ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 4อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 5อ่านอรรถกถา 25 / 7อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ มงคลสูตรในขุททกปาฐะ

หน้าต่างที่ ๔ / ๔.

               พรรณนาคาถาว่า มาตาปิตุอุปฎฺฐานํ               
               บัดนี้ จะพรรณนาในคาถานี้ว่า มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ.
               มารดาและบิดา เหตุนั้น ชื่อว่า มารดาและบิดา. บทว่า อุปฏฺฐานํ แปลว่า การบำรุง.
               บุตรทั้งหลายด้วย ภรรยาทั้งหลายด้วย ชื่อว่าบุตรและภรรยา การสงเคราะห์ชื่อว่า สังคหะ.
               การงานคือกิจกรรมอากูลหามิได้ ชื่อว่า ไม่อากูล.
               คำที่เหลือมีนัยที่กล่าวมาแล้วทั้งนั้นแล. นี่เป็นการพรรณนาบท.
               ส่วนการพรรณนาความ พึงทราบดังนี้.
               สตรีผู้ยังบุตรให้เกิด เรียกชื่อว่า มารดา บิดาก็เหมือนกัน. การทำอุปการะด้วยการล้างเท้านวดฟั้นขัดสี ให้อาบน้ำ และด้วยการมอบให้ปัจจัย ๔ ชื่อว่า การบำรุง. ในการบำรุงนั้น เพราะเหตุที่มารดาบิดามีอุปการะมาก หวังประโยชน์อนุเคราะห์บุตรทั้งหลาย มารดาบิดาเหล่าใดแลเห็นบุตรทั้งหลายเล่นอยู่ข้างนอก เดินมามีเนื้อตัวเปื้อนฝุ่น ก็เช็ดฝุ่นให้ จูบจอมถนอมเกล้า เกิดความรักเอ็นดู บุตรทั้งหลายใช้ศีรษะทูนมารดาบิดาไว้ถึงร้อยปี ก็ไม่สามารถจะทำปฏิการะสนองคุณของมารดาบิดานั้นได้ และเพราะเหตุที่มารดาบิดานั้นเป็นผู้ดูแลบำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้ สมมติว่าเป็นพรหม สมมติว่าเป็นบุรพาจารย์ ฉะนั้น การบำรุงมารดาบิดานั้น ย่อมนำมาซึ่งการสรรเสริญในโลกนี้และละโลกไปแล้วก็จะนำมาซึ่งสุขในสวรรค์ ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่าเป็นมงคล
               สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๑-
                         มารดาบิดา ท่านเรียกว่าพรหม ว่าบุรพาจารย์ เป็น
               อาหุเนยยบุคคลของบุตร เป็นผู้อนุเคราะห์บุตร เพราะ
               ฉะนั้น บัณฑิตพึงนอบน้อม และพึงสักการะมารดาบิดา
               นั้น ด้วยข้าว น้ำ ผ้า ที่นอน การขัดสี การให้อาบน้ำและ
               ล้างเท้า. เพราะการปรนนิบัติมารดาบิดานั้น บัณฑิต
               ทั้งหลายจึงสรรเสริญเขาในโลกนี้ เขาละโลกไปแล้ว
               ยังบันเทิงในสวรรค์.

____________________________
๑- ขุ. อิติ. เล่ม /ข้อ ๒๘๖

               อีกนัยหนึ่ง กิจกรรม ๕ อย่าง มีการเลี้ยงดูท่าน ทำกิจของท่านและการดำรงวงศ์สกุลเป็นต้น ชื่อว่า การบำรุง. การบำรุงนั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งประโยชน์สุขในปัจจุบัน ๕ อย่างมีการห้ามมิให้ทำบาปเป็นต้น.
               สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า๒-
                                   ดูก่อนบุตรคฤหบดี ทิศเบื้องหน้า คือมารดาบิดา
                         อันบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ เราท่านเลี้ยงมาแล้ว
                         จักเลี้ยงดูท่าน จักทำกิจของท่าน จักดำรงวงศ์สกุล
                         จักปฏิบัติตัวเหมาะที่จะเป็นทายาท เมื่อท่านล่วงลับดับ
                         ขันธ์แล้วจักทำบุญอุทิศไปให้ท่าน. ดูก่อนบุตรคฤหบดี
                         ทิศเบื้องหน้าคือมารดาบิดา อันบุตรถึงบำรุงด้วยสถาน
                         ๕ เหล่านี้แล้วย่อมอนุเคราะห์บุตร ด้วยสถาน ๕ คือ
                         ห้ามบุตรจากความชั่ว ให้บุตรตั้งอยู่ในความดี ให้ศึกษา
                         ศิลปะจัดหาภรรยาที่สมควรให้ มอบทรัพย์มรดกให้
                         ในเวลาสมควร.

____________________________
๒- ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๑๙๙

               อนึ่ง ผู้ใดบำรุงมารดาบิดา ด้วยให้เกิดความเลื่อมใสในวัตถุ [รัตนะ] ทั้งสาม ด้วยให้ถึงพร้อมด้วยศีล ด้วยการบรรพชา ผู้นี้เป็นยอดของผู้บำรุงมารดาบิดา. การบำรุงมารดาบิดาของผู้นั้นเป็นการตอบแทนอุปการคุณที่มารดาบิดาทำมาแล้ว ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นปทัฏฐานแห่งประโยชน์ทั้งหลาย ทั้งปัจจุบันทั้งภายภาคหน้า เป็นอันมาก.
               ทั้งบุตรทั้งธิดา ที่เกิดจากตน ก็นับว่าบุตรทั้งนั้น ในคำว่า ปุตฺตทารสฺส นี้.
               บทว่า ทารา ได้แก่ภรรยา ๒๐ จำพวก จำพวกใดจำพวกหนึ่ง. บุตรและภรรยา ชื่อว่า ปุตตทาระ. ซึ่งบุตรและภรรยานั้น.
               บทว่า สงฺคโห ได้แก่ การทำอุปการะด้วยการยกย่องเป็นต้น. การอุปการะนั้น พึงทราบว่า เป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งประโยชน์สุขในปัจจุบัน มีความเป็นผู้จัดการงานดีเป็นต้น. ความจริง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสงเคราะห์บุตรภรรยาที่ทรงยกขึ้นแสดงว่า ทิศเบื้องหลัง พึงทราบว่า คือบุตรภรรยาไว้ด้วยภริยาศัพท์ จึงตรัสไว้ดังนี้ว่า๓-
                                   ดูก่อนบุตรคฤหบดี ทิศเบื้องหลังคือภรรยา อัน
                         สามีพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ ด้วยการยกย่อง ด้วย
                         การไม่ดูหมิ่น ด้วยการไม่นอกใจ ด้วยการมอบความ
                         เป็นใหญ่ให้ ด้วยการมอบเครื่องประดับให้. ดูก่อน
                         บุตรคฤหบดี ทิศเบื้องหลังคือภรรยา อันสามีบำรุงด้วย
                         สถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์สามีด้วยสถาน ๕
                         คือ จัดการงานดี สงเคราะห์คนข้างเคียง ไม่นอกใจ
                         รักษาทรัพย์ที่สามีหามา ขยันไม่เกียจคร้านในกิจทุก
                         อย่าง.

____________________________
๓- ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๒๐๑

               หรือมีอีกนัยหนึ่งดังนี้ บทว่า สงฺคโห ได้แก่ การสงเคราะห์ด้วยทานการให้ ปิยวาจาพูดน่ารัก อรรถจริยาการบำเพ็ญประโยชน์อันเป็นธรรม. คืออะไร. การให้เสบียงอาหารในวันอุโบสถ การให้ดูงานนักขัตฤกษ์ กระทำมงคลในวันมงคล การโอวาทสั่งสอน ในประโยชน์ทั้งหลายที่เป็นไปในปัจจุบัน และเป็นไปภายหน้า การสงเคราะห์นั้นพึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งประโยชน์ในปัจจุบัน เพราะเป็นเหตุแห่งประโยชน์ในภายหน้า และเพราะเป็นเหตุแห่งความเป็นผู้ที่แม้เทวดาทั้งหลายพึงนอบน้อม.
               เหมือนอย่างที่ท้าวสักกะจอมทวยเทพตรัสไว้ว่า๔-
                                   เย คหฏฺฐา ปุญฺญกรา สีลวนฺโต อุปาสกา.
                         ธมฺเมน ทารํ โปเสนฺติ                เต นมสฺสามิ มาตลิ.
                                   ดูก่อนมาตลี คฤหัสถ์เหล่าใด ทำบุญ มีศีล เป็นอุบาสก
                         เลี้ยงดูภรรยาโดยธรรม เราย่อมนอบน้อมคฤหัสถ์เหล่านั้น.

____________________________
๔- สํ. สคาก. ๑๕/ข้อ ๙๓๐

               การงานทั้งหลาย มีกสิกรรมทำไร่นา โครักขกรรมเลี้ยงโคและวณิชกรรม ค้าขายเป็นต้น เว้นจากภาวะอากูล มีการล่วงเลยเวลา การทำไม่เหมาะและการทำย่อหย่อนเป็นต้น เพราะเป็นผู้รู้จักกาล เพราะเป็นผู้ทำเหมาะ เพราะเป็นผู้ไม่เกียจคร้าน และเพราะไม่ควรพินาศ เหตุถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร ชื่อว่าการงานไม่อากูล.
               การงานไม่อากูลเหล่านั้น อันบุคคลประกอบได้อย่างนี้ ก็เพราะตน บุตรภรรยา หรือทาสและกรรมกร เป็นผู้ฉลาด ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุให้ได้ทรัพย์ ข้าวเปลือกและความเจริญในปัจจุบัน.
               สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า๕-
                         ผู้มีธุระ ทำเหมาะ หมั่น ย่อมได้ทรัพย์.

               และว่า๖-
                         ผู้ชอบนอนหลับกลางวัน เกลียดการขยันกลางคืน
               เมาประจำ เป็นนักเลง ครองเรือนไม่ได้. ประโยชน์
               ทั้งหลายย่อมล่วงเลย พวกคนหนุ่มที่ทอดทิ้งการงาน
               ด้วยอ้างว่า หนาวนัก ร้อนนัก เย็นแล้ว. ผู้ใดไม่สำคัญ
               ความเย็นและความร้อนยิ่งไปกว่าหญ้า ทำกิจของลูก
               ผู้ชาย ผู้นั้นย่อมไม่เสื่อมจากสุข.

               และว่า๗-
                         เมื่อคนรวบรวมโภคทรัพย์ เหมือนแมลงผึ้งรวบรวมน้ำหวาน
               โภคทรัพย์ย่อมสะสมเป็นกอง เหมือนจอมปลวกที่ปลวกทั้งหลายก่อขึ้น
               ฉะนั้น.

               อย่างนี้เป็นต้น
____________________________
๕- ขุ.สุ. ๒๕/๓๑๑/๓๖๑ ๖- ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๑๘๕ ๗- ที. ปา. เล่ม ๑๑/๑๙๗/๒๐๒

               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคลแห่งคาถานี้ไว้ ๔ มงคล คือการบำรุงมารดา ๑ การบำรุงบิดา ๑ การสงเคราะห์บุตรภรรยา ๑ และการงานไม่อากูล ๑
               หรือ ๕ มงคล เพราะแยกการสงเคราะห์บุตรและภรรยาออกเป็น ๒
               หรือ ๓ มงคล เพราะรวมการบำรุงมารดาและบิดาเป็นข้อเดียวกัน.
               ก็ความที่มงคลเหล่านั้นเป็นมงคล ได้ชี้แจงไว้ในมงคลนั้นๆ แล้วทั้งนั้นแล.
               จบพรรณนาความแห่งคาถานี้ว่า มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ               

               พรรณนาคาถาว่า ทานญฺจ               
               บัดนี้จะพรรณนาในคาถานี้ว่า ทานญฺจ.
               ชื่อว่าทาน เพราะเขาให้ด้วยวัตถุนี้. อธิบายว่า เขามอบทรัพย์ที่มีอยู่ขอตนให้แก่ผู้อื่น.
               การประพฤติธรรมหรือความประพฤติที่ไม่ปราศจากธรรม ชื่อว่า ธรรมจริยา.
               ชื่อว่าญาติ เพราะใครๆ ก็รู้ว่า ผู้นี้พวกของเรา.
               ไม่มีโทษ ชื่อว่าอนวัชชะ. ท่านอธิบายว่า ใครๆ นินทาไม่ได้ ติเตียนไม่ได้.
               คำที่เหลือมีนัยที่กล่าวมาแล้วทั้งนั้นแล. เป็นการพรรณนาบท.
               ส่วนการพรรณนาความ พึงทราบดังนี้.
               เจตนาเป็นเหตุบริจาคทานวัตถุ ๑๐ มีข้าวเป็นต้น ซึ่งมีความรู้ดีเป็นหัวหน้า เฉพาะผู้อื่น หรือความไม่โลภ ที่ประกอบด้วยจาคเจตนานั้น ชื่อว่าทาน. จริงอยู่ บุคคลย่อมมอบให้วัตถุนั้นแก่ผู้อื่น ด้วยความไม่โลภ. ด้วยเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า ชื่อว่าทาน เพราะเขาให้ทานด้วยวัตถุนี้
               ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุประสบผลวิเศษที่เป็นไปในปัจจุบันและเป็นไปภายหน้า มีความเป็นผู้ที่ชนเป็นอันมากรักและพอใจเป็นต้น.
               ในเรื่องทานนี้ พึงระลึกสูตรทั้งหลาย เป็นต้นอย่างนี้ว่า๑-
                         ดูก่อนสีหะ ทานบดีผู้ทายกย่อมเป็นที่รักพอใจของชนเป็นอันมาก.

____________________________
๑- องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๓๔/๔๑

               อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่า ทานมี ๒ คือ อามิสทานและธรรมทาน ในทานทั้งสองนั้น อามิสทานได้กล่าวมาแล้วทั้งนั้น. ส่วนการแสดงธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศแล้ว อันนำมาซึ่งความสิ้นทุกข์และสุขในโลกนี้และโลกหน้า เพราะหมายจะให้เป็นประโยชน์แก่คนอื่นๆ ชื่อว่า ธรรมทาน. อนึ่ง บรรดาทานทั้งสองนี้ ธรรมทานนี้อย่างเดียวเป็นเลิศ
               เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๒-
                                   สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ
                         สพฺพรสํ ธมฺมรโส ชินาติ
                         สพฺพรตึ ธมฺมรติ ชินาติ
                         ตณฺหกฺขโย สพฺพทุกฺขํ ชินาติ.

                                   การให้ธรรมชนะการให้ทั้งปวง
                         รสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง
                         ความยินดีในธรรมชนะความยินดีทั้งปวง
                         ความสิ้นตัณหาชนะทุกข์ทั้งปวง.

____________________________
๒- ขุ.ธ. ๒๕/๓๔/๖๓

               ในพระสูตรและคาถานั้น ก็ตรัสความที่อามิสทานเป็นมงคลเท่านั้น ส่วนธรรมทานตรัสว่า เป็นมงคล เพราะเป็นปทัฏฐานแห่งคุณทั้งหลาย มีความเป็นผู้ซาบซึ้งอรรถเป็นต้น
               สมจริงดังที่จะผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุแสดงธรรม ตามที่ฟังมา
                         ตามที่เรียนมาโดยพิศดารแก่คนอื่นๆ โดยประการใดๆ
                         ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้ซาบซึ้งอรรถ และซาบซึ้งธรรมในธรรม
                         นั้น โดยประการนั้นๆ
อย่างนี้เป็นต้น.
____________________________
๒- องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๒๖/๒๓

               การประพฤติกุศลธรรมบถ ๑๐ ชื่อว่า ธรรมจริยา เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เป็นต้นอย่างนี้ว่า ดูก่อนคฤหบดีทั้งหลาย การประพฤติธรรม การประพฤติสม่ำเสมอ มี ๓ อย่าง ก็การประพฤติธรรมนั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุเข้าถึงโลกสวรรค์.
               สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า๓-
                                   ดูก่อนคฤหบดีทั้งหลาย เพราะเหตุที่ประพฤติธรรม
                         ประพฤติสม่ำเสมอ สัตว์บางเหล่าในโลกนี้ เบื้องหน้าแต่ตาย
                         เพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
ดังนี้.
____________________________
๓- ม.มู. ๑๒/๔๘๕/๕๒๓-๕

               ชนผู้เกี่ยวข้องข้างมารดาหรือข้างบิดา จนถึง ๗ ชั่วปู่ย่า ชื่อว่าญาติ. การสงเคราะห์ญาติเหล่านั้น ผู้ถูกความเสื่อมโภคะ ถูกความเสื่อมเพราะเจ็บป่วยครอบงำแล้วมาหาตน ด้วยอาหารเครื่องนุ่งห่มและข้าวเปลือกเป็นต้น ตามกำลัง ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุประสบผลวิเศษ ที่เป็นปัจจุบันมีการสรรเสริญเป็นต้น และที่เป็นภายหน้ามีไปสุคติเป็นต้น.
               กิจกรรมที่เป็นสุจริตทางกายวาจาใจ มีการสมาทานองค์อุโบสถ การทำความขวนขวาย การปลูกสวนและป่า และสร้างสะพานเป็นต้น ชื่อว่าการงานไม่มีโทษ. การงานไม่มีโทษเหล่านั้น ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุให้ประสบประโยชน์สุขนานาประการ.
               พึงระลึกถึงพระสูตรทั้งหลาย มีเป็นต้นอย่างนี้ว่า๔-
               ดูก่อนวิสาขา สตรีหรือบุรุษบางคนในศาสนานี้ ถืออุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก พึงเข้าถึงความเป็นสหายของทวยเทพชั้นจาตุมมหาราชิกาอันใด อันนั้นก็เป็นฐานะเป็นไปได้.
.
____________________________
๔- องฺ.อฏฺฐก. ๒๓/๑๓๓/๒๖๒

               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคลแห่งคาถานี้ไว้ ๔ มงคล คือ ทาน ๑ ธรรมจริยา ๑ การสงเคราะห์ญาติ ๑ การงานไม่มีโทษ ๑ ด้วยประการฉะนี้.
               ก็ความที่มงคลเหล่านั้นเป็นมงคล ก็ได้ชี้แจงไว้ในมงคลนั้นๆ แล้วทั้งนั้นแล.
               จบพรรณนาความแห่งคาถานี้ว่า ทานญฺจ               
               --------------------               

               พรรณนาคาถาว่า อารตี               
               บัดนี้ จะพรรณนาในคาถาว่า อารตี วิรตี นี้.
               ชื่อว่าอารมณะ เพราะงด. ชื่อว่าวิรมณะ เพราะเว้น.
               อีกนัยหนึ่ง เจตนาชื่อว่าวิรติ เพราะเป็นเครื่องที่สัตว์งดเว้น.
               บทว่า ปาปา ได้แก่ จากอกุศล. ชื่อว่ามัชชะ เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้งแห่งความเมา. การดื่มมัชชะ ชื่อว่ามัชชปานะ. สำรวมจากมัชชปานะนั้น. ความระวังชื่อว่าสํยมะ. ความไม่ประมาท ชื่อว่าอัปปมาทะ.
               บทว่า ธมฺเมสุ ได้แก่ ในกุศลทั้งหลาย.
               คำที่เหลือมีนัยที่กล่าวมาแล้วทั้งนั้นแล นี้เป็นการพรรณนาบท.
               ส่วนการพรรณาความ พึงทราบดังนี้.
               ความไม่ยินดียิ่งทางใจอย่างเดียวของบุคคลผู้เห็นโทษในบาป ชื่อว่า อารติ. ความเว้นทางกายวาจา โดยกรรมและทวาร ชื่อว่าวิรัติ.
               ก็ธรรมดาวิรัตินั่นนั้นมี ๓ คือ สัมปัตตวิรัติ ๑ สมาทานวิรัติ ๑ สมุจเฉทวิรัติ ๑.
               บรรดาวิรัติทั้ง ๓ นั้น วิรัติเจตนางดเว้นจากวัตถุที่ประสบเข้าอันใดของกุลบุตร โดยนัยเป็นต้นอย่างนี้ว่า ข้อที่เราจะฆ่าสัตว์นี้ จะลักทรัพย์เป็นต้น เมื่อนึกถึงชาติตระกูล หรือโคตรของตน ก็ไม่สมควรแก่เราเลย วิรัติเจตนางดเว้น อันนี้ชื่อว่าสัมปัตตวิรัติ.
               กุลบุตรไม่ทำบาปมีปาณาติบาตเป็นต้น ตั้งแต่ประพฤติวิรัติอันใด วิรัติอันนั้นเป็นไปโดยสมาทานสิกขาบท ชื่อว่าสมาทานวิรัติ.
               ภัยเวร ๕ ของพระอริยสาวกระงับไป ตั้งแต่ประพฤติวิรัติใด วิรัตินั้นประกอบด้วยอริยมรรค ชื่อว่าสมุจเฉทวิรัติ. บาปอกุศลนั้นใด มี ๔ อย่าง กล่าวคือกรรมกิเลส ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้พิศดารอย่างนี้ว่า ดูก่อนบุตรคฤหบดี กรรมกิเลส คือปาณาติบาต กรรมกิเลส คืออทินนาทาน ฯลฯ กาเมสุมิจฉาจาร ฯลฯ กรรมกิเลส คือมุสาวาท๑- ดังนี้แล้วทรงสังเขปไว้ด้วยคาถาอย่างนี้ว่า.
                         ปาณาติปาโต อทินฺนาทานํ มุสาวาโท จ วุจฺจติ
                         ปรทารคมนญฺเจว                นปฺปสํสนฺติ ปณฺฑิตตา
               ท่านกล่าวกรรมกิเลส ๔ คือ ปาณาติบาต, อทินนาทาน, มุสาวาท
               และการละเมิดภรรยาของผู้อื่น. บัณฑิตทั้งหลายไม่สรรเสริญเลย.
๒-
____________________________
๑- ที. ปา. เล่ม ๑๑/๑๗๔/๑๙๕ ๒- ที. ปา. เล่ม ๑๑/๑๗๕/๑๙๕

               การงดเว้นจากบาปอกุศลนั้น การงดการเว้นแม้ทั้งหมดนั้น ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุประสบผลวิเศษนานาประการ มีการละภัยเวรที่เป็นปัจจุบันและเป็นไปในภายหน้าเป็นต้น. ก็ในข้อนี้ พึงระลึกถึงพระสูตรทั้งหลายโดยนัยเป็นต้นว่า ดูก่อนบุตรคฤหบดี อริยสาวกเว้นขาดจากปาณาติบาตแล.
               จะกล่าวพรรณนาการสำรวมจากการดื่มของเมา.
               คำนี้เป็นชื่อของเจตนางดเว้นจากที่ตั้งแห่งความประมาท คือการดื่มของเมา คือสุราและเมรัย ที่กล่าวไว้ก่อนแล้ว. ก็เพราะเหตุที่ผู้ดื่มของเมาย่อมไม่รู้อรรถ ไม่รู้ธรรม ย่อมทำอันตรายแก่มารดา ทำอันตรายแก่บิดา แม้แก่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพระพุทธเจ้า และพระสาวกของพระตถาคต ย่อมประสบการติเตียนในภพปัจจุบัน ประสบทุคติในภพเบื้องหน้า และประสพความเป็นบ้าในภพต่อๆ ไป. ส่วนการสำรวมจากการดื่มของเมา ย่อมบรรลุการระงับโทษเหล่านั้น และการถึงพร้อมด้วยคุณตรงกันข้ามกับโทษนั้น.
               ฉะนั้น การสำรวมจากการดื่มของเมานี้ พึงทราบว่าเป็นมงคล.
               ความอยู่ไม่ปราศจากสติในกุศลธรรมทั้งหลาย โดยอรรถพึงทราบโดยเป็นปฏิปักษ์ต่อความประมาท ที่ท่านกล่าวไว้ในบาลีนี้ ความกระทำโดยไม่เคารพ ความกระทำโดยไม่ต่อเนื่อง ความกระทำไม่มั่นคง ความประพฤติย่อหย่อน ความทอดฉันทะ ความทอดธุระ การไม่เสพ การไม่เจริญ การไม่ทำให้มาก การไม่ตั้งใจ การไม่ประกอบเนืองๆ ความเลินเล่อในการอบรมกุศลธรรมทั้งหลาย ความประมาท ความเลินเล่อ ความเป็นผู้เลินเล่อ เห็นปานนี้ใด อันนี้เรียกว่า ประมาท๓-. ชื่อว่าความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย. ความไม่ประมาทในกุศลธรรมนั้น ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุประสบกุศลนานาประการ และเพราะเป็นเหตุบรรลุอมตธรรม.
               ในข้อนั้น พึงระลึกถึงคำสั่งสอนของพระศาสดา เป็นต้นอย่างนี้ว่า ผู้ไม่ประมาท ผู้มีความเพียร๔- และว่า ความไม่ประมาทเป็นอมตบท๕- ดังนี้.
____________________________
๓- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๘๖๓ ๔- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๒๒ ๕- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๑๒

               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคลแห่งคาถานี้ไว้ ๓ มงคล คือ การงดเว้นจากบาป ๑ การสำรวมจากการดื่มของเมา ๑ ความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย ๑ ด้วยประการฉะนี้.
               ก็ความที่มงคลเหล่านั้นเป็นมงคล ก็ได้ชี้แจงไว้ในมงคลนั้นๆ แล้วทั้งนั้นแล.
               จบพรรณนาความแห่งคาถาว่า อารตี               

               พรรณนาคาถาว่า คารโว จ               
               บัดนี้ จะพรรณนาในคาถาว่า คารโว จ นี้.
               บทว่า คารโว ได้แก่ ความเป็นผู้หนัก [การณ์].
               บทว่า นิวาโต ได้แก่ ความประพฤติถ่อมตน.
               บทว่า สนฺตุฏฺฐิ แปลว่า ความสันโดษ. ความรู้อุปการะคุณที่ท่านทำไว้ ชื่อว่ากตัญญุตา.
               บทว่า กาเลน แปลว่า ขณะสมัย. การฟังธรรม ชื่อว่าธัมมัสสวนะ.
               คำที่เหลือมีนัยที่กล่าวมาแล้วทั้งนั้นแล นี้เป็นการพรรณนาบท.
               ส่วนการพรรณนาความ พึงทราบดังนี้
               ความเคารพ การทำความเคารพ ความเป็นผู้มีความเคารพตามสมควรในพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระสาวกของพระตถาคต อาจารย์ อุปัชฌาย์ มารดาบิดา พี่ชาย พี่สาว เป็นต้น เป็นผู้ควรประกอบความเคารพ ชื่อว่า คารวะ. คารวะนี้นั้น เพราะเหตุที่เป็นเหตุแห่งการไปสุคติเป็นต้น
               เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า
                                   บุคคลกระทำความเคารพผู้ที่ควรเคารพ สักการะ
                         ผู้ที่ควรสักการะ นับถือผู้ที่ควรนับถือ บูชาผู้ที่ควรบูชา.
                         เพราะกรรมนั้นที่ยึดถือไว้บริบูรณ์อย่างนี้ เบื้องหน้าแต่
                         ตาย เพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์.
                         ถ้าเขาไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ หากเขามาเกิดเป็น
                         มนุษย์ ก็จะเป็นผู้มีตระกูลสูงในประเทศที่กลับมาเกิด

                         ดังนี้.
               และเหมือนอย่างที่ตรัสไว้อย่างนี้ว่า๑-
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความไม่เสื่อม
                         ๗ ประการเหล่านี้. ๗ ประการเป็นไฉน ๗ ประการ มีความ
                         เป็นผู้มีความเคารพในพระศาสดา
ดังนี้เป็นต้น
               ฉะนั้น จึงตรัสว่าเป็นมงคล.
____________________________
๑- องฺ.สตฺตก. ๒๓/๓๐/๓๐

               ความเป็นผู้มีใจลดต่ำ ความเป็นผู้มีความประพฤติไม่ลำพอง ชื่อว่าความถ่อมตน. บุคคลประกอบด้วยความเป็นผู้ถ่อมตนอันใด กำจัดมานะได้ กำจัดความกระด้างได้ เป็นเสมือนผ้าเช็ดเท้า เสมอด้วยโคอุสุภะเขาขาด และเสมอด้วยงูที่ถูกถอนเขี้ยวแล้ว ย่อมเป็นผู้ละเอียดอ่อนละมุนละไม ผ่องแผ้วด้วยสุข ความเป็นผู้ถ่อมตน อันนี้เป็นนิวาตะ นิวาตะนี้นั้น ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุได้คุณ มียศเป็นต้น
               อนึ่ง ตรัสไว้ว่า ผู้มีความถ่อมตน ไม่กระด้าง คนเช่นนั้นย่อมได้ยศ ดังนี้ เป็นต้น.๒-
____________________________
๒- ที. ปา. เล่ม ๑๑/๒๐๕/๒๐๖

               ความพอใจด้วยปัจจัยตามมีตามได้ ชื่อว่าสันตุฏฐี
               สันโดษนั้นมี ๑๒ อย่าง คือในจีวร ๓ อย่าง คือยถาลาภสันโดษ สันโดษตามที่ได้, ยถาพลสันโดษ สันโดษตามกำลัง, ยถาสารุปปสันโดษ สันโดษตามสมควร. ในบิณฑบาตเป็นต้นก็อย่างนี้.
               จะพรรณนาประเภทแห่งสันโดษนั้น ดังนี้.
               ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้จีวรดีหรือไม่ดี ภิกษุนั้นก็ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยจีวรนั้นเท่านั้น ไม่ประสงค์จีวรอื่น เมื่อได้ก็ไม่รับ นี้ชื่อว่า ยถาลาภสันโดษในจีวรของภิกษุนั้น.
               อนึ่งเล่า ภิกษุอาพาธ เมื่อห่มจีวรหนัก ย่อมต้องค้อมตัวลง หรือลำบาก เธอจึงเปลี่ยนจีวรนั้นกับภิกษุที่ชอบกัน ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยจีวรนั้น ก็ยังเป็นผู้สันโดษอยู่ นี้ชื่อว่า ยถาพลสันโดษในจีวรของภิกษุนั้น.
               ภิกษุอีกรูปหนึ่ง เป็นผู้ได้ปัจจัยอันประณีต เธอได้จีวรบรรดาจีวรชั้นดีเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมีค่ามาก คิดว่า จีวรนี้เหมาะแก่พระเถระพระผู้บวชมานานและพระพหูสูต จึงถวายแก่พระภิกษุเหล่านั้น ตนเองก็เลือกเอาเศษผ้าจากกองขยะ หรือจากที่ไรๆ อื่น ทำสังฆาฏิครอง ก็ยังเป็นผู้สันโดษอยู่นั่นเอง นี้ชื่อว่ายถาสารุปปสันโดษในจีวรของภิกษุนั้น.
               อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้บิณฑบาต ปอนหรือประณีตยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยบิณฑบาตนั้น ไม่ประสงค์บิณฑบาตอื่น แม้เมื่อได้ก็ไม่รับ นี้ชื่อว่ายถาลาภสันโดษในบิณฑบาตของภิกษุนั้น.
               อนึ่งเล่า ภิกษุอาพาธฉันบิณฑบาตเศร้าหมอง โรคจะกำเริบหนัก เธอจึงถวายบิณฑบาตนั้นแก่ภิกษุที่ชอบกัน ฉันเนยใส น้ำผึ้ง และนมสดเป็นต้น จากมือของภิกษุนั้น แม้ทำสมณธรรมอยู่ ก็ยังเป็นผู้สันโดษ นี้เป็น ยถาพลสันโดษในบิณฑบาตของภิกษุนั้น.
               ภิกษุอีกรูปหนึ่ง ได้บิณฑบาตอันประณีต เธอคิดว่า บิณฑบาตนี้เหมาะแก่พระเถระ พระผู้บวชมานาน และแม้แก่สพรหมจารีอื่น ผู้เว้นบิณฑบาตอันประณีตเสีย ก็ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ จึงได้ถวายแก่ภิกษุเหล่านั้น ตนเองเที่ยวบิณฑบาต แม้ฉันอาหารที่ปนกันก็ยังเป็นผู้สันโดษอยู่ นี้ชื่อว่ายถาสารุปปสันโดษในบิณฑบาตของภิกษุนั้น.
               อนึ่ง เสนาสนะมาถึงภิกษุในธรรมวินัยนี้ เธอก็สันโดษด้วยเสนาสนะนั้นนั่นแหละ ไม่ยอมรับเสนาสนะอื่น แม้ดีกว่าที่มาถึงอีก นี้ชื่อว่ายถาลาภสันโดษในเสนาสนะของภิกษุนั้น.
               อนึ่งเล่า ภิกษุอาพาธอยู่ในเสนาสนะที่อับลม ย่อมจะทุรนทุรายอย่างเหลือเกิน ด้วยโรคดีเป็นต้น เธอจึงถวายเสนาสนะแก่ภิกษุที่ชอบกัน แล้วอยู่เสียในเสนาสนะอันเย็น มีลม ที่ถึงแก่ภิกษุนั้น แม้กระทำสมณธรรม ก็ยังเป็นผู้สันโดษอยู่ นี้ชื่อว่ายถาพลสันโดษในเสนาสนะของภิกษุนั้น.
               ภิกษุอีกรูปหนึ่ง ไม่ยอมรับเสนาสนะที่ดีแม้มาถึง คิดว่าเสนาสนะดี เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เมื่อภิกษุนั่งในเสนาสนะนั้น ถีนมิทธะย่อมครอบงำ เมื่อหลับแล้วตื่นขึ้นมาอีก กามวิตกย่อมฟุ้งขึ้น เธอจึงปฏิเสธเสนาสนะนั้นเสีย อยู่แต่ในที่แจ้ง โคนไม้และกุฏิมุงบังด้วยใบไม้ แห่งใดแห่งหนึ่ง ก็ยังเป็นผู้สันโดษอยู่ นี้ชื่อว่า ยถาสารุปปสันโดษในเสนาสนะของภิกษุนั้น.
               อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้เภสัชไม่ว่าผลสมอหรือมะขามป้อม เธอก็ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยเภสัชนั้น. ไม่ประสงค์เภสัชอย่างอื่น มีเนยใส น้ำผึ้ง น้ำอ้อยเป็นต้นที่ได้แล้ว แม้เมื่อได้ก็ไม่รับ นี้ชื่อว่ายถาลาภสันโดษในคิลานปัจจัยของภิกษุนั้น.
               อนึ่ง ภิกษุอาพาธ ต้องการน้ำมัน แต่ได้น้ำอ้อย เธอก็ถวายน้ำอ้อยนั้นแก่ภิกษุที่ชอบกัน แต่ทำยาด้วยน้ำมันจากมือของภิกษุนั้น แม้กระทำสมณธรรม ก็ยังเป็นผู้สันโดษอยู่ นี้ชื่อว่ายถาพลสันโดษในคิลานปัจจัยของภิกษุนั้น.
               ภิกษุอีกรูปหนึ่ง ใส่สมอดองกับมูตรเน่าลงในภาชนะใบหนึ่ง ใส่ของมีรสอร่อย ๔ อย่างลงในภาชนะใบหนึ่ง เมื่อถูกเพื่อนภิกษุบอกว่า ท่านต้องการสิ่งใด ก็ถือเอาเถิดท่าน ถ้าว่า อาพาธของภิกษุนั้นระงับไปด้วยสมอดองน้ำมูตรเน่าและของรสอร่อยทั้งสองนั้น อย่างใดอย่างหนึ่งไซร้ เมื่อเป็นดังนั้นเธอคิดว่า ธรรมดาว่าสมอดองด้วยมูตรเน่า พระพุทธเจ้าเป็นต้นทรงสรรเสริญแล้ว และพระพุทธเจ้าตรัสว่า บรรพชาอาศัยมูตรเน่าเป็นเภสัช พึงทำความอุตสาหะในมูตรเน่าเป็นเภสัชนั้น จนตลอดชีวิต๑- ปฏิเสธของมีรสอร่อยเป็นเภสัช แม้กระทำเภสัชด้วยสมอดองด้วยมูตรเน่า ก็เป็นผู้สันโดษอย่างยิ่ง นี้ชื่อว่ายถาสารุปปสันโดษในคิลานปัจจัยของภิกษุนั้น.
               สันโดษแม้ทั้งหมดนั้น มีประเภทอย่างนี้ ก็เรียกว่าสันตุฏฐี
               สันตุฏฐีนั้นพึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุประสบการละบาปธรรมทั้งหลาย มีความปรารถนาเกินส่วน ความมักมากและความปรารถนาลามกเป็นต้น เพราะเป็นเหตุแห่งสุคติ เพราะเป็นเครื่องอบรมอริยมรรค และเพราะเป็นเหตุแห่งความเป็นผู้อยู่ได้สบายในทิศทั้ง ๔
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๒-
                                   จาตุทฺทิโส อปฺปปฏิโฆ จ โหติ
                                   สนฺตุสฺสมาโน อิตรีตเรน

                         ผู้สันโดษด้วยปัจจัยตามมีความได้ ย่อมเป็น
                         ผู้อยู่สบายในทิศทั้ง ๔ และไม่มีปฏิฆะเลย
ดังนี้เป็นต้น
____________________________
๑- วิ.มหา. ๔/๑๔๓/๑๙๓ ๒- ขุ.สุ. ๒๕/๒๙๖/๓๓๓

               ความรู้จักอุปการคุณที่ผู้ใดผู้หนึ่งทำมาแล้ว ไม่ว่ามากหรือน้อย โดยการระลึกถึงเนืองๆ ชื่อว่า กตัญญุตา. อนึ่ง บุญทั้งหลายนั่นแล มีอุปการะมากแก่สัตว์ทั้งหลาย เพราะป้องกันทุกข์มีทุกข์ในนรกเป็นต้นได้. ดังนั้น การระลึกถึงอุปการะของบุญแม้เหล่านั้น ก็พึงทราบว่าเป็นกตัญญุตา.
               กตัญญุตานั้นตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุประสบผลวิเศษมีประการต่างๆ มีเป็นผู้อันสัตบุรุษทั้งหลายพึงสรรเสริญเป็นต้น. ทั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสไว้ว่า๓-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๒ จำพวกเหล่านี้ หาได้ยากในโลก คือ บุพพการี ๑ กตัญญูกตเวที ๑.

____________________________
๓- องฺ.ทุก. ๒๐/๓๖๔/๑๐๘

               การฟังธรรม เพื่อบรรเทาความวิตกในกาลที่จิตประกอบด้วยอุทธัจจะ หรือจิตถูกวิตกทั้งหลายมีกามวิตกเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งครอบงำ ชื่อว่าการฟังธรรมตามกาล.
               อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า การฟังธรรมทุกๆ ๕ วัน ชื่อว่า การฟังธรรมตามกาล
               เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวว่า ท่านพระอนุรุทธะกราบทูลว่า๔-
               ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์นั่งประชุมกันด้วยธรรมมีกถาคืนยังรุ่ง ทุกวันที่ ๕ แล.
____________________________
๔- ม.มู. ๑๒/๓๖๔/๓๘๙

               อนึ่ง ในกาลใด ภิกษุเข้าไปหากัลยาณมิตรแล้วอาจฟังธรรมบรรเทาความสงสัยของตนเสียได้ การฟังธรรมแม้ในกาลนั้น ก็พึงทราบว่าการฟังธรรมตามกาล เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ภิกษุเข้าไปหากัลยาณมิตรเหล่านั้น สอบถามไล่เลียงตลอดกาล ตามกาล.๕- การฟังธรรมตามกาลนั้นนั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุประสบผลวิเศษนานาประการ มีการละนีวรณ์ได้อานิสงส์ ๔ และบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะเป็นต้น.
               สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า.๖-
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในสมัยใด พระอริยสาวกใส่ใจ
                         ทำให้เป็นประโยชน์ รวบรวมทุกอย่างไว้ด้วยใจ เงี่ยโสต
                         ฟังธรรม ในสมัยนั้น นิวรณ์ ๕ ของพระอริยสาวกนั้นย่อม
                         ไม่มี.

               และว่า๗-
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พึงหวังอานิสงส์ ๔ ประการ
                         แห่งธรรมทั้งหลายที่คุ้นโสต ฯลฯ ที่แทงตลอดด้วยดีแล้ว.

               และว่า๘-
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ เหล่านี้ อันภิกษุ
                         อบรมโดยชอบ หมุนเวียนไปโดยชอบ ตลอดกาล
                         ตามกาล ย่อมให้ถึงธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะโดยลำดับ
                         ธรรม ๔ ประการ คือ การฟังธรรมตามกาล.

               อย่างนี้เป็นต้น
____________________________
๕- ที. ปา. เล่ม ๑๑/๔๔๔/๓๑๖ ๖- สํ.มหา. ๑๙/๔๙๒/๑๓๔ ๗- องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๑๙๑/๒๕๑
๘- องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๑๔๗/๑๘๘

               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคลแห่งคาถานี้ไว้ ๕ มงคล คือ ความเคารพ ๑ การถ่อมตน ๑ สันโดษ ๑ กตัญญุตา ๑ และการฟังธรรมตามกาล ๑ ด้วยประการฉะนี้.
               ความที่มงคลเหล่านั้นเป็นมงคล ก็ได้ชี้แจงไว้ในมงคลนั้นๆ แล้วทั้งนั้นแล.
               จบพรรณนาความแห่งคาถานี้ว่า คารโว จ               

               พรรณนาคาถาว่า ขนฺตี จ               
               บัดนี้ จะพรรณนาในคาถาว่า ขนฺตี จ นี้.
               ความอดทนชื่อว่าขันติ. ชื่อว่าสุวจะ เพราะมีความว่าง่าย เพราะเป็นผู้ถือเอาโดยเบื้องขวา. กรรมของผู้ว่าง่าย ชื่อว่าโสวจัสสะ. ความเป็นแห่งกรรมของผู้ว่าง่าย ชื่อว่าโสวจัสสตา. ชื่อว่าสมณะ เพราะระงับกิเลสทั้งหลายได้.
               บทว่า ทสฺสนํ ได้แก่ การเพ่งดู. การสนทนาธรรม ชื่อว่าธรรมสากัจฉา.
               คำที่เหลือมีนัยที่กล่าวมาแล้วทั้งนั้นแล. นี้เป็นการพรรณนาบท.
               ส่วนการพรรณนาความ พึงทราบดังนี้.
               อธิวาสนขันติ ชื่อว่าขันติ ที่ภิกษุผู้ประกอบด้วยขันตินั้นแล้ว ย่อมไม่มีอาการผิดปกติ เป็นผู้เหมือนไม่ได้ยินบุคคลที่ด่าด้วยอักโกสวัตถุ ๑๐ และเหมือนไม่เห็นบุคคลผู้เบียดเบียน ด้วยการฆ่าและการจองจำเป็นต้น เหมือนขันติวาทีดาบสฉะนั้น.
               เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า๑-
                                   อหุ อตีตมทฺธานํ สมโณ ขนฺติทีปโน
                         ตํ ขนฺติยาเยว ฐิตํ                กาสิราชา อเฉทยิ.
                                   สมณะผู้แสดงขันติ ได้มีมาแล้วในอดีตกาล
                         พระเจ้ากาสีได้ทรงทำลายสมณะผู้ตั้งอยู่ในขันตินั่นแล
____________________________
๑- ขุ.ชา. ๒๗/๕๕๒/๑๓๗

               หรือย่อมใส่ใจว่าเขาทำดีแล้ว เพราะไม่มีความผิดยิ่งไปกว่านั้น
               เหมือนท่านปุณณเถระฉะนั้น อย่างที่ท่านกราบทูลว่า๒-
                                   ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าผู้คนชาวสุนาปรันตกะ
                         จักด่าจักบริภาษข้าพระองค์ไซร้ ในข้อนั้นข้าพระองค์
                         ก็จักใส่ใจว่า ผู้คนชาวสุนาปรันตกะเหล่านี้ เป็นผู้เจริญ
                         หนอ ผู้คนชาวสุนาปรันตกะเหล่านี้ เป็นผู้เจริญดีหนอ
                         ผู้คนเหล่านี้ไม่ตีข้าพระองค์ด้วยมือ ดังนี้เป็นต้น.

____________________________
๒- ม.อุ. ๑๔/๗๕๗/๔๘๒

               และที่ภิกษุประกอบด้วยขันตินั้นแล้ว ย่อมเป็นผู้ที่แม้แต่ฤษีทั้งหลายก็พึงสรรเสริญ.
               อย่างท่านสรภังคฤษีกล่าวไว้ว่า๓-
                                   โกธํ วธิตฺวา น กทาจิ โสจติ
                         มกฺขปฺปหานํ อิสโย วณฺณยนฺติ
                         สพฺเพสํ วุตฺตํ ผรุสํ ขเมถ
                         เอตํ ขนฺตึ อุตฺตมมาหุ สนฺโต.

                                   คนฆ่าความโกรธได้แล้วย่อม ไม่เศร้าโศกในกาล
                         ไหนๆ ฤษีทั้งหลายย่อมสรรเสริญการละความลบหลู่
                         คนควรอดทนคำหยาบที่คนทั้งปวงกล่าวแล้ว สัตบุรุษ
                         ทั้งหลายสรรเสริญขันตินั้นว่าสูงสุด.

____________________________
๓- ขุ.ชา. ๒๗/๒๔๕๘/๕๓๘

               ย่อมเป็นผู้ที่แม้แต่เทวดาทั้งหลายก็พึงสรรเสริญ
               อย่างที่ท้าวสักกะจอมทวยเทพตรัสไว้ว่า๔-
                                   โย หเว พลวา สนฺโต ทุพฺพลสฺส ติติกฺขติ
                         ตมาหุ ปรมํ ขนฺตึ                นิจฺจํ ขมติ ทุพฺพโล.
                                   ผู้ใดเป็นคนแข็งแรง อดกลั้นต่อคนอ่อนแอ
                         สัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญขันตินั้นของผู้นั้นว่าเป็นเยี่ยม
                         คนอ่อนแอย่อมต้องอดทนอยู่เป็นประจำ.
____________________________
๔- สํ.ส. ๑๕/๘๗๕/๓๒๕

               ย่อมเป็นผู้ที่แม้แต่พระพุทธะทั้งหลายก็พึงสรรเสริญ.
               อย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๕-
                                   อกฺโกสํ วธพนฺธญฺจ อทุฏฺโฐ โย ติติกฺขติ
                         ขนฺตีพลํ พลาณีกํ                ตมหํ พฺรูมิ พฺราหฺมณํ.
                                   ผู้ใดไม่โกรธ อดกลั้นการด่าการฆ่าและการจองจำได้
                         เราเรียกผู้นั้น ซึ่งมีขันติเป็นกำลังมีกองกำลังว่าพราหมณ์.
____________________________
๕- ม.ม. ๑๓/๗๐๗

               ก็ขันตินั่นนั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุประสบคุณเหล่านั้น และคุณอื่นๆ ที่ทรงสรรเสริญในที่นี้.
               เมื่อถูกเพื่อนสพรหมจารีว่ากล่าวโดยธรรม ก็ไม่ถึงความฟุ้งซ่าน ความนิ่งงัน หรือคิดถึงคุณและโทษ วางความเอื้อเฟื้อ ความเคารพ และความมีใจตกลงต่ำเป็นเบื้องหน้าอย่างยิ่ง แล้วเปล่งถ้อยคำว่า ดีละขอรับ ดังนี้ ชื่อว่าโสวจัสสตา ความว่าง่าย
               โสวจัสสตานั้น ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุได้โอวาทและอนุศาสนี จากสำนักเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย และเพราะเป็นเหตุละโทษและบรรลุคุณ.
               การเข้าไปหา การบำรุง การระลึก การฟังและการเห็นนักบวชทั้งหลายผู้ระงับกิเลสแล้ว อบรมกายวาจาจิตและปัญญาแล้ว ประกอบด้วยความสงบอย่างสูง ชื่อว่าการเห็นสมณะทั้งหลาย
               การเห็นสมณะแม้ทั้งหมด ท่านกล่าวว่าทัสสนะ โดยเทศนาอย่างต่ำ.
               การเห็นสมณะนั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล. เพราะเหตุไร. เพราะมีอุปการะมาก
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เป็นต้นว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าการเห็นภิกษุเหล่านั้น มีอุปการะมาก เพราะบุญอันใด กุลบุตรผู้ต้องการประโยชน์ เห็นภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลมาถึงประตูเรือน ผิว่าไทยธรรมมีอยู่ ก็พึงนับถือด้วยไทยธรรมตามกำลัง ผิว่าไม่มี ก็พึงไหว้อย่างเบญจางคประดิษฐ์ เมื่อการไหว้อย่างเบญจางคประดิษฐ์ยังไม่พร้อม ก็พึงประคองอัญชลีนมัสการ เมื่อการนอบน้อม ยังไม่พร้อม ก็มีจิตผ่องใส แลดูด้วยจักษุที่น่ารัก ด้วยบุญที่มีการแลดูเป็นมูลอย่างนี้ โรคหรือโทษ ฝ้าหรือต่อมจะไม่มีในจักษุ ตลอดหลายพันชาติ จักษุทั้งสองก็จะผ่องใส มีสิริ มีวรรณะ ๕ เสมือนบานประตูแก้วมณีที่เปิดในรัตนวิมาน เขาจะได้สมบัติในเทวดาและมนุษย์ ประมาณแสนกัป
               ข้อที่เขาเกิดเป็นมนุษย์เป็นคนมีปัญญา พึงเสวยวิปากสมบัติเห็นปานนี้ ก็ด้วยบุญที่สำเร็จมาแต่การเห็นสมณะ ซึ่งเขาประพฤติมาโดยชอบ ไม่น่าอัศจรรย์เลย
               แม้สำหรับสัตว์เดียรัจฉาน บัณฑิตทั้งหลายก็พรรณนาวิบากสมบัติของการเห็นสมณะ ที่เพียงทำศรัทธาให้เกิดแล้วอย่างเดียวไว้อย่างนี้ ในบาลีประเทศใด บาลีประเทศนั้นมีว่า
                                   นกฮูก ตากลม อาศัยอยู่ที่เวทิยกบรรพตมาตลอด
                         กาลยาวนาน นกฮูกตัวนี้สุขแท้หนอ เห็นพระพุทธเจ้า
                         ผู้ประเสริฐ ซึ่งลุกขึ้นแต่เช้า.
                                   มันทำจิตให้เลื่อมใสในตัวเรา และภิกษุสงฆ์ผู้
                         ยอดเยี่ยม ไม่ต้องไปทุคติถึงแสนกัป มันจุติจากเทวโลก
                         อันกุศลกรรมตักเตือนแล้วจักเป็นพระพุทธะ ผู้มีอนันต
                         ญาณ ปรากฏพระนามว่า โสมนัสสะ
ดังนี้.
               ในเวลาพลบค่ำ หรือในเวลาย่ำรุ่ง ภิกษุฝ่ายพระสูตร ๒ รูป ย่อมสนทนาพระสูตรกัน ฝ่ายพระวินัยก็สนทนาพระวินัยกัน ฝ่ายพระอภิธรรมก็สนทนาพระอภิธรรมกัน ฝ่ายชาดกก็สนทนาชาดกกัน ฝ่ายอรรถกถาก็สนทนาอรรถกถากัน หรือสนทนากันในกาลนั้นๆ เพื่อชำระจิตที่ถูกความหดหู่ ความฟุ้งซ่านและความสงสัยชักนำไป การสนทนาตามกาลนี้ ชื่อว่าการสนทนาธรรมตามกาล
               การสนทนาธรรมตามกาลนั้น ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งคุณทั้งหลาย มีความฉลาดในอาคม คือนิกายทั้ง ๕ เป็นต้นแล.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคลแห่งคาถานี้ไว้ ๔ มงคล คือ ความอดทน ๑ ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ การเห็นสมณะ ๑ และการสนทนาธรรมตามกาล ๑ ด้วยประการฉะนี้.
               ก็ความที่มงคลเหล่านั้นเป็นมงคล ได้ชี้แจงไว้ในมงคลนั้นๆ แล้วทั้งนั้นแล.
               จบพรรณนาความแห่งคาถาว่า ขนฺตี จ               

               พรรณนาคาถาว่า ตโป จ               
               บัดนี้ จะพรรณนาในคาถาว่า ตโป จ นี้. ชื่อว่าตปะ เพราะเผาบาปธรรม. ความประพฤติอย่างพรหมหรือความประพฤติของพรหม ชื่อว่าพรหมจรรย์ ท่านอธิบายว่า ความประพฤติอย่างประเสริฐ. การเห็นอริยสัจทั้งหลาย ชื่อว่า อริยสจฺจาน ทสฺสนํ อาจารย์บางพวกกล่าว อริยสจฺจานิ ทสฺสนํ ดังนี้ก็มี. ชื่อว่านิพพาน เพราะออกจากวานะตัณหาเครื่องร้อยรัด. การทำให้แจ้ง ชื่อว่าสัจฉิกิริยา. การทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ชื่อว่านิพพานสัจฉิกิริยา.
               คำที่เหลือมีนัยที่กล่าวมาแล้วทั้งนั้นแล นี้เป็นการพรรณนาบท.
               ส่วนการพรรณนาความ พึงทราบดังนี้
               อินทรียสังวรชื่อว่าตปะ เพราะเผาอภิชฌาและโทมนัสเป็นต้น หรือความเพียรชื่อว่าตปะ เพราะเผาความเกียจคร้าน บุคคลผู้ประกอบด้วยตปะเหล่านั้น ท่านเรียกว่า อาตาปี ตปะนี้นั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุละอภิชฌาเป็นต้นและได้ฌานเป็นอาทิ.
               ชื่อว่าพรหมจรรย์ เป็นชื่อของเมถุนวิรัติ สมณธรรม ศาสนา และมรรค.
               จริงอย่างนั้น เมถุนวิรัติ ท่านเรียกว่า พรหมจรรย์ ได้ในประโยคเป็นต้นว่า๑-
                         อพฺรหฺมจริยํ ปหาย พฺรหฺมจารี โหติ

                         เมถุนวิรัติ เป็นพรหมจารี.

               สมณธรรม เรียกว่าพรหมจรรย์ ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า๒-
                         ภควติ โน อาวุโส พฺรหฺมจริยํ วุสฺสติ

                         ผู้มีอายุ เราอยู่ประพฤติสมณธรรม ในพระผู้มีพระภาคเจ้า.

               ศาสนา เรียกว่าพรหมจรรย์ ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า๓-
               น ตาวาหํ ปาปิม ปรินิพฺพายิสฺสามิ ยาว เม อิทํ พฺรหฺมจริยํ น อิทฺธญฺเจว ภวิสฺสติ ผีตญฺจ วิตฺถาริกํ พาหุชญฺญํ

               ดูก่อนมาร ตราบใดศาสนานี้ของเรา จักยังไม่มั่นคงเจริญแพร่หลายรู้กันมากคน เราก็จักยังไม่ปรินิพพานตราบนั้น.

               มรรคเรียกว่า พรหมจรรย์ ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า๔-
               อยเมว โข ภิกฺขุ อริโย อฏฺฐงฺคิโก มคฺโค พฺรหฺมจริยํ เสยฺยถีทํ สมฺมาทิฏฺฐิ

               ดูก่อนภิกษุ อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิเป็นต้น เป็นพรหมจรรย์.

____________________________
๑- ที.สี. ๙/๓/๔, ๙/๑๐๓ ๒- ม.มู. ๑๒/๒๙๖/๒๙๐ ๓- ที.มหา. ๑๐/๙๕/๑๒๓ ๔- สํ.มหา. ๑๙/๓๐/๙

               แต่ในที่นี้ พรหมจรรย์แม้ทุกอย่างไม่เหลือ ย่อมควร เพราะมรรค ท่านสงเคราะห์ด้วยอริยสัจจานทัสสนะข้างหน้าแล้ว.
               ก็พรหมจรรย์นั่นนั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุประสบผลวิเศษนานาประการชั้นสูงๆ.
               การเห็นมรรค โดยตรัสรู้อริยสัจ ๔ ที่กล่าวไว้แล้วในกุมารปัญหา ชื่อว่า อริยสัจจานทัสสนะ.
               อริยสัจจานทัสสนะนั้น ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุล่วงทุกข์ในสังสารวัฏ.
               อรหัตผล ท่านประสงค์เอาว่า นิพพาน ในที่นี้. ชื่อว่า นิพพานสัจฉิกิริยา กระทำให้แจ้งในพระนิพพาน. จริงอยู่ อรหัตผลแม้นั้น ท่านกล่าวว่า นิพพาน เพราะออกจากตัณหา ที่เข้าใจกันว่า วานะ เพราะร้อยไว้ในคติ ๕. การถึงหรือการพิจารณาพระนิพพานนั้น เรียกว่า สัจฉิกิริยา แต่การทำให้แจ้งพระนิพพานนอกนี้สำเร็จได้ด้วยการเห็นอริยสัจ ๔ นั่นแล ด้วยเหตุนั้น การเห็นอริยสัจนั้น ท่านจึงไม่ประสงค์ในที่นี้. การทำให้แจ้งพระนิพพานนั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุอยู่เป็นสุขในปัจจุบันเป็นต้น ด้วยประการฉะนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคลแห่งคาถานี้ไว้ ๔ มงคล คือ ตปะ ๑ พรหมจรรย์ ๑ อริยสัจจานทัสสนะ ๑ และนิพพานสัจฉิกิริยา ๑ ด้วยประการฉะนี้.
               ก็ความที่มงคลเหล่านั้นเป็นมงคล ได้ชี้แจงไว้ในมงคลนั้นๆ แล้วทั้งนั้นแล.
               จบพรรณนาความแห่งคาถานี้ว่า ตโป จ               

               พรรณนาคาถาว่า ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ               
               บัดนี้จะพรรณนาในคาถาว่า ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ นี้.
               บทว่า ผุฏฺฐสฺส ได้แก่ ถูกแล้ว ต้องแล้ว ประสบแล้ว. ธรรมทั้งหลายในโลก ชื่อว่าโลกธรรม. ท่านอธิบายว่า ธรรมทั้งหลายจะไม่หวนกลับตราบเท่าที่โลกยังดำเนินไป.
               บทว่า จิตฺตํ ได้แก่ มโน มานัส.
               บทว่า ยสฺส ได้แก่ ของภิกษุใหม่ ภิกษุปูนกลาง หรือภิกษุผู้เถระ.
               บทว่า น กมฺปติ ได้แก่ ไม่หวั่น ไม่ไหว.
               บทว่า อโสกํ ได้แก่ ไร้ความโศก ถอนโศกศัลย์เสียแล้ว.
               บทว่า วิรชํ ได้แก่ ปราศจากละอองกิเลส กำจัดละอองกิเลสแล้ว.
               บทว่า เขมํ ได้แก่ ไม่มีภัย ไร้อุปัทวะ.
               คำที่เหลือมีนัยที่กล่าวไว้แล้วแล นี้เป็นการพรรณนาบท.
               ส่วนการพรรณนาความ พึงทราบดังนี้
               จิตของผู้ใด อันโลกธรรม ๘ มี มีลาภไม่มีลาภเป็นต้น ถูกต้องครอบงำแล้ว ย่อมไม่หวั่น ไม่ไหว ไม่กระเทือน ชื่อว่าจิตของผู้ใดอันโลกธรรมกระทบแล้วไม่หวั่นไหว จิตนั้นของผู้นั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะนำมาซึ่งความเป็นผู้สูงสุดเหนือโลกซึ่งธรรมไรๆ ให้หวั่นไหวไม่ได้.
               ถามว่า ก็จิตของใคร ถูกโลกธรรมเหล่านั้นกระทบแล้วไม่หวั่นไหว.
               ตอบว่า จิตของพระอรหันตขีณาสพ ไม่ใช่จิตของใครอื่น.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า
                                   เสโล ยถา เอกกฺฆโน วาเตน น สมีรติ
                         เอวํ รูปา รสา สทฺทา                คนฺธา ผสฺสา จ เกวลา.
                         อิฏฺฐา ธมฺมา อนิฏฺฐา จ นปฺปเวเธนฺติ ตาทิโน
                         ฐิตํ จิตฺตํ วิปฺปมุตฺตํ วยญฺจสฺสานุปสฺสติ.
                                   ภูเขาหิน ทึบแท่งเดียว ย่อมไม่ไหวด้วยลม ฉันใด
                         รูป เสียง กลิ่น รส ผัสสะและธรรมทั้งสิ้น ทั้งส่วนอิฏฐารมณ์
                         ทั้งส่วนอนิฏฐารมณ์ ย่อมทำจิตของท่านผู้คงที่ให้หวั่นไหว
                         ไม่ได้ ก็ฉันนั้น ด้วยว่า จิตของท่านที่มั่นคง หลุดพ้นแล้ว
                         ย่อมเห็นความเสื่อมอยู่เนืองๆ

               จิตของพระขีณาสพเท่านั้น ชื่อว่าอโสกะ ไม่เศร้าโศก
               จริงอยู่ จิตของพระขีณาสพนั้น ชื่อว่าอโสกะ เพราะไม่มีความเศร้าโศก ที่ท่านกล่าวโดยนัยเป็นต้นว่า ความโศก ความเศร้า ความเป็นผู้เศร้าโศก ความแห้งใจ ความแห้งผากภายใน ความที่ใจถูกความเศร้าโศกแผดเผา. อาจารย์บางพวกกล่าวถึงพระนิพพาน คำนั้นเชื่อมความไม่ได้กับบทต้นๆ
               จิตของพระขีณาสพเท่านั้น ชื่อว่าอโสกะ ฉันใด ก็ชื่อว่าวิรชะ เขมะ ฉันนั้น. จริงอยู่ จิตของพระขีณาสพนั้น ชื่อว่า วิรชะ เพราะปราศจากละอองกิเลสมีราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น และชื่อว่า เขมะ เพราะปลอดจากโยคะทั้ง ๔. เพราะว่าจิตทั้ง ๓ อย่างนั้น โดยที่ท่านถือเอาแล้วในขณะจิตเป็นไปในอารมณ์นั้นๆ โดยอาการนั้นๆ พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะนำมาซึ่งความเป็นผู้สูงสุดเหนือโลก มีความเป็นผู้มีขันธ์อันไม่เป็นไปแล้ว [ไม่เกิดอีก] และเพราะนำมาซึ่งความเป็นอาหุไนยบุคคลเป็นต้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคลแห่งคาถานี้ไว้ ๔ มงคล คือ จิตที่ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรมแปด ๑ จิตไม่เศร้าโศก ๑ จิตปราศจากละอองกิเลส ๑ จิตเกษม ๑ ด้วยประการฉะนี้.
               ก็ความที่มงคลเหล่านั้นเป็นมงคล ก็ได้ชี้แจงไว้ในมงคลนั้นๆ แล้วทั้งนั้นแล.
               จบพรรณนาความแห่งคาถานี้ว่า ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ               

               พรรณนาคาถาว่า เอตาทิสานิ               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสมหามงคล ๓๘ ประการด้วยคาถา ๑๐ คาถา มีว่า อเสวนา จ พาลานํ การไม่คบพาลเป็นอาทิ อย่างนี้แล้ว
               บัดนี้ เมื่อจะทรงชมเชยมงคลที่พระองค์ตรัสเหล่านี้แล จึงได้ตรัสคาถาสุดท้ายว่า เอตาทิสานิ กตฺวาน เป็นต้น.
               พรรณนาความแห่งคาถาสุดท้ายนั้นดังนี้
               บทว่า เอตาทิสานิ แปลว่า เช่นนี้ เหล่านี้ คือ มีการไม่คบพาล เป็นต้น มีประการที่เรากล่าวมาแล้ว.
               บทว่า กตฺวาน แปลว่า กระทำ ความจริง คำนี้ไม่นอกเหนือไปจากความว่า กตฺวาน กตฺวา กริตฺวา [ซึ่งแปลว่ากระทำเหมือนกัน]
               บทว่า สพฺพตฺถมปราชิตา ความว่า สัตว์ทั้งหลายกระทำมงคลเช่นนี้เหล่านี้ อันข้าศึก ๔ ประเภท คือขันธมาร กิเลสมาร อภิสังขารมารและเทวปุตตมาร แม้แต่ประเภทเดียวทำให้พ่ายแพ้ไม่ได้ในที่ทั้งปวง ท่านอธิบายว่า ยังมารทั้ง ๔ นั้นให้พ่ายแพ้ด้วยตนเอง. ก็ อักษรในคำว่า สพฺพตฺถมปราชิตา นี้ พึงทราบว่าเพียงทำการต่อบท.
               บทว่า สพฺพตฺถ โสตฺถึ คจฺฉนฺติ ความว่า สัตว์ทั้งหลายกระทำมงคลเช่นที่กล่าวมานี้ เป็นผู้อันมารทั้ง ๔ ทำให้พ่ายแพ้ไม่ได้แล้ว ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทั้งปวง คือในโลกนี้และโลกหน้า และที่ยืนและที่เดินเป็นต้น อาสวะเหล่าใดที่ทำความคับแค้นและเร่าร้อน พึงเกิดขึ้นเพราะการคบพาลเป็นต้น เหตุไม่มีอาสวะเหล่านั้น จึงถึงความสวัสดี ท่านอธิบายว่า เป็นผู้อันอุปัทวะไม่ขัดขวาง อันอุปสรรคไม่ขัดข้อง เกษมปลอดโปร่ง ไม่มีภัยเฉพาะหน้าไป. ก็นิคคหิต ในคำว่า สพฺพตฺถ โสตฺถึ คจฺฉนฺติ นี้พึงทราบว่า ตรัสเพื่อสะดวกแก่การผูกคาถา.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจบเทศนาด้วยบทแห่งคาถาว่า ตํ เตสํ มงฺคลมุตฺตมํ.
               ทรงจบอย่างไร
               ดูก่อนเทพบุตร เพราะเหตุที่ชนผู้กระทำมงคลเช่นที่กล่าวนี้ ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทั้งปวงอย่างนี้ ฉะนั้น ท่านจึงถือว่า มงคลทั้ง ๓๘ ประการมีการไม่คบพาลเป็นต้นนั้นสูงสุด ประเสริฐสุด ดีที่สุด สำหรับชนเหล่านั้นผู้กระทำมงคลเช่นที่กล่าวมานี้.
               ตอนสุดท้าย เทศนาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจบอย่างนี้ เทวดา แสนโกฏิบรรลุพระอรหัต. จำนวนผู้บรรลุโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผลนับไม่ได้.
               ครั้งนั้น วันรุ่งขึ้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกพระอานนทเถระมาตรัสว่า
               ดูก่อนอานนท์ เมื่อคืนนี้ เทวดาองค์หนึ่งเข้ามาถามมงคลปัญหา ครั้งนั้น เราได้กล่าวมงคล ๓๘ ประการแก่เทวดาองค์นั้น
               ดูก่อนอานนท์ เธอจงเรียนมงคลปริยายนี้ ครั้นเรียนแล้วจงสอนภิกษุทั้งหลาย.
               พระเถระเรียนแล้วก็สอนภิกษุทั้งหลาย. มงคลสูตรนี้นั้น อาจารย์นำสืบๆ กันมาเป็นไปอยู่จนทุกวันนี้ พึงทราบว่า ศาสนพรหมจรรย์นี้มั่นคงเจริญแพร่หลาย รู้กันมากคนหนาแน่น ตราบเท่าที่เทวดาและมนุษย์ประกาศดีแล้ว.
               เพื่อความฉลาดในการสะสมความรู้ในมงคลเหล่านี้นี่เอง บัดนี้ จะประกอบความตั้งแต่ต้นดังนี้.
               สัตว์ทั้งหลายผู้ปรารถนาสุขในโลกนี้โลกหน้าและโลกุตรสุขเหล่านี้ ละการคบคนพาลเสีย อาศัยแต่บัณฑิต, บูชาผู้ที่ควรบูชา, อันการอยู่ในปฏิรูปเทส, และความเป็นผู้ทำบุญไว้ในก่อนตักเตือนในการบำเพ็ญกุศล, ตั้งตนไว้ชอบ, มีอัตภาพอันประดับด้วยพาหุสัจจะ ศิลปะ และวินัย, กล่าวสุภาษิตอันเหมาะแก่วินัย, ยังไม่ละเพศคฤหัสถ์ตราบใด, ก็ชำระมูลหนี้เก่าด้วยการบำรุงมารดาบิดา, ประกอบมูลหนี้ใหม่ด้วยการสงเคราะห์บุตรและภรรยา, ถึงความมั่งคั่งด้วยทรัพย์และข้าวเปลือกด้วยความเป็นผู้มีการงานไม่อากูล, ยึดสาระแห่งโภคะด้วยทาน และสาระแห่งชีวิตด้วยการประพฤติธรรม, กระทำประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนของตนด้วยการสงเคราะห์ญาติ และประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนอื่นๆ ด้วยความเป็นผู้มีการงานอันไม่มีโทษ, งดเว้นการทำร้ายผู้อื่นด้วยการเว้นบาป การทำร้ายตนเองด้วยการระวังในการดื่มกินของเมา, เพิ่มพูนฝ่ายกุศลด้วยความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย, ละเพศคฤหัสถ์ด้วยความเป็นผู้เพิ่มพูนกุศล แม้ตั้งอยู่ในภาวะบรรพชิต ก็ยังวัตรสัมปทาให้สำเร็จด้วยความเคารพในพระพุทธเจ้า สาวกของพระพุทธเจ้าและอุปัชฌายาจารย์เป็นต้น และด้วยความถ่อมตน, ละความละโมบในปัจจัยด้วยสันโดษ, ตั้งอยู่ในสัปปุริสภูมิด้วยความเป็นผู้กตัญญู, ละความเป็นผู้มีจิตหดหู่ด้วยการฟังธรรม, ครอบงำอันตรายทุกอย่างด้วยขันติ, ทำตนให้มีที่พึ่งด้วยความเป็นผู้ว่าง่าย, ดูการประกอบข้อปฏิบัติ ด้วยการเห็นสมณะ, บรรเทาความสงสัยในธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย ด้วยการสนทนาธรรม, ถึงศีลวิสุทธิ ด้วยตปะคืออินทรียสังวร ถึงจิตตวิสุทธิ ด้วยพรหมจรรย์ คือสมณธรรม และยังวิสุทธิ ๔ นอกนั้นให้ถึงพร้อม, ถึงญาณทัสสนวิสุทธิอันเป็นปริยายแห่งการเห็นอริยสัจด้วยปฏิปทานี้ กระทำให้แจ้งพระนิพพานที่นับได้ว่าอรหัตผล, ซึ่งครั้นกระทำให้แจ้งแล้ว เป็นผู้มีจิตไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรม ๘ เหมือนสิเนรุบรรพต ไม่หวั่นไหวด้วยลมและฝน ย่อมเป็นผู้ไม่เศร้าโศก ปราศจากละอองกิเลส มีความเกษมปลอดโปร่ง และความเกษมปลอดโปร่ง ย่อมเป็นผู้แม้แต่ศัตรูผู้หนึ่งให้พ่ายแพ้ไม่ได้ในที่ทั้งปวง ทั้งจะถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
                                   สัตว์ทั้งหลายกระทำมงคลเช่นที่กล่าวมานี้แล้ว
                         เป็นผู้อันมารให้พ่ายแพ้ไม่ได้ในที่ทั้งปวง ย่อมถึงความ
                         สวัสดีในที่ทุกสถาน นั้นเป็นมงคลอุดมของสัตว์เหล่านั้น.

               จบพรรณนามงคลสูตร               
               แห่ง               
               ปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกปาฐะ               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ มงคลสูตรในขุททกปาฐะ จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 4อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 5อ่านอรรถกถา 25 / 7อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=41&Z=72
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=17&A=2022
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=17&A=2022
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๐  ตุลาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :