ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 58อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 59อ่านอรรถกถา 25 / 63อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน มุจจลินทวรรคที่ ๒ สุปปวาสาสูตร

               อรรถกถาสุปปวาสาสูตร               
               สุปปวาสาสูตรที่ ๘ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า กุณฺฑิยายํ ได้แก่ ใกล้นครของพวกเจ้าโกลิยะ มีชื่ออย่างนั้น.
               บทว่า กุณฺฑธานวเน ได้แก่ ในป่าชื่อกุณฑธานะ ไม่ไกลนครนั้น.
               เมื่อก่อน เล่ากันมาว่า ยักษ์ตนหนึ่งชื่อกุณฑะ อาศัยอยู่ที่ไพรสณฑ์แห่งนั้น และยักษ์นั้นชอบพลีกรรมอันเจือด้วยรำและข้าวตอก เพราะฉะนั้น ชนทั้งหลายจึงน้อมนำพลีกรรมอย่างนั้นเข้าไปในที่นั้น แก่ยักษ์นั้น ด้วยเหตุนั้น ไพรสณฑ์นั้นจึงปรากฏว่า กุณฑธานวัน. ในที่นี้ไม่ไกลไพรสณฑ์นั้น ยังมีหญิงเจ้าบ้านคนหนึ่ง. แม้นางก็ถูกเรียกว่า กุณฑิยา เพราะนางอยู่อาศัยในที่ๆ เป็นอาณาเขตของยักษ์นั้น และเพราะถูกยักษ์นั้นแหละปกครอง.
               ครั้นต่อมา พวกเจ้าโกลิยะได้สร้างนครขึ้นในที่นั้น. แม้นครนั้น เขาก็เรียกว่า กุณฑิยา เหมือนกันตามชื่อเดิม. ก็ในไพรสณฑ์นั้น พวกเจ้าโกลิยะได้สร้างวิหาร เพื่อเป็นที่ประทับและเป็นที่อยู่ของพระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์. แม้ไพรสณฑ์นั้นก็ปรากฏว่ากุณฑธานวันเหมือนกัน.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกไปยังชนบท ถึงวิหารนั้นแล้วประทับอยู่ในที่นั้นเอง. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
               เอกํ สมยํ ภควา กุณฺฑิยายํ วิหรติ กุณฺฑธานวเน๑-
               สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในกุณฑธานวัน ใกล้เมืองกุณฑิยา.
____________________________
๑- บาลีไทย กุณฺฑิฏฺฐานวเน

               บทว่า สุปฺปวาสา เป็นชื่อของอุบาสิกานั้น.
               บทว่า โกลิยธีตา แปลว่า เป็นราชบุตรีของเจ้าโกลิยะ.
               ก็ราชบุตรีนั้น เป็นอัครอุปัฏฐายิกาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงสถาปนาไว้ในเอตทัคคะกว่าพระสาวิกาทั้งหลายผู้ถวายสิ่งของอันประณีต เป็นพระอริยสาวิกาผู้โสดาบัน.
               สิ่งใดสิ่งหนึ่งแลไม่ว่าของเคี้ยวของบริโภคหรือเภสัช อันสมควรแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่มีสตรีอื่นๆ ที่พึงจัดแจงไว้ในนั้น สิ่งทั้งหมดนั้นพระนางใช้ปัญญาของตนเท่านั้นจัดแจงแล้วจักน้อมเข้าไปถวายโดยเคารพ. และนางได้ถวายสังฆภัตและปาฏิปุคคลิกภัต ๘๐๐ ที่ทุกๆ วัน. ผู้ใดผู้หนึ่งไม่ว่าจะเป็นภิกษุหรือภิกษุณี เข้าไปบิณฑบาตยังตระกูลนั้นมิได้มีมือเปล่าไป. พระนางมีการบริจาคอย่างเด็ดขาด มีมือสะอาด ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในทานและการจำแนกทาน ด้วยประการฉะนี้.
               สาวกโพธิสัตว์ผู้มีภพครั้งสุดท้ายได้ทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าปางก่อน ได้ถือปฏิสนธิในท้องของนาง. ด้วยบาปกรรมบางอย่างนั้นเอง เธอบริหารครรภ์นั้นอุ้มท้องถึง ๗ ปี และได้เป็นผู้มีครรภ์หลงถึง ๗ วัน
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สตฺต วสฺสานิ คพฺภํ ธาเรติ สตฺตาหํ มุฬฺหคพฺภา ทรงครรภ์ถึง ๗ ปี ครรภ์หลงถึง ๗ วัน.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สตฺต วสฺสานิ แปลว่า ถึง ๗ ปี.
               ก็คำว่า สตฺต วสฺสานิ นี้ เป็นทุติยาวิภัตติใช้ในอัจจันตสังโยคะ แปลว่าตลอด.
               บทว่า คพฺภํ ธาเรติ แปลว่า อุ้มครรภ์ไป. อธิบายว่า มีครรภ์.
               บทว่า สตฺตาหํ มุฬฺหคพฺภา ได้แก่ มีครรภ์ปั่นป่วนถึง ๗ วัน. เพราะว่าครรภ์แก่เต็มที่ เวลาจะคลอดถูกลมกัมมัชวาตทำให้ปั่นป่วนพลิกกลับไปมา เอาเท้าขึ้นข้างบนเอาศีรษะลงข้างล่างมุ่งตรงช่องคลอด. สัตว์นั้นออกไปข้างนอกไม่ติดขัดในที่ไหนๆ ด้วยประการฉะนี้. แต่เมื่อวิบัติ ก็จะนอนขวางปิดช่องคลอดด้วยการพลิกกลับไปมาผิดปกติ หรือช่องคลอดปิดเสียเองทีเดียว. สัตว์นั้น เพราะลมกัมมัชวาตในครรภ์นั้นปั่นป่วน พลิกกลับไปมา ท่านจึงเรียกว่า ครรภ์หลง แม้นางก็ได้เป็นอย่างนั้นถึง ๗ วัน.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สตฺตาหํ มุฬฺหคพฺภา ดังนี้.
               ก็สัตว์ผู้เกิดในครรภ์นี้ ได้แก่ พระสีวลีเถระ.
               ถามว่า เพราะเหตุไร ท่านจึงเป็นทุกข์ด้วยการอยู่ในครรภ์ถึง ๗ ปี ถึงความเป็นผู้หลงครรภ์ถึง ๗ วัน และแม้พระมารดาของท่านผู้เป็นถึงอริยสาวิกาโสดาบัน ก็ได้เสวยทุกข์อย่างนั้นเหมือนกัน?
               ข้าพเจ้าจะเฉลย
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้ากาสีครองราชสมบัติในกรุงพาราณสี พระเจ้าโกศลองค์หนึ่งทรงกรีธากองพลใหญ่มายึดกรุงพาราณสี ทรงปลงพระชนม์พระราชานั้น ได้สถาปนาพระอัครมเหสีของพระราชานั้นให้เป็นอัครมเหสีของพระองค์. ฝ่ายพระราชโอรสของพระเจ้าพาราณสี ในเวลาที่พระบิดาสิ้นพระชนม์ จึงหนีออกทางประตูระบายน้ำ รวบรวมญาติมิตรและพวกพ้องของพระองค์ไว้เป็นอันเดียวกัน รวมกำลังโดยลำดับแล้ว เสด็จมายังกรุงพาราณสีตั้งค่ายใหญ่ไว้ในที่ไม่ไกล ทรงส่งพระราชสาสน์ถึงพระราชาองค์นั้นว่า จงประทานราชสมบัติหรือจะรบ.
               พระมารดาได้สดับสาสน์ของพระราชกุมารแล้ว จึงส่งพระราชสาสน์ไปว่า ไม่มีการต่อยุทธ์ ลูกจงตัดขาดการสัญจรทั่วทุกทิศล้อมกรุงพาราณสีไว้ แต่นั้นพวกคนในกรุงพากันลำบากเพราะหมดเปลืองไม้น้ำและอาหาร จักจับพระราชามาแสดง เว้นการต่อยุทธ์เสียเลย.
               พระราชกุมารได้สดับสาสน์ของพระมารดาแล้ว เมื่อจะรักษาประตูใหญ่ทั้ง ๔ ด้าน จึงล้อมกรุงไว้ ๗ ปี. พวกคนในกรุงพากันออกทางประตูน้อย นำเอาไม้และน้ำเป็นต้นมาทำกิจทุกอย่าง.
               ลำดับนั้น พระมารดาของพระราชกุมารทรงสดับเรื่องนั้นแล้ว จึงส่งพระราชสาสน์ลับถึงพระโอรสว่า ลูกเราโง่เขลาไม่รู้อุบาย พวกเจ้าจงไปบอกแก่บุตรของเรานั้นว่า จงปิดประตูน้อยล้อมกรุงไว้. พระราชกุมารทรงสดับพระราชสาสน์ของพระมารดา จึงได้ทรงกระทำอย่างนั้นถึง ๗ วัน ชาวพระนครเมื่อออกไปข้างนอกไม่ได้ วันที่ ๗ จึงได้เอาพระเศียรของพระราชานั้นไปมอบแด่พระราชกุมาร พระราชกุมารได้เสด็จเข้ากรุงยึดราชสมบัติ.
               เพราะผลกรรมที่ล้อมพระนครไว้ถึง ๗ ปีในครั้งนั้น บัดนี้ พระองค์จึงอยู่ในโลหิตกุมภี กล่าวคือพระครรภ์ของมารดา ๗ วัน. แต่เพราะล้อมกรุงไว้ถึง ๗ วันโดยเด็ดขาด จึงถึงความเป็นผู้หลงครรภ์ถึง ๗ วัน.
               ส่วนในอรรถกถาชาดก ท่านกล่าวว่า เพราะผลกรรมที่ล้อมกรุงยึดไว้ถึง ๗ วัน. พระองค์จึงอยู่ในโลหิตกุมภีถึง ๗ ปีแล้วถึงความเป็นผู้หลงครรภ์ถึง ๗ วัน.
               ก็พระองค์เป็นผู้เลิศด้วยลาภเพราะอานุภาพที่ถวายมหาทาน แล้วตั้งความปรารถนาที่บาทมูลของพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ขอเป็นผู้เลิศด้วยลาภ และที่ถวายน้ำอ้อยและนมส้มมีค่า ๑,๐๐๐ กหาปณะพร้อมชาวเมือง แล้วได้ตั้งความปรารถนาในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสี.
               ฝ่ายพระนางสุปปวาสาอุ้มครรภ์อยู่ถึง ๗ ปี หลงครรภ์อยู่ถึง ๗ วัน เพราะที่ส่งสาสน์ไปว่า พ่อจงล้อมพระนครยึดไว้. พระมารดาและบุตรเหล่านั้นได้เสวยทุกข์เช่นนี้อันสมควรแก่กรรมของตน ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า ตีหิ วิตกฺเกหิ ความว่า ด้วยสัมมาวิตก ๓ อันเกี่ยวด้วยการระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย.
               บทว่า อธิวาเสติ ความว่า อดทนทุกข์ที่เกิดขึ้น เพราะเป็นผู้มีครรภ์หลง.
               ความจริง พระนางหวนระลึกถึงความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง การปฏิบัติดีของพระอริยสงฆ์ และพระนิพพานเป็นเครื่องสลัดออกจากทุกข์ จึงอดทนข่มทุกข์ที่เกิดแก่ตนด้วยไม่ทำไว้ในใจนั่นเอง.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ตีหิ วิตกฺเกหิ อธิวาเสติ ดังนี้.
               บทมีอาทิว่า สมฺพุทฺโธ วต เป็นบทแสดงอาการที่วิตกเหล่านั้นเกิดขึ้น.
               คำนั้นมีอธิบายดังนี้
               พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ชื่อว่าเป็นนาถะแห่งโลก เพราะเหตุมีความเป็นผู้มีภาคยธรรมเป็นต้น ชื่อว่าพุทธะ เพราะตรัสรู้สรรพธรรมโดยชอบคือไม่วิปริต โดยพระองค์เอง คือด้วยพระองค์เอง พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นตรัสธรรมเพื่อละวัฏทุกข์ทั้งสิ้นเห็นปานนี้ ที่เราได้รับอยู่ในบัดนี้ และที่มีความเกิดอย่างนี้เป็นอย่างหนึ่ง และเพื่อดับไม่เกิดขึ้นอย่างสิ้นเชิง ตรัสธรรมที่ไม่ผิดตรงกันข้าม ความจริง ความที่พระศาสดาสำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณ เพราะทรงแสดงธรรมไม่ผิดแผก พระองค์มีหมู่แห่งพระอริยบุคคล ๘ ได้ชื่อว่าสาวกสงฆ์ เพราะเกิดในที่ใกล้แห่งการฟังธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีพระคุณตามที่กล่าวแล้ว และเกิดร่วมด้วยความเป็นผู้มีศีลและทิฏฐิเสมอกัน ซึ่งเป็นอริยสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ดำเนินสู่ปฏิปทาเป็นเหตุไม่กลับ (นิพพาน) เพื่อละวัฏทุกข์เห็นปานนี้คือเช่นนี้ และเพื่อดับคือไม่เกิดแห่งวัฏทุกข์ ย่อมไม่ได้รับวัฏทุกข์เช่นนี้ ในพระนิพพาน อันเป็นเครื่องสลัดสังขตธรรมทั้งปวง อันเป็นสุขหนอ สุขดีหนอ.
               ก็ในที่นี้ แม้ผู้กำลังปฏิบัติ ท่านก็กล่าวว่าปฏิบัติแล้วเหมือนกัน เพราะการปฏิบัติไม่กลับ (นิพพาน).
               อีกอย่างหนึ่ง ศัพท์ว่า ปฏิปันนะ พึงทราบว่า เป็นอรรถปัจจุบัน เหมือนศัพท์ อุปปันนะ. ด้วยเหตุนั้นแหละ ท่านจึงกล่าวว่า ชื่อว่า ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล ดังนี้.
               บทว่า สามิกํ ได้แก่ พระราชโอรสของพระเจ้าโกลิยะผู้เป็นสวามีของพระองค์.
               บทว่า อามนฺเตสิ แปลว่า ได้ตรัสแล้ว.
               บทว่า มม วจเนน ภควโต ปาเท สิรสา วนฺทาหิ ความว่า จงถวายบังคมด้วยเศียรเกล้าของเธอ ซึ่งพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า อันมีสิริดุจดอกปทุมแย้มที่ประดับด้วยจักรลักษณะ ตามคำของเรา.
               อธิบายว่า จงกระทำอภิวาทด้วยเศียรเกล้า.
               บทว่า อาพาโธ ในคำมีอาทิว่า อปฺปาพาธํ ท่านกล่าวถึงเวทนาที่ไม่ถูกส่วนกัน ซึ่งแม้เกิดขึ้นแล้วในส่วนหนึ่ง ก็ยึดเอาสรีระทั้งสิ้นดุจยึดไว้ด้วยแผ่นเหล็ก.
               บทว่า อาตงฺโก ได้แก่ โรคที่ทำชีวิตให้ฝืดเคือง. อีกอย่างหนึ่ง โรคที่พึงยังอัตภาพให้เป็นไปได้ ชื่อว่าอาตังกะ. โรคนอกนี้ ชื่อว่าอาพาธ. อีกอย่างหนึ่ง โรคเล็กน้อย ชื่อว่าอาตังกะ โรครุนแรง ชื่อว่าอาพาธ. แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า โรคที่เกิดภายในชื่อว่าอาพาธ โรคที่เกิดภายนอกชื่อว่าอาตังกะ.
               พระนางตรัสว่า พระองค์จงทูลถามถึงความไม่มีโรคแม้ทั้งสองอย่างนั้น. ก็ขึ้นชื่อว่าการเกิดขึ้นแห่งความป่วยไข้นั้นแหละ เป็นการหนัก กายไม่มีกำลัง. เพราะเหตุนั้น พระนางจึงตรัสว่า พระองค์จงทูลถามถึงฐานะที่ร่างกายเบาและมีกำลัง กล่าวคือการเปลี่ยนแปลงเร็ว เพราะไม่มีความป่วยไข้.
               บทว่า ผาสุวิหารํ ความว่า พระนางตรัสว่า และจงทูลถามถึงการอยู่พระสำราญในอิริยาบถทั้ง ๔ กล่าวคือ ยืน นั่ง เดิน นอน.
               ลำดับนั้น พระนาง เมื่อจะแสดงอาการที่จะทูลถามพระองค์ จึงตรัสคำมีอาทิว่า สุปฺปวาสา ภนฺเต ดังนี้.
               ด้วยคำว่า เอวญฺจ วเทหิ ท่านแสดงถึงอาการที่จะพึงทูลในบัดนี้.
               บทว่า ปรมํ เป็นการรับคำตอบ. ด้วยบทว่า ปรมํ นั้น พระองค์ทรงแสดงว่า ดีละเธอ ฉันจะปฏิบัติตามที่เธอกล่าว.
               บทว่า โกลิยปุตฺโต ได้แก่ พระราชโอรสของเจ้าโกลิยะผู้สวามีของพระนางสุปปวาสา.
               ด้วยบทว่า สุขินี โหตุ พระศาสดาผู้เป็นอัครทักขิไณยบุคคลในโลก พร้อมเทวโลก ทรงรับคำการไหว้ของพระราชบุตรที่พระนางสุปปวาสาส่งมา
               ทีนั้น จึงทรงประกาศการนำความสุขเข้าไปให้ที่พระพุทธเจ้าเคยทรงบำเพ็ญมา เป็นเหตุให้เกิดเมตตาวิหารธรรมของพระองค์ แก่พระนางสุปปวาสานั้นโดยสามัญทั่วไป เมื่อจะทรงแสดงการนำความสุขเข้าไปแก่พระนางและพระราชโอรสอีก โดยการปฏิเสธการได้รับทุกข์ อันมีการวิบัติครรภ์เป็นมูลเหตุเป็นประธาน
               จึงตรัสว่า สุขินี อโรคา อโรคํ ปุตฺตํ วิชายตุ พระนางจงมีความสุขปราศจากโรค ประสูติพระโอรสหาโรคมิได้.
               บทว่า สห วจนา ได้แก่ พร้อมพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นแหละ. ในเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเช่นนั้นนั่นแหละ กรรมแม้นั้นก็ถึงความหมดไป. พระศาสดาทรงตรวจดูว่า กรรมนั้นหมดไปแล้วจึงได้ตรัสอย่างนั้น.
               ส่วนอาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า ถ้าพระศาสดาจักไม่ตรัสอย่างนั้นไซร้ แม้ต่อแต่นั้น ความทุกข์นั้นจักติดตามพระนางไปตลอดกาลนิดหน่อย แต่เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ขอเจ้าจงมีความสุขไม่มีโรค และประสูติโอรสผู้ไม่มีโรค ฉะนั้น พร้อมกับเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสนั้นแล ครรภ์นั้นก็หายความปั่นป่วนประสูติโดยง่ายดายทีเดียว พระมารดาและพระโอรสทั้งสองนั้น ได้มีความสวัสดีด้วยประการฉะนี้
               ความจริง พุทธานุภาพของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นอจินไตย. เปรียบเหมือนเมื่อนางปฏาจาราถึงความเป็นบ้าเพราะความโศกอันเกิดจากสัตว์และสังขารอันเป็นที่รัก มีภาวรูปเหมือนตอนเกิดนั้น พลางเที่ยวพูดว่า
                         อุโภ ปุตฺตา กาลกตา    ปนฺเถ มยฺหํ ปตี มโต
                         มาตา ปิตา จ ภาตา จ    เอกจิตกสฺมิ ฌายเร.
                         บุตรทั้งสองก็ตาย สามีของเราก็ตายในหนทางเปลี่ยว
                         มารดาบิดาและพี่ชาย เขาเผาในเชิงตะกอนเดียวกัน.
               ในขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า น้องหญิง เธอจงกลับได้สตินั้นแล ความเป็นบ้าก็หายไป ฉันใด แม้นางสุปปิยาอุบาสิกาก็เหมือนกัน เมื่อไม่อาจจะให้แผลใหญ่ที่ตนเองทำไว้ที่ขาของตนหายได้ จึงนอนบนเตียงนอน เมื่อแผลหายเป็นปกติในขณะที่ตรัสว่า เธอจงมาไหว้เรา ตนเองก็ไปถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               รวมความว่า เรื่องมีอาทิดังกล่าวนี้ พึงยกขึ้นกล่าวในที่นี้แล.
               บทว่า เอวํ ภนฺเต ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คำนั้นเป็นเหมือนพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงหวังถึงความที่พระนางพร้อมทั้งพระโอรสไม่มีโรค จึงตรัสว่า จงเป็นผู้มีความสุขปราศจากโรค ประสูติพระโอรสปราศจากโรคนั้นแล.
               อธิบายว่า ในกาลไหนๆ พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า หาได้เป็นไปอย่างอื่นไม่เลย. ส่วนอาจารย์บางพวกกล่าวว่า เอวมตฺถุ จงเป็นอย่างนั้น. อาจารย์อีกพวกหนึ่งนำเอาความของบทว่า โหตุ จงสำเร็จเถิด มาพรรณนา.
               บทว่า อภินนฺทิตฺวา ความว่า เพลิดเพลินตรงพระพักตร์ โดยได้รับปิติและโสมนัส ในเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีพระสุรเสียง มีพระดำรัสอ่อนหวานดังเสียงนกการเวกตรัสอยู่นั้น.
               บทว่า อนุโมทิตฺวา ความว่า แม้ภายหลังแต่นั้น ก็ทำให้เกิดความชื่นชมยินดี คือเพลิดเพลินด้วยจิตแล้วอนุโมทนาด้วยวาจา หรือเพลิดเพลินด้วยความสมบูรณ์แห่งพระดำรัส แล้วพลอยยินดีด้วยความสมบูรณ์แห่งประโยชน์.
               บทว่า สกํ ฆรํ ปจฺจายาสิ ได้แก่ เสด็จกลับพระตำหนักของพระองค์. ก็ท่านอาจารย์ผู้สวดว่า เยน สกํ ฆรํ เป็นอันกล่าวบทว่า เตน เพราะ ย ต ศัพท์เชื่อมกัน แม้ก็จริง ถึงกระนั้น พึงประกอบบาลีที่เหลือว่า ปฏิยายิตฺวา กลับ.
               บทว่า วิชาตํ ได้แก่ คลอด. อธิบายว่า ประสูติ.
               บทว่า อจฺฉริยํ ความว่า ชื่อว่า น่าอัศจรรย์ เพราะไม่มีอยู่เป็นนิจ เหมือนคนตาบอดขึ้นภูเขา. นัยแห่งศัพท์เพียงเท่านี้. แต่ในอรรถกถากล่าวไว้ว่า ชื่อว่า น่าอัศจรรย์ เพราะควรแก่การปรบมือ. อธิบายว่า ควรแก่การดีดนิ้ว. ศัพท์ วต ใช้ในสัมภาวนะ. อธิบายว่า น่าอัศจรรย์จริง. บทว่า โภ เป็นคำร้องเรียกธรรมดา. ชื่อว่า อัพภูตะ เพราะไม่เคยมี.
               บทว่า ตถาคตสฺส ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าชื่อว่า ตถาคต โดยเหตุ ๘ ประการ คือ
               ชื่อว่า ตถาคต เพราะเสด็จมาอย่างนั้น,
               ชื่อว่า ตถาคต เพราะเสด็จไปอย่างนั้น,
               ชื่อว่า ตถาคต เพราะเสด็จมาสู่ลักษณะอันถ่องแท้,
               ชื่อว่า ตถาคต เพราะตรัสรู้ชอบยิ่งซึ่งธรรมอันถ่องแท้ตามเป็นจริง,
               ชื่อว่า ตถาคต เพราะทรงเห็นธรรมอันถ่องแท้,
               ชื่อว่า ตถาคต เพราะมีพระดำรัสอันถ่องแท้,
               ชื่อว่า ตถาคต เพราะทรงกระทำอย่างนั้น,
               ชื่อว่า ตถาคต เพราะอรรถว่าครอบงำ (สัตว์ทั้งปวง).
               ถามว่า อย่างไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงชื่อว่า ตถาคต เพราะเสด็จมาอย่างนั้น?
               ตอบว่า เหมือนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อน ผู้ถึงความขวนขวาย เพราะเสด็จมาเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่โลกทั้งปวง.
               กล่าวอธิบายไว้อย่างไร?
               กล่าวไว้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้พระองค์นี้ เสด็จมาด้วยอภินิหาร ๘ ประการ อันเป็นเครื่องเสด็จมาของพระผู้มีพระภาคเจ้าเหล่านั้น.
               อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเหล่านั้นทรงบำเพ็ญบารมี ๓๐ ถ้วน คือทรงบำเพ็ญทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี รวมบารมีเหล่านี้จัดเป็นบารมี ๑๐ อุปบารมี ๑๐ ปรมัตถบารมี ๑๐ ทรงบริจาคมหาบริจาค ๕ และทรงบำเพ็ญบุพประโยค บุพจริยะ การตรัสธรรมเทศนา และญาตัตถจริยาเป็นต้นแล้ว ทรงถึงที่สุดแห่งพุทธจริยาเสด็จมาแล้ว โดยประการใด
               พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้พระองค์นี้ ก็เสด็จมาแล้วโดยประการนั้น.
               อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงบำเพ็ญพอกพูนสติปัฏฐาน ๔ ฯลฯ อริยมรรคมีองค์ ๘ เสด็จมาโดยประการใด พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้พระองค์นี้ก็เสด็จมา โดยประการนั้น.
               ชื่อว่า ตถาคต เพราะเสด็จมาอย่างนั้น ด้วยประการฉะนี้.
               ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าชื่อว่า ตถาคต เพราะเสด็จไปโดยประการนั้น เป็นอย่างไร?
               ตอบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลายเหล่านั้นทรงอุบัติเดี๋ยวนั้น ประทับยืนด้วยพระยุคลบาททั้งสอง บ่ายพระพักตร์ไปทางด้านอุตรทิศ เสด็จดำเนินไปได้ ๗ ก้าว เมื่อเทวดากั้นเศวตฉัตร ทรงชำเลืองดูได้ทั่วทุกทิศ ทรงเปล่งพระวาจาอย่างอาจหาญ และพระผู้มีพระภาคเจ้าเหล่านั้น เมื่อประกาศถึงความที่พระองค์เป็นผู้เจริญที่สุดและประเสริฐที่สุดในโลก จึงได้มีการเสด็จไปอย่างถ่องแท้ ไม่ผิด โดยเป็นบุรพนิมิตแห่งการบรรลุคุณวิเศษเป็นอันมาก โดยประการใด
               พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้พระองค์นี้ ก็เสด็จไป โดยประการนั้น และการเสด็จไปของพระองค์นั้น เป็นการเสด็จไปอย่างถ่องแท้ไม่ผิด เพราะเป็นบุรพนิมิตแห่งการบรรลุคุณวิเศษเหล่านั้นเหมือนกัน.
               ชื่อว่า ตถาคต เพราะเสด็จไปโดยประการนั้น ด้วยประการฉะนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลายเหล่านั้นทรงละกามฉันทะด้วยเนกขัมมะแล้วเสด็จไป ละพยาบาทด้วยการไม่พยาบาท ละถีนมิทธะด้วยอาโลกสัญญา ละอุทธัจจกุกกุจจะด้วยความไม่ฟุ้งซ่าน ละวิจิกิจฉาด้วยการกำหนดธรรมเสด็จไป ทำลายอวิชชาด้วยพระญาณ บรรเทาความไม่ยินดีด้วยความปราโมทย์ ละธรรมอันเป็นปฏิปักษ์นั้นๆ ด้วยสมาบัติ ๘ ด้วยมหาวิปัสสนา ๑๘ และด้วยอริยมรรค ๔ เสด็จไป ฉันใด
               แม้พระผู้มีพระภาคเจ้านี้ ก็เสด็จไป ฉันนั้น.
               ชื่อว่า ตถาคต เพราะเสด็จไปโดยประการนั้น แม้ด้วยประการฉะนี้.
               ชื่อว่า ตถาคต เพราะเสด็จมาสู่ลักษณะถ่องแท้ เป็นอย่างไร?
               คือ ชื่อว่า ตถาคต เพราะทรงมีพระญาณคติเสด็จมาถึง คือบรรลุไม่ผิดพลาด ซึ่งลักษณะอันถ่องแท้ไม่ผิดไม่กลายเป็นอย่างอื่น อันมีธรรมนั้นๆ เป็นสภาวะพร้อมด้วยกิจเป็นลักษณะอย่างนี้ คือปฐวีธาตุมีความแข่นแข็งเป็นลักษณะ อาโปธาตุมีความไหลไปเป็นลักษณะ เตโชธาตุมีความอบอุ่นเป็นลักษณะ วาโยธาตุมีความพัดไหวเป็นลักษณะ อากาศธาตุ (ปริเฉทรูป) มีความจับต้องไม่ได้เป็นลักษณะ รูปมีความแปรผันเป็นลักษณะ เวทนามีความรับรู้เป็นลักษณะ สัญญามีความจำได้เป็นลักษณะ สังขารมีความปรุงแต่งเป็นลักษณะ วิญญาณมีความรู้แจ้งเป็นลักษณะ
               รวมความว่า ได้แก่
               ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ สัจจะ ๔ ปัจจยาการ ๑๒ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ วิสุทธิ ๗ และอมตนิพพาน ๑.
               ชื่อว่า ตถาคต เพราะเสด็จมาสู่ลักษณะถ่องแท้ ด้วยประการฉะนี้.
               ชื่อว่า ตถาคต เพราะตรัสรู้ชอบยิ่งซึ่งธรรมถ่องแท้ตามเป็นจริง เป็นอย่างไร?
               คือ ชื่อว่าธรรมถ่องแท้ ได้แก่ อริยสัจ ๔.
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ เหล่านี้เป็นของแท้ ไม่ผิด ไม่กลายเป็นอย่างอื่น อริยสัจ ๔ อะไรบ้าง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำที่ว่า นี้ทุกข์ นั่นเป็นของแท้ ไม่ผิด ไม่กลายเป็นอย่างอื่น.
               ข้อความพิสดารแล้ว.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้ยิ่งซึ่งอริยสัจ ๔ เหล่านั้น เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ตถาคต เพราะตรัสรู้อริยสัจ ๔ นั้นอย่างถ่องแท้.
               อีกอย่างหนึ่ง อรรถที่ชราและมรณะเกิดและเป็นไปเพราะชาติเป็นปัจจัย เป็นสภาวะถ่องแท้ ไม่ผิดไม่กลายเป็นอย่างอื่น ฯลฯ อรรถที่สังขารเกิดและเป็นไปเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย เป็นสภาวะถ่องแท้ ไม่ผิด ไม่กลายเป็นอย่างอื่น อรรถที่อวิชชาเป็นปัจจัยแห่งสังขารก็เหมือนกัน ฯลฯ อรรถที่ชาติเป็นปัจจัยแห่งชราและมรณะก็เหมือนกัน เป็นสภาวะถ่องแท้ ไม่ผิด ไม่กลายเป็นอย่างอื่น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้ธรรมนั้นทั้งหมด. แม้เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะตรัสรู้ยิ่งอริยสัจ ๔ อย่างถ่องแท้.
               จริงอยู่ คต ศัพท์ ในบทว่า ตถาคโต นี้ มีอรรถว่าตรัสรู้ยิ่ง.
               ชื่อว่า ตถาคต เพราะตรัสรู้ธรรมอย่างถ่องแท้ ตามเป็นจริง ด้วยประการฉะนี้.
               ชื่อว่า ตถาคต เพราะทรงเห็นถ่องแท้ เป็นอย่างไร?
               คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้ทรงเห็นโดยประการทั้งปวง ซึ่งธรรมชาติที่ชื่อว่ารูปารมณ์ อันมาปรากฏทางจักษุทวารของสัตว์หาประมาณมิได้ ในโลกธาตุหาประมาณมิได้ ในโลกพร้อมเทวโลก ฯลฯ ในหมู่สัตว์พร้อมเทวดาและมนุษย์ ธรรมชาติที่ถ่องแท้เท่านั้นมี ที่ไม่ถ่องแท้ไม่มี อันพระองค์ผู้ทรงรู้ทรงเห็นอย่างนี้ จำแนกโดยนามเป็นอันมาก ๑๓ วาระ ๕๒ นัย
               โดยนัยมีอาทิว่า รูปที่ชื่อว่า รูปายตนะนั้นเป็นไฉน คือรูปที่เห็นได้ง่าย กระทบได้ง่าย เขียวและเหลือง เพราะอาศัยมหาภูตรูป ๔ จึงเปล่งสี โดยอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์เป็นต้น หรือโดยบทที่ได้อยู่ในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ได้ทราบและธรรมารมณ์ที่ได้รู้แจ้ง.
               ในสัททารมณ์เป็นต้น ที่มาปรากฏทางโสตทวารเป็นต้นก็นัยนี้.
               สมจริงดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรารู้อยู่รู้ยิ่งแล้วซึ่งรูปที่ได้เห็นแล้ว เสียงที่ได้ฟังแล้ว อารมณ์ที่ได้ทราบแล้ว และธรรมารมณ์ที่ได้รู้แจ้งแล้ว ที่เราบรรลุแล้ว แสวงหาแล้ว คิดค้นแล้วด้วยใจของโลกพร้อมเทวโลก ฯลฯ ของหมู่สัตว์พร้อมเทวดาและมนุษย์ รูปที่เห็นแล้วเป็นต้นนั้น ตถาคตรู้แจ้งแล้ว ปรากฏแล้วแก่ตถาคต.
               ชื่อว่า ตถาคต เพราะทรงเห็นถ่องแท้ ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า ตถาคโต พึงทราบว่าเป็นบทใช้ในอรรถว่า ทรงเห็นถ่องแท้.
               ชื่อว่า ตถาคต เพราะมีวาทะถ่องแท้ เป็นอย่างไร?
               คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้ยิ่งซึ่งอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในราตรีใด และทรงปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในราตรีใด ระหว่างนี้มีเวลาประมาณได้ ๔๕ พรรษา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสุตตะและเคยยะเป็นต้นใด ทั้งหมดนั้น บริสุทธิ์บริบูรณ์ กำจัดความเมาเพราะราคะเป็นต้นได้ เป็นอันเดียวกันถ่องแท้ไม่มีผิด.
               ด้วยเหตุนั้น พระองค์จึงตรัสว่า
               จุนทะ ก็ตถาคต ตรัสรู้ยิ่งซึ่งอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในราตรีใด และปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในราตรีใด ระหว่างนี้ ภาษิต กล่าว แสดงธรรมใด ทั้งหมดนั้น ย่อมเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน หาได้เป็นอย่างอื่นไม่
               เพราะฉะนั้น เขาจึงเฉลิมพระนามว่า ตถาคต.
               คต ศัพท์ ในบทว่า ตถาคโต นี้ มีอรรถว่า คทะ แปลว่า ตรัส.
               ชื่อว่า ตถาคต เพราะมีวาทะอันถ่องแท้ ด้วยประการฉะนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง อาคทนะ คือ อาคทะ. อธิบายว่า ตรัส. ในบทนี้ พึงทราบบทสำเร็จรูปอย่างนี้ว่า ชื่อว่า ตถาคต เพราะแปลง ท อักษรให้เป็น ต อักษร เพราะอรรถว่าพระองค์มีพระดำรัสอย่างถ่องแท้ คือไม่แปรผัน.
               ชื่อว่า ตถาคต เพราะทรงกระทำอย่างนั้น เป็นอย่างไร?
               คือความจริง พระกายของพระผู้มีพระภาคเจ้าคล้อยตามพระวาจา แม้พระวาจาก็คล้อยตามกาย เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงเป็นยถาวาที ตถาการี ตรัสอย่างใดกระทำอย่างนั้น และเป็นยถาการี ตถาวาที ทรงกระทำอย่างใด ตรัสอย่างนั้น.
               อธิบายว่า ทั้งพระวาจาทั้งพระกายของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นอย่างนั้น ย่อมมีด้วยประการใด พระองค์ทรงดำเนินไป คือเป็นไปโดยประการนั้น.
               อนึ่ง พระกายเป็นไปอย่างไร แม้พระวาจาก็ตรัสไป คือเป็นไปอย่างนั้น เพราะเหตุนั้น จึงทรงพระนามว่า ตถาคต.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตกล่าวอย่างใดกระทำอย่างนั้น กระทำอย่างใดกล่าวอย่างนั้น
               รวมความว่า เป็นยถาวาที ตถาการี กล่าวอย่างใดกระทำอย่างนั้น เป็นยถาการี ตถาวาที กระทำอย่างใดกล่าวอย่างนั้น เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า ตถาคต.
               ชื่อว่า ตถาคต เพราะกระทำอย่างนั้น ด้วยประการฉะนี้.
               ชื่อว่า ตถาคต เพราะอรรถว่าครอบงำ เป็นอย่างไร?
               คือ พระองค์ทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะทรงกระทำภวัคคพรหมในเบื้องบน จนถึงอเวจีมหานรกในเบื้องล่าง ทั้งเบื้องขวาง ก็ทรงครอบงำสรรพสัตว์ในโลกธาตุหาประมาณมิได้ด้วยศีลบ้าง สมาธิบ้าง ปัญญาบ้าง วิมุตติบ้าง วิมุตติญาณทัสสนะบ้าง พระองค์ชั่งไม่ได้หรือประมาณไม่ได้ โดยที่แท้พระองค์เป็นผู้อันใครๆ ชั่งไม่ได้ ประมาณไม่ได้ ยอดเยี่ยมเป็นเทพของเทพ เป็นท้าวสักกะยิ่งกว่าท้าวสักกะ เป็นพรหมยิ่งกว่าพรหม เป็นผู้สูงสุดกว่าสรรพสัตว์.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ใครๆ ครอบงำไม่ได้ เห็นได้ถ่องแท้ แผ่อำนาจเป็นไป ในโลกพร้อมเทวโลก ฯลฯ ในหมู่สัตว์พร้อมเทวดาและมนุษย์ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า ตถาคต.
               ในข้อนั้น มีบทสำเร็จรูปดังต่อไปนี้
               พระดำรัสของพระองค์เหมือนยาวิเศษ ได้แก่เทศนาวิลาสและการสั่งสมบุญ ด้วยเหตุนั้น พระองค์จึงทรงครอบงำคนที่เป็นปรัปปวาททั้งหมดและโลกพร้อมเทวโลก เหมือนแพทย์ผู้มีอานุภาพมากใช้ยาทิพย์กำราบงูทั้งหลาย ฉะนั้น ดังนั้น จึงเฉลิมพระนามว่า ตถาคต
               เพราะแปลง ท อักษรให้เป็น ต อักษร โดยอรรถว่าพระองค์มีพระดำรัสถ่องแท้ไม่แปรผัน ตามที่กล่าวมาแล้วเหตุครอบงำสรรพโลกเสียได้.
               ชื่อว่า ตถาคต เพราะอรรถว่าครอบงำสรรพสัตว์ ด้วยประการฉะนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ตถาคต เพราะเสด็จไปโดยประการนั้น. ชื่อว่าตถาคต เพราะเสด็จไปโดยถ่องแท้. ในบทว่า ตถาคโต นั้น ชื่อว่า ตถาคต เพราะเสด็จถึง คือบรรลุโลกทั้งสิ้นโดยถ่องแท้ด้วยตีรณปริญญา. ชื่อว่า ตถาคต เพราะเสด็จไป คือก้าวล่วงโลกสมุทัยโดยถ่องแท้ ด้วยปหานปริญญา. ชื่อว่า ตถาคต เพราะเสด็จถึง คือบรรลุโลกนิโรธโดยถ่องแท้ ด้วยสัจฉิกิริยา. ชื่อว่า ตถาคต เพราะเสด็จไป คือปฏิบัติโลกนิโรธคามินีปฏิปทาโดยถ่องแท้ ด้วยภาวนา.
               สมจริงดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โลกอันพระตถาคตตรัสรู้ยิ่งแล้ว พระตถาคตทรงพรากจากโลก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โลกสมุทัยอันพระตถาคตตรัสรู้ยิ่งแล้ว โลกสมุทัยอันพระตถาคตละได้แล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โลกนิโรธอันพระตถาคตตรัสรู้ยิ่งแล้ว โลกนิโรธอันพระตถาคตทำให้แจ้งแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โลกนิโรธคามินีปฏิปทาอันพระตถาคตตรัสรู้ยิ่งแล้ว โลกนิโรธคามินีปฏิปทาอันพระตถาคตบำเพ็ญแล้ว
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหมดนั้น อันพระตถาคตตรัสรู้ยิ่งแล้วในโลกพร้อมเทวโลก ฯลฯ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า ตถาคต.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต ด้วยเหตุ ๘ ประการแม้อื่นอีก คือ
                         ชื่อว่า ตถาคต เพราะเสด็จมาโดยประการนั้น.
                         ชื่อว่า ตถาคต เพราะเสด็จไปโดยประการนั้น.
                         ชื่อว่า ตถาคต เพราะมาถึงสัจจะอย่างนั้น.
                         ชื่อว่า ตถาคต เพราะเสด็จไปอย่างนั้น.
                         ชื่อว่า ตถาคต เพราะมีประการอย่างนั้น.
                         ชื่อว่า ตถาคต เพราะมีความเป็นไปโดยประการอย่างนั้น.
                         ชื่อว่า ตถาคต เพราะตรัสด้วยพระญาณอย่างนั้น.
                         ชื่อว่า ตถาคต เพราะภาวะที่เสด็จไปอย่างนั้น.
               ชื่อว่า ตถาคต เพราะเสด็จมาโดยประการนั้น เป็นอย่างไร?
               คือ พระผู้มีพระภาคเจ้า คราวเป็นสุเมธดาบสบำเพ็ญอภินิหารอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ แทบบาทมูลของพระทศพลพระนามว่าทีปังกร ดังที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า
                         มนุสฺสตฺตํ ลิงฺคสมฺปตฺติ    เหตุ สตฺถารทสฺสนํ
                         ปพฺพชฺชา คุณสมฺปตฺติ    อธิกาโร ฉนฺทตา
                         อฏฺฐธมฺมสโมธานา    อภินีหาโร สมิชฺฌติ.
                                   อภินิหารย่อมสำเร็จ เพราะการประชุมธรรม ๘ ประการ คือ
                         ความเป็นมนุษย์ ๑ ความสมบูรณ์ด้วยเพศ ๑ เหตุ ๑ การได้พบ
                         เห็นพระศาสดา ๑ การบรรพชา ๑ ความสมบูรณ์ด้วยคุณธรรม ๑
                         บุญญาธิการ ๑ ความเป็นผู้มีฉันทะ ๑.
               ทรงประกาศมหาปฏิญญาว่า เราข้ามโลกพร้อมเทวโลกได้แล้ว จักยังสัตว์ให้ข้าม เราหลุดพ้นแล้ว จักยังสัตว์ให้พ้น เราฝึกตนแล้ว จักฝึกผู้อื่น เราสงบแล้ว จักให้ผู้อื่นสงบ เราโล่งใจแล้ว จักยังผู้อื่นให้โล่งใจ เราปรินิพพานแล้ว จักยังผู้อื่นให้ปรินิพพาน เราตรัสรู้แล้ว จักยังผู้อื่นให้ตรัสรู้.
               สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า
                                   เราเป็นชาติชายมีพลังข้ามพ้นแต่ผู้เดียว จะมี
                         ประโยชน์อะไร เราบรรลุสัพพัญญุตญาณ แล้วจะยัง
                         โลกนี้พร้อมเทวโลกให้ข้ามได้ด้วย ด้วยบุญญาธิการ
                         นี้ เราเป็นชาติชายมีพลัง บรรลุสัพพัญญุตญาณแล้ว
                         จะให้หมู่ชนเป็นอันมากข้ามได้ด้วย เราตัดกิเลสดุจ
                         กระแสในสงสาร ทำลายภพ ๓ ขึ้นสู่นาวาคือธรรม
                         จักยังโลกนี้พร้อมเทวโลกให้ข้ามได้ด้วย
                                   เราทำให้แจ้งธรรมในที่นี้ ด้วยเพศที่ผู้อื่นไม่
                         รู้จัก จะเป็นประโยชน์อะไร เราบรรลุสัพพัญญุตญาณ
                         แล้ว จักเป็นพระพุทธเจ้าในโลกนี้พร้อมเทวโลก
ดังนี้.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นโลกนาถ เมื่อตรัสมหาปฏิญญานี้นั้น อันเป็นเหตุแห่งการค้นคว้าการพิจารณาและการสมาทานหมวดธรรม กระทำความเป็นพุทธะแม้ทั้งสิ้นไม่ให้คลาดเคลื่อน เพราะเหตุที่ทรงบำเพ็ญพระบารมี ๓๐ ทัศ มีทานบารมีเป็นต้นได้อย่างสิ้นเชิง ติดต่อกันโดยเคารพ ทรงบริจาคมหาบริจาค ๕ มีการบริจาคอวัยวะเป็นต้น พอกพูนอธิษฐาน ๔ มีสัจจาธิษฐานเป็นต้น ทรงเพิ่มพูนบุญสมภารและญาณสมภาร ทรงให้บุรพประโยค บุรพจริยะ ธรรมกถา และญาตัตถจริยาเป็นต้นให้อุกฤษฏ์ ให้พุทธจริยาถึงเงื่อนสุดอย่างยิ่ง สิ้นสี่อสงไขยยิ่งด้วยแสนมหากัป จึงบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ฉะนั้น มหาปฏิญญานั้นของพระองค์นั้นแหละจึงเป็นของถ่องแท้ ไม่ผิด ไม่กลายเป็นอย่างอื่น ความผิดพลาดของพระองค์ แม้เพียงปลายขนทรายหามีไม่.
               จริงอย่างนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒๔ พระองค์เหล่านี้ คือ พระทีปังกรทศพล พระโกณฑัญญะ พระมังคละ ฯลฯ พระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสปะ เสด็จอุบัติขึ้นโดยลำดับ ทรงพยากรณ์ว่า จักเป็นพระพุทธเจ้า. พระองค์ได้รับพยากรณ์ในสำนักของพระพุทธเจ้า ๒๔ พระองค์ด้วยประการฉะนี้แล้ว ทรงได้รับอานิสงส์ที่พระโพธิสัตว์ผู้ได้บำเพ็ญอภินิหารจะพึงได้รับนั่นแหละเสด็จมาแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ตถาคต เพราะเสด็จมาคือบรรลุความเป็นผู้ตรัสรู้ยิ่งด้วยมหาปฏิญญาตามที่ตรัสไว้นั้น.
               ชื่อว่า ตถาคต เพราะเสด็จมาโดยประการนั้น ด้วยประการฉะนี้.
               ชื่อว่า ตถาคต เพราะเสด็จไปโดยประการนั้น เป็นอย่างไร?
               คือ พระโลกนาถทรงเห็นหมู่สัตว์ผู้ดำเนินไปลำบากเพราะทุกข์ใหญ่ ทรงมีพระมนัสอันพระมหากรุณาใดให้อาจหาญขึ้นว่า หมู่สัตว์นั้นไม่มีใครอื่นเป็นที่พึ่ง เราเท่านั้นพ้นจากสังสารทุกข์นี้แล้ว จักยังสรรพสัตว์ให้พ้นได้ด้วย จึงได้ทรงทำมหาอภินิหาร.
               ครั้นแล้วทรงถึงความอุตสาหะอันให้สำเร็จประโยชน์แก่โลกทั้งสิ้น ตามที่ได้ทรงตั้งปณิธานไว้ ทรงไม่ห่วงใยพระกายและพระชนม์ชีพของพระองค์ ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาที่ทำได้ยาก อันทำความสะดุ้งจิตให้เกิดขึ้น ด้วยเหตุเพียงปรากฏทางโสตทวารของชนเหล่าอื่น ทรงดำเนินโดยประการที่ข้อปฏิบัติเพื่อมหาโพธิญาณ อันไม่เป็นหานภาคิยะ (ส่วนแห่งการละ) สังกิเลสภาคิยะ (ส่วนแห่งความเศร้าหมอง) หรือฐิติภาคิยะ (ส่วนแห่งการตั้งมั่น) โดยที่แท้เป็นวิเสสภาคิยะอย่างยอดเยี่ยมแท้จริง ทรงสำเร็จพระโพธิสมภารอย่างสิ้นเชิงโดยลำดับ จึงทรงบรรลุอภิสัมโพธิญาณ
               เบื้องหน้าแต่นั้น ทรงมีพระมนัสอันพระมหากรุณานั้นนั่นแหละกระตุ้นเตือน ทรงละความยินดีในความสงัดและความสุขอันเกิดแต่วิโมกข์อันสงบอย่างยิ่ง ไม่คำนึงถึงประการที่ไม่เหมาะสมที่ชาวโลกอันมากด้วยพาลชนให้เกิดขึ้น ทรงสำเร็จพุทธกิจโดยสิ้นเชิงด้วยการแนะนำชนที่ควรแนะนำในข้อนั้น
               อาการที่พระผู้มีพระภาคเจ้าหยั่งพระมหากรุณาลงในหมู่สัตว์นั้น จักมีแจ้งข้างหน้า.
               พระโลกนาถผู้เป็นพระพุทธเจ้า มีพระมหากรุณาในสัตว์ทั้งหลาย ฉันใด แม้ผู้เป็นพระโพธิสัตว์ก็ฉันนั้น ทรงมีพระมหากรุณาในหมู่สัตว์ ในกาลบำเพ็ญมหาอภินิหารเป็นต้น เพราะเหตุนั้น พระมหากรุณาของพระองค์จึงชื่อว่า ถ่องแท้ ไม่ผิด ไม่กลายเป็นอย่างอื่น เพราะมีภาวะเสมอกัน ในที่ทุกแห่งและในกาลทุกเมื่อ. เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะเสด็จไปคือดำเนินไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลกทั้งสิ้น ด้วยพระมหากรุณาอันถ่องแท้ มีกิจหน้าที่เสมอกันในสรรพสัตว์ทั้งหลายแม้ในกาลทั้ง ๓.
               ชื่อว่า ตถาคต เพราะเสด็จไปโดยประการนั้น ด้วยประการฉะนี้.
               ชื่อว่า ตถาคต เพราะเสด็จมาถึงสัจจะถ่องแท้เป็นอย่างไร?
               คือ ชื่อว่า ถ่องแท้ ได้แก่ อริยมรรคญาณ.
               จริงอยู่ อริยมรรคญาณเหล่านั้น ชื่อว่า ถ่องแท้ ไม่ผิด ไม่กลายเป็นอย่างอื่น เพราะไม่กล่าวลักษณะแห่งสภาวธรรมพร้อมกิจให้คลาดเคลื่อนแห่งธรรม คืออริยสัจ ๔ อันเป็นปวัตติ นิวัตติและเหตุทั้ง ๒ นั้น เป็นเครื่องรวบรวมเญยยธรรมทั้งมวลอย่างนี้ว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา และเป็นวิภาคของอริยสัจทั้ง ๔ นั้นมีอาทิว่า
               ทุกข์มีอรรถว่าบีบคั้น มีอรรถว่าเป็นสังขตะ มีอรรถว่าทำให้เดือดร้อน มีอรรถว่าแปรปรวน สมุทัยสัจมีอรรถว่าประมวลมา มีอรรถว่าเป็นเหตุ มีอรรถว่าประกอบสัตว์ในภพ มีอรรถว่ากังวล นิโรธสัจมีอรรถว่าเป็นเหตุสลัดออก มีอรรถว่าสงัด มีอรรถว่าอันปัจจัยอะไรๆ ปรุงแต่งไม่ได้ มีอรรถว่าเป็นอมตะ มรรคสัจมีอรรถว่านำสัตว์ออก (จากทุกข์) มีอรรถว่าเป็นเหตุ มีอรรถว่าเป็นทัศนะ มีอรรถว่าเป็นอธิปไตย (เป็นใหญ่) เพื่อความเป็นไปแห่งอาการอันไม่ผิดแปลก กล่าวคือตรัสรู้โดยไม่งมงายในธรรมนั้น อันได้ด้วยการตัดขาดธรรม อันเป็นฝักฝ่ายแห่งสังกิเลส อันเป็นเหตุกางกั้นความหยั่งรู้สภาวะตามเป็นจริง
               พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงมีผู้อื่นที่จะแนะนำ ทรงมาถึงคือบรรลุอริยสัจ ๔ เหล่านั้นด้วยพระองค์เองทีเดียว เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะเสด็จมาถึงสัจจะอันถ่องแท้.
               เหมือนอย่างว่า พึงทราบถึงภาวะที่ถ่องแท้ซึ่งพระญาณอันปัจจัยอะไรๆ ไม่กระทบในกาลทั้ง ๓ ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ เวสารัชชญาณ ๔ ญาณที่กำหนดคติ ๕ อสาธารณญาณ ๖ ญาณที่แจ่มแจ้งในโพชฌงค์ ๗ ญาณอันแจ่มแจ้งในมรรค ๘ ญาณในอนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ และพลญาณ ๑๐ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า แจ่มแจ้งเหมือนมรรคญาณ ฉะนั้น
               ในข้อนั้นมีความแจ่มแจ้งดังต่อไปนี้
               จริงอยู่ พึงทราบสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นสภาวกิจเป็นต้น ความแปลกกันในการกำหนดเป็นต้น และนามโคตรที่เนื่องกับขันธ์เป็นต้น ในขันธ์อายตนะและธาตุ อันเป็นอดีตต่างโดยประเภทมีหีนธรรมเป็นต้น ของสัตว์ทั้งหลายผู้หาประมาณมิได้ ในโลกธาตุอันหาประมาณมิได้.
               ญาณเหล่านี้ คือพระญาณของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่ไม่มีปัจจัยอะไรๆ กระทบกระทั่งเป็นไปโดยประจักษ์ ในที่ทั้งปวงในความพิเศษแห่งวรรณะ สัณฐาน กลิ่น รส และผัสสะเป็นต้น ของธรรมที่เกิดเพราะปัจจัยกับความพิเศษแห่งปัจจัยนั้นๆ ในรูปธรรมที่ไม่เนื่องด้วยอินทรีย์แม้ที่ละเอียดยิ่ง ที่อยู่ภายนอกฝา และที่อยู่ในที่ไกล เหมือนผลมะขามป้อมที่อยู่บนฝ่ามือฉะนั้น และพระญาณที่เป็นไปในอนาคตและปัจจุบัน ก็เหมือนกัน ชื่อว่าพระญาณที่ไม่มีปัจจัยอะไรๆ กระทบกระทั่ง ในกาลทั้ง ๓.
               เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า ญาณของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าในส่วนอดีตไม่มีปัจจัยอะไรๆ กระทบกระทั่ง ญาณของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าในส่วนอนาคตไม่มีปัจจัยอะไรๆ กระทบกระทั่ง ญาณของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าในส่วนปัจจุบันไม่มีปัจจัยอะไรๆ กระทบกระทั่ง.
               ก็อริยสัจ ๔ นี้นั้น ชื่อว่า ถ่องแท้ ไม่ผิด ไม่กลายเป็นอย่างอื่น เพราะไม่ได้ตรัสลักษณะแห่งสภาวะพร้อมด้วยกิจแห่งธรรมในที่นั้นๆ ได้ให้คลาดเคลื่อน.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบรรลุสัจจะ ๔ เหล่านั้น ด้วยสยัมภูญาณ.
               ชื่อว่า ตถาคต เพราะเสด็จถึงสัจจะ ๔ อย่างถ่องแท้ แม้ด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง ปฏิสัมภิทา ๔ คือ อัตถปฏิสัมภิทา ธัมมปฏิสัมภิทา นิรุตติปฏิสัมภิทา ปฏิภาณปฏิสัมภิทา. ในปฏิสัมภิทา ๔ นั้น ญาณอันถึงความแตกฉานในอรรถ สามารถกระทำความแจ่มแจ้ง และการกำหนดพร้อมลักษณะแห่งประเภทของอรรถ ชื่อว่า อัตถปฏิสัมภิทา. ญาณอันถึงความแตกฉานในธรรม สามารถทำความแจ่มแจ้งและการกำหนดพร้อมลักษณะแห่งประเภทของธรรม ชื่อว่า ธัมมปฏิสัมภิทา. ญาณอันถึงความแตกฉานในการแสดงภาษา สามารถทำความแจ่มแจ้งและการกำหนดพร้อมลักษณะแห่งประเภทของภาษา ชื่อว่า นิรุตติปฏิสัมภิทา. ญาณอันถึงความแตกแห่งประเภทของปฏิภาณ ชื่อว่า ปฏิภาณปฏิสัมภิทา.
               สมจริงดังพระดำรัสที่ตรัสไว้ว่า
               ญาณในอรรถ ชื่อว่าอัตถปฏิสัมภิทา. ญาณในธรรม ชื่อว่าธัมมปฏิสัมภิทา. ญาณในการแสดงภาษาของอรรถและธรรม ชื่อว่านิรุตติปฏิสัมภิทา. ญาณในญาณทั้งหลาย ชื่อว่าปฏิภาณปฏิสัมภิทา.
               ก็ในญาณ ๔ อย่างนั้น ว่าโดยสังเขป ผลอันเผล็ดมาจากเหตุ ชื่อว่า อัตถะ เพราะอันบุคคลพึงดำเนินไปและพึงบรรลุตามกระแสแห่งเหตุ
               แต่เมื่อว่าโดยประเภท ธรรม ๕ เหล่านี้ คือปัจจยุปปันนธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง นิพพาน อรรถแห่งภาษิต วิบาก และกิริยา ชื่อว่า อัตถะ ญาณอันถึงความแตกฉานในอรรถนั้น ของผู้พิจารณาในอรรถนั้น ชื่อว่า อัตถปฏิสัมภิทา.
               เมื่อว่าโดยสังเขป ปัจจัยชื่อว่า ธรรม. จริงอยู่ ปัจจัยนั้น ท่านเรียกว่าธรรม เพราะจัดแจงคือให้อรรถนั้นๆ เป็นไป และให้บรรลุ. แต่เมื่อว่าโดยประเภท ธรรม ๕ ประการเหล่านี้ คือ เหตุอันยังผลให้เกิดขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่ง อริยมรรค คำภาษิต กุศลกรรม และอกุศลกรรม ชื่อว่า ธรรม ญาณอันถึงความแตกฉานในธรรมนั้น ของผู้พิจารณธรรมนั้น ชื่อว่า ธัมมปฏิสัมภิทา.
               สมจริงดังพระดำรัสที่พระองค์ตรัสไว้ว่า
               ญาณในทุกข์ ชื่อว่าอัตถปฏิสัมภิทา. ญาณในทุกขสมุทัย ชื่อว่าธัมมปฏิสัมภิทา. ญาณในทุกขนิโรธ ชื่อว่าอัตถปฏิสัมภิทา. ญาณในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ชื่อว่าธัมมปฏิสัมภิทา.
               อีกอย่างหนึ่ง ญาณในเหตุ ชื่อว่าธัมมปฏิสัมภิทา. ญาณในผลอันเผล็ดมาจากเหตุ ชื่อว่าอัตถปฏิสัมภิทา.
               ธรรมเหล่าใด เกิดแล้ว เป็นแล้ว เกิดพร้อมแล้ว บังเกิดแล้ว บังเกิดเฉพาะแล้ว ปรากฏแล้ว ญาณในธรรมเหล่านี้ ชื่อว่าอัตถปฏิสัมภิทา. ธรรมเหล่านั้นเกิดแล้ว เป็นแล้ว เกิดพร้อมแล้ว บังเกิดแล้ว บังเกิดเฉพาะแล้ว ปรากฏแล้วจากธรรมใด ญาณในธรรมเหล่านั้น ชื่อว่าธัมมปฏิสัมภิทา.
               ญาณในชราและมรณะ ชื่อว่าอัตถปฏิสัมภิทา. ญาณในเหตุเป็นแดนเกิดชราและมรณะ ชื่อว่าธัมมปฏิสัมภิทา.
               ญาณในธรรมเป็นเครื่องดับชราและมรณะ ชื่อว่าอัตถปฏิสัมภิทา. ญาณในปฏิปทาเป็นเหตุให้ถึงความดับชราและมรณะ ชื่อว่าธัมมปฏิสัมภิทา.
               ญาณในชาติ ภพ อุปาทาน ตัณหา เวทนา ผัสสะ สฬายตนะ นามรูป วิญญาณ สังขาร ชื่อว่าอัตถปฏิสัมภิทา. ญาณในเหตุเป็นแดนเกิดสังขาร ชื่อว่า ธัมมปฏิสัมภิทา.
               ญาณในธรรมเป็นเครื่องดับสังขาร ชื่อว่าอัตถปฏิสัมภิทา. ญาณในปฏิปทาเป็นเหตุให้ถึงความดับสังขาร ชื่อว่า ธัมมปฏิสัมภิทา.
               พระองค์ตรัสคำมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ธรรม คือ สุตตะ เคยยะ ฯลฯ เวทัลละ นี้เรียกว่า ธัมมปฏิสัมภิทา. เธอรู้อรรถแห่งคำอันเป็นภาษิตนั้นๆ นั่นแหละว่า นี้เป็นอรรถแห่งคำอันเป็นภาษิตนี้ นี้เรียกว่าอัตถปฏิสัมภิทา.
               ธรรมที่เป็นกุศลเป็นไฉน
               สมัยใด กุศลจิตฝ่ายกามาวจรเกิดพร้อมด้วยโสมนัสประกอบด้วยปัญญา ปรารภรูปารมณ์ ฯลฯ หรือธรรมารมณ์ ก็หรืออารมณ์ใดๆ เกิดขึ้น
               สมัยนั้น ผัสสะย่อมมี ความไม่ฟุ้งซ่านย่อมมี ฯลฯ ธรรมเหล่านี้ ชื่อว่ากุศล.
               ญาณในธรรมเหล่านี้ ชื่อว่าธัมมปฏิสัมภิทา.
               ญาณในวิบากแห่งธรรมเหล่านั้น ชื่อว่าอัตถปฏิสัมภิทา.
               ความพิสดารแล้ว.
               ก็สภาวนิรุตติ (ภาษาเดิม) คือ อัพยภิจารโวหาร (ถ้อยคำที่ไม่คลาดเคลื่อน) อภิลาปะ (การพูด) ในอรรถและธรรมนี้ ตามภาษาเดิมของสภาพสัตว์อันเป็นมคธภาษา ในการพูดภาษาเดิมนั้น นี้ ชื่อว่าสภาวนิรุตติ นี้ไม่ชื่อว่า สภาวนิรุตติ ญาณอันถึงความแตกฉานดังนี้ ชื่อว่านิรุตติปฏิสัมภิทา.
               ญาณอันถึงความแตกฉานในญาณนั้น ของภิกษุผู้พิจารณากระทำญาณทั้งหมดนั้นที่เป็นไป โดยกิจแห่งอารมณ์อย่างพิสดาร ในญาณเหล่านั้นตามที่กล่าวแล้วให้เป็นอารมณ์ ชื่อว่าปฏิภาณปฏิสัมภิทา.
               ดังนั้น ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบรรลุด้วยพระองค์เอง จึงชื่อว่า ถ่องแท้ ไม่ผิด ไม่กลายเป็นอย่างอื่น เพราะเป็นไปโดยอาการไม่ผิดแผก โดยกล่าวไม่ให้คลาดเคลื่อนในอารมณ์ของตนนั้นๆ อันยิ่งด้วยอรรถและธรรม.
               พระองค์ทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะมาถึงสัจจะถ่องแท้ แม้ด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง ธรรมชาติอย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่าเญยยะ ทั้งหมดนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้แล้ว ทรงเห็นแล้ว ทรงบรรลุแล้ว ทรงตรัสรู้เฉพาะแล้ว โดยอาการทั้งปวง.
               จริงอย่างนั้น ธรรมที่ควรรู้ยิ่ง พระองค์ตรัสรู้แล้วโดยเป็นธรรมที่ควรรู้ยิ่ง ธรรมที่ควรกำหนดรู้ พระองค์ตรัสรู้แล้วโดยเป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้ ธรรมที่ควรละ พระองค์ตรัสรู้แล้วโดยเป็นธรรมที่ควรละ ธรรมที่ควรให้แจ้ง พระองค์ตรัสรู้แล้วโดยเป็นธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ธรรมที่ควรเจริญ พระองค์ตรัสรู้แล้วโดยเป็นธรรมที่ควรเจริญ
               เพราะผู้ใดผู้หนึ่ง จะเป็นสมณะก็ตาม พราหมณ์ก็ตาม เทวดาก็ตาม มารก็ตาม พรหมก็ตาม ไม่สามารถที่จะคัดค้านพระองค์ โดยชอบธรรมว่า พระองค์ยังมิได้ตรัสรู้ธรรมชื่อนี้.
               ธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่าปหาตัพพะ ควรละ ทั้งหมดนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงละได้แล้ว ที่ควงต้นโพธิ์นั้นเอง โดยเด็ดขาดไม่มีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา กรณียกิจที่ยิ่งกว่าการละธรรมที่ควรละนั้นไม่มี.
               จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงละ ตัดขาด ถอน ได้เด็ดขาด ซึ่งกิเลส ๑,๕๐๐ มีประเภท คือ โลภะ โทสะ โมหะ วิปริตมนสิการ อหิริกะ อโนตตัปปะ ถีนะ มิทธะ โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปลาสะ อิสสา มัจฉริยะ มายา สาไถย ถัมภะ สารัมภะ มานะ อติมานะ มทะ ปมาทะ อกุศลมูล ๓ ทุจริต ๓ วิสมะ ๓ สัญญา ๓ มละ ๓ วิตก ๓ ปปัญจะ ๓ อเนสนา ๓ ตัณหา ๓ วิปริเยสะ ๔ อาสวะ ๔ คัณฐะ ๔ โอฆะ ๔ โยคะ ๔ อคติ ๔ ตัณหูปาทาน ๔ อภินันทนะ ๕ นิวรณ์ ๕ เจโตขีละ ๕ เจตโสวินิพันธะ ๕ วิวาทมูล ๖ อนุสัย ๗ มิจฉัตตะ ๘ อาฆาตวัตถุ ๙ ตัณหามูลกะ ๙ อกุศลกรรมบถ ๑๐ อเนสนา ๒๑ ทิฏฐิ ๖๒ และตัณหาวิปริต ๑๐๘ เป็นต้น พร้อมทั้งวาสนา
               เพราะใครๆ ไม่ว่าจะเป็นสมณะหรือพราหมณ์ก็ตาม ฯลฯ พรหมก็ตาม ไม่สามารถจะคัดค้านพระองค์ได้ด้วยความชอบธรรมว่า ขึ้นชื่อว่ากิเลสเหล่านี้พระองค์ยังไม่ได้ละ.
               ก็ธรรมเหล่านี้ใด มีประเภท คือ กรรมวิบาก กิเลส อุปวาทะและอาณาวีติกกมะ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เป็นธรรมให้ผลในลำดับ อาจให้ผลตามลำดับโดยส่วนเดียวแก่ผู้ซ่องเสพธรรมเหล่านั้นได้ทีเดียว เพราะใครๆ จะเป็นสมณะก็ตาม ฯลฯ พรหมก็ตาม ไม่สามารถจะคัดค้านพระองค์ได้โดยชอบธรรมว่า ไม่อาจทำอันตรายแก่ผู้ซ่องเสพธรรมเหล่านั้น.
               ก็นิยยานิกธรรมอันยอดเยี่ยม มีอริยมรรคเป็นตัวนำ มี ๓๗ ประเภท ๗ หมวด รวมศีลสมาธิปัญญาอันเป็นเหตุสลัดออกจากวัฏทุกข์ได้เด็ดขาด ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้แล้วนั้น ย่อมนำสัตว์ออกจากทุกข์โดยแท้จริงทีเดียว ย่อมทำผู้ปฏิบัติให้พ้นจากวัฏทุกข์ได้โดยแท้จริง เพราะใครๆ ไม่ว่าจะเป็นสมณะ ฯลฯ หรือพรหมก็ตาม ไม่สามารถจะคัดค้านพระองค์ได้โดยชอบธรรมว่า ธรรมที่พระองค์ทรงแสดงว่า เป็นธรรมนำออกจากทุกข์ ไม่นำออกจากทุกข์ได้จริง.
               สมจริงดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า
               พระสัมมาสัมพุทธะ เมื่อปฏิญญาแก่เธอ ยังไม่ตรัสรู้ธรรมเหล่านี้.
               พึงทราบความพิสดาร.
               เวสารัชชญาณ ๔ เหล่านี้ดังว่ามานี้ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นไปโดยอาการไม่ผิดแผก ชื่อว่าถ่องแท้ไม่ผิด ไม่กลายเป็นอย่างอื่น เพราะรู้ความพิเศษของญาณ ปหานะ และเทศนาของพระองค์โดยภาวะที่ไม่ผิด.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะถึงเวสารัชชญาณอย่างถ่องแท้ ด้วยประการฉะนี้.
               คติ ๕ คือ นิรยคติ ติรัจฉานคติ เปตคติ มนุสสคติ และเทวคติ.
               ในคติ ๕ นั้น มหานรก ๘ มีสัญชีวนรกเป็นต้น อุสสทนรก ๑๖ มีกุกกุลนรกเป็นต้น และโลกันตนรก รวมทั้งหมดนี้ชื่อว่า นรก เพราะอรรถว่าไม่มีความแช่มชื่น โดยภาวะที่เป็นทุกข์อย่างแท้จริง และชื่อว่าคติ เพราะอันสัตว์พึงไปตามยถากรรม เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นิรยคติ.
               แม้เถ้ารึงที่มืดมิดและเย็นที่สุด ก็รวมลงในนรกเหล่านี้เหมือนกัน.
               หนอน แมลง งู นก สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอกเป็นต้น ชื่อว่า ดิรัจฉาน เพราะไปตามขวาง คติ คือสัตว์เดียรัจฉานเหล่านั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ดิรัจฉานคติ.
               ชื่อว่า เปรตพวกปรทัตตุปชีวิเปรต และนิชฌามตัณหิกเปรตเป็นต้น เพราะเป็นผู้มีความหิวและความกระหายครอบงำ ชื่อว่าไป คือปราศจากความสุขอันดียิ่ง เพราะมากด้วยความทุกข์ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า เปรต. คติ คือเปรตเหล่านั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เปตคติ.
               แม้พวกอสูรมีกาลกัญชิกอสูรเป็นต้น ก็รวมลงในเปรตเหล่านั้นเหมือนกัน.
               ชาวชมพูทวีปและชาวมหาทวีปทั้ง ๔ พร้อมกับชาวทวีปเล็กๆ ชื่อว่ามนุษย์ เพราะเป็นผู้มีใจสูง. คติ คือมนุษย์เหล่านั้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า มนุสสคติ.
               หมู่เทพ ๒๖ ชั้นเหล่านี้ คือ นับตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชิกะถึงเทพผู้เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ย่อมเล่น คือสนุกสนาน โชติช่วงด้วยอานุภาพฤทธิ์ของตน เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า เทพ. คติ คือเทพเหล่านั้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า เทวคติ.
               ก็คติเหล่านั้น เพราะเหตุที่ความวิเศษแห่งอุปบัติภพอันเกิดแต่กรรมเหล่านั้นๆ ฉะนั้น เมื่อว่าโดยอรรถ ได้แก่ วิบากขันธ์และกัมมัชรูป. ในคติเหล่านั้น พระญาณของพระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมเป็นไปโดยฐานะ โดยเหตุ ด้วยการกำหนดวิภาคเหตุและผลอันเกิดแต่เหตุตามฐานะของตน ว่า ธรรมดาว่าคตินี้ ย่อมเกิดจากกรรมชื่อนี้ และหมู่สัตว์เหล่านี้ย่อมแตกต่างกันอย่างนี้เป็นแผนกๆ เพราะแตกต่างกันโดยวิภาคอย่างนี้ ด้วยปัจจัยพิเศษแห่งกรรมนั้น
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำมีอาทิว่า
               สารีบุตร คติเหล่านี้มีอยู่ ๕ แล คติ ๕ เป็นไฉน ได้แก่นรก กำเนิดสัตว์เดียรัจฉาน เปรตวิสัย มนุษย์และเทพ
               สารีบุตร เรารู้ชัดนรก ทางอันเป็นเหตุนำไปสู่นรก และปฏิปทาอันเป็นเหตุนำไปสู่นรก และเรารู้ชัดโดยประการที่ผู้ดำเนินไปแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก.
               ก็พระญาณของพระผู้มีพระภาคเจ้าเหล่านี้นั้น ชื่อว่าถ่องแท้ ไม่ผิด ไม่กลายเป็นอย่างอื่น เพราะตรัสถึงความเป็นไปแห่งอาการอันไม่ผิดแผกในวิสัยนั้นๆ ไม่ให้คลาดเคลื่อน.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะมาถึงญาณเหล่านั้นอย่างถ่องแท้ แม้ด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง อินทริยปโรปริยัตตญาณของพระผู้มีพระภาคเจ้า อันเป็นไปโดยอาการ ๕๐ อันเป็นเหตุแจ่มแจ้งโดยพิเศษแห่งความที่สัตว์มีกิเลสดุจธุลีในดวงตาน้อย และความที่สัตว์มีกิเลสดุจธุลีในดวงตามาก.
               สมจริงดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า บุคคลผู้มีศรัทธาเป็นผู้มีกิเลสดุจธุลีในดวงตาน้อย, บุคคลผู้ไม่มีศรัทธาเป็นผู้มีกิเลสดุจธุลีในดวงตามาก.
               พึงทราบความพิสดารต่อไป.
               อาสยานุสยญาณของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นไปโดยอาการแจ่มแจ้งตามความเป็นจริง แห่งอาสยะคือความประสงค์เป็นต้นของเหล่าสัตว์ โดยนัยมีอาทิว่า บุคคลนี้มีกิเลสดุจธุลีในดวงตาน้อย, บุคคลนี้มีลัทธิเป็นสัสสตทิฏฐิ, บุคคลนี้มีลัทธิเป็นอุจเฉททิฏฐิ, บุคคลนี้ตั้งอยู่ในอนุโลมขันติ, บุคคลนี้ตั้งอยู่ในยถาภูตญาณ, บุคคลนี้มีอาสยะ คืออัธยาศัยในทางกาม ไม่มีอัธยาศัยในเนกขัมมะเป็นต้น, บุคคลนี้มีอัธยาศัยในเนกขัมมะ ไม่มีอัธยาศัยในกามเป็นต้น และโดยนัยมีอาทิว่า กามราคะของบุคคลนี้มีกำลังรุนแรง แต่ไม่มีปฏิฆะ ปฏิฆะของบุคคลนี้มีกำลังรุนแรง แต่ไม่มีกามราคะเป็นต้น และโดยนัยมีอาทิว่า ปุญญาภิสังขารของบุคคลนี้ยิ่ง แต่ไม่มีอปุญญาภิสังขารและอเนญชาภิสังขาร, อปุญญาภิสังขารของบุคคลนี้ยิ่ง แต่ไม่มีปุญญาภิสังขาร ไม่มีอเนญชาภิสังขาร, อเนญชาภิสังขารของบุคคลนี้ยิ่ง แต่ไม่มีปุญญาภิสังขาร ไม่มีอปุญญาภิสังขาร, กายสุจริต วจีสุจริตและมโนสุจริตของบุคคลนี้ยิ่ง, บุคคลนี้มีอธิมุตติเลว บุคคลนี้มีอธิมุตติประณีต, บุคคลนี้ประกอบด้วยกรรมาวรณ์ (ห้ามกรรม), บุคคลนี้ประกอบกิเลสาวรณ์ (ห้ามกิเลส), บุคคลนี้ประกอบด้วยวิปากาวรณ์ (ห้ามวิบาก), บุคคลนี้ไม่ประกอบด้วยกรรมาวรณ์ ไม่ประกอบด้วยกิเลสาวรณ์ ไม่ประกอบด้วยวิปากาวรณ์ ซึ่งพระองค์หมายเอา ตรัสไว้ว่า ตถาคตย่อมรู้อาสยะ ย่อมรู้อนุสัย ย่อมรู้จริต ย่อมรู้อธิมุตติของสัตว์ทั้งหลาย และย่อมรู้ภัพสัตว์ และอภัพสัตว์ในโลกนี้ ดังนี้เป็นต้น.
               อนึ่ง ยมกปาฏิหาริยญาณของพระผู้มีพระภาคเจ้า อันเป็นเหตุนิรมิตฤทธิ์ที่ทำต่างๆ กัน ไม่ทั่วไปแก่บุคคลอื่นอันทำท่อไฟและสายน้ำให้เป็นไป ทางพระกายเบื้องบนเบื้องล่างและเบื้องหน้าเบื้องหลัง ทางพระเนตรข้างขวาข้างซ้าย ช่องพระกรรณด้านขวาด้านซ้าย ช่องพระนาสิกด้านขวาด้านซ้าย จะงอยพระอังสะด้านขวาด้านซ้าย พระหัตถ์ข้างขวาข้างซ้าย พระปรัศว์เบื้องขวาเบื้องซ้าย และพระบาทเบื้องขวาเบื้องซ้าย ทางพระองคุลีและระหว่างพระองคุลี และทางขุมพระโลมา ซึ่งพระองค์หมายตรัสไว้ว่า ในที่นี้ ตถาคตกระทำยมกปาฏิหาริย์ไม่ทั่วไปกับสาวกทั้งหลาย คือท่อไฟพุ่งออกจากพระกายเบื้องบน สายน้ำพุ่งออกจากพระกายเบื้องล่าง, ท่อไฟพุ่งออกจากพระกายเบื้องล่าง สายน้ำพุ่งออกจากพระกายเบื้องบน ดังนี้เป็นต้น.
               อนึ่ง พระมหากรุณาสมาบัติญาณ อันเป็นปัจจัยให้พระผู้มีพระภาคเจ้าแผ่พระมหากรุณาอันเป็นไปโดยนัยต่างๆ ด้วยความที่พระองค์ทรงพระประสงค์จะนำหมู่สัตว์ผู้ถูกทุกขธรรมเป็นอเนกมีราคะเป็นต้น และมีชาติเป็นต้นรบกวน ให้ออกจากทุกขธรรมเหล่านั้น ดังที่ตรัสไว้ว่า พระมหากรุณาสมาบัติญาณของตถาคตเป็นไฉน คือพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายทรงเห็นด้วยอาการเป็นอันมาก จึงมีพระมหากรุณาแผ่ไปในหมู่สัตว์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลายทรงเห็นอยู่ว่าโลกสันนิวาสถูกไฟเผาให้เร่าร้อน จึงทรงแผ่พระมหากรุณาไปในหมู่สัตว์
               พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเมื่อทรงเห็นว่า โลกสันนิวาสยกพลแล้ว เคลื่อนพลแล้ว เดินผิดทางแล้ว โลกถูกชรานำไปไม่ยั่งยืน โลกไม่มีที่ต้านทาน ไม่เป็นอิสระโดยเฉพาะ โลกไม่เป็นของตน จำต้องละสิ่งทั้งปวงไป โลกพร่อง (อยู่เป็นนิจ) ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา จึงแผ่พระมหากรุณาไปในหมู่สัตว์. โลกสันนิวาสไม่มีที่ต้านทาน ไม่มีที่หลีกเร้น ไม่มีที่พึ่ง ไม่เป็นที่พึ่งของใคร สัตวโลกฟุ้งซ่าน ไม่สงบ โลกสันนิวาสมีลูกศร ถูกลูกศรคือกิเลสเสียบแทงอยู่ มีความมืดคืออวิชาเป็นเครื่องกางกั้น ถูกขังไว้ในกรงคือกิเลส โลกสันนิวาสตกอยู่ในอวิชชาเป็นดุจคนตาบอด ถูกกิเลสหุ้มห่อไว้ ยุ่งเหมือนเส้นด้าย นุงนังดังหญ้าปล้องและหญ้ามุงกระต่าย หาล่วงพ้นอบาย ทุคติ วินิบาต และสงสารไปได้ไม่ ถูกอวิชชาเป็นต้นรัดรึงไว้ เป็นผู้เกลือกกลั้วด้วยกิเลส อันความยุ่งคือราคะ โทสะ และโมหะ ทำให้นุงแล้ว.
               โลกสันนิวาสอันกองตัณหาสวมไว้ ถูกข่ายคือตัณหาครอบคลุมไว้ ลอยไปตามกระแสตัณหา ประกอบด้วยตัณหาสังโยชน์ ซ่านไปตามตัณหาอนุสัย เดือดร้อนด้วยความเดือดร้อนเพราะตัณหา เร่าร้อนด้วยความเร่าร้อนคือทิฏฐิ ถูกโครงร่างคือทิฏฐิสวมไว้ ถูกข่ายคือทิฏฐิคลุมไว้ ลอยไปตามกระแสทิฏฐิ ประกอบด้วยทิฏฐิสังโยชน์ ซ่านไปตามทิฏฐานุสัย เดือดร้อนด้วยความเดือดร้อนคือทิฏฐิ เร่าร้อนด้วยความเร่าร้อนคือทิฏฐิ.
               โลกสันนิวาสถูกชาติติดตาม ถูกชรารัดรึง ถูกพยาธิครอบงำ ถูกมรณะห้ำหั่น ตกอยู่ในกองทุกข์ ถูกตัณหาฉุดไป ห้อมล้อมด้วยกำแพงคือชรา ถูกบ่วงของมัจจุราชคล้องไว้ ถูกเครื่องจองจำใหญ่มัดไว้ ถูกเครื่องมัดคือราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส และทุจริตผูกพันไว้ เดินไปในทางคับแคบมาก ถูกเครื่องพัวพันมากมายพัวพันไว้ ตกไปในเหวใหญ่ เดินไปตามทางกันดารมาก เดินไปในมหาสงสาร กลับตกลงในหลุมลึก กลิ้งเกลือกอยู่ในหลุมใหญ่.
               โลกสันนิวาสถูกห้ำหั่น ลุกโชนด้วยไฟ คือ ราคะ โทสะ โมหะ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส โลกสันนิวาสทุรนทุราย เดือดร้อน ไม่มีอะไรต้านทานเป็นนิตย์ ต้องรับอาชญา กระทำตามอาชญา ถูกเครื่องผูกคือวัฏฏะผูกมัดไว้ ปรากฏที่ตะแลงแกง โลกสันนิวาสไม่มีที่พึ่ง ควรได้รับกรุณาอย่างยิ่ง.
               โลกสันนิวาสถูกทุกข์ครอบงำ ถูกเบียดเบียนอยู่ตลอดกาลนาน ติดใจกระหายอยู่เป็นนิจ เป็นโลกมืดไม่มีจักษุ มีนัยน์ตาถูกทำลาย ไม่มีผู้นำ แล่นไปผิดทาง เดินหลงทาง แล่นไปในห้วงน้ำใหญ่.
               ถูกทิฏฐิ ๒ กลุ้มรุม ปฏิบัติผิดด้วยทุจริต ๓ ถูกโยคะ ๔ ประกอบไว้ ถูกคันถะ ๔ ร้อยรัดไว้ ถูกอุปาทาน ๔ ยึดไว้ วุ่นวายไปตามคติ ๕ กำหนัดด้วยกามคุณ ๕ ถูกนิวรณ์ ๕ ครอบคลุมไว้ โต้เถียงกันด้วยวิวาทมูล ๖ กำหนัดด้วยหมู่ตัณหา ๖ กลุ้มรุม ซ่านไปตามอนุสัย ๗ ประกอบดัวยสังโยชน์ ๗ ฟูขึ้นด้วยมานะ ๗ หมุนไปตามโลกธรรม ๘ ดิ่งลงด้วยมิจฉัตตะ ๘ ประทุษร้ายกันด้วยบุรุษโทษ ๘ ถูกอาฆาตด้วยอาฆาตวัตถุ ๙ ฟูขึ้นเพราะมานะ ๙ กำหนัดด้วยธรรมอันมีตัณหาเป็นมูล ๙ เศร้าหมองด้วยกิเลสวัตถุ ๑๐ ประกอบด้วยอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประกอบด้วยสังโยชน์ ๑๐ ดิ่งลงด้วยมิจฉัตตะ ๑๐ ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ ประกอบด้วยสักกายทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ มีธรรมเครื่องเนิ่นช้าด้วยธรรมเครื่องเนิ่นช้า คือตัณหา ๑๐๘ ถูกทิฏฐิ ๖๒ กลุ้มรุม
               เมื่อพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นดังว่ามานี้ จึงทรงแผ่พระมหากรุณาไปในหมู่สัตว์.
               จริงอยู่ เราเป็นผู้ข้ามแล้ว แต่สัตวโลกยังข้ามไม่ได้ เราหลุดพ้นแล้ว สัตวโลกยังไม่หลุดพ้น เราฝึกตนแล้ว แต่สัตวโลกยังไม่ได้ฝึกตน เราสงบแล้ว แต่สัตวโลกยังไม่สงบ เราโล่งใจแล้ว แต่สัตวโลกยังไม่โล่งใจ เราปรินิพพานแล้ว แต่สัตวโลกยังไม่ปรินิพพาน เราสามารถข้ามได้แล้ว ทั้งยังสัตวโลกให้ข้ามได้ด้วย เราหลุดพ้นแล้ว ทั้งสามารถยังสัตวโลกให้หลุดพ้นได้ด้วย เราฝึกตนแล้ว สามารถยังสัตวโลกให้ฝึกได้ด้วย เราสงบแล้วทั้งสามารถยังสัตวโลกให้สงบได้ด้วย เราโล่งใจแล้ว ทั้งสามารถยังสัตวโลกให้โล่งใจได้ด้วย เราปรินิพพานแล้ว ทั้งสามารถยังสัตวโลกให้ปรินิพพานได้ด้วย พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นดังว่ามานี้ จึงแผ่พระมหากรุณาไปในหมู่สัตว์.
               พระองค์ทรงกระทำการจำแนกโดยอาการ ๘๙ อย่าง ด้วยประการฉะนี้.
               ก็พระญาณใดของพระผู้มีพระภาคเจ้า มีประมาณเท่าใด ที่จะพึงรู้ด้วยธรรมธาตุมีประมาณเท่าใด ไม่มุ่งถึงการอ้างผู้อื่น สามารถตรัสรู้ธรรมทั้งปวง ทั้งที่เป็นสังขตะและอสังขตะเป็นต้น โดยอาการทั้งปวง ไม่ทั่วไปแก่ผู้อื่น อันเป็นไปเนื่องด้วยเหตุเพียงความหวัง ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะหยั่งรู้สังขตธรรม อสังขตธรรม สมมติและสัจจะได้เด็ดขาด โดยประการทั้งปวง. ท่านเรียกว่าอนาวรณญาณ เพราะถือเอาความเป็นไปอันไม่ขัดข้องโดยไม่มีเครื่องกางกั้นในญาณนั้น.
               ก็พระญาณนั้นอย่างเดียวเท่านั้น ท่านแสดงไว้ถึง ๒ อย่าง เพื่อแสดงภาวะที่ไม่ทั่วไปกับญาณอื่น โดยความเป็นไปแห่งอารมณ์เป็นประธาน.
               เมื่อว่าโดยประการอื่น สัพพัญญุตญาณและอนาวรณญาณจำต้องทั่วไป และมีธรรมทั้งหมดเป็นอารมณ์ และคำนั้นไม่ถูกด้วยยุตินี้ ก็จริง ถึงกระนั้น ในที่นี้มีพระบาลีดังต่อไปนี้
               ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะรู้สังขตธรรมและอสังขตธรรมโดยสิ้นเชิง. ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะความขัดข้องไม่มีในญาณนั้น. ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะรู้ธรรมทั้งปวงที่เป็นอดีต ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะความขัดข้องไม่มีในญาณนั้น. ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะรู้ธรรมทั้งหมดที่เป็นอนาคตและปัจจุบัน ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะความขัดข้องไม่มีในญาณนั้น.
               พึงทราบความพิสดาร.
               อสาธารณญาณ ๖ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเหล่านี้ ชื่อว่าถ่องแท้ ไม่ผิด ไม่กลายเป็นอย่างอื่น เพราะไม่กล่าวอารมณ์ของตนให้คลาดเคลื่อน โดยเป็นไปตามอาการอันไม่ผิดแผก ด้วยประการฉะนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะมาถึงญาณอันถ่องแท้.
               อนึ่ง พระญาณอันประกาศสัมโพชฌงค์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า อันเป็นไปโดยอาการต่างๆ อย่างนี้ว่า เมื่อว่าโดยสรุปอย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้ คือ สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปิติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์.
               เมื่อว่าโดยสามัญลักษณะอย่างนี้ว่า ธรรมสามัคคีนี้ใดต่างโดยสติเป็นต้น อันเป็นปฏิปักษ์ต่ออุปัทวะหลายประการ มีความหดหู่ ความฟุ้งซ่าน ความตั้งมั่น ความพยายาม กามสุขัลลิกานุโยค อัตตกิลมถานุโยค และการยึดมั่นด้วยอุจเฉททิฏฐิและสัสสตทิฏฐิ อันเกิดในขณะแห่งโลกุตรมรรค, พระอริยสาวกย่อมตื่น คือย่อมลุกขึ้นจากกิเลสนิทรา หรือรู้แจ้งสัจจะ ๔ หรือทำให้แจ้งเฉพาะพระนิพพานด้วยธรรมสามัคคีใด ธรรมสามัคคีนั้นท่านเรียกว่า โพธิ
               ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะเป็นองค์แห่งธรรมสามัคคีเครื่องตรัสรู้นั้น.
               อนึ่ง พระอริยสาวก ท่านเรียกว่าโพธิ เพราะกระทำอรรถวิเคราะห์ว่า ตรัสรู้ด้วยธรรมสามัคคี ดังที่กล่าวแล้ว. ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะเป็นองค์แห่งพระอริยสาวกผู้ตรัสรู้ธรรมสามัคคีนั้น.
               เมื่อว่าโดยลักษณะพิเศษอย่างนี้ว่า สติสัมโพชฌงค์มีการปรากฏเป็นลักษณะ, ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์มีการสอดส่องเป็นลักษณะ, วิริยสัมโพชฌงค์มีการประคองไว้เป็นลักษณะ, ปิติสัมโพชฌงค์มีการแผ่ซ่านไปเป็นลักษณะ, ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์มีความสงบเป็นลักษณะ, สมาธิสัมโพชฌงค์มีความไม่ฟุ้งซ่านเป็นลักษณะ, อุเบกขาสัมโพชฌงค์มีการพิจารณาเป็นลักษณะ.
               เมื่อว่าโดยการแสดงความเป็นไปในขณะเดียวกัน โดยเป็นอุปการะแก่กันและกันแห่งสัมโพชฌงค์ ๗ โดยนัยมีอาทิว่า ในโพชฌงค์ ๗ เหล่านั้น สติสัมโพชฌงค์เป็นไฉน ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีสติ ประกอบด้วยสติและปัญญา เครื่องรักษาตนเป็นอย่างยิ่ง เป็นผู้ระลึกได้ ระลึกตามได้ถึงกรรมที่ทำไว้นาน และคำที่พูดไว้นานได้,
               เมื่อว่าโดยการแสดงความเป็นไป โดยการจำแนกอารมณ์แห่งโพชฌงค์เหล่านั้น โดยนัยมีอาทิว่า ในโพชฌงค์เหล่านั้น สติสัมโพชฌงค์เป็นไฉน ภิกษุทั้งหลาย เมื่อธรรมทั้งหลายมี อารมณ์ภายในก็มี เมื่อธรรมทั้งหลายมีอารมณ์ภายนอกก็มี, เมื่อว่าโดยวิธีภาวนาโดยนัยมีอาทิว่า ในโพชฌงค์เหล่านั้น สติสัมโพชฌงค์เป็นไฉน ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เจริญสติสัมโพชฌงค์อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละคืน.
               เมื่อว่าโดยวิภาคนัย ๙๖,๐๐๐ นัย โดยนัยมีอาทิว่า สัมโพชฌงค์ ๗ เป็นไฉน ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ สมัยใด เจริญโลกุตรฌาน ฯลฯ สมัยนั้น โพชฌงค์ ๗ ย่อมมี คือ สติสัมโพชฌงค์ ฯลฯ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ในโพชฌงค์ ๗ เหล่านั้น สติสัมโพชฌงค์เป็นไฉน สติ คือ อนุสติ
               ชื่อว่าถ่องแท้ ไม่ผิด ไม่กลายเป็นอย่างอื่น เพราะไม่กล่าวอรรถนั้นๆ ให้คลาดเคลื่อน แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะมาถึงญาณอันถ่องแท้.
               อนึ่ง พระญาณอันทำอริยมรรคให้แจ่มแจ้งของพระผู้มีพระภาคเจ้า อันเป็นไปโดยอาการมากมายอย่างนี้ว่า เมื่อว่าโดยสรุปอย่างนี้ว่า ในอริยสัจ ๔ เหล่านั้น ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นไฉน คืออริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แหละ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ.,
               เมื่อว่าโดยสามัญลักษณะอย่างนี้ว่า ชื่อว่า อริยะ เพราะไกลจากสรรพกิเลส เพราะกระทำความเป็นพระอริยะ และเพราะให้ได้อริยผล. ชื่อว่ามีองค์ ๘ เพราะมี ๘ อย่าง และเพราะเป็นเหตุให้บรรลุพระนิพพานโดยส่วนเดียว. ชื่อว่า มรรค เพราะฆ่ากิเลสถึงพระนิพพาน หรือผู้ต้องการพระนิพพาน แสวงหา หรือตนเองแสวงหาพระนิพพาน.
               เมื่อว่าโดยลักษณะพิเศษอย่างนี้ว่า สัมมาทิฏฐิมีการเห็นชอบเป็นลักษณะ สัมมาสังกัปปะมีการยกสัมปยุตธรรมขึ้นสู่อารมณ์โดยชอบเป็นลักษณะ สัมมาวาจามีการกำหนดโดยชอบเป็นลักษณะ สัมมากัมมันตะมีความอุตสาหะโดยชอบเป็นลักษณะ สัมมาอาชีวะมีความผ่องแผ้วเป็นลักษณะ สัมมาวายามะมีการประคองไว้โดยชอบเป็นลักษณะ สัมมาสติมีความปรากฏโดยชอบเป็นลักษณะ สัมมาสมาธิมีการไม่ฟุ้งซ่านโดยชอบเป็นลักษณะ.
               เมื่อว่าโดยการจำแนกกิจอย่างนี้ว่า สัมมาทิฏฐิละมิจฉาทิฏฐิกับกิเลสอย่างอื่นที่เป็นข้าศึกแก่ตน กระทำพระนิพพานให้เป็นอารมณ์ และเห็นสัมปยุตธรรมโดยไม่หลงลืม เพราะกำจัดโมหะอันปกปิดพระนิพพานนั้น.
               อนึ่ง แม้สัมมาสังกัปปะก็ละมิจฉาสังกัปปะเป็นต้น ทำพระนิพพานให้เป็นอารมณ์ และกระทำการยกสัมปยุตธรรมขึ้นสู่อารมณ์โดยชอบ การกำหนดการอุตสาหะ การผ่องแผ้ว การประคอง การปรากฏ และการตั้งมั่นแห่งสหชาตธรรม.
               เมื่อว่าโดยวิภาคความเป็นไปในส่วนเบื้องต้น และส่วนเบื้องปลายอย่างนี้ว่า สัมมาทิฏฐิมีขณะต่างๆ กัน ในเบื้องต้น มีทุกข์เป็นต้นเป็นอารมณ์เป็นแผนกๆ ในขณะมรรค จิตมีขณะเดียว ทำพระนิพพานนั้นแหละให้เป็นอารมณ์
               ว่าโดยกิจได้ชื่อ ๔ อย่างมีอาทิว่า ญาณในทุกข์ แม้สัมมาสังกัปปะเป็นต้น ก็มีขณะต่างกัน มีอารมณ์ต่างกันในเบื้องต้น ในขณะมรรค จิตมีขณะเดียว มีอารมณ์เดียว
               ในธรรมเหล่านั้น สัมมาสังกัปปะ ว่าโดยกิจได้ชื่อ ๓ อย่างมีอาทิว่า เนกขัมมสังกัปปะ.
               ธรรม ๓ อย่างมีสัมมาวาจาเป็นต้น ในเบื้องต้นเป็นวิรัติก็มี เป็นเจตนาก็มี เพราะมีวิภาคว่า มุสาวาทาเวรมณีเป็นต้น ในขณะมรรคเป็นวิรัติอย่างเดียว
               สัมมาวายามะและสัมมาสติ ว่าโดยกิจได้ชื่อ ๔ อย่าง คือ สัมมัปปธาน ๔ สติปัฏฐาน ๔
               ส่วนสัมมาสมาธิแม้ในขณะมรรคก็มีความต่างกัน ด้วยอำนาจฌานมีปฐมฌานเป็นต้น.
               ว่าโดยวิธีภาวนาโดยนัยมีอาทิว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิอันอาศัยวิเวก.
               ว่าโดยจำแนกนัย ๘๔,๐๐๐ นัย โดยนัยมีอาทิว่า ในธรรมเหล่านั้น มรรคมีองค์ ๘ เป็นไฉน คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ สมัยใดเจริญโลกุตรฌาน ฯลฯ เจริญทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา สมัยนั้นมรรคมีองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ ฯลฯ สัมมาสมาธิ.
               ญาณแม้ทั้งหมดนั้น ชื่อว่าถ่องแท้ ไม่ผิด ไม่กลายเป็นอย่างอื่น เพราะไม่กล่าวอรรถให้คลาดเคลื่อน แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะเสด็จมาถึงญาณอันถ่องแท้.
               อนึ่ง ญาณของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่เป็นไปในอนุปุพพวิหารสมาบัติ โดยอรรถว่าพึงเจริญ และโดยอรรถว่าพึงเข้าตามลำดับเหล่านั้น คือ ปฐมฌานสมาบัติ ๑ นิโรธสมาบัติ ๑ ด้วยอำนาจการให้สำเร็จและการพิจารณาเป็นต้น และด้วยการประกอบกันตามควร
               ชื่อว่าถ่องแท้ ไม่ผิด ไม่กลายเป็นอย่างอื่น เพราะสำเร็จประโยชน์แต่ญาณนั้น.
               อนึ่ง ทศพลญาณของพระผู้มีพระภาคเจ้าเหล่านี้ คือ
               การรู้เหตุและมิใช่เหตุแห่งผลนั้นๆ อันไม่ผิดแผกดังนี้ว่า นี้เป็นฐานะของผลนี้ นี้ไม่ใช่ฐานะของผลนี้ ๑
               การรู้ลำดับวิบากตามเป็นจริงโดยสิ้นเชิง แห่งการยึดถือกรรมอันแตกต่างโดยชนิดเป็นกาล มีอดีตกาลเป็นต้นของเหล่าสัตว์นั้นๆ ๑
               การรู้ถึงกรรมและการจำแนกกรรมทั้งที่มีอาสวะ และไม่มีอาสวะตามความเป็นจริงว่า นี้ปฏิปทาเครื่องนำสัตว์ไปสู่นรก ฯลฯ นี้ปฏิปทาเครื่องนำสัตว์ไปสู่พระนิพพาน ของสัตว์นั้นๆ ในขณะทำกรรมนั่นเอง ๑
               ความรู้ความต่างกันแห่งธาตุตามความเป็นจริง โดยนัยมีอาทิว่า เพราะธาตุชื่อนี้หนาแน่น ความพิเศษนี้จึงเกิดในเมื่อเกี่ยวเนื่องกับธรรมนี้ของโลกนั้น อันมีสภาวะแห่งขันธ์และอายตนะเป็นอเนก ทั้งที่เป็นอุปาทินนกะและอนุปาทินนกะเป็นต้น และมีสภาวะต่างๆ กัน ๑
               การรู้ถึงอัธยาศัยและอธิมุตติอันเลวเป็นต้น ของสัตว์ทั้งหลายโดยสิ้นเชิง ๑
               การรู้อินทรีย์มีสัทธินทรีย์เป็นต้นว่า แก่กล้าหรืออ่อน ๑
               การรู้ถึงความพิเศษของฌานและวิโมกข์เป็นต้น พร้อมกับสังกิเลสเป็นต้น ๑
               การรู้ความสืบต่อแห่งขันธ์ที่สัตว์เคยอยู่อาศัย ในกาลก่อนโดยสิ้นเชิง พร้อมด้วยความเกี่ยวเนื่องด้วยขันธ์นั้น ในชาติอันหาประมาณมิได้ ๑
               การรู้จุติและปฏิสนธิพร้อมกับการจำแนกสัตว์ มีอย่างเลวเป็นต้น ๑
               การรู้สัจจะ ๔ โดยนัยดังกล่าวแล้วในหนหลัง โดยนัยมีอาทิว่า นี้ทุกข์ ๑
               ชื่อว่าถ่องแท้ ไม่ผิด ไม่กลายเป็นอย่างอื่น เพราะเป็นไปตามความเป็นจริง โดยหยั่งรู้ถึงอารมณ์ตามที่เป็นของตนโดยไม่ผิดพลาด และโดยยังประโยชน์ตามที่ประสงค์ให้สำเร็จ.
               สมจริงดังพระดำรัสที่ตรัสไว้มีอาทิว่า ตถาคตย่อมรู้ฐานะที่ควร โดยเป็นฐานะที่ควร และฐานะที่ไม่ควร โดยเป็นฐานะที่ไม่ควรในโลกนี้ตามเป็นจริง.
               แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะมาถึงพระญาณอันถ่องแท้.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะมาถึง คือบรรลุญาณอันถ่องแท้ ด้วยอำนาจปัญญาพิเศษอันไม่ทั่วไปแก่ผู้อื่น มีประเภทหาที่สุดมิได้และหาปริมาณมิได้ มีญาณเป็นเครื่องทำความแจ่มแจ้งสติปัฏฐานและสัมมัปปธานตามที่กล่าวมาแล้ว เหมือนทรงบรรลุด้วยอำนาจพระญาณเหล่านี้
               แม้เพราะเหตุนี้ พระองค์จึงทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะมาถึงพระญาณอันถ่องแท้.
               พระองค์ทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะเสด็จไปโดยถ่องแท้ เป็นอย่างไร?
               คือ การประสูติ การตรัสรู้ การบัญญัติพระธรรมวินัย และอนุปาทิเสสนิพพานธาตุนั้นใดของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นการถ่องแท้.
               ท่านอธิบายไว้อย่างไร?
               อธิบายไว้ว่า ความตรัสรู้ อันพระโลกนาถทรงปรารถนาเฉพาะแล้ว และให้เป็นไปแล้วเพื่อประโยชน์ใด ชื่อว่าถ่องแท้ไม่ผิด ไม่กลายเป็นอย่างอื่น เพราะให้สำเร็จประโยชน์นั้นโดยส่วนเดียว เพราะไม่กล่าวประโยชน์นั้นให้คลาดเคลื่อน เพราะเป็นไปเพื่อประโยชน์อันไม่ผิดแผก.
               จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้านี้ ครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญเหตุความเป็นพระพุทธเจ้าทั้งปวง มีประเภทดังกล่าวแล้วมีการบำเพ็ญบารมี ๓๐ ทัศเป็นต้น ทรงดำรงอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต ทรงสดับพุทธโกลาหล อันเทวดาในหมื่นจักรวาลประชุมพร้อมกันเข้าไปเฝ้าทูลอาราธนาว่า
                         กาโลยนฺเต มหาวีร    อุปฺปชฺช มาตุ กุจฺฉิยํ
                         สเทวกํ ตารยนฺโต    พุชฺฌสฺส อมตํ ปทํ
                                   ข้าแต่พระมหาวีระ นี้ เป็นกาล (สมควร)
                         ขอโปรดอุบัติในพระครรภ์พระมารดา ยังโลกนี้
                         พร้อมเทวโลกให้ข้าม ตรัสรู้อมตบท
ดังนี้.
               ทรงเกิดบุรพนิมิตขึ้น ตรวจดูมหาวิโลกนะ ๕ ประการ ทรงพระดำริว่า บัดนี้ เราจักอุบัติในกำเนิดมนุษย์ตรัสรู้เฉพาะ ในวันอาสาฬหปุณณมี ทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระมหามายาเทวี ในสักยราชตระกูล อันเทวดาและมนุษย์บริหารด้วยการบริหารยิ่งใหญ่ตลอด ๑๐ เดือน ในเวลาปัจจุสมัยวิสาขปุณณมี จึงประสูติ.
               ก็ในขณะที่พระองค์ประสูติ ปรากฏบุรพนิมิต ๓๒ ประการ เหมือนในขณะทรงถือปฏิสนธิ. จริงอยู่ หมื่นโลกธาตุนี้ หวั่นไหว สะเทือนเลื่อนลั่น รัศมีหาประมาณมิได้ แผ่ไปในหมื่นจักรวาล. คนบอดแต่กำเนิด กลับได้จักษุ เหมือนคนปรารถนาจะชมพระโฉมของพระองค์, คนหนวก ได้ยินเสียง, คนใบ้ก็เจรจาได้, คนค่อมก็เดินตรงได้, คนง่อยก็เดินไปได้, สัตว์ทั้งปวงที่ถูกจองจำ ก็พ้นจากเครื่องจองจำมีขื่อคาเป็นต้น ไฟในนรกทั้งหมดก็ดับ, ความหิวกระหายในเปรตวิสัยก็สงบ, พวกสัตว์เดรัจฉานก็ไม่มีภัย, โรคของสรรพสัตว์ก็สงบไป, สรรพสัตว์พากันกล่าววาจาที่น่ารัก, ม้าร้องด้วยอาการไพเราะ, พวกช้างพากันกระหึ่ม, ดนตรีทั้งปวง ก็เปล่งเสียงบันลือลั่นเฉพาะอย่างๆ, เครื่องอาภรณ์ที่สวมใส่ในมือเป็นต้นของพวกมนุษย์ ไม่กระทบกระทั่งกันเลย ก็มีเสียงด้วยอาการไพเราะ, ทิศทั้งหมดแจ่มใส, ลมเย็นพัดอ่อนๆ กระพือพัดให้ปวงสัตว์ได้รับความสุข, ฝนตกในเวลาไม่ใช่ฤดูกาล, น้ำพุ่งขึ้นจากแผ่นดินไหลไป, ฝูงปักษีงดการบินไปในอากาศ แม่น้ำก็หยุดไหล, น้ำในมหาสมุทรได้มีรสอร่อย, เมื่อพระอาทิตย์ปราศจากความมัว ยังปรากฏอยู่นั่นแหละ ความโชติช่วงทั้งปวงในอากาศก็สว่างไสว, เทวดาทั้งปวงที่เหลือและสัตว์นรกทั้งปวงนอกนั้น เว้นเทพชั้นอรูปาวจร ได้ปรากฏรูปร่าง, ต้นไม้ ฝาเรือน บานประตู และเขาศิลาเป็นต้นเป็นอาทิ ไม่มีการปิดกั้น, เหล่าสัตว์ไม่มีการจุติและอุปบัติ, กลิ่นทิพย์ฟุ้งขจร กลบกลิ่นที่ไม่น่าปรารถนาทั้งหมดเสียได้, ต้นไม้ที่ผลิดอกออกผลทั้งหมด ก็ติดผลสะพรั่ง, มหาสมุทรได้มีพื้นดาดาษด้วยดอกปทุมเบญจวรรณ มีประโยชน์ในที่ทุกสถานทีเดียว, บุปผชาติทั้งหมด ทั้งที่เกิดบนบกและในน้ำเป็นต้นบานสะพรั่ง, บรรดาต้นไม้ทั้งหลายขันธปทุมก็บานสะพรั่งที่ต้นสาขาปทุมก็บานสะพรั่งที่กิ่ง ลดาปทุมก็บานสะพรั่งที่เถา, แทรกพื้นหินบนพื้นแผ่นดิน แตกออกเบื้องบนเป็นชั้นๆ ๗ ชั้น ชื่อว่าทัณฑปทุม, ในอากาศก็บังเกิดดอกปทุมห้อยย้อยลงมา, ฝนดอกไม้ตกโดยทั่วไป, ในอากาศมีดนตรีทิพย์บรรเลง, หมื่นโลกธาตุทั้งสิ้น มีระเบียบเป็นอันเดียว มีวาลวีชนีพัดผัน ตลบด้วยกลิ่นดอกไม้และธูป ถึงความเลิศด้วยความงามอย่างยิ่ง เหมือนกลุ่มมาลาที่เขาคลี่แวดวงไว้ เหมือนกองมาลาที่เขาห่อมัดไว้ และเหมือนอาสนะดอกไม้ที่เขาประดับตกแต่งไว้.
               ก็บุรพนิมิตเหล่านั้นได้เป็นนิมิต ของผู้บรรลุธรรมพิเศษเป็นอเนกที่บรรลุธรรมชั้นสูง. การเกิดเฉพาะนี้ ประดับด้วยความปรากฏอันน่าอัศจรรย์มากมายอย่างนี้แหละ อันเป็นประโยชน์ที่พระองค์ทรงดำรงอยู่โดยเฉพาะ ได้ชื่อว่าถ่องแท้ ไม่ผิด ไม่กลายเป็นอย่างอื่น เพราะสำเร็จอย่างแท้จริงแห่งอภิสัมโพธิญาณนั้น.
               อนึ่ง สัตว์เหล่าใด เป็นพุทธเวไนย เป็นเผ่าพันธุ์แห่งสัตว์ผู้จะตรัสรู้ทั้งหมดนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแนะนำด้วยพระองค์เองอย่างสิ้นเชิง. ส่วนสัตว์เหล่าใดเป็นสาวกเวไนย และเป็นธรรมเวไนย สัตว์แม้เหล่านั้น อันสาวกเป็นต้นแนะนำแล้ว ย่อมถึงและจักถึงซึ่งการนำไปให้วิเศษได้. เพื่อประโยชน์ใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารถนาเฉพาะอภิสัมโพธิญาณ เพราะให้ประโยชน์นั้นสำเร็จโดยแท้จริง พระอภิสัมโพธิญาณจึงเป็นคุณถ่องแท้ ไม่ผิด ไม่กลายเป็นอื่น.
               อีกอย่างหนึ่ง สภาวะใดๆ แห่งไญยธรรมใดๆ อันสัตว์พึงตรัสรู้ สภาวะนั้นๆชื่อว่า อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้ยิ่งแล้ว โดยสิ้นเชิงอย่างไม่ผิดแผก ด้วยญาณของพระองค์เนื่องด้วยเหตุเพียงทรงรำพึงถึง เหมือนผลมะขามป้อมที่วางไว้บนฝ่ามือ แม้เพราะเหตุนี้ อภิสัมโพธิญาณ (ของพระองค์) จึงชื่อว่า ถ่องแท้ ไม่ผิด ไม่กลายเป็นอย่างอื่น.
               อนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูประการแห่งธรรมเหล่านั้นที่จะพึงแสดงโดยประการนั้นๆ และอัธยาศัย อนุสัย จริยา และอธิมุตติของสัตว์นั้นๆ โดยชอบทีเดียว ทั้งไม่ทรงละธรรมดา ไม่ล่วงเลยนัยแห่งบัญญัติ และเหตุเพียงบัญญัติ กระทำธรรมดาให้แจ่มแจ้ง และทรงอนุศาสน์ตามความผิด ตามอัธยาศัย และตามธรรม จึงทรงแนะนำเวไนยสัตว์ให้บรรลุอริยภูมิแล.
               แม้การทรงบัญญัติพระธรรมวินัยของพระองค์ ก็ชื่อว่า ถ่องแท้ ไม่ผิด ไม่กลายเป็นอย่างอื่น เพราะประโยชน์นั้นสำเร็จ และเป็นไปตามความเป็นจริง.
               อนึ่ง อมตมหานิพพานธาตุ อันพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงบรรลุแล้วโดยลำดับ อันพ้นจากสภาวะแห่งรูปมีปฐวีธาตุเป็นต้น และสภาวะแห่งอรูปมีผัสสะและเวทนาเป็นต้น ชื่อว่า ล่วงเสียซึ่งสภาวะแห่งโลก เพราะไม่มีภาวะคือความหลอกลวง ชื่อว่า ไม่มีปัจจัยอะไรๆ ทำให้สว่าง เพราะปราศจากความมืด ชื่อว่า ปราศจากภาวะแห่งคติเป็นต้น เพราะไม่มีโอภาสแสงสว่างนั่นเอง ไม่มีที่ตั้งอาศัย ไม่มีอารมณ์ ท่านเรียกว่า อนุปาทิเสส เพราะอุปาทิ กล่าวคือขันธ์
               แม้มาตรว่าเป็นส่วนเหลือไม่มี ซึ่งพระองค์ทรงหมายตรัสไว้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อายตนะมีอยู่ ในที่ๆ ไม่มี ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ โลกนี้ก็ไม่มี โลกหน้าก็ไม่มี และพระจันทร์พระอาทิตย์ทั้งสองก็ไม่มี.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวที่นั้นว่า เป็นอาคติ เป็นคติ เป็นฐิติ เป็นจุติ เป็นอุปบัติ นั่นไม่เป็นที่ตั้งอาศัย เป็นไปไม่ได้ ไม่มีอารมณ์ นั่นเป็นที่สุดทุกข์ ดังนี้.
               อมตมหานิพพานธาตุนั้น ถึงความดับสูญแห่งอุปาทานขันธ์แม้ทั้งหมด เป็นสภาวะสงบสรรพสังขาร เป็นสภาวะสละคืนอุปาทิกิเลสทั้งปวง เป็นที่สงบทุกข์ทั้งปวง เป็นที่ถอนความอาลัยทั้งปวง เป็นที่ขาดแห่งวัฏฏะทั้งปวง มีความสงบอย่างแท้จริงเป็นลักษณะ เพราะฉะนั้น อมตมหานิพพานธาตุนั้น จึงชื่อว่า ถ่องแท้ ไม่ผิด ไม่กลายเป็นอย่างอื่น เพราะไม่กล่าวสภาวะตามความเป็นจริงให้คลาดเคลื่อนในกาลไหนๆ. พระองค์ชื่อว่า ตถาคต เพราะเสด็จไป เสด็จเข้าถึง บรรลุ ดำเนินไป เสด็จถึงอย่างถ่องแท้ ซึ่งอมตมหานิพพานธาตุนั้นมีอภิชาติเป็นต้น ด้วยประการฉะนี้.
               เพราะเหตุอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะเสด็จไปโดยถ่องแท้.
               พระองค์ชื่อว่า ตถาคต เพราะมีความถ่องแท้เป็นอย่างไร?
               คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อนมีประการเป็นอย่างใด พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้นี้ ก็มีประการเป็นอย่างนั้น
               ท่านกล่าวอธิบายไว้อย่างไร
               โดยสังเขปท่านกล่าวไว้ดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเหล่านั้นมีประการอย่างไร
               คือ มีประการด้วยมรรคศีล ผลศีล โลกิยโลกุตรศีลแม้ทั้งหมด มรรคสมาธิ ผลสมาธิ และโลกิยโลกุตรสมาธิทั้งปวง ด้วยมรรคปัญญา ผลปัญญา โลกิยโลกุตรปัญญาแม้ทั้งปวง ด้วยสมาบัติวิหาร ๒,๔๐๐,๐๐๐ โกฏิ ที่ทรงใช้ประจำวันด้วยตทังควิมุตติ วิกขัมภนวิมุตติ สมุจเฉทวิมุตติ ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ นิสสรณวิมุตติ ดังนี้
               แต่เมื่อว่าโดยพิสดารด้วยคุณแห่งพระสัพพัญญูทั้งสิ้น อันมีอานุภาพเป็นอจินไตย ต่างโดยคุณหาที่สุดมิได้ หาประมาณมิได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าของพวกเราแม้นี้ ก็มีประการเป็นอย่างนั้น.
               ความจริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งปวงพึงมีความแตกต่างกัน ๕ ประการเหล่านี้ คือ
                         ความแตกต่างแห่งอายุ ๑
                         ความแตกต่างประมาณแห่งพระสรีระ ๑
                         ความแตกต่างแห่งตระกูล ๑
                         ความแตกต่างแห่งการบำเพ็ญทุกรกิริยา ๑
                         ความแตกต่างแห่งพระรัศมี ๑.
               แต่ในวิสุทธิมีศีลวิสุทธิเป็นต้น ในการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา และในพระคุณที่พระองค์ตรัสรู้ ไม่มีเหตุอะไรที่กระทำให้แตกต่างกันเลย.
               โดยที่แท้ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้นไม่พิเศษกว่ากันและกัน เหมือนทองคำที่หักตรงกลาง. เพราะเหตุนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในปางก่อนมีประการอย่างใด พระผู้มีพระภาคเจ้า (ของเรา) แม้พระองค์นี้ ก็มีประการเป็นอย่างนั้น เพราะเหตุอย่างนี้ พระองค์จึงทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะมีประการเป็นอย่างนั้น.
               ก็ในที่นี้ คต ศัพท์มีวิธศัพท์เป็นอรรถ. จริงอย่างนั้น ชาวโลกกล่าว คต ศัพท์ ที่ประกอบด้วย วิธ ศัพท์ มีประการเป็นอรรถ.
               พระองค์ชื่อว่า ตถาคต เพราะดำเนินไปโดยประการนั้น เป็นอย่างไร?
               คือ พระองค์ชื่อว่า ตถาคต เพราะมีความเป็นไปทางพระกาย พระวาจาและพระหฤทัย อันไป เป็นที่ไป เป็นการเสด็จไป โดยประการตามที่พอพระทัย เพราะไม่มีความกระทบกระทั่งในอะไรๆ แห่งความเป็นไปทางพระกายเป็นต้น ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เหตุพระองค์ทรงประกอบด้วยอิทธานุภาพ อันไม่ทั่วไปแก่ผู้อื่น เหตุบรรลุพระบารมีอย่างสูงสุด แห่งปฏิสัมภิทามีอรรถปฏิสัมภิทาเป็นต้น และเหตุที่พระองค์ทรงได้รับอนาวรณญาณ. เพราะเหตุอย่างนี้ พระองค์จึงทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะทรงดำเนินเป็นไปโดยประการนั้น.
               พระองค์ชื่อว่า ตถาคต เพราะไม่ปราศจากพระญาณอันถ่องแท้ เป็นอย่างไร?
               คือ พระองค์ชื่อว่า อคต เพราะไม่มีการไป กล่าวคือความเป็นไป อันเป็นข้าศึกต่อพระญาณในการสร้างสมโพธิสมภาร.
               ก็ความที่พระองค์ไม่ปราศจากพระญาณนั้น ชื่อว่า ตถาคต เพราะไม่ปราศจากพระญาณอันเป็นไปโดยนัย มีการพิจารณาโทษและอานิสงส์เป็นต้น โดยไม่ผิดแผกในธรรมมีความตระหนี่และทานบารมีเป็นต้น.
               อนึ่ง พระองค์ชื่อว่า อคต เพราะไม่มีการดำเนินไป การไป ในคติทั้ง ๕ กล่าวคือความเป็นไปแห่งอภิสังขารคือกิเลส หรือกล่าวคือความเป็นไปแห่งขันธ์นั่นเอง. ภาวะที่พระองค์ไม่ไปนี้นั้น โดยทรงบรรลุสอุปาทิเสสนิพพาน และอนุปาทิเสสนิพพาน ด้วยอริยมรรคญาณอย่างถ่องแท้แล. เพราะเหตุอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะไม่ไปปราศจากพระญาณอันถ่องแท้.
               พระองค์ชื่อว่า ตถาคต เพราะมีภาวะดำเนินไปโดยถ่องแท้เป็นอย่างไร?
               คือ บทว่า ตถาคตภาเวน ได้แก่ โดยสภาวะที่ทรงดำเนินไปโดยถ่องแท้
               อธิบายว่า ภาวะที่พระองค์ทรงดำเนินไปโดยถ่องแท้มีอยู่.
               ถามว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าที่เฉลิมพระนามว่า ตถาคต เพราะความที่พระองค์ทรงดำเนินโดยถ่องแท้นั้น คืออะไร?
               ตอบว่า คือพระสัทธรรม.
               จริงอยู่ พระสัทธรรมอันดับแรก คืออริยมรรค. อธิบายว่า พระองค์ทรงดำเนินไป โดยประการที่ทรงถอนกิเลสอันเป็นปฏิปักษ์ได้โดยเด็ดขาด ด้วยพลังคือสมถะและวิปัสสนาอันเนื่องกันเป็นคู่ จึงทรงบรรลุด้วยสมุจเฉทปหาน ได้แก่ ผลธรรม. ที่พระองค์ทรงไป คือดำเนินไป โดยประการที่พระองค์ทรงบรรลุด้วยปฏิปัสสัทธิปหาน ตามเหมาะสมแก่มรรค. ส่วนนิพพานธรรมที่พระพุทธเจ้าเป็นต้นเสด็จถึง คือกระทำให้แจ้ง โดยประการที่ทรงเสด็จถึง คือตรัสรู้ด้วยปัญญา สำเร็จด้วยการสงบทุกข์ในวัฏฏะทั้งสิ้น
               เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ตถาคต แม้ปริยัติธรรม ก็ชื่อว่าตถาคต เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายทรงดำเนินไป คือตรัส ได้แก่ประกาศ โดยประการที่พระปริยัติธรรมนั้น อันพระพุทธเจ้าในปางก่อนทั้งหลาย ทรงประกาศให้สมควรแก่อัธยาศัยเป็นต้นของเวไนยสัตว์ โดยสุตตะและเคยยะเป็นต้น และโดยการประกาศความดำเนินไปเป็นต้น. ชื่อว่า ตถาคต เพราะพระสาวกของ พระผู้มีพระภาคเจ้าดำเนินไป คือดำเนินตาม โดยประการที่พระปริยัติธรรมนั้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว.
               เพราะเหตุอย่างนี้ พระสัทธรรมแม้ทั้งหมด จึงชื่อว่า ตถาคต อันดำเนินไปโดยถ่องแท้.
               เพราะเหตุนั้น ท้าวสักกเทวราชจอมเทพจึงตรัสว่า
                         ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระธรรมอันพระสาวกเป็นต้น
                         ดำเนินไปโดยถ่องแท้ อันเทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว
                         ขอความสวัสดีจงมีเถิด.

               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะพระองค์ทรงมีพระสัทธรรมนั้น. เหมือนอย่างว่า พระธรรม ฉันใด แม้พระอริยสงฆ์ก็ฉันนั้น ชื่อว่า ตถาคต เพราะดำเนินไป โดยประการที่อันผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนและเพื่อประโยชน์ผู้อื่น บำเพ็ญข้อปฏิบัติ คือสมถะและวิปัสสนาอันเป็นส่วนเบื้องต้น ให้บริสุทธิ์ด้วยดีเป็นเบื้องหน้าแล้วจึงบรรลุด้วยมรรคนั้นๆ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ตถาคต เพราะตรัสรู้ และเพราะตรัสโดยประการที่สัจจะและปฏิจจสมุปบาทเป็นต้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว.
               ด้วยเหตุนั้น ท้าวสักกเทวราชจึงตรัสว่า
                         ข้าพเจ้าขอนมัสการพระสงฆ์ผู้ดำเนินไปโดยถ่องแท้
                         อันเทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอความสวัสดีจงมีเถิด.

               พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะพระองค์เป็นผู้มีพระสงฆ์นั้นเป็นสาวก. เพราะเหตุอย่างนี้ พระองค์จึงทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะมีภาวะดำเนินไป โดยถ่องแท้นั้นเองแล.
               บทว่า ตถาคต แม้นี้ เป็นเพียงมุขในการแสดงภาวะที่พระตถาคตทรงดำเนินไปโดยถ่องแท้นั้นเอง. ก็พระตถาคตเท่านั้นพึงพรรณนาความที่พระตถาคตดำเนินไป โดยถ่องแท้.
               จริงอยู่ บทว่า ตถาคต นี้ มีอรรถมาก มีคติมาก มีอารมณ์มาก. พระธรรมกถึกพระพุทธวจนะ คือพระไตรปิฎกแห่งตถาคตบทนั้นมา เหมือนอัปปมาทบทโดยสมควร โดยภาวะมีประโยชน์ ใครๆ ไม่ควรกล่าวว่า พระธรรมกถึกแล่นไปโดยผิดท่าแล.
               ในข้อนั้น ท่านกล่าวคำเป็นคาถาไว้ว่า
                                   พระมุนีทั้งหลายในปางก่อนผู้แสวงหาคุณ
                         อันยิ่งใหญ่ มาถึงความเป็นพระสัพพัญญูในโลกนี้
                         โดยประการใด แม้พระศากยมุนี ก็เสด็จมา โดย
                         ประการนั้น เพราะเหตุนั้น พระศากยมุนีผู้มีจักษุ
                         ชาวโลกจึงเฉลิมพระนามว่า ตถาคต.
                                   พระชินเจ้าทั้งหลาย ทรงละมลทินกิเลส มีกาม
                         เป็นต้นได้เด็ดขาดด้วยสมาธิและปัญญาแล้ว จึงดำเนิน
                         ไป โดยประการใด พระศากยมุนีในปางก่อน ทรงไว้
                         ซึ่งความรุ่งเรือง เสด็จไปโดยประการนั้น เพราะฉะนั้น
                         ชาวโลกจึงเฉลิมพระนามว่า ตถาคต.
                                   อนึ่ง พระชินเจ้าเสด็จถึงพร้อม ซึ่งลักษณะแห่ง
                         ธาตุและอายตนะเป็นต้นอันถ่องแท้ โดยจำแนกสภาวะ
                         สามัญญะและวิภาคะด้วยพระสยัมภูญาณ เพราะฉะนั้น
                         พระศากยะผู้ประเสริฐ ชาวโลกจึงเฉลิมพระนามว่า
                         ตถาคต.
                                   สัจจะอันถ่องแท้ และอิทัปปัจจยตา อันถ่องแท้
                         ที่คนอื่นแนะนำไม่ได้ อันพระตถาคตผู้มีสมันตจักษุ
                         ทรงประกาศแล้ว โดยนัยด้วยประการทั้งปวง เพราะ
                         ฉะนั้น พระชินเจ้า ผู้เสด็จไปโดยถ่องแท้ ชาวโลกจึง
                         เฉลิมพระนามว่า ตถาคต.
                                   การที่พระชินเจ้า ทรงเห็นโดยถ่องแท้ทีเดียวใน
                         โลกธาตุแม้มีประเภทมิใช่น้อย ในอารมณ์มีรูปายตนะ
                         เป็นต้นมีความต่างอันวิจิตร เพราะฉะนั้น พระองค์ผู้มี
                         สมันตจักษุ ชาวโลกจึงเฉลิมพระนามว่า ตถาคต.
                                   อนึ่ง เพราะเหตุที่พระองค์ ทรงแสดงธรรมอย่าง
                         ถ่องแท้ทีเดียว หรือทรงกระทำพระองค์ให้สมควรแก่
                         ธรรมนั้น ทรงครอบงำสัตวโลกด้วยพระคุณทั้งหลาย
                         แม้เพราะเหตุนั้น พระองค์ผู้เป็นผู้นำโลก ชาวโลก
                         จึงเฉลิมพระนามว่า ตถาคต.
                                   อนึ่ง พระองค์ตรัสรู้ด้วยปริญญาอันถ่องแท้โดย
                         ประการทั้งปวง ทรงข้ามแดนโลก ทรงถึงความดับด้วย
                         การกระทำโดยประจักษ์ และทรงถึงอริยมรรค ฉะนั้น
                         จึงทรงพระนามว่า ตถาคต.
                                   อนึ่ง เพราะเหตุที่พระองค์ประกอบด้วยประโยชน์
                         แก่สัตวโลก ทรงปฏิญญาอย่างถ่องแท้โดยประการทั้งปวง
                         ทรงเป็นนาถะของโลกด้วยพระกรุณาโดยประการทั้งปวง
                         เสด็จไป แม้เพราะเหตุนั้น พระชินเจ้า ชาวโลกจึงเฉลิม
                         พระนามว่า ตถาคต.
                                   พระองค์ทรงอุบัติแต่อภิชาติอย่างถ่องแท้ เพราะ
                         ทรงหยั่งรู้อารมณ์ตามเป็นจริง ฉะนั้น ชาวโลกจึงเฉลิม
                         พระนามว่า ตถาคต. พระองค์ทรงพระนามว่า ตถาคต
                         เพราะทรงปรับปรุงประโยชน์นั้นให้สำเร็จ.
                                   พระมเหสีเจ้าในปางก่อนเหล่านั้น มีประการเป็น
                         อย่างไร แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นี้ ก็มีประการ
                         เป็นอย่างนั้น ตามพอพระทัย เพราะพระองค์เป็นอัคร
                         บุคคล ชาวโลกเฉลิมพระนามว่า ตถาคต. เพราะมีพระ
                         หฤทัยเป็นไปตามพระวาจาที่ทรงประกาศ.
--------------------------------------------------------------------------
                                   สมฺโพธิสมฺภารวิปกฺขโต ปุเร
                         คตํ น สํสารคตมฺปิ ตสฺส วา ๑-
                         น จตฺถิ นาถสฺส ภวนฺตทสฺสิโน
                         ตเถหิ ตสฺมา อคโต ตถาคโต.
____________________________
@เชิงอรรถ: ๑- สี. ตสฺส หิ

                                   ในชาติก่อนๆ พระองค์ไปจากธรรมอันเป็น
                         ข้าศึกต่อโพธิสมภาร การไปสู่สงสารก็ไม่มีแก่พระองค์
                         และสงสารนี้ไม่มีแก่พระตถาคตผู้เป็นนาถะ ผู้ทรงเห็น
                         ที่สุดภพ เพราะฉะนั้น พระองค์ไม่ปราศจากญาณอัน
                         ถ่องแท้ ชาวโลกจึงเฉลิมพระนามว่า ตถาคต.
--------------------------------------------------------------------------
                                   พระธรรมอันประเสริฐ อันพระมเหสีเจ้าตรัสโดย
                         ประการที่ละมลทินที่ควรละ เพราะฉะนั้น พระธรรม
                         นั้นจึงชื่อว่า ตถาคต. แม้พระอริยสงฆ์ของพระศาสดา
                         ก็ชื่อว่า ตถาคต เพราะเป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยพระธรรม
                         อันประเสริฐนั้น.

               บทว่า มหิทฺธิกตา ความว่า การประกอบด้วยมหิทธิฤทธิ์ กล่าวคือความเป็นผู้สามารถยังความเป็นอย่างอื่นให้สำเร็จ ด้วยอานุภาพแห่งธรรม เพราะมีความเชี่ยวชาญทางจิต และประกอบด้วยฤทธิ์ต่างๆ เป็นอย่างยิ่ง ชื่อว่า มหิทฺธิกตา. ความประกอบด้วยเดชแห่งบุญที่รุ่งเรืองยิ่งนัก เป็นเหตุให้สำเร็จประโยชน์ตามความปรารถนา อยู่ไกลแสนไกลจากข้าศึกอันเกิดมาแต่กาลนาน ชื่อว่า มหานุภาวตา.
               ศัพท์ว่า ยตฺร เป็นนิบาต ลงในอรรถปฐมาวิภัตติ อันยังความอัศจรรย์ ความสรรเสริญ ความแตกตื่นและความร่าเริงให้สำเร็จ.
               บทว่า วิชายิสฺสติ เป็นคำบ่งอนาคตกาล เพราะประกอบด้วยบทว่า ยตฺร นั้น. แต่ความหมาย ใช้ในอรรถอดีตกาลเท่านั้น.
               ก็ในข้อนี้ มีอธิบายดังต่อไปนี้
               จริงอยู่ ชื่อว่า พระนางสุปปวาสานี้จมอยู่ในกองทุกข์ประสบความลำบากเช่นนั้น พร้อมด้วยเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสนั่นเอง จึงมีความสุข ไม่มีโรค ประสูติพระโอรสปราศจากโรค.
               บทว่า อตฺตมโน แปลว่า มีจิตเป็นของตน.
               อธิบายว่า มีจิตปราศจากกิเลส เพราะเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้า. จริงอยู่ จิตที่ถูกกิเลสกลุ้มรุม ใครๆ ไม่อาจกล่าวว่า มีจิตเป็นของตน เพราะไม่เป็นไปในอำนาจแล.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อตฺตมโน ได้แก่ มีใจอันปิติและโสมนัสจับแล้ว.
               บทว่า ปมุทิโต แปลว่า ประกอบด้วยความปราโมทย์.
               บทว่า ปีติโสมนสฺสชาโต แปลว่า เกิดปิติและโสมนัสอย่างรุนแรง.
               บทว่า อถ แปลว่า ภายหลัง คือล่วงไป ๒-๓ วันแต่นั้น.
               บทว่า สตฺต ภตฺตานิ ได้แก่ ภัตที่พึงถวายใน ๗ วัน.
               บทว่า สฺวาตนาย ความว่า เพื่อบุญอันจะมีในวันพรุ่งนี้ คือเพื่อบุญอันจักมีในวันพรุ่งนี้ ด้วยการถวายทาน และด้วยการเข้าไปนั่งใกล้พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน.
               บทว่า อถโข ภควา อายสฺมนฺตํ มหาโมคฺคลฺลานํ อามนฺเตสิ
               ถามว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียก.
               ตอบว่า เพื่อรักษาความเลื่อมใสของพระสวามีของพระนางสุปปวาสา. ก็พระนางสุปปวาสาเป็นผู้มีความเลื่อมใสไม่เอนเอียงแล. แต่การรักษาความเลื่อมใสของอุบาสก เป็นหน้าที่ของพระมหาโมคคัลลานเถระ. เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงตรัสว่า เธอเป็นอุปัฏฐากของท่าน.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตุยฺเหโส ตัดเป็น ตุยฺหํ เอโส.
               ด้วยบทว่า ติณฺณํ ธมฺมานํ ปาฏิโภโค ท่านแสดงว่า ถ้าท่านพระมหาโมคคัลลานะพระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้รับประกัน คือถ้าว่าเป็นผู้รับรองเพื่อไม่ให้ธรรม ๓ ประการ มีโภคะเป็นต้นของเราเสื่อมคือพินาศ คือว่า ถ้าพระผู้เป็นเจ้ารู้ว่า พ้น ๗ วันจากวันนี้ไป ข้าพเจ้าอาจให้ทานได้.
               ฝ่ายพระเถระเห็นความไม่เป็นอันตรายแห่งโภคะ และชีวิตของอุบาสกในวันเหล่านั้น จึงกล่าวว่า อาวุโส เราเป็นผู้ประกันธรรมทั้ง ๒ คือโภคะและชีวิตของท่าน. แต่ว่าศรัทธาเป็นคุณชาติเนื่องอยู่ในจิตของอุบาสกนั้น เพราะเหตุนั้น พระเถระเมื่อจะทำให้เป็นภาระของอุบาสกเท่านั้น จึงกล่าวว่า ก็ท่านเท่านั้นเป็นผู้ประกันศรัทธา.
               อนึ่ง อุบาสกนั้นเป็นผู้เห็นสัจจะแล้ว ความที่ศรัทธาของอุบาสกนั้นจะแปรเป็นอย่างอื่นไปย่อมไม่มี เพราะเหตุนั้น พระเถระจึงกล่าวอย่างนั้น.
               ก็เพราะเหตุนั้นนั่นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เธอจงให้อุบาสกยินยอมว่า เธอจักทำภายหลัง. ฝ่ายอุบาสกปรารถนาความเจริญ ด้วยความเคารพในพระศาสดาและพระเถระ และด้วยบุญของพระนางสุปปวาสาผู้มีความสุข จึงยินยอมว่า พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา จงทำตลอด ๗ วันเถิด ภายหลังเราจักทำ.
               บทว่า ตญฺจ ทารกํ ความว่า จำเดิมแต่วันที่ประสูติแล้ว ล่วงไปถึงวันที่ ๑๑ จากนั้นจึงให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานฉัน ๗ วัน แล้วจึงให้ทารกมีอายุ ๗ ขวบนั้น ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า และนมัสการภิกษุสงฆ์ในวันที่ ๗.
               บทว่า สตฺต เม วสฺสานิ แปลว่า เรามีอายุ ๗ ขวบ.
               ก็บทว่า วสฺสานิ นี้เป็นทุติยาวิภัตติ ใช้ในอรรถว่า อัจจันตสังโยคะ (แปลว่าตลอด).
               ด้วยคำว่า โลหิตกุมฺภิยํ วุฏฺฐานิ ท่านกล่าวหมายเอาทุกข์ที่ตนอยู่ในครรภ์ของมารดา.
               บทว่า อญฺญานิปิ เอวรูปานิ สตฺต ปุตฺตานิ ความว่า เมื่อควรจะกล่าวว่า อญฺเญปิ เอวรูเป สตฺต ปุตฺเต ท่านกล่าวโดยเป็นลิงควิปลาสว่า เอวรูปานิ.
               อธิบายว่า ซึ่งบุตรผู้เกิดขึ้นได้รับทุกข์อย่างมหันต์ เพราะอยู่ในครรภ์ ๗ ปี และเพราะครรภ์หลงถึง ๗ วัน ด้วยประการฉะนี้. ด้วยคำนั้น ท่านแสดงว่า มาตุคามทั้งหลายไม่อิ่มเพราะการอยากได้บุตร เพราะมาตุคามเป็นผู้อยากได้บุตร.
               บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า ทรงทราบอรรถนี้ที่พระนางกล่าวด้วยความอยากได้บุตร เพราะรวมทุกข์อย่างมหันต์ที่เป็นไปโดยการทรงครรภ์เป็นต้น ตลอด ๗ ปี ๗ วัน เข้าในบทเดียวกัน.
               ด้วยบทว่า อิมํ อุทานํ ความว่า พระองค์ทรงเปล่งอุทานนี้อันแสดงภาวะ คือลวงบุคคลผู้ประมาทด้วยอาการที่น่าปรารถนาแล้ว จึงกระทำประโยชน์ในการละความสิเนหาด้วยตัณหา เหมือนบุคคลผู้มัวเมาความสุขทางใจฉะนั้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสาตํ ได้แก่ ไม่อร่อย ไม่ดี ไม่น่าปรารถนา.
               บทว่า สาตรูเปน แปลว่า มีสภาวะน่าปรารถนา.
               บทว่า ปิยรูเปน แปลว่า มีภาวะน่ารักใคร่.
               บทว่า สุขสฺส รูเปน ได้แก่ มีสภาวะเป็นสุข.
               ท่านกล่าวอธิบายคำนี้ไว้ว่า เพราะเหตุที่สังขารอันเป็นไปในวัฏฏะทั้งสิ้น ไม่น่าชื่นใจ ไม่น่ารัก เป็นทุกข์แท้จริง ปรากฏเป็นเหมือนน่าปรารถนา น่ารักและเป็นสุข เพราะทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย เพราะละวิปลาสไม่ได้ ย่อมล่วง ครอบงำ ท่วมทับบุคคลผู้ชื่อว่าประมาท เพราะปราศจากสติ ฉะนั้น ทุกข์อันไม่น่าชื่นใจ ไม่น่าปรารถนาเห็นปานนั้น ย่อมท่วมทับพระนางสุปปวาสา แม้นี้อีก ๗ ครั้ง ด้วยทุกข์อันมีส่วนเปรียบด้วยความสำราญเป็นต้น คือด้วยวัฏทุกข์อันเกิดแต่ความรักคือบุตร.

               จบอรรถกถาสุปปวาสาสูตรที่ ๘               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน มุจจลินทวรรคที่ ๒ สุปปวาสาสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 58อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 59อ่านอรรถกถา 25 / 63อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=1870&Z=1976
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=26&A=2826
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=26&A=2826
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๕  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :