ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 39อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 40อ่านอรรถกถา 25 / 41อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน โพธิวรรคที่ ๑ โพธิสูตรที่ ๓

               อรรถกถาตติยโพธิสูตร               
               ตติยโพธิสูตรที่ ๓ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อนุโลมปฏิโลมํ ได้แก่ อนุโลมและปฏิโลม. อธิบายว่า ด้วยสามารถอนุโลมตามที่กล่าวแล้ว และด้วยสามารถปฏิโลม.
               มีคำถามว่า ก็ท่านกล่าวความเป็นไปของมนสิการในปฏิจจสมุปบาทไว้ในสูตรทั้งสอง โดยอนุโลมและปฏิโลมแม้ในก่อนมิใช่หรือ เพราะเหตุไร ในที่นี้ท่านจึงกล่าวความเป็นไปของมนสิการด้วยอำนาจสูตรนั้นอีก?
               ตอบว่า เพราะประกาศมนสิการไว้ในปฏิจจสมุปบาท ถึงวาระที่ ๓ ด้วยอำนาจสูตรทั้งสองนั้น.
               ถามว่า ก็ท่านประกาศมนสิการไว้โดยสูตรทั้งสองอย่างไร เพราะใครๆ ไม่อาจประกาศมนสิการปฏิจสมุปบาททั้งอนุโลมและปฏิโลม ไม่ก่อนไม่หลัง?
               ตอบว่า ข้อนั้นไม่พึงเห็นอย่างนั้นว่า ทรงมนสิการถึงอนุโลมและปฏิโลมทั้งสองนั้นรวมกัน โดยที่แท้ ทรงมนสิการเป็นวาระ.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมนสิการถึงปฏิจจสมุปบาทโดยอนุโลมก่อน แล้วทรงเปล่งอุทานครั้งแรกอันสมควรแก่มนสิการนั้น. แม้ครั้งที่สอง ทรงมนสิการถึงปฏิจจสมุปบาทนั้นโดยปฏิโลม แล้วทรงเปล่งอุทานอันสมควรแก่มนสิการนั้นเหมือนกัน. ส่วนครั้งที่สาม ทรงมนสิการถึงอนุโลมปฏิโลม ด้วยสามารถมนสิการเป็นอนุโลมโดยกาล เป็นปฏิโลมโดยกาล. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า บทว่า อนุโลมปฏิโลมํ ได้แก่ อนุโลมและปฏิโลม ด้วยอำนาจอนุโลมและปฏิโลมตามที่กล่าวแล้ว. ด้วยคำนี้เป็นอันประกาศความที่มนสิการคล่องแคล่วมีกำลังและมีความชำนาญ. แต่ในที่นี้ พึงทราบวิภาคแห่งอนุโลมและปฏิโลมเหล่านั้น ด้วยสามารถส่วนเบื้องต้นที่เป็นไปอย่างนี้ว่า เรามนสิการถึงอนุโลม มนสิการถึงปฏิโลม มนสิการถึงอนุโลมปฏิโลม.
               บรรดาคาถาเหล่านั้น บทว่า อวิชฺชายเตฺวว ตัดเป็น อวิชฺชาย ตุ เอว.
               บทว่า อเสสวิราคนิโรธา ได้แก่ เพราะดับโดยไม่เหลือด้วยมรรค กล่าวคือวิราคธรรม. อธิบายว่า เป็นการละโดยไม่เกิดขึ้นด้วยอรหัตมรรคอย่างสิ้นเชิง.
               บทว่า สงฺขารนิโรโธ ได้แก่ ดับสังขารทั้งปวงโดยไม่เกิดขึ้นอย่างสิ้นเชิง. จริงอยู่ สังขารบางอย่างดับด้วยมรรค ๓ เบื้องต่ำบางอย่างไม่ดับ เพราะอวิชชาดับยังมีส่วนเหลือ. แต่สังขารบางเหล่าจะไม่ดับไม่มี เพราะอรหัตมรรคดับอวิชชาไม่มีส่วนเหลือแล.
               บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า รู้แจ้งอรรถนี้โดยอาการทั้งปวง ที่ท่านกล่าวไว้ด้วยอำนาจอวิชชาเป็นต้นว่า กองทุกข์มีสังขารเป็นต้นเกิด เพราะอวิชชาเป็นต้นเกิด กองทุกข์มีสังขารเป็นต้นดับ เพราะอวิชชาเป็นต้นดับ.
               บทว่า อิมํ อุทานํ อุทาเนสิ ความว่า ทรงเปล่งอุทานนี้ มีประการดังกล่าวแล้วอันแสดงอานุภาพอริยมรรคนั้น อันเป็นเหตุให้รู้แจ้งถึงอรรถ กล่าวคือการเกิดและการดับกองทุกข์ ด้วยอำนาจกิจและการกระทำให้เป็นอารมณ์.
               ในข้อนั้น มีความสังเขปดังต่อไปนี้ เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้น พราหมณ์นั้นย่อมกำจัดมารและเสนามารเสียได้ ด้วยโพธิปักขิยธรรมที่เกิดขึ้นเหล่านั้น หรือด้วยอริยมรรค อันเป็นเหตุปรากฏแห่งจตุสัจธรรม.
               บทว่า วิธูปยํ ติฏฺฐติ มารเสนํ ความว่า กำจัด ขจัด ทำลายมารและเสนามารมีประการดังกล่าวแล้ว โดยนัยมีอาทิว่า กามเหล่านั้นเป็นกองทัพที่หนึ่งตั้งอยู่.
               ถามว่า อย่างไร?
               ตอบว่า เหมือนพระอาทิตย์ ทำอากาศให้สว่างไสว. อธิบายว่า พระอาทิตย์โคจรขึ้นไป ทำอากาศให้สว่างไสวด้วยรัศมีตน แล้วกำจัดความมืดลอยอยู่ ฉันใด พราหมณ์ผู้ขีณาสพแม้นั้นก็ฉันนั้น แทงตลอดสัจจะด้วยธรรมเหล่านั้น หรือด้วยมรรคนั้น ชื่อว่าย่อมกำจัดมารและเสนามารเสียได้.
               ในยามทั้ง ๓ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอุทานทั้ง ๓ เหล่านี้อันประกาศอานุภาพแห่งการรู้ชัดปัจจยาการในยามที่ ๑ การบรรลุความสิ้นปัจจัยในยามที่ ๒ และการบรรลุอริยมรรคในยามที่ ๓ ด้วยประการฉะนี้.
               ในราตรีไหน? ในราตรีที่ ๗ แห่งการตรัสรู้อภิสัมโพธิญาณ.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงระลึกบุพเพนิวาสญาณ ในยามต้นแห่งราตรีวิสาขปุณณมี ทรงชำระทิพยจักษุญาณในมัชฌิมยาม ทรงหยั่งพระญาณลงในปฏิจจสมุปบาทในปัจฉิมยาม ทรงพิจารณาสังขารอันเป็นไปในภูมิ ๓ โดยนัยต่างๆ ทรงพระดำริว่า บัดนี้ อรุณจักขึ้น ก็ได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ. และในลำดับที่เกิดพระสัพพัญญุตญาณ อรุณก็ขึ้นแล.
               ลำดับนั้น ทรงยับยั้งอยู่สัปดาห์หนึ่ง ณ ควงโพธิพฤกษ์ โดยบัลลังก์นั้นเอง เมื่อถึงราตรีวันปาฏิบท (วัน ๑ ค่ำ) ทรงมนสิการถึงปฏิจจสมุปบาท โดยนัยที่กล่าวแล้วในยามทั้ง ๓ แล้วทรงเปล่งอุทานนี้ตามลำดับ.
               แต่เพราะมาในขันธกะทั้ง ๓ วาระว่า ทรงมนสิการถึงปฏิจจสมุปบาทเป็นอนุโลมปฏิโลม ท่านจึงกล่าวไว้ในอรรถกถาขันธกะว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมนสิการอย่างนี้ในยามทั้ง ๓ แล้วทรงเปล่งอุทานเหล่านี้ อย่างนี้ คืออุทานที่ ๑ ด้วยอำนาจพิจารณาปัจจยาการ อุทานที่ ๒ ด้วยอำนาจพิจารณาพระนิพพาน อุทานที่ ๓ ด้วยอำนาจพิจารณามรรค. แม้คำนั้นก็ไม่ผิด.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาธรรมในระหว่างภายในสัปดาห์ทั้ง ๖ ที่เหลือ เว้นสัปดาห์ที่ประทับ ณ รัตนฆรเจดีย์ โดยมากทรงเสวยวิมุตติสุขอยู่. แต่ในสัปดาห์ที่ประทับ ณ รัตนฆรเจดีย์ ทรงประทับอยู่ด้วยการพิจารณาพระอภิธรรมเท่านั้นแล.

               จบอรรถกถาตติยโพธิสูตรที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน โพธิวรรคที่ ๑ โพธิสูตรที่ ๓ จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 39อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 40อ่านอรรถกถา 25 / 41อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=1465&Z=1492
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=26&A=1136
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=26&A=1136
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๒  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :