ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 17อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 18อ่านอรรถกถา 25 / 19อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท สหัสสวรรคที่ ๘

หน้าต่างที่ ๑๒ / ๑๔.

               ๑๒. เรื่องนางปฏาจารา [๙๒]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระปฏาจาราเถรี
               ตรัสพระคาถานี้ว่า "โย จ วสฺสสตํ ชีเว" เป็นต้น

               ความรักไม่เลือกชั้นวรรณะ               
               ดังได้สดับมา นางปฏาจารานั้นได้เป็นธิดาของเศรษฐีผู้มีสมบัติ ๔๐ โกฏิในกรุงสาวัตถี มีรูปงาม. ในเวลานางมีอายุ ๑๖ ปี มารดาบิดาเมื่อจะรักษา จึงให้นางอยู่บนชั้นบนปราสาท ๗ ชั้น. ถึงเมื่อเป็นเช่นนั้น นางก็ยังสมคบกับคนรับใช้คนหนึ่งของตน.
               ครั้งนั้น มารดาบิดาของนางยกให้แก่ชายหนุ่มคนหนึ่ง ในสกุลที่มีชาติเสมอกันแล้ว กำหนดวันวิวาหะ. เมื่อวันวิวาหะนั้นใกล้เข้ามา, นางจึงพูดกะคนรับใช้ผู้นั้นว่า "ได้ยินว่า มารดาบิดาจักยกฉันให้แก่สกุลโน้น ในกาลที่ฉันไปสู่สกุลผัว ท่านแม้ถือบรรณาการเพื่อฉันมาแล้ว ก็จักไม่ได้เข้าไปในที่นั้น ถ้าท่านมีความรักในฉัน ก็จงพาฉันหนีไปโดยทางใดทางหนึ่งในบัดนี้นี่แล."
               คนรับใช้นั้นรับว่า "ดีละ นางผู้เจริญ" แล้วกล่าวว่า "ถ้าอย่างนั้น ฉันจักยืนอยู่ในที่ชื่อโน้นแห่งประตูเมืองแต่เวลาเช้าตรู่พรุ่งนี้, หล่อนพึงออกไปด้วยอุบายอย่างหนึ่งแล้ว มาในที่นั้น"
               ในวันที่ ๒ ก็ได้ยืนอยู่ในที่นัดหมายกันไว้.

               นางปฏาจาราหนีไปกับคนใช้               
               ฝ่ายธิดาเศรษฐีนั้นนุ่งผ้าปอนๆ สยายผม เอารำทาสรีระ ถือหม้อน้ำออกจากเรือน เหมือนเดินไปกับพวกทาสี ได้ไปยังที่นั้นแต่เช้าตรู่. ชายคนรับใช้นั้นพานางไปไกลแล้ว สำเร็จการอาศัยอยู่ในบ้านแห่งหนึ่ง ไถนาในป่าแล้ว ได้นำฟืนและผักเป็นต้นมา. ธิดาเศรษฐีนอกนี้เอาหม้อน้ำมาแล้ว ทำกิจมีการคำข้าวและหุงต้มเป็นต้นด้วยมือตนเอง เสวยผลแห่งความชั่วของตน.
               ครั้งนั้น สัตว์เกิดในครรภ์ตั้งขึ้นในท้องของนางแล้ว. นางมีครรภ์แก่แล้วจึงอ้อนวอนสามีว่า "ใครๆ ผู้อุปการะของเราไม่มีในที่นี้, ธรรมดามารดาบิดาเป็นผู้มีใจอ่อนโยนในบุตรทั้งหลาย, ท่านจงนำฉันไปยังสำนักของท่านเถิด ฉันจักคลอดบุตรในที่นั้น." สามีนั้นคัดค้านว่า "นางผู้เจริญ เจ้าพูดอะไร? มารดาบิดาของเจ้าเห็นฉันแล้ว พึงทำกรรมกรณ์มีอย่างต่างๆ ฉันไม่อาจไปในที่นั้นได้."
               นางแม้อ้อนวอนแล้วๆ เล่าๆ เมื่อไม่ได้ความยินยอม ในเวลาที่สามีนั้นไปป่า จึงเรียกคนผู้คุ้นเคยมาสั่งว่า "ถ้าเขามาไม่เห็นฉัน จักถามว่า ‘ฉันไปไหน?’ พวกท่านพึงบอกความที่ฉันไปสู่เรือนแห่งตระกูลของตน" ดังนี้แล้ว ก็ปิดประตูเรือนหลีกไป.
               ฝ่ายสามีนั้นมาแล้ว ไม่เห็นภรรยานั้นจึงถามคนคุ้นเคย ฟังเรื่องนั้นแล้ว ก็ติดตามไป ด้วยคิดว่า "จักให้นางกลับ" พบนางแล้วแม้จะอ้อนวอนมีประการต่างๆ ก็มิอาจให้นางกลับได้.
               ทีนั้น ลมกัมมัชวาตของนางปั่นป่วนแล้วในที่แห่งหนึ่ง. นางเข้าไปในระหว่างพุ่มไม้พุ่มหนึ่ง พูดว่า "นาย ลมกัมมัชวาตของฉัน ปั่นป่วนแล้ว" นอนกลิ้งเกลือกอยู่บนพื้นดิน คลอดเด็กโดยยากแล้ว คิดว่า "เราพึงไปสู่เรือนแห่งตระกูลเพื่อประโยชน์ใด, ประโยชน์นั้นสำเร็จแล้ว" จึงกลับมาสู่เรือนกับสามี สำเร็จการอยู่กันอีกเทียว.
               สมัยอื่น ครรภ์ของนางตั้งขึ้นอีก. นางเป็นผู้มีครรภ์แก่แล้วจึงอ้อนวอนสามีโดยนัยก่อนนั่นแล เมื่อไม่ได้ความยินยอม จึงอุ้มบุตรด้วยสะเอว หลีกไปอย่างนั้นนั่นแล แม้ถูกสามีนั้นติดตามไปพบแล้ว ก็ไม่ปรารถนาจะกลับ.
               ครั้งนั้น เมื่อชนเหล่านั้นเดินไปอยู่ มหาเมฆอันมิใช่ฤดูกาลเกิดขึ้น. ท้องฟ้าได้มีท่อธารตกลงไม่มีระหว่าง ดังสายฟ้าแผดเผาอยู่โดยรอบ ดังจะทำลายลงด้วยเสียงแผดแห่งเมฆ.
               ในขณะนั้น ลมกัมมัชวาตของนางปั่นป่วนแล้ว. นางเรียกสามีมากล่าวว่า "นาย ลมกัมมัชวาตของฉันปั่นป่วนแล้ว ฉันไม่อาจจะทนได้ ท่านจงรู้สถานที่ฝนไม่รดฉันเถิด."
               สามีนั้นมีมีดอยู่ในมือ ตรวจดูข้างโน้นข้างนี้ เห็นพุ่มไม้ซึ่งเกิดอยู่บนจอมปลวกแห่งหนึ่ง เริ่มจะตัด. ลำดับนั้น อสรพิษมีพิษร้ายกาจเลื้อยออกจากจอมปลวก กัดเขาในขณะนั้นนั่นแล สรีระของเขามีสีเขียวดังถูกเปลวไฟอันตั้งขึ้นในภายในไหม้อยู่ ล้มลงในที่นั้นนั่นเอง.
               ฝ่ายภรรยานอกนี้เสวยทุกข์อย่างมหันต์ แม้มองดูทางมาของเขาอยู่ ก็มิได้เห็นเขาเลย จึงคลอดบุตรคนอื่นอีก. ทารกทั้ง ๒ ทนกำลังแห่งลมและฝนไม่ได้ ก็ร้องไห้ลั่น. นางเอาทารกแม้ทั้ง ๒ คนนั้นไว้ที่ระหว่างอุทร ยืนเท้าแผ่นดินด้วยเข่าและมือทั้ง ๒ ให้ราตรีล่วงไปแล้ว. สรีระทั้งสิ้นได้เป็นดังสีใบไม้เหลือง เหมือนไม่มีโลหิต.
               เมื่ออรุณขึ้น นางอุ้มบุตรคนหนึ่งซึ่งมีสีดังชิ้นเนื้อด้วยสะเอว จูงบุตรนอกนี้ด้วยนิ้วมือกล่าวว่า "มาเถิด พ่อ, บิดาเจ้าไปโดยทางนี้" ดังนี้แล้ว ก็เดินไปตามทางที่สามีไป เห็นสามีนั้นล้มตายบนจอมปลวกมีสีเขียวตัวกระด้าง ร้องไห้รำพันว่า "เพราะอาศัยเรา สามีของเราจึงตายที่หนทางเปลี่ยว" ดังนี้แล้วก็เดินไป.
               นางเห็นแม่น้ำอจิรวดีเต็มเปี่ยมด้วยน้ำมีประมาณเพียงหัวเข่า๑- มีประมาณเพียงนม เพราะฝนตกตลอดคืนยังรุ่ง ไม่อาจลงน้ำพร้อมด้วยทารก ๒ คนได้ เพราะตนมีความรู้อ่อน จึงพักบุตรคนใหญ่ไว้ที่ฝั่งนี้ อุ้มบุตรคนเล็กนอกนี้ไปฝั่งโน้น ลาดกิ่งไม้ไว้ให้บุตรนอนแล้ว คิดว่า "จักไปที่อยู่ของบุตรนอกนี้" ไม่อาจละบุตรอ่อนได้กลับแลดูแล้วๆ เล่าๆ เดินไป.
               ครั้นในเวลาที่นางถึงกลางแม่น้ำเหยี่ยวตัวหนึ่งเห็นเด็กนั้น จึงโฉบลงมาจากอากาศ ด้วยสำคัญว่า "เป็นชิ้นเนื้อ." นางเห็นมันโฉบลงเพื่อต้องการบุตร จึงยกมือทั้งสองขึ้น ร้องเสียงดัง ๓ ครั้งว่า "สู สู" เหยี่ยวไม่ได้ยินเสียงนั้นเลยเพราะไกลกัน จึงเฉี่ยวเด็กบินขึ้นสู่เวหาสไปแล้ว. แม้บุตรผู้ยืนอยู่ที่ฝั่งนี้ เห็นมารดายกมือทั้งสองขึ้น ร้องเสียงดังที่ท่ามกลางแม่น้ำ จึงกระโดดลงในแม่น้ำโดยเร็วด้วยสำคัญว่า "มารดาเรียกเรา."
               เหยี่ยวเฉี่ยวบุตรอ่อนของนางไป บุตรคนโตถูกน้ำพัดไป ด้วยประการฉะนี้.
____________________________
๑- ฉบับสีหล ชานุปฺปมาณ ไม่มี.

               นางทราบข่าวว่ามารดาบิดาตายอีก               
               นางเดินร้องไห้รำพันว่า "บุตรของเราคนหนึ่งถูกเหยี่ยวเฉี่ยวไป, คนหนึ่งถูกน้ำพัดไป, สามีก็ตายเสียในที่เปลี่ยว" พบบุรุษผู้หนึ่งเดินมา แต่กรุงสาวัตถี จึงถามว่า "พ่อ ท่านอยู่ที่ไหน?"
               บุรุษ. ฉันอยู่ในกรุงสาวัตถี แม่.
               ธิดาเศรษฐี. ตระกูลชื่อโน้นเห็นปานนี้ใกล้ถนนโน้นในกรุงสาวัตถีมีอยู่, ทราบไหม? พ่อ.
               บุรุษ. ฉันทราบ แม่, แต่อย่าถามถึงตระกูลนั้นเลย, ถ้าท่านรู้จักตระกูลอื่น ก็จงถามเถิด.
               ธิดาเศรษฐี. กรรมด้วยตระกูลอื่นของฉันไม่มี, ฉันถามถึงตระกูลนั้นเท่านั้นแหละ พ่อ.
               บุรุษ. แม่ ฉันบอกก็ไม่ควร.
               ธิดาเศรษฐี. บอกฉันเถิด พ่อ.
               บุรุษ. วันนี้ แม่เห็นฝนตกคืนยังรุ่งไหม?
               ธิดาเศรษฐี. ฉันเห็น พ่อ, ฝนนั้นตกคืนยังรุ่งเพื่อฉันเท่านั้นไม่ตกเพื่อคนอื่น, แต่ฉันจักบอกเหตุที่ฝนตกเพื่อฉันแก่ท่านภายหลัง, โปรดบอกความเป็นไปในเรือนเศรษฐีนั้นแก่ฉันก่อน.
               บุรุษ. แม่ วันนี้ ในกลางคืน เรือนล้มทับคนแม้ทั้ง ๓ คือ เศรษฐี ๑ ภรรยาเศรษฐี ๑ บุตรเศรษฐี ๑, คนทั้ง ๓ นั้นถูกเผาบนเชิงตะกอนเดียวกัน แม่เอ๋ย ควันนั่นยังปรากฏอยู่.
               ในขณะนั้น นางไม่รู้สึกถึงผ้าที่นุ่งซึ่งได้หลุดลง ถึงความเป็นคนวิกลจริต ยืนตะลึงอยู่ ร้องไห้รำพันบ่นเพ้อเซซวนไปว่า :-
                         บุตร ๒ คนตายเสียแล้ว, สามีของเราก็ตายเสียที่ทางเปลี่ยว,
                         มารดาบิดาและพี่ชายก็ถูกเผาบนเชิงตะกอนเดียวกัน.
               คนทั้งหลายเห็นนางแล้ว เข้าใจว่า "หญิงบ้าๆ" จึงถือเอาหยากเยื่อ กอบฝุ่นโปรยลงบนศีรษะ ขว้างด้วยก้อนดิน.
               พระศาสดาประทับนั่งแสดงธรรมอยู่ในท่ามกลางบริษัท ๔ ในพระเชตวันมหาวิหาร ได้ทอดพระเนตรเห็นนางผู้บำเพ็ญบารมีมาแสนกัลป์ สมบูรณ์ด้วยอภินิหารเดินมาอยู่.

               นางได้ตั้งความปรารถนาไว้ในชาติก่อน               
               ได้ยินว่า ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ นางปฏาจารานั้นเห็นพระเถรีผู้ทรงวินัยรูปหนึ่ง อันพระปทุมุตตรศาสดาทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ ดังท้าวสักกะจับที่แขน ตั้งไว้ในสวนนันทวัน จึงทำคุณความดีแล้ว ตั้งความปรารถนาไว้ว่า "แม้หม่อมฉันพึงได้ตำแหน่งเลิศกว่าพระเถรีผู้ทรงวินัยทั้งหลายในสำนักพระพุทธเจ้า เช่นกับด้วยพระองค์"
               พระปทุมุตตรพุทธเจ้าทรงเล็งอนาคตังสญาณไป ก็ทรงทราบว่าความปรารถนาจะสำเร็จ จึงทรงพยากรณ์ว่า "ในอนาคตกาล หญิงผู้นี้จักเป็นผู้เลิศกว่าพระเถรีผู้ทรงวินัยทั้งหลาย มีนามว่าปฏาจารา ในศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้า."
               พระศาสดาทรงเห็นนางผู้มีความปรารถนาตั้งไว้แล้วอย่างนั้น ผู้สมบูรณ์ด้วยอภินิหาร กำลังเดินมาแต่ที่ไกลเทียว ทรงดำริว่า "เว้นเราเสีย ผู้อื่นชื่อว่าสามารถจะเป็นที่พึ่งของหญิงผู้นี้ได้ ไม่มี" จึงได้ทรงทำนางโดยประการที่นางจะบ่ายหน้าสู่วิหารเดินมา.
               บริษัทเห็นนางแล้วจึงกล่าวว่า "ท่านทั้งหลาย อย่าให้หญิงบ้านี้ มาที่นี้เลย."
               พระศาสดาตรัสว่า "พวกท่านจงหลีกไป, อย่าห้ามเธอ" ในเวลานางมาใกล้ จึงตรัสว่า "จงกลับได้สติเถิด น้องหญิง." นางกลับได้สติด้วยพุทธานุภาพในขณะนั้นเอง. ในเวลานั้น นางกำหนดความที่ผ้านุ่งหลุดได้แล้ว ให้เกิดหิริโอตตัปปะขึ้น จึงนั่งกระโหย่ง.
               ลำดับนั้น บุรุษผู้หนึ่งจึงโยนผ้าห่มไปให้นาง. นางนุ่งผ้านั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แทบพระบาททั้งสองซึ่งมีพรรณะดังทองคำแล้ว ทูลว่า "ขอพระองค์จึงทรงเป็นที่พึ่งแก่หม่อมฉันเถิด พระเจ้าข้า, เพราะว่าเหยี่ยวเฉี่ยวบุตรคนหนึ่งของหม่อมฉันไป, คนหนึ่งถูกน้ำพัดไป, สามีตายที่ทางเปลี่ยว, มารดาบิดาและพี่ชายถูกเรือนทับตาย เขาเผาบนเชิงตะกอนเดียวกัน."
               พระศาสดาทรงสดับคำของนาง จึงตรัสว่า
               "อย่าคิดเลย ปฏาจารา, เธอมาสู่สำนักของผู้สามารถจะเป็นที่พึ่งพำนักอาศัยของเธอได้แล้ว เหมือนอย่างว่า บัดนี้ บุตรคนหนึ่งของเธอถูกเหยี่ยวเฉี่ยวไป, คนหนึ่งถูกน้ำพัดไป, สามีตายแล้วที่ทางเปลี่ยว มารดาบิดาและพี่ชายถูกเรือนทับฉันใด น้ำตาที่ไหลออกของเธอผู้ร้องไห้อยู่ในสงสารนี้ ในเวลาที่ปิยชนมีบุตรเป็นต้นตาย ยังมากกว่าน้ำแห่งมหาสมุทรทั้ง ๔ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน"
               ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :-
                                   น้ำในสมุทรทั้ง ๔ มีประมาณน้อย, น้ำตาของคนผู้อันทุกข์
                         ถูกต้องแล้ว เศร้าโศก ไม่ใช่น้อย มากกว่าน้ำในมหาสมุทรนั้น;
                         เหตุไร เธอจึงประมาทอยู่เล่า? แม่น้อง.

               เมื่อพระศาสดาตรัสอนมตัคคปริยายสูตรอยู่อย่างนั้น ความโศกในสรีระของนางได้ถึงความเบาบางแล้ว.
               ลำดับนั้น พระศาสดาทรงทราบที่นางผู้มีความโศกเบาบางแล้ว ทรงเตือนอีก แล้วตรัสว่า "ปฏาจารา ขึ้นชื่อว่าปิยชนมีบุตรเป็นต้น ไม่อาจเพื่อเป็นที่ต้านทาน เป็นที่พึ่ง หรือเป็นที่ป้องกันของผู้ไปสู่ปรโลกได้, เพราะฉะนั้น บุตรเป็นต้นเหล่านั้นถึงมีอยู่ ก็ชื่อว่าย่อมไม่มีทีเดียว ส่วนบัณฑิตชำระศีลแล้ว ควรชำระทางที่ยังสัตว์ให้ถึงนิพพานของตนเท่านั้น"
               เมื่อจะทรงแสดงธรรม ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า :-
                                   "บุตรทั้งหลาย ไม่มีเพื่อต้านทาน, บิดาก็ไม่มี
                         ถึงพวกพ้องก็ไม่มี, เมื่อบุคคลถูกความตาย ครอบงำ
                         แล้ว ความต้านทานในญาติทั้งหลาย ย่อมไม่มี;
                         บัณฑิตทราบอำนาจประโยชน์นั้นแล้ว สำรวมในศีล
                         พึงชำระทางไปพระนิพพานโดยเร็วทีเดียว.

               ในกาลจบเทศนา นางปฏาจาราเผากิเลสมีประมาณเท่าฝุ่นในแผ่นดินใหญ่แล้ว ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล
               ชนแม้เหล่าอื่นเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

               นางปฏาจาราทูลขอบวช               
               ฝ่ายนางปฏาจารานั้นเป็นพระโสดาบันแล้ว ทูลขอบรรพชากะพระศาสดา.
               พระศาสดาทรงส่งนางไปยังสำนักของพวกภิกษุณีให้บรรพชาแล้ว.
               นางได้อุปสมบทแล้วปรากฏชื่อว่า "ปฏาจารา" เพราะนางกลับความประพฤติได้๑-.
____________________________
๑- บาลีว่า เพราะมีความประพฤติเว้นจากผืนผ้า ดังนี้ก็มี.

               วันหนึ่ง นางกำลังเอาหม้อตักน้ำล้างเท้า เทน้ำลง น้ำนั้นไหลไปหน่อยหนึ่งแล้วก็ขาด. ครั้งที่ ๒ น้ำที่นางเทลง ได้ไหลไปไกลกว่านั้น. ครั้งที่ ๓ น้ำที่เทลง ได้ไหลไปไกลแม้กว่านั้น ด้วยประการฉะนี้.
               นางถือเอาน้ำนั้นนั่นแลเป็นอารมณ์ กำหนดวัยทั้ง ๓ แล้ว คิดว่า
                         สัตว์เหล่านี้ ตายเสียในปฐมวัยก็มี เหมือนน้ำที่เราเทลงครั้งแรก,
                         ตายเสียในมัชฌิมวัยก็มี เหมือนน้ำที่เราเทลงครั้งที่ ๒ ไหลไปไกลกว่านั้น,
                         ตายเสียในปัจฉิมวัยก็มี เหมือนน้ำที่เราเทลงครั้งที่ ๓ ไหลไปไกลแม้กว่านั้น.
               พระศาสดาประทับในพระคันธกุฎี ทรงแผ่พระรัศมีไปเป็นดังประทับยืนตรัสอยู่เฉพาะหน้าของนาง ตรัสว่า "ปฏาจารา ข้อนั้นอย่างนั้น ด้วยว่าความเป็นอยู่วันเดียวก็ดี ขณะเดียวก็ดี ของผู้เห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมแห่งปัญจขันธ์เหล่านั้น ประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี ของผู้ไม่เห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมแห่งปัญจขันธ์"
               ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
                         ๑๒. โย จ วสฺสสตํ ชีเว    อปสฺสํ อุทยพฺพยํ
                         เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย    ปสฺสโต อุทยพฺพยํ.
                         ก็ผู้ใด ไม่เห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมอยู่
                         พึงเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี, ความเป็นอยู่วันเดียว ของ
                         ผู้เห็นความเกิดและความเสื่อม ประเสริฐกว่า
                         ความเป็นอยู่ของผู้นั้น.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บาทพระคาถา อปสฺสํ อุทยพฺพยํ ความว่า ไม่เห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมอยู่ ด้วยลักษณะ ๒๕ แห่งปัญจขันธ์.
               บาทพระคาถาว่า ปสฺสโต อุทยพฺพยํ ความว่า ความเป็นอยู่แม้วันเดียว ของผู้เห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมแห่งปัญจขันธ์เหล่านั้น ประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ของบุคคลนอกนี้.
               ในกาลจบเทศนา นางปฏาจาราบรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ดังนี้แล.

               เรื่องนางปฏาจารา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท สหัสสวรรคที่ ๘
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 17อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 18อ่านอรรถกถา 25 / 19อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=544&Z=586
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=21&A=1780
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=21&A=1780
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๒  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :