ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 271อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 272อ่านอรรถกถา 25 / 273อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต
ปัญจมวรรค สังฆาฏิสูตร

               อรรถกถาสังฆาฏิสูตร               
               ในสังฆาฏิสูตรที่ ๓ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า สงฺฆาฏิกณฺเณ ได้แก่ ที่ชายจีวร.
               บทว่า คเหตฺวา ความว่า เกาะ.
               บทว่า อนุพนฺโธ อสฺส ความว่า พึงติดตามไป.
               มีพุทธาธิบายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ เป็นเสมือนใช้มือของตนเกาะชายสุคตมหาจีวร ที่เราตถาคตห่มแล้ว ติดตามเราตถาคตไป คือเป็นผู้อยู่ใกล้ชิดเราตถาคตอย่างนี้.
               บทว่า ปาเท ปาทํ นิกฺขิปนฺโต ความว่า ทอดเท้าของตนลงที่รอยเท้าของเราตถาคต ผู้กำลังเดินไป คือในที่ๆ เราตถาคตวางเท้าลง ถัดจากการยกเท้าขึ้นแล้ว. ด้วยคำทั้ง ๒ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ผิว่า เธอจะไม่ละทิ้ง (ห่างเหิน) ที่ยืน ที่เดิน (ของเราตถาคต) อยู่ใกล้เราตถาคตตลอดทุกเวลาไซร้.
               บทว่า โส อารกาว มยฺหํ อหญฺจ ตสฺส ความว่า ภิกษุนั้น เมื่อไม่บำเพ็ญปฏิปทาที่เราตถาคตกล่าวแล้วให้บริบูรณ์ ก็ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ไกลเราตถาคตทีเดียว เราตถาคตก็ชื่อว่าอยู่ไกลเธอเหมือนกัน. ด้วยคำนี้พระองค์ทรงแสดงว่า การเห็นพระตถาคตเจ้าด้วยมังสจักษุก็ดี การอยู่รวมกันทางรูปกายก็ดี ไม่ใช่เหตุ (ของการอยู่ใกล้) แต่การเห็นด้วยญาณจักษุเท่านั้น และการรวมกันด้วยธรรมกายต่างหาก เป็นประมาณ (ในเรื่องนี้) ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าภิกษุนั้นไม่เห็นธรรม เมื่อไม่เห็นธรรม ก็ไม่เห็นเราตถาคต.
               ในคำว่า ธมฺม น ปสฺสติ นั้น มีอธิบายว่า โลกุตรธรรม ๙ อย่าง ชื่อว่าธรรม ก็เธอไม่อาจจะเห็นโลกุตรธรรมนั้นได้ ด้วยจิตที่ถูกอภิชฌาเป็นต้นประทุษร้าย เพราะไม่เห็นธรรมนั้น เธอจึงชื่อว่าไม่เห็นธรรมกาย.
               สมจริงตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า๑-
               ดูก่อนวักกลิ เธอจะมีประโยชน์อะไรด้วยกายอันเปื่อยเน่านี้ที่เธอได้เห็นแล้ว. ดูก่อนวักกลิ ผู้ใดแลเห็นธรรม ผู้นั้นก็เห็นเราตถาคต ผู้ใดเห็นเราตถาคต ผู้นั้นก็เห็นธรรม ดังนี้
               และว่า๒- เราตถาคตเป็นพระธรรม เราตถาคตเป็นพระพรหมดังนี้.
               และว่า๓- เป็นธรรมกายบ้าง เป็นพรหมกายบ้าง ดังนี้ เป็นต้น.
____________________________
๑- สํ. ข. เล่ม ๑๗/ข้อ ๒๑๖
๒- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๒๔๗
๓- ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๕๕

               บทว่า โยชนสเต ความว่า ในพื้นที่มีประมาณร้อยโยชน์. อธิบายว่า ในที่มีร้อยโยชน์เป็นที่สุด
               คำที่เหลือพึงทราบโดยบรรยายที่ผิดจากที่กล่าวมาแล้ว และพึงทราบความที่ท่านเป็นผู้ไม่มีการเพ่งเล็งเป็นปกติ ด้วยสามารถแห่งการบรรลุอริยมรรค.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาทั้งหลายดังต่อไปนี้
               บทว่า มหิจฺโฉ ความว่า ชื่อว่าผู้มีความมักมาก เพราะมีความกำหนัดแรงกล้าในกามทั้งหลาย.
               บทว่า วิฆาตวา ความว่า ชื่อว่าผู้มีความคับแค้น เพราะมีความดำริด้วยใจที่ถูกความอยากประทุษร้ายแล้ว เพราะเป็นผู้มีความมักมาก ด้วยอำนาจแห่งการอาฆาตในสัตว์ทั้งหลาย และเพราะไม่ได้ตามที่ต้องการ.
               บทว่า เอชานุโค ความว่า เมื่อติดตามตัณหานั้นไป เหมือนเป็นทาสของตัณหา กล่าวคือความหวั่นไหวยังไม่ดับ เพราะถูกความกระวนกระวายเกิดแต่กิเลส มีราคะเป็นต้น ครอบงำแล้ว คือติดอยู่แล้ว ด้วยความจำนงอารมณ์มีรูปเป็นต้น.
               บทว่า ปสฺส ยาวญฺจ อารกา มีอธิบายว่า ผู้มีความมักมาก ถึงอยู่แม้ใกล้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่หวั่นไหว ผู้ดับ (ทุกข์) ได้แล้ว ผู้ปราศจากความกำหนัดแล้ว ตามอำนาจแห่งโอกาส แต่ยังเป็นผู้คับแค้น ติดตามกิเลสชื่อตัณหาไป ยังดับทุกข์ไม่ได้ ยังกำหนัดคือยังเป็นพาลปุถุชนตามสภาวธรรม ชื่อว่าเห็นพระองค์ได้ตลอดเวลาที่ประทับอยู่ในที่ไกล แม้การจะกราบทูล ก็ไม่ใช่ทำได้ง่าย.
               สมจริงตามที่ตรัสไว้ว่า๔-
                                   นักปราชญ์กล่าวว่า ท้องฟ้ากับแผ่นดินอยู่ไกลกัน
                         ฝั่งมหาสมุทรก็อยู่ไกลกันเหมือนกัน แต่ท่านกล่าวว่า
                         ธรรมของสัตบุรุษกับธรรมของอสัตบุรุษไกลกันยิ่งกว่า
                         นั้น.
____________________________
๔- สํ. ข. เล่ม ๑๗/ข้อ ๔๗   สํ. ข. เล่ม ๑๗/ข้อ ๔๗

               บทว่า ธมฺมมภิญฺญาย ความว่า เพราะรู้ยิ่ง คือเข้าใจได้แก่ทราบ สัจธรรมทั้งสี่ในตอนต้น ด้วยญาตปริญญา และตีรณปริญญาตามสมควร
               บทว่า ธมฺมมญฺญาย ความว่า รู้ธรรมนั้นนั่นแหละ ในตอนต่อมาด้วยมรรคญาณตามขอบเขต ด้วยอำนาจปริญญาเป็นต้น.
               บทว่า ปณฺฑิโต ได้แก่ ผู้เป็นบัณฑิต เพราะเป็นพหูสูตในทางปฏิเวธ.
               บทว่า รหโทว นิวาเต จ ความว่า เป็นผู้ไม่หวั่นไหว คือเว้นจากการหวั่นไหว เพราะกิเลสเงียบสงบอยู่ เหมือนห้วงน้ำในที่สงัดลมฉะนั้น (อธิบายว่า) ห้วงน้ำนั้นในที่สงัดลม ไม่ถูกลมพัด จะเรียบราบอยู่ (ไม่มีคลื่น) ฉันใด แม้ภิกษุนี้ผู้มีกิเลสสงบแล้ว เว้นจากความหวั่นไหว เพราะกิเลสจะสงบอยู่ด้วยสมาธิที่สัมปยุตด้วยอรหัตผล ในที่ทุกแห่ง คือจะเป็นผู้มีสภาพสงบทีเดียวตลอดกาลทุกเมื่อ.
               บทว่า อเนโช ความว่า ภิกษุนั้นเป็นพระอรหันต์ มีสภาพไม่หวั่นไหวเป็นต้น โดยโอกาสถึงจะอยู่ไกลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีสภาพไม่หวั่นไหว ก็เหมือนกับอยู่ไม่ไกลคือในสำนักนั่นเอง ตามสภาวธรรม ดังนี้.

               จบอรรถกถาสังฆาฏิสูตรที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต ปัญจมวรรค สังฆาฏิสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 271อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 272อ่านอรรถกถา 25 / 273อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=6335&Z=6360
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=27&A=7390
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=27&A=7390
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓๑  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :