ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 270อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 271อ่านอรรถกถา 25 / 272อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต
ปัญจมวรรค ชีวิตสูตร

               อรรถกถาชีวิตสูตร               
               ชีวิตสูตรที่ ๒ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ด้วยอำนาจเหตุที่เกิดขึ้น.
               ดังได้ทราบมาว่า สมัยหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่นิโครธาราม ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ ภิกษุทั้งหลายพากันปูที่นั่งที่นอนสำหรับภิกษุอาคันตุกะทั้งหลาย กำลังเก็บบาตรและจีวรอยู่ และสามเณรทั้งหลายพากันรับเอาลาภของภิกษุทั้งหลายผู้มาแล้วมาถึงแล้ว ในที่ๆ แจกลาภได้ส่งเสียงอึกทึก.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับเสียงนั้นแล้ว ได้ทรงประณาม (ขับไล่) ภิกษุเหล่านั้น.
               ได้ทราบว่า ภิกษุเหล่านั้นเป็นภิกษุใหม่ทั้งนั้นมาสู่พระธรรมวินัยนี้ยังไม่นาน.
               ท้าวมหาพรหมทราบพฤติการณ์นั้นแล้ว ได้เสด็จมาแล้วทูลขอพระพุทธานุเคราะห์แก่ภิกษุที่ถูกประณามเหล่านั้นว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงพอพระทัยภิกษุสงฆ์.๑-
               พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเปิดโอกาสให้ท้าวมหาพรหมนั้น.
               ทีนั้น ท้าวมหาพรหมได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เปิดโอกาสให้ข้าพระองค์แล้ว ได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า กระทำประทักษิณแล้วได้เสด็จหลีกไป.
____________________________
๑- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๑๘๗

               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำริว่า ขอพระภิกษุสงฆ์จงมาเถิด แล้วได้ทรงแสดงอาการแก่พระอานนทเถระ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุเหล่านั้นจึงถูกพระอานนทเถระเรียกให้มาหา ได้พากันเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ยินดีแล้วได้นั่งอยู่ ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาหาพระธรรมเทศนาที่จะเป็นสัปปายะของภิกษุเหล่านั้น ทรงพระดำริว่า ภิกษุเหล่านี้ถูกเราตถาคตประณาม เพราะเหตุแห่งอามิส ธรรมเทศนาว่าด้วยก้อนข้าวที่ทำเป็นคำๆ จะเป็นสัปปายะของภิกษุเหล่านั้น ดังนี้แล้ว จึงได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนานี้ว่า อนฺตมิทํ ภิกฺขเว ดังนี้เป็นต้น.
               ในพระธรรมเทศนานั้น อันตศัพท์นี้ มาแล้วในความหมายว่าส่วน เช่นในคำทั้งหลายมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีอยู่สมณพราหมณ์บางพวกเป็นปุพพันตกับปิกะ (ลัทธิที่อ้างถึงส่วนเบื้องต้นคือผู้สร้าง) มีทิฏฐิคล้อยตามส่วนเบื้องต้น.๒-
               มาแล้วในความหมายว่าตัดขาด เช่นในคำทั้งหลายมีอาทิว่า ท่านได้ทำที่สุดแห่งทุกข์แล้ว โลกนี้มีที่สุดหมุนไปรอบๆ.
               มาแล้วในความหมายว่าครอบงำ เช่นในคำทั้งหลายมีอาทิว่า ปฐวีธาตุอาศัยภูมิภาคที่ปกคลุมด้วยของเขียว กั้นด้วยถนน มีภูเขาขวางกั้น.๔-
               มาแล้วในความหมายว่าอวัยวะในร่างกาย เช่นในคำทั้งหลายมีอาทิว่า ใส้ใหญ่ สายรัดใส้.๕-
____________________________
๒- ที. สี. เล่ม ๙/ข้อ ๒๗
๓- ที. สี. เล่ม ๙/ข้อ ๓๕
๔- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๓๔๔
๕- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๒๗๗   ขุ. ขุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๓

               มาแล้วในความหมายว่าจิต เช่นตัวอย่างในคำทั้งหลายมีอาทิว่า
                                   ก็คนบางจำพวกมีบริวารห้อมล้อม เที่ยวไปอยู่
                         ภายใน (จิต) ไม่บริสุทธิ์ แต่ภายนอก (กาย) งดงาม.๖-
____________________________
๖- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๓๕๘   ขุ. มหา. เล่ม ๒๙/ข้อ ๘๘๙

               มาแล้วในความหมายว่าภายใน เช่นในคำทั้งหลายมีอาทิว่า อุบล ปทุม หรือบุณฑริกบางเหล่าเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ มีน้ำหล่อเลี้ยงไว้ จมและพอกพูนอยู่ในภายใน (น้ำ).๗-
____________________________
๗- วิ. มหา. เล่ม ๔/ข้อ ๙   ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๔๔   สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๕๕๗

               มาแล้วในความหมายว่าลามก เช่นในคำทั้งหลายมีอาทิว่า๘-
                         บรรดามฤคทั้งหลาย สุนัขจิ้งจอกเป็นสัตว์เลวทราม
                         บรรดาปักษีทั้งหลายกาเป็นสัตว์ชั้นต่ำ
                         บรรดาต้นไม้ทั้งหลาย ต้นระหุ่งเป็นต้นไม้ชนิดเลว
                         ของเลวทรามทั้ง ๓ อย่างมาประชุมกัน.
____________________________
๘- ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๔๘๖

               แม้ในพระสูตรนี้ พึงทราบความหมายในสิ่งที่เลวทรามเท่านั้น เพราะฉะนั้น บทว่า อนฺตมิทํ ภิกฺขเว ชีวิกานํ จึงมีอรรถาธิบายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชีวิต (ความเป็นอยู่) นี้ เป็นชีวิตที่ต่ำทราม คือล้าหลัง ได้แก่ลามก หมายความว่า เลวกว่าความเป็นอยู่ทุกชนิดของผู้เลี้ยงชีพทั้งหลาย.
               บทว่า ยทิทํ ปิณฺโฑลฺยํ ความว่า ชีวิตของผู้เลี้ยงชีพด้วยการแสวงหาก้อนข้าว คือด้วยการเที่ยวขอเขานี้ใด
               ก็ในบทว่า ปิณฺโฑลฺยํ นี้ มีอรรถแห่งบทดังต่อไปนี้
               บุคคลชื่อว่าปิณโฑละ เพราะเที่ยวไปเพื่อก้อนข้าว. กิจกรรมของผู้เที่ยวไปเพื่อก้อนข้าวนั้น ชื่อว่าปิณโฑลยะ. อธิบายว่า ผู้เลี้ยงชีพด้วยการแสวงหาก้อนข้าว.
               การด่าชื่อว่าอภิลาปะ. อธิบายว่า มนุษย์ทั้งหลายโกรธแล้ว จะด่าคนที่เป็นศัตรูของตนว่า แกควรจะนุ่งผ้าเก่าๆ มีมือถือกระเบื้อง เที่ยวแสวงหาก้อนข้าว (ขอทาน).
               อีกอย่างหนึ่ง จะด่าอย่างนี้ทีเดียวว่า แกไม่มีอะไรที่จะต้องทำแล้วหรือ จึงได้ละทิ้งหิริโอตตัปปะทั้งที่ยังมีกำลังและความเพียรแล้วเป็นคนกำพร้ามีมือถือบาตร ขอทานเขากิน.
               บทว่า ตญฺจโข เอตํ ความว่า (ย่อมเข้าถึง) แม้ซึ่งการสาปแช่ง คือความเป็นอยู่ด้วยการแสวงหาก้อนข้าวนี้นั้น.
               บทว่า กุลปุตฺตา อุเปนฺติ อตฺถวสิกา ความว่า กุลบุตรโดยกำเนิด และกุลบุตรผู้มีอาจาระในศาสนาของเรา เป็นผู้อยู่ในอำนาจอรรถ คือเป็นผู้อยู่ในอำนาจเหตุ คืออาศัยอำนาจเหตุแล้วเข้าถึง คือประสบ.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า ราชาภินีตา เป็นต้น (ดังต่อไปนี้)
               คนเหล่าใดถูกพระราชาให้จองจำไว้ในเรือนจำ เพราะกินของหลวง หนีไปบวช คนเหล่านั้นชื่อว่าราชาภินีตา เพราะถูกนำไปยังที่จองจำ.
               ส่วนคนเหล่าใดถูกพวกโจรจับในดง เมื่อบางเหล่าถูกฆ่าให้ตาย (แต่) บางเหล่าขอร้องว่า นายขอรับ (ถ้า) พวกผมถูกพวกท่านปล่อยไปแล้ว จักครองเรือนแล้วบวช จักทำบุญใดๆ มีพุทธบูชาเป็นต้นในที่นั้นๆ จักให้ส่วนบุญจากบุญนั้นๆ แก่ท่านทั้งหลาย ดังนี้แล้ว เป็นผู้อันโจรเหล่านั้นปล่อยไปแล้วบวช คนเหล่านั้นชื่อว่าโจราภินีตา เพราะเป็นผู้ถูกโจรนำไปยังที่ๆ จะถูกฆ่าให้ตาย.
               แต่คนเหล่าใดกู้หนี้แล้วไม่สามารถใช้หนี้ได้หนีไปบวช คนเหล่านั้นชื่อว่าอีณัฏฏา (เป็นลูกหนี้) เชื่อมบทว่า ก็แลกุลบุตรทั้งหลายในศาสนาของเราตถาคต ได้ถูกพระราชาให้นำไป ฯลฯ มีการเลี้ยงชีพตามปกติ เข้าถึงความเป็นผู้ขอทานนี้นั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง เข้าถึงด้วยคิดว่า เราทั้งหลายถูกชาติ ฯลฯ ครอบงำแล้วแม้ไฉน...จะพึงปรากฏ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โอติณฺณมฺหา ตัดบทเป็น โอติณฺณา อมหา (เราทั้งหลายเป็นผู้ถูกชาติ ฯลฯ ครอบงำแล้ว).
               ในบทว่า ชาติยา เป็นต้น (พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้)
               การก่อเกิดครั้งแรกของขันธ์ทั้งหลายในหมู่สัตว์นั้นๆ ชื่อว่าชาติ.
               ความหง่อมชื่อว่าชรา ความแตกดับชื่อว่ามรณะ
               ความเร่าร้อนคือการแผดเผาภายใน (ใจ) ของผู้ถูกความเสื่อมเพราะญาติ โรค โภคะ ศีลและทิฏฐิ กระทบกระทั่ง ชื่อว่าโสกะ. ความพิลาปร่ำทางวาจาของผู้ถูกความเสื่อมเสียกระทบกระทั่งแล้ว ชื่อว่าปริเทวะ.
               การเบียดเบียนทางกายของผู้มีกายถูกโผฎฐัพพะที่ไม่น่าปรารถนากระทบ ชื่อว่าทุกข์. การเบียดเบียนทางใจของผู้มีจิตถูกกระทบกระเทือนในอาฆาตวัตถุทั้งหลาย ชื่อว่าโทมนัส.
               ความลำบากแรงกล้าที่เกิดจากกลุ้มใจของผู้ถูกความเสื่อมแห่งญาติเป็นต้นกระทบ ผู้ไม่สามารถจะยับยั้งไว้ได้ แม้ด้วยการครวญคราง ชื่อว่าอุปายาส.
               ผู้ถูกทุกข์ทั้งหลายมีชาติเป็นต้นครอบงำแล้ว ชื่อว่าถูกทุกข์ติดตามแล้ว คือผู้ถูกทุกข์ทั้งหลายมีชาติทุกข์เป็นต้นสอดแทรกเข้าไปภายใน.
               บทว่า ทุกขปเรตา ความว่า ผู้ถูกทุกข์และเหตุเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ ครอบงำแล้ว. อธิบายว่า ชาติเป็นต้น ชื่อว่าทุกข์ เพราะเป็นตัวทุกข์.
               บทว่า อปฺเปวนาม ฯเปฯ ปญฺญาเยถ ความว่า ชื่อแม้ไฉนการทำการตัดขาด คือกิริยาที่สิ้นสุดลงแห่งกองทุกข์ในวัฏฏะทั้งสิ้นนี้ จะพึงปรากฏ.
               คำว่า โส จ โหติ อภิชฺฌาลุ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เพื่อทรงแสดงถึงกุลบุตรผู้ให้ความคิดเกิดขึ้นในเบื้องต้นว่า เราจักทำที่สุดแห่งทุกข์ แล้วบวช แต่ภายหลังไม่สามารถทำการบวชนั้นให้เป็นแบบนั้นได้ (ทำที่สุดแห่งทุกข์ไม่ได้).
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภิชฺฌาลุ ได้แก่ ผู้เพ่งสิ่งของๆ ผู้อื่น.
               บทว่า ติพฺพสาราโค ความว่า ผู้มีราคะมาก.
               บทว่า พฺยาปนฺนจิตฺโต ความว่า ผู้มีจิตวิบัติ เพราะเป็นจิตเสียด้วยพยาบาท.
               บทว่า ปทุฏฺฐมนสงฺกปฺโป ความว่า ผู้มีจิตถูกโทสะประทุษร้ายแล้ว ด้วยสามารถแห่งการเข่นฆ่าพวกอื่น เหมือนโคดุมีเขาแหลม.
               บทว่า มุฏฺฐสฺสติ ความว่า เป็นผู้มีสติหลงลืม คือทำ (อะไร) ไว้ที่นี้แล้ว ก็ระลึกในที่นี้ไม่ได้เหมือนกาซ่อนก้อนข้าวไว้ และเหมือนสุนัขซ่อนเนื้อไว้แล้ว นึกไม่ได้ฉะนั้น.
               บทว่า อสมฺปชาโน ความว่า ไม่มีปัญญา คือเว้นจากการกำหนดขันธ์เป็นต้น.
               บทว่า อสมาหิโต ความว่า หยุดนิ่งอยู่ไม่ได้ เหมือนเรือที่ผูกไว้ที่กระแสน้ำเชี่ยว.
               บทว่า วิพฺภนฺตจิตฺโต ความว่า ตื่นตกใจเหมือนเนื้อขึ้นสู่ทาง.
               บทว่า ปากตินฺทฺริโย ความว่า เป็นผู้ไม่สำรวมอินทรีย์เหมือนคฤหัสถ์ทั้งหลาย ผู้ไม่สำรวมอินทรีย์มองดูคนที่ตนหวงแหน เพราะไม่มีการสำรวม.
               บทว่า ฉวาลาตํ ได้แก่ ดุ้นฟืน ในที่ที่เผาศพ.
               บทว่า อุภโต ปทิตฺตํ มชฺเฌ คูถคตํ ความว่า ดุ้นฟืนยาวประมาณ ๘ นิ้ว ไฟติดทั้ง ๒ ข้าง ตรงกลางก็เปื้อนคูถ.
               บทว่า เนว คาเม ความว่า จริงอยู่ ถ้าหากดุ้นฟืนนั้น เป็นของที่ใครๆ (นึกว่า) สามารถนำเข้าไปใช้เพื่อประโยชน์แก่แอกไถ ไม้จันทันและไม้ฝ้าได้ไซร้ ก็ต้องผ่าเพื่อเป็นฟืนใช้ในบ้าน ถ้าเป็นของที่ใครๆ (นึกว่า) สามารถนำเข้าไปใช้เพื่อประโยชน์แก่ไม้ปูพื้นและเตียงเป็นต้นที่กระท่อมนาได้ไซร้ ก็ต้องผ่าเพื่อใช้เป็นฟืนในป่า. แต่เพราะเหตุที่แม้ประโยชน์ทั้ง ๒ อย่างนั้น ใครๆ ไม่อาจ (นำมาใช้ได้) ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้อย่างนี้.
               บทว่า ตถูปมาหํ ความว่า เราตถาคตเรียกบุคคลตามที่กล่าวมาแล้วนี้ว่าอุปมาเหมือนอย่างนั้น คือเช่นฟืนเผาศพ.
               บทว่า คิหิโภคา จ ปริหีโน ความว่า เป็นผู้เสื่อมจากโภคะที่จะต้องได้เมื่อคฤหัสถ์ทั้งหลายผู้ครองเรือนอยู่ แบ่งมรดกอยู่และโดยประการอื่นด้วย.
               บทว่า สามญฺญตฺถญฺจ ความว่า จะไม่ยังสามัญผลที่สัทธิวิหาริกและอันเตวาสิก ดำรงอยู่ในโอวาทของอุปัชฌาย์และอาจารย์ทั้งหลายแล้ว จะพึงถึงด้วยสามารถแห่งปริยัติและปฏิเวธให้บริบูรณ์.
               อนึ่ง พึงทราบว่า พระศาสดาไม่ได้ทรงนำอุปมานี้มาด้วยสามารถแห่งบุคคลผู้ทุศีล แต่ทรงนำมาด้วยสามารถแห่งบุคคลผู้มีศีลบริสุทธิ์ ผู้ไม่เกียจคร้าน ผู้มีจิตถูกโทษทั้งหลาย มีอภิชฌาเป็นต้น ประทุษร้ายแล้ว.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาทั้งหลาย ดังต่อไปนี้
               บทว่า คิหิโภคา ความว่า จากเครื่องอุปโภคที่ให้เกิดกามสุข.
               บทว่า ปริหีโน ได้แก่ เสื่อมโทรมแล้ว.
               บทว่า สามญฺญตฺถํ ได้แก่ ทั้งพหูสูตในทางปฏิเวธ ทั้งพหูสูตในทางปริยัติ เพราะว่าคนเช่นนั้นไม่สามารถจะได้ฟังเรื่องที่ยังไม่ได้ฟัง และยังเรื่องที่ได้ฟังแล้วให้แจ่มกระจ่าง เพราะเป็นผู้เกียจคร้าน คนชั่วหมดสง่า เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าเสื่อมจากโภคะ คือคนไม่มีบุญ ได้แก่บุรุษกาลกรรณี
               บทว่า ปริธํสมาโน ความว่า พินาศอยู่.
               บทว่า ปกิเรติ ความว่า เรี่ยราด คือกระจัดกระจายไป. คำทั้งหมดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอา การไม่เกิดขึ้นแห่งความเจริญ คือสามัญผลนั่นเอง.
               บทว่า ฉวาลาตํ วินสฺสติ ความว่า บุคคลนั้นคือชนิดนั้นจะไม่ประกอบประโยชน์ให้แก่ใครๆ เลย พินาศไปเหมือนดุ้นฟืนเผาศพ ดังที่กล่าวมาแล้ว เพราะเป็นผู้พลาดจากประโยชน์ทั้ง ๒ ถึงจะไม่ได้ทำการละเมิดทางกายและวาจา แต่เมื่อไม่ชำระจิตให้สะอาดก็พินาศ จะป่วยกล่าวไปไยถึงได้ทำการละเมิดทางกายและทางวาจาเล่า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงโทษในความทุศีล โดยการทรงแสดงถึงส่วนแห่งทุกข์ในอบายของเขาแล้ว ด้วยคำว่า ทุสฺสีโส เมื่อทรงพระประสงค์จะให้สัตว์ทั้งหลายสงัดจากโทษของความทุศีลนั้น จึงตรัสพระคาถาไว้โดยนัยมีอาทิว่า กาสาวกณฺฐา ดังนี้.
               เนื้อความของพระคาถาทั้ง ๒ นั้นได้กล่าวไว้แล้วในหนหลังทีเดียวแล.

               จบอรรถกถาชีวิตสูตรที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต ปัญจมวรรค ชีวิตสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 270อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 271อ่านอรรถกถา 25 / 272อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=6309&Z=6334
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=27&A=7294
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=27&A=7294
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓๑  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :