ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 66อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 67อ่านอรรถกถา 25 / 71อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน นันทวรรคที่ ๓ นันทสูตร

               อรรถกถานันทสูตร               
               นันทสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า นนฺโท เป็นชื่อของพระเถระนั้น.
               จริงอยู่ พระเถระนั้นได้นามว่านันทะ เพราะมารดาบิดา บริวารชนและเครือญาติทั้งสิ้นเกิดความยินดี เพราะท่านประกอบด้วยลักษณะแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ.
               บทว่า ภควโต ภาตา ความว่า ชื่อว่าเป็นพระภาดา เพราะเป็นโอรสร่วมบิดาเดียวกันกับพระผู้มีพระภาคเจ้า. จริงอยู่ ไม่มีพระโอรสที่เกิดร่วมครรภ์กับพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า มาตุจฺฉาปุตฺโต. อธิบายว่า เป็นโอรสของพระน้านาง. ด้วยว่า ท่านเป็นโอรสของพระน้านางนามว่ามหาปชาบดีโคตมี.
               บทว่า อนภิรโต ตัดเป็น น อภิรโต แปลว่า ไม่ยินดียิ่ง.
               บทว่า พฺรหฺมจริยํ ได้แก่ การประพฤติดังพรหม คือประเสริฐสูงสุด มีที่นั่งอันเดียว ที่นอนอันเดียว เว้นเมถุนธรรม.
               บทว่า สนฺตาเนตุํ ได้แก่ เพื่อจะยังจิตดวงแรกจนถึงจิตดวงสุดท้ายให้ดำเนินไป คือให้เป็นไปโดยชอบ คือบริบูรณ์ บริสุทธิ์.
               ก็ในข้อนี้ พึงทราบสังคหะ คือการสงเคราะห์มรรคพรหมจรรย์ ด้วยบทว่า พรหมจรรย์ บทที่ ๒.
               บทว่า สิกฺขํ ปจฺจกฺขาย ความว่า ห้าม คือสละสิกขา ๓ ที่สมาทานพร้อมกับความเป็นภิกษุภาวะในเวลาอุปสมบทซึ่งไม่ตั้งขึ้น โดยภาวะที่ควรจะบังเกิด.
               บทว่า หีนาย แปลว่า เพื่อความเป็นคฤหัสถ์.
               บทว่า อาวตฺติสฺสามิ ได้แก่ จักกลับไป.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร ท่านจึงกราบทูลอย่างนั้น?
               ในข้อนั้น มีอนุบุพพิกถาดังต่อไปนี้ :-
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศพระธรรมจักรอันบวรแล้ว เสด็จไปกรุงราชคฤห์ ประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร อันพระกาฬุทายิเถระผู้ไปภายหลังเขาทั้งหมด ในบรรดาทูต ๑๐ คนซึ่งมีบริวารคนละ ๑,๐๐๐ ที่พระเจ้าสุทโธทนมหาราชทรงส่งไปด้วยพระดำรัสว่า พวกท่านจงนำบุตรมาแสดงแก่เรา บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยบริวาร บรรลุพระอรหัตแล้ว รู้กาลเสด็จไป (ของพระองค์) ได้พรรณนาหนทางแล้วทูลอาราธนา เพื่อเสด็จไปยังพระชาติภูมิ (พระองค์) แวดล้อมด้วยพระขีณาสพสองหมื่น เสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงทำฝนโบกขรพรรษในสมาคมพระญาติให้เป็นอุบัติเหตุ แล้วทรงแสดงเวสสันดรชาดก.
               ในวันรุ่งขึ้นได้เสด็จบิณฑบาต ทรงให้พระบิดาดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ด้วยพระคาถาว่า อุตฺติฏฺเฐ นปฺปมชฺเชยฺย ไม่พึงประมาทในบิณฑะอันบุคคลพึงลุกขึ้นยืนรับ แล้วเสด็จไปยังพระราชนิเวศน์ ทรงให้พระนางมหาปชาบดีดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ทรงให้พระราชาดำรงอยู่ในสกทาคามิผล ด้วยพระคาถาว่า ธมฺมญฺจเร พึงประพฤติธรรมเป็นต้น.
               ก็ในกาลเสร็จภัตกิจ ทรงอาศัยการพรรณนาพระคุณของราหุลมารดา ตรัสจันทกินรีชาดกในวันที่ ๓ ครั้นเมื่อวันวิวาหมงคลซึ่งเป็นที่เชิญเสด็จเข้าเรือน เพื่ออภิเษกของนันทกุมารเป็นไปอยู่ ก็เสด็จเข้าไปบิณฑบาต ประทานบาตรในหัตถ์ของนันทกุมาร ตรัสมงคล (อวยพร) เสด็จลุกจากอาสนะแล้วหลีกไป หาได้ทรงรับบาตรจากหัตถ์ของนันทกุมารไม่.
               ฝ่ายนันทกุมารด้วยความเคารพในพระตถาคต จึงมิอาจทูล (เตือน) ว่า ขอพระองค์รับบาตรไปเถิด พระเจ้าข้า. แต่คิดอย่างนี้ว่า พระศาสดาคงจักทรงรับบาตรที่หัวบันได ในที่นั้นพระศาสดาก็ไม่ทรงรับ. ฝ่ายนันทกุมารก็คิดว่าคงจะทรงรับที่ริมเชิงบันได. แม้ในที่นั้น พระศาสดาก็ไม่ทรงรับ. นันทกุมารคิดว่าจักทรงรับที่พระลานหลวง. แม้ในที่นั้นพระศาสดาก็ไม่ทรงรับ. พระกุมารปรารถนาจะเสด็จกลับ (แต่) จำเสด็จไปด้วยความไม่เต็มพระทัย ด้วยความเคารพ จึงไม่อาจทูลว่า ขอพระองค์ทรงรับบาตรเถิด ทรงเดินนึกไปว่า พระองค์จักทรงรับในที่นี้ พระองค์จักทรงรับในที่นี้.
               ขณะนั้น หญิงพวกอื่น (เห็นอาการนั้นแล้ว) จึงบอกแก่นางชนบทกัลยาณีว่า พระแม่เจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพานันทกุมาร เสด็จไปแล้ว คงจักพรากนันทกุมารจากพระแม่เจ้า.
               นางชนบทกัลยาณีนั้นมีหยาดน้ำตายังไหลอยู่ มีผมอันเกล้าได้กึ่งหนึ่ง รีบขึ้นสู่ปราสาท ยืนอยู่ที่ทวารแห่งสีหบัญชรทูลว่า ข้าแต่พระลูกเจ้า ขอพระองค์จงด่วนเสด็จกลับ. คำของนางนั้น ประหนึ่งตกไปขวางตั้งอยู่ในหทัยของนันทกุมารนั้น.
               แม้พระศาสดาก็ไม่ทรงรับบาตรจากหัตถ์ของนันทกุมารนั้นเลย ทรงนำนันทกุมารนั้นไปสู่วิหารแล้วตรัสว่า นันทะ เธออยากบวชไหม? นันทะนั้นด้วยความเคารพในพระพุทธเจ้า จึงไม่ทูลว่าจักไม่บวช ทูลรับว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ จักบวช พระเจ้าข้า. พระศาสดาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ถ้ากระนั้น เธอทั้งหลายจงให้นันทะบวชเถิด. จึงเสด็จไปสู่กรุงกบิลพัสดุ์ในวันที่ ๓ ทรงให้นันทกุมารบวชแล้ว.
               ในวันที่ ๗ พระศาสดาให้พระราหุลกุมาร ซึ่งพระมารดาตกแต่งส่งไปด้วยดำรัสว่า ข้าแต่พระสมณะ ท่านจงประทานทรัพย์มรดกแก่ข้าพระองค์เถิด ดังนี้แล้ว มายังอารามกับพระองค์ให้บรรพชาแล้ว วันรุ่งขึ้นจึงตรัสมหาธรรมปาลชาดก ให้พระราชาดำรงอยู่ในอนาคามิผล.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้พระนางมหาปชาบดี ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ทรงให้พระบิดาดำรงอยู่ในผล ๓ ทรงแวดล้อมไปด้วยหมู่ภิกษุ เสด็จไปยังกรุงราชคฤห์อีก แต่นั้นได้รับปฏิญญาที่ท่านอนาถบิณฑิกะเชื้อเชิญ เพื่อเสด็จมายังกรุงสาวัตถี เมื่อพระเชตวันมหาวิหารสำเร็จแล้ว ก็เสด็จไปประทับอยู่ ณ ที่นั้น ด้วยประการฉะนี้.
               เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ในพระเชตวัน ด้วยอาการอย่างนี้ ท่านนันทะบวชโดยไม่พอพระทัย ไม่เห็นโทษในกาม หวนระลึกถึงคำที่นางชนบทกัลยาณีกล่าว เกิดความเบื่อหน่าย บอกความไม่ยินดียิ่งแก่ภิกษุทั้งหลายแล้ว.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เตน โข ปน สมเยน อายสฺมา นนฺโท ฯเปฯ หีนายาวตฺติสฺสามิ ดังนี้.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงให้ท่านนันทะบวชอย่างนั้น.
               ตอบว่า เพราะพระศาสดาเป็นผู้ฉลาดในการฝึกเวไนยสัตว์ ด้วยประสงค์ว่า เราจักแสดงโทษก่อนทีเดียว จึงไม่ให้ท่านนันทะสงัดจากกามทั้งหลายได้ ก็แลครั้นให้บวชแล้ว จึงให้สงัดจากกามนั้นโดยอุบาย จึงยังคุณวิเศษเบื้องบนให้เกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงให้ท่านนันทะนั้นบวชก่อน.
               บทว่า สากิยานี ได้แก่ ธิดาแห่งเจ้าศากยะ.
               บทว่า ชนปทกลฺยาณี แปลว่า หญิงผู้มีความงามในชนบท ผู้เลอโฉมโดยรูป เว้นโทษในร่างกาย ๖ อย่าง ประกอบด้วยความงาม ๕ อย่าง.
               ก็เพราะเหตุที่เธอไม่สูงนัก ไม่เตี้ยนัก ไม่ผอมนัก ไม่อ้วนนัก ไม่ดำนัก ไม่ขาวนัก ล่วงวรรณะของมนุษย์ แต่ไม่ถึงวรรณะของเทพ ฉะนั้น จึงชื่อว่าเว้นโทษในร่างกาย ๖. ประกอบด้วยความงามเหล่านี้ คือ ผิวงาม เนื้องาม เล็บงาม (บางแห่งว่า ผมงาม) กระดูกงาม และวัยงาม.
               บรรดาความงามเหล่านั้น ผิวย่อมทำความสว่าง ในที่ประมาณ ๑๐-๑๒ ศอก ด้วยแสงสว่างจากสรีระของตน มีผิวเสมอด้วยดอกประยงค์หรือเสมอด้วยทองคำ นี้ชื่อว่านางมีผิวงาม. ส่วนมือทั้งสอง เท้าทั้งสองและริมฝีปากของนาง เป็นเช่นกับแก้วประพาฬและผ้ากัมพลแดง ประหนึ่งฉาบทาด้วยน้ำครั่ง นี้ชื่อว่านางมีเนื้องาม. ส่วนเล็บทั้ง ๒๐ กาบเป็นเหมือนธารน้ำนม ในที่ที่พ้นจากเนื้อ ประหนึ่งขจิตด้วยน้ำครั่งในที่ที่ไม่พ้นจากเนื้อ นี้ชื่อว่านางมีเล็บงาม. ฟัน ๓๒ ซี่เรียบสนิท เป็นเสมือนแถวของแก้วประพาฬที่ขาวบริสุทธิ์ ย่อมปรากฏเหมือนระเบียบแห่งเพชร นี้ชื่อว่านางมีกระดูกงาม. นางแม้มีอายุ ๑๒๐ ปี เป็นเหมือนหญิงสาวอายุ ๑๖ ปี ไม่มีผมหงอกเลย นี้ชื่อว่านางมีวัยงาม. และนางเป็นผู้มีความดีงามประกอบด้วยคุณสมบัติเห็นปานนี้.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ชนปทกลฺยาณี นางงามในชนบท.
               บทว่า ฆรา นิกฺขมนฺตสฺส เป็นฉัฏฐีวิภัตติ ใช้ในอรรถอนาทร. อธิบายว่า เมื่อออกจากเรือน. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ฆรา นิกฺขมนฺติ ดังนี้ก็มี.
               บทว่า อุปฑฺฒุลฺลิขิเตหิ เกเสหิ เป็นตติยาวิภัตติใช้ในลักษณะอิตถัมภูต. อธิบายว่า นางเกล้าผมค้างอยู่. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า อฑฺฒุลฺลิขิเตหิ ดังนี้ก็มี. ก็คำว่า อุลฺลิขิตํ เป็นการทำผมให้ตั้งอยู่โดยเป็นทรงพังพาน. อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า อฑฺฒการวิธานํ ดังนี้ก็มี.
               บทว่า อปโลเกตฺวา ได้แก่ ชำเลืองดูด้วยนัยน์ตาอันส่องถึงความซ่านไปแห่งรสเสน่หา เหมือนผูกพันไว้.
               บทว่า มํ ภนฺเต ความว่า แม้เมื่อก่อน นางก็ได้กล่าวซ้ำว่า มํ เอตทโวจ เพราะนางมีจิตวุ่นวายด้วยความกระสัน.
               บทว่า ตุวฏํ แปลว่า เร็ว.
               บทว่า ตมนุสฺสรมาโน ความว่า ท่านนันทะหวนระลึกถึงคำของนางนั้น หรือคำที่ประกอบด้วยอาการของนางนั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงสดับคำของพระนันทะนั้นแล้ว ทรงพระดำริจะระงับราคะของพระนันทะด้วยอุบาย เมื่อจะนำพระนันทะนั้นไปยังภพดาวดึงส์ด้วยกำลังฤทธิ์ จึงทรงแสดงนางลิงลุ่นตัวหนึ่ง ตัวมีหู จมูกและหางขาด นั่งอยู่บนตอที่ถูกไฟไหม้ ในนาที่ถูกไฟไหม้แห่งหนึ่งในระหว่างทาง ทรงนำไปสู่ภพดาวดึงส์.
               แต่ในพระบาลี พระศาสดาตรัสเหมือนไปยังภพดาวดึงส์โดยครู่เดียวเท่านั้น ไม่ตรัสการไปอันนั้น ตรัสหมายเอาภพดาวดึงส์.
               จริงอยู่ พระศาสดาเมื่อเสด็จไปนั่นแหละ ทรงแสดงนางลิงลุ่นตัวนั้นแก่ท่านพระนันทะในระหว่างทาง. ถ้าเมื่อเป็นเช่นนั้น การแสดงการคู้ (แขน) เป็นต้นเป็นอย่างไร? การแสดงอันนั้นควรถือเอาว่า เป็นการแสดงการอันตรธานไป.
               พระศาสดาทรงนำท่านพระนันทะไปยังภพดาวดึงส์ ด้วยประการอย่างนั้น แล้วทรงแสดงนางอัปสร ๕๐๐ ผู้มีเท้าดังนกพิราบ ผู้มาบำรุงท้าวสักกเทวราช ยืนถวายบังคมพระองค์อยู่ แล้วตรัสถามความแปลกกัน โดยเทียบรูปสมบัติของนางอัปสร ๕๐๐ เหล่านั้นกับนางชนบทกัลยาณี.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อถ โข ภควา อายสฺมนฺตํ นนฺทํ พาหาย คเหตฺวา ฯปฯ กกุฏปาทานิ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พาหาย คเหตฺวา แปลว่า เหมือนจับแขน.
               จริงอยู่ ในเวลานั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรุงแต่งอิทธาภิสังขาร เช่นอย่างที่ท่านพระนันทะเป็นเหมือนถูกพระผู้มีพระภาคเจ้าจับแขนนำไปฉะนั้น. ก็ในการนั้น ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารถนาให้ท่านพระนันทะเห็นหรือเข้าไปยังเทวโลกชั้นดาวดึงส์ พระองค์ก็พึงทรงแสดงเทวโลกนั้นแก่ท่านนันทะผู้นั่งอยู่อย่างนั้นแหละ เหมือนในเวลาแสดงฤทธิ์ในการเปิดโลก หรือพึงส่งท่านพระนันทะนั่นแหละไปในเทวโลกด้วยฤทธิ์. ก็เพราะเหตุที่เพื่อจะถือเอาโดยง่าย ถึงภาวะแห่งอัตภาพของมนุษย์เป็นสิ่งที่เลว และน่าเกลียดกว่าอัตภาพอันเป็นทิพย์ พระองค์ประสงค์จะทรงแสดงนางลิงลุ่นนั้น ในระหว่างทางแก่ท่านพระนันทะ และมีพระประสงค์จะทรงแสดงให้ท่านนันทะยึดเอาสิริสมบัติ และภาวสมบัติในเทวโลกฉะนั้น จึงทรงพาท่านนันทะไปในเทวโลกนั้น. แม้ด้วยอาการอย่างนี้ ท่านนันทะก็จักมีความยินดียิ่งเป็นพิเศษในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อสมบัตินั้นแล.
               บทว่า กกุฏปาทานิ ความว่า ชื่อว่ามีเท้าเหมือนเท้านกพิราบ เพราะมีสีแดง.
               ได้ยินว่า นางอัปสรแม้ทั้งหมดนั้นได้มีเท้าละเอียดอ่อนเช่นนั้น เพราะได้ถวายน้ำมันสำหรับทาเท้าแก่สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะ.
               บทว่า ปสฺสสิ โน ตัดเป็น ปสฺสสิ นุ.
               บทว่า อภิรูปตรา แปลว่า มีรูปวิเศษกว่า.
               บทว่า ทสฺสนียตรา ความว่า ชื่อว่าน่าชมกว่า เพราะอรรถว่ากระทำผู้แลดูอยู่แม้ตลอดวัน ก็ไม่อิ่ม.
               บทว่า ปาสาทิกตรา ได้แก่ นำมาซึ่งความชื่นชมโดยทั่วไป เพราะมีอวัยวะทุกส่วนงาม.
               ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงให้ท่านนันทะผู้มีจิตอันชุ่มด้วยราคะ แลดูนางอัปสรเล่า? เพื่อจะนำกิเลสของท่านนันทะออกโดยสะดวกทีเดียว.
               พึงทราบว่า เหมือนอย่างว่า แพทย์ผู้ฉลาดเยียวยาบุคคลผู้มีโทษหนาแน่น ชั้นแรกชำระโทษด้วยการดื่มน้ำมันเป็นต้น ภายหลังจึงให้นำออกด้วยการอาเจียนและการถ่าย ได้โดยง่ายดายฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ฉลาดในการฝึกเวไนยสัตว์ก็ฉันนั้น ทรงแสดงนางเทพอัปสรกะท่านนันทะผู้มีราคะหนาให้หมดโทษ ทรงประสงค์จะนำท่านนันทะออกโดยเด็ดขาดด้วยเภสัช คืออริยมรรค.
               บทว่า ปลุฏฺฐมกฺกฏี ได้แก่ นางลิงตัวมีอวัยวะเหมือนถูกไฟไหม้.
               บทว่า เอวเมวโข ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นางลิงลุ่นซึ่งมีหูและจมูกขาด ที่พระองค์ทรงแสดงแก่ข้าพระองค์นั้น เทียบกับนางชนบทกัลยาณีฉันใด นางชนบทกัลยาณีเทียบกับนางอัปสร ๕๐๐ เหล่านี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน.
               บทว่า ปญฺจนฺนํ อจฺฉราสตานํ เป็นฉัฏฐีวิภัตติใช้ในอรรถทุติยาวิภัตติ ความว่า ซึ่งนางอัปสร ๕๐๐.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ปญฺจนฺนํ อจฺฉราสตานํ นี้ เป็นฉัฏฐีวิภัตติ ใช้ในอรรถที่เชื่อมกับอวัยวะ. ด้วยคำนั้น มีอธิบายว่า เทียบรูปสมบัติของนางอัปสร ๕๐๐.
               ก็บทว่า อุปนิธาย ได้แก่ ตั้งอยู่ในที่ใกล้กัน อธิบายว่า เทียบเคียงกัน.
               บทว่า สงฺขฺยํ ได้แก่ การนับหรือเสี้ยวว่า หญิง.
               บทว่า กลภาคํ แปลว่า ส่วนแห่งเสี้ยว. เมื่อแบ่งส่วนหนึ่งให้เป็น ๑๖ ส่วน แล้วถือเอาส่วนเดียวจาก ๑๖ ส่วนนั้นแล้วนับโดย ๑๖ ส่วน. ใน ๑๖ ส่วนนั้นแต่ละส่วน ท่านประสงค์เอาว่าส่วนแห่งเสี้ยว. ท่านกล่าวว่า ไม่เข้าถึงส่วนแห่งเสี้ยวแม้นั้น.
               บทว่า อุปนิธึ ได้แก่ แม้วางไว้ในที่ใกล้กัน โดยถือเอาด้วยความเทียบเคียงว่า หญิงนี้เหมือนกับหญิงนี้.
               พรหมจรรย์ที่พระนันทะนี้ไม่ยินดีนั้น กล่าวไว้แล้วและปรากฏในกาลก่อน เพราะฉะนั้น เพื่อไม่พาดพิงข้อนั้น จึงให้ท่านเกิดความเอื้อเฟื้อในความยินดียิ่งในพรหมจรรย์นั้น จึงตรัสย้ำว่า ยินดีเถิด นันทะ ยินดีเถิด นันทะ ดังนี้.
               บทว่า อหํ เต ปาฏิโภโค ความว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารถนาให้ท่านนันทะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ จึงได้ทรงรับรองประกันไม่ให้ท่านนันทะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์?
               เพราะพระองค์ เพื่อจะทำอารมณ์ที่ท่านนันทะมีความกำหนัดติดแน่นอยู่ แล้วให้ก้าวไปในอารมณ์ใหม่ จึงสามารถให้ละได้โดยง่าย เพราะเหตุนั้น จึงทรงรับรองประกัน.
               ในอนุปุพพิกถา มีกถาปรารภสวรรค์ เป็นเครื่องชี้ถึงอรรถนี้.
               บทว่า อสฺโสสุํ ได้แก่ ภิกษุทั้งหลายได้ฟังมาอย่างไร? ก็เพราะในเวลานั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อท่านนันทะแสดงวัตรแล้วไปยังที่พักกลางวันของตน ตรัสเรื่องนั้นแก่ภิกษุผู้มาอุปัฏฐาก มีพระประสงค์จะนำความกำหนัดของท่านนันทะในอารมณ์ที่เคยชิน ด้วยอารมณ์ที่จรมา (ใหม่) แล้วจึงนำออกไป กระทำอารมณ์แม้นั้น ให้เป็นเหตุในมรรคพรหมจรรย์ เหมือนบุรุษผู้ฉลาด เอาลิ่มอีกอันหนึ่งตอกลิ่มที่ยังไม่ออกให้ออกไป แล้วเอามือเป็นต้นจับลิ่มนั้นโยกไปมาแล้วดึงออก จึงทรงพระบัญชาว่า มาเถิดภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเรียกภิกษุนันทะด้วยวาทะลูกจ้างและด้วยวาทะว่า ถูกไถ่มา. ภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลอย่างนั้น.
               ฝ่ายอาจารย์บางพวกกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรับปรุงอิทธาภิสังขารดังที่ภิกษุทั้งหลายรู้เนื้อความนั้น.
               บทว่า ภตกวาเทน แปลว่า ด้วยวาทะว่าลูกจ้าง. ก็ผู้ใดทำการงานเพื่อค่าจ้าง ผู้นั้นเขาเรียกว่าลูกจ้าง. ท่านพระนันทะแม้นี้ ประพฤติพรหมจรรย์อันมีการอยู่ร่วมกับนางอัปสรเป็นเหตุ จึงเป็นเหมือนลูกจ้าง เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่า ภตกวาเทน ดังนี้.
               บทว่า อุปกฺกิตกวาเทน ความว่า ผู้ใดซื้ออะไรด้วยกหาปณะเป็นต้น ผู้นั้น เขาเรียกว่าผู้ถูกไถ่มา. แม้ท่านนันทะก็ซื้อพรหมจรรย์ของตน เพราะเหตุแห่งนางอัปสร เพราะฉะนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงเรียกพระนันทะด้วยคำอย่างนี้ว่า ผู้ถูกไถ่มา.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านพระนันทะยังชีวิต กล่าวคือการประพฤติพรหมจรรย์ให้เป็นไปด้วยค่าจ้าง กล่าวคือการอยู่ร่วมกับนางอัปสร ตามพระบัญชาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นเหมือนพระองค์ทรงเลี้ยงด้วยการยังชีวิตให้เป็นไปด้วยค่าจ้างนั้น เพราะฉะนั้น เขาจึงเรียกว่า ผู้อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเลี้ยง.
               อนึ่ง ท่านกระทำการขาย กล่าวคือการอยู่ร่วมกับนางอัปสร ให้เป็นสิ่งอันตนพึงยึดเอา แล้วตั้งอยู่ในพระบัญชาของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงเป็นเหมือนพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงไถ่มา ด้วยการขายนั้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า ผู้อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงไถ่มา.
               บทว่า อฏฺฏิยมาโน ได้แก่ ถูกบีบคั้น คือให้ได้รับความลำบาก.
               บทว่า หรายมาโน ได้แก่ ละอายอยู่.
               บทว่า ชิคุจฺฉมาโน ได้แก่ ติเตียนอยู่โดยเป็นของน่าเกลียด.
               บทว่า เอโก แปลว่า ไม่มีเพื่อน.
               บทว่า วูปกฏฺโฐ ความว่า มีกายและจิตสงัดแล้วจากวัตถุกามและกิเลสกาม.
               บทว่า อปฺปมตฺโต ได้แก่ ไม่ละสติในกัมมัฏฐาน.
               บทว่า อาตาปี ได้แก่ ชื่อว่ายังกิเลสให้เร่าร้อน เพราะให้เร่าร้อน ด้วยความเพียรทางกายและความเพียรทางจิต. ชื่อว่าอาตาปะ เพราะยังกิเลสให้ร้อนทั่ว ได้แก่ ความเพียร.
               บทว่า ปหิตตฺโต แปลว่า มีกายส่งไปแล้ว คือมีอัตภาพสละแล้ว โดยไม่อาลัยในกายและชีวิต หรือมีจิตส่งไปแล้วในพระนิพพาน.
               บทว่า นจิรสฺเสว ได้แก่ ไม่นานนักจากการเริ่มกัมมัฏฐาน.
               บทว่า ยสฺสตฺถาย ตัดเป็น ยสฺส อตฺถาย.
               บทว่า กุลปุตฺตา ได้แก่ กุลบุตร ๒ จำพวก คือกุลบุตรโดยกำเนิด ๑ กุลบุตรโดยมรรยาท ๑. แต่ท่านพระนันทะนี้ เป็นบุตรมีสกุลทั้งสองฝ่าย.
               บทว่า สมฺมเทว ได้แก่ โดยเหตุและโดยการณ์.
               บทว่า อคารสฺมา แปลว่า จากเรือน.
               บทว่า อนคาริยํ แปลว่า การบรรพชา.
               จริงอยู่ กรรมมีกสิกรรมและวณิชยกรรมเป็นต้น เป็นประโยชน์แก่เรือน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าอคาริยะ. กรรมนั้นไม่มีในบรรพชานี้ เพราะฉะนั้น บรรพชาจึงเรียกว่าอนคาริยะ.
               บทว่า ปพฺพชนฺติ แปลว่า เข้าถึง.
               บทว่า ตทนุตฺตรํ ตัดเป็น ตํ อนุตฺตรํ.
               บทว่า พฺรหฺมจริยปริโยสานํ ได้แก่ อรหัตผล อันเป็นที่สุดแห่งมรรคพรหมจรรย์. จริงอยู่ กุลบุตรทั้งหลายย่อมบวชในพระศาสนานี้ เพื่อประโยชน์แก่อรหัตผลนั้น.
               บทว่า ทิฏฺเฐว ธมฺเม คือ ในอัตภาพนั้นเอง.
               บทว่า สยํ อภิญฺญา สจฺฉิกตฺวา ความว่า กระทำให้ประจักษ์ด้วยปัญญาตนเองทีเดียว. อธิบายว่า รู้โดยไม่มีผู้อื่นเป็นเหตุ.
               บทว่า อุปสมฺปชฺช วิหาสิ ได้แก่ ถึงหรือสำเร็จอยู่. ท่านแสดงปัจจเวกขณภูมิ (ของท่านพระนันทะ) วยคำนี้ว่า ท่านพระนันทะเป็นอยู่อย่างนี้แหละ จึงรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว ฯลฯ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ขีณา ชาติ ได้แก่ ก่อนอื่น ชาติที่เป็นอดีตของท่านพระนันทะนั้นสิ้นไปก็หามิได้ เพราะสิ้นไปในอดีตแล้ว ชาติที่เป็นอนาคตของท่านสิ้นไปแล้วก็หามิได้ เพราะยังไม่มา ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ชาติที่เป็นปัจจุบันของท่าน สิ้นไปแล้วก็หามิได้ เพราะยังมีอยู่.
               อนึ่ง ชาติใดอันต่างด้วยขันธ์ ๑ ขันธ์ ๔ และขันธ์ ๕ ในเอกโวการภพ จตุโวการภพและปัญจโวการภพ จะพึงเกิดขึ้น เพราะยังไม่เจริญมรรค ชาตินั้นชื่อว่าสิ้นไปแล้ว เพราะถึงความไม่เกิดขึ้นเป็นธรรมดา ที่ได้เจริญมรรคแล้ว. ท่านพระนันทะนั้นพิจารณาถึงกิเลสที่ละแล้วด้วยมรรคภาวนา จึงรู้ยิ่งถึงชาตินั้น ด้วยการรู้ว่า กรรมแม้มีอยู่ก็ไม่มีปฏิสนธิต่อไป เพราะไม่มีกิเลส.
               บทว่า วุสิตํ ความว่า อยู่แล้ว คืออยู่จบแล้ว ได้แก่กระทำแล้ว ประพฤติแล้ว. อธิบายว่า สำเร็จแล้ว.
               บทว่า พฺรหฺมจริยํ ได้แก่ มรรคพรหมจรรย์. ก็พระเสขะ ๗ จำพวกรวมกับกัลยาณปุถุชน ชื่อว่ากำลังอยู่พรหมจรรย์. พระขีณาสพ ชื่อว่าผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว. เพราะฉะนั้น ท่านพระนันทะนั้น เมื่อพิจารณาการอยู่พรหมจรรย์ของตน จึงรู้ชัดว่า พรหมจรรย์เราอยู่จบแล้ว.
               บทว่า กตํ กรณียํ ความว่า ให้กิจ ๑๖ อย่างสำเร็จโดยปริญญากิจ ปหานกิจ สัจฉิกิริยากิจ และภาวนากิจ ในสัจจะ ๔ ด้วยมรรค ๔.
               จริงอยู่ กัลยาณปุถุชนเป็นต้น ชื่อว่ากำลังทำกิจนั้น. พระขีณาสพ ชื่อว่าทำกรณียกิจเสร็จแล้ว เพราะเหตุนั้น ท่านพระนันทะ เมื่อพิจารณากรณียกิจของตน จึงรู้ชัดว่า กรณียกิจทำแล้ว.
               บทว่า นาปรํ อิตฺถตฺตาย ความว่า รู้ชัดว่า บัดนี้ เราไม่มีเพื่อความเป็นอย่างนี้ต่อไป คือเพื่อกิจ ๑๖ อย่างนี้ หรือเพื่อเจริญเป็นที่สิ้นกิเลส.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า นาปรํ อิตฺถตฺตาย ความว่า รู้ชัดว่า ขันธสันดานต่อไปจากความเป็นอย่างนี้ คือจากขันธสันดานที่เป็นปัจจุบันนี้ คือที่มีประการดังกล่าวนี้ ไม่มีแก่เรา แต่ขันธ์ ๕ เหล่านี้ เรากำหนดรู้แล้วดำรงอยู่ เหมือนต้นไม้ขาดรากแล้ว ขันธ์ ๕ เหล่านั้น จักดับ คือถึงความไม่มีบัญญัติ เพราะดับจริมกจิต เหมือนไฟดับไม่มีเชื้อฉะนั้น.
               บทว่า อญฺญตโร ได้แก่ ท่านพระนันทะเป็นผู้หนึ่ง และได้เป็นพระมหาสาวกผู้หนึ่งในภายในอรหันตสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               บทว่า อญฺญตรา เทวตา ได้แก่ พรหมเทวดาองค์หนึ่งผู้บรรลุมรรค.
               จริงอยู่ พรหมเทวดานั้นรู้ชัดถึงอารมณ์ของพระอเสขะ เพราะตนเองเป็นพระอเสขะ. ก็พระเสขะทั้งหลายย่อมรู้อารมณ์ของพระเสขะนั้นๆ ได้ ส่วนปุถุชนย่อมรู้เฉพาะอารมณ์ปุถุชนของตนเท่านั้น.
               บทว่า อภิกฺกนฺตาย รตฺติยา ได้แก่ เมื่อราตรีผ่านไป. อธิบายว่า เมื่อมัชฌิมยามผ่านไป.
               บทว่า อภิกฺกนฺตวณฺณา แปลว่า มีวรรณะสูงสุดยิ่ง.
               บทว่า เกวลกปฺปํ ได้แก่ โดยรอบไม่มีส่วนเหลือ.
               บทว่า โอภาเสตฺวา ได้แก่ ทำพระเชตวันให้มีแสงสว่างเป็นอันเดียวกัน ด้วยรัศมีของตน เหมือนพระจันทร์และพระอาทิตย์.
               บทว่า เตนุปสงฺกมิ ความว่า พรหมเทวดานั้นทราบว่า ท่านพระนันทะบรรลุพระอรหัตแล้ว จึงเกิดปิติโสมนัสเข้าไปเฝ้า ด้วยหมายใจว่า จักกราบทูลความนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               ในบทว่า อาสวานํ ขยา นี้ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               ชื่อว่าอาสวะ เพราะอรรถว่าไหลไป. อธิบายว่า เป็นไปทางจักษุทวารเป็นต้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอาสวะ เพราะอรรถว่าไหลไปจนถึงโคตรภู หรือจนถึงภวัคคพรหม. อธิบายว่า กระทำธรรมเหล่านี้และโอกาสนี้ให้อยู่ภายในไหลไป.
               ชื่อว่าอาสวะ เพราะอรรถว่า เหมือนน้ำดองมีสุราเป็นต้น เพราะหมักไว้นาน. พึงทราบความที่อาสวะเหล่านั้นหมักอยู่นาน ด้วยพระดำรัสมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เงื่อนต้นของอวิชชาไม่ปรากฏ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอาสวะ เพราะอรรถว่า ถึงคือประสบสงสารทุกข์อันยืดยาว. ก็ในข้อนี้ อรรถต้นย่อมควรในกิเลส อรรถหลังย่อมควรทั้งในกรรม. ก็ไม่ใช่แต่กรรมกิเลสอย่างเดียวเท่านั้น ที่ชื่อว่าอาสวะ โดยที่แท้ อุปัทวะมีประการต่างๆ ก็ชื่อว่าอาสวะ.
               จริงอย่างนั้น กิเลสอันเป็นวิวาทมูล มาโดยชื่อว่าอาสวะ ในพระดำรัสนี้ว่า
               ดูก่อนจุนทะ เราหาได้แสดงธรรมเพื่อสังวรอาสวะอันเป็นไปในปัจจุบันอย่างเดียว ก็หาไม่.
               กรรมที่เป็นไปในภูมิ ๓ และอกุศลธรรมทั้งหมดมาโดยชื่อว่าอาสวะ ในคำเป็นคาถานี้ว่า
                                   ความบังเกิดเป็นเทวดา หรือคนธรรพ์ ผู้เที่ยวไปในเวหา
                         พึงมีแก่เราด้วยอาสวะใด เราพึงถึงความเป็นยักษ์ และเกิดเป็น
                         มนุษย์ด้วยอาสวะใด อาสวะเหล่านั้นของเราสิ้นไปแล้ว เรากำจัด
                         เสียแล้ว กระทำให้ปราศจากเครื่องผูกพัน.

               ก็อุปัทวะมีประการต่างๆ มีการเบียดเบียนผู้อื่น ความเดือดร้อน การฆ่าและการจองจำเป็นต้น และอันเป็นอบายทุกข์เหล่านั้น ชื่อว่าอาสวะ เพราะบาลีว่า เพื่อปิดกั้นอาสวะอันเป็นปัจจุบัน เพื่อกำจัดอาสวะที่เป็นไปในภพหน้า.
               มาในพระวินัย โดยส่วน ๒ คือ เพื่อปิดกั้นอาสวะอันเป็นปัจจุบัน เพื่อกำจัดอาสวะที่เป็นไปในภพหน้า.
               มาในสฬายตนสูตร โดยส่วน ๓ คือ อาวุโส อาสวะ ๓ เหล่านี้ คือ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ. และมาในสุตตันตะอื่นก็เหมือนกัน.
               ในอภิธรรม อาสวะ ๓ นั้นแหละ มาเป็น ๔ กับทิฏฐาสวะ.
               ในนิพเพธิกปริยายสูตร มาเป็น ๕ อย่าง โดยพระดำรัสมีอาทิว่า
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะเพื่อให้สัตว์ไปสู่นรกมีอยู่.

               ในฉักกนิบาตมาเป็น ๖ อย่าง โดยนัยมีอาทิว่า
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะที่จะพึงละด้วยสังวรธรรมมีอยู่.
               ในสัพพาสวปริยายสูตร อาสวะเหล่านั้นนั่นแหละรวมกับทัสสนปหาตัพพธรรม มาเป็น ๗ อย่าง. แต่ในที่นี้ พึงทราบอาสวะ ๔ ตามนัยที่มาในอภิธรรม.
               ก็ในบทว่า ขยา นี้ ตรัสความแตกต่างอาสวะพร้อมด้วยกิจว่าอาสวักขยะ ในประโยคมีอาทิว่า ความสิ้นไป ความแตกไป ความทำลายไปแห่งอาสวะใด. ตรัสความไม่เกิดขึ้นต่อไปแห่งอาสวะว่าอาสวักขยะ ในประโยคมีอาทิว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความสิ้นอาสวะแก่ผู้รู้อยู่เห็นอยู่.
               ตรัสมรรคจิตว่า อาสวักขยะ ในประโยคมีอาทิว่า
                                   ปฐมญาณ (อนัญญาตัญญัสสามิตินทรีย์) ย่อมเกิดขึ้น
                         ในเพราะโสดาปัตติมรรค อันเป็นเครื่องทำกิเลสทั้งหลายให้
                         สิ้นไปแก่พระเสขะผู้ยังต้องศึกษาอยู่ ผู้ปฏิบัติตามทางอันตรง
                         ปัญญาที่รู้ทั่วถึง (อัญญินทรีย์) ย่อมเกิดขึ้นในลำดับแต่ปฐม
                         ญาณนั้น.

               ตรัสผลจิตว่า อาสวักขยะ ในประโยคมีอาทิว่า เป็นสมณะ เพราะความสิ้นอาสวะ.
               ตรัสพระนิพพานว่า อาสวักขยะ ในประโยคมีอาทิว่า
                                   อาสวะทั้งหลาย ย่อมเจริญแก่ผู้ตามเห็นโทษผู้อื่น
                         ผู้สำคัญในการเพ่งโทษเป็นนิจ บุคคลนั้นชื่อว่าเป็นผู้ไกล
                         จากธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะ.

               แต่ในที่นี้ ตรัสความสิ้นไปแห่งอาสวะโดยส่วนเดียว คือความไม่เกิดขึ้นแห่งอาสวะ หรือมรรคจิตว่า อาสวักขยะ.
               บทว่า อนาสวํ ได้แก่ ผู้ละอาสวะโดยประการทั้งปวง ด้วยปฏิปัสสัทธิสัมโพชฌงค์. บทว่า เจโตวิมุตฺตึ ได้แก่ สมาธิอันสัมปยุตด้วยอรหัตผล. บทว่า ปญฺญาวิมุตฺตึ ได้แก่ ปัญญาอันสัมปยุตด้วยอรหัตผล. คำทั้งสอง มีอรรถแสดงภาวะที่สมถะและวิปัสสนาเนื่องกันเป็นคู่ แม้ในผลจิตเหมือนในมรรคจิต. บทว่า ญาณํ ได้แก่ พระสัพพัญญุตญาณ.
               ในลำดับคำของเทวดานั้นแหละ แม้เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงคำนึงทรงพิจารณาว่า เป็นอย่างนั้นหรือหนอ ญาณก็เกิดขึ้นว่า นันทะทำให้เแจ้งพระอรหัตแล้ว.
               จริงอยู่ ท่านพระนันทะถูกภิกษุผู้สหายเย้ยหยันเช่นนั้น จึงเกิดความสังเวชขึ้นว่า ข้อที่เราบวชในพระธรรมวินัยที่ตถาคตตรัสดีแล้วอย่างนี้ ได้กระทำพระศาสดาให้เป็นผู้รับประกัน เพื่อได้นางอัปสรนั้น จัดว่าเราทำกรรมหนักหนอ จึงเข้าไปตั้งหิริและโอตตัปปะ เพียรพยายามบรรลุพระอรหัต แล้วคิดว่า ไฉนหนอ เราพึงให้พระผู้มีพระภาคเจ้าพ้นจากการรับรอง. ท่านเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลความประสงค์ของตนแด่พระศาสดา.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อถ โข อายสฺมา นนฺโท ฯปฯ เอตสฺมา ปฏิสฺสวา ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปฏิสฺสวา ความว่า จากการรับรอง การประกัน คือจากปฏิญญาว่า เราเป็นผู้ประกันเพื่อให้ได้นางอัปสร.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสแก่ท่านว่า เพราะเหตุที่เรารู้ข้อนี้ว่า เธอยินดีพระอรหัตผล ทั้งเทวดาก็บอกแก่เรา ฉะนั้น เราจึงไม่ถูกท่านให้พ้นจากการรับรองในบัดนี้ เพราะท่านพ้นแล้วด้วยการบรรลุพระอรหัตนั้นเอง.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวคำมีอาทิว่า ยเทว โข เต นนฺท ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยเทว ตัดเป็น ยทา เอว.
               บทว่า เต แก้เป็น ตว แปลว่า ของท่าน.
               บทว่า มุตฺโต แปลว่า พ้นแล้ว.
               ท่านกล่าวคำอธิบายไว้ดังนี้ว่า ในกาลใดแล จิตของท่านพ้นจากอาสวะ ในกาลนั้น คือในลำดับนั้นเอง เราพ้นจากการรับรองนั้น. ฝ่ายท่านพระนันทะ ในเวลาเจริญวิปัสสนานั่นเอง เกิดความอุตสาหะขึ้นว่า เราจักข่มการไม่สังวรอินทรีย์ ที่เราอาศัยถึงประการอันแปลกนี้เท่านั้นด้วยดี มีหิริและโอตตัปปะอย่างแก่กล้า และได้ถึงปฏิปทาอย่างอุกฤษฎ์ในอินทรีย์สังวร เพราะได้ทำบุญญาธิการไว้ในเรื่องนั้น.
               สมดังพระดำรัสที่ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าท่านนันทะพึงตรวจดูทิศตะวันออกไซร้ ท่านประมวลจิตทั้งหมดมาดูทิศตะวันออก ด้วยคิดว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เราเหลียวดูทิศตะวันออก อภิชฌา โทมนัส อกุศลธรรมที่ลามก ไม่พึงติดตาม ดังนั้น ท่านจึงมีสัมปชัญญะในข้อนั้น
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่า ท่านนันทะพึงตรวจดูทิศตะวันตก ฯลฯ ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศเบื้องสูง ทิศเบื้องต่ำ ทิศเฉียงไซร้ เธอประมวลจิตทั้งหมด เหลียวดูทิศเฉียงนั้น ด้วยคิดว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เรา ฯลฯ มีสัมปชัญญะ.

               ด้วยเหตุนั้น พระศาสดาจึงสถาปนาท่านพระนันทะนั้นไว้ในเอตทัคคะว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้สาวกของเราผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ท่านนันทะเป็นเลิศ.
               บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า ทรงทราบโดยประการทั้งปวงถึงความนั้น กล่าวคือการที่ท่านพระนันทะทำอาสวะทั้งปวงให้สิ้น แล้วถึงความเป็นผู้คงที่ในโลกธรรมมีสุขเป็นต้น.
               บทว่า อิมํ อุทานํ ความว่า ทรงเปล่งอุทานนี้ อันประกาศความนั้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยสฺส ติณฺโณ กามปงฺโก ความว่า เปือกตมคือทิฏฐิทั้งหมด อันพระอริยบุคคลใดข้ามแล้ว ด้วยสะพานคืออริยมรรค หรือเปือกตมคือสงสารนั่นเอง อันพระอริยบุคคลใดข้ามแล้ว ด้วยการถึงฝั่ง คือพระนิพพาน.
               บทว่า มทฺทิโต กามกณฺฏโก ความว่า กิเลสกามทั้งหมด คือว่าหนาม คือกามทั้งหมดอันได้นามว่า กามกัณฏกะ เพราะเสียดแทงเหล่าสัตว์ อันพระอริยบุคคลใดย่ำยีแล้ว คือหักเสียแล้ว ทำลายแล้วอย่างสิ้นเชิง ด้วยท่อนไม้คืออรหัตมรรคญาณ.
               บทว่า โมหกฺขยํ อนุปฺปตฺโต ความว่า ก็ท่านพระนันทะผู้เป็นอย่างนี้ บรรลุความสิ้นโมหะ โดยธรรมสัมโมหะทั้งหมดอันมีทุกข์เป็นต้น เป็นอารมณ์ให้สิ้นไป คือบรรลุพระอรหัตผลและพระนิพพาน.
               บทว่า สุขทุกฺเขสุ น เวธติ ส ภิกฺขุ ความว่า ภิกษุผู้ทำลายกิเลสนั้น ย่อมไม่หวั่น ไม่ไหวในสุขที่เกิดขึ้นเพราะประจวบกันอิฏฐารมณ์ และในทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะประจวบกับอนิฏฐารมณ์ คือไม่ถึงความเปลี่ยนแปลงแห่งจิตอันมีสุขทุกข์นั้นเป็นเหตุ.
               ก็บทว่า สุขทุกฺเขสุ นี้ เป็นเพียงเทศนา.
               พึงทราบว่า ท่านพระนันทะไม่หวั่นไหวในโลกธรรมแม้ทั้งหมด.

               จบอรรถกถานันทสูตรที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน นันทวรรคที่ ๓ นันทสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 66อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 67อ่านอรรถกถา 25 / 71อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=2066&Z=2161
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=26&A=3949
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=26&A=3949
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๘  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :