ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 20อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 21อ่านอรรถกถา 25 / 22อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ชราวรรคที่ ๑๑

หน้าต่างที่ ๒ / ๙.

               ๒. เรื่องนางสิริมา [๑๑๙]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภนางสิริมา
               ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ปสฺส จิตฺตกตํ พิมพํ" เป็นต้น.

               นางสิริมาบรรลุโสดาปัตติผล               
               ดังได้สดับมา นางสิริมานั้นมีรูปร่างงดงาม เป็นหญิงแพศยา ในกรุงราชคฤห์ ภายในพรรษาหนึ่ง ได้ประทุษร้ายต่ออุบาสิกานามว่าอุตตรา ซึ่งเป็นธิดาของปุณณกเศรษฐี ผู้เป็นภริยาของสุมนเศรษฐีบุตร ประสงค์จะให้นางอุตตรานั้นเลื่อมใส จึงทูลขอขมาพระศาสดาผู้ทรงทำภัตกิจกับภิกษุสงฆ์เสร็จแล้ว ในเรือนของนางอุตตรานั้น,
               ในวันนั้น ได้ฟังภัตตานุโมทนาของพระทศพล บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว ในเวลาจบพระคาถาว่า
                         พึงชำนะคนโกรธ ด้วยความไม่โกรธ,
                         พึงชำนะคนไม่ดี ด้วยความดี,
                         พึงชำนะคนตระหนี่ ด้วยการให้ปัน,
                         พึงชำนะคนพูดพล่อยๆ ด้วยคำจริง.
               นี้เป็นความย่อในเรื่องนี้.

               ส่วนเนื้อเรื่องพิสดาร จักมีแจ้งในวรรณนาแห่งคาถาอนุโมทนาในโกธวรรคนั่นแล.
               นางสิริมานั้น ครั้นบรรลุโสดาปัตติผลอย่างนี้แล้ว นิมนต์พระทศพล รุ่งขึ้นถวายทานเป็นอันมาก แล้วได้ตั้งอัฏฐกภัตเพื่อพระสงฆ์ไว้เป็นประจำ. ตั้งแต่วันต้นมาภิกษุ ๘ รูปไปเรือนเสมอ.
               นางเอ่ยปากว่า "นิมนต์พระคุณเจ้าทั้งหลายรับเนยใส รับนมสด" ดังนี้เป็นต้นแล้ว (บรรจุภัต) ให้เต็มบาตรของภิกษุเหล่านั้น. อาหารบิณฑบาตที่ภิกษุรูปหนึ่งได้แล้ว ย่อมเพียงพอแก่ภิกษุ ๓ รูปบ้าง ๔ รูปบ้าง. นางถวายบิณฑบาตด้วยการจับจ่ายทรัพย์ ๑๖ กหาปณะทุกวัน.
               ต่อมาวันหนึ่ง ภิกษุรูปหนึ่งฉันอัฏฐกภัตในเรือนของนางแล้ว ได้ไปวิหารแห่งหนึ่ง ณ ที่ไกล ๓ โยชน์. ครั้งนั้น พวกภิกษุถามเธอซึ่งนั่งอยู่ในที่บำรุงพระเถระในเวลาเย็นว่า "ผู้มีอายุ (ไป) รับภิกษาที่ไหนมา?" เธอตอบว่า "ผม (ไป) ฉันอัฏฐกภัตของนางสิริมา (มา)." พวกภิกษุถามอีกว่า "นางทำของอันน่าพึงใจถวายไหม? ผู้มีอายุ."

               ภิกษุพรรณนาความดีของนางสิริมา               
               เธอจึงกล่าวคุณของนางว่า "ผมไม่สามารถจะพรรณนาภัตของนางได้. นางทำถวายแสนจะประณีต ภัตที่ภิกษุรูปหนึ่งได้ย่อมเพียงพอแก่ภิกษุ ๓ รูปบ้าง ๔ รูปบ้าง แต่การได้เห็นนางนั้นแล ดีเสียยิ่งกว่าไทยธรรมของนางอีก เพราะนางสวยงามเช่นนี้ๆ."
               ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งได้ฟังถ้อยคำที่พรรณนาคุณของนาง เกิดความรักขึ้นแล้ว โดยมิได้เห็นตัวเลย คิดว่า "ควรที่เราจะไปดูนาง" แล้วบอกจำนวนพรรษาของตนแล้ว ถามลำดับกะภิกษุนั้นแล้ว ได้ยินว่า "ผู้มีอายุ พรุ่งนี้ ท่านเป็นพระสังฆเถระ จักได้อัฏฐกภัตในเรือนนั้น" จึงคว้าบาตรและจีวรหลีกไปในขณะนั้นเอง,
               เมื่ออรุณขึ้นแต่เช้าเทียว เข้าไปสู่โรงภัตยืน (คอย) อยู่แล้ว เป็นพระสังฆเถระได้อัฏฐกภัตในเรือนของนาง.

               นางสิริมาเจ็บ               
               ก็ในเวลาที่ภิกษุนั่นฉันแล้ว หลีกไปในวันวานนั่นเอง โรคได้เกิดขึ้นในสรีระของนางฉะนั้น นางจึงเปลื้องอาภรณ์แล้วนอน. ขณะนั้น พวกทาสีของนางเห็นภิกษุทั้งหลายผู้ได้อัฏฐกภัตมาแล้ว จึงบอกแก่นาง. นางไม่สามารถจะรับบาตรแล้วนิมนต์ให้นั่ง หรืออังคาสด้วยมือของตนได้ จึงสั่งพวกทาสีว่า "แน่ะแม่ทั้งหลาย พวกเธอรับบาตรแล้วนิมนต์พระผู้เป็นเจ้าให้นั่ง ให้ดื่มข้าวยาคู ถวายของเคี้ยว ในเวลาฉันภัต จง (บรรจุภัต) ให้เต็มบาตรแล้วถวายเถิด."
               ทาสีเหล่านั้นรับว่า "ดีละ คุณแม่" แล้วนิมนต์ภิกษุทั้งหลายให้เข้ามา ให้ดื่มข้าวยาคู ถวายของเคี้ยวแล้ว ในเวลาฉันภัต (บรรจุภัต) ให้เต็มบาตรแล้วบอกแก่นาง. นางกล่าวว่า "จงช่วยพยุงฉันไปที ฉันจักไหว้พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย" อันทาสีเหล่านั้นพยุงไปสู่ที่ใกล้ภิกษุทั้งหลายแล้ว ได้ไหว้ภิกษุทั้งหลายด้วยทั้งสรีระอันสั่นเทิ้มอยู่.
               ภิกษุนั้นแลดูนางแล้ว คิดว่า "ความสวยงามแห่งรูปของหญิง ผู้เป็นไข้นี้ (ยังสวยงาม) ถึงเพียงนี้, ก็ในเวลาไม่มีโรค รูปสมบัติของนางคนนี้ ที่ตกแต่งแล้วด้วยอาภรณ์ทุกอย่าง จะสวยงามสักเพียงไร."
               ครั้งนั้น กิเลสที่เธอสั่งสมไว้ตั้งหลายโกฏิปีกำเริบขึ้นแล้ว. ภิกษุนั้นมิได้มีใจจดจ่อที่อื่น (มีใจจดจ่อแต่เฉพาะนางเท่านั้น) ไม่สามารถจะฉันหาอาหารได้ จึงถือบาตรกลับวิหาร ปิดบาตรวางไว้ ณ ส่วนข้างหนึ่ง ปูจีวรนอนแล้ว.
               ลำดับนั้น ภิกษุสหาย (ของเธอ) รูปหนึ่ง แม้อ้อนวอนอยู่ ก็ไม่สามารถจะให้เธอฉันได้. ภิกษุนั้นได้อดอาหารแล้ว.

               นางสิริมาถึงแก่กรรม               
               ในเวลาเย็นวันนั้นเอง นางสิริมาได้ทำกาลกิริยาแล้ว. พระราชาทรงส่งพระราชสาสน์ไปถวายพระศาสดาว่า "พระเจ้าข้า นางสิริมาน้องสาวหมอชีวก ได้ทำกาลกิริยาเสียแล้ว."
               พระศาสดาทรงสดับเรื่องนั้น จึงส่งข่าวไปแด่พระราชาว่า "กิจคือการเผา (ศพ) นางสิริมา ยังไม่มี, พระองค์จงทรงรับสั่งให้เอาศพนางสิริมานั้นนอนในป่าช้าผีดิบแล้ว ให้รักษาไว้โดยอาการที่กาและสุนัขจะกินไม่ได้เถิด."
               พระราชาได้ทรงทำตามรับสั่งแล้ว. สามวันล่วงไปแล้วโดยลำดับ, ในวันที่ ๔ สรีระขึ้นพองแล้ว หมู่หนอนไต่ออกจากปากแผลทั้ง ๙ สรีระทั้งสิ้นได้แตกสลาย คล้ายถาดข้าวสาลีฉะนั้น.
               พระราชาให้พวกราชบุรุษตีกลองโฆษณาในพระนครว่า "เว้นเด็กๆ ที่เฝ้าเรือนเสีย ใครไม่มาดูนางสิริมาจะถูกปรับ ๘ กหาปณะ" และได้ส่ง (พระราชสาสน์) ไปสำนักพระศาสดาว่า "นัยว่าภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ขอจงมาดูนางสิริมา"
               พระศาสดารับสั่งให้เผดียงแก่ภิกษุทั้งหลายว่า "เราทั้งหลายจะไปดูนางสิริมา"
               ภิกษุหนุ่มแม้รูปนั้นไม่เชื่อฟังคำของใครๆ เลย ตลอด ๔ วัน อดอาหารนอนแซ่วอยู่แล้ว. ข้าวสวยในบาตรบูด สนิมก็ตั้งขึ้นในบาตร.
               ลำดับนั้น ภิกษุสหายนั้นจึงเข้าไปหาเธอแล้วบอกว่า "ผู้มีอายุ พระศาสดาจะเสด็จไปทอดพระเนตรนางสิริมา." เธอแม้ถูกความหิวแผดเผาอย่างนั้น ก็ลุกขึ้นได้โดยรวดเร็ว ในเพราะบทที่กล่าวว่า "สิริมา" นั่นเอง กล่าวถามว่า "ท่านว่าอะไรนะ" เมื่อภิกษุสหายตอบว่า "พระศาสดาจะเสด็จไปทอดพระเนตรนางสิริมา ท่านจะไปด้วยไหม?" รีบรับว่า "ไปขอรับ" แล้วเทข้าวล้างบาตรใส่ในถลก ได้ไปกับหมู่ภิกษุ.
               พระศาสดามีหมู่ภิกษุห้อมล้อมแล้ว ได้ประทับอยู่ ณ ข้างหนึ่ง. ภิกษุณีสงฆ์ก็ดี ราชบริษัทก็ดี อุบาสกบริษัทก็ดี อุบาสิกาบริษัทก็ดี ได้ยืนอยู่พวกละข้าง.

               ศพนางสิริมาผู้เลอโฉมหาค่ามิได้               
               พระศาสดาตรัสถามพระราชาว่า "นี่ใคร? มหาบพิตร."
               พระราชา. น้องสาวหมอชีวก ชื่อสิริมา พระเจ้าข้า.
               พระศาสดา. นางสิริมาหรือนี่?
               พระราชา. นางสิริมา พระเจ้าข้า.
               พระศาสดา ถ้ากระนั้น ขอพระองค์ได้โปรดให้ราชบุรุษตีกลองโฆษณาในพระนครว่า "ใครให้ทรัพย์พันหนึ่ง จงเอานางสิริมาไป."
               พระราชาได้ทรงทำอย่างนั้นแล้ว. ผู้ที่จะออกปากว่า "ข้าพเจ้าหรือว่าเรา" แม้คนหนึ่งก็ไม่มี. พระราชาทูลแก่พระศาสดาว่า "ชนทั้งหลายไม่รับ พระเจ้าข้า."
               พระศาสดาตรัสว่า "มหาบพิตร ถ้ากระนั้น จงลดราคาลง (อีก).
               พระราชารับสั่งให้ตีกลองโฆษณาว่า "ใครให้ทรัพย์ ๕๐๐ จงเอาไป" ไม่ทรงเห็นใครๆจะรับเอา จึงรับสั่งให้ตีกลองโฆษณาว่า "ใครให้ทรัพย์ ๒๕๐-๒๐๐-๑๐๐-๕๐-๒๕ กหาปณะ, ๑๐ กหาปณะ, ๕ กหาปณะ, ๑ กหาปณะ, ครึ่งกหาปณะ, บาท ๑, มาสก ๑, กากณิก ๑ แล้วเอานางสิริมาไป" (ก็ไม่เห็นใครจะรับเอาไป) จึงรับสั่งให้ตีกลองโฆษณาว่า "จงเอาไปเปล่าๆ ก็ได้." ผู้ที่จะออกปากว่า "ข้าพเจ้า หรือว่าเรา" (แม้คนหนึ่ง) ก็ไม่มี.
               พระราชาทูลว่า "พระเจ้าข้า ชื่อว่าผู้ที่จะรับเอาไปแม้เปล่าๆ ก็ไม่มี."
               พระศาสดาจึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงดูมาตุคามซึ่งเป็นที่รักของมหาชน ในกาลก่อน ชนทั้งหลายในพระนครนี้แล ให้ทรัพย์พันหนึ่งแล้ว ได้ (อภิรมย์) วันหนึ่ง บัดนี้ แม้ผู้ที่จะรับเอาเปล่าๆ ก็ไม่มี, รูปเห็นปานนี้ ถึงความสิ้นและความเสื่อมแล้ว ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงดูอัตภาพอันอาดูร" ดังนี้แล้ว
               ตรัสพระคาถานี้ว่า
                         ๒. ปสฺส จิตฺตกตํ พิมฺพํ    อรุกายํ สมุสฺสิตํ
                         อาตุรํ พหุสงฺกปฺปํ    ยสฺส นตฺถิ ธุวํ ฐิติ.
                         เธอจงดูอัตภาพ ที่ไม่มีความยั่งยืน (และ) ความมั่นคง
                         (อันกรรม) ทำให้วิจิตรแล้ว มีกายเป็นแผล อันกระดูก
                         ๓๐๐ ท่อนยกขึ้นแล้ว อันอาดูร ที่มหาชนครุ่นคิดแล้ว
                         โดยมาก.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จิตฺตกตํ ความว่า มีความวิจิตรอันกรรมทำแล้ว คือ (อันกรรม) ทำให้วิจิตรด้วยวัตถุต่างๆ มีอาภรณ์ คือผ้าและเครื่องประดับ คือระเบียบดอกไม้เป็นต้น.
               บทว่า พิมฺพํ ได้แก่ ซึ่งอัตภาพอันตั้งอยู่ถูกส่วนด้วยอวัยวะทั้งหลายใหญ่น้อย มีส่วนยาวเป็นต้น ในฐานะอันสมควรแก่ความเป็นอวัยวะยาวเป็นต้น.
               บทว่า อรุกายํ คือ มีกายเป็นแผล ด้วยสามารถปากแผลทั้ง ๙.
               บทว่า สมุสฺสิตํ คือ อันกระดูก ๓๐๐ ท่อนยกขึ้นแล้ว.
               บทว่า อาตุรํ ความว่า ชื่อว่าเป็นไข้ประจำ เพราะความเป็นสถานที่ต้องบริหารด้วยอิริยาบถเป็นต้นทุกเวลา.
               บทว่า พหุสงฺกปฺปํ ได้แก่ อันมหาชนครุ่นคิดแล้วโดยมาก.
               บาทพระคาถาว่า ยสฺส นตฺถิ ธุวํ ฐิติ ความว่า เธอทั้งหลายจงดูอัตภาพนี้ ที่ไม่มีความยั่งยืน หรือความมั่นคง มีความแตกเรี่ยรายและกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา โดยส่วนเดียวเท่านั้น.
               ในเวลาจบเทศนา ธรรมาภิสมัยได้มีแล้วแก่สัตว์ ๘ หมื่น ๔ พัน
               ภิกษุแม้รูปนั้น ก็ได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ดังนี้แล.

               เรื่องนางสิริมา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ชราวรรคที่ ๑๑
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 20อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 21อ่านอรรถกถา 25 / 22อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=662&Z=691
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=22&A=1836
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=22&A=1836
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๒  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :