ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 205อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 206อ่านอรรถกถา 25 / 207อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ทุกนิบาต
ปฐมวรรค ภิกขุสูตรที่ ๑

               ทุกนิบาตวรรณนา               
               อรรถกถาปฐมภิกขุสูตร               
               ในปฐมภิกขุสูตรที่ ๑ แห่งทุกนิบาต พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ทฺวีหํ ได้แก่ กำหนดจำนวน.
               บทว่า ธมฺเมหิ ได้แก่ ชี้แจงจำนวนที่กำหนดไว้.
               บทว่า ทฺวีหิ ธมฺเมหิ ได้แก่ ด้วยอกุศลธรรม ๒ ประการ.
               บทว่า สมนฺนาคโต คือ ประกอบแล้ว.
               บทว่า ทิฏฺเฐว ธมฺเม ได้แก่ ในอัตภาพนี้เท่านั้น.
               บทว่า ทุกฺขํ วิหรติ ได้แก่ อยู่เป็นทุกข์ในอิริยาบถแม้ ๔ ด้วยทุกข์เพราะกิเลส และด้วยทุกข์ทางกาย ทางใจ.
               บทว่า สวิฆาตํ ได้แก่ มีความเดือดร้อน ด้วยกิเลสอันเข้าไปทำร้ายทางใจและทางกาย.
               บทว่า สอุปายาสํ ได้แก่ มีความคับแค้น ด้วยความคับแค้นเพราะกิเลส ด้วยความเดือดร้อนทางร่างกาย และด้วยความลำบากเหลือกำลัง.
               บทว่า สปริฬาหํ ได้แก่ มีความเร่าร้อน ด้วยความเผาของกิเลส ด้วยความเร่าร้อน เพราะกิเลส และด้วยความเร่าร้อนทางกาย.
               บทว่า กายสฺส เภทา ได้แก่ ทิ้งขันธ์อันมีวิญญาณ (ตาย).
               บทว่า ปรมฺมรณา ได้แก่ ในการยึดขันธ์อันเกิดแล้วในระหว่างนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า กายสฺส เภทา ได้แก่ เพราะขาดชีวิตินทรีย์.
               บทว่า ปรมฺมรณา ได้แก่ หลังจากจุติ.
               บทว่า ทุคฺคติ ปาฏิกํขา ได้แก่ พึงปรารถนาคติอย่างใดอย่างหนึ่งของอบาย ๔ อันได้แก่ทุคติ. อธิบายว่า มีส่วนแน่นอน.
               บทว่า อคุตฺตทฺวาโร ได้แก่ ไม่สำรวมทวาร แต่ในบางแห่ง อาจารย์กล่าวว่า บทว่า อคุตฺตทฺวาโร ได้แก่ ในอินทรีย์ทั้งหลาย อาจารย์กล่าวถึงความไม่สำรวมอินทรีย์ อันมีใจเป็นที่ ๖ ด้วยบทนั้น ชื่อว่าไม่รู้ประมาณในโภชนะ เพราะไม่รู้ประมาณในโภชนะด้วยการรับและการบริโภค. เกจิอาจารย์กล่าวว่า เพราะความเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เพราะความเป็นผู้ไม่รู้จักประมาณในโภชนะบ้าง.
               ถามว่า ความเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายเป็นอย่างไร หรือความเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายเป็นอย่างไร.
               ตอบว่า เพราะไม่มีความสำรวม หรือความไม่สำรวมในจักขุนทรีย์โดยแท้.
               ด้วยว่าสติก็ดี ความไร้สติก็ดี หาได้เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักขุประสาทไม่.
               อันที่จริง ขณะใดรูปารมณ์มาสู่คลองจักษุ ขณะนั้น เมื่อภวังค์เกิดขึ้น ๒ ครั้งแล้วดับไป กิริยามโนธาตุยังอาวัชชนกิจให้สำเร็จ เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป จากนั้นจักขุวิญญาณทำหน้าที่เห็น จากนั้นวิปากมโนธาตุ ทำหน้าที่รับ จากนั้นวิปากาเหตุกมโนวิญญาณธาตุ ทำหน้าที่พิจารณา จากนั้นกิริยาเหตุกมโนวิญญาณธาตุ ยังโวฏฐัพพนกิจ (กำหนดอารมณ์) ให้สำเร็จ เกิดแล้วย่อมดับไป ในระหว่างนั้น ชวนจิตย่อมแล่นไป. ในชวนะนั้น ความสำรวมก็ดี ความไม่สำรวมก็ดี ย่อมมีในสมัยแห่งภวังค์ก็หามิได้ ในสมัยแห่งอาวัชชนะเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็หามิได้.
               ก็ในขณะแห่งชวนจิต หากว่า ความเป็นผู้ทุศีลก็ดี ความไร้สติก็ดี ความไม่รู้ก็ดี ความไม่อดทนก็ดี ความเกียจคร้านก็ดี ย่อมเกิดขึ้น ย่อมไม่มีความสำรวม ภิกษุนั้นแม้เป็นอยู่อย่างนี้ ท่านก็กล่าวว่า เป็นผู้ไม่สำรวมในจักขุทวาร.
               ถามว่า เพราะเหตุไร.
               ตอบว่า เพราะเมื่อไม่มีความสำรวมนั้น แม้ทวารก็ไม่เป็นอันคุ้มครอง แม้ภวังค์ก็ไม่เป็นอันคุ้มครอง แม้วิถีจิตมีอาวัชชนะเป็นต้น ก็ไม่เป็นอันคุ้มครอง.
               ถามว่า เหมือนอย่างไร.
               ตอบว่า เหมือนเมื่อประตู ๔ ประตูในเมืองไม่ปิด ประตูเรือน ซุ้มประตูและห้องเป็นต้น ภายในปิดอย่างดีแล้วก็จริง แม้กระนั้น สิ่งของทั้งหมดภายในเมืองก็เป็นอันชื่อว่าไม่รักษา ไม่คุ้มครองเลย โจรทั้งหลายเข้าไปทางประตูเมือง ปรารถนาสิ่งใดก็พึงนำสิ่งนั้นไป ฉันใด เมื่อความเป็นผู้ทุศีลเป็นต้น เกิดขึ้นในชวนจิต เมื่อไม่มีการสำรวม แม้ทวารก็ไม่เป็นอันคุ้มครอง แม้ภวังค์ก็ไม่เป็นอันคุ้มครอง แม้วิถีจิตมีอาวัชชนะเป็นต้น ก็ไม่เป็นอันคุ้มครอง.
               แม้เมื่อไม่มีการไม่สำรวมนั้น เมื่อศีลเป็นต้นเกิดขึ้นแล้วในชวนจิต แม้ทวารก็เป็นอันคุ้มครอง แม้ภวังค์ก็เป็นอันคุ้มครอง แม้วิถีจิตมีอาวัชชนจิตเป็นต้น ก็เป็นอันคุ้มครอง.
               ถามว่า เหมือนอย่างไร.
               ตอบว่า เหมือนเมื่อประตูเมืองปิดดีแล้ว ประตูเรือนเป็นต้นภายในไม่ปิด ก็จริง ถึงกระนั้น สิ่งของทั้งหมดภายในเมืองก็ชื่อว่าเป็นอันรักษาดีแล้ว เป็นอันคุ้มครองดีแล้วทีเดียว ก็เมื่อประตูเมืองปิดแล้ว โจรทั้งหลายก็เข้าไปไม่ได้ ฉันใด เมื่อศีลเป็นต้นเกิดขึ้นแล้วในชวนจิต แม้ทวารก็เป็นอันคุ้มครอง แม้ภวังค์ก็เป็นอันคุ้มครอง แม้วิถีจิตมีอาวัชชนะเป็นต้นก็เป็นอันคุ้มครอง ฉันนั้นนั่นแล.
               ฉะนั้น ความไม่สำรวมแม้เกิดขึ้นในขณะแห่งชวนจิต ท่านก็กล่าว สำรวมในจักขุทวาร. แม้ในทวารที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน พึงทราบความเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย และความเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้.
               ถามว่า ก็ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้ไม่รู้จักประมาณในโภชนะเป็นอย่างไร หรือชื่อว่าเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะเป็นอย่างไร.
               ตอบว่า ก็บุคคลใดเป็นผู้มีความอยากมาก ไม่รู้จักประมาณในการรับ บุคคลผู้มีความอยากมากนั้นก็เหมือนพ่อค้าเร่หิ้วเครื่องประดับ และสิ่งของไปแล้วเก็บสิ่งที่ควรเก็บไว้ในพก แล้วตะโกนบอกแก่มหาชนผู้เห็นอยู่ว่า พวกท่านจงเอาสิ่งโน้น จงเอาสิ่งโน้น ดังนี้ฉันใด บุคคลยกย่องศีลก็ดี คัมภีร์ก็ดี คุณของธุดงค์ก็ดี ของตนแม้มีประมาณน้อยโดยที่สุดแม้เพียงการอยู่ป่าแก่มหาชนผู้รู้อยู่ ก็และครั้นยกย่องแล้ว เมื่อเขาเอาเกวียนขนปัจจัยนำเข้าไป ก็ไม่พูดว่าพอละ ยังรับอีกฉันนั้นเหมือนกัน เพราะว่า บุคคลไม่อาจให้สิ่ง ๓ อย่างเต็มได้ คือ ไฟเต็มด้วยเชื้อ มหาสมุทรเต็มด้วยน้ำ คนมีความอยากมาก เต็มด้วยปัจจัย.
                         กองไฟ มหาสมุทร และบุคคลผู้มีความอยากมาก
                         ทั้ง ๓ นี้ ไม่เต็มด้วยปัจจัยเป็นอันมาก.
               ด้วยว่าบุคคลผู้มีความอยากมาก ไม่สามารถยึดเหนี่ยวน้ำใจแม้ของมารดาผู้บังเกิดเกล้าได้ เพราะบุคคลเห็นปานนี้ ย่อมยังลาภอันยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น และย่อมเสื่อมจากลาภอันเกิดขึ้นแล้ว ดังนี้. จะพูดถึงผู้ไม่รู้จักประมาณในการรับก่อน.
               ผู้ใดปรารถนา อยาก ต้องการอาหารแม้ได้แล้วโดยธรรมโดยเสมอ ไม่เป็นผู้เห็นโทษ ไม่มีปัญญาเป็นเครื่องออกไป บริโภคเต็มท้องตามความต้องการโดยไม่แยบคาย โดยไม่ใช่อุบาย ดุจอาหารหัตถกพราหมณ์ อลังสาฏกพราหมณ์ ตัตถวัฏฏกพราหมณ์ กากมาสกพราหมณ์และภุตตวัมมิกพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง เป็นผู้มุ่งเอาแต่ความสุขในการนอน สุขในการพิง สุขในการหลับ นี้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค.
               ก็ผู้ใดเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะด้วยสามารถแห่งการรู้ประมาณในการรับ ที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า แม้หากว่าไทยธรรมมีมาก ผู้ให้ประสงค์จะให้น้อย ผู้รับย่อมรับน้อยตามความประสงค์ของผู้ให้. ไทยธรรมมีน้อยผู้ให้ประสงค์จะให้มาก ผู้รับย่อมรับแต่น้อยด้วยอำนาจของไทยธรรม. ไทยธรรมมีมาก แม้ผู้ให้ก็ประสงค์จะให้มาก ผู้รับรู้กำลังของตนย่อมรับแต่พอประมาณเท่านั้น และการรู้ประมาณในการบริโภค อันได้แก่การพิจารณา ที่ท่านกล่าวโดยนัยมีอาทิว่า๑- พิจารณาอาหารในอาหารโดยแยบคาย ไม่บริโภคเพื่อเล่น เพื่อมัวเมาดังนี้ และโดยนัยมีอาทิว่า ก็ครั้นได้แล้วไม่ปรารถนา ไม่อยาก ไม่ต้องการบิณฑบาต เป็นผู้เห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องออกไป บริโภคแล้ว รู้ด้วยปัญญาเครื่องพิจารณา แล้วจึงบริโภคอาหารดังนี้ นี้ชื่อว่าเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ.
               พึงทราบว่า ภิกษุเป็นผู้ไม่รู้ประมาณและเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะอย่างนี้.
____________________________
๑- อภิ. สงฺ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๘๖๓

               พึงทราบความในคาถาทั้งหลายต่อไปนี้
               ในบททั้งหลายมี จกฺขุํ เป็นต้น พึงทราบเนื้อความต่อไปนี้
               ชื่อว่าจักษุ เพราะอรรถว่าเห็น อธิบายว่า พอใจรูปหรือดุจบอกถึงความสมและไม่สม. ชื่อว่าโสต เพราะอรรถว่าย่อมฟัง. ชื่อฆานะ เพราะอรรถว่าดมกลิ่น. ความเป็นอยู่มีชีวิตเป็นนิมิต มีอาหารเป็นรส ชื่อว่าชิวหา เพราะอรรถว่าเรียกหาความเป็นอยู่นั้น. ชื่อว่ากาย เพราะอรรถว่าเจริญด้วยความน่าเกลียด. ชื่อว่ามนะ เพราะอรรถว่ารู้ คือรู้แจ้ง โบราณาจารย์กล่าวว่า ชื่อว่ามนะ เพราะอรรถว่าย่อมรู้. อธิบายว่า ย่อมรู้อารมณ์ดุจตวงด้วยทะนาน และดุจชั่งด้วยน้ำหนัก.
               พึงทราบเนื้อความแห่งบทในสูตรนี้เพียงนี้ก่อน.
               ก็โดยความเป็นจริง จักษุมีสองอย่าง คือมังสจักษุ (ตาเนื้อ) ๑ ปัญญาจักษุ (ตาปัญญา) ๑. ในจักษุสองอย่างนั้น ปัญญาจักษุมี ๕ อย่างคือ พุทธจักษุ ๑ สมันตจักษุ ๑ ญาณจักษุ ๑ ทิพยจักษุ ๑ ธรรมจักษุ ๑.
               ในจักษุห้าอย่างนั้น ชื่อพุทธจักษุ ในพุทธวจนะว่า๒- ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตรวจดูสัตวโลกได้เห็นแล้วแล ดังนี้เป็นต้น.
               ชื่อว่าสมันตจักษุ ในบทว่า๓- สัพพัญญุตญาณ ท่านเรียกว่าสมันตจักษุ.
               ชื่อว่าญาณจักษุ ในบทว่า๔- จักษุเกิดขึ้นแล้ว ดังนี้เป็นต้น.
               ชื่อทิพยจักษุ ในพุทธวจนะว่า๕- ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราได้เห็นแล้วด้วยทิพยจักษุ อันบริสุทธิ์ดังนี้เป็นต้น.
               ชื่อธรรมจักษุ ได้แก่ มรรค ๓ เบื้องต้นในบทว่า๖- ธรรมจักษุปราศจากธุลี ปราศจากความเศร้าหมอง ได้เกิดขึ้นแล้วดังนี้เป็นต้น.
____________________________
๒- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๓๒๓
๓- ขุ. จูฬ. เล่ม ๓๐/ข้อ ๒๑๖
๔- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๑๖๖๖   วิ. มหา. เล่ม ๔/ข้อ ๑๕
๕- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๓๒๓
๖- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๕๙๙

               แม้มังสจักษุก็มีสองอย่าง คือ สสัมภารจักษุ ๑ ปสาทจักษุ ๑.
               ในมังสจักษุสองอย่างนั้น ก้อนเนื้อตั้งอยู่ในเบ้าตา กำหนดด้วยเบ้าตาทั้งสองข้าง คือ ด้วยกระดูกเบ้าตาชั้นล่าง ด้วยกระดูกคิ้วชั้นบน ด้วยสมองศีรษะภายใน ด้วยขนตาภายนอก โดยย่อมีสัมภาระ ๑๔ อย่าง คือ ธาตุ ๔ วัณณะ คันธะ รสะ โอชา สัมภว สัณฐาน ชีวิต ภาวะ กายปสาท จักขุปสาท โดยพิสดารมีสัมภาระ ๔๔ อย่าง ด้วยสามารถแห่งรูป ๔๔ เหล่านี้ คือรูป ๔๐ เพราะสัมภาระ ๑๐ เหล่านี้ คือธาตุ ๔ วัณณะ คันธะ รส โอชา สัณฐาน สัมภวะ อันอาศัยธาตุ ๔ นั้นแต่ละอย่างมีธาตุ ๔ เป็นสมุฏฐาน สัมภาระ ๔ คือชีวิต ภาวะ กายปสาท จักขุปสาท มีกรรมเป็นสมุฏฐานโดยส่วนเดียวเท่านั้น เมื่อสัตวโลกรู้ว่า จักษุ ขาว กลม หนา สะอาด ไพบูลย์ กว้างดังนี้ ชื่อว่าย่อมไม่รู้จักษุ ย่อมรู้วัตถุโดยความเป็นจักษุก้อนเนื้อตั้งอยู่ที่เบ้าตาเกี่ยวพันถึงสมอง ศีรษะด้วยด้าย คือเอ็นอันมีสีขาวบ้าง ดำบ้าง แดงบ้าง เป็นดิน น้ำ ไฟ ลมบ้าง ที่เป็นสีขาวเพราะมีเสมหะมาก ที่มีสีดำเพราะดีกำเริบ ที่มีสีแดงเพราะเลือดคั่ง เป็นดังถนนเพราะมากด้วยธาตุดิน ชื่อว่าย่อมไหลออกเพราะมากด้วยธาตุน้ำ ชื่อว่าย่อมแผดเผาเพราะมากด้วยธาตุไฟ ชื่อว่าย่อมหมุนไปมา เพราะมากด้วยธาตุลม นี้ชื่อว่าสสัมภารจักษุ
               ประสาทอาศัยมหาภูตรูป ๔ ผูกพันในจักษุนี้ ชื่อปสาทจักษุ.
               จริงอยู่ ปสาทจักษุนี้ย่อมเป็นไปโดยความเป็นวัตถุทวาร ตามสมควรแก่จักษุวิญญาณเป็นต้น.
               แม้ในโสตะเป็นต้นพึงทราบความดังต่อไปนี้
               โสตะมี ๒ อย่าง คือทิพยโสตะ ๑ มังสโสตะ ๑. ในโสตะ ๒ อย่างนี้ ได้ยินเสียงทั้งสองด้วยโสตธาตุอันเป็นทิพย์ บริสุทธิ์ ล่วงเกินมนุษย์ นี้ชื่อว่าทิพยโสตะ ทั้งหมด มีอาทิว่า มังสโสตะมี ๒ อย่างคือ สสัมภารโสตะ ๑ ปสาทโสตะ ๑.
               พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในจักษุ ฆานะและชิวหาก็เหมือนกัน แต่กายมีหลายอย่างเป็นต้นว่า โจปนกาย กรชกาย สมูหกาย ปสาทกาย.
               ในกายเหล่านั้น กายนี้ คือผู้มีปัญญา สำรวมกาย และสำรวมวาจา๗- ชื่อว่าโจปนกาย.
               นิรมิตกายอื่นจากกายนี้๘- ชื่อกรชกาย.
               แต่สมูหกายมีหลายอย่างมาแล้วด้วยสามารถแห่งหมู่วิญญาณเป็นต้น.
               จริงอย่างนั้น ท่านกล่าวหมู่วิญญาณไว้ในบทมีอาทิว่า๙- ดูก่อนอาวุโส หมู่วิญญาณเหล่านี้มี ๖ อย่างดังนี้.
               ท่านกล่าวถึงหมู่ผัสสะเป็นต้น ในบทมีอาทิว่า๑๐- หมู่ผัสสะ ๖ อย่าง ดังนี้.
               อนึ่ง ท่านกล่าวเวทนาขันธ์เป็นต้น ในบทมีอาทิว่า๑๑- กายปัสสัทธิ (ความสงบกาย) กายลหุตา (ความเบากาย).
               ท่านกล่าวหมู่ปฐวีธาตุเป็นต้น โดยนัยมีอาทิว่า๑๒- บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมพิจารณาเห็นปฐวีกาย อาโปกาย เตโชกาย วาโยกาย เกสกาย โลมกาย โดยความเป็นของไม่เที่ยง ดังนี้.
               การถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย๑๓- ชื่อว่าปสาทกาย.
               พึงทราบปสาทกายแม้ในบทนี้ต่อไป.
               จริงอยู่ ปสาทกายนั้นย่อมเป็นไปโดยความเป็นวัตถุทวารตามสมควรแก่กายวิญญาณเป็นต้น ก็วิญญาณทั้งหมดท่านเรียกว่ามโน ก็จริง แม้ถึงอย่างนั้น พึงทราบว่า ภวังค์พร้อมด้วยอาวัชชนะเป็นทวาร เพราะในที่นี้ท่านประสงค์เอาความเป็นทวาร.
____________________________
๗- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๗
๘- ที. สี. เล่ม ๙/ข้อ ๑๓๒   ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๖๘๗
๙- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๑๒๖
๑๐- ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๓๐๗   ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๑๒๓
๑๑- อภิ. สงฺ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๙๑
๑๒- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๗๒๗
๑๓- องฺ. ติก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๔๕๕

               บทว่า เอตานิ ยสฺส ทฺวารานิ อคุตฺตานิ จ ภิกฺขุโน ความว่า ภิกษุใดไม่ปิดทวารอันมีใจเป็นที่ ๖ เหล่านี้ด้วยประตู คือ สติ เพราะถึงความประมาทโดยปราศจากสติ.
               บทว่า โภชนมฺหิ ฯปฯ อธิคจฺฉติ ความว่า ภิกษุนั้นไม่รู้ประมาณในโภชนะตามนัยที่กล่าวแล้ว และเว้นการสำรวมในอินทรีย์ทั้งหลาย ย่อมถึงความทุกข์ด้วยประการทั้งปวง คือทุกข์กาย ในปัจจุบันด้วยโรคเป็นต้น และในภพหน้าต้องเข้าถึงทุคติ ทุกข์ใจด้วยถูกกิเลสมีราคะเป็นต้นแผดเผา และด้วยความริษยาและความแค้น เพราะเป็นอย่างนั้น
               ฉะนั้น บุคคลเช่นนั้นมีกายถูกไฟทุกข์แผดเผา มีใจถูกไฟทุกข์แผดเผาทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า ย่อมอยู่เป็นทุกข์ตลอดกาลเป็นนิจทั้งกลางวันทั้งกลางคืน ไม่มีอยู่อย่างเป็นสุข ไม่จำต้องพูดถึงในการไม่ล่วงทุกข์ในวัฏฏะกันละ.

               จบอรรถกถาปฐมภิกขุสูตรที่ ๑               
               ------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ทุกนิบาต ปฐมวรรค ภิกขุสูตรที่ ๑ จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 205อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 206อ่านอรรถกถา 25 / 207อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=4909&Z=4929
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=27&A=2399
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=27&A=2399
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๘  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :