ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 11อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 12อ่านอรรถกถา 25 / 13อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท อัปปมาทวรรคที่ ๒

หน้าต่างที่ ๗ / ๙.

               ๗. เรื่องท้าวสักกะ [๒๑]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อทรงอาศัยเมืองเวสาลี ประทับอยู่ในกูฏาคารศาลา๑- ทรงปรารภท้าวสักกเทวราช ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า “อปฺปมาเทน มฆวา” เป็นต้น.
____________________________
๑- ศาลาดุจเรือนยอด.

               เหตุที่ท้าวสักกะได้พระนามต่างๆ               
               ความพิสดารว่า เจ้าลิจฉวีนามว่า มหาลิ อยู่ในเมืองเวสาลี. พระองค์ทรงสดับเทศนาในสักกปัญหสูตร๑- ของพระตถาคตแล้ว ทรงดำริว่า “พระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมตรัสสมบัติของท้าวสักกะไว้มากมาย, พระองค์ทรงเห็นแล้วจึงตรัส หรือไม่ทรงเห็นแล้วตรัสหนอแล? ทรงรู้จักท้าวสักกะหรือไม่หนอ? เราจักทูลถามพระองค์.”
____________________________
๑- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๒๔๗.

               ครั้งนั้นแล เจ้าลิจฉวีนามว่า มหาลิ เข้าไปเฝ้าถึงที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่, ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า นั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง. เจ้ามหาลิลิจฉวี ครั้นนั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่งแล้วแล ได้กราบทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท้าวสักกะผู้จอมแห่งเทพทั้งหลาย พระองค์ทรงเห็นแล้วแลหรือ?”
               พระผู้มีพระภาคเจ้า. มหาลิ ท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทพทั้งหลาย อาตมภาพเห็นแล้วแล.”
               มหาลิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ท้าวสักกะนั้นจักเป็นท้าวสักกะปลอมเป็นแน่, เพราะว่า ท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทพทั้งหลาย บุคคลเห็นได้โดยยาก พระเจ้าข้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า. มหาลิ อาตมภาพรู้จักทั้งตัวท้าวสักกะ ทั้งธรรมที่ทำให้เป็นท้าวสักกะ ก็ท้าวสักกะถึงความเป็นท้าวสักกะ เพราะสมาทานธรรมเหล่าใด, อาตมภาพก็รู้จักธรรมเหล่านั้นแล.
               มหาลิ ท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทพทั้งหลาย ในกาลก่อนเป็นมนุษย์ ได้เป็นมาณพชื่อมฆะ, เพราะฉะนั้น เขาจึงเรียกว่า ‘ท้าวมฆวา’;
               มหาลิ ท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทพทั้งหลาย ในกาลก่อนเป็นมนุษย์ ได้ให้ทานก่อน (เขา), เพราะฉะนั้น เขาจึงเรียกว่า ‘ท้าวปุรินททะ’;
               มหาลิ ท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทพทั้งหลาย ในกาลก่อนเป็นมนุษย์ ได้ให้ทานโดยเคารพ, เพราะฉะนั้น เขาจึงเรียกว่า ‘ท้าวสักกะ’;
               มหาลิ ท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทพทั้งหลาย ในกาลก่อนเป็นมนุษย์ ได้ให้ที่พักอาศัย, เพราะฉะนั้น เขาจึงเรียกว่า ‘ท้าววาสวะ’;
               มหาลิ ท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทพทั้งหลาย ทรงดำริข้อความตั้งพันได้โดยครู่เดียว, เพราะฉะนั้น เขาจึงเรียกว่า ‘สหัสสักขะ’๑-;
               มหาลิ นางอสุรกัญญาชื่อสุชาดา เป็นพระปชาบดีของท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทพทั้งหลาย, เพราะฉะนั้น เขาจึงเรียกว่า ‘ท้าวสุชัมบดี’;
               มหาลิ ท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งจอมเทพทั้งหลาย เสวยราชสมบัติเป็นอิสริยาธิปัตย์แห่งเทพทั้งหลายชั้นดาวดึงส์, เพราะฉะนั้น เขาจึงเรียกว่า ‘เทวานมินทะ’;
               มหาลิ ท้าวสักกะถึงความเป็นท้าวสักกะแล้ว เพราะได้สมาทานวัตตบท ๗ ใด, วัตตบท ๗ นั้นได้เป็นอันท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทพทั้งหลาย ซึ่ง (ครั้ง) เป็นมนุษย์ในกาลก่อน สมาทานให้บริบูรณ์แล้ว;
               วัตตบท ๗ ประการเป็นไฉน? คือ
               เราพึงเป็นผู้เลี้ยงมารดาบิดาตลอดชีวิต;
               พึงเป็นผู้มีปกติประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูลตลอดชีวิต;
               พึงเป็นผู้พูดอ่อนหวานตลอดชีวิต; พึงเป็นผู้ไม่พูดส่อเสียดตลอดชีวิต;
               พึงมีจิตปราศจากมลทิน คือ ความตระหนี่ มีเครื่องบริจาคอันสละแล้ว มีฝ่ามืออันล้างแล้ว๒- ยินดีแล้วในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน พึงอยู่ครอบครองเรือนตลอดชีวิต;
               พึงเป็นผู้กล่าวคำสัตย์ตลอดชีวิต;
               พึงเป็นผู้ไม่โกรธตลอดชีวิต;
               ถ้าความโกรธพึงเกิดแก่เราไซร้ เราพึงหักห้ามมันเสียพลันทีเดียว ดังนี้,
               มหาลิ ท้าวสักกะถึงความเป็นท้าวสักกะ เพราะได้สมาทานวัตตบท ๗ ใด, วัตตบท ๗ นั้น ได้เป็นของท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทพทั้งหลาย (ครั้ง) เกิดเป็นมนุษย์ในกาลก่อน สมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ฉะนี้แล.
____________________________
๑- สหสฺสกฺโข แปลว่า ผู้เห็นอรรถตั้งพัน.
๒- หมายความว่า เตรียมหยิบสิ่งของให้ทาน.

               (พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสคำไวยากรณ์นี้แล้ว, ได้ตรัสพระพุทธพจน์ภายหลังว่า)
                                   ทวยเทพชั้นดาวดึงส์ เรียกนรชนผู้เลี้ยงมารดาบิดา
                         มีปกติประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล กล่าวถ้อยคำ
                         ไพเราะ อ่อนหวาน ละวาจาส่อเสียด ประกอบในอันกำจัด
                         ความตระหนี่ มีวาจาสัตย์ ข่มความโกรธได้ นั้นแลว่า
                         สัปบุรุษ.๓-

____________________________
๓- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๙๑๒-๙๑๕.

               ท้าวสักกะบำเพ็ญกุศลเมื่อเป็นมฆมาณพ               
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “มหาลิ กรรมนี้ท้าวสักกะทำไว้ในคราวเป็นมฆมาณพ” ดังนี้แล้ว อันมหาลิลิจฉวีใคร่จะทรงสดับข้อปฏิบัติของท้าวสักกะนั้นโดยพิสดาร จึงทูลถามอีกว่า “มฆมาณพปฏิบัติอย่างไร? พระเจ้าข้า” จึงตรัสว่า “ถ้ากระนั้น จงฟังเถิดมหาลิ” ดังนี้แล้ว
               ทรงนำอดีตนิทานมา (ตรัสว่า)

               เรื่องมฆมาณพ               
               ในอดีตกาล มาณพชื่อว่ามฆะ ในอจลคามในแคว้นมคธ ไปสู่สถานที่ทำงานในบ้าน คุ้ยฝุ่นด้วยปลายเท้าในที่แห่งตนยืนแล้ว ได้ทำให้เป็นรัมณียสถาน๑- แล้วพักอยู่. อีกคนหนึ่งเอาแขนผลักเขา นำออกจากที่นั้นแล้ว ได้พักอยู่ในที่นั้นเสียเอง. เขาไม่โกรธต่อคนนั้น ได้กระทำที่อื่นให้เป็นรัมณียสถานแล้วพักอยู่ คนอื่นก็เอาแขนผลักเขานำออกมาจากที่นั้นแล้ว ได้พักอยู่ในที่นั้นเสียเอง. เขาไม่โกรธแม้ต่อคนนั้น ได้กระทำที่อื่นให้เป็นรัมณียสถานแล้วก็พักอยู่. บุรุษทั้งหลายที่ออกไปแล้วๆ จากเรือน ก็เอาแขนผลักเขา นำออกจากสถานที่เขาชำระแล้วๆ ด้วยประการฉะนี้.
               เขาคิดเสียว่า “ชนเหล่านั้นแม้ทั้งหมด เป็นผู้ได้รับสุขแล้ว, กรรมนี้พึงเป็นกรรมให้ความสุขแก่เรา” ดังนี้แล้ว
____________________________
๑- ที่น่ายินดี.

               วันรุ่งขึ้น ได้ถือเอาจอบไปทำที่เท่ามณฑลแห่งลานให้เป็นรัมณียสถานแล้ว. ปวงชนได้ไปพักอยู่ในที่นั้นนั่นแล. ครั้นในฤดูหนาว เขาได้ก่อไฟให้คนเหล่านั้น, ในฤดูร้อน ได้ให้น้ำ. ต่อมา เขาคิดว่า “ชื่อรัมณียสถาน เป็นที่รักของคนทั้งปวง, ชื่อว่าไม่เป็นที่รักของใครๆ ไม่มี, จำเดิมแต่นี้ไป เราควรเที่ยวทำหนทางให้ราบเรียบ” ดังนี้แล้ว จึงออกไป (จากบ้าน) แต่เช้าตรู่ทำหนทางให้ราบเรียบ เที่ยวตัดรานกิ่งไม้ที่ควรตัดรานเสีย.

               มฆมาณพได้สหาย ๓๓ คน               
               ภายหลัง บุรุษอีกคนหนึ่งเห็นเขาแล้ว กล่าวว่า “ทำอะไรเล่า? เพื่อน.”
               มฆะ. ฉันทำหนทางเป็นที่ไปสวรรค์ของฉันละซิ, เพื่อน.
               บุรุษ. ถ้ากระนั้น แม้ฉันก็จะเป็นเพื่อนของท่าน.
               มฆะ. จงเป็นเถอะเพื่อน ธรรมดาสวรรค์ย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนเป็นอันมาก.
               ตั้งแต่นั้นมา ก็ได้เป็น ๒ คนด้วยกัน. แม้ชายอื่นอีก เห็นเขาทั้งสองแล้ว ถามเหมือนอย่างนั้นนั่นแล พอทราบแล้ว ก็เป็นสหายของคนทั้งสอง แม้คนอื่นๆ อีกก็ได้ทำอย่างนั้น รวมคนทั้งหมดจึงเป็น ๓๓ คน ด้วยประการฉะนี้.

               สหาย ๓๓ คนถูกหาว่าเป็นโจร               
               ชนเหล่านั้นแม้ทั้งหมด มีมือถือวัตถุมีจอบเป็นต้น กระทำหนทางให้ราบเรียบไปถึงที่ประมาณ ๑ โยชน์ และ ๒ โยชน์.
               นายบ้านเห็นชายเหล่านั้นแล้วคิดว่า “มนุษย์เหล่านี้ประกอบแล้วในฐานะที่ไม่ควรประกอบ, แม้ถ้าชนเหล่านี้ พึงนำวัตถุทั้งหลายมีปลาและเนื้อเป็นต้นมาจากป่า, หรือทำสุราแล้วดื่ม, หรือทำกรรมเช่นนั้นอย่างอื่น, เราพึงได้ส่วนอะไรๆ บ้าง.”
               ลำดับนั้น นายบ้านจึงให้เรียกพวกนั้นมาถามว่า “พวกแกเที่ยวทำอะไรกัน?”
               ชนเหล่านั้น. ทำทางสวรรค์ ขอรับ.
               นายบ้าน. ธรรมดาผู้อยู่ครองเรือนทั้งหลาย จะทำอย่างนั้นไม่ควร, ควรนำวัตถุทั้งหลายมีปลาและเนื้อเป็นต้นมาจากป่า ควรทำสุราแล้วดื่มและควรทำการงานทั้งหลายมีประการต่างๆ.
               ชนเหล่านั้นคัดค้านคำของนายบ้านนั้นเสีย. แม้ถูกเขาว่ากล่าวซ้ำๆ อยู่ ก็คงคัดค้านร่ำไป. เขาโกรธแล้ว คิดว่า “เราจักให้พวกมันฉิบหาย.” จึงไปยังสำนักของพระราชา กราบทูลว่า “ข้าพระองค์เห็นพวกโจรเที่ยวไป ด้วยการคุมกันเป็นพวก พระเจ้าข้า” เมื่อพระราชาตรัสว่า “เธอจงไป, จงจับพวกมันแล้วนำมา”, ได้ทำตามรับสั่งแล้ว แสดงแก่พระราชา.
               พระราชามิทันได้ทรงพิจารณา ทรงบังคับว่า “พวกท่านจงให้ช้างเหยียบ.”

               ช้างไม่เหยียบเพราะอานุภาพแห่งเมตตา               
               มฆมาณพได้ให้โอวาทแก่ชนที่เหลือทั้งหลายว่า “สหายทั้งหลาย เว้นเมตตาเสีย ที่พึ่งอย่างอื่นของพวกเรา ไม่มี, ท่านทั้งหลายไม่ต้องทำความโกรธในใครๆ จงเป็นผู้มีจิตเสมอเทียวด้วยเมตตาจิต ในพระราชา ในนายบ้าน ในช้างที่จะเหยียบ และในคน” ชนเหล่านั้นก็ได้ทำอย่างนั้น.
               ลำดับนั้น ช้างไม่อาจเข้าไปใกล้ได้ เพราะอานุภาพแห่งเมตตาของชนเหล่านั้น. พระราชาทรงสดับความนั้นแล้ว ตรัสว่า “ช้างมันเห็นคนมาก จึงไม่อาจเหยียบได้, ท่านทั้งหลายจงไป, เอาเสื่อลำแพนคลุมเสียแล้วจึงให้มันเหยียบ.”
               ช้างอันเขาเอาเสื่อลำแพนคลุมชนเหล่านั้นไสเข้าไปเหยียบ ก็ถอยกลับไปเสียแต่ไกลเทียว.
               พระราชาทรงสดับประพฤติเหตุนั้นแล้ว ทรงดำริว่า “ในเรื่องนี้ ต้องมีเหตุ”, แล้วรับสั่งให้เรียกชนเหล่านั้นมาเฝ้า ตรัสถามว่า “พ่อทั้งหลาย พวกเจ้าอาศัยเรา ไม่ได้อะไรหรือ?”
               พวกมฆะ. นี่อะไร? พระเจ้าข้า.
               พระราชา. ข่าวว่า พวกเจ้าเป็นโจรเที่ยวไปในป่า ด้วยการคุมกันเป็นพวก.
               พวกมฆะ. ใครกราบทูลอย่างนั้น พระเจ้าข้า?
               พระราชา. นายบ้าน, พ่อ.
               พวกมฆะ. ขอเดชะ พวกข้าพระองค์ไม่ได้เป็นโจร, แต่พวกข้าพระองค์ชำระหนทางไปสวรรค์ของตนๆ จึงทำกรรมนี้และกรรมนี้, นายบ้านชักนำพวกข้าพระองค์ในการทำอกุศล ประสงค์จะให้พวกข้าพระองค์ผู้ไม่ทำตามถ้อยคำของตนฉิบหาย โกรธแล้ว จึงกราบทูลอย่างนั้น.

               ชน ๓๓ คนได้รับพระราชทาน               
               ทีนั้น พระราชาทรงสดับถ้อยคำของชนเหล่านั้น เป็นผู้ถึงความโสมนัส ตรัสว่า “พ่อทั้งหลาย สัตว์ดิรัจฉานนี้ ยังรู้จักคุณของพวกเจ้า, เราเป็นมนุษย์ ก็ไม่อาจรู้จัก, จงอดโทษแก่เราเถิด”, ก็แล ครั้นตรัสอย่างนั้นแล้ว ได้พระราชทานนายบ้านพร้อมทั้งบุตรและภริยาให้เป็นทาส, ช้างตัวนั้นให้เป็นพาหนะสำหรับขี่, และบ้านนั้นให้เป็นเครื่องใช้สอยตามสบายแก่ชนเหล่านั้น.

               มฆมาณพกับพวกสร้างศาลา               
               พวกเขาพูดกันว่า “พวกเราเห็นอานิสงส์แห่งบุญในปัจจุบันนี้ทีเดียว”, ต่างมีใจผ่องใสโดยประมาณยิ่ง ผลัดวาระกันขึ้นช้างนั้นไป ปรึกษากันว่า “บัดนี้ พวกเราควรทำบุญให้ยิ่งขึ้นไป”, ต่างไต่ถามกันว่า “พวกเราจะทำอะไรกัน?” ตกลงกันว่า “จักสร้างศาลาเป็นที่พักของมหาชนให้ถาวร ในหนทางใหญ่ ๔ แยก.” พวกเขาจึงสั่งให้หาช่างไม้มาแล้วเริ่มสร้างศาลา, แต่เพราะปราศจากความพอใจในมาตุคาม จึงไม่ได้ให้ส่วนบุญในศาลานั้นแก่มาตุคามทั้งหลาย.

               มฆมาณพมีภริยา ๔ คน               
               ก็ในเรือนของมฆมาณพ มีหญิง ๔ คน คือนางสุนันทา สุจิตรา สุธรรมา สุชาดา. บรรดาหญิง ๔ คนนั้น นางสุธรรมาคบคิดกับนายช่างไม้ กล่าวว่า “พี่ ขอพี่จงทำฉันให้เป็นใหญ่ในศาลานี้เถิด” ดังนี้แล้ว ได้ให้ค่าจ้าง (แก่เขา) นายช่างไม้นั้นรับคำว่า “ได้” แล้วตากไม้สำหรับทำช่อฟ้าให้แห้งเสียก่อนสิ่งอื่น แล้วถาก สลักทำไม้ช่อฟ้าให้สำเร็จ แล้วสลักอักษรว่า “ศาลานี้ชื่อสุธรรมา” ดังนี้แล้วเอาผ้าพันเก็บไว้.
               นางสุธรรมาได้ร่วมกุศลสร้างศาลาด้วย
               ครั้นช่างไม้สร้างศาลาเสร็จแล้ว ในวันยกช่อฟ้า จึงกล่าวกะชน ๓๓ คนนั้นว่า “นาย ตายจริง! ข้าพเจ้านึกกิจที่ควรทำอย่างหนึ่งไม่ได้.”
               พวกมฆะ. ผู้เจริญ กิจชื่ออะไร?
               ช่าง. ช่อฟ้า.
               พวกมฆะ. ช่างเถิด, พวกเราจักนำช่อฟ้านั้นมาเอง,
               ช่าง. ข้าพเจ้าไม่อาจทำด้วยไม้ที่ตัดเดี๋ยวนี้ได้, ต้องได้ไม้ช่อฟ้าที่เขาตัดถากสลักแล้วเก็บไว้ในก่อนนั่นแล จึงจะใช้ได้.
               พวกมฆะ. เดี๋ยวนี้ พวกเราควรทำอย่างไร?
               ช่าง. ถ้าในเรือนของใครๆ มีช่อฟ้าที่ทำไว้ขาย ซึ่งเขาทำเสร็จแล้วเก็บไว้ไซร้, ควรแสวงหาช่อฟ้านั้น.
               พวกเขาแสวงหาอยู่ เห็นในเรือนของนางสุธรรมา แล้วให้ทรัพย์พันหนึ่ง ก็ไม่ได้ด้วยทรัพย์ที่เป็นราคา, เมื่อนางสุธรรมาพูดว่า “ถ้าพวกท่านทำฉันให้มีส่วนบุญในศาลาด้วยไซร้, ฉันจักให้.” ตอบว่า “พวกข้าพเจ้าไม่ให้ส่วนบุญแก่พวกมาตุคาม.”
               ลำดับนั้น ช่างไม้กล่าวกะคนเหล่านั้นว่า “นาย พวกท่านพูดอะไร? เว้นพรหมโลกเสียสถานที่อื่น ชื่อว่าเป็นที่เว้นมาตุคาม ย่อมไม่มี, พวกท่านจงรับเอาช่อฟ้าเถิด, เมื่อเป็นเช่นนั้น การงานของพวกเราก็จักถึงความสำเร็จ.” พวกเขารับว่า “ดีละ” แล้วรับเอาช่อฟ้า สร้างศาลาให้สำเร็จแล้ว แบ่งเป็น ๓ ส่วน (คือ) ในส่วนหนึ่งสร้างเป็นที่สำหรับอยู่ของพวกอิสรชน, ส่วนหนึ่ง สำหรับคนเข็ญใจ, ส่วนหนึ่ง สำหรับคนไข้.

               เรื่องช้างเอราวัณ               
               ชน ๓๓ คน ให้ปูกระดาน ๓๓ แผ่น แล้วให้สัญญาแก่ช้างว่า “ผู้เป็นแขก มานั่งบนแผ่นกระดานอันผู้ใดปูไว้, เจ้าจงพาแขกนั้นไปให้พักอยู่ที่เรือนของผู้นั้น ซึ่งเป็นเจ้าของแผ่นกระดานนั่นแหละ. การนวดเท้า การนวดหลัง ของควรเคี้ยว ควรบริโภค ที่นอนทุกอย่าง จักเป็นหน้าที่ของผู้นั้น ซึ่งเป็นเจ้าของแผ่นกระดานนั่นแหละ.”
               ช้างรับผู้ที่มาแล้วๆ นำไปสู่เรือนของเจ้าของกระดานนั่นเทียว. ในวันนั้น เจ้าของกระดานนั้น ย่อมทำกิจที่ควรทำแก่ผู้ที่ช้างนำไปนั้น. นายมฆะปลูกต้นทองหลางต้นหนึ่งไว้ ไม่สู้ห่างศาลา แล้วปูแผ่นศิลาไว้ที่โคนต้นทองหลางนั้น. พวกที่เข้าไปแล้วๆ สู่ศาลา แลดูช่อฟ้า อ่านหนังสือแล้ว ย่อมพูดกันว่า “ศาลาชื่อสุธรรมา” ชื่อของชน ๓๓ คนไม่ปรากฏ. นางสุนันทาคิดว่า “พวกนี้ เมื่อทำศาลา ทำพวกเราไม่ให้มีส่วนบุญด้วย, แต่นางสุธรรมาก็ทำช่อฟ้าเข้าร่วมส่วนจนได้ เพราะความที่ตนเป็นคนฉลาด, เราก็ควรจะทำอะไรๆ บ้าง, จักทำอะไรหนอ? ในทันใดนั้น นางก็ได้มีความคิดดังนี้ว่า “พวกที่มาสู่ศาลาควรจะได้น้ำกินและน้ำอาบ, เราจะให้เขาขุดสระโบกขรณี”, นางให้เขาสร้างสระโบกขรณีแล้ว.
               นางสุจิตราคิดว่า “นางสุธรรมาได้ให้ช่อฟ้า, นางสุนันทาได้สร้างสระโบกขรณี, เราก็ควรสร้างอะไรๆ บ้าง เราจักทำอะไรหนอแล?” ทีนั้น นางได้มีความคิดดังนี้ว่า “ในเวลาที่พวกชนมาสู่ศาลา ดื่มน้ำอาบน้ำแล้วไป ควรจะประดับระเบียบดอกไม้แล้วจึงไป, เราจักสร้างสวนดอกไม้.” นางได้ให้เขาสร้างสวนดอกไม้อันน่ารื่นรมย์แล้ว. ผู้ที่จะออกปากว่า “โดยมากในสวนนั้น ไม่มีต้นไม้ที่เผล็ดดอกออกผลชื่อโน้น” ดังนี้ มิได้มี.
               ฝ่ายนางสุชาดาคิดเสียว่า “เราเป็นทั้งลูกลุงของนายมฆะ เป็นทั้งบาทบริจาริกา (ภริยา). กรรมที่นายมฆะนั่นทำแล้ว ก็เป็นของเราเหมือนกัน, กรรมที่เราทำแล้ว ก็เป็นของนายมฆะนั่นเหมือนกัน” ดังนี้แล้ว ไม่ทำอะไรๆ มัวแต่งแต่ตัวของตนเท่านั้น ปล่อยเวลาให้ผ่านพ้นไปแล้ว.

               มฆมาณพบำเพ็ญวัตตบท ๗ ประการ               
               ฝ่ายนายมฆะบำเพ็ญวัตตบท ๗ เหล่านี้ คือ บำรุงมารดาบิดา ๑ ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้เจริญในตระกูล ๑ พูดคำสัตย์ ๑ ไม่พูดคำหยาบ ๑ ไม่พูดส่อเสียด ๑ กำจัดความตระหนี่ ๑ ไม่โกรธ ๑ ถึงความเป็นผู้ควรสรรเสริญอย่างนี้ว่า
               “ทวยเทพชั้นดาวดึงส์ เรียกนรชนผู้เลี้ยงมารดาบิดา มีปกติประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล กล่าวถ้อยคำไพเราะอ่อนหวาน ละวาจาส่อเสียด ประกอบในอันกำจัดความตระหนี่ มีวาจาสัตย์ ข่มความโกรธได้ นั่นแลว่า “สัปบุรุษ.” ในเวลาสิ้นชีวิต ได้เกิดเป็นท้าวสักกเทวราชในภพดาวดึงส์. สหายของเขาแม้เหล่านั้นก็เกิดในที่นั้นเหมือนกัน. ช่างไม้เกิดเป็นวิศวกรรมเทพบุตร.

               เทวดากับอสูรทำสงครามกัน               
               ในกาลนั้น พวกอสูรอยู่ในภพดาวดึงส์ อสูรเหล่านั้นคิดว่า “เทพบุตรใหม่ๆ เกิดแล้ว” จึงเตรียม (เลี้ยง) น้ำทิพย์. ท้าวสักกะได้ทรงนัดหมายแก่บริษัทของพระองค์ เพื่อประสงค์มิให้ใครๆ ดื่ม. พวกอสูรดื่มน้ำทิพย์เมาทั่วกันแล้ว. ท้าวสักกะทรงดำริว่า “เราจะต้องการอะไร? ด้วยความเป็นราชาอันทั่วไปด้วยเจ้าพวกนี้” ทรงนัดหมายแก่บริษัทของพระองค์แล้ว ให้ช่วยกันจับอสูรเหล่านั้นที่เท้าทั้งสองให้เหวี่ยงลงไปในมหาสมุทร. อสูรเหล่านั้นมีศีรษะปักดิ่งตกลงไปในสมุทรแล้ว, ขณะนั้น อสูรวิมานได้เกิดที่พื้นภายใต้แห่งเขาสิเนรุ ด้วยอานุภาพแห่งบุญของพวกเขา. ต้นไม้ชื่อจิตตปาลิ (ไม้แคฝอย) ก็เกิดแล้ว.
               แลเมื่อสงครามระหว่างเทวดาและอสูร (ประชิดกัน), ครั้นเมื่อพวกอสูรปราชัยแล้ว, ชื่อว่า เทพนครในชั้นดาวดึงส์ประมาณหมื่นโยชน์เกิดขึ้นแล้ว. และในระหว่างประตูด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกแห่งพระนครนั้น มีเนื้อที่ประมาณหมื่นโยชน์, ระหว่างประตูด้านทิศใต้และทิศเหนือ ก็เท่านั้น. อนึ่ง พระนครนั้นประกอบด้วยประตูพันหนึ่ง ประดับด้วยอุทยานและสระโบกขรณี. ปราสาทนามว่า เวชยันต์ สูง ๗๐๐ โยชน์แล้วด้วยแก้ว ๗ ประการ๑- ประดับด้วยธงทั้งหลาย สูง ๓๐๐ โยชน์ ผุดขึ้นด้วยผลแห่งศาลาในท่ามกลางพระนครนั้น, ที่คันเป็นทอง ได้มีธงเป็นแก้วมณี, ที่คันเป็นแก้วมณี ได้มีธงเป็นทอง, ที่คันเป็นแก้วประพาฬ ได้มีธงเป็นแก้วมุกดา, ที่คันเป็นแก้วมุกดา ได้มีธงเป็นแก้วประพาฬ, ที่คันเป็นแก้ว ๗ ประการ ได้มีธงเป็นแก้ว ๗ ประการ. ธงที่ตั้งอยู่กลาง ได้มีส่วนสูง ๓๐๐ โยชน์ ปราสาทสูงพันโยชน์ ล้วนแล้วด้วยแก้ว ๗ ประการ เกิดแล้วด้วยผลแห่งศาลา ด้วยประการฉะนี้.
____________________________
๑- แก้ว ๗ ประการ คือ แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ แก้วประพาฬ แก้วมุกดา แก้ววิเชียร แก้วผลึก แก้วหุง.

               ต้นปาริฉัตตกะ มีปริมณฑล (แผ่ไป) ๓๐๐ โยชน์โดยรอบ เกิดขึ้นด้วยผลแห่งการปลูกต้นทองหลาง. บัณฑุกัมพลศิลา มีสีดังดอกชัยพฤกษ์๒- สีครั่งและสีบัวโรย๓- โดยยาว ๖๐ โยชน์ โดยกว้าง ๕๐ โยชน์ หนา ๑๕ โยชน์ ที่กึ่งแห่งพระวรกายยุบลงในเวลาประทับนั่ง ฟูขึ้นเต็มที่อีก ในเวลาเสด็จลุกขึ้น เกิดขึ้นแล้วที่โคนไม้ปาริฉัตตกะ ด้วยผลแห่งการปูแผ่นศิลา.
____________________________
๒- ชยสุมนะ ชื่อต้นไม้มีดอกแดง เช่นต้นเซ่งและหงอนไก่เป็นต้น.
๓- ปาฏลิสีแดงเจือขาว. แดงอ่อนชมพู เสตรตฺตมิสฺโส ปาฏโล นาม. อภิ. หน้า ๑๖๗.

               เทพบุตร ๓๓ องค์นั่งบนกระพองช้างเอราวัณ               
               ส่วนช้างเกิดเป็นเทพบุตรชื่อเอราวัณ. แท้จริง สัตว์ดิรัจฉานทั้งหลาย ย่อมไม่มีในเทวโลก, เพราะฉะนั้น ในเวลาท้าวสักกะเสด็จออกเพื่อประพาสพระอุทยาน เทพบุตรนั้นจึงจำแลงตัวเป็นช้างชื่อเอราวัณ สูงประมาณ ๑๕๐ โยชน์. ช้างเทพบุตรนั้น นิรมิตกระพอง ๓๓ กระพอง เพื่อประโยชน์แก่ชน ๓๓ คน, ในกระพองเหล่านั้น กระพองหนึ่งๆ โดยกลมประมาณ ๓ คาวุต โดยยาวประมาณกึ่งโยชน์. ช้างเทพบุตรนั้นนิรมิตกระพองชื่อสุทัศนะ ประมาณ ๓๐ โยชน์ ในท่ามกลางกระพองทั้งหมด เพื่อประโยชน์แก่ท้าวสักกะ เบื้องบนแห่งกระพองนั้นมีมณฑปแก้วประมาณ ๑๒ โยชน์ ธงขลิบด้วยแก้ว ๗ ประการ สูงโยชน์หนึ่ง ตั้งขึ้นในระหว่างๆ (เป็นระยะๆ) ในมณฑปแก้วนั้น. ข่ายแห่งกระดิ่งที่ถูกลมอ่อนๆ พัดแล้ว มีเสียงกังวานปานเสียงทิพย์สังคีต ประสานด้วยเสียงดนตรีอันมีองค์ ๕ ห้อยอยู่ที่ริมโดยรอบ. บัลลังก์แก้วมณีประมาณโยชน์หนึ่งเป็นพระแท่น ที่เขาจัดไว้เรียบร้อยแล้วเพื่อท้าวสักกะ ในท่ามกลางมณฑป, ท้าวสักกะย่อมประทับนั่งเหนือบัลลังก์นั้น. เทพบุตร ๓๓ องค์นั่งบนรัตนบัลลังก์ ในกระพองของตน. บรรดากระพอง ๓๓ กระพอง ในกระพองหนึ่งๆ ช้างเทพบุตรนั้นนิรมิตงากระพองละ ๗ งา, ในงาเหล่านั้น งาหนึ่งๆ ยาวประมาณ ๕๐ โยชน์, ในงาหนึ่งๆ มีสระโบกขรณี (งาละ) ๗ สระ, ในสระโบกขรณีแต่ละสระ มีกอบัวสระละ ๗ กอ, ในกอหนึ่งๆ มีดอกบัวกอละ ๗ ดอก, ในดอกหนึ่งๆ มีกลีบดอกละ ๗ กลีบ, ในกลีบหนึ่งๆ (มี) เทพธิดาฟ้อนอยู่ ๗ องค์; มหรสพฟ้อนย่อมมีบนงาช้าง ในที่ ๕๐ โยชน์โดยรอบอย่างนี้แล.
               ท้าวสักกเทวราชเสวยยศใหญ่เสด็จเที่ยวไป ด้วยประการฉะนี้.

               ภริยาของมฆมาณพ ๓ คนก็เกิดในภพดาวดึงส์               
               แม้นางสุธรรมา ถึงแก่กรรม๑- ก็ได้ไปเกิดในภพดาวดึงส์นั้นเหมือนกัน. เทวสภาชื่อสุธรรมา มีประมาณ ๕๐๐ โยชน์ ได้เกิดแล้วแก่นาง. ได้ยินว่า ชื่อว่าสถานที่อื่น อันน่าปลื้มใจกว่านั้น ย่อมไม่มี. ในวันอัฏฐมี (ดิถีที่ ๘) แห่งเดือน มีการฟังธรรม ในที่นั้นนั่นเอง. จนกระทั่งทุกวันนี้ ชนทั้งหลายเห็นสถานที่อันน่าปลื้มใจแห่งใดแห่งหนึ่งเข้า ก็ยังกล่าวกันอยู่ว่า “เหมือนเทวสภาชื่อสุธรรมา.”
____________________________
๑- กาลํ กตฺวาทำกาละแล้ว.

               แม้นางสุนันทา ถึงแก่กรรมแล้ว ก็ได้ไปเกิดในภพดาวดึงส์นั้นเหมือนกัน. สระโบกขรณีชื่อสุนันทา มีประมาณ ๕๐๐ โยชน์ เกิดแล้วแก่นาง.
               แม้นางสุจิตรา ถึงแก่กรรมแล้ว ก็ได้ไปเกิดในภพดาวดึงส์นั้นเหมือนกัน. สวนชื่อจิตรลดา มีประมาณ ๕๐๐ โยชน์ ที่พวกเทพดาพาเหล่าเทพบุตรผู้มีบุรพนิมิตเกิดแล้ว ให้หลงเที่ยวไปอยู่ เกิดแล้วแม้แก่นาง.

               ท้าวสักกะโอวาทนางสุชาดาผู้เป็นนางนกยาง               
               ส่วนนางสุชาดา ถึงแก่กรรมแล้ว เกิดเป็นนางนกยางในซอกเขาแห่งหนึ่ง. ท้าวสักกะทรงตรวจดูบริจาริกาของพระองค์ ทรงทราบว่า “นางสุธรรมาเกิดแล้วในที่นี้เหมือนกัน. นางสุนันทา และนางสุจิตราก็อย่างนั้น.” พลางทรงดำริ (ต่อไป) ว่า “นางสุชาดาเกิดที่ไหนหนอ?” เห็นนางเกิดในซอกเขานั้นแล้ว ทรงดำริว่า “นางสุชาดานี้เขลา ไม่ทำบุญอะไรๆ บัดนี้เกิดในกำเนิดดิรัจฉาน, แม้บัดนี้ ควรที่เราจะให้นางทำบุญแล้วนำมาไว้เสียที่นี้” ดังนี้แล้ว จึงทรงจำแลงอัตภาพ เสด็จไปยังสำนักของนาง ด้วยเพศที่เขาไม่รู้จัก ตรัสถามว่า “เจ้าเที่ยวทำอะไรอยู่ที่นี้?”
               นางนกยาง. นาย ก็ท่านคือใคร?
               ท้าวสักกะ. เรา คือมฆะ สามีของเจ้า.
               นางนกยาง. ท่านเกิดที่ไหน? นาย.
               ท้าวสักกะ. เราเกิดในดาวดึงสเทวโลก. ก็เจ้ารู้สถานที่เกิดแห่งหญิงสหายของเจ้าแล้วหรือ?
               นางนกยาง. ยังไม่ทราบ นาย.
               ท้าวสักกะ. หญิงแม้เหล่านั้น ก็เกิดในสำนักของเราเหมือนกัน เจ้าจักเยี่ยมหญิงสหายของเจ้าไหมเล่า?
               นางนกยาง. หม่อมฉันจักไปในที่นั้นได้อย่างไร?
               ท้าวสักกะตรัสว่า “เราจักนำเจ้าไปในที่นั้น” ดังนี้แล้ว นำไปสู่เทวโลก ปล่อยไว้ริมฝั่งสระโบกขรณีที่ชื่อนันทา ตรัสบอกแก่พระมเหสีทั้งสามนอกนี้ว่า “พวกหล่อนจะดูนางสุชาดาสหายของพวกหล่อนบ้างไหม?”
               มเหสี. นางอยู่ที่ไหนเล่า? พระเจ้าข้า.
               ท้าวสักกะ. อยู่ริมฝั่งโบกขรณีชื่อนันทา.
               พระมเหสีทั้งสามนั้นเสด็จไปในที่นั้น ทำการเยาะเย้ยว่า “โอ รูปของแม่เจ้า, โอ ผลของการแต่งตัว; คราวนี้ ท่านทั้งหลายจงดูจะงอยปาก, ดูแข้ง ดูเท้า ของแม่เจ้า, อัตภาพของแม่เจ้าช่างงามแท้” ดังนี้แล้ว ก็หลีกไป.
               ท้าวสักกะเสด็จไปสำนักของนางอีก ตรัส (ถาม) ว่า “เจ้าพบหญิงสหายแล้วหรือ?” เมื่อนางทูลว่า “พระมเหสีทั้งสามนั้น หม่อมฉันได้พบแล้ว (เขาพากัน) เยาะเย้ยหม่อมฉันแล้วก็ไป, ขอพระองค์โปรดนำหม่อมฉันไปที่ซอกเขานั้นตามเดิมเถิด” ดังนี้แล้ว ก็ทรงนำนางนั้นไปที่ซอกเขาตามเดิม ปล่อยไว้ในนั้นแล้ว ตรัสถามว่า “เจ้าเห็นสมบัติของหญิงทั้งสามนั้นแล้วหรือ?”
               นางนกยาง. หม่อมฉันเห็นแล้ว พระเจ้าข้า.
               ท้าวสักกะ. แม้เจ้าก็ควรทำอุบายอันเป็นเหตุให้เกิดในที่นั้น.
               นางนกยาง. จักทำอย่างไรเล่า? พระเจ้าข้า.
               ท้าวสักกะ. เจ้าจักรักษาโอวาทที่เราให้ไว้ได้ไหม?
               นางนกยาง. รักษาได้ พระเจ้าข้า.
               ลำดับนั้น ท้าวสักกะก็ประทานศีล ๕ แก่นาง แล้วตรัสว่า “เจ้าจงเป็นผู้ไม่ประมาท รักษาเถิด” ดังนี้แล้ว ก็เสด็จหลีกไป.
               จำเดิมแต่นั้นมา นาง (เที่ยว) หากินแต่ปลาที่ตายเองเท่านั้น. โดยกาลล่วงไป ๒-๓ วัน ท้าวสักกะเสด็จไปเพื่อทรงประสงค์จะลองใจนาง จึงทรงจำแลงเป็นปลาตายนอนหงายอยู่หลังหาดทราย. นางเห็นปลานั้นแล้ว ได้คาบเอาด้วยสำคัญว่า “ปลาตาย” ในเวลาจะกลืน ปลากระดิกหางแล้ว. นางรู้ว่า “ปลาเป็น” จึงปล่อยเสียในน้ำ. ท้าวสักกะทรงปล่อยเวลาให้ล่วงไปหน่อยหนึ่งแล้ว จึงทรงทำเป็นนอนหงายข้างหน้านางอีก นางก็คาบอีกด้วยสำคัญว่า “ปลาตาย” ในเวลาจะกลืน เห็นปลายังกระดิกหางอยู่ จึงปล่อยเสีย ด้วยรู้ว่า “ปลาเป็น.”
               ท้าวสักกะทรงทดลองอย่างนี้ (ครบ) ๓ ครั้งแล้ว ตรัสว่า “เจ้ารักษาศีลได้ดี” ให้นางทราบพระองค์แล้ว ตรัสว่า “เรามาเพื่อประสงค์จะลองใจเจ้า, เจ้ารักษาศีลได้ดี, เมื่อรักษาได้อย่างนั้น ไม่นานเท่าไร ก็จักเกิดในสำนักของเราเป็นแน่ จงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด” ดังนี้แล้ว เสด็จหลีกไป.

               นางสุชาดาท่องเที่ยวอยู่ในภพต่างๆ               
               จำเดิมแต่นั้นมา นางได้ปลาที่ตายเองไปบ้าง ไม่ได้บ้าง, เมื่อไม่ได้ โดยกาลล่วงไป ๒-๓ วันเท่านั้น ก็ซูบผอม ทำกาละแล้ว เกิดเป็นธิดาของช่างหม้อในเมืองพาราณสี ด้วยผลแห่งศีลนั้น.
               ต่อมา ในเวลาที่นางมีอายุราว ๑๕-๑๖ ปี ท้าวสักกะทรงคำนึงถึงว่า “นางเกิดที่ไหนหนอ?” (ได้) เห็นแล้ว ทรงดำริว่า “บัดนี้ควรที่เราจะไปที่นั้น” ดังนี้แล้ว จึงทรงเอาแก้ว ๗ ประการ ซึ่งปรากฏโดยพรรณคล้ายฟักทอง บรรทุกยานน้อย ขับเข้าไปในเมืองพาราณสี เสด็จไปยังถนนป่าวร้องว่า “ท่านทั้งหลาย (มา) เอาฟักทองกันเถิด”, แต่ตรัสกะผู้เอาถั่วเขียวและถั่วราชมาษเป็นต้นมาว่า “ข้าพเจ้าไม่ให้ด้วยราคา”, เมื่อเขาทูลถามว่า “ท่านจะให้อย่างไร?” ตรัสว่า “ข้าพเจ้าจะให้แก่สตรีผู้รักษาศีล.”
               พวกพลเมือง. นาย ชื่อว่าศีลเป็นเช่นไร? สีดำหรือสีเขียวเป็นต้น.
               ท้าวสักกะ. พวกท่านไม่รู้จักศีลว่า ‘เป็นเช่นไร’ จักรักษาศีลนั้นอย่างไรได้เล่า? แต่เราจักให้แก่สตรีผู้รักษาศีล.
               พวกพลเมือง. นาย ธิดาของช่างหม้อนั้น เที่ยวพูดอยู่ว่า ‘ข้าพเจ้ารักษาศีล’, จงให้แก่สตรีนั้นเถิด.
               แม้ธิดาของช่างหม้อนั้น ก็ทูลพระองค์ว่า “ถ้ากระนั้น ก็ให้แก่ฉันเถิด นาย.”
               ท้าวสักกะ. เธอ คือใคร?
               ธิดาช่างหม้อ. ฉัน คือสตรีผู้ไม่ละศีล ๕.
               ท้าวสักกะ. ฟักทองเหล่านั้น ฉันก็นำมาให้จำเพาะเธอ.
               ท้าวสักกะทรงขับยานน้อยไปเรือนของนางแล้ว ประทานทรัพย์ที่เทวดาพึงให้โดยพรรณอย่างฟักทอง ทำมิให้คนพวกอื่นลักเอาไปได้ ให้รู้จักพระองค์แล้ว ตรัสว่า “นี้ทรัพย์สำหรับเลี้ยงชีวิตของเธอ. เธอจงรักษาศีล ๕ อย่าได้ขาด” แล้วเสด็จหลีกไป.

               นางสุชาดาธิดาของอสูร               
               ฝ่ายธิดาของช่างหม้อนั้นจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว เกิดในเรือนของผู้มีเวรต่อท้าวสักกะ เป็นธิดาของอสูรผู้หัวหน้าในภพอสูร แลเพราะความที่นางรักษาศีลดีแล้วใน ๒ อัตภาพ นางจึงได้เป็นผู้มีรูปสวย มีพรรณดุจทองคำ ประกอบด้วยรูปสิริอันไม่สาธารณ์ (ทั่วไป). จอมอสูรนามว่าเวปจิตติ พูดแก่ผู้มาแล้วๆ ว่า “พวกท่านไม่สมควรแก่ธิดาของข้าพเจ้า” แล้วก็ไม่ให้ธิดานั้นแก่ใครๆ คิดว่า “ธิดาของเรา จักเลือกสามีที่สมควรแก่ตนด้วยตนเอง” ดังนี้แล้ว จึงให้พลเมืองที่เป็นอสูรประชุมกัน แล้วได้ให้พวงดอกไม้ในมือของธิดานั้น ด้วยการสั่งว่า “เจ้าจงรับผู้สมควรแก่เจ้าเป็นสามี.”

               ท้าวสักกะปลอมเป็นอสูรชิงนางสุชาดา               
               ในขณะนั้น ท้าวสักกะทรงตรวจดูสถานที่นางเกิด ทราบประพฤติเหตุนั้นแล้ว ทรงดำริว่า “บัดนี้ สมควรที่เราจะไปนำเอานางมา” ดังนี้แล้ว ได้ทรงนิรมิตเพศเป็นอสูรแก่ ไปยืนอยู่ที่ท้ายบริษัท. แม้นางอสุรกัญญานั้น เมื่อตรวจดูข้างโน้นและข้างนี้ พอพบท้าวสักกะนั้น ก็เป็นผู้มีหทัยอันความรัก ซึ่งเกิดขึ้นด้วยอำนาจปุพเพสันนิวาสท่วมทับแล้ว ดุจห้วงน้ำใหญ่ ก็ปลงใจว่า “นั่น สามีของเรา” จึงโยนพวงดอกไม้ไปเบื้องบนท้าวสักกะนั้น.
               พวกอสูรนึกละอายว่า “พระเจ้าอยู่หัวของพวกเราไม่ได้ผู้ที่สมควรแก่พระธิดาตลอดกาลประมาณเท่านี้ บัดนี้ได้แล้ว, ผู้ที่แก่กว่าปู่นี้แล สมควรแก่พระธิดาของท้าวเธอ” ดังนี้แล้ว จึงหลีกไป.
               ฝ่ายท้าวสักกะทรงจับอสุรกัญญานั้นที่มือแล้ว ทรงประกาศว่า “เรา คือท้าวสักกะ” แล้วทรงเหาะไปในอากาศ.
               พวกอสูรรู้ว่า “พวกเราถูกสักกะแก่ลวงเสียแล้ว” จึงพากันติดตามท้าวสักกะนั้นไป. เทพบุตรผู้เป็นสารถีนามว่ามาตลี นำเวชยันตรถมาพักไว้ในระหว่างทาง. ท้าวสักกะทรงอุ้มนางขึ้นในรถนั้นแล้ว บ่ายพระพักตร์สู่เทพนคร เสด็จไปแล้ว. ครั้นในเวลาที่ท้าวสักกะนั้นเสด็จถึงสิมพลิวัน๑- ลูกนกครุฑได้ยินเสียงรถ (ตกใจ) กลัวร้องแล้ว. ท้าวสักกะได้ทรงสดับเสียงลูกนกครุฑเหล่านั้นแล้ว ตรัสถามมาตลีว่า “นั่นนกอะไรร้อง?”
____________________________
๑- ป่าไม้งิ้ว.

               มาตลี. ลูกนกครุฑ พระเจ้าข้า.
               ท้าวสักกะ. เพราะเหตุไร มันจึงร้อง?
               มาตลี. เพราะได้ยินเสียงรถแล้ว กลัวตาย.
               ท้าวสักกะตรัสว่า “อาศัยเราผู้เดียว นกประมาณเท่านี้ถูกความเร็วของรถให้ย่อยยับไปแล้ว มันอย่าฉิบหายเสียเลย, เธอจงกลับรถเสียเถิด.”
               มาตลีเทพบุตรนั้นให้สัญญาแก่ม้าสินธพพันหนึ่งด้วยแส้ กลับรถแล้ว. พวกอสูรเห็นกิริยานั้น คิดว่า “ท้าวสักกะแก่ หนีไปตั้งแต่อสุรบุรี บัดนี้กลับรถแล้ว, เธอจักได้ผู้ช่วยเหลือเป็นแน่” จึงกลับเข้าไปสู่อสุรบุรีตามทางที่มาแล้วนั่นแล ไม่ยกศีรษะขึ้นอีก.
               ฝ่ายท้าวสักกะทรงนำนางสาวอสูรชื่อสุชาดาไปเทพนครแล้ว ทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งหัวหน้านางอัปสร ๒ โกฏิกึ่ง. นางทูลขอพรกะท้าวสักกะว่า “ขอเดชะพระมหาราชเจ้า มารดาบิดาหรือพี่ชายพี่หญิงของหม่อมฉันในเทวโลกนี้ ไม่มี, พระองค์จะเสด็จไปในที่ใดๆ พึง(ทรงพระกรุณา) พาหม่อมฉันไปในที่นั้นๆ (ด้วย). ท้าวเธอได้ประทานปฏิญญาแก่นางว่า “ได้.”

               พวกอสูรกลัวท้าวสักกะ               
               ก็จำเดิมแต่นั้นมา เมื่อดอกจิตตปาตลิบาน พวกอสูรประสงค์จะรบกะท้าวสักกะ ขึ้นมาเพื่อหมายจะต่อยุทธ ด้วยสำคัญว่า “เป็นเวลาที่ดอกปาริฉัตตกทิพย์ของพวกเราบาน” ท้าวสักกะได้ประทานอารักขาแก่พวกนาคในภายใต้สมุทร. ถัดนั้น พวกครุฑ, ถัดนั้น พวกกุมภัณฑ์, ถัดนั้น พวกยักษ์, ถัดนั้น ท้าวจตุมหาราช, ส่วนชั้นบนกว่าทุกๆ ชั้น ประดิษฐานรูปจำลองพระอินทร์ ซึ่งมีวชิราวุธในพระหัตถ์ไว้ที่ทวารแห่งเทพนคร. พวกอสูรแม้ชำนะพวกนาคเป็นต้นมาแล้ว เห็นรูปจำลองพระอินทร์มาแต่ไกล ก็ย่อมหนีไป ด้วยเข้าใจว่า “ท้าวสักกะเสด็จออกมาแล้ว.”

               อานิสงส์ความไม่ประมาท               
               พระศาสดาตรัสว่า “มหาลิ มฆมาณพปฏิบัติอัปปมาทปฏิปทาอย่างนี้, ก็แล มฆมาณพนั่น ไม่ประมาทอย่างนี้ จึงถึงความเป็นใหญ่เห็นปานนี้ ทรงเสวยราชย์ในเทวโลกทั้งสอง, ชื่อว่าความไม่ประมาทนั่น บัณฑิตทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น สรรเสริญแล้ว, เพราะว่า การบรรลุคุณวิเศษซึ่งเป็นโลกิยะ และโลกุตระแม้ทั้งหมดย่อมมีได้ เพราะอาศัยความไม่ประมาท” ดังนี้แล้ว
               ตรัสพระคาถานี้ว่า
                         ๗. อปฺปมาเทน มฆวา เทวานํ เสฏฺฐตํ คโต
                         อปฺปมาทํ ปสํสนฺติ                หิตฺวา ยาติ สุเมธโส.
                                        ท้าวมฆวะ ถึงความเป็นผู้ประเสริฐกว่าเทพยดา
                         ทั้งหลาย เพราะความไม่ประมาท; บัณฑิตทั้งหลายย่อม
                         สรรเสริญความไม่ประมาท, ความประมาทอันท่านติเตียน
                         ทุกเมื่อ.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปฺปมาเทน คือ เพราะความไม่ประมาทที่ทำไว้ตั้งต้นแต่แผ้วถางภูมิประเทศในอจลคาม.
               บทว่า มฆวา เป็นต้น ความว่า มฆมาณพ ซึ่งปรากฏว่า “มฆวะ” ในบัดนี้ ชื่อว่า ถึงความเป็นผู้ประเสริฐกว่าเทพยดาทั้งหลาย เพราะความเป็นราชาแห่งเทวโลกทั้งสอง.
               บทว่า ปสํสนฺติ ความว่า บัณฑิตทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ย่อมชมเชย สรรเสริญความไม่ประมาทอย่างเดียว.
               ถามว่า “เพราะเหตุไร?”
               วิสัชนาว่า “เพราะความไม่ประมาท เป็นเหตุให้ได้คุณวิเศษที่เป็นโลกิยะและโลกุตระทั้งหมด.”
               บาทพระคาถาว่า ปมาโท ครหิโต สทา ความว่า ส่วนความประมาท อันพระอริยะเหล่านั้นติเตียน คือนินทาแล้ว เป็นนิตย์.
               ถามว่า “เพราะเหตุไร?”
               วิสัชนาว่า “เพราะความประมาทเป็นต้นเค้าของความวิบัติทุกอย่าง.”
               จริงอยู่ ความเป็นผู้โชคร้ายในมนุษย์ก็ดี การเข้าถึงอบายก็ดี ล้วนมีความประมาทเป็นมูลทั้งนั้น ดังนี้.
               ในเวลาจบคาถา เจ้าลิจฉวีนามว่ามหาลิ ทรงดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว. แม้บริษัทผู้ประชุมกันเป็นอันมาก ก็ได้เป็นพระอริยบุคคลมีพระโสดาบันเป็นต้น ดังนี้แล.

               เรื่องท้าวสักกะ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท อัปปมาทวรรคที่ ๒
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 11อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 12อ่านอรรถกถา 25 / 13อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=330&Z=365
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=19&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=19&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๖  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :