ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 364อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 373อ่านอรรถกถา 25 / 380อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต มหาวรรค
เสลสูตร

               อรรถกถาเสลสูตรที่ ๗               
               เสลสูตร มีคำเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ดังนี้.
               พระสูตรนี้มีการเกิดขึ้นอย่างไร?
               ท่านกล่าวถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นไว้ในนิทานแห่งเสลสูตรนั้นแล้ว. แม้ในลำดับการพรรณนาความแห่งสูตรนี้ ก็เช่นเดียวกันกับสูตรก่อน พึงทราบโดยนัยที่กล่าวไว้แล้วในสูตรก่อนนั่นแล.
               ก็บทใดยังไม่ได้กล่าวไว้ เราจักเรียบเรียงบททั้งหลายที่มีความง่าย พรรณนาบทนั้น.
               บทว่า องฺคุตฺตราเปสุ ได้แก่ ชนบทนั้นนั่นแหละ ชื่อว่าอังคา. อังคาใดชื่อว่า อาปะ ที่ซับน้ำมีอยู่ทางทิศเหนือของแม่น้ำคงคา. ท่านเรียกว่าอุตตราปะ ก็มี เพราะอยู่ไม่ไกลแม่น้ำเหล่านั้น.
               ถามว่า อังคาใดที่ชื่อว่า อาปะอยู่ทางทิศเหนือของแม่น้ำคงคาตอนไหน?
               ตอบว่า แม่น้ำคงคาที่ชื่อว่า มหามหี.
               เพื่อความแจ่มแจ้งของแม่น้ำนั้นในสูตรนี้จะพรรณนาตั้งแต่ต้น.
               มีเรื่องเล่ามาว่า ชมพูทวีปนี้มีประมาณหนึ่งหมื่นโยชน์. ในชมพูทวีปนั้นพื้นที่ประมาณ ๔ พันโยชน์ถูกน้ำท่วม จึงเรียกว่า สมุทร. พวกมนุษย์อาศัยอยู่ในเนื้อที่ประมาณ ๓ พันโยชน์ มีเขาหิมพานต์ตั้งอยู่ในเนื้อที่ ๓ พันโยชน์โดยส่วนสูงประมาณ ๕๐๐ โยชน์ ประดับด้วยยอด ๘๔,๐๐๐ ยอด โดยรอบวิจิตรตระการไปด้วยมหานทีทั้งห้าไหลบ่าลงโดยยาวและกว้างประมาณ ๑๐๐ โยชน์ เพราะลึกมาก มีบริเวณรอบๆ ประมาณ ๑๕๐ โยชน์ มีสระใหญ่ ๗ สระ มีสระอโนดาตเป็นต้นตั้งอยู่ ดังได้กล่าวไว้แล้วในอรรถกถาปูรฬาสสูตร.
               ใน ๗ สระนั้น สระอโนดาตล้อมไปด้วยภูเขา ๕ ลูกเหล่านี้ คือ สุทัสสนกูฏ จิตรกูฏ กาฬกูฏ คันธมาทนกูฏ เกลาสกูฏ. ในภูเขา ๕ ลูกนั้น สุทัสสนกูฏสำเร็จด้วยทองคำ สูง ๒๐๐ โยชน์ ภายในคดมีสัณฐานคล้ายปากของกาตั้งปกคลุมสระนั้นอยู่ จิตรกูฏสำเร็จด้วยรัตนะทั้งปวง กาฬกูฏสำเร็จด้วยไม้อัญชัน คันธมาทนกูฏสำเร็จด้วยแก้วตาแมว ภายในมีสีเหมือนถั่วเขียว ดาดาษไปด้วยโอสถหลายอย่าง ในวันอุโบสถข้างแรมรุ่งเรืองเหมือนถ่านถูกไฟเผา เกลาสกูฏสำเร็จด้วยเงิน ทั้งหมดมีส่วนสูงเท่ากันกับสุทัสสนะ ตั้งปกคลุมสระนั้น.
               สระทั้งหมด ฝนตกอยู่ด้วยอานุภาพของเทวดาและอานุภาพของนาค.
               อนึ่ง แม่น้ำไหลลงไปในสระเหล่านั้น น้ำทั้งหมดนั้นไหลลงสู่สระอโนดาต. พระจันทร์และพระอาทิตย์โคจรผ่านไปทางทิศใต้หรือทิศเหนือ ทำให้สระนั้นได้แสงสว่างโดยระหว่างภูเขา เมื่อโคจรไปตรงๆ ไม่ทำให้สว่าง. ด้วยเหตุนั้น สระนั้นจึงชื่อว่าอโนดาต.
               ในสระอโนดาตนั้นมีท่าลงอาบน้ำ มีน้ำใสงดงาม ไม่มีปลาและเต่า ใสสะอาดคล้ายแก้วผลึก มีน้ำใสสะอาด ตกแต่งไว้อย่างงดงาม. พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระขีณาสพและหมู่ฤาษีพากันอาบน้ำที่สระนั้น ทั้งพวกเทวดาและยักษ์เป็นต้นก็พากันเล่นสนุกสนานในอุทยานนั้น.
               ที่ขอบฝั่งทั้งสี่ของสระนั้นมีสี่ปาก สระ ๔ ปาก คือปากสีหะ ๑ ปากช้าง ๑ ปากม้า ๑ ปากโคอุสภะ ๑. แม่น้ำทั้งสี่สายไหลออกจากปากสระนั้น. ที่ฝั่งแม่น้ำอันไหลออกจากปากสีหะมีสีหะมากกว่า จากปากช้างเป็นต้น มีช้างม้าและโคอุสภะมากกว่า. แม่น้ำไหลออกจากทางทิศตะวันออก ไหลเวียนไปทางขวาสระอโนดาต ๓ รอบ มิได้อาศัยแม่น้ำ ๓ สายนอกนี้ ไหลไปทางของอมนุษย์ทางด้านป่าหิมพานต์ทางทิศตะวันออกแล้วไหลลงมหาสมุทร. แม้แม่น้ำที่ไหลออกจากทิศตะวันตกและจากทิศเหนือ ก็ไหลเวียนขวาเหมือนกัน แล้วไหลไปทางของอมนุษย์ทางป่าหิมพานต์ด้านตะวันตกและป่าหิมพานต์ด้านเหนือแล้วไหลลงมหาสมุทร.
               ส่วนแม่น้ำที่ไหลออกจากทิศด้านใต้ก็ไหลเวียนขวา ๓ รอบแล้วไหลตรงไปทางใต้ สิ้นทาง ๖๐ โยชน์บนหลังหินนั่นเอง แล้วกระทบภูเขาไหลไปเป็นสายน้ำประมาณ ๓ คาวุตโดยส่วนกว้าง ไหลไป ๖๐ โยชน์ทางอากาศแล้วตกลงบนแผ่นหินชื่อติยัคคฬะ. และแผ่นหินแตกด้วยกำลังสายน้ำ ณ ที่นั้นก็เกิดสระโบกขรณีชื่อติยัคคฬะประมาณ ๕๐ โยชน์ ทำลายฝั่งสระโบกขรณีไหลเข้าไปยังแผ่นหินไปได้ ๖๐ โยชน์ จากนั้นก็ทำลายแผ่นดินหนาทึบ ไหลลงไปประมาณ ๖๐ โยชน์ทางอุโมงค์ กระทบติรัจฉานบรรพตชื่อว่าวิชฌะ แยกออกเป็น ๕ สายคล้ายนิ้วทั้ง ๕ บนฝ่ามือไหลไป.
               สายน้ำทั้ง ๕ นั้น ในที่ที่ไหลเวียนขวาสระอโนดาต ๓ รอบ เรียกว่า อาวัฏฏคงคา ในที่ที่ไหลตรงไปตามหลังแผ่นหิน ๖๐ โยชน์ เรียกว่า อากิณณคงคา. ในที่ที่ไหลไปทางอากาศ ๖๐ โยชน์ เรียกว่า อากาศคงคา. สายน้ำตกลงบนแผ่นหินชื่อว่าติยัคคฬะ ตั้งอยู่บนที่ว่างประมาณ ๕๔ โยชน์ ท่านจึงเรียกว่าติยัคคฬโบกขรณี. สายน้ำในที่ที่ทำลายฝั่งแล้วไหลเข้าไปยังแผ่นหิน ไหลไปประมาณ ๖๐ โยชน์ เรียกว่า พหลคงคา. สายน้ำในที่ที่ทำลายแผ่นดินแล้วไหลไปทางอุโมงค์สิ้น ๖๐ โยชน์ เรียกว่า อุมมังคคงคา.
               สายน้ำในที่ที่เป็น ๕ สาย กระทบดิรัจฉานบรรพตชื่อว่าวิชฌะแล้วไหลไป ท่านเรียกว่าปัญจธารา (แม่น้ำ ๕ สาย) คือ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี. มหาคงคาทั้ง ๕ เหล่านี้มีหิมะตก. ในแม่น้ำ ๕ สายเหล่านั้น แม่น้ำสายที่ ๕ ชื่อมหีนั่นแหละท่านประสงค์เอาชื่อว่า มหามหีคงคา ในที่นี้.
               อาปะใดทางทิศเหนือของแม่น้ำคงคา อาปะนั้นเป็นชนบท เพราะไม่ไกลสายน้ำเหล่านั้น พึงทราบว่าชื่อ อังคุตตราปะ.
               บทว่า จาริกํ จรมาโน เสด็จจาริกไป คือเดินทางไป.
               ในบทนั้น พึงทราบการจาริกของพระผู้มีพระภาคเจ้ามีสองอย่าง คือ ตุริตจาริกา (จาริกรีบด่วน) ๑ อตุริตจาริกา (จาริกไม่รีบด่วน) ๑.
               ในจาริกสองอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นบุคคลที่ควรโปรดในที่ไกลก็รีบเสด็จไป ชื่อว่า ตุริตจาริกา. ตุริตจาริกานั้นพึงเห็นในการต้อนรับพระมหากัสสปเป็นต้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปต้อนรับพระมหากัสสปนั้นได้เสด็จไปถึง ๓ คาวุตเพียงครู่เดียวเท่านั้น, ได้เสด็จไป ๓๐ โยชน์เพื่อทรงทรมานอาฬวกยักษ์, ได้เสด็จไป ๓๐ โยชน์เพื่อโปรดองคุลิมาล, ได้เสด็จไป ๔๕ โยชน์เพื่อโปรดปุกกุสาติพราหมณ์, ได้เสด็จไป ๑๒๐ โยชน์เพื่อโปรดพระเจ้ามหากัปปินะ. ได้เสด็จไปทางไกลประมาณ ๗๐๐ โยชน์ เพื่อโปรดธนิยะ. นี้ชื่อว่า ตุริตจาริกา เสด็จโดยรีบด่วน.
               การเสด็จไปเพื่ออนุเคราะห์โลกด้วยการเที่ยวไปบิณฑบาตตามลำดับ บ้าน นิคม นคร ชื่อว่า อตุริตจาริกา เสด็จโดยไม่รีบด่วน.
               อตุริตจาริกานี้ ท่านประสงค์เอาในที่นี้ ด้วยเหตุนี้จึงกล่าว จาริกํ จรมาโน.
               บทว่า มหตา ใหญ่ คือใหญ่โดยจำนวนและใหญ่โดยคุณ. บทว่า ภิกฺขุ สงฺเฆน คือ หมู่สมณะ. บทว่า อฑฺฒเตรเสหิ ๑๒ ครึ่ง. ท่านอธิบายว่า กับภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป.
               บทว่า เยน ฯเปฯ ตทวสริ เสด็จถึงนิคมของชาวอังคุตตราปะ ชื่อว่าอาปณะ นิคมนั้นได้ชื่อว่าอาปณะ เพราะมีตลาดมาก.
               ได้ยินว่า ที่นิคมนั้นมีตลาดใหญ่จ่ายของกันถึงสองหมื่นตลาด. ผู้คนได้เดินทางมารวมกันที่นิคมแห่งรัฐของชาวอังคุตตราปะทั่วทุกทิศ ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้เสด็จถึงนิคมนั้น.
               บทว่า เกณิโย ชฏิโล ชฎิลมีชื่อว่า เกณิยะ.
               คำว่า ชฏิโล ความว่า เป็นดาบส.
               เล่ากันมาว่า เกณิยชฎิลนั้นเป็นพราหมณ์มหาศาล แต่เพื่อรักษาทรัพย์จึงถือบรรพชาเป็นดาบส ถวายเครื่องบรรณาการแด่พระราชา จับจองภาคพื้นสร้างอาศรมอาศัยอยู่ ณ ที่นั้น มีผู้อาศัยอยู่ด้วยหนึ่งพันตระกูล.
               อาจารย์บางพวกกล่าวว่า แม้ที่อาศรมของเกณิยชฎิลนั้นมีต้นตาลอยู่ต้นหนึ่ง หล่นผลเป็นทองคำผลหนึ่งทุกๆ วัน. เกณิยชฎิลนั้น เวลากลางวันนุ่งห่มผ้ากาสาวะและสวมชฎา เวลากลางคืนเอิบอิ่มเพียบพร้อมบำเรอด้วยกามคุณห้าตามสบาย.
               บทว่า สกฺยปุตฺโต แสดงถึงตระกูลชั้นสูง.
               บทว่า สกฺยกุลา ปพฺพชิโต ทรงผนวชจากศากยตระกูล แสดงถึงการบวชด้วยศรัทธา. ท่านอธิบายไว้ว่า เป็นผู้มิได้ถูกความเสื่อมไรๆ ครอบงำ ละตระกูลนั้นทั้งที่ไม่เสื่อมออกทรงผนวชด้วยศรัทธา.
               บทว่า ตํ โข ปน เป็นทุติยาวิภัตติลงในอรรถแห่งอิตถัมภูตะ (ฉัฏฐีวิภัตติ) ได้ความเป็น ตสฺส โข ปน โภโต โคตมสฺส ของพระโคดมผู้เจริญนั้นแล.
               บทว่า กลฺยาโณ งาม คือประกอบด้วยคุณอันเป็นความงาม. ท่านอธิบายว่า ประเสริฐที่สุด.
               บทว่า กิตฺติสทฺโท กิตติศัพท์ คือชื่อเสียงหรือประกาศยกย่อง.
               ก็ในบทมีอาทิว่า อิติปิ โส ภควา นี้ โยชนาแก้ไว้เพียงเท่านี้.
               ท่านอธิบายว่า ด้วยเหตุนี้ๆ ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์แม้ด้วยเหตุนี้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแม้ด้วยเหตุนี้ ฯลฯ เป็นผู้มีโชคแม้ด้วยเหตุนี้ ดังนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า อรหํ ดังนี้
               พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์เป็นอรหันต์ด้วยเหตุเหล่านี้ก่อนคือ เพราะเป็นผู้ไกลจากกิเลส เพราะเป็นผู้กำจัดข้าศึกคือกิเลส และหักซี่กำคือกิเลส เพราะเป็นผู้ควรแก่ปัจจัยเป็นต้น เพราะไม่มีความลับในการทำบาป.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเป็นผู้ไกลจากกิเลสทั้งปวง เพราะกำจัดกิเลสพร้อมด้วยวาสนา ด้วยมรรค เพราะฉะนั้น จึงเป็นพระอรหันต์ เพราะเป็นผู้ไกล.
               อนึ่ง พระองค์กำจัดข้าศึกคือกิเลสเสียได้ด้วยมรรค เพราะฉะนั้น จึงทรงพระนามว่า อรหํ เพราะทรงกำจัดข้าศึกเสียได้.
               อนึ่ง ดุมคืออวิชชา ภวตัณหา ซี่ล้อคืออภิสังขารมีบุญเป็นต้น กงคือชราและมรณะ เสียบด้วยเพลาอันสำเร็จด้วยสมุทัยคืออาสวะประกอบเข้าไปในรถคือภพ ๓ มีสงสารเป็นล้อแล่นไปในกาลอันไม่มีเบื้องต้น พระองค์ดำรงอยู่บนปฐพีคือศีล ด้วยพระบาทคือความเพียร ณ โพธิมณฑล ทรงถือขวานคือญาณอันกระทำให้สิ้นกรรม ด้วยพระหัตถ์คือศรัทธาแล้วทรงกำจัดซี่กำทั้งปวงเสียได้ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงพระนามว่า อรหํ เพราะกำจัดซี่กำเสียได้.
               อนึ่ง เพราะพระองค์เป็นทักขิไณยบุคคลผู้เลิศ จึงสมควรรับปัจจัยมีจีวรเป็นต้น และเครื่องสักการะและความเคารพเป็นต้น เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงพระนามว่า อรหํ เพราะเป็นผู้ควรแก่ปัจจัยเป็นต้น.
               อนึ่ง พระองค์ไม่ทรงทำความชั่วไม่ว่าในที่ไหนๆ เหมือนคนพาลสำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต บางพวกในโลกย่อมทำบาปในที่ลับ เพราะเกรงจะไม่มีใครสรรเสริญ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงพระนามว่า อรหํ เพราะไม่มีความลับในการทำบาป.
               อนึ่ง ในบทว่า อรหํ นี้ มีคาถาดังนี้
                         อารกตฺตา หตตฺตา จ    กิเลสารีน โส มุนิ
                         หตสงฺสารจกฺกาโร    ปจฺจยาทีน จารโห
                         น รโห กโรติ ปาปานิ    อรหํ เตน ปวุจฺจติ
                                   พระมุนีนั้น เพราะเป็นผู้ไกลจากกิเลส
                         และเพราะเป็นผู้กำจัดข้าศึกคือกิเลสเสียได้
                         เป็นผู้กำจัดซี่วงล้อคือสังสารจักรเสียได้ และ
                         เป็นผู้ควรแก่ปัจจัยเป็นต้น ไม่ทำบาปในที่ลับ
                         ด้วยเหตุนั้น บัณฑิตจึงขนานพระนามว่า อรหํ.

               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า สมฺมาสมพุทฺโธ เพราะตรัสรู้สัจธรรมโดยชอบ และด้วยพระองค์เอง. ทรงพระนามว่า วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน เพราะประกอบด้วยวิชชาอันบริสุทธิ์สมบูรณ์และด้วยจรณะอันสูงสุด. ทรงพระนามว่า สุคโต เพราะเสด็จไปดี เพราะเสด็จไปสู่ฐานะอันดี เพราะเสด็จไปด้วยดี และเพราะตรัสรู้โดยชอบ. ทรงพระนามว่า โลกวิทู เพราะทรงรู้โลกด้วยประการทั้งปวง.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงรู้สังขารโลกอันมีขันธ์และอายตนะเป็นต้น โดยประการทั้งปวง คือโดยสภาวะ โดยสมุทัย โดยนิโรธ โดยอุบายแห่งนิโรธ. ทรงรู้สังขารโลกแม้โดยประการทั้งปวงอย่างนี้ คือ
               โลกหนึ่ง ได้แก่ สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงอยู่ได้ด้วยอาหาร.
               โลกสอง คือ นามและรูป.
               โลกสาม คือ เวทนาสาม.
               โลกสี่ คือ อาหารสี่.
               โลกห้า คือ อุปาทานขันธ์ห้า.
               โลกหก คือ อายตนะภายในหก.
               โลกเจ็ด คือ วิญญาณฐิติเจ็ด.
               โลกแปด คือ โลกธรรมแปด.
               โลกเก้า คือ สัตตาวาสเก้า.
               โลกสิบ คือ อายตนะสิบ.
               โลกสิบสอง คือ อายตนะสิบสอง.
               โลกสิบแปด คือ ธาตุสิบแปด.๑-
____________________________
๑- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๒๗๕

               ทรงรู้สัตวโลกแม้โดยประการทั้งปวง คือทรงรู้อัธยาศัยของสัตว์ทั้งหลาย ทรงรู้กิเลสอันนอนเนื่องอยู่ในสันดานของสัตว์ทั้งหลาย ทรงรู้จริต ทรงรู้อารมณ์ ทรงรู้สัตว์มีธุลีคือกิเลสน้อย สัตว์มีธุลีคือกิเลสมาก สัตว์มีอินทรีย์กล้า สัตว์มีอินทรีย์อ่อน สัตว์มีอาการดี สัตว์มีอาการชั่ว สัตว์ให้รู้ได้ง่าย สัตว์ให้รู้ได้ยาก สัตว์เป็นภัพพะ (ควรตรัสรู้ได้) สัตว์เป็นอภัพพะ (ไม่ควรตรัสรู้).
               อนึ่ง จักรวาลหนึ่งโดยยาวและโดยกว้าง หนึ่งล้านสองแสนสามพันสี่ร้อยห้าสิบโยชน์ แต่โดยรอบสามล้านหกแสนหนึ่งหมื่นสามร้อยห้าสิบโยชน์.
               ในบทว่า โลกวิทู นั้นพึงทราบต่อไปนี้
                                   แผ่นดินนี้นับด้วยความหนาสองแสน
                         สี่หมื่นโยชน์ (ตั้งอยู่บนน้ำ) น้ำตั้งอยู่บนลม
                         ด้วยความหนาสี่แสนแปดหมื่นโยชน์ ลมอุ้ม
                         ขึ้นสู่ท้องฟ้ามีความหนาเก้าแสนหกหมื่น
                         นี้คือสัณฐานของโลก.
               เมื่อโลกมีสัณฐานอย่างนี้ พึงทราบต่อไปว่า
                                   ภูเขาสิเนรุสูงสุดในบรรดาภูเขา หยั่ง
                         ลึกลงไปในมหาสมุทร แปดหมื่นสี่พันโยชน์
                         สูงขึ้นไปก็เท่านั้นเหมือนกัน แต่นั้นภูเขา
                         ใหญ่อันเป็นทิพย์ อันวิจิตรด้วยแก้วนานา
                         ชนิด จมลงในมหาสมุทรและผุดขึ้นตาม
                         ลำดับโดยประมาณครึ่งหนึ่งๆ คือ ภูเขา
                         ยุคันธระ อิสินธระ กรวิกะ สุทัสสนะ เนมิน
                         ธระ วินตกะ อัสสกัณณะ
                                   ภูเขาทั้ง ๗ นี้ ล้วนมีหินขนาดใหญ่
                         อยู่โดยรอบภูเขาสิเนรุ เป็นที่อยู่ของมหาราช
                         เทวดาและยักษ์สิงสถิตอยู่
                                   ภูเขาหิมพานต์สูงห้าร้อยโยชน์ โดย
                         ยาว และโดยกว้างสามพันโยชน์ ประดับด้วย
                         ยอดแปดหมื่นสี่พันยอด ภูเขาล้อมด้วยต้นไม้
                         ๓๕ โยชน์โดยรอบ ต้นไม้และกิ่งไม้ยาว ๕๐
                         โยชน์ กว้าง ๑๐๐ โยชน์ ต้นไม้รอบๆ มีลำ
                         ต้นขนาด ๓ โยชน์บ้าง ๕ โยชน์บ้าง โตโดย
                         รอบลำต้นตลอดปลายกิ่ง ๕๐ โยชน์แผ่ออก
                         ไป ๑๐๐ โยชน์ สูงขึ้นไปก็เท่านั้นเหมือนกัน
                                   ต้นไม้นั้นชื่อว่าต้นชมพู ด้วยอานุภาพ
                         ของต้นชมพูจึงเรียกว่าชมพูทวีป ต้นชมพูหยั่ง
                         ลงในห้วงน้ำใหญ่สองหมื่นแปดพันโยชน์ สูง
                         ขึ้นก็เท่านั้นเหมือนกัน ศิลาจักรวาลที่ผุดขึ้น
                         ตั้งล้อมภูเขาทั้งหมด สำเร็จเป็นจักรวาล.
               ในบทว่า โลกวิทู นั้นพึงทราบวินิจฉัยต่อไป
               จันทมณฑล ๔๙ โยชน์ สุริยมณฑล ๕๐ โยชน์ ดาวดึงสพิภพหนึ่งหมื่นโยชน์ อสุรภพ อเวจีมหานรกและชมพูทวีปก็เหมือนกัน อมรโคยานทวีปเจ็ดพันโยชน์ ปุพวิเทหทวีปก็เหมือนกัน อุตรกุรุทวีปแปดพันโยชน์ มหาทวีปหนึ่งๆ ในที่นี้มีทวีปน้อยห้าร้อยๆ เป็นบริวาร. ทั้งหมดนั้นเป็นจักรวาล เป็นโลกธาตุหนึ่ง ในระหว่างจักรวาล เป็นโลกันตริยนรก.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้โอกาสโลกด้วยประการทั้งปวงว่า จักรวาลไม่มีที่สุด โลกธาตุไม่มีที่สุด ทรงรู้ด้วยพุทธญาณไม่มีที่สุด. พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเป็นโลกวิทู เพราะทรงรู้โลกด้วยประการทั้งปวงด้วยประการฉะนี้.
               ทรงพระนามว่า อนุตฺตโร เพราะไม่มีใครๆ ประเสริฐกว่า ด้วยคุณของพระองค์.
               ทรงพระนามว่า ปุริสทมฺมสารถิ เพราะยังบุรุษที่พอฝึกได้ให้แล่นไป โดยอุบายแนะนำอันแนบเนียน.
               ทรงพระนามว่า สตฺถา เพราะทรงพร่ำสอน และทรงให้ไตร่ตรองตามควรด้วยทิฏฐธัมมิกประโยชน์ สัมปรายิกประโยชน์ และปรมัตถประโยชน์ การถือกำเนิดเป็นเทวดาและมนุษย์ด้วยกำหนดอย่างอุกฤษฎ์ และด้วยการกำหนดถึงบุคคลที่สมควร แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงพร่ำสอนคนสัตว์ทั้งหลายมีนาคเป็นต้นด้วยประโยชน์เป็นโลกิยะ. ชื่อว่าผู้ที่ควรแนะนำได้ยังมีอยู่.
               ทรงพระนามว่า พุทฺโธ เพราะตรัสรู้ทุกอย่างด้วยชื่ออันมีในที่สุดแห่งวิโมกข์. ก็เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
                                   ภาคฺยวา ภคฺควา ยุตฺโต ภเคหิ จ วิภตฺตวา
                                   ภตฺตวา วนฺตคมโน ภเวสุ ภควา ตโต

                         เป็นผู้มีโชค เป็นผู้ทำลายกิเลส เป็นผู้ประกอบ
                         ด้วยโชคทั้งหลาย เป็นผู้แจก เป็นผู้จำแนก เป็น
                         ผู้คายการไปในภพทั้งหลาย ฉะนั้น จึงทรงพระ
                         นามว่า ภควา
.
               นี้เป็นความสังเขปในบทนี้.
               ส่วนโดยพิสดารท่านกล่าวบทเหล่านี้ไว้ในวิสุทธิมรรคแล้ว.
               บทว่า โส อิมํ โลกํ คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงทำโลกนี้.
               บัดนี้ควรชี้แจงข้อที่ควรกล่าว.
               บททั้งหลายว่า สเทวกํ เป็นต้นมีนัยดังได้กล่าวแล้วในกสิภารทวาชสูตรและอาฬวกสูตรเป็นต้น.
               บทว่า สยํ แปลว่า เอง คือควรแนะนำผู้อื่น. บทว่า อภิญฺญา ได้แก่ ด้วยพระปัญญาอันยิ่ง. บทว่า สจฺฉิกตฺวา คือ ทำให้ประจักษ์. บทว่า ปเวเทติ คือ ให้รู้ ให้แจ้ง ให้ชัด.
               บทว่า โส ธมฺมํ เทเสติ ฯเปฯ ปริโยสานกลฺยาณํ พระองค์ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด.
               ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงอาศัยความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย ทรงละความสุขเกิดแต่วิเวกแล้วทรงแสดงธรรม. เมื่อทรงแสดงธรรมนั้นน้อยก็ตาม มากก็ตาม ทรงแสดงมีประการงามในเบื้องต้นเป็นอาทิ.
               ทรงแสดงอย่างไร เพราะแม้คาถาหนึ่งก็ทำความเจริญได้โดยรอบ งามในเบื้องต้นด้วยบทที่หนึ่งของธรรม งามในท่ามกลางด้วยบทที่สอง งามในที่สุดด้วยบทสุดท้าย.
               พระสูตรที่มีอนุสนธิเป็นอันเดียวกัน งามในเบื้องต้นด้วยนิทาน งามในที่สุดด้วยบทสรุป งามในท่ามกลางด้วยบทที่เหลือ.
               พระสูตรที่มีอนุสนธิต่างกัน งามในเบื้องต้นด้วยอนุสนธิต้น งามในที่สุดด้วยบทสุดท้าย งามในท่ามกลางด้วยบทที่เหลือ.
               ศาสนธรรมทั้งสิ้นงามในเบื้องต้นด้วยศีลอันเป็นประโยชน์ของตน งามในท่ามกลางด้วยสมถะวิปัสสนา มรรคและผล งามในที่สุดด้วยนิพพาน.
               อีกอย่างหนึ่ง งามในเบื้องต้นด้วยศีลและสมาธิ งามในท่ามกลางด้วยวิปัสสนาและมรรค งามในที่สุดด้วยผลและนิพพาน.
               อีกอย่างหนึ่ง งามในเบื้องต้นเพราะการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า งามในท่ามกลางเพราะพระธรรมเป็นธรรมที่ดี งามในที่สุดเพราะการปฏิบัติชอบของพระสงฆ์.
               อีกอย่างหนึ่ง งามในเบื้องต้นด้วยการตรัสรู้ยิ่ง เพราะฟังธรรมนั้นแล้วเห็นจริง เพราะผู้ปฏิบัติพึงบรรลุได้ งามในท่ามกลางด้วยการตรัสรู้ของพระปัจเจกพุทธเจ้า งามในที่สุดด้วยการตรัสรู้ของพระสาวก.
               อนึ่ง เมื่อฟังธรรมนั้นย่อมนำมาซึ่งความงามด้วยการฟัง เพราะข่มนิวรณ์เป็นต้นได้ เพราะฉะนั้น จึงงามในเบื้องต้น เมื่อปฏิบัติย่อมนำมาซึ่งความงามในการปฏิบัติ เพราะนำมาซึ่งความสุขอันเกิดแต่สมถะและวิปัสสนา เพราะฉะนั้น จึงงามในท่ามกลาง. อนึ่ง ครั้นปฏิบัติอย่างนั้นแล้ว เมื่อสำเร็จผลแห่งการปฏิบัติ ย่อมนำมาซึ่งความงามด้วยผลแห่งการปฏิบัติ เพราะนำมาซึ่งความเป็นผู้คงที่ เพราะฉะนั้น จึงงามในที่สุด.
               อนึ่ง งามในเบื้องต้นเพราะเป็นแดนเกิดแห่งที่พึ่ง งามในท่ามกลางเพราะบริสุทธิ์ด้วยประโยชน์ งามในที่สุดเพราะบริสุทธิ์ด้วยกิจ.
               เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงธรรมน้อยก็ตามมากก็ตาม ย่อมทรงแสดงธรรมมีลักษณะอันงามในเบื้องต้นเป็นต้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทมีอาทิว่า สาตฺถํ สพฺยญฺชนํ ดังต่อไปนี้.
               เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงธรรมนี้ ย่อมประกาศศาสนพรหมจรรย์และมรรคพรหมจรรย์ทรงแสดงโดยนัยต่างๆ ชื่อว่าพร้อมทั้งอรรถ เพราะสมบูรณ์ด้วยอรรถตามความเกิดอย่างไร ชื่อว่าพร้อมทั้งพยัญชนะ เพราะความสมบูรณ์ด้วยพยัญชนะ ชื่อว่าพร้อมทั้งอรรถ เพราะประกอบเสมอด้วยความคล้ายกัน การประกาศ การขยายความ การจำแนก การทำให้ง่าย การบัญญัติและบทแห่งอรรถ ชื่อว่าพร้อมทั้งพยัญชนะ เพราะสมบูรณ์ด้วยอักขระ บท พยัญชนะ อาการ ภาษาและการแนะนำ ชื่อว่าพร้อมทั้งอรรถ เพราะลึกซึ้งด้วยอรรถ และลึกซึ้งด้วยปฏิเวธ ชื่อว่าพร้อมทั้งพยัญชนะ เพราะลึกซึ้งด้วยธรรม ลึกซึ้งด้วยการแสดง ชื่อว่าพร้อมทั้งอรรถ เพราะเป็นวิสัยแห่งการแตกฉานด้วยอรรถและปฏิภาณ ชื่อว่าพร้อมทั้งพยัญชนะ เพราะเป็นวิสัยแห่งการแตกฉานด้วยธรรมและภาษา ชื่อว่าพร้อมทั้งอรรถ เพราะยังชนผู้พิจารณาให้เลื่อมใส โดยรู้สึกว่าเป็นบัณฑิต พร้อมทั้งพยัญชนะ เพราะยังโลกิยชนให้เลื่อมใส โดยความเป็นสิ่งควรเชื่อได้ ชื่อว่าพร้อมทั้งอรรถ เพราะประสงค์ความลึกซึ้ง ชื่อว่าพร้อมทั้งพยัญชนะ เพราะเป็นบทง่าย ชื่อว่าบริบูรณ์สิ้นเชิง เพราะบริบูรณ์ทั้งสิ้นโดยที่ไม่มีสิ่งควรนำเข้าไป ชื่อว่าบริสุทธิ์ เพราะไม่มีโทษโดยที่ไม่มีสิ่งควรนำออกไป ชื่อว่าพรหมจรรย์ เพราะเป็นธรรมอันผู้เป็นพรหมคือผู้ประเสริฐควรประพฤติ และเพราะความที่ธรรมเหล่านั้นเป็นสิ่งควรประพฤติ เพราะกำหนดเอาสิกขา ๓.
               ฉะนั้น เกณิยชฎิลจึงกล่าวว่า สาตฺถํ สพฺยญฺชนํ ฯเปฯ พฺรหฺมจริยํ ปกาเสสิ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ดังนี้.
               อีกประการหนึ่ง เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงธรรมพร้อมด้วยเหตุและพร้อมด้วยเรื่องที่เกิดขึ้น จึงทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น เมื่อจะทรงแสดงธรรมงามในท่ามกลางโดยสมควรแก่เวไนยชนทั้งหลายและโดยประกอบด้วยเหตุและอุทาหรณ์ เพราะไม่ให้ความวิปริต และเมื่อจะทรงแสดงธรรมงามในที่สุด โดยให้ผู้ฟังได้ศรัทธาและโดยสรุป จึงทรงประกาศพรหมจรรย์.
               ท่านกล่าวธรรมนั้น ชื่อว่าพร้อมทั้งอรรถ เพราะฉลาดในอธิคมตามลำดับ. ชื่อว่าพร้อมทั้งพยัญชนะ เพราะฉลาดในอาคมแห่งปริยัติ. ชื่อว่าบริบูรณ์สิ้นเชิง เพราะประกอบด้วยธรรมขันธ์ ๕ มีศีลเป็นต้น. ชื่อว่าบริสุทธิ์ เพราะไม่มีอุปกิเลส และเพราะไม่เพ่งถึงโลกามิสอันเป็นไปเพื่อความข้ามพ้น. ชื่อว่าพรหมจรรย์ เพราะเป็นสิ่งควรประพฤติของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย. ที่ชื่อว่าเป็นพรหม ด้วยอรรถว่าเป็นผู้ประเสริฐ
               ฉะนั้น เกณิยชฎิลจึงกล่าวว่า โส ธมฺมํ เทเสติ ฯเปฯ พฺรหฺมจริยํ ปกาเสติ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ฯลฯ ทรงประกาศพรหมจรรย์ ดังนี้.
               บทว่า สาธุ โข ปน คือ เป็นความดีแล. อธิบายว่า นำประโยชน์ นำความสุขมาให้.
               บทว่า ธมฺมิยา กถาย ด้วยธรรมีกถา ได้แก่อันประกอบด้วยอานิสงส์ของน้ำปานะ. ด้วยว่าในตอนเย็นเกณิยชฎิลนี้ได้ข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมา เป็นผู้มีแต่มือเปล่าๆ จะไปเฝ้าพระพุทธเจ้าก็ละอายคิดว่า น้ำปานะย่อมสมควรแก่ท่านผู้เว้นการบริโภคในเวลาวิกาลดังนี้ จึงให้หาบน้ำพุทราที่ปรุงอย่างดีด้วยคาน ๕๐๐ หาบ แล้วไป.
               ดังที่ท่านกล่าวไว้ในเภสัชชขันธกะว่า ครั้งนั้นแล เกณิยชฏิลได้เกิดปริวิตกว่า เราควรนำเข้าไปถวายแด่พระสมณโคดมดีหรือหนอ.๒-
____________________________
๒- วิ. มหา. เล่ม ๕/ข้อ ๘๖

               ทั้งหมดพึงทราบดังต่อไปนี้.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้แจงเกณิยชฏิลให้เห็นจริงถึงอานิสงส์ของการถวายน้ำปานะ ด้วยกถาประกอบด้วยอานิสงส์ของการถวายน้ำปานะอันสมควรในขณะนั้น เหมือนทรงชี้แจงเจ้าศากยะทั้งหลายด้วยกถาประกอบด้วยอานิสงส์ของการถวายที่พักในเสขสูตร๓- ทรงชี้แจงกุลบุตร ๓ คนด้วยกถาประกอบด้วยรสแห่งสามัคคีในโคสิงคสาลวนสูตร๔- ทรงชี้แจงภิกษุทั้งหลายผู้มีชาติภูมิเดียวกัน ด้วยกถาประกอบด้วยกถาวัตถุ ๑๐ ในรถวินีตสูตร๕- ฉะนั้น ทรงให้เกณิยชฎิลขวนขวายสมาทานเพื่อทำบุญเห็นปานนั้นต่อไป ทรงให้เกณิยชฎิลเกิดอุตสาหะอาจหาญยิ่งขึ้น ทรงสรรเสริญให้เกณิยชฎิลร่าเริงด้วยผลวิเศษอันจะมีในภพนี้และภพหน้า. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ธมฺมิยา กถาย สมฺปหํเสสิ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้เกณิยชฎิลร่าเริงด้วยธรรมีกถาดังนี้.
____________________________
๓- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๒๔-๓๕
๔- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๓๖๑-๓๖๘
๕- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๒๙๒-๓๐๐

               เกณิยชฎิลเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างยิ่ง จึงกราบทูลนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปฏิเสธเขาถึง ๓ ครั้งแล้วจึงรับนิมนต์. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อถ โข เกณิโย ชฏิโล ฯเปฯ อธิวาเสสิ ภควา ตุณฺหีภาเวน
               ครั้งนั้นแล เกณิยชฎิลทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปฏิเสธเพื่ออะไร. เพราะวิงวอนบ่อยๆ เกณิยชฎิลจักมีความเจริญด้วยบุญและจักตระเตรียมให้มากยิ่งขึ้น. ของที่เตรียมไว้สำหรับภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป ก็จะถึงแก่ภิกษุ ๑,๕๕๐ รูป.
               หากจะถามว่า ภิกษุอีก ๓๐๐ รูปมาจากไหน.
               ตอบว่า ก็เมื่อเกณิยชฎิลยังไม่ได้เตรียมอาหารนั่นแหละ เสลพราหมณ์พร้อมด้วยมาณพ ๓๐๐ คนจักบวช พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นเหตุนั้น จึงตรัสอย่างนี้.
               บทว่า มิตฺตามจฺเจ ได้แก่ มิตรและกรรมกร. บทว่า ญาติสาโลหิเต ได้แก่ บุตรธิดาเป็นต้นถือกำเนิดเดียวกันมีเลือดเสมอกันและเผ่าพันธุ์ที่เหลือ. บทว่า เยน คือ เพราะเหตุใด. บทว่า เม แปลว่า ของข้าพเจ้า. บทว่า กายเวยฺยาวฏิกํ คือ ขวนขวายด้วยกาย. บทว่า มณฺฑลมาลํ ปฏิยาเทติ เกณิยชฎิลตกแต่งโรงปะรำเอง คือตกแต่งมณฑปดาดเพดานขาว.
               บทว่า ติณฺณํ เวทานํ ได้แก่ อิรุพเพท ยชุพเพท สามเวท. รวมคัมภีร์นิฆัณฑุศาสตร์ และคัมภีร์เกฏุภศาสตร์เป็นสนิฆัณฑุเกฏุภศาสตร์. บทว่า นิฆณฺฑุ คือ คัมภีร์บอกคำต่างกันแต่ความหมายเหมือนกันของต้นไม้เป็นต้นชื่อว่านิฆัณฑุ. บทว่า เกฏุภํ คือ ความเหมือนและความกำหนดคำกิริยา เป็นคัมภีร์เพื่อช่วยกวีทั้งหลาย. พร้อมกับประเภทอักษรแห่งประเภทเป็นไปกับอักขระ. บทว่า อกฺขรปฺปเภโท ได้แก่ การศึกษาและภาษา. บทว่า อิติหาสปญฺจมานํ ชื่อว่า อิติหาสปญฺจมา เพราะทำอาถรรพนเวทเป็นที่ ๔ แล้วมีอิติหาสอันเป็นคำเก่าประกอบด้วยคำเช่นนี้ว่า อิติห อาส อิติห อาส เป็นที่ ๕. ประเภทอักษรเหล่านั้นมีอิติหาสเป็นที่ ๕. เสลพราหมณ์เป็นผู้เข้าใจบท เข้าใจไวยากรณ์เพราะเรียนและรู้บทและไวยากรณ์อันนอกเหนือจากบทนั้น. เสลพราหมณ์ชื่อว่าเป็นผู้ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะและตำราทำนายมหาปุริสลักษณะ เพราะเป็นผู้เรียนจบครบบริบูรณ์ในคัมภีร์โลกายตะและคัมภีร์วิตัณฑวาทศาสตร์ และคัมภีร์มหาปุริสลักษณศาสตร์ ๑๒,๐๐๐ อันเป็นคัมภีร์หลักของคัมภีร์มหาปุริสลักษณะ ท่านอธิบายว่า ไม่มีเสื่อม. ผู้ใดไม่สามารถทรงจำคัมภีร์เหล่านั้นได้โดยอรรถและโดยคันถะ ผู้นั้นชื่อว่าเสื่อม.
               วิหารที่มีระเบียงเป็นทางเดินชื่อว่าชังฆาวิหาร. ท่านอธิบายว่า ทางที่เที่ยวไปไม่ไกลเพื่อเหยียดแข้ง เพื่อบรรเทาความเมื่อยอันเกิดแต่นั่งนานเป็นต้น.
               บทว่า อนุจงฺกมมาโน ได้แก่ เดินไป. บทว่า อนุวิจรมาโน ได้แก่ เดินเที่ยวไปข้างโน้นข้างนี้. บทว่า เกณิยสฺส ชฏิลสฺส อสฺสโม ได้แก่ อาศรมอันเป็นที่อยู่ของเกณิยชฎิล.
               บทว่า อาวาโห ได้แก่ นำหญิงสาวมา. บทว่า วิวาโห ได้แก่ ให้หญิงสาวไป. บทว่า มหายญฺโญ ได้แก่ การบูชาใหญ่. บทว่า มาคโธ ได้แก่ ผู้เป็นใหญ่ของชาวมคธ. ชื่อเสนิยะ เพราะประกอบด้วยเสนาหมู่ใหญ่. บทว่า พิมฺพิ คือ ทองคำ. เพราะฉะนั้น ชื่อว่าพิมพิสาร เพราะมีวรรณะเช่นกับทองคำแท่ง. บทว่า โส เม นิมนฺติโต ความว่า ข้าพเจ้านิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้ามา.
               ลำดับนั้น พราหมณ์ได้ยินเสียงว่าพุทธะ เพราะความที่ตนสร้างสมบุญมาก่อนจึงเหมือนรดด้วยน้ำอมฤต มีความประหลาดใจกล่าวว่า เกณิยะผู้เจริญ ท่านกล่าวว่า พุทฺโธ หรือ. เกณิยะบอกตามความจริง กล่าวว่า ท่านเสละผู้เจริญ ข้าพเจ้ากล่าวว่า พุทฺโธ เพื่อให้แน่นอน. เสละได้ถามย้ำอีก. เกณิยะก็บอกอย่างนั้น.
               ลำดับนั้น เสลพราหมณ์เมื่อจะแสดงความที่เสียงว่า พุทธะ หาได้ยากแม้ตลอดแสนกัป จึงกล่าวว่า แม้เสียงประกาศว่า พุทฺโธ นี้แลก็หาได้ยากในโลก.
               ลำดับนั้น พราหมณ์ได้ยินเสียงว่าพุทธะ จึงคิดใคร่จะทดลองดูว่า ท่านผู้นั้นเป็นพุทธะจริง หรือเป็นพุทธะเพียงชื่อเท่านั้น จึงได้กล่าวว่า อาคตานิ โข ปน ฯเปฯ วิวฏจฺฉโท
               ความว่า พระมหาบุรุษผู้ประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการมาในมนต์ของพวกเรา ฯลฯ ถ้าเสด็จออกบวชเป็นบรรพชิตจะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือกิเลสอันเปิดแล้วในโลก.
               บทว่า มนฺเตสุ คือ ในเวททั้งหลาย.
               เทวดาชั้นสุทธาวาสได้ข่าวว่าพระตถาคตจักทรงอุบัติจึงรีบแปลงเพศเป็นพราหมณ์ ใส่พระลักษณะเข้าไปแล้วบอกเวททั้งหลาย ด้วยคิดว่า บรรดาสัตว์ผู้มีศักดิ์ใหญ่จักรู้จักพระตถาคต โดยดูตามพระลักษณะนั้น. ด้วยเหตุนั้น มหาปุริสลักษณะจึงมาในเวททั้งหลายก่อน แต่ครั้นพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว เวททั้งหลายก็หายไปโดยลำดับ เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว.
               บทว่า มหาปุริสสฺส ได้แก่ บุรุษผู้ใหญ่ด้วยคุณมีความตั้งใจ การสมาทาน และญาณเป็นต้น.
               บทว่า เทฺวว คติโย ได้แก่ ความสำเร็จสองอย่างนั้นเอง.
               อนึ่ง คติ ศัพท์นี้ย่อมเป็นไปในประเภทของภพในประโยคมีอาทิว่า๖- ปญฺจ ปนิมา โข สารีปุตฺต คติโย ดูก่อนสารีบุตร ก็คติเหล่านี้แลมี ๕.
               เป็นไปในที่เป็นที่อยู่ในประโยคมีอาทิว่า๗- คติ มิคานํ ปวนํ ป่าใหญ่เป็นที่อยู่ของเนื้อทั้งหลาย.
               เป็นไปในปัญญาในประโยคมีอาทิว่า๘- เอวํ อธิมตฺคติมนฺโต มีปัญญายิ่งอย่างนี้.
               เป็นไปในความบริสุทธิ์ในประโยคมีอาทิว่า๙- คติคตํ ถึงความบริสุทธิ์.
____________________________
๖- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๑๗๐
๗- วิ. ปริ. เล่ม ๘/ข้อ ๑๐๔๔
๘- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๑๙๒
๙- วิ. จุล. เล่ม ๖/ข้อ ๖๑๒

               แต่ในที่นี้พึงทราบว่าเป็นไปในความสำเร็จ.
               ผู้ประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะถึงจะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิก็จริง แต่ไม่เป็นพระพุทธเจ้า แต่ชนทั้งหลายก็เรียกกันไปว่าอย่างนั้นอย่างนี้แหละ โดยสามัญสำนึก เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่า เยหิ สมนฺนาคตสฺส ผู้ประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ.
               บทว่า สเจ อคารํ อชฺฌาวสติ คือ ถ้าอยู่ครองเรือน.
               บทว่า ราชา โหติ จกฺกวตฺตี จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ.
               ความว่า ชื่อว่าราชา เพราะยังชาวโลกให้ยินดีด้วยอัจฉริยธรรมและด้วยสังคหวัตถุ ชื่อว่าจักรพรรดิ เพราะยังจักรรัตนะให้หมุนไป ย่อมหมุนไปด้วยจักรอันเป็นสมบัติ ๔ อย่าง และยังผู้อื่นให้หมุนไปด้วยจักรสมบัติเหล่านั้น มีการหมุนไปแห่งจักรคืออิริยาบถเพื่อประโยชน์ผู้อื่น.
               ในสองบทนี้ บทว่า ราชา เป็นชื่อ.
               บทว่า จกฺกวตตี เป็นวิเสสนะ.
               ชื่อ ธมฺมิโก เพราะประพฤติโดยธรรม. อธิบายว่า เป็นไปด้วยความรู้ ด้วยความเสมอ. ชื่อ ธมฺมราชา เพราะได้ราชสมบัติโดยธรรมแล้วเป็นพระราชา.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อ ธมฺมิโก เพราะบำเพ็ญธรรมเพื่อประโยชน์ผู้อื่น. ชื่อ ธมฺมราชา เพราะบำเพ็ญเพื่อประโยชน์ตน.
               ชื่อว่า จาตุรนฺโต เพราะเป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต. อธิบายว่า เป็นใหญ่ในแผ่นดินมีสมุทร ๔ เป็นที่สุด และมีทวีป ๔ เป็นเครื่องประดับ.
               ชื่อว่า วิชิตาวี เพราะทรงชนะข้าศึกมีความโกรธเป็นต้นในภายในและพระราชาทั้งหมดในภายนอก.
               บทว่า ชนปทตฺถาวริยปฺปตฺโต มีราชอาณาจักรมั่นคง คือถึงความเจริญ ความมั่นคงในชนบทอันใครๆ ไม่สามารถทำให้หวั่นไหวได้. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ชนปทตฺถาวริยปตฺโต เพราะชนบทถึงความมั่นคงในความเจริญนั้น ไม่มีการขวนขวายยินดีในการงานของตน ไม่หวั่นไหว ไม่สั่นสะเทือนบ้าง.
               บทว่า เสยฺยถีทํ เป็นนิบาต. ความว่า รัตนะ ๗ มีอะไรบ้าง. รัตนะ ๗ เหล่านี้คือ จักรแก้ว ๑ ช้างแก้ว ๑ ม้าแก้ว ๑ แก้วมณี ๑ นางแก้ว ๑ คหบดีแก้ว ๑ ปริณายกแก้ว ๑ ทั้งหมดท่านกล่าวไว้แล้วในอรรถกถารัตนสูตร.
               ในรัตนะเหล่านั้น พระเจ้าจักรพรรดิทรงชนะแว่นแคว้นด้วยจักรแก้ว ทรงเที่ยวไปตามสบายในแว่นแคว้นด้วยช้างแก้วและม้าแก้ว ทรงรักษาแว่นแคว้นด้วยปริณายกแก้ว เสวยสุขอันเป็นเครื่องอุปโภคบริโภคด้วยแก้วที่เหลือ.
               พระเจ้าจักรพรรดินั้นทรงใช้ความสามารถในทางเข้มแข็งด้วยจักรแก้วที่หนึ่ง ทรงใช้ความสามารถในการปกครองด้วยช้างแก้วม้าแก้วและคหบดีแก้ว ทรงใช้ความสามารถในทางความคิดต่อเนื่องด้วยปริณายกแก้ว เป็นอันครบบริบูรณ์ด้วยดี. ผลของการใช้ความสามารถ ๓ อย่าง ด้วยนางแก้วและแก้วมณี. พระเจ้าจักรพรรดินั้นเสวยโภคสุขด้วยนางแก้วและแก้วมณี เสวยอิสริยสุขด้วยแก้วที่เหลือ.
               อนึ่ง พึงทราบโดยความต่างกัน แก้ว ๓ อย่างอันต้นของพระเจ้าจักรพรรดินั้น สำเร็จได้ด้วยอานุภาพแห่งกรรมที่ให้เกิดกุศลมูลคืออโทสะ แก้วอันกลางสำเร็จด้วยอานุภาพแห่งกรรมที่ให้เกิดกุศลมูลคืออโลภะ แก้วอันสุดท้ายอันหนึ่งสำเร็จด้วยอานุภาพแห่งกรรมที่ให้เกิดกุศลมูลคืออโมหะ.
               บทว่า ปโรสหสฺสํ คือ มีมากกว่าพัน. บทว่า สูรา ล้วนกล้าหาญ คือไม่ขลาด.
               บทว่า วีรงฺครูปา มีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์ คือมีกายคล้ายเทพบุตร. อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวไว้อย่างนี้. แต่ความจริงในบทนี้มีดังนี้ บทว่า วีระ ท่านกล่าวว่ากล้าที่สุด องค์ของผู้กล้าชื่อว่า วีรังคะ. ท่านอธิบายว่า เหตุแห่งความกล้าชื่อว่า วีริยะ. ชื่อ วีรงฺครูปา เพราะมีรูปทรงสมเป็นผู้กล้า. อธิบายว่า ดุจมีสรีระสำเร็จด้วยความกล้า.
               บทว่า ปรเสนปฺปมทฺทินา สามารถย่ำยีกองทัพของข้าศึกได้. อธิบายว่า หากข้าศึกประจัญหน้ากันสามารถย่ำยีข้าศึกนั้นได้. บทว่า ธมฺเมน คือ โดยธรรม ได้แก่ศีลห้ามีอาทิว่า ปาโณ น หนุตพฺโพ ไม่ควรฆ่าสัตว์.๑๐-
____________________________
๑๐- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๑๖๔   ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๔๙๐

               พึงทราบวินิจฉัยในบทนี้ว่า
               อรหํ โหติ สมฺมาสมฺพุทฺโธ โลเก วิวฏจฺฉโท จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามีหลังคาคือกิเลสอันเปิดแล้วในโลก. พระสัมมาสัมพุทธเจ้าชื่อว่า วิวฏจฺฉโท ผู้มีหลังคาคือกิเลสอันเปิดแล้ว เพราะเมื่อโลกมืดมนด้วยกิเลส ถูกหลังคาคือกิเลสอันได้แก่ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฎฐิ อวิชชาและทุจริต ทั้ง ๗ อย่างปกปิดไว้ เป็นผู้เปิดหลังคาคือกิเลสนั้น ทำให้มีแสงสว่างตั้งอยู่โดยรอบ. พึงทราบว่า ท่านกล่าวว่า วิวฏจฺฉทา เพราะเป็นผู้ควรบูชาโดยนัยแรก เพราะเหตุแห่งความเป็นผู้ควรบูชาโดยนัยที่สอง เพราะเหตุแห่งความเป็นพระพุทธะโดยนัยที่สามว่า สมฺมาสมฺพุทฺโธ ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าชื่อว่า วิวฏจฺฉโท เพราะเปิดและไม่ปิด. ท่านอธิบายว่า เว้นจากการหมุนเวียนและเว้นจากการปิด. ด้วยเหตุนั้น จึงทรงพระนามว่า อรหํ เพราะไม่มีการหมุนเวียน และ สมฺมาสมฺพุทฺโธ เพราะไม่มีการปกปิด. เป็นอันท่านอธิบายเหตุทั้งสองแห่งสองบทข้างต้นนั้นเอง.
               อนึ่ง ในบทนี้ความสำเร็จครั้งก่อนย่อมมีได้ด้วยเวสารัชชธรรมที่สอง ความสำเร็จครั้งที่สองย่อมมีได้ด้วยเวสารัชชธรรมที่หนึ่ง ความสำเร็จครั้งที่สามย่อมมีได้ด้วยเวสารัชชธรรมที่สามและที่สี่. อนึ่ง พึงทราบว่าธรรมจักษุสำเร็จก่อน. พุทธจักษุสำเร็จครั้งที่สอง สมันตจักษุสำเร็จครั้งที่สาม.
               บัดนี้ เสลพราหมณ์ประสงค์จะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงกล่าวว่า กหํ ปน โภ เกณิย ฯเปฯ สมฺมาสมฺพุทฺโธ ท่านเกณิยะผู้เจริญ ก็บัดนี้ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เจริญพระองค์นั้นประทับอยู่ที่ไหน.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทมีอาทิว่า เอวํ วุตฺเต เมื่อเสลพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว. บทว่า เยเนสา คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่โดยทิศภาคนั้น. บทว่า นีลวนราชี ได้แก่ ทิวไม้มีสีเขียว. นัยว่าป่านั้นคล้ายแนวเมฆพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ป่านั้น เกณิยชฎิลเมื่อจะชี้ป่านั้นจึงกล่าวว่า เยเนสา โภ เสล นีลวนราชี ท่านเสละผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ทิวไม้สีเขียวนั้น. ในบทว่า เยเนสา นั้น มีปาฐะที่เหลือในบทนี้ว่า โส วิหรติ พระองค์ประทับอยู่ ณ ที่นั้น. บทว่า เยน เป็นตติยาวิภัตติลงในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติ.
               บทว่า ปเท ปทํ คือ ค่อยๆ เดินตามกันมา. ห้ามการเดินเร็วด้วยบทนั้น. บทว่า ทุราสทา หิ ให้ยินดีได้ยาก เสลพราหมณ์กล่าวถึงเหตุว่า เพราะท่านผู้เจริญเหล่านั้นให้ยินดีได้ยาก ฉะนั้น ท่านผู้เจริญทั้งหลายจงมาอย่างนี้.
               หากจะถามว่า เพราะเหตุไร จึงให้ยินดีได้ยาก.
               เพราะเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนราชสีห์.
               จริงอยู่ ท่านผู้เจริญทั้งหลายเหล่านั้นเที่ยวไปผู้เดียว เพราะใคร่ความสงัด เหมือนราชสีห์เที่ยวไปผู้เดียว เพราะไม่ต้องการเพื่อน. เสลพราหมณ์ให้มาณพเหล่านั้นศึกษามารยาทด้วยบทมีอาทิว่า ยทา จาหํ.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า มา โอปาเตถ คือ อย่าสอด. อธิบายว่า อย่าพูดสอด. บทว่า อาคเมตุ คือ จงรอ. อธิบายว่า จงนิ่งอยู่ก่อนจนกว่าจะพูดจบ.
               บทว่า สมนฺเวสิ คือ แสวงหา. บทว่า เยภุยฺเยน คือ ได้เห็นส่วนมาก มิได้เห็นเป็นส่วนน้อย.
               แต่นั้น เสลพราหมณ์เมื่อจะแสดงมหาปุริสลักษณะที่ไม่เห็น จึงกล่าวว่า ฐเปตฺวา เทฺว เว้นอยู่ ๒ ประการ. บทว่า กงฺขติ คือ เกิดสงสัยว่าจะพึงเห็นได้อย่างไรหนอ. บทว่า วิจิกิจฺฉติ เคลือบแคลง คือยากที่จะค้นหา จึงไม่สามารถจะเห็นได้. บทว่า นาธิมุจฺจติ ไม่เชื่อ คือเพราะความเคลือบแคลงนั้นจึงไม่เชื่อ. บทว่า น สมฺปสีทติ ไม่เลื่อมใส คือ ไม่เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระองค์มีลักษณะบริบูรณ์แล้ว. ความสงสัยอย่างอ่อนท่านกล่าวด้วยบทว่า กงฺขา ความสงสัย สงสัยอย่างกลางท่านใช้บทว่า วิจิกิจฺฉา ความเคลือบแคลง สงสัยอย่างแรงท่านใช้บทว่า อนธิมุจฺจนตา ความไม่น้อมใจเชื่อ คือความที่จิตมืดมนด้วยธรรม ๓ อย่างนั้นเพราะไม่เลื่อมใส.
               บทว่า โกโสหิเต ได้แก่ เร้นอยู่ในฝัก.
               บทว่า วตฺถคุยฺเห ได้แก่ องคชาต.
               จริงอยู่ พระองคชาตของพระผู้มีพระภาคเจ้าเร้นอยู่ในฝักเหมือนของช้าง มีสีเหมือนทองคำ เหมือนเม็ดในปทุม. เสลพราหมณ์ไม่เห็นองคชาตนั้น เพราะปกปิดอยู่ในผ้า และไม่สังเกตเห็นว่า พระชิวหาใหญ่ เพราะอยู่ภายในพระโอษฐ์ จึงสงสัยเคลือบแคลงในพระลักษณะทั้งสองเหล่านั้น.
               บทว่า ตถารูปํ คือ มีรูปอย่างไร ในบทนี้เราควรกล่าวอย่างไร.
               ท่านอธิบายว่า พระนาคเสนเถระถูกพระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ทุกฺกรํ ภนฺเต นาคเสน ภควตา กตํ ข้าแต่พระนาคเสนผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำสิ่งที่ทำได้ยาก.
               พระนาคเสนถามว่า ทำยากอย่างไร มหาบพิตร.
               พระเจ้ามิลินท์ตรัสว่า ท่านพระนาคเสนผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงโอกาสที่จะทำความละอายด้วยมหาชนแก่พรหมายุพราหมณ์ แก่อันเตวาสิกอุตตรพราหมณ์ แก่พราหมณ์ ๑๖ คนผู้เป็นอันเตวาสิกของพาวรีพราหมณ์ และแก่มาณพ ๓๐๐ คนผู้เป็นอันเตวาสิกของเสลพราหมณ์.
               พระนาคเสนถวายพระพรว่า มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงแสดงพระคุยหะ พระองค์ทรงแสดงพระฉายา มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบันดาลด้วยพระฤทธิ์ ทรงแสดงผ้านุ่ง ผ้ารัดกาย ผ้าห่ม เพียงรูปเงา.
               พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า เมื่อเห็นพระฉายา ก็เป็นอันเห็นแล้วมิใช่หรือท่านผู้เจริญ.
               พระนาคเสนถวายพระพรว่า มหาบพิตร ข้อนั้นยกไว้ สัตว์ผู้จะตรัสรู้เพราะเห็นหทัยรูปพึงดำรงอยู่ได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะทรงนำเนื้อพระหทัยออกแสดง.
               พระเจ้ามิลินท์ตรัสว่า ข้าแต่พระนาคเสนผู้เจริญ พระคุณเจ้าฉลาดมาก.
               บทว่า นินฺนาเมตฺวา คือ นำออกแล้ว.
               ในบทนี้ พึงทราบว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศถึงความที่พระชิวหายาวโดยสอดเข้าช่องพระกรรณทั้งสอง ความที่พระชิวหาบางโดยสอดเข้าช่องพระนาสิกทั้งสอง. ความที่พระชิวหาหนาโดยปิดพระนลาต.
               บทว่า อาจริยปาจริยานํ ได้แก่ อาจารย์ทั้งหลายและอาจารย์ของอาจารย์ทั้งหลาย. บทว่า สเกวณฺเณ ได้แก่ คุณของตน.
               ลำดับนั้นแล เสลพราหมณ์ได้ชมเชยพระผู้มีพระภาคเจ้า เฉพาะพระพักตร์ด้วยคาถาอันสมควรว่า
                                   ปริปุณฺณกาโย สุรุจิ สุชาโต จารุทสฺสโน
                                   สุวณฺณวณฺโณสิ ภควา สุสุกฺกทาโฒสิ วิริยวา
                                   นรสฺส หิ สุชาตสฺส เย ภวนฺติ วิยญฺชนา
                                   สพฺเพ เต ตว กายสฺมึ มหาปุริสลกฺขณา.

                         ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์มีพระกายบริบูรณ์ สวยงาม
                         ประสูติดีแล้ว มีพระเนตรงาม มีพระฉวีวรรณดุจทองคำ มีพระ
                         เขี้ยวขาวดี มีความเพียร อวัยวะใหญ่น้อยเหล่าใดมีแก่คนผู้เกิด
                         ดีแล้ว อวัยวะใหญ่น้อยเหล่านั้นทั้งหมดในพระกายของพระองค์
                         เป็นมหาปุริสลักษณะ
.
               บทว่า ปริปุณฺณกาโย ได้แก่ มีพระสรีระบริบูรณ์ เพราะเต็มด้วยพระลักษณะทั้งหลาย และเพราะอวัยวะน้อยใหญ่ไม่เลว. บทว่า สุรุจิ ได้แก่ มีพระรัศมีแห่งพระสรีระงาม. บทว่า สุชาโต ได้แก่ ทรงบังเกิดดีแล้วด้วยสมบัติคือสูงและกว้าง และด้วยสมบัติคือสัณฐาน. บทว่า จารุทสฺสโน ได้แก่ พระผู้มีพระภาคเจ้าชื่อว่า จารุทสฺสโน เพราะดูงามไม่ทำให้ผู้ดูแม้ดูตั้งนานก็ไม่อิ่ม ไม่น่าเกลียด น่ารื่นรมย์. แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า บทว่า จารุทสฺสโน คือ มีพระเนตรงาม.
               บทว่า สุวณฺณวณฺโณ คือ มีพระฉวีคล้ายทองคำ. บทว่า อสิ แปลว่า มี.
               บทนี้พึงประกอบเข้ากับบททุกบท.
               บทว่า สุสุกฺกทาโฒสิ คือ พระเขี้ยวขาวด้วยดี.
               จริงอยู่ พระรัศมีสีขาวอย่างยิ่งซ่านออกจากพระเขี้ยวทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้าดุจแสงจันทร์. ด้วยเหตุนั้น เสลพราหมณ์จึงกล่าวว่า สุสุกฺกทาโฒสิ.
               บทว่า มหาปุริสลกฺขณา ความว่า เสลพราหมณ์กล่าวสรุปพยัญชนะที่กล่าวไว้ก่อนแล้ว โดยระหว่างบท.
               บัดนี้ เสลพราหมณ์สรรเสริญพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยพระลักษณะที่ตนชอบอย่างยิ่ง ในบรรดาพระลักษณะเหล่านั้นกล่าวคำเป็นต้นว่า ปสนฺนเนตฺโต มีพระเนตรแจ่มใส.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าชื่อว่า ปสนฺนเนตฺโต มีพระเนตรแจ่มใส เพราะสมบูรณ์ด้วยประสาททั้ง ๕ ชนิด, ชื่อว่า สุมุโข มีพระพักตร์งาม เพราะมีพระพักตร์คล้ายมณฑลพระจันทร์เต็มดวง, ชื่อว่า พฺรหา มีพระกายใหญ่ เพราะสมบูรณ์ด้วยความสูงและความกว้าง, ชื่อว่า อุชุ มีพระกายตรง เพราะมีพระกายตรงดุจกายพรหม, ชื่อว่า ปตาปวา มีรัศมีรุ่งเรือง เพราะมีความรุ่งโรจน์.
               อนึ่ง ในบทนี้แม้คำใดท่านกล่าวไว้ก่อนแล้ว คำนั้นท่านก็กล่าวซ้ำอีก เพราะเป็นคำสรรเสริญโดยปริยายนี้ว่า มชฺเฌ สมณสงฺฆสฺส ในท่ามกลางหมู่สมณะ เพราะท่านผู้เป็นเช่นนี้ย่อมรุ่งเรืองด้วยประการฉะนี้.
               แม้ในคาถาที่นอกเหนือไปก็มีนัยนี้.
               บทว่า อุตฺตมวณฺณิโน คือ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวรรณะอันอุดม. บทว่า ชมฺพุสณฺฑสฺส คือ ชมพูทวีป. เสลพราหมณ์เมื่อจะกล่าวพรรณนาความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ให้ปรากฏ. อีกอย่างหนึ่ง พระเจ้าจักรพรรดิย่อมเป็นใหญ่ในทวีปทั้งสี่.
               บทว่า ขตฺติยา คือ เป็นกษัตริย์โดยชาติ. บทว่า โภชา คือ มีโภคสมบัติ. บทว่า ราชาโน คือ พระราชาพระองค์ใดพระองค์หนึ่งครองราชสมบัติ. บทว่า อนุยนฺตา ได้แก่ เสวกผู้ตามเสด็จ. บทว่า ราชาภิราชา คือ เป็นพระราชาที่พระราชาบูชา ประสงค์เอาพระเจ้าจักรพรรดิ. บทว่า มนุชินฺโท คือ เป็นใหญ่ในมนุษย์ เป็นใหญ่อย่างยิ่ง.
               เมื่อเสลพราหมณ์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงยังความปรารถนานี้ของเสลพราหมณ์ให้เต็มว่า ผู้ใดเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้นั้นเมื่อเขากล่าวถึงคุณของตนย่อมทำตนให้ปรากฏ จึงตรัสว่า ราชาหมสฺมิ เราเป็นราชา ดังนี้.
               ในบทนั้นมีอธิบายดังนี้
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนเสลพราหมณ์ ท่านย่อมขออันใดไว้ ท่านควรเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เพราะเหตุนั้น ท่านจงเป็นผู้มีความขวนขวายน้อยในข้อนี้ เราเป็นพระราชา เมี่อความเป็นพระราชา มีอยู่พระราชาองค์อื่นแม้มีอยู่ย่อมปกครอง ๑๐๐ โยชน์ ๒๐๐ โยชน์ ๓๐๐ โยชน์ ๔๐๐ โยชน์ ๕๐๐ โยชน์ หรือ ๑,๐๐๐ โยชน์ แม้เป็นจักรพรรดิปกครองทวีปใหญ่มีทวีป ๔ เป็นเขตแดนฉันใด เราไม่มีขอบเขตกำหนดไว้อย่างนั้น เราเป็นธรรมราชาชั้นเยี่ยมปกครองโลกธาตุทั้งหลาย นับไม่ถ้วนโดยขวางตั้งแต่ภวัคคพรหมถึงอเวจีเป็นที่สุด เราเป็นผู้เลิศกว่าสัตว์ประเภทไม่มีเท้าและสัตว์สองเท้าเป็นต้น ไม่มีใครเปรียบกับเราได้ด้วยศีล ฯลฯ หรือวิมุตติญาณทัสสนะ เราเป็นธรรมราชาชั้นเยี่ยมอย่างนี้ ยังจักรให้เป็นไปโดยธรรม คือโพธิปักขิยธรรมอันมีสติปัฏฐานสี่เป็นต้นอย่างยอดทีเดียว เรายังอาณาจักรให้เป็นไปโดยนัยมีอาทิว่า พวกท่านจงละสิ่งนี้ จงเข้าถึงสิ่งนี้ดังนี้ หรือยังธรรมจักรให้เป็นไปโดยปริยัติธรรมมีอาทิว่า อิทํ โข ปน ภิกฺขเว ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกข์นี้แลเป็นอริยสัจ๑๑- ดังนี้.
____________________________
๑๑- วิ. มหา. เล่ม ๔/ข้อ ๑๔   สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๑๖๖๕

               บทว่า จกฺกํ อปฺปฏิวตฺติยํ ความว่า เรายังจักรที่สมณะก็ดี พราหมณ์ก็ดี เทวดาก็ดี มารก็ดี พรหมก็ดี ใครๆ ก็ดี ในโลกให้เป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปโดยธรรม.
               เสลพราหมณ์เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำพระองค์ให้แจ่มแจ้งอย่างนี้แล้ว จึงเกิดปีติโสมนัส เพื่อทำให้มั่นยิ่งขึ้นจึงกล่าวคาถาที่สองว่า สมฺพุทฺโธ ปฏิชานาสิ พระองค์ทรงปฏิญาณว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า โก นุ เสนาปติ เสลพราหมณ์ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใครเป็นเสนาบดี ยังธรรมจักรที่เป็นไปแล้ว โดยธรรมของพระธรรมราชาให้เป็นไปตามได้.
               สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรนั่งอยู่ ณ ข้างเบื้องขวาของพระผู้มีพระภาคเจ้างดงามด้วยสิริดุจก้อนทอง. พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงกะเสลพราหมณ์จึงตรัสคาถาว่า มยา ปวตฺติตํ ยังธรรมจักรอันเราให้เป็นไปแล้ว.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อนุชาโต ตถาคตํ พระสารีบุตรผู้เกิดตามตถาคต.
               ความว่า พระสารีบุตรผู้เกิดตาม เพราะเหตุตถาคต คือเกิดเพราะตถาคตเป็นเหตุ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงพยากรณ์ปัญหาว่า โก นุ เสนาปติ ใครหนอเป็นเสนาบดีอย่างนี้แล้ว มีพระประสงค์จะทำให้เสลพราหมณ์ที่กล่าวว่า สมฺพุทฺโธ ปฏิชานาสิ พระองค์ปฏิญาณว่าเป็นสัมพุทธะให้หมดสงสัยในข้อนั้น เพื่อให้รู้ว่าเรามิได้ปฏิญาณเพียงข้อปฏิญาณเท่านั้น แม้เราก็ปฏิญาณว่าเป็นพุทธะด้วยเหตุนี้ จึงตรัสคาถาว่า อภิญฺเญยฺยํ เราได้รู้ยิ่งแล้ว.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อภิญฺเญยฺยํ ได้แก่ วิชชาและวิมุตติอันเป็นมรรคสัจ และสมุทยสัจ ที่ควรเจริญและควรละ ในข้อนี้เป็นอันท่านอธิบายไว้อย่างนี้ว่า
               แม้นิโรธสัจและทุกขสัจอันเป็นผลแห่งมรรคสัจและสมุทยสัจเหล่านั้น เป็นอันท่านกล่าวจากความสำเร็จแห่งผล ด้วยคำพูดอันเป็นเหตุ เพราะธรรมที่ควรทำให้แจ้งเราได้ทำให้แจ้งแล้ว ธรรมที่ควรรู้เราทำให้รู้แล้ว. เมื่อจะทรงแสดงการยังสัจจะ ๔ ให้เกิด ผลของการเจริญสัจจะ ๔ วิชชาและวิมุตติ จึงทรงประกาศความเป็นพุทธะด้วยเหตุที่กล่าวแล้วว่า เราตรัสรู้ธรรมที่ควรตรัสรู้แล้วจึงเป็นพุทธะ ดังนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงทำพระองค์ให้ปรากฏโดยตรงอย่างนี้แล้ว เมื่อจะยังพราหมณ์ให้รีบขวนขวายเพื่อข้ามพ้นความสงสัยในพระองค์ จึงตรัสคาถาที่สามว่า วินยสฺส ท่านจงกำจัดเสีย.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า สลฺลกตฺโต เป็นศัลยแพทย์ คือผ่าตัดลูกศรที่เสียบสัตว์มีลูกศรคือราคะเป็นต้นออกได้. บทว่า พฺรหฺมภูโต คือ เป็นผู้ประเสริฐ. บทว่า อติตุโล ไม่มีผู้เปรียบ คือล่วงเลยการชั่ง ล่วงเลยการเปรียบ. อธิบายว่า เปรียบไม่ได้เลย.
               บทว่า มารเสนปฺปมทฺทโน ย่ำยีมารและเสนามารเสียได้ คือย่ำยีมารและเสนามาร กล่าวคือบริษัทของมารที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า ปเร จ อวชานติ ดูหมิ่นผู้อื่น มีอาทิว่า กามา เต ปฐมา เสนา กามเป็นเสนาที่หนึ่งของท่าน.๑๒-
____________________________
๑๒- ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๓๕๕   ขุ. มหา. เล่ม ๒๙/ข้อ ๑๓๔   ขุ. จูฬ. เล่ม ๓๐/ข้อ ๒๘๙

               บทว่า สพฺพามิตฺเต ได้แก่ ข้าศึกทั้งหมดมีขันธมาร กิเลสมาร อภิสังขารมาร มัจจุมารและเทวบุตรมารเป็นต้น. บทว่า วสีกตฺวา คือ ให้เป็นไปในอำนาจของตน. บทว่า อกุโตภโย คือ ไม่มีภัยแต่ไหนๆ.
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ทันใดนั้นเอง เสลพราหมณ์เกิดความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้า มุ่งจะบวชจึงกล่าวคาถาที่สามว่า อิมํ โภนฺโต ท่านผู้เจริญทั้งหลายจงฟังคำนี้ เหมือนอย่างเสลพราหมณ์ได้รับการสั่งสอนโดยชอบ เพราะถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยถึงความเป็นผู้แก่กล้า.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า กณฺหาภิชาติโก คือเกิดในตระกูลต่ำมีตระกูลคนจัณฑาลเป็นต้น. แต่นั้น บรรดามาณพแม้เหล่านั้นก็มุ่งจะบวชเหมือนกัน จึงกล่าวคาถาว่า เอวํ เจ รุจฺจติ โภโต ถ้าท่านผู้เจริญทั้งหลายชอบใจคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมือนอย่างกุลบุตรทั้งหลายที่สร้างสมบุญมากับเสลพราหมณ์นั้น.
               ลำดับนั้น เสลพราหมณ์ดีใจในพวกมาณพเหล่านั้น เมื่อจะแสดงกะมาณพเหล่านั้น จึงกล่าวคาถาว่า ปพฺพชํ ยาจมาโน พฺราหฺมณ ข้าแต่พราหมณ์ ข้าพเจ้าขอบรรพชา.
               แต่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะเสลพราหมณ์ได้เป็นหัวหน้าคณะบุรุษ ๓๐๐ คนเหล่านั้น ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตระ ในอดีต ให้สร้างบริเวณกับบุรุษเหล่านั้นแล้วทำบุญมีทานเป็นต้น เสวยเทวสมบัติและมนุษย์สมบัติโดยลำดับ ในภพสุดท้ายเกิดเป็นอาจารย์ของบุรุษเหล่านั้น และกรรมของพวกเขานั้นแก่กล้า เพราะแก่กล้าด้วยวิมุตติและมีอุปนิสัยแห่งความเป็นเอหิภิกขุ ฉะนั้น พระองค์จึงให้เขาทั้งหมดเหล่านั้นบรรพชาด้วยเอหิภิกขุบรรพชา ตรัสคาถาว่า สวากฺขาตํ พรหมจรรย์เรากล่าวดีแล้ว.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า สนฺทิฏฺฐิกํ ผู้บรรลุพึงเห็นเอง คือประจักษ์เอง. บทว่า อกาลิกํ ไม่ประกอบด้วยกาล คือจากผลอันเกิดขึ้นในลำดับมรรค มิใช่ผลอันจะพึงบรรลุในระหว่างกาล. บทว่า ยถา คือ นิมิตอันใด.
               จริงอยู่ บรรพชามีมรรคพรหมจรรย์เป็นนิมิต ย่อมไม่เปล่าประโยชน์แก่ผู้ศึกษาในสิกขา ๓ ผู้ไม่ประมาท เว้นการอยู่ปราศจากสติ. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สฺวากิขาตํ ฯเปฯ สิกฺขโต พรหมจรรย์เรากล่าวดีแล้ว ผู้บรรลุพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล เป็นที่ออกบวชอันไม่เปล่าประโยชน์ของบุคคลผู้ไม่ประมาทศึกษาอยู่.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า เอถ ภิกฺขโว ดูก่อนภิกษุทั้งหลายพวกเธอ จงเป็นภิกษุมาเถิด. ภิกษุทั้งหมดเหล่านั้นทรงบาตรและจีวรมาทางอากาศถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พระสังคีติกาจารย์กล่าวว่า อลตฺถ โข เสโล พฺราหฺมโณ ฯเปฯ อุปสมฺปทํ
               เสลพราหมณ์พร้อมกับบริษัทได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้ หมายถึง ความเป็นเอหิภิกขุของท่านเหล่านั้น ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า ภุตฺตาวึ เสวยเสร็จแล้ว. บทว่า โอนีปตฺตปาณี คือ ชักพระหัตถ์จากบาตรแล้ว. ท่านอธิบายว่า นำพระหัตถ์ออกแล้ว. ในบทนั้นพึงเห็นปาฐะที่ขาดไปว่า อุปคนฺตฺวา เข้าไปใกล้แล้ว ไม่ควรใช้ว่า ภควนฺตํ เอกมนฺตํ นิสีที.
               บทว่า อคฺคิหุตํ มุขา ยัญทั้งหลายมีการบูชาไฟเป็นประมุข. พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงอนุโมทนาด้วยความอนุเคราะห์เกณิยะ จึงตรัสอย่างนี้.
               ในบทนั้น พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อคฺคิหุตํ มุขา ยญฺญา ยัญทั้งหลายมีการบูชาไฟเป็นประมุข เพราะพวกพราหมณ์ไม่มีการบูชานอกจากบูชาไฟ.
               อธิบายว่า การบูชาไฟประเสริฐที่สุด คือการบูชาไฟเป็นประมุข
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า สาวิตฺติ ฉนฺทโส มุขํ ฉันท์ทั้งหลายมีสาวิตติฉันท์เป็นประมุข เพราะอันผู้สาธยายพระเวททั้งหลายต้องสาธยายก่อน. พระราชาท่านกล่าวว่า เป็นประมุข เพราะประเสริฐที่สุดกว่ามนุษย์ทั้งหลาย สาครท่านกล่าวว่า เป็นประมุข เพราะเป็นที่รองรับและเป็นที่อาศัยของแม่น้ำทั้งหลาย. ท่านกล่าวว่า พระจันทร์เป็นประมุขของนักษัตรทั้งหลาย เพราะเป็นเครื่องปรากฏว่า วันนี้ดาวกัตติกา วันนี้ดาวโรหิณี เพราะอาศัยพระจันทร์ขึ้น. ท่านกล่าวว่า อาทิจฺโจ ตปตํ มุขํ พระอาทิตย์เป็นประมุขของความร้อน เพราะพระอาทิตย์สูงกว่าความร้อนทั้งหลาย. ท่านกล่าวว่า สงฺโฆ เว ยชตํ มุขํ พระสงฆ์แลเป็นประมุขของผู้มุ่งบุญทั้งหลาย หมายถึงพระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขในสมัยนั้นด้วยความวิเศษ เพราะพระสงฆ์เป็นทักขิไณยบุคคลผู้เลิศ. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พระสงฆ์เป็นประมุขแห่งความเจริญของบุญ.
               บทว่า ยนฺตํ สรณํ ท่านเสลภิกษุกราบทูลถึงการพยากรณ์อื่น.
               บทนั้นมีอธิบายดังนี้
               ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีจักษุด้วยจักษุ ๕ เพราะข้าพระองค์ทั้งหลายถึงพระองค์เป็นที่พึ่งในวันที่ ๘ นับแต่วันนี้ (คือถึงสรณะได้เพียง ๘ วัน) ฉะนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายจึงฝึกฝนตนด้วยความฝึกฝนอย่างยิ่ง ในศาสนาของพระองค์ ๗ ราตรี น่าอัศจรรย์อานุภาพแห่งสรณะของพระองค์.
               ต่อจากนั้น เสลภิกษุสรรเสริญพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถาสองคาถา แล้วขอถวายบังคมด้วยคาถาที่สามว่า
                                   ภิกฺขโว ติสตา อิเม ติฏฺฐนฺติ ปญฺชลีกตา
                                   ปาเท วีร ปสาเรติ นาคา วนฺทนฺตุ สตฺถุโน.

                                   ภิกษุ ๓๐๐ รูปเหล่านี้ ยืนประนมอัญชลีอยู่
                         ข้าแต่พระวีรเจ้า ขอทรงเหยียดพระบาทยุคลเถิด
                         ท่านผู้ประเสริฐทั้งหลายขอถวายบังคมพระบาท
                         ยุคลของพระศาสดา.

               จบอรรถกถาเสลสูตรที่ ๗               
               แห่งอรรถกถาขุททกนิกาย               
               ชื่อ ปรมัตถโชติกา               
               --------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต มหาวรรค เสลสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 364อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 373อ่านอรรถกถา 25 / 380อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=9007&Z=9204
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=29&A=5919
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=29&A=5919
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  พฤษภาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :