ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 178อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 179อ่านอรรถกถา 25 / 180อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ เอกนิบาต
ปฐมวรรค โลภสูตร

               อิติวุตตกวรรณนา               
               อารัมภกถา               

                                   ข้าพเจ้าขอวันทาพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงเป็น
                         นาถะ ผู้มีพระทัยเปี่ยมล้นไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณ
                         เสด็จถึงฝั่งสาคร คือไญยธรรมได้แล้ว ทรงมีนัยเทศนา
                         อันวิจิตรสุขุมคัมภีรภาพ.
                                   ข้าพเจ้าขอวันทาพระธรรมนั้น อันอุดมที่สมเด็จ
                         พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบูชา ที่นำพาพระอริยสาวกทั้ง
                         หลายผู้สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะให้พ้นไปจากโลก.
                                   ข้าพเจ้าขอวันทาพระสงฆ์ ผู้เป็นพระอริยะนั้น
                         สถิตมั่นอยู่ในมรรคและผล สมบูรณ์แล้วด้วยศีลาทิคุณ
                         เป็นนาบุญอย่างเยี่ยมยอด.
                                   ด้วยเดชานุภาพแห่งบุญที่เกิดจากการวันทาพระ
                         รัตนตรัย ดังได้พรรณนามานี้ ขอข้าพเจ้าจงปลอดภัย
                         จากอันตรายในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อเทอญ.
                                   พระธรรมสังคาหกเถระทั้งหลายผู้จำพรรษาอยู่
                         ในบุรี มีปกติแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ได้รวบรวมพระ
                         สูตรทั้งหลายที่พระผู้แสวงหาคุณธรรมอันยิ่งใหญ่ ได้
                         ทรงแสดงไว้แล้ว โดยแยกเป็นนิบาต มีเอกนิบาตเป็น
                         อาทิอันส่องแสดงถึงการละซึ่งกิเลสทั้งหลายมีโลภะเป็น
                         ต้นไว้อย่างวิเศษเข้าเป็นสายเดียวกัน แล้วร้อยกรองบท
                         อักษรดังกล่าวมานี้ โดยเรียกชื่อว่า “อิติวุตตกะ”
                                   อันที่จริง การแต่งอรรถกถาพรรณนาความลำดับ
                         บทที่มีอรรถอันลึกซึ้งในขุททกนิกาย เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้า
                         ทำได้ยาก เพราะเป็นอรรถที่จะพึงหยั่งถึงได้ก็ด้วยคัมภีร
                         ญาณ แต่เพราะเหตุที่อรรถกถาจะช่วยทรงศาสนาของ
                         พระศาสดาไว้ได้ ทั้งวินิจฉัยของบรรดาบุรพาจารย์ผู้
                         เปรียบปานด้วยราชสีห์ก็จะยังคงดำรงอยู่ด้วย
                                   ฉะนั้น ข้าพเจ้าจักแต่งอรรถกถา “อิติวุตตกะ” ไว้
                         ให้ดีตามกำลัง โดยจะยึดวินิจฉัยของบรรดาบุรพาจารย์
                         นั้นเป็นหลัก ถือนิกาย ๕ เป็นเกณฑ์ อิงอาศัยนัยจาก
                         อรรถกถาเก่า แม้จะเป็นเพียงคำบอกกล่าวของนิสิต แต่ก็
                         บริสุทธิ์ ไม่คลาดเคลื่อน เป็นการวินิจฉัยอรรถที่ละเอียด
                         ของบรรดาบุรพาจารย์คณะมหาวิหาร แล้วเว้นความที่ซ้ำๆ
                         กันเสีย.
                                   สาธุชนทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายได้โปรดตั้งใจ
                         สดับการพรรณนาความแห่งอรรถกถา “อิติวุตตกะ” นั้น
                         ของข้าพเจ้าผู้หวังให้พระสัทธรรมดำรงมั่นอยู่ได้นาน
                         จะได้จำแนกต่อไปนี้.

               อธิบายอิติวุตตกะ               
               ในคาถานั้นชื่อว่าอิติวุตตกะ จัดเป็นนิบาต ๔ อย่าง คือเอกนิบาต ทุกนิบาต ติกนิบาต จตุกนิบาต. อิติวุตตกะแม้นั้นนับเนื่องในสุตตันตปิฏกในปิฏก ๓ อย่าง คือวินัยปิฏก สุตตันตปิฏก อภิธรรมปิฏก. นับเนื่องในขุททกนิกายในนิกาย ๕ อย่าง คือทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย ขุททกนิกาย. จัดเป็นอิติวุตตกะในนวังคสัตถุศาสน์ คือสุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ. สงเคราะห์เข้าในธรรมขันธ์จำนวนเล็กน้อย ในธรรมขันธ์ ๘๔,๐๐๐ ที่พระอานนทเถระผู้เป็นธรรมภัณฑาคาริกปฏิญญาไว้อย่างนี้ว่า
                                   ธรรมเหล่าใดที่เป็นไปแก่ข้าพเจ้า ธรรมเหล่านั้น
                         ข้าพเจ้าเรียนจากพระพุทธเจ้า ๘๒,๐๐๐ จากภิกษุ ๒,๐๐๐
                         รวมเป็น ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์.
๑-
____________________________
๑- ขุ. เถร. เล่ม ๒๖/ข้อ ๓๙๗

               โดยพระสูตร รวมพระสูตรไว้ ๑๑๒ พระสูตร คือ ในเอกนิบาต ๒๗ สูตร ในทุกนิบาต ๒๒ สูตร ในติกนิบาต ๕๐ สูตร ในจตุกนิบาต ๑๓ สูตร. อิติวุตตกะนั้น ในบรรดานิบาต มีเอกนิบาตเป็นนิบาตแรก ในบรรดาวรรคมีปาฏิโภควรรคเป็นวรรคแรก ในบรรดาสูตรมีโลภสูตรเป็นสูตรแรก.
               อนึ่ง อิติวุตตกะแม้นั้นมีคำขึ้นต้นที่ท่านพระอานนท์กล่าวไว้ในคราวทำสังคายนาใหญ่ครั้งแรก มีอาทิว่า วุตฺตํ เหตํ ภควตา เป็นคำแรก. ก็การสังคายนาใหญ่ครั้งแรกนี้นั้น ยกขึ้นสู่แบบแผน ปรากฏอยู่ในวินัยปิฏกแล้วแล.
               อนึ่ง กถามรรคใดที่จะพึงกล่าวไว้ เพื่อจะได้เข้าใจในคำขึ้นต้นในที่นี้ กถามรรคแม้นั้นก็ได้กล่าวไว้แล้วโดยพิสดารในอรรถกถาทีฆนิกาย ชื่อสุมังคลวิลาสินี เพราะเหตุนั้น นักศึกษาพึงทราบตามนัยที่กล่าวไว้ในอรรถกถานั้นเถิด.

               นิทานวรรณนา               
               ก็คำขึ้นต้นมีอาทิว่า วุตฺตํ เหตํ ภควตา และพระสูตรมีอาทิว่า เอกธมฺมํ ภิกฺขเว ปชหถ นี้ใด ในคำขึ้นต้นและพระสูตรนั้น บททั้งหลายมีอาทิว่า วุตฺตํ ภควตา เป็นบทนาม. บทว่า อิติ เป็นบทนิบาต. บทว่า ในบทว่า ปชหถ นี้ เป็นบทอุปสรรค. บทว่า ชหถ เป็นบทอาขยาต.
               พึงทราบการจำแนกบทในที่ทุกแห่งตามนัยนี้.

               อธิบาย วุตตศัพท์               
               อนึ่ง โดยอรรถ วุตตศัพท์ที่มีอุปสรรคและไม่มีอุปสรรคก่อน ย่อมปรากฏในอรรถทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ คือการหว่านพืช การทำพืชที่หว่านให้เสมอกัน การโกนผม การเลี้ยงชีวิต ความหลุดพ้น การเป็นไปโดยความเป็นปาพจน์ การเล่าเรียน การกล่าว.
               จริงอย่างนั้น วุตตศัพท์นั่นมาในการหว่านพืช ในประโยคเป็นต้นว่า
                                   โคทั้งหลายของเขากำลังตกลูก พืชที่หว่านในนากำลังงอก
                         ผู้ใดไม่ประทุษร้ายต่อมิตรทั้งหลาย ผู้นั้นย่อมได้บริโภคผลของ
                         พืชทั้งหลายที่หว่านไว้แล้ว.
๑-
               มาในการทำพืชที่หว่านให้เสมอกันด้วยวัตถุทั้งหลายมีคราดเป็นต้น ในประโยคมีอาทิว่า โน จ โข ปฏิวุตฺตํ. มาในการโกนผมในประโยคมีอาทิว่า๒- มาณพหนุ่มชื่อ กาปฏิกะ โกนผมแล้ว. มาในการเลี้ยงชีวิต ในประโยคมิอาทิว่า๓- มีขนตก อาศัยผู้อื่นเลี้ยงชีวิต มีจิตดังมฤคอยู่. มาในความหลุดพ้นจากเครื่องผูก ในประโยคมีอาทิว่า ใบไม้เหลืองหลุดจากขั้ว ไม่สามารถกลับเป็นของเขียวสดได้อีก แม้ฉันใด. มาในการเป็นไปโดยความเป็นปาพจน์ ในประโยคมีอาทิว่า๔- คนเหล่าใดขับ ร่าย สาธยายมนต์บทเก่านี้ ในบัดนี้. มาในการเล่าเรียนในประโยคมีอาทิว่า ก็คุณที่เล่าเรียนในโลก เป็นคุณที่จะต้องเล่าเรียนต่อไป. มาในการกล่าวในประโยคมีอาทิว่า ก็แลสมดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า๕- ภิกษุทั้งหลาย ขอเธอทั้งหลายจงเป็นธรรมทายาทของเราตถาคตเถิด อย่าเป็นอามิสทายาทเลย.
               แต่ในที่นี้ วุตตศัพท์พึงเห็นว่าใช้ในการกล่าว เพราะเหตุนั้น จึงมีหมายความว่า พูด บอก กล่าว. ส่วนวุตตศัพท์ที่สอง พึงทราบว่าใช้ในคำพูดและในภาวะที่ประพฤติแล้ว.
____________________________
๑- ขุ. ชา. เล่ม ๒๘/ข้อ ๔๐๑
๒- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๖๕๑
๓- วิ. จุล. เล่ม ๗/ข้อ ๓๔๖
๔- ที. สี. เล่ม ๙/ข้อ ๑๖๙
๕- วิ. จุล. เล่ม ๗/ข้อ ๓๔๖

               อธิบาย หิ และเอตํศัพท์               
               ศัพท์ว่า หิ เป็นนิบาต ใช้ในความหมายนี้ว่า แน่แท้ ชัดแจ้ง. หิศัพท์นั้นส่องความว่า สูตรที่จะกล่าวในบัดนี้ เป็นสูตรที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้อย่างชัดแจ้ง. นิบาตทั้งหลายประกอบด้วยความประชุมพร้อมแห่งศัพท์ที่บอกความหมาย. จริงอยู่ นิบาตเหล่านั้นช่วยขยายความที่จะพึงกล่าวให้ชัดขึ้น.
               เอตํ ศัพท์ในบทว่า เอตํ นี้ มาในอรรถว่า ประจักษ์ชัดในที่ใกล้ชิด ตามที่กล่าวแล้วในประโยคมีอาทิว่า๑-
                                   ก็บุคคลใดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและ
                         พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ เห็นอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์
                         เหตุให้ทุกข์เกิด ความพ้นทุกข์ และอริยมรรคมี
                         องค์ ๘ อันมีปกติยังผู้ปฏิบัติให้ถึงความพ้นทุกข์
                         ด้วยปัญญาอันชอบ
                                   การถึงสรณะของบุคคลนั้นนั่นแลเป็นที่พึ่ง
                         อันเกษม นั่นเป็นที่พึ่งอันสูงสุด เพราะว่าบุคคล
                         อาศัยสรณะนั่นแล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งหมด.

               แต่ที่มาในอรรถว่า ประจักษ์ชัดในที่ใกล้ชิดที่กำลังกล่าวถึงอยู่ ในประโยคมีอาทิว่า๒- ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลปุถุชนเมื่อกล่าวสรรเสริญคุณของพระตถาคตพึงกล่าวด้วยคำสรรเสริญ คำสรรเสริญนั่นเป็นเพียงเล็กน้อย เพียงขั้นต่ำ เพียงแค่ศีล.
               อนึ่ง ในที่นี้ เอตํ ศัพท์พึงเห็นว่า ใช้ในความหมายว่า ประจักษ์ชัดในที่ใกล้ชิดที่กำลังกล่าวถึงอยู่นั่นแล. เพราะว่า สูตรที่กำลังกล่าวถึง ด้วยสามารถแห่งการพิจารณา พระอานนทเถระผู้ธรรมภัณฑาคาริก ดำรงอยู่แล้วในวุฒิธรรมกล่าวไว้ในครั้งแรกว่า เอตํ ดังนี้.
____________________________
๑- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๔
๒- ที. สี. เล่ม ๙/ข้อ ๒

               อธิบายคำว่า ภควา               
               ในบทว่า ภควตา นี้ พึงทราบอธิบายดังนี้
               บทว่า ภควา เป็นคำเรียกบุคคลผู้เป็นที่เคารพ. เป็นความจริง คนทั้งหลายในโลกมักเรียกบุคคลผู้เป็นที่เคารพว่า ภควา และพระตถาคต ชื่อว่าเป็นที่เคารพของสัตว์ทั้งหลาย เพราะทรงวิเศษด้วยสรรพคุณ เพราะเหตุนั้น พึงทราบว่า ภควา.
               แม้พระโบราณาจารย์ทั้งหลายก็ได้กล่าวไว้ว่า
                                   คำว่า ภควา เป็นคำประเสริฐที่สุด
                         คำว่า ภควา เป็นคำสูงสุด พระตถาคตนั้น
                         ทรงเป็นผู้ควรแก่ความเคารพคารวะ ด้วย
                         เหตุนั้น จึงขนานพระนามว่า ภควา.

               อันที่จริง คำพูดที่ระบุถึงบุคคลผู้ประเสริฐที่สุด กล่าวกันว่า ประเสริฐที่สุด เพราะดำเนินไปด้วยกันกับคุณอันประเสริฐที่สุด. อีกประการหนึ่ง ที่ชื่อว่าวจนะ เพราะอรรถว่า อันบุคคลกล่าว ได้แก่ความหมาย. เพราะเหตุนั้น ในบทว่า ภควาติ วจนํ เสฏฐํ จึงมีความหมายว่า ความหมายใดที่จะพึงพูดด้วยคำว่า ภควา นี้ ความหมายนั้นประเสริฐที่สุด. แม้ในบทว่า ภควาติ วจนมุตฺตมํ นี้ ก็นัยนี้แล. บทว่า คารวยุตฺโต ได้แก่ ชื่อว่าทรงเป็นผู้ควรแก่ความเคารพคารวะ เพราะทรงประกอบด้วยคุณของบุคคลผู้เป็นที่เคารพ อีกประการหนึ่ง พระตถาคต ชื่อว่าทรงควรแก่ความเคารพ ก็เพราะเหตุที่ทรงควรซึ่งการกระทำความเคารพอย่างดียิ่ง. หมายความว่า ทรงควรแก่ความเคารพ. เมื่อเป็นเช่นนั้น คำว่า ภควา นี้จึงเป็นคำเรียกบุคคลผู้วิเศษโดยคุณบุคคลผู้สูงสุดกว่าสัตว์ และบุคคลผู้เป็นที่เคารพคารวะ ดังนี้แล.
               อีกประการหนึ่ง พึงทราบความหมายของบทว่า ภควา ตามนัยที่มาในนิทเทสว่า๑-
                                   พระพุทธเจ้านั้น บัณฑิตขนานพระนามว่า ภควา
                         เพราะเหตุที่พระองค์ทรงมีภคธรรม ๑ ทรงมีปกติเสพภค
                         ธรรม ๑ ทรงมีภาคธรรม ๑ ทรงจำแนกแจกแจงธรรม ๑
                         ทรงทำลายนามรูป ๑ ทรงเป็นที่เคารพ ๑ ทรงมีภาคย
                         ธรรม ๑ ทรงมีพระองค์อบรมดีแล้วด้วยญายธรรมจำนวน
                         มาก ๑ ทรงถึงที่สุดแห่งภพ ๑.
               และด้วยอำนาจแห่งคาถานี้ว่า
                                   เพราะเหตุที่ พระพุทธเจ้า ทรงมีภาคยธรรม ๑
                         ทรงมีภัคคธรรม ๑ ทรงประกอบด้วยภัคคธรรม ๑ ทรง
                         จำแนกแจกแจงธรรม ๑ ทรงมีคนภักดี ๑ ทรงคายการ
                         ไปในภพทั้งหลาย ๑ ฉะนั้น จึงได้รับขนานพระนามว่า
                         ภควา.
               ก็ความหมายนี้นั้น ได้กล่าวไว้แล้วในพุทธานุสตินิทเทส ในวิสุทธิมรรคอย่างครบถ้วน เพราะเหตุนั้น นักศึกษาพึงทราบตามนัยที่กล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรคนั้นเถิด.
____________________________
๑- ขุ. มหา. เล่ม ๒๙/ข้อ ๓๗๙

               ความหมายของภควาอีกนัยหนึ่ง               
               อีกนัยหนึ่ง พระนามว่า ภควา เพราะหมายความว่า ทรงมีภาคธรรม
               พระนามว่า ภควา เพราะหมายความว่า ผู้อบรมพุทธกรธรรม
               พระนามว่า ภควา เพราะหมายความว่า ทรงเสพภาคธรรม
               พระนามว่า ภควา เพราะหมายความว่า ทรงเสพภคธรรม
               พระนามว่า ภควา เพราะหมายความว่า ทรงมีคนภักดี
               พระนามว่า ภควา เพราะหมายความว่า ทรงคายภคธรรม
               พระนามว่า ภควา เพราะหมายความว่า ทรงคายภาคธรรม
                                   พระชินเจ้าทรงพระนามว่า ภควา เพราะหมายความ
                         ว่า ทรงมีภาคธรรม ๑ ทรงอบรมพุทธกรธรรม ๑ ทรงเสพ
                         ภาคธรรม ๑ ทรงเสพภคธรรม ๑ ทรงมีคนภักดี ๑ ทรงคาย
                         ภคธรรม ๑ ทรงคายภาคธรรม ๑.

               ในความหมายเหล่านั้น พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

               ๑. ทรงมีภาคธรรม               
               พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าภควา เพราะหมายความว่า ทรงมีภาคธรรม เป็นอย่างไร?
               คือ กองธรรม ได้แก่ส่วนแห่งคุณมีศีลเป็นต้นที่วิเศษยิ่ง ไม่สาธารณ์แก่บุคคลอื่นมีอยู่ คือหาได้เฉพาะแก่พระตถาคตเจ้า.
               จริงอย่างนั้น พระตถาคตเจ้านั้นทรงมี คือทรงได้ภาคแห่งคุณ ได้แก่ส่วนแห่งคุณ อันเป็นนิรัติสัย (ไม่มีส่วนแห่งคุณอื่นที่ยิ่งกว่า) ไม่จำกัดประเภท ไม่มีที่สุด ไม่สาธารณ์แก่บุคคลอื่น
               มีอาทิอย่างนี้ คือ
               ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ หิริ โอตตัปปะ ศรัทธา วิริยะ สติ สัมปชัญญะ สีลวิสุทธิ จิตวิสุทธิ ทิฏฐิวิสุทธิ สมถะ วิปัสสนา
               กุศลมูล ๓ สุจริต ๓ สัมมาวิตก ๓ อนวัชชสัญญา ๓ ธาตุ ๓
               สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อริยมรรค ๔ อริยผล ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ ญาณกำหนดรู้กำเนิด ๔ อริยวงศ์ ๔ เวสารัชชญาณ ๔ องค์ของภิกษุผู้บำเพ็ญเพียร ๕ สัมมาสมาธิมีองค์ ๕ สัมมาสมาธิมีญาณ ๕ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ นิสสารณียธาตุ ๕ วิมุตตายตนญาณ (ญาณเป็นบ่อเกิดแห่งวิมุตติ) ๕ วิมุตติปริปาจนียปัญญา (ปัญญาเป็นเครื่องบ่มวิมุตติ) ๕
               อนุสติฐาน (ที่ตั้งแห่งอนุสติ) ๖ คารวะ ๖ นิสสารณียธาตุ ๖ สัตตวิหารธรรม ๖ อนุตริยะ ๖ นิพเพธภาคิยสัญญา ๖ อภิญญา ๖ อสาธารณญาณ ๖
               อปริหานิยธรรม ๗ อริยทรัพย์ ๗ โพชฌงค์ ๗ สัปปุริสธรรม ๗ นิชชรวัตถุ ๗ สัญญา ๗ เทศนาว่าด้วยทักขิไณยบุคคล ๗ เทศนาว่าด้วยพลธรรมของพระขีณาสพ ๗
               เทศนาว่าด้วยเหตุให้ได้ปัญญา ๘ สัมมัตตธรรม ๘ การล่วงพ้นโลกธรรม ๘ อารัมภวัตถุ ๘ อักขณเทศนา (เทศนาว่าด้วยขณะที่ไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ได้) ๘ มหาบุรุษวิตก ๘ เทศนาว่าด้วยอภิภายตนะ ๘ วิโมกข์ ๘
               ธรรมที่มีโยนิโสมนสิการเป็นมูล ๙ องค์ของภิกษุผู้บำเพ็ญเพียรเพื่อความบริสุทธิ์ ๙ เทศนาว่าด้วยสัตตาวาส ๙ อุบายกำจัดอาฆาตวัตถุ ๙ สัญญา ๙ นานัตตธรรม ๙ อนุปุพพวิหารธรรม ๙
               นาถกรณธรรม ๑๐ กสิณายตนะ (บ่อเกิดกสิณ) ๑๐ กุศลกรรมบถ ๑๐ สัมมัตตธรรม ๑๐ อริยวาสธรรม ๑๐ อเสกขธรรม ๑๐ ตถาคตพละ ๑๐
               อานิสงส์เมตตา ๑๑ อาการธรรมจักร ๑๒ ธุดงค์คุณ ๑๓ พุทธญาณ ๑๔ วิมุตติปริปาจนียธรรม ๑๕ อานาปานสติ ๑๖ อตปนียธรรม ๑๖ พุทธธรรม ๑๘ ปัจจเวกขณญาณ ๑๙ ญาณวัตถุ ๔๔ อุทยัพพยญาณ ๕๐ กุศลธรรมมากกว่า ๕๐ ญาณวัตถุ ๗๗ สมาบัติสองล้านสี่แสนโกฏิ มหาวชิรญาณ ๕ เทศนานัยว่าด้วยการพิจารณาปัจจัยในอนันตนยสมันตปัฏฐานปกรณ์ และญาณแสดงถึงอาสยะเป็นต้น ของสัตว์ทั้งหลายไม่มีที่สุดในโลกธาตุอันไม่มีที่สุด.
               เพราะเหตุนั้น เมื่อควรจะขนานพระนามว่า ภาควา เพราะเหตุที่ทรงมีภาคแห่งคุณ ตามที่ได้กล่าวจำแนกไว้แล้ว
               ท่านก็ขนานพระนามว่า ภควา โดยรัสสะ อา อักษรเป็น อะ อักษร.
               พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าภควา เพราะหมายความว่าทรงมีภาคธรรม ดังพรรณนามานี้ก่อน
                                   เพราะเหตุที่ภาคแห่งคุณทั้งหมด มีศีลเป็นต้น
                         มีอยู่ในพระสุคตอย่างครบถ้วน ฉะนั้น บัณฑิตจึงขนาน
                         พระนามพระองค์ว่า ภควา.

               ๒. ทรงอบรมพุทธกรธรรม               
               พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ภควา เพราะหมายความว่า ทรงอบรมพุทธกรธรรมเป็นอย่างไร?
               คือ พุทธกรธรรม (ธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า) เหล่านั้นใดมีอาทิอย่างนี้ คือ บารมี ๑๐ ได้แก่ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี อุปบารมี ๑๐ และปรมัตถบารมี ๑๐ รวมเป็นบารมี ๓๐ ถ้วน สังคหวัตถุ ๔ มีทานเป็นต้น อธิษฐานธรรม ๔ มหาบริจาค ๕ คือ การบริจาคร่างกาย การบริจาคนัยนา (ดวงตา) การบริจาคทรัพย์ การสละราชสมบัติ การบริจาคบุตรและภรรยา บุพประโยค บุพจริยา การกล่าวธรรม พระจริยาที่เป็นประโยชน์แก่โลก พระจริยาที่เป็นประโยชน์แก่พระญาติ พระจริยาที่เป็นประโยชน์ในฐานะเป็นพระพุทธเจ้า ที่พระมหาสัตว์ทั้งหลายผู้ถึงความขวนขวาย เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลกทั้งมวล ผู้ประมวลธรรม ๘ ประการ มีความเป็นมนุษย์เป็นต้นไว้อย่างพร้อมมูลแล้วกระทำมหาภินิหารไว้ เพื่อบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ ควรบำเพ็ญให้บริบูรณ์
               หรือเมื่อว่าโดยย่อ คือพุทธกรธรรมที่เป็นเหตุเพิ่มบุญ เพิ่มญาณ (ปัญญา) พุทธกรธรรมเหล่านั้นที่พระองค์ทรงบำเพ็ญ คือสั่งสมมาโดยเคารพอย่างครบถ้วนไม่ขาดสาย สิ้นเวลา ๔ อสงไขยกำไรแสนกัป นับแต่มหาภินิหาร (ที่ได้รับจากพระพุทธทีปังกร) มา โดยที่พุทธกรธรรมเหล่านั้นมิได้อยู่ในภาคเสื่อม มิได้อยู่ในภาคเศร้าหมอง หรือมิได้อยู่ในภาคหยุดชะงัก โดยที่แท้อยู่ในภาคคุณวิเศษที่สูงๆ ขึ้นไป มีอยู่แก่พระองค์ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงพระนามว่า ภตวา (ผู้บำเพ็ญพุทธกรธรรม) ดังนั้น เมื่อควรขนานพระนามว่า ภตวา แต่กลับถวาย พระนามว่า ภควา เพราะแปลงอักษร ให้เป็นอักษร ตามนัยแห่งนิรุกติศาสตร์.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ภตวา มีความว่า ทรงสั่งสม คืออบรมไว้ ได้แก่บำเพ็ญพุทธกรธรรม ตามที่กล่าวแล้วนั้นนั่นแล. พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ภควา เพราะหมายความว่า ทรงอบรมพุทธกรธรรม แม้ด้วยประการฉะนี้.
                                   เพราะเหตุที่พระโลกนาถทรงอบรมสัมภารธรรม
                         ทั้งหมดมีทานบารมีเป็นต้น เพื่อพระสัมมาสัมโพธิญาณ
                         ฉะนั้น จึงถวายพระนามว่า ภควา.

               ๓. ทรงเสพภาคธรรม               
               พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ภควา เพราะหมายความว่า ทรงเสพภาคธรรมเป็นอย่างไร?
               คือส่วนแห่งสมาบัติที่ใช้ทุกวันนับได้จำนวนสองหมื่นสี่พันโกฏิเหล่าใดมีอยู่ พระพุทธเจ้าทรงใช้ ทรงคบ ทรงซ่องเสพ ได้แก่ทรงทำให้มากอยู่เนืองนิตย์ ซึ่งส่วนแห่งสมาบัติเหล่านั้นไม่มีเหลือ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลก และเพื่อประทับอยู่อย่างเป็นสุขในปัจจุบันของพระองค์ เพราะเหตุนั้น จึงทรงพระนามว่าภควา เพราะหมายความว่าทรงเสพภาคธรรม.
               อีกประการหนึ่ง ในธรรมทั้งหลายที่ควรรู้ยิ่ง มีกุศลเป็นต้น และมีขันธ์เป็นต้น ธรรมเหล่าใดเป็นส่วนที่ควรรู้ยิ่งด้วยอำนาจเป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้เป็นต้น หรือเป็นส่วนที่ควรรู้ยิ่ง๑- โดยย่อก็มีอยู่ ๔ อย่าง
____________________________
๑- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๓

               แต่เมื่อว่าโดยพิสดาร ก็คือ
               ธรรมทั้งหลายเป็นส่วนที่ควรกำหนดรู้หลายประเภทโดยนัยเป็นต้นว่า จักษุเป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ ฯลฯ ชราและมรณะเป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ ๑
               ธรรมทั้งหลายเป็นส่วนที่ต้องละหลายประเภท โดยนัยเป็นต้นว่า เหตุเกิดของจักษุต้องละ ฯลฯ เหตุเกิดของชราและมรณะต้องละ ๑
               ธรรมทั้งหลายเป็นส่วนต้องทำให้แจ้งหลายประเภทโดยนัยเป็นต้นว่า การดับของจักษุต้องทำให้แจ้ง ฯลฯ การดับของชราและมรณะต้องทำให้แจ้ง ๑
               ธรรมทั้งหลายเป็นส่วนต้องทำให้เจริญหลายประเภทโดยนัยเป็นต้นว่า ปฏิปทาที่มีปกติให้ถึงความดับแห่งจักษุต้องเจริญ ฯลฯ สติปัฏฐาน ๔ ต้องเจริญ ๑
               ธรรมเหล่านั้นทั้งหมด พระพุทธเจ้าทรงใช้ ทรงคบ ทรงเสพด้วยอำนาจอารมณ์ ภาวนาและอาเสวนะตามควร.
               พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ภควา เพราะหมายความว่า ทรงเสพภาคธรรมดังพรรณนามาฉะนี้.
               อีกประการหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงเสพ ทรงปรารถนาด้วยพระมหากรุณาว่า หมวดธรรมมีศีลเป็นต้นเหล่านี้เป็นส่วนแห่งคุณ คือเป็นภาคแห่งคุณที่ทั่วไป ทำไฉนหนอ หมวดธรรมเหล่านั้นจะพึงดำรงมั่นอยู่ในสันดานของเวไนยสัตว์. และความปรารถนานั้นของพระองค์ ก็ได้นำผลมาให้สมพระประสงค์. พระพุทธเจ้าจึงทรงพระนามว่าภควา เพราะหมายความว่าทรงเสพภาคธรรมดังพรรณนามาฉะนี้.
                                   เพราะเหตุที่พระตถาคตเจ้าทรงเสพ ทรงปรารถนา
                         ภาคแห่งคุณ คือการบรรลุไญยธรรม เพื่อเป็นประโยชน์
                         เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลาย ฉะนั้น จึงทรงพระนามว่า ภควา.

               ๔. ทรงเสพภคธรรม               
               พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ภควา เพราะหมายความว่าทรงเสพภคธรรม เป็นอย่างไร?
               คือว่าโดยย่อก่อน สมบัติทั้งหลายทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตระชื่อว่าภคะ เพราะอันบุคคลทั้งหลายผู้ทำบุญไว้แล้ว ถึงพร้อมด้วยปโยคะ เสพได้ตามควรแก่สมบัติ.
               ก่อนอื่นในภคธรรมทั้งสองนั้น ภคธรรมที่เป็นโลกิยะอันสูงสุดอย่างยิ่งยวด พระตถาคตเจ้า ครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ก่อนที่จะได้ตรัสรู้ ก็ได้เสวย คบ เสพมาแล้ว ซึ่งพระองค์ทรงดำรงอยู่ แล้วจึงได้พิจารณาพุทธกรธรรมอย่างครบถ้วน บ่มพุทธธรรมให้สุกเต็มที่
               ต่อเมื่อได้เป็นพระพุทธเจ้าก็ได้เสวย คบ เสพภคธรรมเหล่านั้นอันเป็นโลกุตระประกอบด้วยภาวะอันไม่มีโทษ ลึกซึ้ง ไม่สาธารณ์แก่บุคคลอื่น.
               ส่วนที่ว่าโดยพิสดาร พระตถาคตเจ้า (ครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์) ก็ได้เสวย คบ เสพภคธรรม (อันเป็นโลกิยะ) ที่ไม่สาธารณะแก่บุคคลอื่นหลายอย่าง คือความเป็นพระเจ้าประเทศ ความเป็นเอกราช จักรพรรดิราชสมบัติ และเทวราชสมบัติเป็นต้น และครั้นได้เป็นพระพุทธเจ้าก็ได้เสวย คบ เสพภคธรรม (อันเป็นโลกุตระ) ที่ไม่สาธารณะแก่บุคคลอื่นหลายอย่าง คืออุตริมนุสธรรม มีฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ ญาณทัสสนะ การเจริญมรรคและการทำผลให้แจ้งเป็นต้น.
               พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ภควา เพราะความหมายว่าทรงเสพภคธรรม ดังพรรณนามาฉะนี้.
                                   เพราะเหตุที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเสพโลกิยสมบัติ
                         และโลกุตรสมบัติจำนวนมาก ฉะนั้น จึงได้รับขนานพระนาม
                         ว่า ภควา.

               ๕. ทรงมีคนภักดี               
               พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ภควา เพราะหมายความว่าทรงมีคนภักดี เป็นอย่างไร?
               คือพระองค์ทรงมีคนภักดี คือมีคนที่ภักดีอย่างมั่งคงอยู่มาก เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าทรงมีคนภักดี.
               เป็นความจริง พระตถาคตเจ้าชื่อว่าสูงสุดกว่าสรรพสัตว์ เพราะพรั่งพร้อมด้วยคุณวิเศษที่มีอำนาจหาที่เปรียบประมาณมิได้ อาทิพระมหากรุณาและพระสัพพัญญุตญาณ ชื่อว่าสูงสุดกว่าสรรพสัตว์ เพราะทรงมีอุปการะอย่างยิ่งยวดในหมู่สัตว์กับทั้งเทวดาและมนุษย์ ด้วยปโยคสมบัติอันยอดเยี่ยม นิรัติสัย มีการบำบัดสิ่งไม่เป็นประโยชน์ถึงก่อน มีการจัดสิ่งที่เป็นประโยชน์สุขให้ครบถ้วนเป็นเบื้องหน้า.
               ชื่อว่าสูงสุดกว่าสรรพสัตว์ เพราะทรงมีรูปกายประดับด้วยคุณวิเศษอันไม่สาธารณะแก่บุคคลอื่น เช่น มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ อนุพยัญชนะ ๘๐ และพระรัศมีที่แผ่ซ่านออกไปวาหนึ่งเป็นต้น.
               ชื่อว่าสูงสุดกว่าสรรพสัตว์ เพราะทรงประกอบด้วยเสียงสดุดีที่แสนไพบูลย์แสนบริสุทธิ์ แผ่ไปในไตรโลกเป็นไปโดยนัยเป็นต้นว่า อิติปิโส ภควา ซึ่งพระองค์ทรงได้มาจากพระคุณตามที่เป็นจริง.
               ชื่อว่าสูงสุดกว่าสรรพสัตว์ เพราะทรงดำรงมั่นอยู่ในพระคุณ มีความมักน้อยและความสันโดษเป็นต้นที่ถึงขั้นเป็นบารมีขั้นสูงสุด.
               ชื่อว่าสูงสุดกว่าสรรพสัตว์ เพราะทรงประกอบด้วยคุณวิเศษอันยิ่งยวดมีทสพลญาณ และจตุเวสารัชชญาณเป็นต้น.
               ชื่อว่าทรงเป็นยอด คือทรงเป็นฐานให้เกิดความภักดีอย่างพร้อมมูล เพราะทรงเป็นบ่อเกิดแห่งความเอื้อเฟื้อ ความนับถือและความเคารพอย่างมากของสัตว์ทั้งหลายไม่จำกัดรวมทั้งเทวดาและมนุษย์ เพราะทรงเป็นผู้ที่น่าเลื่อมใสทุกด้าน โดยทรงนำความเลื่อมใสมาให้โดยประการทั้งปวงในโลกสันนิวาสผู้ยึดถือประมาณ ๔ อย่างนี้คือ
                         ผู้ถือรูปเป็นประมาณก็เลื่อมใสในรูป ๑
                         ผู้ถือเสียงเป็นประมาณก็เลื่อมใสในเสียง ๑
                         ผู้ถือความเศร้าหมองเป็นประมาณก็เลื่อมใสในความเศร้าหมอง ๑
                         ผู้ถือธรรมเป็นประมาณก็เลื่อมใสในธรรม ๑.
               บุคคลเหล่าใดตั้งอยู่ในโอวาทของพระองค์ ประกอบพร้อมด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว ความภักดีของบุคคลเหล่านั้นอันใครๆ จะเป็นสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร หรือพรหม ก็ลักไปไม่ได้. เป็นความจริง บุคคลเหล่านั้นแม้ตนเองจะต้องเสียชีวิต ก็จะไม่ยอมทิ้งความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้านั้น หรือคำสั่งของพระองค์ ก็เพราะต่างมีความภักดีอย่างมั่นคง
               ด้วยเหตุนั้นแล พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า๑-
                                   ผู้ใดแลเป็นปราชญ์ เป็นผู้กตัญญูกตเวที
                         ผู้นั้นย่อมเป็นกัลยาณมิตรและมีความภักดีอย่าง
                         มั่นคง.

               และว่า๒- ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนมหาสมุทรตั้งอยู่เสมอฝั่งเป็นธรรมดาไม่ล้นฝั่ง ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย เหล่าสาวกของเราก็จะไม่ยอมล่วงละเมิดสิกขาบทที่เราตถาคตบัญญัติแล้วแก่สาวกทั้งหลาย แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต ฉันนั้นเหมือนกันแล.
               พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ภควา เพราะหมายความว่าทรงมีคนภักดี ดังพรรณนามาฉะนี้
               เมื่อควรจะขนานพระนามว่า ภตฺตวา แต่กลับขนานพระนามว่า ภควา โดยลบ อักษรเสียตัวหนึ่งแล้วแปลง อักษรอีกตัวหนึ่งให้เป็น อักษร ตามนัยแห่งนิรุกติศาสตร์.
                                   เพราะเหตุที่พระศาสดาผู้ประกอบด้วยพระคุณอันยิ่งยวด
                         ทรงมีปกติแสวงหาประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตวโลก ทรงมีคนภักดี
                         มาก ฉะนั้น จึงได้รับขนานพระนามว่า ภควา.
                         
____________________________
๑- ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๒๔๖๖
๒- วิ. จุล. เล่ม ๗/ข้อ ๔๕๘

               ๖. ทรงคายภคธรรม               
               พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าภควา เพราะหมายความว่าทรงคายภคธรรมเป็นอย่างไร?
               คือเพราะเหตุที่พระตถาคตเจ้า แม้ครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ ได้ทรงคายขยอกทิ้งซึ่งสิริและอิสริยยศ ที่เรียกว่าภคะ อย่างไม่ใยดีเหมือนทรงบ้วนก้อนเขฬะทิ้งฉะนั้น. จริงอย่างนั้น อัตภาพที่พระองค์ทรงสละสิริราชสมบัติอันเป็นเช่นกับราชสมบัติของเทวดาด้วยอำนาจการบำเพ็ญเนกขัมมบารมี กำหนดจำนวนไม่ได้ในชาติทั้งหลาย
               มีอาทิอย่างนี้ คือ
                         ในคราวเกิดเป็นโสมนัสสกุมาร
                         ในคราวเกิดเป็นหัตถิปาลกุมาร
                         ในคราวเกิดเป็นอโยฆรบัณฑิต
                         ในคราวเกิดเป็นมูคปักขบัณฑิต (พระเตมีย์)
                         ในคราวเกิดเป็นพระเจ้าจูฬสุตโสม.
               แม้ในอัตภาพก่อนๆ พระองค์ก็มิได้สำคัญสิริจักรพรรดิราชสมบัติมีความเป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔ อันเป็นเช่นเดียวกับความเป็นใหญ่ในเทวโลก และยศที่สง่างามด้วยรัตนะ ๗ ซึ่งเป็นที่อาศัยของสมบัติของพระเจ้าจักรพรรดิที่อยู่แค่เอื้อมว่า ยิ่งไปกว่าหญ้า ทรงละทิ้งไปอย่างไม่ใยดี แล้วเสด็จออกอภิเนษกรมณ์ จนได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ ฉะนั้น จึงทรงพระนามว่าภควา เพราะหมายความว่าทรงคายภคธรรมมีสิริเป็นต้น ดังพรรณนามาฉะนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรมทั้งหลายชื่อว่า ภค เพราะเป็นเครื่องไป คือเป็นไปสม่ำเสมอแห่งนักษัตรทั้งหลาย ที่ชื่อว่า ภา อันอาศัยโลกพิเศษซึ่งจำแนกเป็นภูเขาสิเนรุ ยุคันธร อุตตรทวีป กุรุทวีปและภูเขาหิมวันต์เป็นต้น ชื่อว่าโสภา เพราะมีความตั้งมั่นตลอดกัป. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงคาย คือทรงละภคธรรมแม้เหล่านั้นด้วยการละฉันทราคะอันปฏิพัทธ์ในภคธรรมนั้น เพราะก้าวล่วงซึ่งสัตตาวาสอันอยู่อาศัยภคธรรมนั้น. พระพุทธเจ้าพระนามว่าภควา เพราะทรงคายภคธรรมทั้งหลาย แม้ด้วยประการฉะนี้
                                   พระสุคตพระนามว่า ภควา เพราะทรงละจักรพรรดิสิริ
                         ยศ อิสริยะ สุขและการสะสมโลก.

               ๗. ทรงคายภาคธรรม               
               พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าภควา เพราะหมายความว่าทรงคายภาคธรรมเป็นอย่างไร?
               คือชื่อว่าภาคะ ได้แก่โกฏฐาสทั้งหลาย. โกฏฐาสเหล่านั้นมีหลายอย่าง ด้วยอำนาจขันธ์ อายตนะ ธาตุเป็นต้น. แม้ขันธ์อายตนะ ธาตุเป็นต้นนั้น ก็มีโกฏฐาสหลายอย่าง ด้วยอำนาจขันธ์มีรูป เวทนาเป็นต้น และด้วยอำนาจขันธ์ที่เป็นอดีตเป็นต้น.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตัดขาดกิเลสเป็นเหตุให้เนิ่นช้าทั้งหมด (ปปัญจะ) กิเลสเครื่องประกอบไว้ทั้งหมด (โยคะ) กิเลสเครื่องรัดรึง (คัณฐะ) ทั้งหมด กิเลสเครื่องผูกมัดไว้ทั้งหมด (สังโยชน์) ได้แล้ว จึงบรรลุอมตธาตุ ทรงคายขยอกทิ้งภาคธรรมเหล่านั้นโดยมิทรงใยดี คือไม่เสด็จหวนกลับมาหาภาคธรรมเหล่านั้น.
               จริงอย่างนั้น พระองค์ทรงคาย ขยอก สลัด ทิ้งส่วนแห่งธรรมทั้งหมดทีเดียวโดยไม่มีส่วนเหลือ แม้ด้วยการจำแนกธรรมไปตามลำดับบทมีอาทิ คือปฐวี อาโป เตโช วาโย ซึ่งมีอยู่ในที่ทุกแห่งทีเดียว จักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มนะ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ จักษุวิญญาณ ฯลฯ มโนวิญญาณ จักษุสัมผัส ฯลฯ มโนสัมผัส จักษุสัมผัสชาเวทนา ฯลฯ มโนสัมผัสชาเวทนา จักษุสัมผัสชาสัญญา ฯลฯ มโนสัมผัสชาสัญญา จักษุสัมผัสชาเจตนา ฯลฯ มโนสัมผัสชาเจตนา รูปตัณหา ฯลฯ ธรรมตัณหา รูปวิตก ฯลฯ ธรรมวิตก รูปวิจาร ฯลฯ ธรรมวิจาร ทั่วถ้วนทุกอย่าง
               สมจริงดังพระดำรัสที่ตรัสไว้ดังนี้ว่า๑-
               อานนท์ สิ่งใดที่ตถาคตสละแล้ว คายแล้ว พ้นแล้ว ละได้แล้ว สละคืนแล้ว ตถาคตจักกลับมาหาสิ่งนั้นอีก เรื่องนี้ไม่ใช่ฐานะจะมีได้.

               พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าภควา เพราะหมายความว่าทรงคายภาคธรรม ดังว่ามานี้.
____________________________
๑- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๑๐๖

               อีกประการหนึ่ง บทว่า ภาเค วมิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงคาย ขยอก สละ ทิ้งธรรมทั้งหมด คือกุศลธรรมและอกุศลธรรม ธรรมที่มีโทษและไม่มีโทษ ธรรมที่เลวและประณีต ธรรมที่มีส่วนเปรียบด้วยธรรมดำและธรรมขาว ทางพระโอษฐ์คืออริยมรรคญาณ และทรงแสดงธรรมเพื่อความเป็นอย่างนั้น แก่บุคคลเหล่าอื่น.
               สมจริงดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า๒-
               ภิกษุทั้งหลาย แม้ธรรมทั้งหลายเธอก็ต้องละ จะป่วยกล่าวไปไยถึงอธรรมเล่า
               ภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตจึงแสดงธรรมเปรียบด้วยแพแก่เธอทั้งหลาย เพื่อต้องการให้ถ่ายถอน มิใช่เพื่อให้ยึดถือเป็นต้น.

____________________________
๒- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๒๘๐

               พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าภควา เพราะหมายความว่า ทรงคายภาคธรรม แม้ดังพรรณนามาฉะนี้.
                                   เพราะเหตุที่ธรรมดำและธรรมขาวซึ่งแยกประเภท
                         ออกเป็นขันธ์ อายตนะ ธาตุเป็นต้น อันพระพุทธเจ้าผู้ทรง
                         แสวงหาพระคุณอันยิ่งใหญ่ทรงคายได้แล้ว ฉะนั้น พระองค์
                         จึงได้รับขนานพระนามว่า ภควา.
               ด้วยเหตุนั้น พระโบราณาจารย์จึงกล่าวว่า
                                   พระชินเจ้าทรงพระนามว่า ภควา เพราะหมายความ
                         ว่า ทรงมีภาคธรรม ทรงอบรมพุทธกรธรรม ทรงเสพภาค
                         ธรรม ทรงมีภคธรรม ทรงมีคนภักดี ทรงคายภคธรรม ทรง
                         คายภาคธรรม.
               อันพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

               ความหมายของอรหํ               
               บทว่า อรหตา ความว่า อันพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ชื่อว่าเป็นพระอรหันต์
                         เพราะเหตุเหล่านี้คือ เพราะทรงห่างไกลจากกิเลสทั้งหลาย ๑
                         เพราะทรงทำลายข้าศึกคือกิเลสไม่มีส่วนเหลือ ๑
                         เพราะทรงทำลายซี่กำแห่งสังสารจักร ๑
                         เพราะทรงควรแก่ปัจจัยเป็นต้น ๑
                         เพราะไม่มีความลับในการทำบาป ๑
               นี้คือความย่อในบทนี้
               ส่วนความพิสดารพึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วในวิสุทธิมรรคเถิด.
               อนึ่ง ในอธิการนี้พึงทราบวินิจฉัย ดังต่อไปนี้
               ด้วยบทว่า ภควตา นี้ท่านแสดงถึงความถึงพร้อมด้วยพระรูปกาย อันไม่สาธารณ์แก่บุคคลอื่น ประดับด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ อนุพยัญชนะ ๘๐ และพระเกตุมาลามีรัศมีแผ่ไปได้ประมาณ ๑ วา ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ผู้ชื่อว่าทรงบุญลักษณะไว้ตั้ง ๑๐๐ เพราะทรงมีบุญสมภารที่ทรงสั่งสมไว้หลายอสงไขยกัป ด้วยการแสดงว่าพระองค์ทรงคายภาคยธรรมได้แล้ว.
               ด้วยบทว่า อรหตา นี้ท่านแสดงถึงความถึงพร้อมด้วยพระธรรมกายที่เป็นอจินไตย อาทิ พลญาณ ๑๐ เวสารัชชญาณ ๔ อสาธารณญาณ ๖ และอาเวณิกพุทธธรรม (ธรรมเฉพาะพระพุทธเจ้า) ๑๘ เพราะแสดงการบรรลุสัพพัญญุตญาณมีการสิ้นอาสวะเป็นปทัฏฐาน โดยการแสดงการละกิเลสที่ไม่มีส่วนเหลือ.
               ด้วยบททั้งสอง ท่านแสดงถึงความที่พระองค์อันนักปราชญ์ชาวโลกนับถือมาก ๑ ความที่พระองค์อันคฤหัสถ์และบรรพชิตพึงเข้าไปหา ๑ ความที่พระองค์ทรงสามารถในการบำบัดทุกข์ทางกาย และทางใจของคฤหัสถ์และบรรพชิตเหล่านั้นผู้เข้าไปหา ๑ ความที่พระองค์ทรงมีอุปการะด้วยอามิสทาน และธรรมทาน ๑ ความที่พระองค์ทรงสามารถในการชักนำประชาชนให้ประกอบด้วยคุณที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ ๑.
               อนึ่ง ด้วยบทว่า ภควตา นี้ ท่านแสดงความถึงพร้อมด้วยจรณะ (ของพระองค์) โดยแสดงความประกอบพร้อมด้วยวิหารธรรม อันวิเศษมีทิพวิหารธรรมเป็นต้น อันเป็นยอดในบรรดาจรณธรรมทั้งหลาย.
               ด้วยบทว่า อรหตา นี้ ท่านแสดงความถึงพร้อมด้วยวิชชา โดยแสดงการบรรลุอาสวักขยญาณ อันเป็นยอด (สูงสุด) ในวิชชาทุกประการ
               อีกอย่างหนึ่ง ด้วยบทแรก (ภควตา) ท่านประกาศถึงการประกอบด้วยเวสารัชชญาณข้อหลัง ๒ ข้อ โดยแสดงความที่อันตรายิกธรรม และนิยยานิกธรรม อันพระองค์ทรงจำแนกไว้ไม่มีผิดพลาด. ด้วยบทหลัง (อรหตา) ท่านประกาศถึงการประกอบด้วยเวสารัชชญาณข้อแรก ๒ ข้อ โดยแสดงการละกิเลส พร้อมทั้งวาสนาได้ไม่มีเหลือ.
               อนึ่ง ด้วยบทแรก (ภควตา) ท่านประกาศถึงความบริบูรณ์แห่งอธิษฐานธรรมคือสัจจะ และอธิษฐานธรรมคือจาคะ โดยแสดงถึงปฏิญญาสัจจะ วจีสัจจะ และญาณสัจจะของพระตถาคต โดยแสดงถึงการสละทิ้งกามคุณ ความเป็นใหญ่ทางโลก ยศ ลาภ และสักการะเป็นต้น และโดยแสดงถึงการสละทิ้งอภิสังขารคือกิเลสไม่มีเหลือ. ด้วยบทที่ ๒ (อรหตา) ท่านประกาศถึงความบริบูรณ์แห่งอธิษฐานธรรมคืออุปสมะ และอธิษฐานธรรมคือปัญญา โดยแสดงถึงการได้บรรลุการสงบระงับสังขารทั้งหมด และโดยแสดงถึงการบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ.
               จริงอย่างนั้น ความมีอธิษฐานธรรมคือสัจจะเป็นบารมีของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ ได้ทำอภินิหารไว้ในโลกุตรคุณ ถึงความบริบูรณ์ เพราะทรงบำเพ็ญบารมีทุกข้อตามปฏิญญา เนื่องจากทรงประกอบด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ความมีอธิษฐานธรรมคือจาคะเป็นบารมี ถึงความบริบูรณ์ เพราะทรงสละทิ้งสิ่งที่เป็นข้าศึก ความมีอธิษฐานธรรมคืออุปสมะเป็นบารมี ถึงความบริบูรณ์ เพราะทำจิตให้สงบด้วยคุณทั้งหลาย รวมความว่า อธิษฐานธรรมคือปัญญา ถึงความบริบูรณ์ เพราะความที่พระองค์ทรงฉลาดในอุบายอันเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น ดังพรรณนามานี้แล.
               อนึ่ง อธิษฐานธรรมคือสัจจะ ถึงความบริบูรณ์ เพราะทรงปฏิญญาว่าจักให้ไม่ทำชนผู้ขอ ให้คลาดเคลื่อน (พลาดหวัง) คือเพราะทรงให้โดยไม่ทำปฏิญญาให้คลาดเคลื่อน อธิษฐานธรรมคือจาคะ ถึงความบริบูรณ์ เพราะทรงสละไทยธรรม อธิษฐานธรรมคืออุปสมะ ถึงความบริบูรณ์ เพราะทรงระงับภัย คือโลภะ โทสะ โมหะ ได้ในเมื่อผู้รับไทยธรรมไม่มี และไทยธรรมคือทานหมดไป อธิษฐานธรรมคือปัญญา ถึงความบริบูรณ์ เพราะทรงให้ตามควรตามกาล และตามวิธี และเพราะทรงยิ่งด้วยปัญญา. ความบริบูรณ์แห่งอธิษฐานธรรม ๔ แม้ในบารมีที่เหลือก็พึงทราบตามนัยนี้.
               ก็บารมีทั้งหมดอบรม (ทำให้เกิดมี) ด้วยสัจจะ เด่นชัดด้วยจาคะ เพิ่มพูนด้วยอุปสมะ บริสุทธิ์ด้วยปัญญา รวมความว่า อธิษฐานธรรม คือ สัจจะของพระตถาคต ผู้ประกอบด้วยอธิษฐานธรรม ๔ ถึงความบริบูรณ์ ดังพรรณนามานี้.
               ศีลวิสุทธิ ถึงความบริบูรณ์ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรมคือสัจจะ อาชีววิสุทธิ ถึงความบริบูรณ์ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรมคือจาคะ จิตวิสุทธิ ถึงความบริบูรณ์ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรมคืออุปสมะ ทิฏฐิวิสุทธิ ถึงความบริบูรณ์ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรมคือปัญญา.
               อนึ่ง ศีลของพระตถาคตนั้น พึงทราบด้วยการอยู่ร่วมกัน เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรมคือสัจจะ ความสะอาด พึงทราบด้วยการแลกเปลี่ยน (สังโวหาร) เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรมคือจาคะ. กำลังใจ พึงทราบในคราวมีอันตรายทั้งหลาย เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรมคืออุปสมะ. ปัญญา พึงทราบในคราวสนทนา เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรมคือปัญญา.
               อนึ่ง พระตถาคตอันโทสะประทุษร้ายไม่ได้ ทรงยับยั้งพระทัยให้อยู่เหนือโทสะได้ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรมคือสัจจะ พระตถาคตอันโลภะให้ละโมบไม่ได้ ทรงเสพปัจจัย เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรมคือจาคะ พระตถาคตอันภัยทำให้หวาดกลัวไม่ได้ ทรงหลีกเว้นได้ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรมคืออุปสมะ พระตถาคตอันโมหะให้หลงไม่ได้ ทรงขจัดโมหะเสียได้ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรมคือปัญญา.
               อนึ่ง การที่ทรงบรรลุถึงเนกขัมมสุขของพระตถาคตนั้น ท่านแสดงไว้ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรมคือสัจจะ. การที่ทรงบรรลุถึงปวิเวกสุข ท่านแสดงไว้ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรมคือจาคะ. การที่ทรงบรรลุถึงอุปสมสุข ท่านแสดงไว้ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรมคืออุปสมะ. การที่ทรงบรรลุถึงสัมโพธิสุข ท่านแสดงไว้ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรมคือปัญญา.
               อีกอย่างหนึ่ง การที่ทรงบรรลุถึงปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก ท่าน แสดงไว้ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรมคือสัจจะ การที่ทรงบรรลุถึงปีติ และสุขอันเกิดจากสมาธิ ท่านแสดงไว้ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรมคือจาคะ การที่ทรงบรรลุถึงสุขทางกายอันเกิดจากปีติ ท่านแสดงไว้ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรมคืออุปสมะ การที่ทรงบรรลุถึงอุเบกขาและสุขอันเกิดจากความบริสุทธิ์ของสติ ท่านแสดงไว้ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรมคือปัญญา.
               อนึ่ง การที่ทรงประกอบด้วยความสุขอันเกิดจากปัจจัย ซึ่งมีบริวารสมบัติเป็นลักษณะ ท่านแสดงไว้ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรมคือสัจจะ เหตุที่ไม่ตรัสให้คลาดเคลื่อน การที่ทรงประกอบด้วยความสุขตามสภาวะซึ่งมีความสันโดษเป็นลักษณะ ท่านแสดงไว้ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรมคือจาคะ เหตุที่พระองค์ไม่มีโลภะ การที่ทรงประกอบด้วยความสุขอันเกิดจากเหตุมีความเป็นผู้ได้ทำบุญไว้แล้วเป็นลักษณะ ท่านแสดงไว้ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรมคืออุปสมะ เหตุที่พระองค์ไม่ทรงถูกกิเลสครอบงำ การที่ทรงประกอบด้วยความสุขอันเกิดจากความสงบระงับทุกข์ ซึ่งมีวิมุตติสมบัติเป็นลักษณะ ท่านแสดงไว้ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรมคือปัญญา เหตุที่ทรงบรรลุนิพพานได้ด้วยญาณสมบัติ.
               อนึ่ง การที่ตรัสรู้และแทงตลอดศีลขันธ์อันเป็นอริยะได้สำเร็จ ท่านแสดงไว้ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรมคือสัจจะ การที่ตรัสรู้และแทงตลอดสมาธิขันธ์อันเป็นอริยได้สำเร็จ ท่านแสดงไว้ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรมคือจาคะ การที่ตรัสรู้และแทงตลอดปัญญาขันธ์อันเป็นอริยะได้สำเร็จ ท่านแสดงไว้ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรมคือปัญญา การที่ตรัสรู้และแทงตลอดวิมุตติขันธ์อันเป็นอริยะได้สำเร็จ ท่านแสดงไว้ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรมคืออุปสมะ. ความสำเร็จแห่งปัจจัย ๔ ท่านแสดงไว้ เพราะทรงบำเพ็ญอธิษฐานธรรมคือสัจจะ ความสำเร็จแห่งการสละทิ้งทั้งปวง ท่านแสดงไว้ เพราะทรงบำเพ็ญอธิษฐานธรรมคือจาคะ ความสำเร็จแห่งอินทรียสังวร ท่านแสดงไว้ เพราะทรงบำเพ็ญอธิษฐานธรรมคืออุปสมะ ความสำเร็จแห่งพุทธิ ท่านแสดงไว้ เพราะทรงบำเพ็ญอธิษฐานธรรมคือปัญญา และความสำเร็จแห่งนิพพาน ท่านก็แสดงไว้ เพราะทรงบำเพ็ญอธิษฐานธรรมคือปัญญานั้น.
               อนึ่ง การได้ตรัสรู้อริยสัจ ๔ ท่านแสดงไว้ เพราะทรงบำเพ็ญอธิษฐานธรรมคือสัจจะ. การได้อริยวงศ์ ๔ ท่านแสดงไว้ เพราะทรงบำเพ็ญอธิษฐานธรรมคือจาคะ การได้อริยวิหารธรรม ๔ ท่านแสดงไว้ เพราะทรงบำเพ็ญอธิษฐานธรรมคืออุปสมะ การได้อริยโวหาร ๔ ท่านแสดงไว้ เพราะทรงบำเพ็ญอธิษฐานธรรมคือปัญญา.
               อีกนัยหนึ่ง ท่านประกาศพระมหากรุณาของพระตถาคตเจ้า โดยแสดงการที่พระองค์ทรงปรารถนาโลกิยสมบัติและโลกุตรสมบัติแก่สัตว์ทั้งหลาย ด้วยบทว่า ภควตา นี้ ประกาศปหานปัญญาโดยแสดงการที่พระองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยการละ ด้วยบทว่า อรหตา นี้.
               บรรดาพระปัญญาและพระกรุณาทั้งสองนั้น ประกาศการที่พระองค์ทรงบรรลุความเป็นพระสัทธรรมราชาด้วยพระปัญญา ประกาศการที่พระองค์ทรงจำแนกธรรมไว้อย่างดีด้วยพระกรุณา. ประกาศการที่พระองค์ทรงหน่ายในสังสารทุกข์ด้วยพระปัญญา ประกาศการที่พระองค์ทรงทำลายสังสารทุกข์ด้วยพระกรุณา. ประกาศการที่พระองค์ทรงกำหนดรู้สังสารทุกข์ด้วยพระปัญญา ประกาศการที่พระองค์ทรงเริ่มแก้ทุกข์ของบุคคลอื่นด้วยพระกรุณา. ประกาศการที่พระองค์ทรงมีพระทัยมุ่งมั่นต่อปรินิพพานด้วยพระปัญญา ประกาศการที่พระองค์ทรงบรรลุปรินิพพานนั้นด้วยพระกรุณา. ประกาศการที่พระองค์ทรงข้ามพ้นสังสารด้วยพระองค์เองด้วยพระปัญญา ประกาศการที่พระองค์ทรงยังบุคคลเหล่าอื่นให้ข้ามพ้นสังสารด้วยพระกรุณา. ประกาศความสำเร็จแห่งความเป็นพุทธะด้วยพระปัญญา ประกาศความสำเร็จแห่งพุทธกิจด้วยพระกรุณา.
               อีกประการหนึ่ง ประกาศภาวะที่พระองค์ทรงเผชิญอยู่ในสงสารในภูมิแห่งพระโพธิสัตว์ด้วยพระกรุณา ประกาศการที่พระองค์ไม่ยินดีในสังสารนั้นด้วยพระปัญญา.
               อนึ่ง ประกาศการที่พระองค์ทรงทำบุคคลเหล่าอื่นให้ได้รับอภิเษก (ด้วยน้ำอมฤต) ด้วยพระกรุณา ประกาศการที่พระองค์ไม่ทรงหวั่นเกรงบุคคลเหล่าอื่นด้วยพระปัญญา.
               (ประกาศพระดำรัสที่ว่า) เมื่อรักษาคนอื่น ก็ชื่อว่า รักษาตนด้วยพระกรุณา (ประกาศพระดำรัสที่ว่า) เมื่อรักษาตน ก็ชื่อว่ารักษาบุคคลอื่นด้วย ด้วยพระปัญญา อนึ่ง ประกาศการที่พระองค์ไม่ทำบุคคลอื่นให้เดือดร้อน ด้วยพระกรุณาประกาศการที่พระองค์ ไม่ทำพระองค์เองให้เดือดร้อน ด้วยพระปัญญา. ด้วยการที่ไม่ทรงทำพระองค์เองให้เดือดร้อนนั้น จึงเป็นอันสำเร็จภาวะเป็นบุคคลที่สี่ (พระอรหันต์) ในบรรดาบุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนเองเป็นต้น. อนึ่ง ประกาศความที่พระองค์ทรงเป็นที่พึ่งของโลก ด้วยพระกรุณาประกาศความที่พระองค์ ทรงเป็นที่พึ่งของพระองค์เอง ด้วยพระปัญญา. อนึ่ง ประกาศภาวะที่พระองค์ไม่มีอาการฟุบลง (ด้วยอำนาจความเกียจคร้าน) ด้วยพระกรุณา ประกาศภาวะที่พระองค์ไม่มีอาการฟูขึ้น (ด้วยอำนาจกิเลส) ด้วยพระปัญญา.
               อนึ่ง ในบรรดาสรรพสัตว์ การทรงอนุเคราะห์หมู่ชนของพระตถาคตเจ้า มีเพราะพระกรุณา แต่พระตถาคตเจ้าก็หาได้มีพระทัยปราศจากพระกรุณาในที่ทุกแห่งไม่ เพราะทรงคล้อยตามพระปัญญา พระองค์ทรงมีพระทัยปล่อยวางในธรรมทั้งปวง ก็ด้วยพระปัญญา แต่พระองค์ก็หาได้ทรงประพฤติเพื่ออนุเคราะห์สัตว์ทุกประเภทไม่ เพราะทรงคล้อยตามพระกรุณา. เหมือนอย่างว่า พระกรุณาของพระตถาคตเจ้า เว้นจากความเสน่หา และความโศก ฉันใด พระปัญญาของพระองค์ก็ฉันนั้น คือพ้นจากอหังการ และมมังการ รวมความว่า พระกรุณาและปัญญา (ของพระองค์) ต่างชำระกันและกันให้บริสุทธิ์ จึงควรเห็นว่า เป็นพระคุณบริสุทธิ์อย่างยิ่ง.
               บรรดาพระกรุณาและพระปัญญาทั้งสองนั้น ขอบเขตแห่งพระปัญญาเป็นพละ ขอบเขตแห่งพระกรุณาเป็นเวสารัชชะ. บรรดาพละและเวสารัชชะทั้งสองนั้น เพราะทรงประกอบด้วยพละ พระตถาคตเจ้าจึงไม่ถูกคนอื่นครอบงำ เพราะทรงประกอบด้วยเวสารัชชะ พระองค์จึงทรงครอบงำคนอื่นได้. ความสำเร็จแห่งสัตถุสัมปทา (ของพระองค์) มีได้เพราะพละทั้งหลาย ความสำเร็จแห่งศาสนสัมปทามีได้เพราะเวสารัชชะทั้งหลาย. อนึ่ง ความสำเร็จแห่งพุทธรัตนะมีได้เพราะพละทั้งหลาย ความสำเร็จแห่งธรรมรัตนะมีได้เพราะเวสารัชชะทั้งหลาย.
               นี้เป็นการแสดงเพียงแนวทางการขยายความของบททั้งสองที่ว่า ภควตา อรหตา ในที่นี้.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ เอกนิบาต ปฐมวรรค โลภสูตร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 178อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 179อ่านอรรถกถา 25 / 180อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=4405&Z=4418
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=27&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=27&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๘  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :