ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 93อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 97อ่านอรรถกถา 25 / 100อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน เมฆิยวรรคที่ ๔ นาคสูตร

               อรรถกถานาคสูตร               
               นาคสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า โกสมฺพิยํ ความว่า ใกล้นครอันได้นามอย่างนี้ว่า โกสัมพี เพราะสร้างไว้ในที่ที่กุสุมพฤาษีอยู่. บทว่า โฆสิตาราเม ได้แก่ ในอารามที่โฆสิตเศรษฐีสร้างไว้.
               บทว่า ภควา อากิณฺโณ วิหรติ ได้แก่ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงรับความคับแคบ ประทับอยู่.
               ถามว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้ามีความคับแคบหรือมีความคลุกคลี?
               ตอบว่า ไม่มีเพราะใครๆ ไม่สามารถจะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยไม่ปรารถนา.
               จริงพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย เข้าเฝ้าได้โดยยากก็เพราะไม่ทรงติดอยู่ในที่ทั้งปวง. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยความอนุเคราะห์ในหมู่สัตว์ ด้วยทรงแสวงหาประโยชน์เกื้อกูล เพื่อจะรื้อถอนหมู่สัตว์ออกจากโอฆะ ๔ โดยสมควรแก่ปฏิญญาว่า เราหลุดพ้นแล้ว จักให้หมู่สัตว์หลุดพ้นด้วย จึงทรงรับให้บริษัททั้ง ๘ เข้าเฝ้ายังสำนักของพระองค์ตลอดเวลา. ก็พระองค์เองอันพระมหากรุณากระตุ้นเตือน เป็นกาลัญญู เสด็จเข้าไปในบริษัทนั้น. ข้อนี้ อันพระพุทธเจ้าทุกพระองค์เคยประพฤติกันมา. นี้ท่านประสงค์ว่า การอยู่เกลื่อนกล่นในที่นี้.
               แต่ในที่นี้ เมื่อภิกษุชาวเมืองโกสัมพีเกิดทะเลาะกัน พระศาสดาทรงนำเรื่องของพระเจ้าโกศลทรงพระนามว่าทีฆีติ มาประทานพระโอวาท โดยนัยมีอาทิว่า เวรในกาลไหนๆ ในโลกนี้ ย่อมไม่สงบด้วยเวร.๑- วันนั้น เมื่อภิกษุเหล่านั้นกระทำการทะเลาะกันนั่นแล จนราตรีสว่าง. แม้ในวันที่สอง พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสเรื่องนั้นเหมือนกัน. แม้ในวันนั้น ภิกษุเหล่านั้นก็ทะเลาะกันนั่นเอง จนราตรีสว่าง. แม้ในวันที่สาม พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงแสดงเรื่องนั้นเหมือนกัน.
____________________________
๑- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๑๑

               ลำดับนั้น ภิกษุรูปหนึ่งกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้มีความขวนขวายน้อย จงประกอบด้วยการอยู่เป็นสุขในปัจจุบันเถิด พวกข้าพระองค์จักปรากฏด้วยความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง และด้วยความวิวาทนี้.
               พระศาสดาทรงพระดำริว่า โมฆบุรุษเหล่านี้มีจิตถูกความบาดหมางเป็นต้นครอบงำแล้ว บัดนี้ เราไม่อาจจะให้พวกเธอตกลงกันได้ และในที่นี้ ก็ไม่มีใครจะยอมใคร ถ้ากระไร เราก็จะพึงเที่ยวอยู่แต่ผู้เดียว เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุเหล่านี้ก็จักงดการทะเลาะกัน. เพราะกระทำการอยู่ในวิหารแห่งเดียวกันกับภิกษุผู้ก่อการทะเลาะกันเหล่านั้น และการที่พวกอุบาสกเป็นต้นเข้าไปเฝ้าโดยไม่มีผู้แนะนำให้เป็นอยู่เกลื่อนกล่น ด้วยประการฉะนี้ ท่านจึงกล่าวว่า เตน โข ปน สมเยน ภควา อากิณฺโณ วิหรติ ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่เกลื่อนกล่น ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทุกฺขํ ได้แก่ ไม่ใช่สุข อธิบายว่า ไม่น่าปรารถนา เพราะมีจิตไม่น่ายินดี. ด้วยเหตุนั้นนั่นแล ท่านจึงกล่าวว่า น ผาสุ วิหรามิ เราอยู่ไม่ผาสุก. บทว่า วูปกฏฺโฐ แปลว่า หลีกออก คืออยู่ในที่ไกล.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงพระดำริอย่างนั้นแล้ว จึงทรงชำระพระวรกายแต่เช้าตรู่ เสด็จเที่ยวบิณฑบาต ในกรุงโกสัมพี ไม่ตรัสบอกใครๆ เสด็จไปแต่ผู้เดียว ไม่มีเพื่อน ประทับอยู่ที่ควงไม้ภัททสาละ ณ ปาลิไลยกะไพรสณฑ์ในโกศลรัฐ. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อถ โข ภควา ปุพฺพณฺหสมยํ ฯเปฯ ภทฺทสาลมูเล ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สามํ แปลว่า ด้วยพระองค์เอง. บทว่า สํสาเมตฺวา แปลว่า เก็บงำ. พึงนำบทว่า สามํ มาประกอบเข้า แม้ในบทว่า ปตฺตจีวรมาทาย นี้. บทว่า อุปฏฺฐาเก ได้แก่ ไม่ได้บอกลาพวกอุปัฎฐาก มีโฆสิตเศรษฐีเป็นต้น ชาวกรุงโกสัมพี และท่านพระอานนท์ ผู้เป็นอัครอุปัฏฐากในวิหาร.
               เมื่อพระศาสดาเสด็จไปแล้วอย่างนี้ ภิกษุ ๕๐๐ รูปกล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า อานนท์ผู้มีอายุ พระศาสดาเสด็จไปแต่พระองค์เดียว พวกเราจักติดตาม. ท่านพระอานนท์ห้ามว่า อาวุโส ในคราวที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเก็บงำเสนาสนะด้วยพระองค์เองแล้วทรงถือบาตรและจีวร ไม่ทรงบอกลาพวกอุปัฏฐากและไม่ทรงบอกเล่าภิกษุสงฆ์ เสด็จไปไม่มีเพื่อน การเสด็จไปโดยพระองค์เดียว เป็นพระอัธยาศัยของพระผู้มีพระภาคเจ้า ธรรมดาว่า พระสาวกควรปฏิบัติให้เหมาะสมแก่พระอัธยาศัยของพระศาสดา เพราะฉะนั้น ไม่ควรตามเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าไปในวันเหล่านี้ ดังนี้แม้ตนเองก็ไม่ตามเสด็จ.
               บทว่า อนุปุพฺเพน แปลว่า โดยลำดับ.
               พระศาสดาเสด็จจาริกไปตามลำดับคามและนิคม ทรงพระดำริว่า เราจักเยี่ยมภิกษุผู้เที่ยวอยู่แต่ผู้เดียวก่อน ดังนี้แล้ว จึงเสด็จไปยังพาลกโลณการามแล้วทรงแสดงอานิสงส์ในการเที่ยวอยู่แต่ผู้เดียวแก่ท่านภคุเถระในที่นั้น ตลอดปัจฉาภัตร และตลอดราตรี ๓ ยาม ในวันรุ่งขึ้น มีท่านภคุเถระเป็นปัจฉาสมณะเสด็จเที่ยวไปบิณฑบาต ให้ท่านภคุเถระกลับ ณ ที่ตรงนั้นนั่นแล แล้วทรงพระดำริว่าจักเยี่ยมกุลบุตรทั้ง ๓ คนผู้อยู่โดยความพร้อมเพรียงกัน จึงเสด็จไปยังปาจีนวังสมิคทายวันแล้ว ทรงแสดงอานิสงส์ในการที่กุลบุตรแม้เหล่านั้นผู้อยู่โดยความพร้อมเพรียงกัน ตลอดคืนยังรุ่ง ทรงให้กุลบุตรแม้เหล่านั้นกลับ ณ ที่ตรงนั้นนั่นแล เสด็จถึงปาลิไลยคามแต่พระองค์เดียว.
               ชาวปาลิไลยคามพากันต้อนรับถวายทานแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วสร้างบรรณศาลาถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ในรักขิตวันไพรสณฑ์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลปาลิไลยคาม แล้วทูลอาราธนาให้ประทับอยู่ด้วยคำว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงประทับอยู่ในที่นี้เถิด. ก็ในรักขิตวันนั้น มีต้นสาละต้นหนึ่งน่าพึงใจ อันได้นามว่าภัททสาละ. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยบ้านนั้น ประทับอยู่ ณ โคนไม้นั้นใกล้บรรณศาลา ในไพรสณฑ์. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปาลิเลยฺยเก วิหรติ รกฺขิตวนสณฺเฑ ภทฺทสาลมูเล ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า หตฺถินาโค ได้แก่ พญาช้าง คือจ่าโขลง. บทว่า หตฺถิกุลเภหิ แปลว่า ลูกช้าง. บทว่า หตฺถิจฺฉาเปหิ ได้แก่ ลูกช้างรุ่นซึ่งยังดื่มกินน้ำนม. ที่เขาเรียกว่า ภิงฺกา ดังนี้ก็มี. บทว่า ฉินฺนคฺคานิ ความว่า เคี้ยวกินหญ้าที่มีปลายขาด คือคล้ายตอ ที่เหลือจากช้างเป็นต้นเหล่านั้นล่วงหน้าไปกินเสียแล้ว. บทว่า โอภคฺโคภคฺคํ ได้แก่ รุกขาวัยวะ คือกิ่งไม้ที่พญาช้างนั้นหักตกลงจากที่สูง. บทว่า อสฺส สาขาภงฺคํ ความว่า ช้างเหล่านั้นเคี้ยวกินรุกขาวัยวะที่หัก คือกิ่งไม้อันเป็นของพญาช้างนั้น. บทว่า อาวิลานิ ความว่า ย่อมดื่มน้ำที่ขุ่น คือที่เจือด้วยเปือกตม เพราะถูกช้างเหล่านั้นลงไปดื่มก่อนจึงทำให้ขุ่น. บทว่า โอคาหา แปลว่า จากท่า. บาลีว่า โอคาหํ ดังนี้ก็มี. บทว่า อสฺส ประกอบกับ หตฺถินาคสฺส.
               บทว่า อุปนิฆํสนฺติโย แปลว่า เสียดสีอยู่. พญาช้างนั้น แม้จะถูกพวกช้างเสียดสี ก็ไม่โกรธ เพราะความที่ตนมีใจกว้างขวาง ด้วยเหตุนั้น นางช้างเหล่านั้นจึงพากันเสียดสีพญาช้างนั่นแหละ.
               บทว่า ยูถา แปลว่า จากโขลงช้าง.
               บทว่า เยน ภควา เตนุปสงฺกมิ ความว่า ได้ยินว่า พญาช้างนั้นเบื่อหน่ายที่จะอยู่ในโขลง จึงเข้าไปยังไพรสณฑ์นั้น เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ในที่นั้น เป็นสัตว์มีใจเย็น เหมือนเอาน้ำพันหม้อมาดับความร้อน มีจิตเลื่อมใสได้อยู่ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า. ตั้งแต่นั้นมา พญาช้างนั้นก็ตั้งอยู่ในข้อวัตรปฏิบัติ เอากิ่งไม้กวาดรอบๆ ต้นภัททสาละและบรรณศาลา ให้ปราศจากของเขียว ถวายน้ำบ้วนพระโอษฐ์ นำน้ำสำหรับสรงมาถวาย ถวายไม้สำหรับชำระพระทนต์แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า นำผลไม้มีรสอร่อยมาจากป่าแล้วน้อมถวายแด่พระศาสดา. พระศาสดาทรงเสวยผลไม้เหล่านั้น. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ได้ยินว่า ในรักขิตวันนั้น พญาช้างนั้นกระทำพื้นที่ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ให้ปราศจากของเขียว และจัดตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้เพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยงวง ดังนี้เป็นต้น.
               พญาช้างนั้นเอางวงขนฟืนมาสีกันและกันเข้าให้เกิดเป็นไฟ ทำให้ไม้ลุกโพลง ทำก้อนหินในที่นั้นให้ร้อน เอาไม้กลิ้งก้อนหินนั้นมาโยนลงไปในแอ่งน้ำ รู้ว่าน้ำร้อนแล้ว จึงเข้าไปในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ยืนอยู่. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า พญาช้างปรารถนา จึงสมกับจิตที่ประเสริฐ คือสมกับจิตของพระพุทธเจ้านั้น เพราะคำอธิบาย จะให้เราสรงน้ำ จึงเสด็จไปในที่นั้นแล้ว ทำการสรงน้ำ.
               แม้ในน้ำดื่มก็นัยนี้เหมือนกัน. ก็เมื่อน้ำดื่มนั้นเกิดความเย็นขึ้นแล้ว ก็เข้าไปเฝ้าที่ท่านหมายกล่าวไว้ว่า ก็พญาช้างจัดตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้ถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยงวง.
               บทมีอาทิว่า อถ โข ภควโต รโหคตสฺส เป็นบทแสดงการที่มหานาคทั้ง ๒ พิจารณาถึงความสุขอันเกิดแต่วิเวก. คำนั้น มีอรรถดังที่กล่าวไว้แล้วนั่นแล.
               บทว่า อตฺตโน จ ปวิเวกํ วิทิตฺวา ความว่า ทรงทราบกายวิเวกที่ได้ด้วยความไม่เกลื่อนกล่นด้วยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง. ฝ่ายจิตวิเวกและอุปธิวิเวกย่อมมีแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าทุกกาลทีเดียว.
               บทว่า อิมํ อุทานํ ความว่า ทรงเปล่งอุทานนี้อันแสดงถึงความที่พระองค์ และพญาช้างมีอัธยาศัยเสมอกัน ในความยินดียิ่งในความสงัด.
               ในข้อนั้นมีความสังเขปดังต่อไปนี้
               จิตของพญาช้างผู้มีงางอนนี้ คือมีงางอนเช่นกับงอนรถ สมกัน คือเทียบกันได้กับจิตที่ประเสริฐของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ.
               หากมีคำถามสอดเข้ามาว่า สมกันได้อย่างไร?
               เฉลยว่า เพราะผู้เดียวยินดีอยู่ในป่า อธิบายว่า เพราะเหตุที่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐทรงดำริว่า เมื่อก่อนเราแลอยู่เกลื่อนกล่น ดังนี้ จึงทรงรังเกียจการอยู่เกลื่อนกล่นในครั้งก่อน เมื่อจะทรงพอกพูนวิเวก บัดนี้จึงเป็นผู้ผู้เดียว คือไม่มีเพื่อน ยินดี คืออภิรมย์ ในป่า คือในราวป่า ฉันใด
               แม้พญาช้างนี้ก็ฉันนั้น เมื่อก่อนรังเกียจการอยู่เกลื่อนกล่นกับพวกช้างเป็นต้นของมัน เมื่อจะพอกพูนวิเวก บัดนี้จึงเป็นช้างโดดเดี่ยว คือไม่มีเพื่อนยินดี คือเพลิดเพลินอยู่โดดเดี่ยวในป่า ฉะนั้น
               จิตของพญาช้างนั้นดังว่ามานี้ จึงเป็นเช่นเดียวกันกับด้วยความยินดีในเอกีภาพ.

               จบอรรถกถานาคสูตรที่ ๕               
               -------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน เมฆิยวรรคที่ ๔ นาคสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 93อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 97อ่านอรรถกถา 25 / 100อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=2662&Z=2711
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=26&A=5919
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=26&A=5919
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๘  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :