ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 178อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 179อ่านอรรถกถา 25 / 180อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ เอกนิบาต
ปฐมวรรค โลภสูตร

หน้าต่างที่ ๓ / ๓.

               ประวัตินางขุชชุตตรา               
               ได้ทราบว่า นับจากนี้ไปในตอนท้ายแสนกัป พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ทรงประกาศพระธรรมจักรอันประเสริฐ แล้วประทับอยู่ในเมืองหงสาวดี.
               อยู่มาวันหนึ่ง กุลธิดานางหนึ่งในเมืองหงสาวดี ได้ไปยังอารามพร้อมกับอุบาสิกา ซึ่งกำลังไปเพื่อฟังเทศนาของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงแต่งตั้งอุบาสิกาคนหนึ่งไว้ในเอตทัคคะ (ตำแหน่งที่เลิศกว่า) อุบาสิกาทั้งหลายผู้เป็นพหูสูต จึงทำบุญแล้วปรารถนาฐานันดรนั้น.
               ฝ่ายพระศาสดาก็ทรงพยากรณ์อุบาสิกานั้นว่า ในอนาคตกาล นางจักได้เป็นอุบาสิกา ผู้เป็นสาวิกาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม จักเป็นผู้เลิศในบรรดาอุบาสิกาผู้เป็นพหูสูตด้วยกัน. นางทำกุศลจนตลอดชีวิตแล้ว ก็ไปบังเกิดในเทวโลก (จุติจากเทวโลกแล้ว) ก็มาบังเกิดในหมู่มนุษย์อีก เมื่อนางท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลก และมนุษยโลกอย่างนี้แล ล่วงไปได้หนึ่งแสนกัป ครั้นแล้วในภัททกัปนี้ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย นางก็ได้จุติจากเทวโลกมาถือปฏิสนธิ ในท้องหญิงพี่เลี้ยงในเรือนของโฆสิตเศรษฐี.
               ชนทั้งหลายได้ตั้งชื่อให้นางว่า อุตตรา ในเวลาที่เกิดมาแล้ว นางได้กลายเป็นหญิงค่อม เพราะเหตุนั้น จึงปรากฏชื่อว่า ขุชชุตตรา ต่อมาในเวลาที่โฆสิตเศรษฐีถวายนางสามาวดีแก่พระเจ้าอุเทน นางขุชชุตตรานั้นก็ถูกยกให้ไปเป็นนางปริจาริกา ของนางสามาวดีนั้น (และ) อยู่ภายในราชสำนักของพระเจ้าอุเทน.
               ก็สมัยนั้น โฆสิตเศรษฐี กุกกุฏเศรษฐี และปาวาริกเศรษฐี ในเมืองโกสัมพี ได้พากันสร้างวิหาร ๓ แห่ง อุทิศพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อพระตถาคตเจ้าเสด็จจาริกไปในชนบท ถึงพระนครโกสัมพี ก็ได้มอบถวายวิหารแด่พระสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข แล้วพากันบำเพ็ญมหาทาน. ประมาณเดือนหนึ่งผ่านพ้นไป.
               ครั้งนั้น เศรษฐีเหล่านั้นได้มีความคิด ดังนี้ว่า ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงอนุเคราะห์โลกทั้งหมด พวกเราจักให้โอกาสแก่คนอื่นบ้าง แม้คนที่อยู่ในตัวเมืองโกสัมพี ก็ได้เปิดโอกาสให้แก่ประชาชนทั่วไป ตั้งแต่นั้นมา พวกชาวเมืองก็พากันถวายมหาทาน โดยรวมคนในถนน (เดียวกัน) บ้าง โดยรวมกันเป็นคณะบ้าง.
               อยู่มาวันหนึ่ง พระศาสดาอันภิกษุสงฆ์แวดล้อมแล้ว ประทับนั่งในเรือนของนายมาลาการผู้เป็นหัวหน้า. ขณะนั้น นางขุชชุตตราได้รับทรัพย์ ๘ กหาปณะ แล้วไปยังเรือนนั้นเพื่อซื้อดอกไม้ไปให้นางสามาวดี นายมาลาการผู้เป็นหัวหน้าเห็นนางแล้วก็กล่าวว่า แม่อุตตรา วันนี้ (ฉัน) ไม่มีเวลาที่จะให้ดอกไม้แก่เธอ ฉันกำลังอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข แม้เธอก็จงเป็นสหายในการเลี้ยงดูเถิด เมื่อทำอย่างนี้แล้ว เธอก็จักพ้นไปจากการทำการรับใช้บุคคลอื่น (เสียที). ครั้งนั้น นางขุชชุตตราก็ได้ทำการรับใช้พระพุทธเจ้าทั้งหลายในโรงครัว. นางได้เรียนธรรมทั้งหมดที่พระศาสดาตรัสแล้วด้วยอำนาจเป็นอุปนิสินนกถา ต่อมาได้ฟังอนุโมทนาแล้วได้บรรลุโสดาปัตติผล.
               ในวันอื่นๆ นางให้ ๔ กหาปณะเท่านั้น แล้วรับเอาดอกไม้ไป. แต่ในวันนั้น เพราะได้เห็นสัจจะ นางไม่ยังจิตให้เกิดในสิ่งของของบุคคลอื่นให้หมดทั้ง ๘ กหาปณะ แล้วได้รับเอาดอกไม้ไปยังสำนักของนางสามาวดี.
               ลำดับนั้น พระนางสามาวดีนั้นได้ถามนางว่า แม่อุตตรา ในวันอื่นๆ เธอนำดอกไม้มาให้ไม่มาก แต่วันนี้นำมาให้มาก พระราชาของเราทั้งหลายทรงเลื่อมใสมากขึ้นหรือ? นางได้ทูลเรื่องทั้งหมดไม่ปกปิดเรื่องที่ตนได้ทำไปแล้ว เพราะไม่สามารถจะกล่าวเท็จได้ และเมื่อนางถูกถามว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร วันนี้จึงนำดอกไม้มามาก ก็ทูลตอบว่า วันนี้ หม่อมฉันได้ฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วได้ทำให้แจ้งซึ่งอมตะ เพราะเหตุนั้น หม่อมฉันจึงลวงพระองค์ท่านไม่ได้.
               พระนางสามาวดีทรงสดับคำนั้นแล้ว ก็มิได้ทรงขู่ตะคอกว่า เฮ้ยนางทาสีผู้ชั่วร้าย แกจงคืนกหาปณะที่แก (ยักยอก) เอาไปตลอดเวลาเท่านี้มา (พระนาง) อันบุรพเหตุตักเตือน ได้ตรัสว่า แม่ ขอแม่จงให้พวกเราได้ดื่มน้ำอมฤตที่แม่ได้ดื่มแล้วบ้างเถิด. เมื่อนางขุชชุตตราทูลว่า ถ้าอย่างนั้น จงทรงพระกรุณาให้หม่อมฉันอาบน้ำ (ก่อน) ก็ทรงให้นางอาบน้ำด้วยน้ำหอม ๑๖ หม้อ แล้วรับสั่งให้ประทานผ้าเนื้อเกลี้ยง ๒ ผืน.
               นางขุชชุตตรานั้นนุ่งผืนหนึ่ง อีกผืนหนึ่งเอาห่มเฉวียงบ่าแล้ว ปูลาดอาสนะนั่งบนอาสนะถือพัดอันวิจิตร ร้องทักมาตุคามทั้ง ๕๐๐ นางซึ่งนั่งอยู่บนอาสนะที่ต่ำกว่า ดำรงอยู่ในเสกขปฏิสัมภิทา แสดงธรรมแก่หญิงเหล่านั้น ตามนิยามที่พระศาสดาทรงแสดงแล้วนั่นแล.
               เวลาจบเทศนา หญิงทั้งหลายนั้นได้บรรลุโสดาปัตติผล หญิงทั้งหมดนั้นไหว้นางขุชชุตตราพลางกล่าวว่า ข้าแต่แม่เจ้า ตั้งแต่วันนี้ไป ขอแม่เจ้าอย่าได้ทำงานอันต่ำต้อยอีกต่อไปเลย ขอแม่เจ้าจงดำรงอยู่ในฐานะเป็นมารดา ในฐานะเป็นอาจารย์ของเราทั้งหลายเถิด ดังนี้แล้วได้ตั้ง (นาง) ไว้ในฐานะเป็นที่เคารพ.

               อดีตชาติของนางขุชชุตตรา               
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร นางขุชชุตตรานี้จึงบังเกิดเป็นนางทาสี?
               ตอบว่า เล่ากันว่า ในกาลแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ นางบังเกิดเป็นธิดาของเศรษฐีในเมืองพาราณสี เมื่อพระเถรีผู้เป็นพระขีณาสพรูปหนึ่งไปยังตระกูลอุปัฏฐาก ก็เรียนว่า ข้าแต่แม่เจ้า ขอแม่เจ้าจงให้กระเช้าประดับนั่นแก่ดิฉันเถิด ดังนี้แล้ว สั่งให้คนใช้ทำการรับใช้ (พระเถรี).
               ฝ่ายพระเถรีคิดว่า เมื่อเราไม่ให้ นางจักเกิดความอาฆาต (ตายแล้ว) จักไปเกิดในนรก เมื่อเราให้ นางจักเกิดเป็นทาสีของคนอื่น การที่นาง (เกิด) เป็นทาสีดีกว่าการไหม้ในนรก ดังนี้แล้ว อาศัยความกรุณาจึงได้ทำตามคำของนาง. ด้วยกรรมนั้น นางได้บังเกิดเป็นทาสีของคนอื่นสิ้น ๕๐๐ ชาติ.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร นางจึงได้เป็นหญิงค่อม?
               ตอบว่า เล่ากันว่า เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติขึ้น นางอยู่ในพระราชวังของพระเจ้าพาราณสี เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้เป็นราชกุลุปกะองค์หนึ่งหลังค่อมนิดหน่อย เมื่อจะทำการล้อเลียนต่อหน้าหญิงที่อยู่ด้วยกันกับตน จึงได้แสดงอาการหลังค่อมเป็นการสนุกสนานตามที่กล่าว เพราะเหตุนั้น นางจึงบังเกิดเป็นหญิงค่อม
               ถามว่า ก็นางทำกรรมอะไรไว้จึงเกิดเป็นหญิงมีปัญญามาก?
               ตอบว่า เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติขึ้น นางอยู่ในพระราชวังของพระเจ้าพาราณสี เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ๘ องค์ เปลี่ยน (มือ) อุ้มบาตรที่เต็มด้วยข้าวปายาสร้อน (ที่รับ) จากพระราชวังก็ได้ถวายวลัยงา ๘ อันซึ่งเป็นของตน พลางเรียนว่า ขอพระคุณเจ้าโปรดวาง (บาตร) ไว้บนวลัยนี้ แล้วอุ้ม (บาตร) เถิด. พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นทำตามนั้นแล้วมองดู (นาง). นางเรียนว่า วลัยเหล่านี้ ดิฉันสละถวายแด่พระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าจงถือไปเถิด พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นได้ไปยังเงื้อมเขานันทมูลกะ แม้จนวันนี้ วลัยเหล่านั้นก็ยังไม่ผุกร่อนเลย. นางเกิดเป็นหญิงมีปัญญามากเพราะผลแห่งกรรมนั้น.
               ต่อมา สตรี ๕๐๐ นางซึ่งมีพระนางสามาวดีเป็นประมุข ได้กล่าวกะนางว่า ข้าแต่แม่ ขอแม่จงไปยังสำนักของพระศาสดาทุกวัน สดับธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว (มา) แสดงแก่เราบ้าง. นางได้ทำตามนั้น ในเวลาต่อมาจึงกลายเป็นผู้ทรงจำพระไตรปิฏก เพราะเหตุนั้น พระศาสดาจึงตั้งนางไว้ในเอตทัคคะว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาอุบาสิกาสาวิกาของเราที่เป็นพหูสูต ขุชชุตตรานี้เป็นเลิศ
               อุบาสิกาขุชชุตตราผู้เป็นอริยสาวิกาได้บรรลุปฏิสัมภิทาอันพระศาสดาทรงตั้งไว้ในเอตทัคคะ เพราะเป็นพหูสูต
               เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ในกรุงโกสัมพี ได้ไปยังสำนักพระศาสดาตามกาลอันสมควร ได้ฟังธรรมแล้ว กลับไปภายในราชสำนัก เมื่อจะกล่าวธรรมตามที่ได้ฟังมา ตามนิยามที่พระศาสดาทรงแสดงแก่สตรีอริยสาวิกา ๕๐๐ นางมีพระนางสามาวดีเป็นประมุข เมื่อจะเปลื้องตนประกาศความที่ธรรมตนได้สดับในสำนักพระศาสดา
               จึงยกนิทาน (คำเริ่มต้น) ขึ้นว่า
               ข้าพเจ้าได้สดับมาว่า ก็คำนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้ว คือพระอรหันต์ตรัสไว้แล้วดังพรรณนามาฉะนี้.
               ก็เพราะเหตุที่นางขุชชุตตรานั้นได้ฟังมาเฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าในนครนั้นแล แล้วกล่าวแก่สตรีเหล่านั้นในวันนั้นด้วย ฉะนั้นจึงไม่มีประโยชน์ที่จะอ้างเวลาและสถานที่ว่า สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในกรุงโกสัมพี เพราะเวลาและสถานที่ปรากฏชัดอยู่แล้ว.
               ฝ่ายภิกษุณีทั้งหลายก็ได้เรียนเอาสูตรเหล่านี้ในสำนักนางขุชชุตตรานั้น.
               แม้ในหมู่ภิกษุ นิทาน (คำเริ่มต้น) ที่นางขุชชุตตรานั้นยกขึ้นไว้ก็ปรากฏโดยสืบทอดกันมาอย่างนี้.
               ต่อมา ท่านพระอานนท์นั่งสังคายนาพระธรรมอยู่ในท่ามกลางคณะพระเถระผู้เชี่ยวชาญมีพระมหากัสสปะเป็นประมุข ในสัทธรรมมณฑปที่พระเจ้าอชาตศัตรูทรงให้สร้างขึ้นที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ภายหลังจากเวลาที่พระตถาคตเจ้าปรินิพพาน เมื่อจะหลีกเลี่ยง (ไม่ต้องการให้) นิทานของสูตรเหล่านี้มี ๒ นิทาน จึงยกนิทานขึ้นตามนิยามที่นางขุชชุตตรานั้นยกไว้แล้วแล.
               แต่อาจารย์บางพวกขยายประการในที่นี้ให้มากออกไป ประโยชน์อะไรด้วยประการเหล่านั้น.

               อิติวุตตกะมี ๑๑๒ สูตร               
               อีกอย่างหนึ่ง พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายสังคายนาพระธรรมวินัยไว้โดยนัยต่างๆ จริงอยู่ พระมหาเถระผู้สังคายนาพระธรรมเป็นพระอนุพุทธะ (ผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า) พระมหาเถระเหล่านั้นรู้อาการสังคายนาพระธรรมวินัย โดยชอบแท้ทีเดียว ในที่บางแห่งจึงตั้งนิทาน (คำเริ่มต้น) ไว้โดยนัยเป็นต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ในที่บางแห่งตั้งนิทานไว้โดยนัยเป็นต้นว่า เตน สมเยน ในที่บางแห่งตั้งนิทาน โดยเป็นคาถาพันธ์ (แต่) ในที่บางแห่งไม่ตั้งนิทานไว้ทั้งหมด สังคายนาพระธรรมวินัย โดยแยกเป็นวรรคสังคหะเป็นต้น.
               บรรดาอาคตสถานเหล่านั้น ในที่นี้ พระสังคีติกาจารย์ตั้งนิทานไว้โดยนัยเป็นต้นว่า วุตฺตํ เหตํ แล้วสังคายนา (พระธรรมวินัย) พุทธวจนะนี้มีองค์ ๙ โดยแยกเป็นสุตตะเคยยะเป็นต้นของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ก็เป็นเหมือนพุทธวจนะมีองค์ ๙ นั่น.
               สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ดังนี้ว่า ก็พุทธวจนะมีองค์ ๙ คือ สุตตะ เคยยะ ฯลฯ ของพระพุทธเจ้าเหล่านั้นมีน้อย เป็นต้น
               ในบรรดาองค์เหล่านั้น องค์ คืออิติวุตตกะไม่ปรากฏนิทานอะไรๆ อย่างอื่นเลย ยกเว้นคำนี้ว่า วุตฺตํ เหตํ ฯเปฯ เม สุตํ ซึ่งเป็นเครื่องหมายของอิติวุตตกะนั้น. ด้วยเหตุนั้น พระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า สูตร ๑๑๒ สูตรที่เป็นไปโดยนัยเป็นต้นว่า วุตฺตํ เหตํ ภควตา จัดเป็นอิติวุตตกะ เพราะเหตุนั้น พึงทราบว่า พระธรรมสังคาหกาจารย์ทั้งหลาย หรือแม้พระอริยสาวิกาผู้รู้พระประสงค์ของพระศาสดา จึงได้ตั้งนิทานไว้โดยนัยนี้แล เพื่อให้ทราบว่า สูตรเหล่านี้จักเป็นองค์ คืออิติวุตตกะ.

               กล่าวคำนิทานไว้ทำไม?               
               ถามว่า ก็พระอานนท์เมื่อจะทำการรวบรวมพระธรรมวินัย ได้กล่าวคำนิทานไว้เพื่ออะไร? ท่านควรทำการรวบรวมพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้มิใช่หรือ?
               ข้าพเจ้าจะเฉลย พระอานนท์กล่าวคำนิทานไว้เพื่อยังความดำรงมั่น ความไม่เลอะเลือน และความเป็นของควรเชื่อแห่งเทศนาให้ถึงพร้อม.
               เป็นความจริง เทศนาที่ผูกพันอยู่กับข้ออ้าง คือกาละ (เวลา) เทสะ (สถานที่) ผู้แสดงและบริษัท ย่อมเป็นเทศนาดำรงอยู่ได้มั่นคง ไม่เลอะเลือน และเป็นเทศนาควรเชื่อ. การวินิจฉัยโวหารเป็นเหมือนผูกพันอยู่กับเครื่องหมาย คือเทสะ กาละ กัตตา (ผู้ทำ) และโสตา (ผู้ฟัง) ก็ท่านพระอานนท์ผู้เป็นขุนคลังแห่งพระธรรมนั้นแล เมื่อพระมหากัสสปะทำการปุจฉาถึงเทสะ (สถานที่ตรัส) เป็นอาทิแห่งพรหมชาลสูตรและมูลปริยายสูตรเป็นต้น จะทำการวิสัชนาปุจฉาเหล่านั้นจึงกล่าวคำนิทานไว้โดยนัยเป็นต้นว่า เอวมฺเม สุตํ. แต่ในที่นี้ ท่านกล่าวเหตุไว้แล้วแล ในเพราะระบุถึงกาละและเทสะ.
               อีกประการหนึ่ง คำนิทาน ท่านกล่าวไว้เพื่อประกาศสมบัติของพระศาสดา.
               จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระตถาคต ทรงสำเร็จความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ เพราะไม่มีการรจนาไว้ก่อน ไม่มีการอนุมาน และไม่มีตรรกในปริยัติ. ก็พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีความต้องการด้วยการรจนาไว้ก่อนเป็นต้น เพราะทรงมีพระญาณสอดส่องไปไม่ถูกขัดขวางในธรรมทั้งปวง และเพราะทรงมีประมาณเป็นหนึ่งในไญยธรรมทั้งหลาย.
               อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสำเร็จเป็นพระขีณาสพได้ เพราะไม่มีกำมือของอาจารย์ คือความตระหนี่ธรรม และความยินดีแม้แต่น้อยในผู้ฟังคำสอน (ของพระองค์) เพราะว่าธรรมเหล่านั้นหาเกิดขึ้นแก่พระขีณาสพโดยตลอดไม่ เพราะฉะนั้น พฤติกรรมที่อนุเคราะห์ผู้อื่น จึงเกิดแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงบริสุทธิ์อย่างยิ่ง.
               ความสำเร็จเวสารัชชญาณ ๒ ข้อข้างต้นของพระผู้มีพระภาคเจ้า (สัมมาสัมพุทธปฏิญญา ๑ ขีณาสวปฏิญญา ๑) มีได้ด้วยสัมพุทธภาวะ (ตรัสรู้เองโดยชอบ) และวิสุทธภาวะ (ทรงหมดจด) ที่บ่งถึงความไม่มีโดยสิ้นเชิงแห่งอวิชชาและตัณหา อันเป็นตัวประทุษร้ายทิฏฐิสัมปทา และสีลสัมปทาเป็นสังกิเลส (เครื่องเศร้าหมอง) ของผู้แสดง และที่ทำญาณสัมปทา และปหานสัมปทาให้ปรากฏ
               และความสำเร็จเวสารัชชญาณ ๒ ข้อหลัง (อันตรายิกธรรมวาทะ ๑ นิยยานิกธรรมเทศนา ๑) มีได้เพราะทรงด้วยคำนิทาน เป็นอันพระอานนทเถระประกาศการที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกอบด้วยเวสารัชชญาณ ๔ อย่าง อันเป็นที่อาศัยบำเพ็ญประโยชน์เพื่อพระองค์ และประโยชน์เพื่อผู้อื่น เพราะทรงแสดงพระธรรมเทศนาด้วยพระปฏิภาณที่เกิดขึ้นตามฐานะที่ควร เหมาะสมกับอัธยาศัยของบริษัทผู้ประสบ (พระองค์) แล้วในที่นั้นๆ. แต่ในที่นี้ ควรประกอบคำพูดว่า การละโทษของกามโดยไม่มีส่วนเหลือ และโดยการแสดงถึงพระธรรมเทศนาตามวิธี ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงได้กล่าวไว้ว่า ท่าน (พระอานนท์) กล่าวนิทานพจน์ไว้ เพื่อประกาศพระคุณสมบัติของพระศาสดา.
               อนึ่ง ในเรื่องนี้ ท่านแสดงถึงการประกาศเนื้อความให้แจ่มแจ้งตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ในหนหลังนั่นเอง ด้วยบทเหล่านี้ว่า ภควตา อรหตา.
               อนึ่ง พระอานนทเถระกล่าวคำนิคมไว้ เพื่อประกาศคุณสมบัติของพระศาสนา (คำสอนของพระองค์) เพราะว่า ข้อปฏิบัติของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงมีพระกิริยาทุกอย่างอันพระญาณและพระกรุณาประคองไว้ที่ไร้ประโยชน์หรือเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่พระองค์เท่านั้น คือการเห็นแก่ตัวจะไม่มี เพราะฉะนั้น กายกรรม วจีกรรมและมโนกรรมแม้ทั้งหมดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงมีพระกิริยาทุกอย่างที่เป็นไปแล้ว เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นทีเดียวที่กำลังกล่าวถึงตามที่เป็นไปแล้ว ชื่อว่าเป็นคำสอน (เหมือนกัน) เพราะอรรถว่าเป็นเหตุสอนสัตว์ทั้งหลายได้เนืองๆ ตามความเหมาะสมกับประโยชน์ชาตินี้ ประโยชน์ชาติหน้า และประโยชน์อย่างยิ่ง ไม่ใช่เพราะรจนาไว้ทั้งหมด ท่านประกาศพระจริตของพระศาสดานี้นั้นไว้ตามสมควร ด้วยนิทานพจน์ทั้งหลาย ที่อ้างถึงกาละเทสะผู้แสดงและบริษัท แต่ในที่นี้ ควรประกอบถ้อยคำว่า ที่อ้างถึงผู้แสดงและบริษัทเข้าไว้ ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า (สาสนสมฺปตฺติปฺปกาสนตฺถํ นิทานวจนํ ท่านกล่าวนิทานพจน์ไว้ เพื่อประกาศคุณสมบัติของพระศาสนา).
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านกล่าวนิทานพจน์ไว้เพื่อแสดงว่า คำสอนเอาเป็นประมาณได้ เพราะประกาศว่า พระศาสดาเอาเป็นประมาณได้. ก็การแสดงว่า คำสอนนั้นเอาเป็นประมาณได้นั้น พึงทราบว่าได้ประกาศไว้แล้ว ด้วยบทเหล่านี้ว่า ภควตา อรหตา ตามแนวแห่งนัยที่ได้กล่าวไว้แล้วในหนหลัง ในที่นี้ คำนี้แสดงเพียงช่องทางของประโยชน์แห่งคำนิทานเท่านั้น ดังนี้แล.
               จบนิทานวรรณนา               

               เอกนิบาตวรรณนา               
               ปฐมวคฺควณฺณนา               
               โลภสุตฺตวณฺณนา               
               บัดนี้ ถึงโอกาสแห่งการพรรณนาพระสูตรที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกขึ้นโดยนัยเป็นต้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงละธรรมอย่างหนึ่ง ดังนี้. ก็การพรรณนาความนี้นั้น เพราะเป็นการปรากฏที่ท่านกล่าววิจารณ์ ถึงบทตั้งของพระสูตรไว้ ฉะนั้น เราจักวิจารบทตั้งของพระสูตรก่อน.
               จริงอยู่ บทตั้ง (ของพระสูตร) มี ๔ อย่าง คือ อัตตัชฌาสยะ ๑ ปรัชฌาสยะ ๑ ปุจฉาวสิกะ ๑ อัตถุปปัตติกะ ๑.
               อันที่จริง พระสูตรทั้งหลาย แม้มีประเภทตั้งแสนมิใช่น้อย ก็ไม่เกิน ๑๖ อย่างไปได้โดยปัฏฐานนัย (การเริ่มต้น) มีสังกิเลสภาคิยะ (เป็นไปในส่วนแห่งความเศร้าหมอง) เป็นต้น ฉันใด พระสูตรทั้งหลายย่อมไม่เกิน ๔ อย่างไปได้ โดยบทตั้งของพระสูตรมีอัตตัชฌาสยะเป็นต้น ฉันนั้น ด้วยประการฉะนี้.
               ใน ๔ อย่างนั้น อัตตัชฌาสยะและอัตถุปปัตติ ย่อมมีความเกี่ยวข้องกับปรัชฌาสยะและปุจฉา เพราะมีความสืบเนื่องกันแห่งอัตตัชฌาสยะ และปุจฉา คืออัตตัชฌาสยะและปรัชฌาสยะ อัตตัชฌาสยะและปุจฉาวสิกะ อัตถุปปัตติกะและปรัชฌาสยะ อัตถุปปัตติกะและปุจฉาวสิกะฉันใด เป็นความจริงแท้ที่แน่นอนที่อัตถุปปัตติ ย่อมมีความเกี่ยวข้องแม้ด้วยอัตตัชฌาสยะฉันนั้น แต่อัตถุปปัตติไม่มีความเกี่ยวข้องด้วยอัตตัชฌาสยะเป็นต้น อันเกิดขึ้นแต่ต้น เพราะฉะนั้น ปัฏฐานนัยอันไม่มีเศษเหลือ จึงไม่เกิด. อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบว่า ท่านกล่าวถึงบทตั้งของพระสูตรไว้ ๔ อย่างด้วยตั้งข้อมูลของบทตั้งที่เหลือ อันเกิดขึ้นเพราะหยั่งลงภายในของนัยนั้น.
               พึงทราบเนื้อความในสูตรนั้นดังต่อไปนี้
               ชื่อว่านิกเขปะ เพราะอรรถว่าอันเขาตั้งไว้ บทตั้งคือพระสูตร ชื่อว่าสุตตนิกเขปะ. อีกอย่างหนึ่ง การตั้งความ ชื่อว่านิกเขปะ การตั้งความแห่งพระสูตร ชื่อว่าสุตตนิกเขปะ.
               อธิบายว่า แสดงพระสูตร อัธยาศัยของตน ชื่อว่าอัตตัชฌาสยะ ชื่อว่าอัตตัชฌาสยะ เพราะเป็นเหตุผลของตนนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอัตตัชฌาสยะ เพราะมีอัธยาศัยของตน แม้ในปรัชฌาสยะก็มีนัยนี้เหมือนกัน. ชื่อปุจฉาวสะ เพราะอำนาจแห่งคำถาม ชื่อว่าปุจฉาวสิกะ. เพราะมีอำนาจแห่งคำถามเรื่องราวอันเป็นเหตุแสดงพระสูตรเกิดขึ้น ชื่อว่าอัตถุปปัตติ. อัตถุปปัตตินั้นแล ชื่อว่าอัตถุปปัตติกะ. ชื่อว่าอัตถุปปัตติกะ เพราะมีเรื่องเกิดขึ้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่านิกเขปะ เพราะเป็นเครื่องยกพระสูตรขึ้น ได้แก่อัตตัชฌาสยะเป็นต้นนั่นเอง. ในอรรถวิกัปนี้ อัธยาศัยของตน ชื่อว่าอัตตัชฌาสยะ อัธยาศัยของคนอื่นชื่อว่าปรัชฌาสยะ. ชื่อว่าปุจฉา เพราะถูกถาม ได้แก่เนื้อความที่ควรถาม ถ้อยคำของผู้รับธรรม อันเป็นไปด้วยคำถาม ชื่อว่าปุจฉาวสะ.
               คำนั้น ท่านกล่าวโดยเป็นปุลลิงค์ว่า ปุจฺฉาวสิโก เพราะเพ่งถึงศัพท์ นิกฺเขป อนึ่ง พึงทราบความในบทนี้อย่างนี้ว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นนั่นเอง ชื่ออัตถุปปัตติกะ.
               อีกอย่างหนึ่ง ความที่อัตตัชฌาสยะเป็นความตั้งของพระสูตร ต่างออกไปควรแล้ว เพราะมิได้เพ่งถึงเหตุ มีความแก่กล้าของอินทรีย์เป็นต้นของบุคคลเหล่าอื่น.
               สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ด้วยอัชฌาสัยของตนอย่างเดียวดังนี้. เพราะให้เทศนาเป็นไป เพื่อดำรงแบบแผนของพระธรรมไว้. ข้อนี้ไม่ควรท้วงว่า ความไม่กีดกันอัชฌาสยะ และปุจฉาของคนเหล่าอื่น อันเป็นปรัชฌาสยะและปุจฉาวสิกะ อันเป็นเหตุของเทศนานิมิตที่เป็นไปแล้วในอุปปัตติ ในอัตถุปปัตติได้อย่างไร หรือความไม่กีดกันของปุจฉาวสิกะ และอัตถุปปัตติกะที่เป็นไปแล้ว ด้วยไม่เข้าไปกีดกันปรัชฌาสยะ ในปรัชฌาสยะได้อย่างไร. เป็นการแยกถือเอาแห่งปรัชฌาสยะ และปุจฉาวสิกะ เพราะถือเอาโดยความเป็นอัตถุปบัติ แห่งความเกิดของเหตุแสดงพระสูตร อันนอกเหนือจากอภินิหารและการสอบถามเป็นต้น เป็นความจริงดังนั้น การแสดงคุณโทษและความเกิดแห่งอามิสเป็นต้น ของพรหมชาลสูตร และธัมมทายาทสูตรเป็นต้น. ท่านเรียกว่านิมิต ท่านแสดงปรัชฌาสยะกระทำอัชฌาสยะ เว้นจากคำถามของคนเหล่าอื่นให้เป็นนิมิต ท่านแสดงปุจฉาวสิกะ ด้วยสามารถคำถาม เพราะเหตุนั้น เนื้อความนี้ปรากฏชัดแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าอันผู้อื่นมิได้ทูลเชิญ ตรัสพระสูตรเหล่าใดโดยอัชฌาสัยของพระองค์อย่างเดียวเท่านั้น เช่น อากังเขยยสูตร ตุวัฏฏกสูตรเป็นต้น อัตตัชฌาสัยเป็นความตั้งของสูตรเหล่านั้น พระสูตรเหล่าใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจตราอัชฌาสัย ความอดทน อภินิหารและความรู้ของคนเหล่าอื่นว่า ธรรมอันแก่กล้าอันจะอบรมราหุลให้พ้นมีอยู่ เราพึงนำราหุลไปในความสิ้นอาสวะให้ยิ่งขึ้นไปแล้ว เช่น ราหุโลวาทสูตร ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรเป็นต้น โดยปรัชฌาสยะ ปรัชฌาสยะเป็นความตั้งของสูตรเหล่านั้น
               ก็เหล่าเทวดามนุษย์ บริษัท ๔ วรรณะ ๔ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วทูลถามปัญหาอย่างนั้นๆ พระสูตรเหล่าใดมีโพชฌงคสังยุตเป็นต้น ที่พระผู้มีพระภาคเจ้ามีผู้ทูลถามอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์ตรัสโพชฌงค์ โพชฌงค์ ขอพระองค์ตรัสนิวรณ์ นิวรณ์ ดังนี้เป็นต้น แล้วตรัส ปุจฉาวสิกะเป็นความตั้งของพระสูตรเหล่านั้น ก็พระสูตรเหล่าใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอาศัยเหตุที่เกิดขึ้นแล้ว เช่นธัมมทายาทสูตร ปุตตมังสูปมสูตร ทารุกขันธูปมสูตรเป็นต้น อัตถุปัตติกะเป็นความตั้งของพระสูตรเหล่านั้น. ในความตั้งพระสูตร ๔ เหล่านี้ ปรัชฌาสยะเป็นความตั้งของพระสูตรนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               จริงอยู่ ท่านยกสูตรนี้ขึ้นด้วยสามารถปรัชฌาสยะ
               ถามว่า ท่านยกขึ้นด้วยอัชฌาสัยของบุคคลเหล่าไหน
               ตอบว่า ด้วยอัชฌาสัยของบุคคลผู้ไม่เห็นโทษในความโลภ. แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่าเป็นอัตตัชฌาสยะ.
               เอกศัพท์ในบทเป็นต้นว่า เอกธมฺมํ ภิกฺขเว ในสูตรนั้นย่อมมีในความอื่น ดังในประโยคเป็นต้นว่า๑- คนพวกอื่นย่อมกล่าวอย่างนี้ว่า อัตตาและโลกเที่ยง นี้เท่านั้นเป็นสัจจะ อย่างอื่นเป็นโมฆะ.
               ย่อมมีในความประเสริฐ ดังในประโยคเป็นต้นว่า๒- เจตโส เอโกทิภาวํ ความที่มีจิตผุดขึ้นดวงเดียว.
               ย่อมมีในความไม่มีเพื่อน ดังในประโยคเป็นต้นว่า๓- เอโก วูปกฏฺโฐ ผู้เดียวหลีกไป
               ย่อมมีในความนับ ดังในประโยคเป็นต้นว่า๔- เอโก จ โข ภิกฺขเว ขโณ จ สมโย จ พฺรหฺมจริยวาสาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขณะและสมัยหนึ่งแล เพื่ออยู่พรหมจรรย์. แม้ในสูตรนี้พึงเห็นว่า ย่อมมีในความนับ
____________________________
๑- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๓๔
๒- ที. สี. เล่ม ๙/ข้อ ๕๐
๓- ขุ. อุ. เล่ม ๒๕/เล่ม ๖๙  องฺ. ปญฺจก. เล่ม ๒๒/ข้อ ๕๖
๔- องฺ. อฏฺฐก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๑๑๙

               ธัมมะศัพท์ ย่อมปรากฏในความมี ปริยัติ สัจจะ สมาธิ ปัญญา ปกติ บุญ อาบัติ สุญญตา เญยยะ สภาวะ เป็นต้น. มีความว่าปริยัติ ในบทมีอาทิว่า๕- ตถาหิสฺส อิธ ภิกฺขุ ธมฺมํ ปริยาปุณาติ เป็นความจริง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเรียนธรรม.
               มีความว่าสัจจะ ในบทมีอาทิว่า๖- ทิฏฺฐธมฺโม เห็นธรรมแล้ว
               มีความว่าสมาธิ ในบทมีอาทิว่า๗- พระผู้มีพระภาคเจ้าเหล่านั้นได้เป็นผู้มีธรรมอย่างนี้.
               มีความว่าปัญญา ในบทมีอาทิว่า๘- สจฺจํ ธมฺโม ธิติ จาโค สเว เปจฺจ น โสจติ
                                   ผู้ตั้งอยู่ในธรรม ๔ ประการ คือ
                         สัจจะ ธรรม ปัญญา จาคะ ละโลกนี้ไป
                         แล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก.
____________________________
๕- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๑๙๑
๖- ที. สี. เล่ม ๙/ข้อ ๑๗๗
๗- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๙
๘- ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๓๑๑  ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๕๗

               มีความว่าปกติ ในบทมีอาทิว่า๙- ชาติธมฺมานํ ภิกฺขเว สตฺตานํ เอวํ อิจฺฉา อุปฺปชฺชติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความปรารถนาของสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีชาติเป็นปกติ ย่อมเกิดขึ้นอย่างนี้.
               มีความว่าบุญ ในประโยคมีอาทิว่า๑๐- ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารี บุญแล ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม.
               มีความว่าอาบัติ ในประโยคมีอาทิว่า๑๑- ติณฺณํ ธมฺมานํ อญฺญตเรน วเทยฺย ปาราชิเกน วา สงฺฆาทิเสน วา ปาจิตฺติเยน วา ภิกษุพึงกล่าวถึงอาบัติ ๓ อย่าง คือปาราชิก หรือสังฆาทิเสส หรือปาจิตตีย์อย่างใดอย่างหนึ่ง.
               มีความว่า สุญญตา ในบทมีอาทิว่า๑๒- ตสฺมึ โข ปน สมเย ธมฺมา โหนฺติ ก็ในสมัยนั้นแล ธรรมทั้งหลายย่อมมี.
               มีความว่า เญยยะ (ธรรมที่ควรรู้) ในบทมีอาทิว่า๑๓- สพฺเพ ธมฺมา สพฺพากาเรน พุทฺธสฺส ภควโต ญาณมุเขน อาปาถํ อาคจฺฉนฺติ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงย่อมมาสู่คลอง โดยญาณมุขของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพุทธะโดยอาการทั้งปวง.
               มีความว่าสภาวะ ในบทมีอาทิว่า๑๔- กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศล ธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศล.
               พึงทราบว่า ในที่นี้ได้แก่สภาวธรรม. เพราะฉะนั้น บทว่า เอกธมฺมํ ประสงค์เอาสภาวธรรมอันเศร้าหมองอย่างเดียว ชื่อว่าเอกธรรม เพราะอรรถว่าเป็นธรรมเดียว. (พวกเธอจงละ) ซึ่งเอกธรรมนั้น
____________________________
๙- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๒๙๕
๑๐- ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๑๔๒๐
๑๑- วิ. มหาวิ. เล่ม ๑/ข้อ ๖๓๕
๑๒- อภิ. สงฺ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๙๙
๑๓- ขุ. มหา. เล่ม ๒๙/ข้อ ๗๒๗  ขุ. จูฬ. เล่ม ๓๐/ข้อ ๔๙๒
๑๔- อภิ. สงฺ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๑

               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ภิกฺขเว ดังนี้
               ถามว่า ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรม ย่อมตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ไม่ทรงแสดงธรรมทีเดียว เพื่ออะไร.
               ตอบว่า เพื่อให้เกิดสติ.
               ด้วยว่า ภิกษุทั้งหลายนั่งคิดอย่างอื่นบ้าง นั่งพิจารณาธรรมบ้าง นั่งมนสิการกรรมฐานบ้าง. เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตรัสเรียกก่อน ทรงแสดงธรรมไปเลย ภิกษุทั้งหลายไม่อาจกำหนดได้ว่า เทศนานี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นปัจจัย. ต่อเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกแล้ว ภิกษุทั้งหลายจึงสามารถตั้งสติกำหนดได้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อให้เกิดสติ จึงตรัสเรียกว่า ภิกฺขเว ดังนี้.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงประกาศข้อปฏิบัติที่ชนเสพที่หย่อนและยิ่ง ด้วยความสำเร็จในการประกอบคุณมีความเป็นผู้มีศีลเป็นต้นแก่ภิกษุเหล่านั้น จึงทรงทำการปรามในความที่จิตน้อมไปในความฟุ้งซ่าน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำภิกษุเหล่านั้นให้หันหน้าต่อพระองค์ ด้วยพระดำรัสอันแผ่ไปด้วยพระกรุณา น้ำพระทัยเยือกเย็น มีดวงพระเนตรเชื่อมฉ่ำเป็นเบื้องต้น ทรงให้ภิกษุเหล่านั้นเกิดความใคร่ที่จะฟัง ด้วยพระดำรัสอันแสดงถึงความเป็นผู้ใคร่ เพื่อจะกล่าวนั้นเอง ทรงชักจูงให้ตั้งใจฟังด้วยดี ด้วยมุ่งให้เกิดความรู้นั้นเอง.
               จริงอยู่ การถึงพร้อมด้วยคำสอน อาศัยการตั้งใจฟัง.
               ถามว่า เมื่อเทวดาและมนุษย์แม้เหล่าอื่น อันเนื่องด้วยบริษัทมีอยู่ เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายเล่า.
               ตอบว่า เพราะภิกษุทั้งหลายเป็นผู้เจริญที่สุด เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้นั่งใกล้ เป็นผู้ใกล้ชิดทุกเมื่อ. จริงอยู่ พระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมสาธารณ์แก่บริษัททั้งปวง ภิกษุทั้งหลายชื่อว่าเป็นผู้เจริญที่สุดในบริษัท เพราะเป็นผู้เกิดก่อน ชื่อว่าประเสริฐที่สุด เพราะปฏิบัติตามพระจริยาของพระศาสดา เริ่มตั้งแต่การออกบวชเป็นต้น และเพราะรับคำสอนไว้ทั้งหมด. ชื่อว่าเป็นผู้ใกล้ เพราะเมื่อภิกษุทั้งหลายนั่งในที่นั้น เป็นผู้อยู่ใกล้ ชื่อว่าเป็นผู้ใกล้ชิดทุกเมื่อ เพราะเป็นผู้อยู่ในสำนักของพระศาสดา. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่าเป็นผู้ใกล้ชิดทุกเมื่อ เพราะเป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอน อันเป็นที่ตั้งแห่งพระธรรมเทศนา และเพราะเป็นผู้มีความวิเศษ.
               เทศนานี้ หมายถึงภิกษุบางพวก เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงตรัสเรียกภิกษุเหล่านั้น.

               ว่าด้วยการละ ๕ อย่าง               
               ชื่อว่าปหานะ ในบทนี้ว่า ปชหถ นี้มี ๕ อย่าง คือ
                         ตทังคปหาน ๑
                         วิกขัมภนปหาน ๑
                         สมุจเฉทปหาน ๑
                         ปฏิปัสสัทธิปหาน ๑
                         นิสสรณปหาน ๑
               ในปหานะ ๕ อย่างนั้น การละความโลภเป็นต้น ด้วยความไม่โลภเป็นต้น การละสิ่งไม่มีประโยชน์นั้นๆ ด้วยวิปัสสนาญาณ มีการกำหนดนามรูปเป็นต้น เพราะเป็นปฏิปักษ์กัน เหมือนการกำจัดความมืดด้วยแสงประทีปฉะนั้น เช่นการละมลทินมีโลภเป็นต้นด้วยการบริจาค การละทุศีลมีปาณาติบาตเป็นต้นด้วยศีล. การละความไม่มีศรัทธาเป็นต้นด้วยศรัทธา. การละสักกายทิฏฐิด้วยกำหนดนามรูป. การละทิฏฐิอันเป็นอเหตุกะและวิสมเหตุ ด้วยการกำหนดปัจจัย. การละความสงสัยด้วยการข้ามพ้นความสงสัยส่วนอื่นๆ นั้นเสียได้. การละความถือมั่นว่าเราของเรา ด้วยพิจารณาเห็นเป็นกลาปะ (กอง). การละความเห็นในสิ่งที่ไม่เป็นมรรคว่าเป็นมรรค ด้วยกำหนดมรรคและอมรรค. การละอุจเฉททิฏฐิด้วยการเห็นความเกิด. การละสัสสตทิฏฐิด้วยเห็นความเสื่อม. การละความสำคัญในสิ่งที่เป็นภัยว่าไม่เป็นภัย ด้วยการเห็นภัย. การละความสำคัญในสิ่งที่ชอบใจ ด้วยการเห็นโทษ. การละความสำคัญในสิ่งที่น่าอภิรมย์ ด้วยการพิจารณาถึงความเบื่อหน่าย. การละความที่ไม่อยากหลุดพ้น ด้วยญาณ คือความอยากพ้น. การละความไม่วางเฉยด้วยอุเบกขาญาณ. การละธรรมฐิติด้วยอนุโลม. การละความเป็นปฏิโลมด้วยนิพพาน. การละความเป็นสังขารนิมิตด้วยโคตรภู.
               การละนี้ชื่อว่า ตทังคปหาน (การละชั่วคราว)
               การละธรรมมีนิวรณ์เป็นต้นเหล่านั้นๆ ด้วยอุปจาระและอัปปนาสมาธิ เหมือนการกำจัดสาหร่ายที่หลังน้ำ ด้วยการทุ่มหม้อน้ำลงไป เพราะห้ามความเป็นไป. การละนี้ชื่อว่า วิกขัมภนปหาน (การละด้วยการข่มไว้)
               การตัดขาดกองกิเลสอันเป็นฝ่ายที่จะให้ตัณหาเกิด ซึ่งท่านกล่าวไว้โดยนัยเป็นต้นว่า๑- จตุนฺนํ อริยมคฺคานํ ภาวิตตฺตา ตํตํมคฺควโต อตฺตโน สนฺตาเน ทิฏฺฐิคตานํ ปหานาย เพื่อละทิฏฐิในสันดานของตนผู้มีมรรคนั้นๆ เพราะเจริญอริยมรรค ๔ ได้แล้ว. การละนี้ชื่อว่า สมุจเฉทปหาน (ละได้เด็ดขาด)
               การละกิเลสทั้งหลาย อันเป็นความสงบในขณะแห่งผล การละนี้ชื่อว่า ปฏิปัสสัทธิปหาน (ละด้วยความสงบกิเลส)
               การดับที่ละเครื่องปรุงแต่งทั้งหมดได้แล้ว เพราะสลัดเครื่องปรุงแต่งทั้งหมดได้ นี้ชื่อว่านิสสรณปหาน (การละด้วยการสลัดออก).
               ในสูตรนี้พึงทราบว่า ได้แก่ สมฺจเฉทปหาน เพราะท่านประสงค์เอาการละที่ทำให้เป็นพระอนาคามีด้วยการละ ๕ อย่างด้วยประการฉะนี้ เพราะฉะนั้น บทว่า ปชหถ จึงมีความว่า เธอทั้งหลายจงสละ จงตัดขาดดังนี้.
____________________________
๑- อภิ. สงฺ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๑๙๖

               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอ้างถึงพระองค์ ด้วยคำว่า อหํ.
               บทว่า โว มีวินิจฉัยดังนี้
               โวศัพท์นี้ ปรากฏในปฐมาวิภัตติ ทุติยาวิภัตติ ตติยาวิภัตติ ฉัฏฐีวิภัตติ ปทปูรณะ และจตุตถีวิภัตติ.
               โวศัพท์มาในปฐมาวิภัตติ ในบทเป็นต้นว่า๒- กจฺจิ ปน โว อนุรุทฺธา สมคฺคา สมฺโมทมานา ดูก่อนอนุรุทธะและพวกเธอยังพร้อมเพรียง บันเทิงกันดีอยู่หรือ.
               มาในทุติยาวิภัตติ ในบทเป็นต้นว่า๓- คจฺฉถ ภิกฺขเว ปณาเมมิ โว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงไป เราประณามพวกเธอ.
               มาในตติยาวิภัตติ ในบทเป็นต้นว่า๔- น โว มม สนฺติเก วตฺถพฺพํ อันพวกเธอไม่ควรอยู่ในสำนักของเรา.
               มาในฉัฏฐีวิภัตติ ในบทเป็นต้นว่า๕- สพฺเพสํ โว สารีปุตฺต สุภาสิตํ คำสุภาษิตของพวกเธอทั้งหมด.
               มาในปทปูรณะ ในบทเป็นต้นว่า๖- เย หิ โว อริยา ปริสุทฺธกายกมฺมนฺตา พระอริยะเหล่าใดแล เป็นผู้มีการงานทางกายบริสุทธิ์.
               มาในจตุตถีวิภัตติ ในบทเป็นต้นว่า๗- ปรมตฺถปริยายํ โว ภิกฺขเว เทเสสฺสามิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงปรมัตถปริยายแก่พวกเธอ.
               ในที่นี้พึงทราบว่า โวศัพท์มาในจตุตถีวิภัตติ.
____________________________
๒- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๓๖๒
๓- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๑๘๖
๔- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๑๘๖
๕- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๓๘๒
๖- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๓๑
๗- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๓๔๕

               บทว่า ปาฏิโภโค ได้แก่ ผู้รับรอง.
               จริงอยู่ ผู้นั้นอาศัยผู้รับรอง ยืมทรัพย์ของผู้มีทรัพย์ ฝากไว้แก่ผู้รับรอง เมื่อถึงคราวจะใช้ก็นำทรัพย์จากผู้รับรองนั้นมาใช้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ปฏิโภโค (ผู้รับรอง) ผู้รับรองนั่นแล ชื่อว่าปาฏิโภโค.
               บทว่า อนาคามิตาย ได้แก่ เพื่อความเป็นพระอนาคามี. ชื่อว่าอนาคามี เพราะไม่มาสู่กามภพ ด้วยการถือปฏิสนธิ. มรรคที่ ๓ พร้อมด้วยผล ชื่อว่าอนาคามี ท่านเรียกว่าอนาคามี เพราะบรรลุธรรมนั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงฉลาดในการฝึกเวไนยสัตว์ ทรงแสดงธรรมอันยิ่งใหญ่ คือตติยมรรค อันอนุกูลแก่อัธยาศัยของเวไนสัตว์ ทรงกระทำให้หนักแน่น ด้วยความบริบูรณ์ในธรรมอันหนึ่ง โดยอุบายฉับพลัน จึงสมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยประการฉะนี้.
               จริงอยู่ กิเลสทั้งหลายอันตติยมรรคพึงทำลาย มีปฏิฆสังโยชน์เป็นต้น แม้เป็นไปในภูมิอื่นก็ไม่พ้นการละกามฉันทะไปได้.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร ในสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงตั้งพระองค์ไว้ในความเป็นผู้รับรองเล่า.
               ตอบว่า เพื่อให้ภิกษุเหล่านั้นเกิดความอุตสาหะในการบรรลุอนาคามิมรรค.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นว่า เมื่อเรากล่าวว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งได้ เราเป็นผู้รับรองเธอทั้งหลาย เพื่อความเป็นพระอนาคามี ดังนี้ ภิกษุทั้งหลายเหล่านี้จะสามารถละธรรมอย่างหนึ่งนั้น แล้วบรรลุตติยภูมิได้แน่นอน ทั้งจะเกิดความอุตสาหะว่า พระธรรมสามีตรัสเป็นครั้งแรกว่า เราเป็นผู้รับรองดังนี้ เพราะอย่างนั้น จักสำคัญถึงข้อที่ควรปฏิบัติ ดังนี้ ฉะนั้น เพื่อให้ภิกษุทั้งหลายเกิดความอุตสาหะ จึงทรงตั้งพระองค์ไว้ในความเป็นผู้รับรองภิกษุเหล่านั้น เพื่อความเป็นพระอนาคามี.

               ว่าด้วยปุจฉา ๕               
               บทว่า กตมํ ในบทว่า กตมํ เอกธมฺมํ นี้ เป็นคำถาม
               ก็ธรรมดาคำถามมีอยู่ ๕ อย่าง คือ
                         อทิฏฐโชตนาปุจฉา ๑
                         ทิฏฐสังสันทนาปุจฉา ๑
                         วิมติเฉทนาปุจฉา ๑
                         อนุมติปุจฉา ๑
                         กเถตุกัมยตาปุจฉา ๑.
               ในคำถามเหล่านั้น ตามปกติ คนเรายังไม่รู้ ไม่เห็น ไม่พิจารณา ไม่ไตร่ตรอง ไม่เข้าใจ ไม่แจ้ง ไม่ชัดถึงลักษณะ จึงถามปัญหาเพื่อรู้ เพื่อเห็น เพื่อพิจารณา เพื่อไตร่ตรอง เพื่อเข้าใจ เพื่อแจ้งชัดถึงลักษณะนั้น นี้ชื่ออทิฏฐโชตนาปุจฉา (ถามเพื่อความสว่างในสิ่งที่ตนไม่เห็น).
               ตามปกติ คนรู้แล้ว เห็นแล้ว พิจารณาแล้ว ไตร่ตรองแล้ว เข้าใจแล้ว แจ้งชัดแล้วซึ่งลักษณะ เขาถามปัญหาเพื่อเทียบเคียงกับบัณฑิตเหล่าอื่น นี้ชื่อทิฏฐสังสันทนาปุจฉา (ถามเพื่อเทียบเคียงกับสิ่งที่เห็นแล้ว).
               ตามปกติ คนเป็นผู้ตกอยู่ในความสงสัย ในความไม่รู้ ในความเคลือบแคลงว่า อย่างนี้หรือหนอ ไม่ใช่หรือหนอ เป็นอะไรหนอ เป็นอย่างไรหนอ ดังนี้ เขาจึงถามปัญหา เพื่อขจัดความสงสัย นี้ชื่อวิมติเฉทนาปุจฺฉา (ถามเพื่อขจัดความสงสัย).
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามปัญหา เพื่อคล้อยตามความเห็น ด้วยพระดำรัสมีอาทิว่า๑- ตํ กึ มญฺญถ ภิกฺขเว รูปํ นิจฺจํ วา อนิจฺจํ วา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอสำคัญความนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง นี้ชื่อว่า อนุมติปุจฉา (ถามเพื่อคล้อยตาม).
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามปัญหา เพราะมีพระประสงค์เพื่อจะตรัสบอกแก่ภิกษุทั้งหลายว่า๒- จตฺตาโรเม ภิกฺขเว อาหารา ภูตานํ วา สตฺตานํ ฐิติยา สมฺภเวสีนํ วา อนุคฺคหาย กตเม จตฺตาโร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาหาร ๔ เหล่านี้ย่อมเป็นไปเพื่อดำรงชีวิตของเหล่าสัตว์ที่เกิดแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์เหล่าสัตว์ จำพวกสัมภเวสี (ผู้แสวงหาที่เกิด) อาหาร ๔ คืออะไรบ้าง นี้ชื่อกเถตุกัมยตาปุจฉา (ถามเพื่อประสงค์จะบอก).
____________________________
๑- วิ. มหา. เล่ม ๔/ข้อ ๒๑  สํ. ข. เล่ม ๑๗/ข้อ ๑๒๘
๒- สํ. นิ. เล่ม ๑๖/ข้อ ๓๑

               ในคำถาม ๕ อย่างเหล่านั้น คำถาม ๓ ข้อข้างต้น มิได้มีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
               ถามว่า เพราะเหตุไร จึงไม่มี.
               ตอบว่า เพราะว่า ในทางทั้ง ๓ สังขตธรรมไรๆ หรืออสังขตธรรม (นิพพาน) พ้นจากทางไปแล้ว ที่จะไม่เห็น ไม่พิจารณา ไม่ไตร่ตรอง ไม่เข้าใจ ไม่แจ้งชัด มิได้มีแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ด้วยเหตุนั้น คำถามเพื่อความสว่างในสิ่งที่ไม่เห็น จึงไม่มีแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้น การเทียบเคียงกับสมณะหรือพราหมณ์ เทวดา มาร พรหมอื่น แห่งสังขตธรรมและอสังขตธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นแทงตลอดแล้วด้วยพระญาณของตนๆ มิได้มี ด้วยเหตุนั้น แม้คำถามเพื่อเทียบเคียงในสิ่งที่เห็นแล้ว จึงมิได้มีแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้น ก็เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพุทธะทั้งหลาย ไม่มีความเคลือบแคลง ข้ามพ้นวิจิกิจฉา ปราศจากความสงสัยในธรรมทั้งปวง ฉะนั้น แม้คำถามเพื่อขจัดความสงสัย จึงมิได้มีแก่พระพุทธเจ้าเหล่านั้น.
               ส่วนคำถามอีก ๒ ข้อนั้นมีอยู่ ในคำถาม ๒ ข้อนั้น พึงทราบว่า คำถามนี้ หมายถึง กเถตุกัมยตาปุจฉา.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงความที่พระองค์ตรัสถามด้วยคำถามนั้นโดยสรุป จึงตรัสพระดำรัสมีอาทิว่า โลภํ ภิกฺขเว เอกธมฺมํ ดังนี้
               ในบทว่า โลภํ นั้นจึงทรงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               ชื่อว่าโลภ ด้วยอรรถว่า เป็นเครื่องอยากได้ หรืออยากได้เอง หรือเพียงอยากได้เท่านั้น ความโลภนั้นพึงเห็นว่า มีลักษณะยึดอารมณ์ ดุจลิงติดตัง มีการเกาะเกี่ยวอารมณ์เป็นกิจ ดุจชิ้นเนื้อที่เขาใส่ลงในกระทะร้อน มีการไม่บริจาคเป็นผล ดุจสีแห่งน้ำมันและยาหยอดตา มีทัศนะในการยินดี ในธรรมอันเป็นเครื่องผูกมัด เป็นที่ยึดถือเป็นเหตุใกล้ให้เกิดขึ้น เจริญผุดขึ้นเสมอโดยเป็นแม่น้ำ คือตัณหาพัดพาสัตว์ไปสู่อบาย ดุจแม่น้ำมีกระแสเชี่ยว พัดพาสัตว์ไปสู่มหาสมุทรฉะนั้น
               โลภศัพท์นี้ เป็นคำสามัญที่ว่าด้วยความโลภทั้งปวงก็จริง แต่ในที่นี้พึงทราบว่า เป็นคำที่ว่าด้วยความกำหนัดในกาม เพราะความโลภนั้นถูกอนาคามิมรรคฆ่า.
               บทว่า ปุน ภิกฺขเว นี้เป็นคำร้องเรียกเพื่อให้ภิกษุผู้หันหน้ารับธรรม เกิดความเอาใจใส่ในธรรมนั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงวางหลักการบรรลุปหานด้วยบทว่า ปชหถ นี้.
               อนึ่ง การบรรลุปหานนั้นย่อมเป็นไปกับด้วยการบรรลุปริญญา สัจฉิกิริยาและภาวนาด้วย ไม่แยกกันเลย เป็นอันว่าท่านจัดกิจแห่งสัมมาทิฏฐิ ๔ อย่างลงในอริยสัจ ๔ นั่นเอง.
               อนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พวกเธอละโลภะ ดังนี้ เป็นอันตรัสถึงการละแม้โทสะเป็นต้นด้วย เพราะมีความเป็นอันเดียวกับปหาน โดยเนื้อความฉันใด เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงการบรรลุปหานอันเป็นกิจแห่งสัมมาทิฏฐิ อันเป็นลักษณะแห่งสมุทยสัจ ก็ฉันนั้น เป็นอันพระองค์ตรัสถึงลักษณะและกิจของสมุทยสัจ แม้แห่งองค์มรรคที่เหลือมีสัมมาสังกัปปะเป็นต้น อันเป็นเหตุทำร่วมกันแห่งสัมมาทิฏฐิ นั้นนั่นเอง เพราะเหตุนั้น พึงเห็นว่า ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงความขวนขวายในอริยมรรคที่ครบถ้วนแล้ว ความที่ท่านกล่าวถึงความขวนขวายโพธิปักขิยธรรมมีสติปัฏฐานเป็นต้นไว้ในที่นี้ย่อมมีโดยนัยนี้. พึงให้พิสดารตามสมควร.
               อีกอย่างหนึ่ง ในสูตรนี้ ท่านกล่าวถึงปหานปริญญา (การกำหนดรู้ด้วยการละ) ด้วยบทว่า ปชหถ นี้. เป็นอันท่านตรัสรู้ปริญญา แม้ทั้ง ๓ โดยความเป็นอธิษฐาน คือปหานปริญญานั้นมีตีรณปริญญาเป็นอธิษฐาน และตีรณปริญญามีญาตปริญญาเป็นอธิษฐาน ในที่นี้พึงเห็นอย่างนี้ว่า ท่านประกาศกระทำจตุสัจจกรรมฐานให้บริบูรณ์พร้อมด้วยผล.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านแสดงญาณทัสสนวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะ) พร้อมด้วยผล ก็ญาณทัสสนวิสุทธินั้น มีปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นทางปฏิบัติ) เป็นที่อาศัย ฯลฯ จิตตวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งจิต) มีสีลวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งศีล) เป็นที่อาศัย เพราะเหตุนั้น พึงทราบว่า ท่านแสดงวิสุทธิ ๗ แม้ทั้งหมดพร้อมด้วยผล โดยความที่มีลำดับต่างๆ กัน. อันผู้ประสงค์จะละความโลภ ด้วยการบำเพ็ญปริญญา ๓ เพื่อความบริสุทธิ์นี้ พึงพิจารณาถึงโทษของความโลภ แล้วปฏิบัติเพื่อละความโลภนั้น โดยนัยต่างๆ ตามแบบบทพระสูตร
               มีอาทิอย่างนี้ว่า๓-
                                   ความโลภให้เกิดความพินาศ ความโลภยังจิตให้กำเริบ
                         ภัยเกิดแต่ภายใน ชนย่อมไม่รู้ถึงภัยนั้น คนโลภย่อมไม่รู้จัก
                         อรรถ คนโลภย่อมไม่เห็นธรรม ความโลภย่อมครอบงำคนผู้
                         บอดมืดตลอดกาล.

____________________________
๓- ขุ. อิติ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๖๘

               คนที่ถูกราคะย้อมครอบงำ มีจิตยึดถือแล้ว ย่อมฆ่าสัตว์บ้าง ลักทรัพย์บ้าง ตัดช่องย่องเบาบ้าง ปล้นสะดมบ้าง ทำคนอยู่เรือนหลังเดียวบ้าง ตกอยู่ในอันตรายบ้าง ล่วงเกินภรรยาคนอื่นบ้าง พูดปดบ้าง. ตัณหานั้น เมื่อสมณพราหมณ์ผู้เจริญ ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เข้าใจ ตกอยู่ในตัณหา ก็ทำให้สะดุ้งหวั่นไว้ได้เหมือนกัน.
                                   บุรุษมีตัณหาเป็นเพื่อน ท่องเที่ยวไปตลอดเวลายาว
                         นาน ไม่ล่วงพ้นสงสารอันมีความเป็นอย่างนี้ และมีความ
                         เป็นอย่างอื่นไปได้.๔-
                                   ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี โทษเสมอด้วยโทสะไม่มี.๕-
                                   เราถูกกามราคะเผา จิตของเราถูกเผาด้วย.๖-
                                   ผู้ที่ถูกราคะย้อมย่อมตกไปสู่กระแสตัณหา เหมือน
                         แมงมุมตกไปสู่ตาข่ายที่ตนทำเองฉะนั้น.
๗-
____________________________
๔- ขุ. อิติ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๑๙๓
๕- ขุ. อิติ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๕
๖- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๗๓๖
๗- ขุ. อิติ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๓๔

               อีกอย่างหนึ่ง ธรรมทั้งหลาย ๖ ประการย่อมเป็นไปเพื่อละกามราคะได้ คือ
                         การถือเอาอสุภนิมิต ๑
                         การบำเพ็ญอสุภภาวนา ๑
                         การคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ๑
                         การรู้จักประมาณในการบริโภค ๑
                         การคบมิตรดี ๑
                         การสนทนาเป็นที่สบาย ๑
               จริงอยู่ แม้เมื่อถือเอาอสุภนิมิต ๑๐ อย่าง ก็ละกามราคะได้ แม้เมื่อขวนขวายบำเพ็ญอสุภภาวนาในอสุภะ ที่มีวิญญาณด้วยการเจริญกายคตาสติในอสุภะที่ไร้วิญญาณด้วยพิจารณาศพที่ขึ้นพองเป็นต้น ก็ละกามราคะได้ แม้ปิดทวารด้วยประตู คือสติ โดยสำรวมในอินทรีย์มีใจเป็นที่ ๖ ก็ละกามราคะได้ แม้เมื่อมีโอกาสกลืนคำข้าว ๔-๕ คำจึงดื่มน้ำ แล้วรู้ประมาณในโภชนะเพียงเพื่อให้ชีวิตเป็นไปตามปกติ ก็ละกามราคะได้.
               สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า๘-
                                   บริโภคคำข้าว ๔-๕ คำ แล้วพึงดื่มน้ำ
                         เพียงพอเพื่ออยู่อย่างสบายของภิกษุผู้ปฏิบัติ
                         ตน.

____________________________
๘- ขุ. เถร. เล่ม ๒๖/ข้อ ๓๙๖

               แม้เมื่อคบคนดี ผู้ยินดีในการเจริญอสุภกรรมฐาน ก็ละกามราคะได้ แม้ในการสนทนาเป็นที่สบายถึงเรื่องอสุภะ ๑๐ ก็ละกามราคะได้.
               สมดังที่ตรัสไว้ว่า๙-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อสุภนิมิตมีอยู่ การมนสิการโดยแยบคาย การทำให้มาก การเพิ่มกำลัง ในอสุภนิมิตนั้นย่อมเป็นไป เพื่อไม่ให้เกิดกามฉันทะที่ยังไม่เกิด หรือเพื่อละกามฉันทะที่เกิดขึ้นแล้ว.

____________________________
๙- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๕๒๓

               ภิกษุปฏิบัติเพื่อละโลภะอันได้แก่กามราคะในส่วนเบื้องต้นอย่างนี้ ขวนขวายวิปัสสนาย่อมตัดโลภะนั้นได้ด้วยตติยมรรคโดยไม่มีเหลือ. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า โลภํ ภิกฺขเว เอกธฺมมํ ปชหถ อหํ โว ปาฏิโภโค อนาคามิตาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอละธรรมอย่างหนึ่ง คือโลภะได้ เราเป็นผู้รับรองพวกเธอเพื่อความเป็นพระอนาคามี.
               ในข้อนี้เกจิอาจารย์กล่าวว่า ก็โลภะที่ละในสูตรนี้เป็นอย่างไร เป็นโลภะในอดีต หรืออนาคต หรือปัจจุบัน อันที่จริง โลภะในสูตรนี้พึงละไม่ใช่ทั้งอดีต ทั้งอนาคต เพราะยังไม่มีอดีตอนาคตเหล่านั้น ท่านกล่าวไว้ว่า ความจริง จิตดับแล้วหรือยังไม่เกิดหามีไม่. อนึ่ง ความพยายามที่ไม่มีผลย่อมได้รับ. เมื่อเป็นเช่นนั้นต้องเป็นโลภะปัจจุบันแม้ด้วยประการอย่างนี้ ความพยายามไม่มีผล และมรรคภาวนาเศร้าหมองย่อมได้รับ เพราะความพยายามนั้นได้สลายไปเสียแล้ว อีกอย่างหนึ่ง โลภะที่ปราศจากจิตจะพึงมีได้ นัยนี้ท่านไม่ต้องการ
               ควรจะกล่าวว่า ความโลภที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบันละได้โดยนัยที่กล่าวแล้ว เหมือนอย่างว่าต้นไม้อ่อนยังไม่มีผล บุรุษพึงเอาจอบตัดต้นไม้นั้นที่โคน เมื่อไม่มีการตัดต้นไม้ ผลเหล่าใดพึงเกิด ผลเหล่านั้นก็ยังไม่เกิด เพราะต้นไม้ถูกตัด จะพึงเกิดไม่ได้ ฉันใด เมื่อบรรลุอริยมรรค ความโลภที่ควรเกิด ย่อมไม่เกิด เพราะถูกกำจัดในปัจจุบันด้วยบรรลุอริยมรรค ความโลภนี้ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาว่า เกิดเพราะได้ภูมิ
               จริงอยู่ เบญจขันธ์อันเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา ชื่อว่าภูมิ เพราะเป็นฐานให้เกิดความโลภนั้น ท่านกล่าวอธิบายความข้อนี้ไว้ว่า ความโลภเกิดเพราะได้ภูมิ ดังที่จะกล่าวว่าสา ภูมิ เตน ลทฺธา ภูมินั้นอันความโลภได้แล้ว ๑ เกิดเพราะยึดถืออารมณ์ ๑ เกิดเพราะไม่ข่มไว้ ๑ เกิดเพราะไม่ถอน ๑.
               บทว่า ตตฺถ คือ ในสูตรนั้น บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระสูตรหนึ่งโดยผูกเป็นคาถา
               ถามว่า ใครกล่าว
               ตอบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ในฐานะเช่นนั้นอื่นๆ พระสังคีติกาจารย์เป็นผู้ผูกคาถา แต่ในที่นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาความที่พระองค์ตรัสด้วยอัธยาศัยของบุคคลผู้ชอบคาถา จึงตรัสเป็นคาถา.
               ในบทคาถานั้นว่า เยน โลเภน ลุทฺธาเส สตฺตา คฺจฉนฺติ ทุคฺคตึ สัตว์ทั้งหลายโลภแล้วด้วยความโลภใด ย่อมไปสู่ทุคติ.
               อธิบายว่า สัตว์ทั้งหลายโลภด้วยความโลภใด อันมีลักษณะเกาะอารมณ์ มีกิจรสเกี่ยวข้องแต่ความโลภนั้น คืออยากได้ผูกมัดในอายตนะภายในและภายนอก.
               บทว่า เส เป็นเพียงนิบาต. ก็นักคิดอักษรทั้งหลายต้องการลง เส อักษรในฐานะเช่นนี้ สัตว์ไม่ประพฤติสุจริตไรๆ ในกายสุจริตเป็นต้น เพราะเป็นผู้โลภอย่างเดียวเท่านั้น สะสมกายทุจริตเป็นต้น ได้ชื่อว่าสัตว์ เพราะเป็นผู้ต้องอยู่ในรูปเป็นต้น ย่อมเข้าถึงนรก กำเนิดเดียรัจฉาน เปรตวิสัยอันได้ ชื่อว่าทุคติ เพราะเป็นที่ให้เกิดทุกข์ด้วยการถือปฏิสนธิ.
               บทคาถาว่า ตํ โลภํ สมฺมทญฺญาย ปชหนฺติ วิปสฺสิโน ความว่า ชนผู้เห็นแจ้งทั้งหลาย รู้ชัดด้วยดีซึ่งความโลภนั้น ย่อมละเสียได้.
               อธิบายว่า ชนชื่อว่าผู้เห็นแจ้ง เพราะเห็นอุปทานขันธ์ ๕ มีรูปเป็นต้นโดยอาการหลายอย่าง มีความไม่เที่ยงเป็นต้น รู้ความโลภตามที่กล่าวแล้วนั้นโดยชอบ โดยชอบเหตุโดยญาณอันไม่วิปริต โดยอาการเหล่านี้ คือโดยความเป็นจริง โดยความเกิด โดยความดับ โดยความชื่นชม โดยความเป็นโทษ โดยความออกไป คือรู้ด้วยปัญญา อันได้แก่ญาตปริญญา (กำหนดรู้ด้วยการรู้) ตีรณปริญญา (กำหนดรู้ด้วยการพิจารณา) ย่อมละกิเลสที่เหลือด้วยมรรคปัญญาอันเป็นส่วนเบื้องต้นของวิปัสสนาปัญญา ด้วยสมุจเฉทปหาน คือไม่ให้เกิดขึ้นในสันดานของตนอีกต่อไป.
               บทคาถาว่า ปหาย น ปุนายนฺติ อิมํ โลกํ กุทาจนํ ครั้นละได้แล้ว ย่อมไม่มาสู่โลกนี้อีกในกาลไหนๆ ความว่า ครั้นละโลภะนั้นกับกิเลสที่เหลือพร้อมด้วยกิเลสที่สำคัญละได้แล้วยังเหลืออยู่หนึ่งด้วยอานาคามิมรรค ย่อมไม่มาสู่โลกอันได้แก่กามธาตุนี้ ในภายหลังอีกด้วยการถือปฏิสนธิ แม้ในกาลไหนๆ เพราะละโอรัมภาคิยสังโยชน์ (สังโยชน์เบื้องต่ำ) ได้เรียบร้อยแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจบเทศนาลงด้วยอนาคามิผลด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า อยมฺปิ อตฺโถ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศความด้วยพระสูตรนี้ตั้งแต่สุดนิทานจนถึงจบคาถา. อปิศัพท์เป็นศัพท์ประมวลความในพระสูตรที่จะกล่าวอยู่ในบัดนี้. คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั้นแล.
               สมุทยสัจมาในพระสูตรนี้โดยสรุป. มรรคสัจมาโดยส่วนของปหาน สองสัจจะนอกนั้นพึงยกออกไป เพราะทั้งสองสัจจะนั้นเป็นเหตุ. ทุกขสัจสมุทยสัจ มรรคสัจ ย่อมชัดตามที่กล่าวแล้วในคาถานั่นแล. สัจจะนอกนั้น ยกออกไป.
               ในสูตรแม้อื่นจากนี้ก็มีนัยนี้.

               จบอรรถกถาสูตรที่ ๑ แห่งการพรรณนาอิติวุตตกะ               
               อรรถกถาขุททกนิกาย ชื่อปรมัตถทีปนี.               
               จบอรรถกถาโลภสูตรที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ เอกนิบาต ปฐมวรรค โลภสูตร จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 178อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 179อ่านอรรถกถา 25 / 180อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=4405&Z=4418
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=27&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=27&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๘  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :