้งหลาย.
               บทว่า สมฺปชาโน ได้แก่ ประกอบด้วยสัมปชัญญะ ๗ อย่าง.
               บทว่า ปฏิสฺสโต ได้แก่ มีสติ คือทำอย่างมีสติ ด้วยสติอันสามารถให้เกิดความมั่นคงของกรรมฐานได้.
               บทว่า อนุปุพฺเพน ได้แก่ โดยลำดับแห่งศีลวิสุทธิเป็นต้น คือโดยลำดับแห่งวิปัสสนาและลำดับแห่งมรรคในศีลวิสุทธิเป็นต้นนั้น.
               บทว่า สพฺพสํโยชนกฺขยํ ความว่า พึงถึงคือ พึงบรรลุพระนิพพานอันเป็นอารมณ์แห่งพระอรหัต อันเป็นที่สิ้นสุด กล่าวคือความสิ้นแห่งสังโยชน์ทั้งปวง เพราะสังโยชน์ทั้งหมด มีกามราคสังโยชน์เป็นต้นสิ้นไป.
               ในเหล่านี้พึงทราบว่า พระศาสดาทรงถือเอาองค์แห่งความเพียรของการบรรลุอริยมรรค ด้วยประการฉะนี้

               จบอรรถกถาทุติยเสขสูตรที่ ๗               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ เอกนิบาต ทุติยวรรค เสขสูตรที่ ๒ จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 194อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 195อ่านอรรถกถา 25 / 196อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=4661&Z=4675
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=27&A=1599
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=27&A=1599
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๘  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :