ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 274อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 275อ่านอรรถกถา 25 / 276อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต
ปัญจมวรรค อุปปัตติสูตร

               อรรถกถาอุปปัตติสูตร               
               ในอุปปัตติสูตรที่ ๖ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า กามูปปตฺติโย ได้แก่ การได้กาม หรือการซ่องเสพกาม.
               บทว่า ปจฺจปฏฺตกามา ได้แก่ เป็นผู้ใคร่อยู่เป็นนิตย์ คือมีอารมณ์เป็นนิตย์ เช่นมนุษย์ทั้งหลาย.
               อธิบายว่า มนุษย์ทั้งหลายตกอยู่ในอำนาจวัตถุเป็นนิตย์ที่จิตปฏิพัทธ์อยู่ ถึงจะนำเอามาตุคามนั้นแหละมาให้ตั้งร้อยตั้งพันก็ยังรับอยู่ได้เป็นประจำ และเทวดาบางพวก (ก็เหมือนกัน).
               อธิบายว่า เทวดาผู้อยู่ในเทวโลก ๔ ชั้นนับแต่เทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาไป ก็ตกอยู่ในอำนาจวัตถุเป็นนิตย์เหมือนกัน ก็ในข้อนี้ มีเรื่องของปัญจสิขเทพบุตร เป็นตัวอย่าง ถึงสัตว์ที่เกิดในอบายที่เหลือบางเหล่า เว้นสัตว์นรกที่เกิดในอบาย ก็เหมือนกัน คือตกอยู่ในอำนาจวัตถุเนืองนิตย์ทั้งนั้น เพราะว่า ปลาก็ตกอยู่ในอำนาจของปลาตัวเมียของตน เต่าก็ตกอยู่ในอำนาจของเต่าตัวเมียของตนเป็นอันว่า สัตว์เดียรัจฉานแม้ทั้งหมด และเปรตจำพวกวินิปาติกะย่อมตกอยู่ในอำนาจวัตถุเนืองนิตย์ ดังพรรณนามานี้ เพราะฉะนั้น สัตว์เหล่านี้ตั้งแต่สัตว์ที่เกิดในอบายที่เหลือ จนถึงเทวดาเหล่าชั้นดุสิต เว้นสัตว์นรก ชื่อว่ามีกามปรากฏแล้ว.
               บทว่า นิมฺมานรติโน ความว่า เทวดาทั้งหลายชื่อว่านิมมานรดี เพราะมีความยินดีในสมบัติเนรมิตที่เนรมิตขึ้นเอง. อธิบายว่า เทวดาเหล่านั้นย่อมปรารถนารูปชนิดใดด้วยสามารถแห่งรูปสีเขียว รูปสีเหลืองเป็นต้น ก็เนรมิตรูปชนิดนั้นแล้วยินดีอยู่ เหมือนเทวดาเหล่ามนาปกายิกา ผู้อยู่เฉพาะหน้าท่านพระอนุรุทธเถระฉะนั้น.
               บทว่า ปรนิมฺมิตวสวตฺติโน ความว่า เทวดาชื่อว่าปรนิมมิตวสวัตดี เพราะตกอยู่ในอำนาจกามที่เทพเหล่าอื่นเนรมิตไว้. อธิบายว่า เทวดาเหล่าอื่นรู้ใจของเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี แล้วเนรมิตกามโภคะให้ตามใจชอบ เทวดาเหล่านั้นจึงตกอยู่ในอำนาจกามโภคะนั้น
               ถามว่า เทวดาเหล่านั้นรู้ใจของผู้อื่นได้อย่างไร?
               แก้ว่า รู้ได้ด้วยสามารถแห่งการคบหากันมาเป็นประจำ.
               อธิบายว่า เหมือนเจ้าพนักงานห้องเครื่อง ผู้ฉลาดรู้พระกระยาหารที่พระราชาผู้เสวย ชอบเสวยฉันใด เทวดาเหล่าอื่นก็รู้อารมณ์ที่เทวดาชั้นปรนิมมิตวัตดี ชอบใจ โดยปกติย่อมเนรมิตอารมณ์เช่นนั้นแหละฉันนั้น เทวดาเหล่านั้นตกอยู่ใต้อำนาจอารมณ์นั้น ย่อมบริโภคกามทั้งหลาย ด้วยสามารถแห่งการเสพเมถุนเป็นต้น
               แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า กามกิจของเทวดาเหล่านั้น ย่อมสำเร็จด้วยเหตุเพียงยิ้มแย้ม ด้วยเหตุเพียงการมองดู ด้วยเหตุเพียงสวมกอด และด้วยเหตุเพียงจับมือ ดังนี้ ในอรรถกถา ท่านค้านคำนั้นไว้ว่า ก็เหตุเพียงการยิ้มแย้มเป็นต้นนั้น ไม่มี.
               อธิบายว่า ผู้ที่ไม่ถูกต้องกันด้วยกาย กามกิจคือโผฏฐัพพะ ย่อมไม่สำเร็จได้เลย. สำหรับเทวดาชั้นกามาวจรทั้ง ๖ มีกามเป็นปกติเหมือนกัน.
               สมดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
                                   พวกเทวดากามาวจรสวรรค์ ๖ ชั้นเหล่านี้
                         เพียบพร้อมไปด้วยกามคุณทั้งปวง อายุของพวก
                         เทวดากามาวจรสวรรค์ ๖ ชั้น นับรวมกันทั้งหมด
                         เป็นเท่าไร?๑-
____________________________
๑- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๑๑๐๖

               พึงทราบวินิจฉัยในพระคาถาทั้งหลายต่อไป.
               บทว่า เย จญฺเญ ได้แก่ เทวดาเหล่าอื่นจากเทวดาที่กล่าวมาแล้ว และมนุษย์ผู้บริโภคกามทั้งสัตว์ผู้เข้าถึงอบายบางเหล่า ทั้งหมด
               บทว่า อิตฺถภาวญฺญถาภาวํ ความว่า เทวดาและมนุษย์เหล่านั้น ย่อมไม่เป็นไปล่วง ถึงไม่ก้าวล่วงสงสารสองประเภท คือ อัตภาพตามที่ได้มานี้ ๑ ความเป็นอย่างอื่นจากนี้ กล่าวคืออุปบัติภพอื่น ๑.
               บทว่า สพฺเพ ปริจฺจเช กาเม ความว่า มนุษย์และเทวดาทั้งหมดนั้น ถึงสละกามทั้งหมด แยกประภทเป็นกามทิพย์เป็นต้น ทั้งที่เป็นวัตถุกาม และกิเลสกาม. อธิบายว่า เมื่อละกิเลสกรรมด้วยอนาคามิมรรคนั่นแหละ ชื่อว่าสละวัตถุกาม.
               บทว่า ปิยรูปสาตรูปคธิตํ ความว่า กำหนัดแล้วยินดีแล้ว ในปิยรูปทั้งหลายด้วยความพอใจสุขเวทนาในรูปเป็นต้น
               บทว่า เฉตฺวา โสตํ ทุรจฺจยํ ความว่า ตัดขาดกระแสตัณหาที่ผู้อื่นก้าวล่วงได้โดยยาก คือข้ามได้ยาก.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วในหนหลังทั้งนั้น ฉะนี้แล.

               จบอรรถกถาอุปปัตติสูตรที่ ๖               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต ปัญจมวรรค อุปปัตติสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 274อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 275อ่านอรรถกถา 25 / 276อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=6392&Z=6407
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=27&A=7532
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=27&A=7532
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓๑  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :