ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 418อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 419อ่านอรรถกถา 25 / 420อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต อัฏฐกวรรค
จูฬวิยูหสูตร

               อรรถกถาจูฬวิยูหสูตรที่ ๑๒               
               จูฬวิยูหสูตร มีคำเริ่มต้นว่า สกํ สกํ ทิฏฺฐิปริพฺพสานา สมณพราหมณ์ทั้งหลายยึดมั่นอยู่ในทิฏฐิของตนๆ ดังนี้เป็นต้น.
               พระสูตรนี้มีการเกิดขึ้นเป็นอย่างไร?
               ในมหาสมัยนั้นเหมือนกัน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระสูตรนี้ก็เพื่อประกาศความนั้นแก่เทวดาบางพวกผู้มีจิตเกิดขึ้นแล้วว่า ผู้ถือทิฏฐิเหล่านี้ทั้งหมดกล่าวว่า เราเป็นผู้ดี ผู้ถือทิฎฐิว่าเราเป็นผู้ดีเหล่านี้ตั้งอยู่ในทิฏฐิของตนเท่านั้น หรือว่ารับทิฎฐิแม้อื่นด้วยทรงให้พระพุทธนิมิตถามพระองค์โดยนัยก่อนนั่นแล.
               ในสูตรนั้นสองคาถาข้างต้นเป็นคาถาถามนั่นเอง.
               ในคาถาเหล่านั้น คาถาว่า สกํ สกํ ทิฏฺฐิปริพฺพสานา คือยึดมั่นอยู่ในทิฏฐิของตนๆ.
               บทว่า วิคฺคยฺห นานา กุสลา วทนฺติ ถือมั่นทิฏฐิแล้วปฏิญาณว่าพวกเราเป็นผู้ฉลาด คือถือมั่นทิฏฐิแรงกล้าแล้วปฏิญาณว่า เราเป็นผู้ฉลาดในทิฏฐินั้นพูดมากๆ ไม่พูดหนเดียว.
               บทว่า โย เอวํ ชานาติ ส เวทิ ธมฺมํ อิทํ ปฏิกฺโกสมเกวลี โส ผู้ใดรู้อย่างนี้ ผู้นั้นชื่อว่ารู้ธรรม ผู้นั้นคัดค้านธรรม ถือทิฏฐินี้.
               ความว่า ผู้ใดรู้อย่างนี้หมายถึงทิฏฐินั้น ผู้นั้นชื่อว่ารู้ธรรมคือทิฏฐิ คัดค้านธรรมคือทิฏฐินี้อยู่ บัณฑิตกล่าวว่าผู้นั้นเป็นคนเลว.
               บทว่า พาโล คือ เป็นคนเลว.
               บทว่า อกุสโล คือ เป็นคนไม่ฉลาด.
               อีกสามคาถาเป็นคาถาแก้. คาถาเหล่านั้นประมวลความที่กล่าวแล้วด้วยกึ่งคาถาก่อนโดยกึ่งคาถาหลัง.
               พระสูตรนี้ได้ชื่อว่า จูฬพยูหะ เพราะมีความน้อยกว่าสูตรก่อน ด้วยการประมวลนั้น.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า ปรสฺส จ ธมฺมํ คือ ความเห็นของคนอื่น.
               บทว่า สพฺเพวิเม พาลา อธิบายว่า เมื่อเป็นอย่างนี้คนเหล่านี้ทั้งหมดเป็นคนพาล. เพราะอะไร เพราะคนเหล่านี้ทั้งหมดเป็นคนยึดมั่นอยู่ในทิฏฐิ.
               บทว่า สนฺทิฏฺฐิยา ปน ฯเปฯ มติมา ก็คนเหล่านั้นเป็นคนผ่องใสอยู่ในทิฏฐิของตนๆ จัดว่าเป็นคนมีปัญญาบริสุทธิ์ เป็นคนฉลาด มีความคิด. อธิบายว่า หากว่าคนเหล่านั้นเป็นคนไม่ผ่องใส เป็นคนเศร้าหมองในทิฎฐิของตนๆ จัดว่าเป็นคนมีปัญญาบริสุทธิ์ เป็นคนฉลาด และเป็นคนมีความคิด.
               อีกอย่างหนึ่ง ปาฐะว่า สนฺทิฏฺฐิยา เจ วทาตา หากว่าเป็นผู้ผ่องใสในความเห็นของตน. มีอธิบายว่า หากคนเหล่านั้นเป็นคนผ่องใสมีปัญญาบริสุทธิ์ เป็นคนฉลาดและเป็นคนมีความคิดในทิฏฐิของตนๆ.
               บทว่า น เตสํ โกจิ บรรดาเจ้าทิฏฐิเหล่านั้นก็จะไม่มีใครๆ คือเมื่อเป็นอย่างนี้ บรรดาเจ้าทิฏฐิเหล่านั้นก็จะไม่มี แม้แต่คนเดียวที่มีปัญญาทราม. เพราะอะไร เพราะทิฏิฐิของคนแม้เหล่านั้นล้วนเป็นทิฏฐิเสมอกันเหมือนทิฏฐิของคนนอกนี้.
               พึงทราบการเชื่อมความแห่งคาถาว่า น วาหเมตํ เราไม่กล่าวความเห็นนั้นว่าแท้ ต่อไปว่า คนสองพวกกล่าวกันและกันว่าเป็นคนเขลา เพราะความเห็นใด เราไม่กล่าวความเห็นนั้นว่าแท้. เพราะอะไร เพราะเหตุที่คนเหล่านั้นทั้งหมดได้ทำความเห็นของตนๆ ว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเป็นโมฆะ ด้วยเหตุนั้น คนเหล่านั้นจึงตั้งคนอื่นว่าเป็นคนเขลา.
               ในบทนี้มีปาฐะเป็นสองอย่าง คือ ตถิยํ และ ตถิวํ แปลว่า เป็นของแท้.
               บทว่า ยมาหุ ในคาถาเป็นคำถาม. สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวทิฏฐิใด ว่าเป็นความจริงแท้.
               บทว่า เอกํ หิ สจฺจํ ในคาถาเป็นคำแก้ คือสัจจะมีอย่างเดียว ได้แก่นิโรธหรือมรรคเป็นสัจจะมีอย่างเดียว.
               บทว่า ยสฺมึ ปชาโน วิวเท ปชานํ ผู้ที่ทราบชัดมาทราบชัดอยู่ คือทราบชัดในสัจจะ ทราบชัดอยู่จะต้องวิวาทเพราะสัจจะอะไรเล่า.
               บทว่า สยํ ถุนนฺติ สมณพราหมณ์เหล่านั้นย่อมกล่าวสัจจะให้ต่างกันออกไปด้วยตนเอง.
               บทว่า กสฺมา นุ ในคาถาเป็นคำถาม แปลว่า เพราะเหตุไรหนอ.
               บทว่า ปวาทิยาเส คือ กล่าวยกตน.
               บทว่า เต ตกฺกมนุสฺสรนฺติ คือ หรือว่าสมณพราหมณ์เหล่านั้นระลึกตามความคาดคะเนของตน.
               บทว่า นเหว เป็นคาถาแก้ แปลว่าไม่มีในโลกเลย.
               บทว่า อญฺญตฺร สญฺญาย นิจฺจานิ เว้นจากสัญญาว่าเที่ยงเสีย คือเว้นเพียงสัญญาว่าเที่ยง ใช้ศัพท์ว่า สจฺจํ คือจริง.
               บทว่า ตกฺกํ จ ทิฏฺฐีสุ ปกปฺปยิตฺวา กำหนดความคาดคะเนในทิฏฐิทั้งหลาย คือเพียงให้ความดำริผิดของตนเกิดในทิฏฐิทั้งหลาย. ก็เพราะบุคคลนั้นเกิดความวิตกขึ้นในทิฏฐิทั้งหลาย จึงเกิดทิฏฐิ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำมีอาทิว่า เจ้าทิฏฐิทั้งหลายยังทิฏฐิให้เกิดให้เกิดพร้อมดังนี้ ไว้ในนิเทศ.๑-
____________________________
๑- ขุ. มหา. เล่ม ๒๙/ข้อ ๕๖๒

               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อสัจจะต่างๆ ไม่มีอยู่ เพื่อจะทรงแสดงถึงการปฏิบัติผิดของเจ้าทิฏฐิทั้งหลาย ผู้ระลึกถึงเพียงความคาดคะเนจึงได้ตรัสคาถาทั้งหลายมีอาทิว่า ทิฏฺเฐ สุเต ในรูปที่ได้เห็น ในเสียงที่ได้ฟัง ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า ทิฏฺเฐ คือรูปที่ได้เห็น. อธิบายว่า ความบริสุทธิ์แห่งรูปที่ได้เห็น ในเสียงที่ได้ฟังเป็นต้นก็มีนัยนี้.
               บทว่า เอเต จ นิสฺสาย วิมานทสฺสี อาศัยทิฏฐิเหล่านี้ จึงเป็นผู้เห็นความบริสุทธิ์ คืออาศัยธรรมคือทิฏฐิเหล่านี้ เป็นผู้เห็นความไม่นับถือ ความไม่ยกย่อง กล่าวคือความบริสุทธิ์.
               บทว่า วินิจฺฉเย ฐตฺวา ฯเปฯ จาห ตั้งอยู่ในการวินิจฉัยร่าเริงอยู่ กล่าวคือคนอื่นเป็นคนเขลาไม่ฉลาด คือแม้เห็นความบริสุทธิ์อย่างนี้ก็ตั้งอยู่ ในการวินิจฉัยทิฏฐินั้นเป็นผู้ยินดีร่าเริง กล่าวอย่างนี้ว่า คนอื่นเป็นคนเลวและไม่ฉลาด ดังนี้. เมื่อเป็นอย่างนี้ ควรทราบคาถาว่า เยเนว ด้วยทิฏฐิใดดังนี้ เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า สยมตฺตนา ด้วยลำพังตน คือตนเองนั่นแหละ.
               บทว่า วิมาเนติ คือ ย่อมติเตียน.
               บทว่า ตเทว ปาวา กล่าวทิฏฐินั่นเอง คือกล่าวคำพูดอันเป็นทิฏฐินั่นเอง หรือกล่าวถึงบุคคลนั้น.
               พึงทราบความแห่งคาถาว่า อติสารทิฏฺฐิยา ด้วยความเห็นว่าเป็นสาระยิ่งต่อไป เจ้าทิฏฐินั้นเต็มเปี่ยมอืดด้วยทิฏฐิอันเป็นสาระยิ่ง อันมีสาระยิ่งด้วยลักษณะนั้น
               อนึ่ง เต็มเปี่ยมด้วยทิฏฐิมานะนั้น มีมานะบริบูรณ์อย่างนี้ว่า เราเท่านั้น อภิเษกตนเองด้วยใจว่าเรา เป็นบัณฑิต. เพราะอะไร. เพราะว่า ทิฏฐินั้นของเขาบริบูรณ์แล้วอย่างนั้น.
               พึงทราบการเชื่อมและความในคาถาว่า ปรสฺส เจ ดังนี้.
               มีอะไรยิ่งไปกว่านั้น มีดังต่อไปนี้
               ผู้ใดตั้งอยู่ในวินิจฉัยด้วยทิฏฐิแล้วร่าเริงอยู่ กล่าวว่าคนอื่นนั้นพาล ไม่ฉลาด ดังนี้ ก็ถ้าบุคคลนั้นถูกเขาว่าอยู่จะเป็นคนเลวทรามด้วยถ้อยคำของผู้อื่น ตนก็จะมีปัญญาทรามไปด้วยกัน คือเป็นผู้มีปัญญาเลวทรามไปกับเขาด้วย แม้ผู้นั้นก็ย่อมกล่าวผู้มีปัญญาทรามว่าเป็นคนเขลาเลวทราม เมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้อยคำของเขาไม่มีประมาณ ก็หากว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ถึงเวท และเป็นนักปราชญ์ด้วยลำพังตนเอง เมื่อเป็นอย่างนั้น สมณะทั้งหลายก็จะไม่มี ใครเป็นคนเขลา สมณะเหล่านั้นทั้งหมดก็จะเป็นบัณฑิตตามความปรารถนาของตนๆ.
               พึงทราบการเชื่อมและความในคาถาว่า อญฺญํ อิโต ทิฏฐิอื่นจากนี้ไป ดังต่อไปนี้.
               จะพึงมีผู้ถามว่า ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วอย่างนี้ว่า อถ เจ สยํ ฯเปฯ สมเณสุ อตฺถิ ความว่า ก็หากว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ถึงเวท ฯลฯ สมณะทั้งหลายก็จะไม่มีใครเป็นคนเขลา เพราะเหตุไร จึงตรัสแก่ใครๆ อีก.
               จะอธิบายในข้อนั้นต่อไป.
               เพราะชนเหล่าใดกล่าวยกย่องธรรมคือทิฏฐิอื่นจากนี้ไป ชนเหล่านั้นผิดพลาดและไม่บริบูรณ์หมดจด เพราะเดียรถีย์ทั้งหลายย่อมกล่าวอย่างนี้โดยมาก ชนเหล่าใดกล่าวยกย่องธรรมคือทิฏฐิอื่นจากนี้ไป ชนเหล่านั้นผิดพลาดทางอันบริสุทธิ์ และเป็นผู้ยังไม่บริบูรณ์ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่าพวกเดียรถีย์เป็นอันมากกล่าวไว้อย่างนี้.
               หากจะถามว่า เพราะเหตุไร พวกเดียรถีย์จึงกล่าวอย่างนั้น.
               ตอบว่า เพราะว่าเดียรถีย์เหล่านั้นยินดีนักด้วยความยินดีในทิฏฐิของตน. ก็เดียรถีย์เหล่านั้นยินดียิ่งอย่างนี้ จึงตรัสคาถาต่อไปว่า อิเธว สุทฺธึ กล่าวความบริสุทธิ์ในธรรม คือทิฏฐินี้เท่านั้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า สกายเน คือ ในทางของตน.
               บทว่า ทฬฺหํ วทานา คือ รับรองอย่างหนักแน่น.
               อนึ่ง ในบรรดาเดียรถีย์ผู้รับรองอย่างหนักแน่นเหล่านั้น เดียรถีย์คนใดคนหนึ่งรับรองอย่างหนักแน่นในลัทธิของตน จะพึงตั้งใครอื่นว่าเป็นคนเขลาในลัทธินี้เล่า. เดียรถีย์รับรองอย่างหนักแน่นในลัทธิของตน อันได้แก่สัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิในทิฏฐินั้นโดยสังเขป หรืออันต่างด้วยนัตถิกทิฏฐิ อิสสระ การณะ นิยตะเป็นต้นโดยพิสดารว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง พึงเห็นใครอื่นว่าเป็นคนเขลาในทิฏฐินี้ โดยธรรมเล่า ตามความเห็นของเดียรถีย์นั้นแม้คนทั้งปวงก็เป็นบัณฑิต และเป็นผู้ปฏิบัติชอบได้เหมือนกัน
               เมื่อเป็นอย่างนั้น เดียรถีย์นั้นเมื่อกล่าวผู้อื่นว่าเป็นคนเขลา มีธรรมไม่บริสุทธิ์ ก็พึงนำความทะเลาะวิวาทมาให้แก่ตนฝ่ายเดียว คือเดียรถีย์แม้นั้นยังกล่าวผู้อื่นว่า ผู้นี้เป็นคนเขลา และมีธรรมไม่บริสุทธิ์ ก็จะพึงนำความทะเลาะวิวาทมาให้แก่ตน
               เพราะเหตุไร.
               เพราะตามความเห็นของเดียรถีย์นั้นแม้ชนทั้งหมดก็เป็นบัณฑิต และเป็นผู้ปฏิบัติชอบได้เหมือนกัน.
               พึงทราบโดยประการทั้งปวงอย่างนี้.
               บทว่า วินิจฺฉเย ฐตฺวา ฯเปฯ วิวาทเมติ ความว่า เดียรถีย์นั้นตั้งอยู่ในการวินิจฉัยด้วยทิฏฐิ แล้วนิรมิตศาสดาเป็นต้นขึ้นด้วยตนเอง ก็ต้องวิวาทกันยิ่งขึ้นไป เพราะเหตุนั้นบุคคลรู้โทษในการวินิจฉัยด้วยทิฏฐิอย่างนี้แล้ว ละการวินิจฉัยด้วยทิฏฐิทั้งหมดด้วยอริยมรรค แล้วไม่ทำการทะเลาะวิวาทกันในโลก ด้วยประการฉะนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจบเทศนาด้วยธรรมเป็นยอด คือพระอรหัต.
               เมื่อจบเทศนา ได้มีผู้บรรลุเช่นกับที่ได้กล่าวแล้วในปุราเภทสูตรนั่นแล.

               จบอรรถกถาจูฬพยูหสูตรที่ ๑๒               
               แห่งอรรถกถาขุททกนิกาย               
               ชื่อปรมัตถโชติกา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต อัฏฐกวรรค จูฬวิยูหสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 418อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 419อ่านอรรถกถา 25 / 420อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=10418&Z=10493
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=29&A=8894
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=29&A=8894
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓๑  พฤษภาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :