ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 288อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 289อ่านอรรถกถา 25 / 290อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ จตุกกนิบาต
ปุริสสูตร

               อรรถกถาปุริสสูตร               
               ในปุริสสูตรที่ ๑๐ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               ศัพท์ว่า เสยฺยถาปิ เป็นนิบาต ใช้ในอรรถแสดงการเปรียบเทียบความหมายว่า ฉันใด.
               บทว่า นทิยา โสเตน โอวุยฺเหยฺย ความว่า พึงถูกกระแสน้ำของแม่น้ำที่มีกระแสไหลเชี่ยว พัดลงไปใต้ คือนำลงไปข้างล่าง.
               บทว่า ปิยรูปสาตรูเปน ความว่า เขาคิดว่า เราจักเก็บเอาแก้วมณีและทองคำเป็นต้น หรือของที่น่ารัก คือสิ่งของที่เป็นอุปกรณ์แก่ทรัพย์เครื่องปลื้มใจที่มีอยู่ในแม่น้ำนั้น หรือบนฝั่งนอก (ฝั่งหน้า) ของแม่น้ำนั้นกระโดดลงไปในแม่น้ำแล้ว คงจมลอยไปตามกระแสน้ำที่เป็นตัวการ มีสภาพน่ารัก น่าชื่นใจ.
               ศัพท์ว่า กิญฺจาปิ เป็นนิบาตใช้ในความหมายว่า ยอมรับแต่ไม่สรรเสริญ.
               ยอมรับอะไร? ไม่สรรเสริญอะไร?
               ยอมรับสิ่งของที่น่ารักที่ชายคนนั้นต้องประสงค์ ว่ามีอยู่ ณ ที่นั้น แต่ไม่สรรเสริญการไปอย่างนั้น เพราะเป็นสิ่งที่มีโทษ มีคำอธิบายนี้ไว้ว่า
               ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ แม้ว่าสิ่งของที่น่ารักที่ท่านต้องประสงค์จะหาได้ในที่นั้นไซร้ แต่ในเพราะการไปอย่างนี้ จะมีโทษอย่างนี้ คือท่านจะต้องตกถึงห้วงน้ำข้างล่าง แล้วถึงความตายหรือความทุกข์ปางตาย.
               บทว่า อตฺถิ เจตฺถ เหฏฺฐา รหโท ความว่า ในภูมิภาคตามกระแสน้ำด้านใต้แม่น้ำนี้ลงไปมีสระใหญ่สระหนึ่ง ลึกและกว้างเหลือเกิน และสระนั้นชื่อว่ามีคลื่น เพราะคลื่นคือฟองขนาดมหึมา คล้ายกับยอดเขาแก้วมณีที่ก่อตัวขึ้น เพราะถูกลมพัดมารอบด้าน. ชื่อว่ามีน้ำวน โดยมีน้ำวนคล้ายกับไฟใต้น้ำ เหตุที่มีห้วงน้ำใหญ่ไพบูลย์ไหลวนอยู่ในที่นั้นๆ ด้วยห้วงมหรรณพของแม่น้ำนี้ ที่ไหลเชี่ยวกรากมาก่อนในภูมิประเทศที่ไม่เสมอ. ชื่อว่ามีรากษส มีการจับสัตว์กินโดยผีเสื้อน้ำ มีใจดุร้าย ดูน่ากลัวเหลือเกินครอบครองสระนั้นอยู่ ทำสัตว์ทั้งหลายที่ลงสู่ห้วงน้ำนั้นนั่นเอง ให้เป็นเหยื่อของตนเป็นประจำ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่ามีสัตว์ร้าย โดยปลาร้ายและมังกรเป็นต้น. ชื่อว่ามีผีเสื้อ เพราะผีเสื้อน้ำตามที่กล่าวแล้ว.
               บทว่า ยํ ได้แก่ ห้วงน้ำที่มีภัยเฉพาะหน้าอย่างนี้.
               บทว่า อมฺโภ ปุริส เป็นอาลปนะ (คำร้องเรียก).
               บทว่า มรณํ วา นิคจฺฉสิ ความว่า ชายคนนั้นถูกคลื่นเหล่านั้นซัดแล้วหรือตกไปในน้ำวนเหล่านั้นแล้ว ไม่สามารถจะโผล่ศีรษะขึ้นได้ (จักถึงความตาย).
               อีกอย่างหนึ่ง ตกเข้าปากปลาร้ายหรือมังกรเหล่านั้น หรือตกอยู่ในเงื้อมมือผีเสื้อน้ำนั้นแล้ว จักถึงความตายบ้าง.
               ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่อยังมีอายุ (ชีวิต) เหลือรอดพ้นความตายนั้นไปได้ ก็จะเข้าถึงความทุกข์ปางตาย คือความทุกข์ มีความตายเป็นประมาณ โดยถูกคลื่นเป็นต้นเหล่านั้นให้เกิดขึ้นแล้ว และตีซัดแล้ว.
               บทว่า ปฏิโสตํ วายเมยฺย ความว่า เขาเมื่อก่อนลอยไปตามกระแสน้ำ แต่พอได้ยินคำพูดของชายคนนั้นแล้ว เกิดความกลัวเป็นกำลังขึ้นว่า ได้ทราบว่าอนัตถะปรากฏแก่เราแล้ว ดูเหมือนว่าเรากลิ้งเข้าปากมัจจุราชแล้ว จึงควรหมุนตัวกลับ พยายามใช้มือและเท้า โดยเพิ่มอุตสาหะขึ้นเป็นทวีคูณ ไม่ช้าเลยก็จะถึงฝั่ง.
               บทว่า อตฺถสฺส วิญฺญาปนาย ความว่า เราตถาคตทำการเปรียบเทียบไว้ เพื่อให้เข้าใจเนื้อความที่เกื้อกูลแก่การแทงตลอดสัจจะทั้งสี่.
               บทว่า อยญฺเจเวตฺถ อตฺโถ ได้แก่ ข้อความอุปไมยที่ชักเอาอุปมา (คำเปรียบเทียบ) มาเพื่อให้เข้าใจนี้นั่นเอง คือที่กำลังกล่าวอยู่ในบัดนี้ ได้แก่ ที่เราตถาคตประสงค์เอาแล้วในที่นี้ ในคำว่า ตณฺหาเยตํ อธิวจนํ นี้ พึงทราบความคล้ายคลึงกันแห่งกระแสตัณหา โดยอาการ ๔ อย่าง คือ
                         โดยการหลั่งไหลออกมาตามลำดับ ๑
                         โดยการไหลทะยอยกันไปไม่ขาด ๑
                         โดยเป็นเหตุให้จมลง ๑
                         โดยข้ามได้โดยยาก ๑.
               อุปมาเสมือนหนึ่งว่า เมื่อมหาเมฆเบื้องบนหลั่งฝนลงมา น้ำจะเต็มลำธารละหานห้วย เคลื่อนจากลำธารเป็นต้นนั้นแล้วก็จะเต็มหนอง เคลื่อนจากหนองนั้นแล้วก็จะเต็มลำน้ำน้อย (คลอง) จากลำน้ำน้อยนั้นก็จะไหลเข้าสู่ลำน้ำใหญ่ กลายเป็นห้วงน้ำห้วงเดียวไหลไป ชาวโลกเรียกว่า นทีโสต (กระแสน้ำ) ฉันใด
               ความโลภในอารมณ์ทั้งหลายมีรูปเป็นต้นมีประเภทเป็นอเนก ด้วยสามารถแห่งอารมณ์ที่มีอยู่ในภายในและภายนอกเป็นต้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เกิดขึ้นแล้วก็ถึงความเจริญยิ่งขึ้นตามลำดับ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า กระแสตัณหา.
               อนึ่ง กระแสน้ำตั้งแต่ไหลมาจนถึงตกสมุทร เมื่อไม่มีปัจจัยที่จะให้มันขาด ก็จะยังไม่ขาด ไหลติดต่อกันไปตามลำดับ ฉันใด แม้กระแสตัณหาก็เช่นนั้นเหมือนกัน เริ่มต้นแต่ไหลมา เมื่อไม่มีปัจจัยที่จะให้มันขาด ก็จะไม่ขาดลง จะมุ่งหน้าสู่สมุทร คืออบายไหลไปโดยไหลทะยอยกันไปไม่ขาด แต่กระแสน้ำจะให้สัตว์ที่ตกลงไปภายในกระแส จมลงไม่ให้โผล่ศีรษะขึ้นมาได้ ให้ถึงความตายบ้าง ความทุกข์ปางตายบ้างฉันใด ถึงกระแสตัณหาก็ฉันนั้น จะให้สัตว์ผู้ตกลงไปภายในกระแสของตน จมลงไป ไม่ให้โผล่ศีรษะขึ้นมาได้ ให้ถึงความตายบ้าง ความทุกข์ปางตายบ้าง โดยการตัดรากกุศลธรรมให้ขาดไป และโดยการเข้าไปสู่สังกิเลสธรรม.
               อนึ่ง กระแสของแม่น้ำไหลไปอยู่ โดยความเป็นห้วงมหรรณพ ชื่อว่าข้ามได้โดยยาก เพราะ (ผู้จะข้าม) ต้องอาศัยชายฉลาด เพื่อผูกแพหรือต่อเรือและเพื่อนำส่ง สร้างอัธยาศัย (ความตั้งใจ) เพื่อจะไปฝั่งนอกแล้ว ทำความพยายามที่เกิดจากอัธยาศัยนั้นจึงข้ามไปได้ ไม่ใช่คนพอดีพอร้ายก็ข้ามไปได้ฉันใด
               แม้กระแสตัณหาที่เป็นเหมือนห้วงน้ำคือกามและห้วงน้ำคือภพก็ฉันนั้น ชื่อว่าข้ามได้ยาก เพราะผู้มีปัญญาเครื่องรักษาตน เพื่อจะบำเพ็ญสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ต้องตั้งอัธยาศัย (ตั้งใจ) ไว้ว่า เราจักบรรลุอรหัตผล แล้วอาศัยกัลยาณมิตร ลงเรือคือสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ทำความพยายามโดยชอบจึงจะข้ามได้ ไม่ใช่คนพอดีพอร้ายก็ข้ามได้.
               ควรเข้าใจความที่ตัณหาเป็นเสมือนกระแสของแม่น้ำ โดยอาการ ๔ อย่างคือ
                         โดยการหลั่งไหลออกไปตามลำดับ ๑
                         โดยการไหลทะยอยกันไปไม่ขาด ๑
                         โดยการให้จมลง ๑
                         โดยข้ามได้ยาก ๑.
               ดังที่พรรณนามานี้.
               บทว่า ปิยรูปสาตรูปํ ความว่า รูปที่มีสภาพน่ารักในกำเนิดที่น่ารัก ชื่อว่าปิยรูป. รูปที่มีสภาพอร่อย (ชื่นใจ) ในกำเนิดที่อร่อย ชื่อว่าสาตรูป. อธิบายว่า มีสภาพน่าปรารถนา.
               บทว่า ฉนฺเนตํ ตัดบทเป็น ฉนฺนํ เอตํ (คำนี้เป็นชื่อของอายตนะภายใน ๖ อย่าง).
               พึงทราบวินิจฉัย ในคำว่า อชฺฌตฺติกานํ นี้ต่อไป
               อายตนะทั้งหลาย ชื่อว่าอัชฌัตติกะ (ภายใน) เพราะเหมือนเป็นไปแล้ว โดยทำตนเองให้เป็นเรื่องเป็นราว ด้วยความประสงค์นี้ว่า เราทั้งหลายจักถึงการยึดถือว่าเป็นอัตตาอย่างนี้.
               ในคำว่า อชฺฌตฺติกานํ นั้น อัชฌัตตะภายในมี ๔ อย่างคือ
                         โคจรอัชฌัตตะ (อารมณ์ภายใน) ๑
                         นิยกอัชฌัตตะ (ภายในอันเป็นของตน) ๑
                         วิสัยอัชฌัตตะ (วิสัยภายใน) ๑
                         อัชฌัตตอัชฌัตตะ (ภายในจริงๆ) ๑.
               บรรดาอัชฌัตตะ ๔ อย่างนั้น อัชฌัตตะนี้ที่ตรัสไว้ในคำทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า๑- ผู้ยินดีแล้วในภายใน เป็นผู้ตั้งมั่นแล้ว ชื่อว่าโคจรอัชฌัตตะ.
               อัชฌัตตะนี้ที่มาแล้วว่า๒- ความผ่องใส (แห่งใจ) ภายใน ชื่อว่านิยกอัชฌัตตะ.
               อัชฌัตตะนี้ที่มาแล้วอย่างนี้ว่า๓- เพราะไม่ได้มนสิการถึงนิมิตทั้งหมด พระโยคาวจรจึงเข้าถึงความว่างภายในอยู่ ชื่อว่าวิสยอัชฌัตตะ.
               อัชฌัตตะที่ตรัสไว้ในคำนี้ว่า๔- ธรรมทั้งหลายที่เป็นภายใน ธรรมทั้งหลายที่เป็นภายนอก ชื่อว่าอัชฌัตตอัชฌัตตะ (อัชฌัตตะจริงๆ).
               แม้ในที่นี้ ก็ทรงประสงค์เอาอัชฌัตตะข้อนี้เท่านั้น.
               เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า อัชฌัตตะนั้นเอง ชื่อว่าอัชฌัตติกะ.
____________________________
๑- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๓๕
๒- ที. สี. เล่ม ๙/ข้อ ๑๒๘   อภิ. สงฺ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๑๘๕
๓- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๓๔๖
๔- อภิ. สงฺ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๑๑

               อีกอย่างหนึ่ง อายตนะทั้งหลายมีจักษุเป็นต้นที่มีอยู่ในภายในเหล่านั้น เหมือนในประโยคทั้งหลายมีอาทิว่า ธรรมภายใน ธรรมภายนอก ชื่อว่าอัชฌัตติกะ เพราะอรรถตามที่กล่าวมาแล้วนั่นแหละ คำว่า อายตนานํ นั่นเป็นชื่อของอายตนะที่เป็นไปภายในเหล่านั้น.
               ในคำว่า อายตนานํ นี้ มีอธิบายว่า
               ธรรมชาติทั้งหลาย ชื่อว่าอายตนะ เพราะเป็นที่เกิด ๑ เพราะเป็นที่ขยายไปแห่งสิ่งน่าชื่นใจ เพราะนำไปสู่วัฏฏะที่ยาวยืด ๑ เพราะว่า ธรรมทั้งหลายคือจิต และเจตสิกที่มีทวารนั้นๆ บรรดาจักขุทวารเป็นต้น เป็นที่ตั้งย่อมเกิดขึ้นคือตั้งขึ้น ได้แก่สืบต่อ หมายความว่าพยายามไปตามหน้าที่ของตนๆ มีการเสวยอารมณ์เป็นต้น และอายตนะเหล่านี้ย่อมต่อ คือขยายธรรมเหล่านั้นที่เป็นสิ่งน่าชื่นใจ.
               อนึ่ง วัฏทุกข์ใดที่หมุนไปในสงสารที่ไม่มีใครตามพบที่สุด คือยาวยืดเหลือเกิน อายตนะทั้งหลายจะนำไป คือหมุนไปสู่วัฏทุกข์นั้น ดังนั้น ธรรมเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกว่าอายตนะโดยประการทั้งปวง เพราะเป็นที่เกิด เพราะขยายสิ่งที่น่าชื่นใจ และเพราะนำไปสู่วัฏฏะที่ยาวยืด.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบว่า ชื่อว่าอายตนะ เพราะหมายความว่าเป็นสถานที่อยู่อาศัย ๑ เพราะหมายความว่าเป็นบ่อเกิด ๑ เพราะหมายความว่าเป็นสถานที่ชุมนุมกัน ๑ เพราะหมายความว่าเป็นถิ่นกำเนิด ๑ และเพราะหมายความว่าเป็นเหตุ ๑.
               จริงอย่างนั้น ในทางโลก สถานที่เป็นที่อยู่อาศัย เรียกกันว่าอายตนะ (ถิ่นที่อยู่) เช่นในประโยคทั้งหลายมีอาทิว่า อิสสรายตนะ (ถิ่นของพระอิศวร) เทวายตนะ (ถิ่นของเทวดา) บ่อเกิด เรียกว่า อายตนะ เช่นในประโยคทั้งหลายว่า บ่อทอง สุวณฺณายตนํ. บ่อแก้ว รตนายตนํ.
               แต่ในทางศาสนา สถานที่ประชุมกัน เรียกว่าอายตนะ เช่นในคาถาทั้งหลายมีอาทิว่า นกทั้งหลายประชุมกันในที่อันเป็นที่รื่นรมย์ใจ.
               ถิ่นกำเนิด เรียกว่าอายตนะ เช่นในประโยคทั้งหลายมีอาทิว่า ทักขิณาบถเป็นที่กำเนิดของโคทั้งหลาย. เหตุเรียกว่าอายตนะ เช่นในประโยคทั้งหลายมีอาทิว่า เขาถึงภาวะที่จะต้องศึกษาในที่นั้นๆ นั่นแหละ เมื่อมีเหตุ (ที่สมควร).
               อนึ่ง ธรรมคือจิตและเจตสิกเหล่านั้นๆ อาศัยอยู่ที่จักขุทวารเป็นต้น เพราะมีพฤติกรรมเกี่ยวเนื่องกับจักขุทวารเป็นต้นเหล่านั้น เพราะเหตุนั้น จักขุทวารเป็นต้นนั้น จึงชื่อว่าเป็นสถานที่อยู่อาศัยของธรรมคือจิตและเจตสิกเหล่านั้น. และธรรมเหล่านั้นกลาดเกลื่อนอยู่ในจักขุทวารเป็นต้นเหล่านั้น เพราะอาศัยจักขุทวารเป็นต้นนั้น เพราะเหตุนั้น จักขุทวารเป็นต้นจึงชื่อว่าเป็นบ่อเกิดของธรรมเหล่านั้น. อายตนะชื่อว่าเป็นสถานที่ชุมนุม เพราะเป็นที่มารวมกัน (แห่งธรรมทั้งหลาย) ในจักขุทวารเป็นต้นนั้น โดยเป็นที่ตั้งและเป็นประตู และชื่อว่าเป็นถิ่นกำเนิด เพราะธรรมเหล่านั้นเกิดขึ้นที่จักขุทวารเป็นต้นนั้นนั่นเอง โดยเป็นที่อาศัยของธรรมเหล่านั้น ทั้งชื่อว่าเป็นเหตุ เพราะเมื่อจักษุเป็นต้นไม่มี ธรรมคือจิตและเจตสิกเหล่านั้นก็ไม่มี จึงเป็นอันว่าจักขุทวารเป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่าอายตนะ เพราะเหตุเหล่านี้ คือเพราะหมายความว่าเป็นสถานที่อยู่อาศัย ๑ เพราะหมายความว่าเป็นบ่อเกิด ๑ เพราะหมายความว่าเป็นสถานที่ชุมนุม ๑ เพราะหมายความว่าเป็นถิ่นกำเนิด ๑ เพราะหมายความว่าเป็นเหตุ ๑. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า คำว่า อายตนานํ นี้ เป็นชื่อของอายตนะภายในทั้ง ๖ ดังนี้.
               ถ้าว่าธรรมทั้งหลายแม้มีรูปเป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้โดยเป็นปิยรูป สาตรูป (รูปเป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจ) เพราะเป็นที่ตั้งแห่งตัณหาว่า ตัณหานี้เมื่อจะเกิด ก็เกิดขึ้นที่รูปอันเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ภิกษุทั้งหลาย คำว่า ปิยรูปสาตรูปนี้แล เป็นชื่อของอายนะภายใน ๖ ดังนี้ เพื่อจะทรงแสดงว่าจักษุเป็นต้น เหมาะที่จะขยายความ (นิเทศ) ว่าเป็นปิยรูปสาตรูปที่ดีเหลือเกิน เพราะเป็นที่ตั้งแห่งความเสน่หาอย่างยิ่ง โดยนัยมีอาทิว่า จักษุของเรา โสตของเรา เพราะพ้นจักษุเป็นต้นไปแล้ว การบัญญัติว่าอัตตา ก็จะมีไม่ได้.
               กามธาตุ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่าเป็นของต่ำ ในคำว่า โอรมฺภาคิยานํ นี้ (อกุศลธรรม) ที่เนื่องด้วยกามธาตุนั้น ชื่อว่าโอรัมภาคะ (เป็นส่วนเบื้องต่ำ) สังโยชน์ที่ประกอบด้วยส่วนเบื้องต่ำ (โอรัมภาคะ) นั้นโดยความเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าโอรัมภาคิยะ. กิเลสชาต ชื่อว่าสังโยชน์ เพราะประกอบบุคคลผู้มีกิเลสชาตไว้ในวัฏฏะ.
               คำนี้เป็นชื่อของสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะและพยาบาท.
               อธิบายว่า สังโยชน์เหล่านั้นเป็นปัจจัยของสังขารทั้งหลายที่เข้าถึงกามภพ ผูกสัตว์ทั้งหลายไว้ด้วยกามภพซึ่งเป็นส่วนต่ำ เพราะเป็นของต่ำ คือเป็นของเลวกว่ารูปธาตุและอรูปธาตุ ด้วยคำว่า โอรมฺภาคิยา นั่นนั้นเอง พึงทราบว่า พระองค์ได้ทรงแสดงถึงความที่สังโยชน์เหล่านั้นเป็นเช่นกับด้วยห้วงน้ำที่อยู่ภายใต้.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่า อุมฺมิภยํ นี้แล เป็นชื่อของความโกรธและความคับแค้นใจ. ชื่อว่าภัย เพราะเป็นแดนกลัว ภัยคือคลื่น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าอุมมิภัย. ชื่อว่าโกธะ เพราะหมายความว่าโกรธเคือง ความโกรธนั่นเอง. ชื่อว่าอุปายาส เพราะหมายความว่า เกาะไว้แน่นโดยการบีบบังคับใจและกาย และการเกิดความสั่นสะท้านขึ้น และในคำว่าอุปายาสนี้ พึงทราบความที่ความโกรธและความคับใจ เป็นเช่นกับคลื่น เพราะกลิ้งไปทับสัตว์ที่มีกำลังเสมอตนหลายวาระ ไม่ให้ผงกหัวขึ้นมาได้แล้วให้ถึงความพินาศย่อยยับไป.
               อนึ่ง พึงทราบความที่กามคุณทั้งหลายเป็นเช่นกับด้วยน้ำวน เพราะให้สัตว์ทั้งหลายที่ถูกกิเลสครอบงำแล้ว ท่องเที่ยวไปในอัตตา (ตน) กล่าวคืออารมณ์มีรูปที่ชื่นใจเป็นต้นอย่างนี้ คือจากรูปนี้ไปรูปนั่น และจากรูปนั้นมารูปนี้ แล้วให้เวียนวนไปโดยไม่ให้แม้จิตเกิดขึ้นในเนกขัมมะที่เป็นสิ่งนอกจากกามคุณนั้นแล้วให้ถึงความเสื่อมเสียไป
               อุปมาเสมือนหนึ่งว่า แม้รากษสจับกุมสัตว์กินข่มขู่จับคนผู้เข้าไปในแดนที่หากินของตน ผู้เว้นจากการระมัดระวัง ถึงคนผู้อยู่ในที่ที่ไม่ใช่แดนหากิน (ของมัน) ก็นำเอาไปสู่แดนหากิน (ของมัน) ด้วยเล่ห์ของรากษสแล้วทำเขาผู้หมดอำนาจให้ไม่สามารถจะช่วยตัวเองได้ พะเน้าพะนอ ปรนนิบัติ แม้ด้วยวรรณะ พละ โภคะ ยศและความสุข ให้ถึงความพินาศย่อยยับอย่างใหญ่หลวงฉันใด.
               แม้มาตุคามก็ฉันนั้น ข่มขู่จับชายผู้ไม่เข้มแข็งเว้นจากโยนิโสมนสิการด้วยเยื้องกราย คือการยิ้มของตนที่เป็นเล่ห์กระเท่ของหญิง ถึงชายชาติผู้เข้มแข็ง ก็พะเน้าพะนอด้วยมายาหญิง โดยการประเล้าประโลมด้วยรูปของตนเป็นต้น ทำชายผู้หมดอำนาจให้เป็นผู้ไม่สามารถจะยังธรรมที่เป็นอุปการะแก่ตนมีศีลเป็นต้น ให้ถึงพร้อมได้ปรนปรือด้วยการสรรเสริญคุณความดีเป็นต้น แล้วให้ถึงความพินาศย่อยยับอย่างใหญ่หลวง. พึงทราบความที่มาตุคามเป็นเช่นกับด้วยรากษสจับกุมสัตว์ดังที่พรรณนามานี้
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่า อาวฏฺฏํ นี้แล เป็นชื่อของกามคุณทั้ง ๕ และคำว่า คาหรกฺขโส นี้แลเป็นชื่อของมาตุคาม.
               การบรรพชา ปฐมฌานพร้อมด้วยอุปจาร วิปัสสนาปัญญา และนิพพาน ชื่อว่าเนกขัมมะ ในคำว่า ปฏิโสโตติ โข ภิกฺขเว เนกฺขมฺมสฺเสตํ อธิวจนํ (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่า ทวนกระแสนี้แล เป็นชื่อของเนกขัมมะ) นี้ กุศลธรรมแม้ทั้งหมด ก็ชื่อว่าเนกขัมมะ.
               สมจริงดังที่พระองค์ได้ตรัสคำนี้ไว้ว่า
                                   กุศลธรรมแม้ทั้งหมด คือบรรพชา ปฐมฌาน
                         นิพพาน และวิปัสสนา เราตถาคตเรียกว่าเนกขัมมะ.

               ก็ผู้ศึกษาพึงทราบความที่บรรพชาเป็นต้นเหล่านี้ เป็นเช่นกับการทวนกระแส โดยการทวนต่อกระแสแห่งตัณหา. เพราะว่า โดยความไม่แปลกกันแล้ว ธรรมวินัย ชื่อว่าเนกขัมมะ. การตั้งใจของเขา ๑ การบรรพชาของเขา ๑ ธรรมวินัย ๑ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า ทวนกระแสตัณหา.
               สมจริงตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำนี้ไว้ว่า
                                   ผู้กำหนัดแล้วด้วยอำนาจราคะ ถูกกองแห่ง
                         ความมืดปิดบังไว้แล้ว จะไม่เห็นพระธรรมที่ไป
                         ทวนกระแส (พระนิพพาน) ที่ละเมียดละไม ลึกซึ้ง
                         เห็นได้ยาก และละเอียด.

____________________________
๕- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๔๒   ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๓๒๑   สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๕๕๕

               บทว่า วิริยาสมฺภสฺส ความว่า ผู้มีความเพียรประกอบด้วยสัมมัปปธาน ๔ อย่าง ความคล้ายคลึงกันของการข้ามพ้นกระแสตัณหา แยกออกเป็นกามโอฆะเป็นต้นแห่งพระโยคาวจรนั้น (กับ) ความพยายามเพื่อข้ามพ้นกระแสน้ำของจตุรงคิกเสนา ด้วยมือด้วยเท้า เป็นที่ปรากฏชัดแล้วทีเดียว ความคล้ายคลึงกันของบุรุษผู้มีจักษุ ยืนริมฝั่งแม่น้ำที่มีกระแสเชี่ยว (กับ) พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีพระจักษุโดยจักษุ ๕ ประการ ผู้เสด็จข้ามโอฆะทั้ง ๔ มีกามโอฆะเป็นต้นได้แล้ว ประทับยืนบนบกคือพระนิพพานที่เป็นฝั่งนอกของห้วงน้ำนั้น เป็นสิ่งที่ปรากฏชัดแล้วเช่นกัน. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า จกฺขุมา ปุริโส ฯเปฯ สมฺพุทฺธสฺส บุรุษผู้มีจักษุ ฯลฯ สัมมาสัมพุทธเจ้า.
               ในเรื่องนั้น มีคำเปรียบเทียบกับอุปไมยดังต่อไปนี้
               กระแสตัณหาที่กำลังไหลไป โดยการไหลทะยอยกันเหมือนกระแสน้ำในแม่น้ำ. สัตว์ที่ถูกกระแสตัณหาพัดไปโดยการหมุนเวียนไปในสังสารวัฏที่ไม่มีใครตามพบที่สุดเหมือนบุรุษที่ถูกกระแสน้ำพัดไป. ความยึดมั่นในจักษุเป็นต้นของพระโยคาวจรนี้เหมือนความยึดมั่นในปิยรูปสาตรูปนั้นของบุรุษนั้น. การชุมนุมแห่งสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ อย่าง ที่คับคั่งไปด้วยความโกรธ ความคับใจ กามคุณและมาตุคาม เหมือนห้วงน้ำภายใต้ที่มีคลื่นมีน้ำวนและรากษส.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงมีสมันตจักษุ (ทรงเห็นได้รอบด้าน) ทรงทราบโทษของสงสารวัฏทั้งหมด และเญยยธรรมทั้งมวลแล้ว เสด็จประทับยืนบนบกคือพระนิพพานที่เป็นฝั่งนอกแห่งกระแสตัณหา เหมือนบุรุษผู้มีจักษุทราบเนื้อความนั้นตามความจริงแล้ว ยืนอยู่ที่ฝั่งนอกแห่งกระแสของแม่น้ำนั้น.
               การที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอธิบายตัณหาเป็นต้น และโทษของตัณหานั้นให้แจ่มชัด ด้วยพระมหากรุณาแก่สัตว์ผู้ถูกกระแสตัณหาพัดพาไป เหมือนการที่บุรุษผู้มีจักษุบอกห้วงน้ำและโทษของห้วงน้ำด้วยความกรุณาแก่บุรุษคนนั้นผู้ถูกพัดพาไปในกระแสแห่งแม่น้ำนั้น.
               การเข้าถึงอบายก็ดี การเข้าถึงทุกข์ในสุคติก็ดี ของผู้ไม่รับเอาพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า เหมือนการถึงความตายและการประสบความทุกข์ปางตายในห้วงน้ำนั้นของบุรุษคนนั้น ผู้ไม่เชื่อฟังถ้อยคำของบุรุษผู้มีจักษุนั้นไปตามกระแสน้ำ.
               อนึ่ง การรับเอาพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ปรารภความเพียรด้วยสามารถแห่งเนกขัมมะ มีการพิจารณาโทษในตัณหาเป็นต้น แล้วบวชทวนกระแสแห่งตัณหาเป็นต้น และการก้าวล่วงกระแสตัณหาด้วยการปรารภความเพียรนั้นนั่นเอง คือการถึงฝั่งคือพระนิพพาน แล้วอยู่อย่างสบายตามชอบใจด้วยอำนาจอรหัตผลสมาบัติ เหมือนการเชื่อถ้อยคำของบุรุษคนนั้น (ผู้ชี้โทษให้เห็น) แล้วทำความพยายามด้วยมือและเท้า (มือพุ้ยน้ำและเท้าถีบน้ำ) และเหมือนการถึงฝั่งนอกด้วยความพยายามนั้นแล้วไปสู่สถานที่ๆ ตนต้องการ ได้อย่างสะดวกสบาย ดังนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาทั้งหลาย (ต่อไป)
               บทว่า สหาปิ ทุกฺเขน ชเหยฺย กาเม ความว่า ภิกษุ เมื่อทำความเพียรเนืองๆ ในสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อบรรลุฌานและมรรค ถ้าหากบรรดาข้อปฏิบัติเหล่านั้น บุพภาคปฏิบัติสำเร็จได้โดยยากโดยลำบาก คือลงสู่วิถีไม่ได้โดยสะดวก ด้วยบุพภาคภาวนา เพราะกิเลสทั้งหลายยังมีกำลัง หรือเพราะความเพียรยังไม่แก่กล้าไซร้ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็พึงละกามได้แม้พร้อมด้วยความลำบาก คือพึงใช้ปฐมฌานข่มไว้พลาง ใช้มรรคที่ ๓ ตัดขาดไปพลาง จะละกามกิเลสได้ ด้วยคำว่า สหาปิ ทุกเขน กาเม นั่น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงฌานและมรรคที่เป็นทุกขาปฏิปทา.
               บทว่า โยคกฺเขมํ อายตึ ปฏฺฐยาโน ความว่า ปรารถนา คือมุ่งหวังพระอรหัตผลที่ตนยังไม่ถึง.
               จริงอยู่ ในข้อนี้มีอธิบายดังต่อไปนี้ คือ
               เธอปรารถนาอยู่ว่า แม้ถ้าหากว่า เราจะบรรลุฌานและมรรคเบื้องสูงได้โดยยากโดยลำบากในบัดนี้ไซร้ แต่เราก็จะอาศัยฌานนี้และมรรคเบื้องสูงนี้ บรรลุอรหัตผลแล้วจักเป็นผู้เสร็จกิจ ละทุกข์ทั้งปวงเสียได้ดังนี้แล้ว พึงละกามทั้งหลายพร้อมด้วยฌานเป็นต้นได้โดยลำบาก.
               อีกอย่างหนึ่ง บุคคลใดมากด้วยกามวิตก บวชปฏิบัติการชำระศีลหรือข้อปฏิบัติเบื้องต้นของฌานเป็นต้นอยู่ด้วยอำนาจของกัลยาณมิตร มีน้ำตานองหน้าร้องไห้ไป ข่มวิตกไปโดยยากโดยลำบาก พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาบุคคลนั้นว่า พึงละกามพร้อมด้วยความลำบาก เพราะว่ากุลบุตรนั้นเมื่อละกามได้โดยยากเย็น ให้ฌานเกิดขึ้นแล้ว ทำฌานนั้นให้เป็นเบื้องบาท พิจารณาเห็นแจ้งอยู่ พึงดำรงอยู่ในอรหัตผลตามลำดับ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า ปรารถนาธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะต่อไป.
               บทว่า สมฺปชาโน ความว่า รู้ทั่วถึงโดยชอบนั่นเอง ด้วยมรรคปัญญาที่ประกอบด้วยวิปัสสนา.
               บทว่า สุวิมุตฺตจิตฺโต ได้แก่ เป็นผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วด้วยดี ด้วยผลวิมุตติ ในลำดับแห่งการบรรลุอริยมรรคนั้น.
               บทว่า วิมุตฺติยา ผสฺสเย ตตฺถ ตตฺถ ความว่า พึงสัมผัสคือถึง ได้แก่บรรลุ หมายความว่า ทำให้แจ้งซึ่งวิมุตติ คือพระนิพพาน ในเวลาบรรลุมรรคผลนั้นๆ แท้จริงคำว่า วิมุตฺติยา นี้เป็นฉัฏฐีวิภัตติใช้ในความหมายของทุติยาวิภัตติ.
               อีกอย่าง พึงสัมผัสคือถูกต้อง ได้แก่ถึงมรรคจิตของตนด้วยวิมุตติที่เป็นอารมณ์ในเวลานั้นๆ คือในเวลาเข้าผลสมาบัตินั้นๆ.
               อธิบายว่า พึงอยู่ด้วยผลสมาบัติที่หยั่งลงสู่พระนิพพาน.
               บทว่า ส เวทคู ความว่า ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้จบพระเวท เพราะถึงคือแทงตลอดสัจจะ ๔ อย่างด้วยมรรคญาณ กล่าวคือพระเวท.
               บทว่า โลกนฺตคู ความว่า เป็นผู้ไปจบแดนขันธโลก.
               คำที่เหลือเข้าใจง่ายอยู่แล้ว.

               จบอรรถกถาปุริสสูตรที่ ๑๐               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ จตุกกนิบาต ปุริสสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 288อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 289อ่านอรรถกถา 25 / 290อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=6694&Z=6715
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=27&A=8611
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=27&A=8611
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓๑  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :