ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 427อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 428อ่านอรรถกถา 25 / 429อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ปารายนวรรค
เมตตคูปัญหาที่ ๔

               อรรถกถาเมตตคูสูตร#- ที่ ๔               
____________________________
#- บาลีเป็น เมตตคูปัญหา.

               เมตตคูสูตร มีคำเริ่มต้นว่า ปุจฺฉามิ ตํ ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า มญฺญามิ ตํ เวทคุํ ภาวิตตฺตํ เมตตคูมาณพทูลว่า ข้าพระองค์สำคัญพระองค์ว่าเป็นผู้ถึงเวทมีตนอบรมแล้ว คือข้าพระองค์สำคัญพระองค์อย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านี้เป็นผู้ถึงเวทและเป็นผู้มีตนอบรมแล้ว ดังนี้.
               ก็ อักษรในคำนี้ว่า อปุจฺฉสิ เป็นเพียงนิบาตทำบทให้เต็ม.
               บทว่า ตนฺเต ปวกฺขามิ ยถา ปชานํ คือ เราจะบอกเหตุนั้นแก่ท่านตามที่รู้.
               บทว่า อุปธีนิทานา ปภวนฺติ ทุกฺขา ทุกข์ทั้งหลายย่อมเกิด เพราะอุปธิเป็นเหตุ คือความต่างแห่งทุกข์มีชาติเป็นต้น ย่อมเกิดขึ้นเพราะอุปธิมีตัณหาเป็นต้นเป็นเหตุ. เมื่อทุกข์ทั้งหลายเกิดขึ้น มีอุปธิเป็นเหตุอย่างนี้
               พึงทราบคาถาต่อไปว่า โย เจ อวิทฺวา ผู้ใดไม่รู้แจ้ง ดังนี้เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ปชานํ รู้อยู่ คือรู้สังขารทั้งหลายโดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น. บทว่า ทุกฺขสฺส ชาติปฺปภวานุปสฺสี เห็นชาติว่าเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ คือพิจารณาเนืองๆ ว่า อุปธิเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ในวัฎฎะ. บทว่า โสกปริทฺทวญฺจ คือ ความโศกและความคร่ำครวญ.
               บทว่า ตถา หิ เต วิทิโต เอส ธมฺโม ธรรมนี้พระองค์ทรงทราบชัดแล้วด้วยประการนั้น คือธรรมนี้พระองค์ทรงทราบชัดแล้วด้วยกำลังพระญาณเป็นต้นโดยที่สัตว์ทั้งหลายไม่รู้เลย.
               บทว่า กิตฺติยิสฺสามิ เต ธมฺมํ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน คือเราจักแสดงธรรมคือนิพพานและปฏิปทาให้ถึงนิพพานแก่ท่าน. บทว่า ทิฏฺเฐ ธมฺเม ในธรรมที่เราได้เห็นแล้ว คือในธรรมมีทุกข์เป็นต้น ที่เราได้เห็นแล้วหรือในอัตภาพนี้แล. บทว่า อนีติหํ ที่เราได้เห็นแล้ว คือประจักษ์แก่ตน. บทว่า ยํ วิทิตฺวา รู้ชัดธรรมใดแล้ว คือพิจารณาโดยนัยมีอาทิว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยงดังนี้ ชื่อว่ารู้ชัดธรรมใดแล้ว.
               บทว่า ตญฺจาหํ อภินนฺทามิ ข้าพระองค์ยินดีอย่างยิ่งซึ่งธรรมอันสูงสุดนั้น คือ เมตตคูมาณพทูลว่า ข้าพระองค์ปรารถนาอย่างยิ่งซึ่งธรรมมีประการดังที่พระองค์ตรัสนั้น หรือถ้อยคำของพระองค์อันส่องถึงธรรมที่พระองค์ตรัสแล้ว.
               บทว่า ธมฺมมุตฺตมํ ธรรมอันสูงสุด คือข้าพระองค์ยินดียิ่งซึ่งธรรมอันสูงสุดของพระองค์.
               ในคำนี้ว่า อุทฺธํ อโธ จ ติริยญฺจาปิ มชฺเฌ ในส่วนเบื้องบน ในส่วนเบื้องต่ำ และแม้ในส่วนเบื้องขวางสถานกลาง คืออนาคต อัทธา ท่านกล่าวว่าเป็นส่วนเบื้องบน อดีตอัทธาท่านกล่าวว่าเป็นส่วนเบื้องต่ำ ปัจจุบัน อัทธาท่านกล่าวว่าเป็นส่วนเบื้องขวางคือท่ามกลาง.
               บทว่า เอเตสุ นนฺทิญฺจ นิเวสนญฺจ ปนุชฺช วิญฺญาณํ จงบรรเทาความเพลิดเพลินและความยึดมั่นในส่วนเหล่านั้นเสีย วิญญาณจะไม่พึงตั้งอยู่ในภพ.
               ความว่า ท่านจงบรรเทาตัณหา ความยึดมั่นคือทิฏฐิและอภิสังขารวิญญาณในอัทธาเป็นต้นเหล่านั้นเสีย ครั้นบรรเทาแล้วไม่พึงตั้งอยู่ในภพ แม้เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะไม่พึงตั้งอยู่ในภพแม้ทั้งสองอย่าง.
               พึงทราบการเชื่อมความในการกำหนดความนี้แห่ง ปนุชฺช ศัพท์ว่า ปนุเทหิ แปลว่า ท่านจงบรรเทา. พึงทราบการเชื่อมความนี้เหมือนกันว่า ไม่พึงตั้งอยู่ในภพในการกำหนดความนี้ว่า ปนุทิตฺวา ครั้นบรรเทาแล้ว. ท่านอธิบายว่า ภิกษุครั้นบรรเทาความเพลิดเพลินความยึดมั่นและวิญญาณเหล่านี้แล้วจะไม่พึงตั้งอยู่ในภพแม้สองอย่าง. ครั้นบรรเทาอย่างนี้แล้วเมื่อไม่ตั้งอยู่ในภพ พึงทราบคาถาต่อไปว่า เอวํวิหารี ผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อิเธว ได้แก่ ในศาสนานี้หรือในอัตภาพนี้.
               บทว่า อนูปธิกํ ธรรมไม่มีอุปธิ ในบทนี้ว่า สุกิตฺติตํ โคตม อนูปธิกํ ได้แก่ นิพพาน. เมตตคูมาณพหมายถึงธรรมนั้น เมื่อจะทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทูลว่า สุกิตฺติตํ โคตมนูปธิกํ ข้าแต่พระโคดม ธรรมอันไม่มีอุปธิ พระองค์ทรงแสดงชอบแล้ว. มิใช่ทรงละทุกข์ได้อย่างเดียวเท่านั้น. พึงทราบคาถาต่อไปว่า เต จาปิ แม้ชนเหล่านั้นก็พึงละทุกข์ได้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อฏฺฐิตํ ไม่หยุดยั้ง คือเคารพหรือเอื้อเฟื้อ.
               บทว่า ตํ ตํ นมสฺสามิ คือ เพราะเหตุนั้นข้าพระองค์จึงขอนอบน้อมพระองค์.
               บทว่า สเมจฺจ คือ เข้าไปใกล้.
               เมตตคูมาณพเมื่อจะทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทูลว่า นาค ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้อันพราหมณ์นั้นรู้ชัดแล้วอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงละทุกข์ได้แล้วแน่นอนดังนี้ ก็ไม่ทรงยังพราหมณ์ให้น้อมไปสู่พระองค์ เมื่อจะทรงสอนพราหมณ์นั้นแบบบุคคลผู้ละทุกข์ได้แล้ว จึงตรัสคาถาว่า ยํ พฺราหฺมณํ ดังนี้เป็นต้น.
               บทนั้นมีความดังนี้
               ท่านพึงรู้ผู้ใดว่า ผู้นี้เป็นพราหมณ์เพราะเป็นผู้ลอยบาปได้แล้ว เป็นผู้ถึงเวทเพราะเป็นผู้ไปด้วยเวททั้งหลาย เป็นผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวลเพราะไม่มีความกังวล เป็นผู้ไม่ข้องในกามภพเพราะไม่ติดอยู่ในกามทั้งหลาย และในภพทั้งหลาย. ผู้นั้นข้ามโอฆะนี้และข้ามบาปได้แน่แล้ว ไม่มีตะปูคือกิเลส ไม่มีความสงสัย.
               มีอะไรยิ่งไปกว่านั้น พึงทราบคาถาต่อไปว่า วิทฺวา โส นรชนนั้นรู้ชัดแล้ว ดังนี้เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อิธ คือ ในศาสนานี้หรือในอัตภาพนี้.
               บทว่า วิสชฺช แปลว่า สละแล้ว.
               บทที่เหลือในที่ทั้งปวงชัดอยู่แล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระสูตรแม้นี้ด้วยธรรมเป็นยอดคือพระอรหัตเหมือนกัน.
               อนึ่ง เมื่อจบเทศนาได้มีผู้บรรลุธรรมเช่นกับที่ได้กล่าวแล้วนั้นแล.

               จบอรรถกถาเมตตคูสูตรที่ ๔               
               แห่งอรรถกถาขุททกนิกาย               
               ชื่อปรมัตถโชติกา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ปารายนวรรค เมตตคูปัญหาที่ ๔ จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 427อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 428อ่านอรรถกถา 25 / 429อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=11060&Z=11115
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=29&A=9861
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=29&A=9861
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓๑  พฤษภาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :