ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 203อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 204อ่านอรรถกถา 25 / 205อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ เอกนิบาต
ตติยวรรค ทานสูตร

               อรรถกถาทานสูตร               
               ในทานสูตรที่ ๖ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า เอวํ ในบทว่า เอวญฺเจ นี้ เป็นไปในความอุปมา.
               บทว่า เจ เป็นนิบาตลงในปริกัป.
               บทว่า สตฺตา ได้แก่ ผู้ข้อง คือผู้ซ่านไปในอารมณ์มีรูปเป็นต้น.
               บทว่า ชาเนยฺยุํ แปลว่า พึงรู้.
               บทว่า ทานสํวิภาคสฺส ได้แก่ เจตนาที่รวบรวมไทยธรรมมีข้าวเป็นต้นให้แก่คนอื่นโดยการอนุเคราะห์และการบูชาอย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่าทาน (การให้). ส่วนเจตนาที่แบ่งส่วนหนึ่งของวัตถุที่ตนถือเอาไว้บริโภคแล้วให้ชื่อว่า สํวิภาค (การจำแนก).
               บทว่า วิปากํ คือ ผล.
               บทว่า ยถาหํ ชานามิ ได้แก่ เหมือนอย่างเรารู้.
               ข้อนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ พึงรู้ผลแห่งการจำแนกทานเหมือนอย่างเรารู้ด้วยกำลังญาณอันเป็นผลแห่งกรรม โดยประจักษ์ในบัดนี้ มีอาทิว่า ผลทานย่อมมีถึงร้อยเท่าโดยให้ทานแม้แก่สัตว์เดียรัจฉาน แล้วเสวยสุขเป็นไปในร้อยอัตภาพ ดังนี้.
               บทว่า น อทตฺวา ภุญฺเชยฺยุํ ความว่า สัตว์ทั้งหลายยังไม่ให้ของที่ควรบริโภคอันมีอยู่แก่ตน แก่ผู้อื่นก่อนแล้วก็จะยังไม่บริโภค ต่อเมื่อให้แล้วจึงบริโภค.
               บทว่า น จ เนสํ มจฺเฉรมลํ จิตฺตํ ปริยาทาย ติฏฺเฐยฺย อนึ่ง ความตระหนี่อันเป็นมลทินจะไม่ครอบงำจิตของสัตว์เหล่านั้น ความว่า ความตระหนี่อันเป็นมลทินอย่างใดอย่างหนึ่งของบรรดาธรรมฝ่ายดำอันเป็นอุปกิเลสทำลายความผ่องใสของจิต มีลักษณะไม่ยอมให้สมบัติของตนทั่วไปแก่คนอื่น.
               อีกอย่างหนึ่ง ความตระหนี่และมลทินมีอิสสาโลภะและโทสะเป็นต้นอันทำอันตรายแก่ทานแม้อื่น จะไม่พึงครอบงำจิตของสัตว์เหล่านั้นโดยอาการที่ไม่มีเจตนาจะให้หรือมีเจตนาไม่บริสุทธิ์. ก็ใครเล่าเมื่อรู้ผลของทานโดยชอบจะพึงให้โอกาสแก่ความตระหนี่อันเป็นมลทินในจิตของตนได้.
               บทว่า โยปิ เนสํ อสฺส จริโม อาโลโป ได้แก่ พึงมีคำข้าวคำหลังทั้งหมดของสัตว์เหล่านั้น.
               บทว่า จริมํ กพลํ เป็นไวพจน์ของคำว่า อาโลโป นั่นเอง.
               ข้อนี้ท่านอธิบายว่า ตามปกติ สัตว์เหล่านี้มีชีวิตอยู่ได้เองด้วยคำข้าวเพียงเท่าใด เหลือคำข้าวไว้คำหนึ่งในคำข้าวเหล่านั้น เพื่อประโยชน์แก่ตน แล้วให้คำข้าวทั้งหมดนอกจากที่เหลือไว้คำหนึ่งนั้นแก่คนที่ต้องการที่มาหา คำข้าวที่เหลือไว้นั้นชื่อว่าคำหลังในที่นี้.
               บทว่า ตโตปิ น อสํวิภชิตฺวา ภุญฺเชยฺยุํ สเว เนสํ ปฏิคฺคาหกา อสฺสุ สัตว์เหล่านั้นไม่พึงแบ่งคำข้าวคำหลังจากคำข้าวนั้นแล้วก็จะไม่พึงบริโภค ถ้าปฏิคคาหกของสัตว์เหล่านั้นพึงมี.
               ความว่า ถ้าปฏิคคาหกของสัตว์เหล่านั้นพึงมี สัตว์ทั้งหลายพึงแบ่ง แม้จากคำข้าวมีประมาณตามที่กล่าวแล้ว พึงให้ส่วนหนึ่งแล้วจึงบริโภค สัตว์ทั้งหลายพึงรู้เหมือนอย่างที่เรารู้ผลของการจำแนกทานโดยชัดแจ้งฉะนั้น.
               ด้วยบทว่า ยสฺมา จ โข เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังความตามพระพุทธประสงค์ให้สำเร็จด้วยเหตุว่า สัตว์เหล่านี้ไม่รู้ผลในการจำแนกทานอย่างนี้ เพราะผลของกรรมยังไม่ประจักษ์ ด้วยบทนี้พึงเห็นว่า พระองค์ทรงแสดงถึงเหตุแห่งการไม่ปฏิบัติในบุญอื่นและแห่งการปฏิบัติในสิ่งมิใช่บุญ ในคาถาทั้งหลายมีอธิบายดังต่อไปนี้
               บทว่า ยถาวุตฺตํ มเหสินา ความว่า เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ตรัสแล้ว โดยนัยมีอาทิว่า ผู้ให้ทานแก่สัตว์เดียรัจฉาน พึงหวังผลทานถึงร้อยเท่าดังนี้ หรือโดยนัยมีอาทิในสูตรนี้ว่า เอวญฺเจ สตฺตา ชาเนยฺยุํ ถ้าว่าสัตว์ทั้งหลายพึงรู้ผลแห่งการจำแนกทานอย่างนั้นดังนี้.
               อธิบายว่า เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วโดยพระญาณ คือทรงทราบทางจิต.
               บทว่า วิปากํ สวิภาคสฺส ได้แก่ ผลแห่งการจำแนก ก็จะพูดถึงทานอย่างไรเล่า.
               บทว่า ยถา โหติ มหปฺผลํ ควรผูกเป็นใจความว่า ถ้าว่าสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ พึงรู้โดยวิธีที่ผลนั้นเป็นผลใหญ่ไซร้
               บทว่า วิเนยฺย มจฺเฉรมลํ ความว่า สัตว์ทั้งหลายพึงกำจัดความตระหนี่อันเป็นมลทิน มีจิตผ่องใสโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยความเชื่อผลแห่งกรรม และด้วยความเชื่อในพระรัตนตรัย พึงให้ทานที่ให้แล้วแม้น้อยก็มีผลมากในพระอริยบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยคุณมีศีลเป็นต้น เพราะเป็นผู้ไกลจากกิเลสทั้งหลายตามกาลอันควร.
               ท่านผู้ควรแก่ทักษิณาทาน เพราะทำให้มีผลมาก ชื่อว่าทักษิไณยบุคคล คือเป็นผู้ปฏิบัติชอบ ให้ทักษิณา คือไทยธรรมที่ผู้ให้เชื่อโลกหน้า ในทักษิไณยบุคคลเหล่านั้นโดยที่ทานนั้นเป็นทานใหญ่.
               อีกอย่างหนึ่ง ถามว่า ควรจะให้ทานอย่างไร.
               ตอบว่า ควรให้ทักษิณาทานในทักษิไณยบุคคล.
               อนึ่ง ผู้ให้จุติจากความเป็นมนุษย์นี้แล้วย่อมไปสู่สวรรค์ ด้วยการปฏิสนธิ.
               บทว่า กามกามิโน ความว่า ทายกผู้ใคร่กาม คือมีความพร้อมในกามทุกอย่าง เพราะเป็นผู้ทำความดี โดยได้รับกรรมอันเป็นสมบัติแห่งเทพสมบัติอันโอฬารที่ควรใคร่ ย่อมบันเทิง คือได้รับความบำรุงบำเรอตามชอบใจ

               จบอรรถกถาทานสูตรที่ ๖               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ เอกนิบาต ตติยวรรค ทานสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 203อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 204อ่านอรรถกถา 25 / 205อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=4843&Z=4867
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=27&A=2186
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=27&A=2186
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๘  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :